fbpx

SHIPPOP อนาคตยูนิคอร์นแห่งระบบขนส่ง เชื่อมโยงโลกออฟไลน์และออนไลน์ 

“ผมอยากเป็นคนดีครับ” แล้วคำพูดนี้เกี่ยวข้องอะไรกับการเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมด้านโลจิสติกสตาร์ทอัพของ ชิปป๊อป บริการออนไลน์ที่เชื่อมโยงขนส่งมาไว้ในระบบเดียว ร่วมก่อตั้งและบริหารงานโดย สุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ หรือโมชิ ชายหนุ่มอายุ 30 ปี ที่เริ่มต้นเข้าสู่การเป็นสตาร์ทอัพตั้งแต่อายุ 22 ปี เขาเลือกหันหลังให้จังหวัดหนองคายแล้วมุ่งหน้าสู่เมืองหลวงกรุงเทพมหานครเพื่อไล่ล่าตามหาฝันที่ว่า “ต้องการเป็นโปรแกรมเมอร์ที่เก่งที่สุดในประเทศไทย” เขาไม่รู้หรอกว่าความฝันนั้นอาจจะซ้ำซ้อนกับเด็กหนุ่มสาวอีกมากมายกี่คน เท่านั้นยังไม่พอ แม้ยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นคนเก่งที่สุดหรือยัง แต่เมื่อมีบริษัทยักษ์ใหญ่เริ่มมาข อซื้อตัว ชักชวนเขาไปทำงานด้วย สิ่งเหล่านั้นมีความหมายและผลักดันให้เขามีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ขึ้น 

ระหว่างทางนอกเหนือจากจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เขาได้หาแรงบันดาลใจไปด้วย แม้จะรู้ดีว่าโลกนี้คนที่ประสบความสำเร็จคือคนส่วนน้อย โดยเฉพาะในโลกของสตาร์อัพ ใครๆ ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สตาร์ทอัพมีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่รอด เขาเลือกที่จะท้าทายตัวเองด้วยการบอกคนรอบข้างว่า “เขาจะเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ของสตาร์ทอัพที่รอดให้ดู” โปรเจกต์แรกกับเงินลงทุนส่วนตัวที่เขาสู้อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบกว่าครึ่งล้านบาท เขาไม่ได้อะไรคืนกลับมา นอกจากบทเรียนที่ว่า เขาคืออีกหนึ่งคนในสตาร์ทอัพ 95 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่รอดเรียบร้อย ล้มได้ไม่นาน สุทธิเกียรติก็ลุกขึ้นยืนอีกครั้ง และเป็นอีกครั้งที่ทำให้เขาย้ายข้างกลับมาอยู่ในห้าเปอร์เซ็นต์ของสตาร์ทอัพที่รอดด้วยผลประกอบการกว่า 500 ล้านบาท จากการเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้บริการจองขนส่งรายแรกของประเทศ มีระบบออนไลน์เชื่อมต่อกับพันธมิตรในการขนส่ง มีจำนวนแฟรนไชส์สร้างเครือข่ายทั่วเมืองไทย แม้ว่ากินเวลาไปทั้งหมดรวมแล้วกว่า 8 ปี แต่อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ทั้งจำนวนรายได้ จำนวนพนักงาน จำนวนสาขา จำนวนรางวัล พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเวลา แรงกาย แรงใจ แรงสมอง ของเขาไม่สูญเปล่า 

คนที่จุดประกายและคนที่เข้าใจมีความหมายกว่าที่คิด

สุทธิเกียรติขึ้นชื่อว่าเป็นนักโปรแกรมเมอร์ฝีมือดี อนาคตไกล ขยันขันแข็ง เขาทำงานประจำไปพร้อมกับการเริ่มต้นสตาร์ทอัพ หลังเลิกงานเขาไม่มีชีวิตส่วนตัวเหมือนคนอื่นๆ เพราะเขามีธุรกิจที่ต้องพาไปให้ไกลที่สุดจากจุดเริ่มต้น ลำพังตัวเขาเองมีไอเดียแต่อาจจะไม่เฉียบคมกลมกล่อมเท่าคนที่มีประสบการณ์ แต่เพราะเขาได้พาตัวเองไปพบกับผู้ที่มองเห็นโลกนี้รอบด้านกว่า ธุรกิจที่ไม่เคยมีใครเคยทำ จึงเกิดขึ้น

“ผมได้ไอเดียเริ่มต้นจากกลุ่มเฟซบุ๊ก Young Webmaster Camp  พี่ป้อม-ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com โพสต์มาว่า อยากทำสตาร์ทอัพ มีไอเดีย มีเงิน แต่ไม่มีทีมทำ ผมถามว่าพี่ป้อมจะทำอะไร เลยได้มีโอกาสนัดคุยกัน ผมบอกไปว่า ผมอยากทำเรื่อง E-commerce หรือ E-payment แต่พี่ป้อมบอกว่า มีเรื่อง E-Logistic ด้วยนะยังไม่มีคนทำ เขาให้ไอเดียไกด์ไลน์มา  ผมก็เริ่มรีเสิร์ชนู่นนี่เต็มไปหมดเลย ต่างประเทศเขาก็ทำกัน ซึ่งตอนนั้นอ่านยังไงก็ไม่เข้าใจ แต่บอกตัวเองว่า โอเคเราลองทำดูละกัน 

ปัญหาแรกคือ ไม่มีใครเข้าใจว่าผมจะทำอะไร เพราะมันเป็นคนแรกจริงๆ มันใหม่มากในประเทศไทย ไม่มีใครทำด้วย หาเพื่อนเป็นร้อยๆ คน ก็โดนปฎิเสธหมด จนสุดท้าย จ้างฟรีแลนซ์มาดีไซน์เว็บให้ แล้วผมก็เป็นคนเขียนโปรแกรมเอง ทำไปปุ๊บสองสามเดือนสุดท้ายผมกลายเป็น 95 เปอร์เซ็นต์เรียบร้อย หลังจากนั้นผมไปปรึกษาพี่ป้อม เขาก็ให้เงินลงทุนมาจึงได้จดทะเบียนบริษัท พี่เขาให้มุมมองกับเราว่า ขนส่งของเรามันเร็วก็จริงนะ แต่ว่ามันแพง ตอนนั้นคนยังไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าทำไมต้องใช้ Grab ทำไมต้องใช้ Lalamove  ทำไมต้องส่งเร็วๆ ด่วนๆ ใครๆ ก็ใช้ไปรษณีย์ไทย ตอนนั้น Kerry ก็ยังไม่ได้โด่งดังมาก  ผมอยากเชื่อมต่อกับไปรษณีย์ไทย พี่ป้อมก็พาไปทำความรู้จัก ผมออกบูธพร้อมกับโปรดักส์ที่มีไปรษณีย์ไทยพอดี จากไม่มีคนใช้งาน กลายเป็นมีคนมาส่งของเดือนละสามพันชิ้น เดือนถัดไปหมื่นชิ้น เดือนถัดไปสองหมื่นชิ้น คือโตสองเท่าสามเท่าไปเรื่อยๆ” 

ก้าวที่เติบโต ต้องเปิดหูเปิดตา เปิดโลก

เราทุกคนกลายเป็นผู้ใหญ่มิใช่เพียงเพราะวันและเวลาที่ผ่านไป แต่เพราะประสบการณ์ที่สั่งสม ผู้คนที่เราพบเจอ ความเข้าใจ ความเชื่อบางอย่างตลอดทั้งชีวิตอาจผิดจากที่เคยรับรู้ เปิดใจรับฟังและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน นี่คือสิ่งที่สุทธิเกียรติเรียนรู้จากการก้าวเข้ามาเป็นผู้บริหารในวันที่ธุรกิจเริ่มเติบโต

“พอมันเริ่มโตขึ้นมาเรื่อยๆ ปัญหาที่เราเจอคือเรื่องทีมงาน วันแรกการหาทีมงานหายากมาก คนเข้าสมัครงานกับเราแค่คนสองคนเราก็ดีใจแล้ว ใครสมัครมารับหมด แต่พอบริษัทไปถึงวันที่มีลูกน้องประมาณ 10 กว่าคน ทุกคนรวมตัวกันไล่ผมออกด้วยเหตุผลที่ว่า พี่เป็น CEO ที่ความเห็นไม่ตรงกับน้องๆ สุดท้ายน้องๆ ก็ออกหมดเลย ทำให้ผมทำความเข้าใจใหม่ว่า การบริหารงานบุคคลต้องเปลี่ยน ก่อนหน้านี้ CEO ทำทุกอย่าง ทุกคนสามารถคุยกับผมได้ตรง แต่ไม่ใช่แล้ว งานบางอย่างเราต้องปล่อยให้คนอื่นทำ ต้องมีหัวหน้าหรือ Middle Management Level ขึ้นมาช่วยเรามากขึ้น 

พอเปิดบริษัทได้ประมาณสามปีเริ่มนิ่งแล้ว ผมก็ต้องหาไอเดียใหม่ๆ ผมต้องไม่หยุด ผมก็ไปเรียนเทรนนิ่งกับ Alibaba E-Power ไปต่างประเทศได้รับการสนับสนุนจาก NIA หรือสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้ออกบูธ มีการ Business Matching ผมได้เปิดหูเปิดตาหาไอเดียใหม่ๆ มา สตาร์ทอัพที่เติบโตมากๆ ไม่ได้มีแค่ซอฟท์แวร์อย่างเดียว มีเรื่องออฟไลน์ด้วย จึงเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า Shippop 2.0 ครับ ผมทำแฟรนไชส์ครับ ทำให้ยอดขายผมพลิกเลย แต่ตอนนั้นปี 2016 – 2019 ส่งทั้งปีประมาณสามล้านชิ้น แต่ปัจจุบันหลังจากมีแฟรนไชส์ ส่งประมาณเดือนละล้านชิ้น กลายเป็นว่า Business Model ใหม่ๆ เกิดขึ้นจากการที่มีได้ไปพบเจออะไรใหม่ แล้วโชคดีที่ NIA สนับสนุนเรื่องพวกนี้ครับ”

เมื่อชีวิตถึงทางแยก ต้องเลือก เพื่อตัวเองหรือเพื่อใคร

หากชีวิตมาถึงทางเลือก พบเจอถนนที่มีทางแยก จิตใจของคุณต้องแข็งแกร่งและชัดเจนต่อเป้าหมายในชีวิตให้มากพอ คุณจึงจะได้คำตอบที่ไม่ทำให้คุณผิดหวังหรือเสียใจในภายหลัง สุทธิเกียรติเลือกแล้วว่าจะอยู่ในโลกสีดำ โลกสีขาว หรือโลกสีเทา ณ วันนี้ ธุรกิจที่เขาทำอยู่ และรอยยิ้มของคนรอบตัวคงเป็นคำตอบที่ไม่ต้องถามอีกต่อไป

“ก่อนที่จะทำชิปป๊อปผมทำอีเวนท์ ทำสนามกอลฟ์  ทำขายป้ายทะเบียน ขายคอนโด เติมเงินมือถือ ผลบอล ผมลองทำมาทุกอย่างมาก ผมทำอย่างอื่นก็ได้เงินดีมากนะ แต่ก็่มีเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจหลายๆ เรื่อง   ทั้งธุรกิจสีเทาที่เข้ามาหาผม เพราะผมเป็นโปรแกรมเมอร์ ผมทำได้ทุกอย่าง สุดท้ายผมอยากเป็นคนดีครับ แค่นั้นเลย ผมเลือกเส้นทางให้ตัวเองว่า เราอยากทำงานนี้ แล้วชิปป๊อปเป็นตัวที่เร่งสปีดได้เร็วที่สุดจริงๆ เพราะว่าเป็นบริการที่ทำซ้ำได้ ข้อนี้สำคัญมากเรื่องการ Repeatable บวกกับการที่เรามี  Mentor ที่ดี ที่ปรึกษาทางธุรกิจของเราก็คือ พี่ป้อม-ภาวุธ ที่พาไปพบปะนักลงทุน ทำให้มีคนรู้จักเรามากขึ้น คนก็เริ่มใช้เราทันที ถ้าเป็นสินค้าหรือบริการอื่นๆ ผมจะเป็นแค่ คนที่คิดโปรแกรมให้แล้วจบ แต่ชิปป๊อปผมทำแล้วผมมีความเป็นเจ้าของด้วย

แต่พอมาถึงจุดนึงผมไม่ได้ทำให้ตัวเองแล้วนะครับ ผมมีทีมงานต้องเลี้ยง เรามีสาขาเป็นพันๆ ที่พันธมิตรต่างๆ คาดหวังกับเราอยู่ เป็นความกดดันของผมที่ต้องทำเพื่อให้ผู้คนอยู่รอดมีอาชีพให้ได้ แต่มันก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง แม้ตลาดจะเปลี่ยนไป สงครามราคาขนส่งจะดุเดือดมากน้อยแค่ไหน ผมต้องคิด Business Model ใหม่ๆ เพื่อไปเติมเต็มให้คนเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้ผมไปเจอสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมาตลอดเลย นั่นก็คือล๊อตเตอรี่ ผมเข้าไปคุยกับคนขายล๊อตเตอรี่ แล้วก็ให้มาขายหน้าร้านสาขาของผม ปรากฏว่าขายดี หรือแม้กระทั่ง ประกันโควิด ผมก็เอาประกันมาขาย ก็ขายดี เลยกลายเป็นว่าผมมีจุดที่เชื่อมต่อระหว่างโลกออนไลน์กับออฟไลน์ทั่วประเทศเลยตอนนี้ การที่เราช่วยคนกลับมาเป็นโอกาสให้เราขยายธุรกิจ” 

บทสนทนาคือครู ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา

แม้โลกปัจจุบันการนั่งสนทนากันในตอนเช้า สาย บ่าย เย็น อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคยกันอีกต่อไป แต่ในทุกวันบทสนทนาเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ความคิดถูกตีตอบโต้กันไปมาเหมือนลูกปิงปองผ่านแชทแอพพลิเคชั่นไม่ว่าคุณจะอยู่ส่วนใดของโลก อย่าปิดกั้นไอเดียตัวเองเพียงเพราะไม่ได้ออกไปไหน เชื่อหรือไม่ว่า บทสนทนาสามารถเปลี่ยนชีวิตเราไปได้ตลอดกาล 

“ผมเชื่อว่าการคุยกับคนเยอะๆ จะได้ไอเดียต่างๆ หรือการไปทำ Business Matching นักธุรกิจหรือเจ้าของบริษัทเขาจะถามว่าคุณทำอะไร เล่าให้ฟังสิ เราสามารถทำร่วมกันได้ไหม อะไรแบบนี้ครับ พอมัน Matching กันตรงนี้ ถ้าเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ คิดการณ์ไกลมันจะเกิดไอเดียขึ้นมาว่าเราควรทำอะไรต่อ ประเทศนั้น คนอื่นเขามีแบบนี้นะ เราสามารถจะเอามา Matching กับเราได้อย่างไรบ้าง ตรงนี้ผมว่าสำคัญมากๆ  Mindset ที่ต้องมีคือต้องเรียนรู้ตลอดเวลา อย่างผมพึ่งจะเริ่มเรียน FB Metaverse เมื่อประมาณสองสามเดือนที่แล้วนี่เอง คุณต้องใส่เรื่องใหม่ๆ เข้ามาในธุรกิจของคุณ ผลักตัวเองออกไปหาโลกใหม่ๆ เสมอ  อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ การลงมือทำ ลองผิดลองถูก อย่าทำในวันที่เราพร้อมทุกอย่าง เพราะเราจะไม่มีวันที่พร้อมเลยครับ ที่ผ่านมาผมก็ไม่รู้หรอกว่าทำแบบนั้นดีหรือไม่ดี เราคิดเองเออเองไม่ได้หรอกครับ ต้องลองทำ ลงมือทำ

สำหรับใครก็ตามที่ตอนนี้มีไอเดีย Logistic หรือว่านวัตกรรมอะไรต่างๆ ที่สามารถพัฒนา ระบบ Logistic ได้ ชิปป๊อปพร้อมไปลงทุน พร้อมสนับสนุนสตาร์ทอัพรุ่นใหม่นะครับ ผมเชื่อว่าเรามุมานะจนประสบความสำเร็จได้ เพราะมาจากการที่ทุกคนสนับสนุนเราเต็มไปหมดเลย เราก็เลยอยากสนับสนุนคนอื่นบ้างครับ”

Business Detail: บริษัทให้บริการออนไลน์เชื่อมโยงขนส่งมาไว้ในระบบเดียว บริการหน้าร้านเพื่อรับส่งสินค้า ช่วยเหลือเกษตรกรในการขนส่ง สร้างรายได้ให้แก่คนทั่วไปจากสาขาที่เปิดให้บริการ มีอัตราการเติบโตกว่า 30% ในปัจจุบันมีมากกว่า 1,000 สาขา และมีการส่งพัสดุมากกว่า 1,000,000 ชิ้นต่อเดือน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ