MYBAND: ผู้สร้างวัฒนธรรมดนตรีสดถูกลิขสิทธิ์ ให้เป็นเรื่องง่าย
“MYBAND แพลตฟอร์มจองวงดนตรีถูกลิขสิทธิ์ที่แรกในโลก! หาวงดนตรีง่ายๆ เติมความสนุกให้ทุกงานอีเว้นท์” คือสองประโยคที่จะสะดุดตาทันทีในหน้าแรก เมื่อเข้าไปบนหน้าเว็บไซต์ของ MYBAND
โซลูชั่นสุดคูลที่ฟังดูจะช่วยแก้ปัญหาสุดคลาสสิคของวงการดนตรี ที่มักมีการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่เสมอจนมองเป็นเรื่องปกติ กว่ามาถึงจุดนี้ไม่ได้โลกสวยอย่างที่คิด แต่ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาสตาร์พอัพเล็กๆ อย่าง MYBAND ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าโมเดลธุรกิจนี้แก้ปัญหาได้จริงและสร้างรายได้จริง!
จากประสบการณ์ที่เติบโตในวงการดนตรีมานาน จากการเป็นนักดนตรี นักแต่งเพลง และนักจัดงานอีเว้นท์ ทำให้ กรรณ ศิธาพัฒน์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท มายแบนด์คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด มองเห็นปัญหาจากสองฝ่าย ทั้งการจัดหาวงดนตรีเพื่อแสดงในงานต่างๆ และอีกด้านกับเพลงที่นักดนตรีนำมาร้องที่มีความกังวลเรื่องลิขสิทธิ์ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง MYBAND ที่ให้ผู้มองหาวงดนตรีได้เลือกและจองวงดนตรีร้องเพลงถูกลิขสิทธิ์มาจัดแสดง
ก้าวแรกของสองปีที่เสียไป แต่ไม่เสียเปล่า
“ผมจบคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรมา ตอนนั้นความรู้ด้านเทคโนโลยีก็แค่ผู้ใช้งาน เว็บจอง Booking, Agoda ทั่วไป ตอนนั้นผมสนใจแพลตฟอร์มลักษณะนี้ ใช้แล้วรู้สึกสะดวกดี ก็คิดว่าอยากลองทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดนตรีในลักษณะนี้บ้าง”
ดังนั้นความคิดแรกที่ผุดขึ้นในหัวของเขา ถ้าจะใช้เครื่องมือดิจิทัลเริ่มต้นธุรกิจ ก็ต้องเป็น ‘แอปพลิเคชั่น’ เท่านั้น ทั้งที่ไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีเลย
แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ กรรณใช้เวลาเป็น 2-3 วันร่างไอเดียที่อยู่ในหัวออกมาเป็นภาพวาดว่าหน้าตาของแอปฯ จะออกมาเป็นอย่างไรทีละหน้า เพื่อนำไปคุยกับโปรแกรมเมอร์และเว็บดีไซเนอร์ น่าเสียดายเวลาผ่านไป 2 ปีก็ยังไม่ได้แอปพลิเคชั่นเป็นเรื่องเป็นราว จนเบนเข็มมาเป็นรูปแบบเว็บไซต์
สองปีที่เสียไป ปัญหาที่ตามมาสไตล์สตาร์ทอัพ คือ เงินทุนที่เริ่มร่อยหรอ แต่กรรณไม่ยอมแพ้ เพราะในสองปีนั้น เขาใช้เวลาเข้าๆ ออกๆ ติดต่อเรื่องลิขสิทธิ์เพลงตามค่ายเพลงต่างๆ เรียนรู้เพิ่มเติมในด้านการตลาด การเขียนโปรแกรมเบื้องต้น ศึกษาทุกอย่างที่ไม่เคยรู้
จนในที่สุดทางก็เปิด เมื่อการลงคอร์สเรียนมากมาย เป็นบันไดให้กรรณมีคอนเนคชั่นคว้าตัวโปรแกรมเมอร์มือดีที่ถูกโฉลกกับงานมาทำงานให้สมใจ
ภายใน 3 เดือนเว็บไซต์ก็พร้อมเปิดใช้งาน พร้อมกับการรันงานในทันที เนื่องจากวัสดุดิบมีเตรียมไว้พร้อมแล้ว โดยไม่มีการทำการตลาดใดๆ เลย เพราะคิดว่าตัวเองเสียเวลาไปมากแล้ว
“เปิดเดือนแรกไม่มีลูกค้าเลย พอเดือนที่ 2 มีลูกค้ารายหนึ่งเป็นห้างสรรพสินค้า ต้องการใช้วงดนตรีถูกลิขสิทธิ์ แต่ตัววงดนตรีส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาตลิขสิทธิ์ ถ้าผู้ว่าจ้างติดต่อเองก็ค่าใช้จ่ายก็สูง ทางวงดนตรีเลยแนะนำว่ามีเว็บ MYBAND ประสานเรื่องลิขสิทธิ์อยู่ พอมีลูกค้ากลุ่มแรก ประกอบกับเป็นไฮซีซั่น ทำให้เริ่มมีคนเสิร์ชเจอเว็บเรา จากนั้นก็กลายเป็นการบอกต่อไปเรื่อยๆ” กรรณย้อนถึงนาทีตั้งหลักของ MYBAND และมีรายได้เข้ามาจริงๆ
จองวงดนตรี ไปพร้อมปลูกฝังการฟังถูกลิขสิทธิ์
หัวใจของ MYBAND คือ จองวงดนตรีสด ไปพร้อมกับส่งเสริมให้ลูกค้าใช้บริการวงดนตรีเล่นเพลงถูกลิขสิทธิ์ โดยไม่พยายามไปเปลี่ยนพฤติกรรมพวกเขา และทำให้การฟังดนตรีถูกลิขสิทธิ์กลายเป็นเรื่องง่าย แน่นอนว่าแนวคิดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นได้ทันทีทันใด ต้องมาจากการค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยระหว่างตัวกรรณเองและผู้ใช้แพลตฟอร์ม
เพราะไม่ใช่แค่เพียงผู้ใช้บริการเท่านั้นที่จะไม่เข้าใจว่าทำไมวงดนตรีที่จ้างไปเล่นตามงานอีเว้นท์ต่างๆ (งานแต่งงาน, งานเลี้ยง) ต้องเล่นเพลง-ดนตรีถูกลิขสิทธิ์ และมีทัศนคติว่า ‘พอมีคำว่าลิขสิทธิ์ ราคาต้องสูงแน่เลย’
ในทางตรงกันข้ามแม้แต่ตัวค่ายเพลงหรือนักดนตรีบางคนเองก็มองว่าจะทำให้วงดนตรีสดถูกลิขสิทธิ์เป็นปัญหาโลกแตกที่ไม่มีทางแก้ได้
ดังนั้นตลาดของ MYBAND จึงดำเนินการขออนุญาตลิขสิทธิ์ (license) แบบไม่ได้จำหน่ายตั๋ว แต่เป็นลักษณะของการใช้เพลงนั้นๆ ในการร้องหรือใช้ในงานอีเว้นท์ งานเลี้ยง งานแต่งงาน หรืองานจ้างทั่วไป
“เราไม่ได้ชาร์จค่าลิขสิทธิ์จากคุณ แต่บอกว่าทุกการจ้างงาน เราแบ่งรายได้คืนให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์ คือ MYBAND ไม่ได้พยายามเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ว่าจ้างให้ต้องใช้ถูกลิขสิทธิ์ แต่เราพยายามทำลิขสิทธิ์ให้เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น ถูกต้องขึ้น นี่คือหัวใจของ MYBAND เลย”
ทั้งนี้ MYBAND จะมีระบบจัดการหลังบ้าน ให้ทุกการจ้างงานผ่าน MYBAND วงดนตรีต้องเลือกลิสต์เพลงเพื่อไปเล่นในงานนั้นๆ แต่ละลิสต์เพลงจะถูกส่งไปให้เจ้าของลิขสิทธิ์ผ่านระบบหลังบ้านแจ้งว่าไปเล่นที่ไหน วันไหน มีเพลงอะไรบ้าง เพื่อให้สามารถวัดผลได้ว่าเพลงเหล่านั้นไปเล่นที่ไหน อีกทั้งจะมีระบบให้ทางศิลปินสามารถเลือกเพลงได้มากกว่าที่เล่นปกติด้วย พอข้อมูลถูกส่งไป ทางเจ้าของสิทธิ์จะออกใบอนุญาตกลับมาให้ผู้ว่าจ้างและทางวงดนตรีสามารถนำเพลงเหล่านั้นไปเล่นได้
“ต้องยอมรับว่าการให้ลูกค้าใช้วงดนตรีถูกลิขสิทธิ์ เขาไม่เก็ต เราสื่อสารไประดับหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ต้องฮาร์ดเซล เรื่องราคา โปรโมชั่น เพราะพฤติกรรมของลูกค้า เราไม่สามารถแก้ไขได้ ต้องค่อยเป็นค่อยไป พอลูกค้าเริ่มเชื่อใจเราแล้ว เราก็ค่อยๆ สื่อสารเรื่องเหล่านี้เข้าไปผ่านเว็บของเราที่จะมีการอัพเดตให้ความรู้อยู่เรื่อยๆ และสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า”
บริการดูแลหน้างาน กุญแจสู่ความเชื่อใจ-บอกต่อ
นอกจากความตั้งใจที่จะยกระดับการใช้งานวงดนตรีถูกลิขสิทธิ์ ทำได้จริง ง่าย สะดวก รวดเร็ว และครอบคลุมเรื่องราคาที่สมเหตุสมผลแล้ว อีกหนึ่งจุดเด่นของ MYBAND คือ การจัดทีมงานดูแลประสานหน้างานระหว่างผู้ว่าจ้างและศิลปินด้วย
“สมมติถ้าใช้ MYBAND อย่างแรกที่ผู้ว่าจ้างได้ คือ ช่วยลดขั้นตอน เพราะเราเช็คศิลปินได้ทุกค่ายที่ลูกค้าอยากเลือก สองคือมีบริการอุปกรณ์เสริม เช่น เครื่องเสียง ซึ่งบางทีลูกค้าไม่ได้มีความชำนาญ บางทีต้องมีการทำ สัญญาซื้อขาย, เช่าซื้อ ตรงนี้ MYBAND ครอบคลุมบริการให้หมด”
“ที่สำคัญเราไม่ใช่แค่จ้างก็เสร็จ เรายังให้บริการหลังการขายด้วย โดยมีทีมงานลงพื้นที่ ดูแลประสานหน้างานให้กับทางลูกค้าด้วย ป้องกันความผิดพลาด เพราะงานอีเว้นท์เป็นงานที่มีการเปลี่ยนคิวแทบตลอดเวลา บางทีลูกค้าติดต่อไม่ได้ ศิลปินก็จะไม่รู้ว่าเขาจะมีคิวจุดไหน กี่โมง อย่างกรณีบ่าวสาวจะเจอประจำ”
การเพิ่มบริการประสานงานหน้างาน ถือเป็นจุดเด่นสำคัญของ MYBAND ที่ทำให้เกิดการสื่อสารกับลูกค้าและตัวศิลปิน ก่อให้เกิดความประทับใจและเชื่อมั่นในตัวแบรนด์มากขึ้น จนเกิดการบอกต่อปากต่อปาก เกิดการใช้บริการซ้ำ กลายเป็นสร้างแบรนด์ทางอ้อมที่ดีที่สุดทางหนึ่ง ในช่วงเวลาที่แบรนด์ไม่ได้งบทำการตลาดเหมือนกับแบรนด์ใหญ่ๆ
ไม่เพียงเท่านั้น MYBAND ยังขยายรูปแบบให้ศิลปินตัวเล็กๆ ได้มีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์เพลงของตัวเอง เพียงศิลปินคนนั้นมีเพลงของตัวเองและอัพโหลดขึ้นระบบของ MYBAND เมื่อวงอื่นที่เป็นสมาชิกของ MYBAND นำเพลงของศิลปินคนนั้นไปร้องในงานอีเว้นต์ ศิลปินหรือ Creator คนนั้นก็จะมีช่องทางเก็บรายได้เพิ่มด้วย
แม้ไม่ได้เป็นสตาร์ทอัพเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ก็มีการขยายโซลูชั่นของตัวเองอย่างต่อเนื่อง จากก้าวแรกที่มีศิลปินในแพลตฟอร์มเพียง 50 วง ปัจจุบัน MYBAND คัดสรรศิลปินและวงดนตรีคุณภาพหลากหลายสไตล์มากกว่า 800 วง ทั้งศิลปินอิสระ ศิลปินสังกัดค่าย ครอบคลุมทุกระดับราคาที่หลากหลายให้ลูกค้าเลือก โดยมีกลุ่มลูกค้าประจำส่วนใหญ่เป็นองค์กร บริษัท และออแกไนเซอร์
โควิด-19 เปิดช่องทางใหม่
ด้วยเป็นสตาร์ทอัพที่ยึดโยงรายได้จากการแสดงสดของวงดนตรี จึงอดไม่ได้ที่จะถามถึงผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ซึ่งกรรณยอมรับว่าได้รับผลกระทบบ้างชนิดว่า ‘ไม่มีรายได้เลย’ ตลอด 6 เดือน แต่น่าแปลกใจที่ถ้านับรายได้รวมทั้งปีกลับเท่ากับปีก่อนที่จะเกิดโควิด-19
ขณะเดียวกันในวิกฤตก็กลายเป็นตัวเร่งให้แพลตฟอร์มครีเอตรูปแบบงานใหม่ๆ เป็นทางเลือกให้กับลูกค้าและเป็นความอยู่รอดของตัวแบรนด์เองอีกด้วย
“ตัวแบรนด์สินค้าหรือผู้ประกอบการ ต้องมีการส่งเสริมการขาย หลังจากไม่ได้มีการสื่อสารช่วงโควิด พอเริ่มมีจังหวะที่พอทำกิจกรรมได้ แบรนด์ก็ใช้ศิลปินมาเป็นช่องทางในการทำมาร์เก็ตติ้งมากขึ้นทั้งออนไลน์และออฟไลน์ พอโควิดซาเลยเป็นจังหวะให้ MYBAND สร้างรายได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับพอมีโควิด เราก็มีลักษณะงานที่เปลี่ยนไป เช่น เป็นงานลักษณะจ้างพรีเซ็นเตอร์เป็นศิลปิน, งานทำเพลง, งานทำไลฟ์สด คือ แตกไลน์ธุรกิจไปหลากหลายมากขึ้น”
ความเชื่อ คือ พลังขับเคลื่อนทุกสิ่ง
จากวันแรกถึงวันนี้ MYBAND เดินทางมาถึง 5 ปีแล้ว เผชิญอุปสรรค เสียงคัดค้าน การปฏิเสธ มานับไม่ถ้วน กรรณบอกว่าสิ่งทำให้ผ่านมาได้ คือ ต้องมีความเชื่อมั่นก่อนว่าต้องทำได้ จากนั้นศึกษาหาข้อมูลหลายๆ ด้าน และใจเย็นในการค่อยๆ ลงมือทำไปทีละสเต็ป เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ออกดอกผล
“ผมพยายามศึกษาโมเดลของต่างประเทศหลายๆ แอปฯ อย่าง Booking จะเป็นหักค่าคอมมิชชั่น จากนั้นก็เปลี่ยนไปศึกษา spotify ซึ่งเป็นการเก็บเป็นรายเดือน/รายปี แต่โมเดล spotify แก้ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เพลง ทำให้คนเลิกใช้ mp3 ไปได้ ผมจึงเกิดไอเดียว่าถ้ายุคที่ mp3 ระบาดหนัก แล้วสตรีมมิ่งที่มีราคาแพงสามารถแก้ปัญหาได้ แล้วทำไมดนตรีสดที่มีการละเมิดทุกวันนี้ ทำไมจะแก้ไม่ได้”
“ตอนนั้นเราไปเคลียร์กับเจ้าของลิขสิทธิ์ว่าต่องาน เรามีการจ้างงานแบบนี้ จะสามารถเคลียร์รายได้ให้เท่านี้ แต่สมมติถ้าคุณไม่อนุญาตลิขสิทธิ์ให้เราใช้เพลงเลย รายได้ตรงนี้ของคุณจะหายไปจากตลาดเลย และอีกหน่อยจะกลายเป็นของฟรีไป เพราะพฤติกรรมคนไม่อยากเสียเงินเพิ่มอยู่แล้วกับการฟังเพลง” กรรณเล่าถึงวิธีโน้มน้าวให้เหล่าบรรดาค่ายเพลงและเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงเห็นภาพ เมื่อครั้งที่ตัวแพลตฟอร์มยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง
ฝันให้ไกลและไปให้ถึง
ทุกวันนี้ MYBAND ถือว่าเดินทางมาได้ใกล้เคียงตามที่กรรณเคยจินตนาการไว้เมื่อครั้งริเริ่มไอเดียไว้ แต่ความสำเร็จในแบบที่ผู้ก่อตั้งคนนี้วางเป้าไว้ถึงขั้นว่า อยากให้ผู้บริโภคตระหนักถึงการบริโภคดนตรีลิขสิทธิ์ และเปลี่ยนพฤติกรรมมาเรียกร้องขอใช้วงดนตรีถูกลิขสิทธิ์ด้วยตัวเอง
“อย่างที่บอกว่าเราเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้าไม่ได้ ทุกวันนี้เราใช้วิธีเปลี่ยนพฤติกรรมศิลปินหรือคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้แทนน่าจะง่ายกว่า หมายความว่าให้เขาเคารพสิทธิ์ คือเมื่อก่อนตัวศิลปินเองปล่อยเพลงมาก็ปล่อยเป็น MP3 ฟรีเลย แต่ตอนนี้ศิลปินรู้แล้วว่าเพลงสร้างรายได้เพิ่มให้เขาได้ จากการเอาเข้าระบบเพื่อเพิ่มช่องทางเก็บเป็นค่าลิขสิทธิ์ได้เหมือนกัน”
นอกจากนี้กรรณยังมองอนาคต MYBAND ไป ‘ไกล’ และ ‘ใหญ่’ กว่านี้มาก โดยไม่ได้หยุดแค่บริการจองวงดนตรี แต่ลงลึกไปถึงการจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลง-ดนตรี ตามร้านอาหาร ผับ บาร์ คอนโดต่างๆ รวมไปถึงการซื้อ-ขายเพลงประกอบโฆษณา หรือมีลิขสิทธิ์เพลงที่จัดเก็บรายได้จากแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง youtube หรือ Facebook ในอนาคต
ถึงเป็นสตาร์ทอัพเล็กๆ แต่ความคิดไม่เล็กเลยทีเดียว
ถ้ากล่าวในฐานะฟันเฟืองหนึ่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมเพลงมานาน สิ่งที่กรรณภูมิใจที่สุดจากการก่อตั้ง MYBAND คงไม่พ้น การที่ทำให้แพลตฟอร์มนี้ทำงานได้จริง มีคนใช้งานจริง และมีศิลปินเริ่มเข้าใจความตั้งใจในสิ่งที่ทำ
นี่ถือเป็นความภาคภูมิที่สุดแล้ว