MedTech อุปสรรค การแก้ปัญหา และอนาคตของเทคโนโลยีเกิดใหม่
นวัตกรรม MedTech ถือเป็นเรื่องดีจากสถานการณ์เลวร้ายอย่างการแพร่ระบาดโควิด ที่ทำให้นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และนักพัฒนาเทคโนโลยีหลายแขนง มีเป้าหมายการพัฒนาเทคโนโลยีที่ชัดเจนเจาะจง รวมทั้งเป็นโอกาสให้นำงานวิจัยที่เคยทำมาต่อยอดสู่การแก้ปัญหาด้านการแพทย์อย่างเร่งด่วน เกิดเป็นผลงานที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและ เพิ่มความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับคนไทยไปพร้อมกัน
แต่กว่าสตาร์ทอัพในกลุ่ม MedTech แต่ละรายจะมาถึงจุดที่พัฒนาผลงานได้เป็นรูปธรรม ก็ต้องเจอกับอุปสรรคความท้าทายไม่น้อย
ในงานนวัตกรรมแห่งชาตินี้มีตัวแทนสตาร์ทอัพด้าน MedTech ในด้าน Digital, 3D Robotics, and Synthetic Biotechnologyอย่าง บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผู้ผลิตยาและวัคซีนจากพืช บริษัท Meticuly จำกัด กลุ่มวิศวะที่พัฒนาด้านการขึ้นรูปโลหะมาสู่การทำชิ้นส่วนมนุษย์จำลองเพื่อการแพทย์ บริษัท ดิจิโปรสไมล์ จำกัด โปรแกรมและการสั่งงานผ่านชิ้นงามสามมิติเพื่อการดูแลรักษาฟัน และ บริษัท มิโอทรีดี จำกัด (Lumio 3D) บริษัทสตาร์ทอัพที่เน้นสแกนสามมิติคุณภาพสูงในหลายอุตสาหกรรมแม้กระทั่งโบราณวัตถุที่ผันตัวมาสู่การสแกนอวัยวะส่วนต่าง ๆในร่างกายมนุษย์เพื่อการแพทย์
MedTech แต่ละรายล้วนมีปัญหาและอุปสรรคกว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ แต่มีจุดร่วมที่คล้ายกัน นั่นคือ เกิดขึ้นเพื่อต้องการแก้ปัญหาทางการแพทย์ และเกือบทั้งหมดเริ่มต้นมาจากการการมองเห็นความเป็นไปได้ ที่จะใช้นวัตกรรมที่ตนเองคิดขึ้นแก้ปัญหาให้กับแพทย์ในการรักษาคนไข้ในทางใดทางหนึ่ง จากการรับรู้ข้อมูลที่เกิดจากการสื่อสารเชื่อมโยงกับกลุ่มเครือข่ายแพทย์ด้วยเหตุผลต่าง ๆ
ที่แตกต่างมากที่สุดคือการเริ่มต้นของใบยาฯ ที่เกิดขึ้นเพราะมีโควิดเป็นตัวเร่งและทำให้นักวิจัยต้องลุกขึ้นนำงานวิจัยที่มีอยู่มาต่อยอดด้วยตัวเองและก้าวกระโดดจากการทดลองในคนมาสู่การทดลองกับมนุษย์เพื่อเป้าหมายการผลิตยาและวัคซีนจากพืชเพื่อเพิ่มทางเลือกและความมั่นคงได้การแพทย์ให้กับคนไทยในอนาคต
ขณะที่อีก 3 รายที่เหลือ นอกจากใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาด้านการแพทย์ ยังมีรูปแบบคล้ายกันตรงเป็นการใช้เทคโนโลยีสร้างชิ้นงานนวัตกรรมที่เป็นการสร้างประสบการณ์ให้คนไข้ได้เห็นจริงก่อนทำการรักษา ซึ่งทั้งช่วยให้การรักษาและช่วยให้การสื่อสารระหว่างแพทย์กับคนไข้เห็นผลดีขึ้น
ที่สำคัญผลงานของทุกรายเป็น MedTech ที่ทำให้ไทยเปลี่ยนจากการเป็นผู้นำเข้ายา วัคซีน เครื่องมือ และอุปกรณ์การแพทย์ที่ไม่เคยผลิตได้เองในไทย เริ่มมีการผลิตใช้ได้เอง และมีแนวโน้มจะจำหน่ายไปยังที่อื่น ๆ ได้ทั่วโลกในอนาคตด้วย
ส่วนสิ่งที่ทุกรายยอมรับว่า เป็นสิ่งที่ช่วยเปิดโอกาสให้ MedTech ไทย พัฒนางานวิจัยและตอบโจทย์การแพทย์ได้จริง ก็คือการเริ่มมีการสนับสนุนทั้งด้านทุน และมีการเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญแขนงต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วในไทยเอง ทำให้เกิดการพัฒนาได้เร็ว ทั้งทุนในรูปของมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนงานวิจัยของกลุ่มคณาจารย์รวมทั้งการหันมาส่งเสริมให้ทั้งอาจารย์และนักศึกษาเป็นสตาร์ทอัพด้วยตัวเองของสถาบันต้นสังกัด และหน่วยงานของภาครัฐก็ให้การสนับสนุนทั้งด้านความรู้ ห้องแล็บ รวมทั้งเงินทุน เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ฯลฯ
แต่ถ้าอยากรู้ว่า MedTech แต่ละรายสร้างโอกาสและความก้าวหน้าด้านการแพทย์ให้กับประเทศไทยอย่างไร ลองฟังบางช่วงบางตอนจากสตาร์ทอัพแต่ละรายนี้ดู
ณัฐภพ หลักดี Business Development Lead บริษัท Meticuly– “เรามีความรู้เรื่องการหล่อโลหะ แต่ไม่เคยทำด้านการแพทย์พอวิจัยพบไทเทเนียมเข้าได้ดีกับร่างกายมนุษย์ เราทำวิจัยหล่อชิ้นงานกระดูกนิ้วให้ผุ้ป่วยมะเร็งกระดูก เป็นวิศวะที่เอาความรู้มาใช้ตอบโจทย์แพทย์ เป็นโอกาสที่ทำให้เอาวิจัยจากหิ้งไปสู่ธุรกิจผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ได้มาตรฐานในการช่วยเหลือคนไข้ และเราอยากทำให้เป็นธุรกิจที่ช่วยเหลือคนในวงกว้างมากขึ้น”
ทพ. กฤษฎา โตศักดิ์ภราเลิศ CEO บริษัท ดิจิโปรสไมล์ จำกัด – “การส่งประสบการณ์ให้คนไข้ได้ด้วยภาพจำลองหลังการรักษาแบบสามมิติเป็นการสื่อสารที่ดีที่สุด และมากกว่าการแก้ปัญหาที่เข้าใจไม่ตรงกันระหว่างคนไข้กับหมอ ยังเป็นประสบการณ์ใหม่ของวงการแพทย์ด้วย”
ผศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ CSO และ Co-founder บริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด – “ถ้าเราไม่สามารถพัฒนายาและวัคซีนได้เองเลยในประเทศ คนไทยก็จะเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพได้ยากมาก การนำวิจัยมาพัฒนาโดยมีเทคโนโลยีมาช่วยทำให้เราผลิตยาได้ในราคาต่ำ เริ่มต้นคิดแค่นี้เพราะไม่มีหัวธุรกิจ แต่ประโยชน์ที่ได้จากที่วิจัยอย่างเดียวแล้วมาผลิตเอง เพราะถ้าเราทำได้จะเป็นความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศ”
ดร.บรม ตันวัฒนะพงษ์ กรรมการผู้จัดการ ลูมิโอทรีดี – “จากสแกนวัตถุการก้าวสู่การแพทย์เพราะเกิดจากคำถามว่าเมื่อสแกนสามมิติวัตถุได้ถ้าทำกับส่วนต่าง ๆ ของร่างกายก็น่าจะช่วยแพทย์ในการวางแผนการรักษาได้ด้วยไหม ซึ่งเป็นสิ่งที่การแพทย์ทั้งในไทยและต่างประเทศต้องการ เป็นโอกาสให้เราได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตรงกับต้องการทางการแพทย์มากขึ้น”
ไม่ว่าการพัฒนา MedTech ซึ่งถือว่าเป็นงานยากกว่าการพัฒนานวัตกรรมด้านอื่น เพราะต้องได้มาตรฐานสูง มีมาตรฐานทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องยอมรับกว่าจะเกิดความเชื่อมั่นและได้รับอนุญาตให้ใช้งานได้จริง ซึ่งก็นับเป็นอุปสรรคหนึ่งของ MedTech แต่พวกเขาเหล่านี้ก็ยืนยันตรงกันที่จะพัฒนาต่อไป เพราะนวัตกรรมด้านการแพทย์ถือเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวโยงกับชีวิตคน การฝ่าฟันอุปสรรคไม่ได้จำกัดแค่ทำให้คนในประเทศมีเทคโนโลยีด้านการแพทย์ที่ดีขึ้น และจุดสูงสุดพวกเขาหวังว่าจะเปลี่ยนการแพทย์จากการรักษาไปสู่การป้องกันมากขึ้นได้ด้วย
โดยมีคำกล่าวของ ดร.บรม ตันวัฒนะพงษ์ กรรมการผู้จัดการ Lumio 3D กล่าวสรุปถึงให้ภาพการทำงานของกลุ่ม MedTech และเพื่อเป็นกำลังใจไว้ว่า “แม้จะเห็นความยากของการเริ่มต้นใน MedTech ทางแสนไกล อุปสรรคมากมาย ก็ต้องมีกำลั่งใจ แต่การได้เห็นรอยยิ้มของคนที่นำนวัตกรรมไปใช้ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น เป็นความรู้สึกที่ย้อนกลับมาสู่คนพัฒนานวัตกรรมให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น และผลักดันให้พวกเราทำนวัตกรรมออกมา”
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับเทคโนโลยีเชิงลึก เปิดประตูสู่โลกนวัตกรรมแห่งอนาคต ที่จะมาขับเคลื่อนประเทศไทยในงานที่รวบรวมนวัตกรรมด้านเทคโนโลยียิ่งใหญ่แห่งปี จัดขึ้นในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual Event) ระหว่างวันที่ 15-18 กันยายน 2564 นี้ ฟรี !! ไม่มีค่าใช้จ่าย
รายละเอียดงานเพิ่มเติมได้ที่ https://site.nia.or.th