moreloop : ม้วนผ้าไม่เสียเปล่า ด้วยแพลทฟอร์มเพื่อธุรกิจสิ่งทอและเศรษฐกิจ Circular Economy
ถ้าหากถามถึงวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ลำดับต้นๆ ที่นึกถึงนั้นคือ ‘ผ้า’ หรือ ‘สิ่งทอ’ เพราะนอกจากอาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรคแล้ว เครื่องนุ่งห่มก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ที่ช่วยก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์และขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง ผ้าหลากชนิด หลายขนาด ถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามหลายครั้งที่จำนวนการผลิตและการป้อนเข้าสู่ตลาดผ้ามีมากเกินกว่าความต้องการ ถูกทิ้งค้างในโกดัง ก่อนที่จะถูกปล่อยขายไปในราคาต่ำหรือกำจัดอย่างสูญเปล่า ผ้าที่ตกสำรวจเหล่านั้น คือความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินค่าได้ทั้งในแง่คุณค่า และในแง่เศรษฐกิจ
และเมื่อ ‘ความจำเป็น’ กับ ‘ความฝัน’ มาพบกัน จึงก่อเกิด ‘moreloop’ แพลทฟอร์มรับซื้อขายผ้าคงค้างโกดัง ในรูปแบบสินค้าแปรรูปที่ คุณอมรพล หุวะนันทน์ หนึ่งผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มอร์ลูป จำกัด ได้มุ่งหวังจะให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และผลักดันแนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามหลัก ‘Circular Economy’ ที่จะตามมา
เพราะความฝัน กับความจำเป็น ก่อเกิดเป็นไอเดียเพื่อความยั่งยืน
สำหรับคุณอมรพล หนึ่งในผู้ก่อตั้งนั้น เขาไม่ใช่หน้าใหม่กับวงการ Startup แต่อยู่กับธุรกิจนี้มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง รวมถึงเคยร่วมก่อตั้งในแพลทฟอร์ม Startup มาแล้ว
“จริงๆ ต้องบอกว่าสมัยก่อน ก็เป็นพนักงานเงินเดือนทั่วไปครับ จนกระทั่งได้ไปเรียนหลักสูตรการสร้างธุรกิจ Startup ในปี 2016 และมีโอกาสได้ร่วมพัฒนาบริษัท Startup แห่งหนึ่ง ก็มีความเชื่อในธุรกิจนี้ตั้งแต่นั้นมา”
และหนึ่งในความฝันของคุณอมรพล คือการได้เห็นภาพของ ‘ธุรกิจหมุนเวียน’ หรือ ‘Circular Economy’ คือการไม่มีสินค้าเหลือทิ้ง มีการนำกลับมาแปรรูปและใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดขึ้นจริง และเก็บความตั้งใจนั้น จนกระทั่งได้พบกับผู้ร่วมก่อตั้งที่กำลัง ‘มีความจำเป็น’ บางอย่าง
“ผมได้เจอกับผู้ร่วมก่อตั้ง ซึ่งตอนนั้นกำลังประสบปัญหาเรื่องผ้าค้างโกดัง และไม่อยากปล่อยขายออกไปในราคาที่ต่ำอย่างสูญเปล่า ก็เลยคิดว่า ผ้าที่เหลือ น่าจะทำประโยชน์ได้อีกมาก จึงเกิดเป็นไอเดียสำหรับแพลทฟอร์ม moreloop ที่แก้ปัญหาผ้าค้างสต็อค และตอบสนองต่อคนที่ต้องการผ้าที่มีคุณภาพ ในราคาที่รับได้ รวมถึงสนับสนุนด้านความยั่งยืน’
ในจุดนี้ อาจจะเป็นที่น่าสงสัยว่า สินค้าจำพวก ‘ผ้า’ ที่เหลือค้างสต็อคดังกล่าว มีจำนวนมากพอที่จะดำเนินการแพลทฟอร์มได้จริงหรือ ซึ่งในแง่นี้ คุณอมรพลได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจผ้าได้อย่างน่าสนใจ
“แพลทฟอร์ม moreloop จะเน้นไปที่การทำธุรกิจแบบ Business-to-Business (B2B) เพราะอุตสาหกรรมสิ่งทอ จะต้องมีผ้าเหลือในทุกกระบวนการผลิตเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว และผ้าเหลือค้างในโกดังที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ เราก็จะทำหน้าที่เป็นคนประสานระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อในระดับธุรกิจ แต่ในอีกทางหนึ่ง moreloop ก็จะมีในส่วน Business-to-Customer (B2C) เพื่อสร้างการตระหนักรู้ด้านความยั่งยืนและสื่อสารแบรนด์ไปในตัวอีกด้วย”
สร้างธุรกิจอย่างมีขั้นตอน ประเมิน วัดผล อย่างเป็นระบบ
ด้วยความที่คุณอมรพลเคยเรียนหลักสูตรการทำธุรกิจ Startup และผ่านงานการสร้างบริษัท Startup มาก่อนหน้านั้น ทำให้กระบวนและขั้นตอนต่างๆ ค่อนข้างมีความชัดเจน และเป็นระบบอย่างยิ่ง
“ในเบื้องแรก หลังจากสำรวจหาจุดที่เป็นปัญหาร่วมได้ในระดับหนึ่ง ก็จะเริ่มทำการทดสอบแพลทฟอร์ม นำข้อคิดเห็นที่ได้รับกลับมาปรับปรุง ทดสอบอีกครั้ง แล้วปรับปรุง จนกว่าจะได้จุดที่คิดว่าเหมาะสมลงตัว’”
แต่ทั้งนี้ นอกเหนือจากปัจจัยที่ควบคุมได้แล้ว ส่วนอื่นๆ ก็เป็นปัญหาหน้างานที่คุณอมรพลต้องทำการแก้ไข อันเป็นช่วงแรกเริ่มของการทำธุรกิจ
“ในช่วงแรก ธุรกิจยังไม่กระเตื้องมากนัก อาจจะเพราะด้วยความที่ยังใหม่ มีบ้างที่ได้รับการพูดถึงในสื่อ แต่ก็อยู่ในระดับที่พอไปรอดได้ จนกระทั่งปี 2019 ที่ได้มีโอกาสคุยกับทาง SCG และพบว่า ทางบริษัทมีความตั้งใจที่จะดำเนินธุรกิจแบบ Circular Economy ที่ประจวบเหมาะกับทางเราพอดี และจากจุดนั้น ก็เป็นช่วงที่เราได้ก้าวกระโดดอย่างมาก’
และแน่นอน การสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติหรือ NIA เมื่อนำแพลทฟอร์มไปเสนอ และได้รางวัล Innovation Business Plan Contest 2017 ก็เป็นอีกแรงหนุนที่มีส่วนให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างราบรื่น
‘ทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติหรือ NIA ช่วยเหลือในส่วน Matching Fund หรือการจับคู่ธุรกิจกับนักลงทุน ซึ่งก็ช่วยในการดำเนินงานของเราได้พอสมควร’
เจอวิกฤติ ต้องเปลี่ยนเป็นโอกาส
แต่ในทุกการทำธุรกิจ ย่อมต้องเจอกับอุปสรรค และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่ COVID-19 ระบาดอย่างหนักหน่วง ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนอย่างมีนัยสำคัญ moreloop โดยการบริหารงานของคุณอมรพล ก็หนีไม่พ้นปัญหาเหล่านี้
“ต้องยอมรับว่า ในช่วงแรกของการแพร่ระบาด ความกลัวของผู้คนที่มีต่อ COVID-19 สูงมาก ติดแค่คนเดียวก็แตกตื่นกันแล้ว และส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจและการผลิตตามไปด้วย แต่บริษัทก็หาทางประคองตัวเองให้อยู่รอดได้ โดยการนำผ้าที่มีอยู่ มาแปรรูปเป็นหน้ากากอนามัยเพื่อการแพทย์ รวมเป็นแพ็คเกจไปกับเสื้อของ moreloop ตามแนวทาง Circular Economy ด้วย”
แต่ทั้งนี้ คุณอมรพลก็ยังคงความเชื่อมั่นว่า การทำธุรกิจ Startup ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ สำหรับผู้ที่ต้องการจะริเริ่มต้นทำธุรกิจของตนเอง ด้วยปัจจัยที่เอื้อหลากหลายประการ
“ผมมองว่า Startup เป็นหนทางสำคัญเลยสำหรับคนที่อยากจะมีธุรกิจของตัวเองในยุคนี้นะ เพราะการสื่อสารที่ก้าวหน้า ทำให้สามารถสร้างหน้าร้านค้าบนเครือข่ายออนไลน์ ทั้งยังมีอุปกรณ์เพื่อช่วยในการสร้างแบบที่ไม่แพง และปัญหาที่รอคอยให้คนมาเสนอแนวทางแก้ไข โอกาสอยู่ในนั้นถ้าจับได้ คุณจะไปได้ไกล”
ทิศทางถัดไป และความภูมิใจในฐานะผู้ขับเคลื่อน Circular Economy
ในตอนนี้ แพลทฟอร์ม moreloop ยังคงมุ่งเน้นในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และการขับเคลื่อนธุรกิจแบบหมุนเวียนตราบเท่าที่ความต้องการของผู้ประกอบการในการใช้ผ้า ยังคงมีอย่างไม่ขาดสาย การหมุนเวียนผ้าคงค้างสต็อคก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น
“มองเอาไว้ว่า แพลทฟอร์ม moreloop อยากจะขยายไปยังคู่ค้าในภูมิภาคให้มากขึ้น กระจายไปในประเทศรอบข้าง และตั้งเป้าจะเป็นแพลทฟอร์มสำหรับผ้าขนาดใหญ่ เพื่อตอบสนองต่อทั้งภาคธุรกิจ และแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืน”
คุณอมรพลทิ้งท้ายเอาไว้ว่า การได้เห็นผ้าไม่ถูกทิ้งค้างอย่างสูญเปล่า ถูกนำมาใช้อย่างเกิดประโยชน์ คือหนึ่งในความภูมิใจที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจนี้
“รู้สึกภูมิใจนะ ที่ช่วยผู้ประกอบการธุรกิจผ้า และคงแนวทาง Circular Economy ได้อย่างครบถ้วน เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการได้เห็นผู้คน สวมใส่ผลิตภัณฑ์แปรรูปของเรา นี่ก็เป็นอีกจุดที่ทำให้รู้สึกดีมากเลย’
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)