fbpx

QueQ แอปพลิเคชันปฏิวัติระบบจัดการคิว ให้ ‘ไม่มีคิว’

หลายปีที่ผ่านมา หากเดินผ่านหน้าร้านอาหาร ธนาคาร หรือโรงพยาบาลบางแห่ง น่าจะพอคุ้นๆ กับจอแสดงลำดับคิวที่มีตัวการ์ตูนหนวดน้อยน่ารักแปะตัวอักษร QueQ (คิว-คิว) นั่นคือแอปพลิเคชันจัดการคิว ที่มาไกลกว่าแค่การบริหารเวลาอย่างคุ้มค่า เพราะช่วยให้คนไม่ต้องเสียเวลายืนรอคิว

จะด้วยวิกฤตโควิด-19 หรือเทคโนโลยีอันชาญฉลาดก็ตามที วันนี้การบริหารจัดการคิวไม่ใช่แค่ระบบที่ ‘พอมี’ แต่กลายเป็นระบบมาตรฐาน ‘จำเป็น’ ขึ้นมาทันใด

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น อย่างที่ทราบกัน เมื่ออยู่ในยุคที่ใครๆ ก็ไม่อยากไปร้านอาหาร หรือไม่อยากเดินทางไปไหนต่อไหน เพื่อลดความเสี่ยงรับเชื้อโควิด-19 GM Live จึงขอพามาพูดคุยกับ โจ้รังสรรค์ พรมประสิทธิ์ ผู้ก่อตั้ง แอปพลิเคชัน QueQ ที่จะเปลี่ยนมุมมองของวัฒนธรรมการต่อคิวและทำให้รู้ว่า ‘การจัดคิว’ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป

ก้าวแรกสุดหิน : พลิก mindset โลกแห่งการต่อคิว

เหมือนกับคนทั่วไป โจ้-รังสรรค์ เป็นคนหนึ่งที่เคยใช้บริการจัดการคิวแบบรับกระดาษคิวหน้าเคาน์เตอร์ แต่สิ่งที่ต่างจากคนอื่น เมื่อวันหนึ่งโจ้ไปรอคิวธนาคารแห่งหนึ่งในวันสิ้นปี ที่มีคนมาใช้บริการจำนวนมาก การรับบัตรคิวที่กว่าจะถึงลำดับของเขา คือ นานมาก

เขาฆ่าเวลาด้วยการเดินเล่นในห้าง แต่ใจกลับพะวงว่าถึงคิวตัวเองหรือยัง? เลยคิวไปแล้วหรือยัง? สุดท้ายไม่พ้นต้องค่อยวนเวียนอยู่หน้าธนาคารเหมือนเดิม ทำให้เขาฉุกคิดได้ว่าคงจะดีกว่า ถ้ารู้ว่าคิวของตัวเองจะมาถึงเมื่อไร?

จากปมเล็กๆ ประกอบกับโจ้คลุกคลีอยู่ในวงการไอที ในฐานะผู้รับผลิตซอฟต์แวร์ (Software House) ให้องค์กรมาก่อน และคาดการณ์แล้วว่าแนวโน้มพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยี จะมาทางโมบายแอปพลิเคชันแน่นอน เขาจึงจุดประกายไอเดียรวมแนวคิดทั้งหมดนี้เข้าด้วยกัน และตัดสินใจทรานฟอร์มตัวเองเป็นสตาร์ทอัพ

“ระบบคิวเดิม บอกแค่ว่าใครมาก่อน-หลังเท่านั้น โซลูชั่นนี้แก้ปัญหาผู้ให้บริการที่จะได้เรียกคิวต่อไปได้เร็วๆ แต่โซลูชั่นแก้ปัญหาผู้รับบริการยังไม่มี อย่างน้อยก็ให้รู้ว่าคิวไปถึงไหน แค่นี้ก็ตอบโจทย์ผู้รับบริการแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่มีโซลูชั่นแบบนั้นในโลกเลย ส่วนใหญ่เป็นคิวกระดาษทุกที่” โจ้ ย้อนไปเมื่อ 7 ปีก่อน เมื่อครั้งปิ๊งไอเดียแวบแรกของวิธีจัดการคิว ในยุคที่คนทั่วไปยังคุ้นเคยกับคิวกระดาษฉีก และกลายเป็นก้าวแรกของสตาร์ทอัพ QueQ

จากจุดนั้นเขาและทีมงานค่อยๆ ทดสอบโซลูชั่น QueQ พัฒนาโมเดลธุรกิจ บวกกับสำรวจตลาดความเป็นไปได้ เพื่อให้แน่ใจว่าบริการนี้จะสามารถทำเป็นธุรกิจได้จริงหรือไม่?

สิ่งที่พวกเขาค้นพบ ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร โรงพยาบาล ร้านอาหาร หรือแม้แต่หน่วยงานต่างๆ ที่มีการให้บริการ เจอปัญหาเรื่องการจัดคิวแบบเดียวกันหมด บางแห่งต้องนั่งรอกันตั้งแต่เช้าจรดเย็น ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีความสอดคล้องกับโมเดลธุรกิจของ QueQ

นับว่าทำการบ้านมาดี แต่เมื่อลงสนามจริง โลกความเป็นจริงของธุรกิจกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น

“ยุคนี้ระบบลักษณะแบบ QueQ กลายเป็นมาตรฐานไปแล้ว แม้ในต่างประเทศ แต่ในยุคสมัยนั้น วิธีคิดแบบนี้ทุกคนจะเฮ้ย! มันจำเป็นจริงเหรอ?”

“อย่างที่บอก ระบบเดิมถูกออกแบบสำหรับผู้ให้บริการ ซึ่งไม่ได้มองไปที่ฝั่งผู้รับบริการ ฉะนั้นต้องเปลี่ยนทั้งพฤติกรรมผู้รับบริการ และ mindset ของผู้ให้บริการ ตอนแรกๆ ลำบากมากที่จะโน้มน้าวให้เขาเห็นว่าวิธีของเราใช้ได้จริงๆ”

ลุยแบรนด์ร้านอาหาร กลยุทธ์สร้างการบอกต่อ

เป็นธรรมดาของการนำเทคโนโลยีมาเชื่อมต่อกับมนุษย์ ไม่พ้นอุปสรรคการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคหรือผู้ใช้งาน QueQ จึงเลือกบุกตลาดแรกเป็นกลุ่มร้านอาหารจำพวกเชน ที่มีการรอคิวนานๆ เนื่องจากได้ยูสเซอร์ที่มีความถี่การใช้งานสูงเมื่อเทียบกับธุรกิจธนาคารหรือโรงพยาบาล เพื่อหวังช่วยสร้างประสบการณ์การใช้งานได้รวดเร็วและวงกว้าง ที่สำคัญช่วยให้แพลตฟอร์มได้เรียนรู้พฤติกรรมการต่อคิว เพื่อนำมาสู่การพัฒนาระบบไปพร้อมๆ กัน

“ถ้านำระบบไปใช้กับโรงพยาบาลก่อน คนใช้ครั้งแรกอาจจะ ‘ว้าว!’ แต่กว่าจะใช้อีกครั้งหนึ่ง อาจจะเป็นปีต่อมาก็ได้ เขาอาจจะลืมวิธีการนี้ไป พฤติกรรมการใช้งานจะไม่เปลี่ยน ไม่เหมือนคิวร้านอาหารที่มีคนใช้บ่อยกว่า”

“แต่จะเห็นว่าไม่มีระบบจัดการคิวดีๆ ใช้ในตลาดร้านอาหารเลย เพราะเป็นตลาดที่มีงบน้อยสุด แต่เราเลือกตลาดนี้ก่อน โดยระดมหลายๆ ร้านอาหารเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มความถี่ในการใช้งาน เมื่อใช้แล้วติดใจจะบอกต่อและเกิดการใช้ซ้ำ สุดท้ายจะกลายเป็นบรรทัดฐานของคิว” โจ้ เผยถึงกลยุทธ์แสนใจเย็นช่วงเริ่มธุรกิจ

กว่าจะได้แบรนด์ร้านอาหารแรกมาอยู่ในมือ QueQ ใช้เวลากว่า 6 เดือน และใช้เวลาอีก 6 เดือน ในการปรับระบบให้สอดคล้องกับกระบวนการทำงานหลังบ้านของร้านอาหารได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยระบบไม่เพียงจัดระเบียบคิว แต่ยังสามารถวัดความพึงพอใจ วัดอัตราความหนาแน่น วิเคราะห์ข้อมูลต่อได้อีก ว่าร้านควรวางแผนต่อไปอย่างไร

“ฟีดแบ็คเรื่องแรกที่ได้คือ การสร้างแบรนด์ ได้ทั้งเราและร้านอาหาร ยูสเซอร์รู้จักมากขึ้น มีแบรนด์หนึ่งเคยปฏิเสธเรา แต่ประธานของเขาพูดขึ้นว่า ถ้า QueQ สามารถทำให้ร้านดังๆ มาใช้ระบบนี้ได้หมด ร้านของเขาจะเสียโอกาสทันที เพราะคนเข้าห้างปุ๊บเปิดแอปฯ จองคิวแล้วไม่เห็นร้านเขา ฝั่งลูกค้าจะรู้สึกว่าร้านที่มีแอปฯ ใส่ใจลูกค้า เพราะทำให้ไม่ต้องรอ”

ยูสเซอร์กว่า 3 ล้าน ประหยัดเวลาเท่ากับบินไปดวงจันทร์ได้ 50 รอบ

สำหรับผู้บริโภคยุค 4.0 การใช้แอปฯ QueQ ช่วยจองคิวง่ายแค่กดผ่านสมาร์ทโฟน ถึงเวลาก็แค่ไปให้ถึงจุดหมายตามเวลาที่ระบุ แต่ในฝั่งทีมงานแล้วต้องออกแบบระบบหน้าร้าน (หน้าคิว) ให้สัมพันธ์กับการทำงานหลังบ้านของร้านอาหารด้วย เพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการได้ทันทีที่มาถึง

QueQ ใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์บริหารคิวร้านอาหารอยู่ร่วม 2 ปีกว่า จนสามารถจับแพทเทิร์นการจัดการคิวได้อย่างแม่นยำ ก่อนจะอัพสเกลให้บริการไปยังตลาดเซกเมนต์อื่น อาทิ งานอีเว้นท์ ธนาคาร ศูนย์บริการต่างๆ และโรงพยาบาล

“โซลูชั่นที่ยากที่สุด คือ โรงพยาบาล เพราะเริ่มคิวตั้งแต่ก่อนเข้าโรงพยาบาล โยนไปแผนกเจาะเลือด โยนไปแผนกเอ็กซเรย์ โยนไปจ่ายเงิน รับยา เป็นคิวแบบ Flow Management สำหรับผู้รับบริการคือท่าเดียวกันกับร้านอาหาร แต่ฝั่งหลังบ้านทำงานยากกว่ามาก”

“แต่ไม่ว่าที่ไหน Journey การต่อคิวแบบเดิม คือจะให้คนไปรอที่โรงพยาบาลหรือสถานที่นั้นๆ แต่ทำไมเราถึงไม่ไปตอนที่ถึงเวลา สิ่งที่ QueQ ทำคือพอไปถึงปุ๊บได้ตรวจเลย”

เมื่อถามถึงความยากของการขยายเซกเมนต์ ผู้ก่อตั้งแอปฯ บอกว่า ทุกแห่งที่ไป ‘ยากหมด’ เพราะนี่คือการเปลี่ยน mindset ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ

“ยากที่สุดก็คือ โรงพยาบาล แรกๆ ผมก็ท้อนะ เจอคุณหมอบอกระบบคิวโรงพยาบาลไม่หมูเหมือนระบบร้านอาหารนะ คนไข้มารอคิวก็ถูกแล้ว ไม่ใช่ว่าหมอว่างจะได้มารับบริการเลย นี่คือ mindset อย่างแรกที่ต้องผ่านด่านให้ได้ก่อน ให้เขาเปิดใจรับฟังว่าสิ่งนี้ดีอย่างไร”

‘สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น’ โจ้เลือกใช้วิธีที่ง่ายสุด คือ ‘ทำให้เห็น’ พิสูจน์ให้เห็นว่าประสบการณ์ที่ QueQ สั่งสมมา สามารถบริหารคิวโรงพยาบาลได้ไม่เกินความสามารถ จากนั้นก็ใช้สูตรเดิม คือ ให้คุณหมอที่เคยใช้บริการ QueQ แนะนำบอกต่อคุณหมอด้วยกันเอง จนมีหลายโรงพยาบาลใช้แอปพลิเคชัน QueQ ในการจัดการคิวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบัน QueQ กระจายการให้บริการทั่วประเทศ มียูสเซอร์ผู้ใช้งานมากกว่า 3 ล้านคน จำนวนนี้เป็นยอดที่เข้ามาใช้งานทุกเดือน รวมจำนวนเวลาที่ QueQ สามารถประหยัดให้กับผู้ใช้บริการได้ เท่ากับเวลาบินไปดวงจันทร์ได้ 50 รอบ

พิษโควิดเปิดโอกาสสู่ฐานลูกค้าใหม่ รับ Social Distancing

เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 มาเยือนโดยไม่คาดฝัน QueQ เองก็ได้รับผลกระทบเพราะร้านอาหารไม่สามารถให้ลูกค้านั่งทานอาหารที่ร้านได้ ระบบบริหารคิวจึงไม่มีประโยชน์ ร้านอาหารหลายแห่งขอหยุดใช้บริการแอปฯ ชั่วคราว

แต่โชคดีที่ QueQ มีฐานลูกค้าหลายเซกเมนต์ และพลิกเกมได้ทัน เบนเข็มไปยังลูกค้าสายองค์กรและภาครัฐทันที ผลที่ได้คือฐานลูกค้าใหม่ที่คาดไม่ถึงอย่าง อุทยานแห่งชาติ ตลาด หรือการจองคิวขอใบรับรอง Fit to Fly ของคนไทยในอังกฤษที่สถานทูตไทย

“โซลูชั่นของเราบังเอิญตอบโจทย์กับสถานการณ์ ทำให้พอไปต่อได้ อย่างโรงพยาบาลและตลาดที่มองว่าการให้บริการที่ศูนย์บริการต้องปรับเปลี่ยน เพราะมีเรื่อง Social Distancing, Quarantine Control เข้ามา ตอนนี้การเข้าคิวแน่นๆ ผู้ให้บริการอาจถูกสั่งปิด หรือคนที่เสี่ยงจริงๆ ก็คือผู้รับบริการและพนักงานที่อยู่หน้างาน การจัดการคิวจึงกลายเป็นของจำเป็น”

“อย่างอุทยานแห่งชาติต้องการระบบที่ป้องกันไม่ให้คนยืนรวมกันตรงทางเข้า แต่คนต้องซื้อบัตร สแกนไทยชนะ วัดอุณหภูมิทางเข้าอุทยาน QueQ ก็ใช้วิธีการกระจายโควต้าต่อชั่วโมง เกลี่ยคิวกันไป”

หลักคิดเดียวกันนี้ QueQ ยังนำมาใช้กับการจองคิวขอใบรับรอง Fit to Fly (ใบรับรองแพทย์ประกอบการเดินทางเพื่อยืนยันว่าบุคคลนั้นมีสุขภาพแข็งแรงเหมาะสมต่อการเดินทาง และไม่ป่วยติดเชื้อโควิด-19) ที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ตอนโควิด-19 ระลอกแรก

เหตุการณ์นั้นผู้คนเต็มหน้าสถานทูตไทย ล้นมาที่ถนน โดย QueQ ได้รับการแนะนำให้ไปจัดการเคสนี้ เซ็ตระบบข้ามประเทศ ทันทีที่เปิดใช้ระบบในวันรุ่งขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ‘ไม่มีคิวหน้าสถานทูตอีกเลย’

“จากเคสนี้ทำให้กระทรวงต่างประเทศเห็นภาพชัดเจนว่า QueQ ใช้งานได้จริง และนำระบบนี้ไปใช้ในงานตรวจคนเข้าเมืองและเมืองท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น พัทยา ภูเก็ต เพื่อจัดการการต่อวีซ่า แต่เราทำให้ล้ำกว่าระบบที่สถานทูต คราวนี้จองเวลาเข้าไปเลย ถึงเวลาปุ๊บโชว์บัตรคิวเข้ารับบริการได้ทันที ทำให้การเข้าออกสถานที่ทำได้อย่างรวดเร็ว

“ผมพูดตรงๆ แพลตฟอร์ม QueQ ไม่ใช่ระบบ Queuing Solution สิ่งที่เราพยายามทำ คือ ทำให้คิวมันหายไป นี่กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปเลยนะ เป็นการรอคิวอีกแบบหนึ่ง โดยเราจะไม่เห็นคิวอยู่หน้าสถานที่นั้นด้วยซ้ำ”

การจัดการคิวฉีดวัคซีน : ความท้าทายใหม่ของ QueQ

จากผลงานพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า โซลูชั่นสไตล์ QueQ ได้ผลจริง และกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคม Social Distancing จึงไม่แปลกที่ QueQ จะได้รับโจทย์ที่ท้าทายกว่า เมื่อโรงพยาบาลหรือจุดบริการฉีดวัคซีน โควิด-19 หลายแห่งไม่สามารถใช้ระบบคิวแบบเดิมๆ มาบริหารคิวฉีดวัคซีนจำนวนมากได้ แม้ในหลายประเทศก็ยังต่อคิวกันนานเป็น 2-3 ชั่วโมง อย่างที่เกิดกับบราซิลที่ต่อคิวยาวถึง 7 กิโลเมตรมาแล้ว

ปฏิบัติการจัดการคิว ณ จุดฉีดวัคซีน QueQ เริ่มโมเดลนำร่องแรก ในพื้นที่ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน อาทิ ศูนย์ฉีดวัคซีนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อาคารจามจุรีสแควร์, อาคารจามจุรี 9, เอเชียทีค, ทรู ดิจิทัล พาร์ค, ศูนย์กีฬาแห่งชาติภาคตะวันออก อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยผู้รับการฉีดส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่และกลุ่มเสี่ยง เฉลี่ยในกรุงเทพฯ 1,000-3,000 คิว /ต่อจุด / ต่อวัน และ พัทยา 5,000 คิว / ต่อจุด / ต่อวัน

โจ้เล่าถึงโจทย์หลักของงานนี้ ไม่พ้นเรื่องเดิม คือ จัดการคิวอย่างไรไม่ให้เกิดการรวมตัวในการรอหรือ ‘มาออกัน’ หลังเริ่มโปรเจคต์ไปไม่นานทีมงาน QueQ เห็นภาพสถานการณ์และแพทเทิร์นเดิมๆ ทำให้แนวทางการจัดคิวของ QueQ แบ่งออกเป็นช่วงเวลาตามโควตาผู้มารับวัคซีน ผลที่ได้คือ ‘ไม่มีคิว’ หน้าสถานที่ฉีดวัคซีน

“การจัดการคิว คือ การจัดการกับฝูงชนและคนหมู่มาก ดังนั้นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าระบบ คือ ความเชื่อมั่นในระบบ เพราะต่อให้ระบบดีแค่ไหน ถ้าผู้รับบริการไม่เชื่อมั่น เขาก็จะมาก่อนเวลาและเกิดการรวมกลุ่ม เพราะมีบางจุดที่เขาไม่เชื่อในระบบ ทำบัตรคิวกระดาษขึ้นมาใช้ สุดท้ายก็พิสูจน์ให้เห็นที่หน้างาน คิวกระดาษมีคนออเหมือนเดิม ส่วนคิวของ QueQ คือ ไม่มีแถวเลย”

“ถ้ามีหัวแถวขึ้นมาเมื่อไร เมื่อนั้นจะเกิดแถว สิ่งที่เราทำคือประชาสัมพันธ์ตลอดเวลา มีจอดิสเพลย์แจ้ง หรือแจ้งในแอปฯ มีการกำหนดกติกาที่ชัดเจน เพื่อทำให้ทุกคนมั่นใจว่าคิวที่พวกเขาจองมาได้ตามเวลาที่ระบุจริงๆ เจ้าหน้าที่หน้างานก็แฮปปี้กับการทำงานของเรา เขาจะได้ไม่ต้องกังวล เพราะหลายคนเป็นอาสาสมัครที่ไม่ได้มีความชำนาญในการจัดการคิว”

บนอิมแพ็คที่ใหญ่กว่า : ระดมทุนช่วยจัดการคิวฉีดวัคซีน 5 ล้านคน

นับว่าโปรเจคต์การจัดการคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นภารกิจอันดับแรกๆ ของ QueQ ในภาวะการณ์นี้ เป้าหมายต่อไปของ QueQ จึงมองไกลไปถึงการจัดการคิวฉีดวัคซีน 5 ล้านคน ผ่านโครงการ ‘คืน 30 ล้านชั่วโมง’ พร้อมสโลแกน ‘คิวดีไม่รอฉีดนาน’ ซึ่งการบริหารคิวจำนวนมากขนาดนั้นในเวลาอันสั้นทำให้ QueQ ตัดสินใจระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิ้ง ผ่านเว็บไซต์เทใจ (https://taejai.com/th/d/30m_queq/#update-659) เพื่อให้ QueQ สามารถนำระบบการจองและจัดการคิวฉีดวัคซีนผ่านแอป QueQ เข้าไปมีส่วนให้คนไทยได้เข้าถึงการฉีดวัคซีนโควิดได้มากขึ้นและเร็วขึ้น

“QueQ ทำให้เกิดอิมแพ็คที่เราสร้างได้ จากการไปแก้ปัญหาที่สถานทูต ตอนนี้อุทยานแห่งชาติทุกแห่งหันมาใช้ QueQ เพื่อเข้าไปช่วยแก้ปัญหาบางอย่าง และการจัดการคิวฉีดวัคซีน เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้แล้วว่าเรามีคุณค่าจริงๆ ไม่ใช่แค่ 3 ล้านคนที่เป็นยูสเซอร์ แต่คือทั้งประเทศ 50 ล้านคน

เรียกว่าตลอด 7 ปี QueQ ผ่านความท้าทายมาหลายรูปแบบ มาไกลจากก้าวแรกที่แค่ดูแลคิวร้านอาหาร เพื่อช่วยประหยัดเวลา แต่ในช่วงเวลาวิกฤติที่ทุกคนเผชิญกับโรคระบาด แอปพลิเคชันเล็กๆ กลับเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้อีกช่องทางหนึ่งเหมือนกัน

“นอกจาก mindset ของลูกค้าแล้ว ยังมีเรื่อง Wealth Startup ในยุคหนึ่งที่นักลงทุนบอกมันไม่ว้าว เพราะ Queuing Solution มีมานานแล้ว ทุกปีมีคนพยายามแก้ด้วยวิธีต่างๆ แต่ก็ล้มไป ตอนแรกก็แย่ จนได้ร้านอาหารมา ทำให้มีแบรนด์ดิ้ง แต่ก็ไม่เชื่อว่าเราจะขยายผลได้ จนมาทำในระดับอิมแพ็คกับคนทั้งประเทศได้อย่างนี้”

“ตอนแรกๆ มีปัญหาเรื่องความเชื่อเยอะเหมือนกัน แต่พอมีหลายเสียงที่ใช้บริการแล้วแฮปปี้ ระบบของเราแก้ปัญหาของเขาได้ ทำให้เราลุยต่อ ทุกคนมีจังหวะวัดใจ ว่าจะไปต่อหรือหยุดอยู่ตลอดเวลา อยู่ที่ passion จริงๆ ถ้าคิดว่าสิ่งที่ทำมีมูลค่าพอ ตอบโจทย์ตัวเอง ตอบโจทย์ทีมงานได้ ก็ลุยต่อ” โจ้กล่าวถึงพลังใจที่ทำให้ QueQ มาถึงวันนี้เป็นการทิ้งท้ายให้สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ๆ ได้เก็บเป็นข้อคิดให้มีกำลังใจสู้ต่อไป

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ