ZEEN Audit ขับเคลื่อนร้านโชห่วยด้วย AI โซลูชั่นใหม่แห่งวงการค้าปลีก
“เมื่อโอกาสมาอย่าลืมที่จะคว้าไว้” เรามักได้ยินคำพูดนี้อยู่บ่อยครั้ง แต่สำหรับ เอกชัย จิรชูพันธ์ คำพูดที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเบื้องหลังความสำเร็จในการสร้างโซลูชั่นให้แก่วงการค้าปลีก คงไม่เกินจริงหากจะกล่าวว่า “เมื่อปัญหามาอย่าลืมที่จะคว้าไว้”
แทนที่จะมองว่าลูกค้าเอา “ปัญหา” มาให้ แต่เอกชัยมองว่า นั่นคือ “โอกาส” ที่ลูกค้าหยิบยื่นให้ต่างหาก ยิ่งปัญหามากก็เท่ากับยิ่งมีโอกาสมาก กระทั่งในที่สุด เกิดเป็นแอปพลิเคชัน ZEEN Audit ที่แก้ปัญหาเรื่องการตรวจสอบระบบ Distribution ในวงการค้าปลีก ด้วยภาพถ่ายและระบบ AI ซึ่งนับว่าเป็นการส่งมอบบริการที่มีมูลค่ามหาศาลให้บริษัทหรือเจ้าของแบรนด์แบบที่ยากจะประเมินค่าก็ว่าได้ เพราะ Zeen Audit ทำให้สามารถทราบข้อมูลต่างๆ ในเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีการจัดวางสินค้า การติดสื่อโฆษณา ความเคลื่อนไหวของคู่แข่งของร้านค้าแบบ Realtime รวมทั้งเพื่อตรวจสอบการทํางานของทีมกระจายสินค้าว่ามีประสิทธิภาพและถูกต้องครบถ้วนไหม
“เราทำแอปพลิเคชันให้กับบริษัทที่เรียกว่าเป็น Fast-moving consumer goods หรือ FMCG ก็คือ บริษัทที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อย่างเจ้าของแบรนด์ที่ขายน้ำอัดลม น้ำดื่ม กาแฟกระป๋องที่เห็นตามร้านค้าทั่วไป จุดเริ่มต้นเลยคือ ลูกค้าเล่าถึงปัญหาในการ Distribution สินค้าว่าการนำสินค้าไปวางหน้าร้านโดยเฉพาะร้านโชห่วย การกรอกข้อมูลต่างๆ ยังเป็นแบบ Manual ทำให้ตรวจสอบยาก ปัจจุบันมีร้านโชห่วยมากกว่า 400,000 แห่งทั่วประเทศ ปัญหาของร้านโชห่วยคือไม่มีเทคโนโลยีอะไรเลย การต่อสู้ของแบรนด์จึงไม่ได้สู้กันที่การแข่งขันเรื่องราคาแล้วแต่สู้กันที่การเก็บข้อมูลเป็นหลัก เราเลยหยิบโอกาสตรงนี้ขึ้นมาศึกษาหาข้อมูล เกิดเป็นแอปพลิเคชัน Zeen Audit ขึ้นมาให้กับเจ้าของแบรนด์ใช้ สิ่งที่เราทำคือการใช้ภาพถ่าย ร่วมกับ AI และระบบช่วยวิเคราะห์สรุปมาเป็น Dashboard ให้ผู้บริหารหรือผู้ที่วางแผนการขายเห็นข้อมูลได้ง่ายๆ ว่าการกระจายตัวของสินค้าแบรนด์ของเขาตามร้านโชห่วยทั่วประเทศเป็นอย่างไร วางสินค้าแบบไหน วางคู่กับแบรนด์คู่แข่งหรือเปล่า เปรียบเทียบกับสินค้าคู่แข่งว่าใครมีการวางสินค้ามากกว่ากัน ภูมิภาคไหนกำลังแพ้อยู่ ร้านค้าไหนกำลังชนะอยู่ ลูกค้าของเรา เช่น Nestle Thailand คาราบาวแดง”
โอกาสไม่เคยหมดไป ต่อยอดสู่เป้าหมายใหม่ได้เสมอ
ถ้าปัญหาคือจุดเริ่มต้น โอกาสคือกำไรที่ได้จากการแก้ปัญหา เป็นประตูที่สามารถพาเราไปสู่เป้าหมายใหม่ เช่นเดียวกับ Zeen Audit แอปพลิเคชันที่ช่วยแก้โจทย์ปัญหาให้วงการการค้าปลีกในการตรวจสอบการกระจายสินค้าและเก็บข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแบรนด์คู่แข่งในการวางสินค้าตามหน้าร้านโชห่วย ประตูแห่งโอกาสไม่ปิดแค่นั้น เมื่อไม่มีโจทย์ที่ต้องแก้ เอกชัยจึงสร้างโจทย์ใหม่ ความท้าทายใหม่ๆ ให้แก่ธุรกิจของตนเองด้วยการตั้งเป้าหมายที่ทีมเขาต้องเดินไปให้ถึง
“ตอนนี้เรามีเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาวครับ ระยะสั้นคือตอนนี้เรามี Zeen Audit ให้ฝ่ายขายใช้ ให้ผู้ตรวจสอบใช้ มีหน้าที่หลักคือเก็บข้อมูลในร้านค้าให้ได้มากที่สุด เราตั้งใจว่าจะทำเงินกับ Zeen Audit ให้ได้ก่อนเพราะถ้ามอง Zeen ก็คือเป็นสินค้าที่ค่อนข้างนิ่งแล้ว ส่วนระยะยาว เราต้องการที่จะไปช่วยร้านค้าที่เป็นร้านโชห่วย ร้านค้าปลีกพวกนี้ ให้อยู่รอดได้ เพราะต่อไป ร้านพวกนี้จะโดนบริษัทใหญ่ๆ ระดับที่อาจจะมีทุนหนาทำให้ร้านโชห่วยล้มหายตายจากไป ทั้งที่จริงแล้ว ร้านค้าปลีกเหล่านี้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชนเล็กๆ ทั้งหมด ตอนนี้ก็มีการเริ่มต้นพูดคุยร่วมกันกับพาร์ทเนอร์ที่เป็นแบรนด์ใหญ่ระดับหนึ่งว่าจะทำอะไรได้บ้าง เพราะในส่วนของพาร์ทเนอร์เองมีต้นทุนค่อนข้างสูง ต้องส่งรถเข้าไปตรวจตามร้านค้า ไกลมาก เป็นไปได้ไหม ถ้าเราเปลี่ยนให้เจ้าของร้านโชห่วยเป็นผู้ที่ถ่ายรูปเข้ามาเองผ่านแอป Zeen Audit แล้วส่งให้เจ้าของแบรนด์สินค้าโดยตรง ให้เห็นว่ามีสินค้าของแบรนด์วางอยู่แบบนี้ แล้วแบรนด์ก็ทำการจ่ายเงินส่วนหนึ่งให้เจ้าของร้าน เจ้าของร้านก็ได้เงินเพิ่ม แบรนด์ก็ได้ข้อมูลไป ก็เป็น Value ที่ Win-Win กันทั้งสองฝ่าย ความท้าทายก็คือ ทำยังไงให้ร้านโชห่วยหรือร้านค้าปลีกเหล่านี้ยังคงอยู่และสร้าง Value ให้กับทุกฝ่ายได้ครับ”
จับคู่ธุรกิจเพื่อการปรับปรุง
นอกเหนือจากการมีผู้ร่วมอุดมการณ์ ทีมงานที่พร้อมลุยธุรกิจ การได้รับแรงสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เปรียบเสมือนพลังไฟที่ขับเคลื่อนให้สตาร์ทอัพเล็กๆ พุ่งทะยานไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพียงเงินทุนที่สนับสนุนเท่านั้น แต่หมายถึงการผลักดันให้เกิดการพัฒนาในสนามแข่งขันจริง
“เราได้รับการสนับสนุนจาก NIA ในหลายๆ ด้านเลย เช่น โครงการพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ช่วย Matching เรากับลูกค้าที่มีความต้องการจริงซึ่งถือว่าดีมากครับ เพราะว่าเราได้จับคู่กับบริษัทที่ค่อนข้างมีความเป็นไทย เพราะพอเป็นแบรนด์ไทยเราก็ยิ่งเห็นปัญหา เข้าใจปัญหาธุรกิจมากขึ้น เรียนรู้กันทั้งสองฝ่ายว่าเราเองก็ต้องปรับเปลี่ยนบางอย่าง เพราะก่อนหน้านี้เราเคยให้บริการแบรนด์ที่เป็นระดับอินเตอร์ ถือว่าค่อนข้างใหญ่ เมื่อมาเจอแบรนด์ที่ถือว่าอยู่ในขนาดระดับกลางๆ ก็ได้เห็นว่าเราต้องปรับแอปพลิเคชันในอีกมุมมองหนึ่งเพื่อที่จะให้สามารถเข้ากันได้กับผู้ใช้หรือบริษัทที่อยู่ในวงการค้าปลีกมากในหลายๆ ระดับมากขึ้นไปอีกครับ”
ไม่มีอะไรสำคัญกว่ากัน ความเชี่ยวชาญต้องผสานกับการเรียนรู้
ในชีวิตของเราทุกคน ไม่ใช่แค่เฉพาะวงการสตาร์ทอัพ คงไม่มีใครลงมือทำเฉพาะในสิ่งที่เราถนัดหรือคุ้นเคยเท่านั้น Safe Zone อาจจะปลอดภัยแต่อาจจะไม่ได้นำพาความสำเร็จมาให้ การเคยเป็นเสือนอนกินอาจไม่ใช่คำตอบที่เราต่างแสวงหา การกล้าก้าวออกไปจากจุดที่ปลอดภัยแล้วลองเรียนรู้ นั่นอาจเป็นคำตอบ
“ความถนัดความเชี่ยวชาญสำคัญ อย่างบริษัทใหญ่ที่เป็นเจ้าของแบรนด์พยายามจะทำแอปพลิเคชันของตัวเองแต่ว่าความเชี่ยวชาญของเขาคือการทำสินค้า การทำการตลาดให้คนซื้อ รวมถึงการขายและการกระจายสินค้ามากกว่า พอเขาลงมือทำแอปฯ เอง เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีเองส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยเวิร์ค ตรงนี้ไม่เป็นไรให้เป็นหน้าที่เราจัดการให้ว่าคุณอยากจะใช้เทคโนโลยีไปเสริมการขายของคุณยังไง ตอนนี้เราวาง Position ว่าจะไปเสริมการขายที่เป็นการขายหน้าร้านรวมถึงซัพพอร์ตในส่วนของข้อมูลให้ ลูกค้าเชี่ยวชาญด้านการทำการตลาด เราเชี่ยวชาญด้านเก็บและตรวจสอบข้อมูล ข้อมูลเหล่านี้ลูกค้าก็เอาไปพัฒนาทำแผนการตลาดและการขายต่อ อย่างนี้ก็ค่อนข้างลงตัว เราทำสิ่งที่เราถนัด ลูกค้าก็ทำสิ่งที่ตัวเองถนัด
แต่การเรียนรู้ก็สำคัญครับ อย่างตอนที่ก่อตั้งบริษัท ผู้ก่อตั้งทั้งสามคนเก่งแต่เรื่องเทคโนโลยีแต่ไม่มีใครรู้เรื่องการสร้างแบรนด์ การทำแบรนด์ หรือเรื่อง FMCG เลย แต่เราจะรู้เฉพาะแค่เรื่องเทคโนโลยีไม่ได้ เราก็ต้องไปเข้าใจ Business Plan ไปรู้จักลูกค้า ต้องไปลงพื้นที่เวลาที่เซลส์แมนขายของคือ Manual มากๆ นะ ต้องลงไปคุยกับอาแปะเจ้าของร้านโชห่วย ต้องเข้าไปเรียนรู้ หลังจากนั้นเราก็ทำในส่วนที่ช่วยซัพพอร์ต เก็บข้อมูล ยังไงการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญครับ”
กล้าเสี่ยงบนพื้นฐานของข้อมูล
เป็นความจริงที่ว่าไม่มีใครรู้อนาคต แต่เชื่อหรือไม่ว่าเราสามารถคาดการณ์อนาคตได้ด้วยการคำนวณความเสี่ยงบนพื้นฐานของข้อมูล เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยมากที่สุด ที่เหลือต่อจากนั้นคือการต่อสู้กับความทุกข์ ความยากลำบาก นำพาตัวเองและผู้ร่วมขบวนการทั้งหมดให้อยู่รอดอย่างปลอดภัยโดยที่ไม่ทิ้งกัน
“ต้องกล้า Take Risk ครับแต่ไม่มั่ว เราคำนวณความเสี่ยงมาแล้วว่าถ้าเราทำแบบนี้ความเสี่ยงเราน้อย ซึ่งความเสี่ยงที่เราคำนวณต้องแปลผลมาจากหลายอย่าง เช่น ศึกษาตลาดมาดีหรือยัง สินค้าที่เป็นโปรโตไทป์มีคนซื้อไอเดียไหม เรื่องเหล่านี้ควรจะทดลองก่อนที่จะกระโดดลงมาทำเต็มตัว เรื่องลูกค้าสำคัญมาก ในตอนแรกเรา Suffer อยู่สองเรื่อง เรื่องแรก คือ Scale การขายเพราะว่าเนื่องจากบริษัทเราพาร์ทเนอร์มีความถนัดด้านเทคโนโลยีหมดเลยตอนแรกเราขายไม่เป็นเลย ตอนนี้ยังไม่เก่งมากแต่ก็เริ่มเรียนรู้ว่าต้องทำยังไง เรื่องที่สองคือเรื่อง Scheduling ต่อไปต้องยังไงในเรื่องกระบวนต่างๆ ในการทำธุรกิจ ผมคิดว่ายังไงทุกอย่างต้องคำนวนไว้ก่อน ก่อนที่จะกระโดดลงมาเสี่ยงครับ
แต่สำหรับตอนนี้ เรื่องที่ยากที่สุดคือการที่ต้องอยู่กับธุรกิจของเราให้ได้ ผมทิ้งไปไม่ได้ ถ้าเป็นบริษัทเล็กๆ ตอนแรกที่มีผู้ร่วมก่อตั้งไม่กี่คนอาจทำได้ แต่พอเริ่มใหญ่ขึ้นตอนนี้ทิ้งไม่ได้ มีคนที่เสี่ยงกับเรา มีคนที่พึ่งพาเรา ต้องได้เงินจากเราเพื่อที่จะส่งกลับบ้าน เป็นเรื่องยากที่ว่าทำยังไงที่เราจะไม่ทำให้ทีม คนของเราผิดหวัง”
Business Detail: ZEEN Audit คือแอพพลิเคชั่นแรกใน Zeen Innovation ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นสําหรับทีม Audit ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาที่บริษัทเกี่ยวกับ Fast-moving consumer goods หรือ FMCG พบเจอประจําคือ การตรวจสอบร้านค้าและการทํางานของทีมขาย โดยการใช้ AI ในการตรวจจับวัตถุเพื่อทำนายวัตถุที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)