ITAX: ให้ ‘ภาษี’ เป็นเรื่องง่าย ถูกกฎหมาย และเท่าเทียม
ในบทความชิ้นนี้ จะมาพูดถึงเรื่องของ ‘ภาษี’…
ช้าก่อน อย่าพึ่งเบือนหน้าหนี! รู้ว่าเป็นเรื่องที่อาจทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายไปบ้าง เพราะลงว่าเป็นเรื่องภาษีแล้ว นอกเหนือจากเงินที่ต้องจ่ายให้กับภาครัฐซึ่งห้ามขาด ห้ามช้า มิฉะนั้นนอกจากจะถูกคิดคำนวณย้อนหลังแล้ว กระบวนการกรอกเอกสารและคำนวณหักลบต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่ไม่สู้จะเอื้อให้กับผู้เสียภาษีเลยแม้แต่น้อย ถ้ามีตัวช่วยที่ทำให้ภาษีนั้น ‘เป็นเรื่องง่าย’ และสะดวกได้ในไม่กี่ขั้นตอน จะดีกว่าหรือไม่
ความคาใจเหล่านี้ เกิดขึ้นในความคิดของ ผศ.ดร. ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ หรือ ดร.มิก นักเศรษฐศาสตร์การเงินแห่งมหาวิทยาลัยสยาม ผู้มองว่าภาษีนั้นเป็นเรื่องสำคัญและควรเป็นเรื่องง่าย จนเกิดเป็นแพลตฟอร์ม ‘ITAX’ ที่ช่วยให้กระบวนการเสียภาษี สามารถทำได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ยุ่งยากอย่างที่เคยเป็น ซึ่ง GM Live ได้ร่วมพูดคุยถึงมุมมองด้านการเงิน ด้านเศรษฐศาสตร์ และทิศทางของ ITAX กับธุรกิจสตาร์ทอัพในภายภาคหน้า
รับรองว่า บทสนทนานี้ จะไม่น่าเบื่อ เหมือนตอนกรอกใบภาษีแน่นอน…
ไม่ใช่ไม่อยากเลี่ยง แต่ที่ยอมเสี่ยง เพราะ ‘ไม่รู้จะทำอย่างไร’
เรามักจะได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ว่า มีคนถูกปรับฐานหลีกเลี่ยงภาษีกันอยู่เป็นประจำ และค่าปรับย้อนหลังที่เป็นอัตราทบต้นนั้น ก็ทำให้ต้องปาดเหงื่อหรือล้มพับลง ณ ที่ยืนกันไปเลย ทำให้สงสัยอยู่เสมอว่าทำไมถึงไม่ยอมเสียภาษี ทำไมถึงยอมเสี่ยง กับแค่การเสียภาษี มันยากนักหรือไง ความสงสัยนี้ ดร.มิก ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีได้ให้มุมมองที่ชัดเจนในเรื่องนี้ว่า
“ตอนที่ผมได้ทุนไปต่อปริญญาเอกด้านกฎหมายภาษีที่สหรัฐอเมริกาจากมหาวิทยาลัยสยาม ผมศึกษาและทำวิทยานิพนธ์ด้านการหลบเลี่ยงภาษี ซึ่งผมก็สงสัยครับ ว่าทำไมคนบางกลุ่มถึงยอมที่จะเสี่ยง ไม่จ่ายภาษี” ดร.มิกกล่าวนำ “แต่พอศึกษาลงลึกไปแล้ว พบว่ามีคนอยู่สองกลุ่มในทางทฤษฏี กลุ่มแรก คือรู้ว่าจะทำอย่างไรแต่ไม่ทำ ตั้งใจจะเลี่ยง อันนี้ภาครัฐต้องมีบทลงโทษ และกลุ่มที่สองคือ อยากเสียภาษีแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้วิธีทำ ทำไม่เป็น ไม่มีใครมาบอกว่าต้องทำแบบไหน”
และในความต่างของสองกลุ่มนี้เอง ที่ ดร.มิก ได้ขยายความไปถึงการที่ภาครัฐ ‘ดำเนินการ’ ตามนโยบายที่ไม่ยืดหยุ่นมากนัก
“อย่างที่กล่าวไป กลุ่มแรกต้องโดนลงโทษ เพราะคุณจงใจเลี่ยงภาษี แต่กลุ่มที่สอง คุณต้องชี้แนะเขา ต้องแนะนำวิธีการที่ถูกต้อง อำนวยความสะดวกให้ แต่ในทางปฏิบัติและเป็นข่าวร้าย ภาครัฐดำเนินการกับสองกลุ่มแบบเดียวกัน คือลงโทษเลย ซึ่งผมมองว่า ถ้าสิ่งที่ทำให้กระบวนการเสียภาษีง่ายขึ้น จะช่วยให้กลุ่มที่สองสามารถเสียภาษีได้ และเป็นการลดข้ออ้างที่ว่าเสียภาษียุ่งยาก เพราะตอนนี้ง่ายแล้วนะ คุณจะมาอ้างว่าทำไม่เป็นไม่ได้แล้ว”
นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ ดร.มิก คิดถึงการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับเสียภาษีที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว และแน่นอน สำหรับกลุ่มตลาดที่คิดไว้ ไม่มีตลาดไหนที่จะเหมาะสมเท่ากับตลาด ‘บุคคลธรรมดา’ อีกแล้ว
“ส่วนตัวผมมองว่า ตลาดภาษีบุคคลธรรมดานั้น หาที่พึ่งได้ค่อนข้างยากนะครับ” ดร.มิกกล่าวอธิบาย “ไม่เหมือนบริษัทห้างร้านหรือนิติบุคคล คือถ้าเป็นคนธรรมดาและอยากหาที่พึ่งด้านภาษี ต้องมีเงิน มีพอร์ต ถึงจะจ้างที่ปรึกษาด้านภาษีได้ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ ผมเลยคิดเรื่องของระบบ ดีไซน์ และกระบวนการมารวมกัน โดยมีหัวใจหลักคือการทำให้ภาษีเป็นเรื่องที่ง่ายมากๆ ต่อให้คุณไม่รู้เรื่องภาษีเลย ก็สามารถทำได้”
นี่คือจุดเริ่มต้นของแพลตฟอร์ม ‘ITAX’ ที่มีหัวใจหลักสามประการคือ หนึ่ง ทำได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ สอง สามารถสำรวจสภาพการเงินและการลดหย่อนได้ และสาม เมื่อต้องการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม มีสิ่งที่สามารถทำได้ตามสิทธิในกฎหมายอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นมิติที่ครอบคลุมที่บุคคลธรรมดาพึงได้รับ แต่เคยเป็นเรื่องยากและเป็นปริศนาอันน่าฉงนของคนทั่วไปมาโดยตลอด แต่ ITAX ต้องการทำให้จุดนี้เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้
ITAX คือ แอปพลิเคชันรายแรก ที่เชื่อมโยงกับกรมสรรพากร นั่นหมายถึง การกรอกข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้าไปที่กรมสรรพากรได้ทันที โดยไม่ต้องทำกระบวนการซ้ำให้ยุ่งยาก
“จริงๆ เรื่องลดหย่อนภาษี ผมเตรียมถึงระดับที่ว่า คุณเป็นเพศอะไร อายุเท่าไหร่ อยากได้ประกันเพื่อลดหย่อนภาษี มีงบเท่าไหร่ แล้วผมจะเสนอตัวเลือกตามเงื่อนไขที่คุณใส่เข้ามา และการที่ร่วมมือกับกรมสรรพากร ทำให้การกรอกข้อมูลต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชันสามารถใช้ได้ ไม่เสียเปล่าด้วยครับ”
นับว่าเป็นมิติใหม่ของการทำภาษี ที่ลดความยุ่งยากลงไปได้หลายขั้นตอน และทำให้เรื่องราวอันน่าปวดหัวเสียเวลา ทุเลาลงไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง
โปร่งใส คือหัวใจเริ่มต้น
การพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ๆ ในธุรกิจสตาร์ทอัพ จุดเริ่มต้นมักยากเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเป็นงานด้านภาษีที่ ‘เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล’ ด้วยแล้ว ดร.มิก ได้กล่าวถึงปัญหาที่พบเจอในช่วงเวลานั้นให้ฟังว่า
“ในช่วงแรกพัฒนาเป็นเว็บไซต์ก่อน ก็ประสบปัญหาในเรื่องความเชื่อใจครับ เพราะเป็นการยากมาก ที่จะทำให้คนเชื่อมั่น ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ผมต้องโปร่งใสอย่างมาก และทำให้เชื่อว่าจะไม่เอาข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ในทางที่ผิด” ดร.มิก กล่าวถึงช่วงเวลาเริ่มต้น
“และอีกหนึ่งปัญหาที่พบคือ นี่เป็นสิ่งที่ ‘ใหม่’ มากๆ ที่ไม่เคยมีในไทยมาก่อน คือ แอปพลิเคชันการเสียภาษี ไม่มีตัวอย่างให้ลองทำตาม ผมต้องลองผิดลองถูก แต่สิ่งที่ทำให้เดินหน้าต่อไปคือผมเชื่อว่า เรื่องภาษี เป็นปัญหาที่มีร่วมกัน เพราะทุกคนต่างเป็นผู้เสียภาษีและประสบกับความยุ่งยากในการเสียภาษีไม่ต่างกัน เช่น ภาษียากจังเลย กฎหมายเปลี่ยนอีกแล้ว ต้องทำยังไง นี่ถือว่าเป็นความยาก และผมต้องเก็บความคิดเห็นของผู้ใช้งานเยอะมากเพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนา”
และปัญหาที่ดร.มิก ยอมรับเลยว่า ผิดพลาดอย่างมากนั่นคือ… การหาทุน
“นี่เป็นจุดที่ หากผมย้อนเวลากลับไปได้ ผมจะตำหนิตัวเองให้หนักๆ เลย คือตอนนั้น ผมคิดแค่ว่า อยากจะเอาสิ่งที่อยู่ในวิทยานิพนธ์ ซึ่งเป็นแนวคิด มาทำให้เกิดเป็นรูปเป็นร่าง แต่ผมไม่ได้คิดเรื่องการระดมทุน เรื่องหาเงิน หรือหารายได้มาพัฒนาเลย ย้ำว่าไม่ได้คิดเลย นั่นทำให้ช่วงแรกประสบความลำบากอย่างมากครับ แต่พอจับทางได้ รู้กลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งานชัดเจน ก็ทำให้กำหนดทิศทางได้ดีขึ้น”
อีกทั้งทีมงานของ ITAX ยังเป็นสเกลเล็ก สามารถควบคุมค่าใช้จ่าย และการพัฒนาได้อย่างเหมาะสม เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้สามารถจัดการเรื่องรายรับและค่าดำเนินการได้เป็นอย่างดี
“บริษัทเราเล็กมากครับ มีกันอยู่ห้าคนเอง มีผมเป็น CEO อีกคนเป็น CTO อีกคนเป็นคนออกแบบ UX/UI และมีโปรแกรมเมอร์อีกสองคน แต่ก็ทำให้ควบคุมสเกลค่าใช้จ่าย และเพียงพอต่อการทำงานได้ครับ”
บางที ปัญหาใหญ่ อาจไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการอะไรที่ยุ่งยาก ขอเพียงเจาะให้ถูกจุด แล้วแก้ไข ทุกอย่างก็จะผ่านพ้นไปได้อย่างราบรื่นเช่นนั้นเอง
งานภาษีสำหรับ ‘รายได้นอกระบบ’
การจัดเก็บภาษีสำหรับผู้ที่มีรายได้ประจำเป็นเงินเดือนที่ชัดเจน มีการหักลดหย่อนเข้ากองทุนประกันสังคม และสามารถตรวจสอบการเคลื่อนไหวบัญชีได้นั้น น่าจะไม่เป็นปัญหาสำหรับกรมสรรพากรและผู้เกี่ยวข้องกับงานด้านภาษีมากนัก อาจมีความยุ่งยากในการกรอกเอกสาร การหักลบจากประกัน และการลดหย่อนจากช่องทางต่างๆ บ้าง ซึ่งเป็นปกติวิสัย หากแต่คนทำงานที่มีรายได้ ‘ไม่ประจำ’ ซึ่งอาจจะเรียกว่า ‘อยู่นอกระบบ’ อย่างเช่นคนที่ทำงานฟรีแลนซ์ หรือคนที่ค้าขายออนไลน์นั้น เรื่องภาษีกลับเป็นสิ่งที่ทวีความยุ่งยากขึ้นเป็นเท่าตัว
“จำนวนประชากรประเทศไทยมีอยู่ที่ 60 กว่าล้านคน แต่คนที่กรมสรรพากรมีชื่ออยู่ในบัญชียื่นภาษีนั้น ตกอยู่ที่ 4 ถึง 5 ล้านคน” ดร.มิกกล่าวอธิบาย “แต่ฐานข้อมูลของ ITAX ที่ผมเก็บข้อมูลมาได้ มีจำนวนอยู่ที่ 6 แสนคน เรียกว่ายังได้ไม่ถึงครึ่งของจำนวนผู้เสียภาษีด้วยซ้ำ ดังนั้นยังมีจุดที่ไปต่อได้”
ส่วนที่ตกหล่นหายไปไหน? คำตอบที่ได้รับ คือ
“บรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ทำธุรกิจค้าขายออนไลน์แบบอี-คอมเมิร์ซหลายราย คือจุดที่ตกหล่นนะครับ” ดร.พูดถึงจุดที่เป็นปัญหา “หลายคนหาเงินได้เก่งมาก ค้าขายเก่ง ทำเงินได้มหาศาล แต่ไม่รู้ว่าจะเสียภาษียังไง หรือมองว่า เสียภาษีแล้ว ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ราคาสินค้าจะสู้รายอื่นๆ ไม่ได้ ก็ยอมเลี่ยงไม่เสียภาษี พอโดนภาษีย้อนหลัง หลายคนโดนเป็นหลักสิบล้านขึ้น ไม่ใช่น้อยๆ เลยนะครับ ผมกำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่อย่าง ‘ITAX BNK’ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถจ่ายภาษีได้ง่ายขึ้น เหมือนมีบัญชีธนาคารกลางติดตัว แล้วหักภาษีลดหย่อนไปพร้อมกัน”
นอกเหนือจากนั้น ดร.มิก ยังกล่าวถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทาง ITAX ได้เตรียมเอาไว้ เพื่อความสะดวกในงานด้านภาษีซึ่งน่าสนใจไม่น้อย
“เป็นแผนที่เราตั้งใจจะเพิ่มเติมกับ ITAX อยู่พอดีครับ คือในส่วนของภาคธุรกิจ ทิศทางที่จะเกิดขึ้นกับ ITAX และสภาวะงานด้านภาษีของประเทศ อาจไม่ได้ไปจัดการในเชิงลึก แต่จะจัดหานักบัญชีที่เหมาะสมกับภาคธุรกิจของลูกค้า หรืออีกทางหนึ่งคือ การพัฒนาซอฟท์แวร์จัดการเรื่องเงินเดือนพนักงาน ซึ่งก็คือฟังก์ชันของ ITAX ที่มาเป็นแพ็คเกจสำหรับเงินเดือนของพนักงานในองค์กร ครบถ้วนในชุดเดียว”
ความร่วมมือจากภาครัฐ และบรรยากาศแห่งการดำเนินธุรกิจ
แม้ว่า ITAX จะเป็นสตาร์ทอัพที่ร่วมมือกับภาครัฐอย่างกรมสรรพากร แต่ ดร.มิก ยังมองว่าสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจของสตาร์ทอัพในไทย ยังคงไม่เอื้อมากนัก
“ถ้าพูดกันแบบขำๆ สำหรับคนที่คิดว่าจะเริ่มต้นทำ Startup คือ ‘หนีไป’ ครับ” ดร.มิกกล่าวติดตลก “มันลำบากจริงๆ แต่ถ้าพูดกันแบบเอาจริง ผมมองว่า ถ้าผลิตภัณฑ์หรือไอเดียนั้นตอบโจทย์ความต้องการ และสามารถแก้ปัญหาผู้ใช้งานได้ รีบลงมือทำเลย แต่ในทางหนึ่ง ผมก็อยากให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพของไทยได้มีส่วนร่วมช่วยเหลืองาน และมีโอกาสเติบโตบ้าง เพราะหลายครั้ง ภาครัฐเลือกที่จะผ่อนปรนกับสตาร์ทอัพจากต่างประเทศ แต่ของไทย กลับมีข้อจำกัดมากมาย ซึ่งไม่เอื้อต่อการเติบโตเลยแม้แต่น้อย”
ดร.มิก ยังได้ให้ข้อแนะนำสำหรับคนที่อยากจะตั้งสตาร์ทอัพในอนาคตไว้ได้อย่างน่าสนใจ
“ทุกอย่างเริ่มต้นที่โจทย์ครับ โจทย์ที่ตั้ง คือปัญหาที่คนในสังคมเผชิญอยู่หรือเปล่า ข้อที่สอง ไอเดียนั้น สามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้หรือไม่ และสาม สำคัญมากๆ ต้องหมั่นถามตัวเองให้บ่อย คือ สิ่งที่เชื่อว่าเป็น ‘ปัญหา’ นั้น เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง ยังคงเป็นปัญหาที่รอคอยการแก้ไขอยู่รึเปล่า ต้องขีดเส้นให้กับตัวเองไว้ด้วยว่าจะไปได้ถึงแค่ไหน แน่นอนว่าการทำสตาร์ทอัพต้องมีความดื้อและสู้สุดตัว แต่ถ้าไม่พิจารณาและยังหลอกตัวเองว่าสิ่งที่เชื่อมันเป็นปัญหา ทั้งที่ไม่ใช่ อาจจะเสียเปล่า อย่างในกรณีของผม ผมจะมองปัญหาและการแก้ปัญหาเป็น ‘วงจร’ คือเริ่มตั้งแต่ต้นจนจบ อย่ามองแค่จุดใดจุดหนึ่ง ตอนนี้มีปัญหาแบบนี้ แล้วถ้าปัญหาผ่านพ้นไป จะเกิดอะไร ต้องทำอย่างไร”
และข้อสุดท้าย ที่ ดร.มิก ได้ฝากเอาไว้ และอาจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดคือ การทำสตาร์ทอัพต้องเกิดจากความต้องการที่จะ ‘แก้ปัญหา’ จริงๆ
“ต้องคิดว่าอยากแก้ปัญหาจริงๆ ต้องมองเห็นปัญหา และอยากแก้ไข ถ้าเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพ เพราะอยากดัง อยากรวย เหมือนสตาร์ทอัพระดับโลก ผมบอกได้เลย ไปไม่ถึงจุดนั้นแน่ๆ และจะหมดใจกลางทางไปซะก่อน”
‘ผู้เสียภาษี’ ฮีโร่ตัวจริงของประเทศ
จากจุดเริ่มต้น จนถึงปัจจุบัน แพลตฟอร์ม ITAX ยังคงทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้เสียภาษี ให้ได้รับความสะดวกได้อย่างต่อเนื่อง และยังคงมุ่งมั่น ที่จะขยายขอบเขตการให้บริการ เพื่อครอบคลุมกลุ่มผู้เสียภาษีในภาคส่วนอื่นๆ ด้วยเหตุผลที่สำคัญคือ ผู้เสียภาษี คือ ‘ฮีโร่ของประเทศ’
“ผมมองว่าผู้เสียภาษีคือฮีโร่ตัวจริงของประเทศนะครับ คือถ้าดูรายได้รวมของประเทศแล้ว จะพบว่า มาจากภาษีเงินได้เป็นส่วนมากเลย ถ้าตัดส่วนนี้ออก พังเลยนะครับ พังทั้งระบบ และการที่ผมกับทีมพัฒนาแพลตฟอร์ม ITAX ขึ้นมา ยืนยันว่าต้องการทำให้เรื่องภาษีนั้นง่าย และเป็นธรรมกับผู้เสียภาษี ไม่ได้จะมาหาเรื่องตีหัวเข้าบ้านเก็บภาษีให้ได้ทุกดอก แต่เรายืนข้างผู้เสียภาษี ต้องการให้ทุกคนไม่ถูกเอาเปรียบด้านภาษี และกระบวนการที่ง่ายเหล่านี้ คือหัวใจสำคัญ ซึ่งผมคิดว่ามันจำเป็นอย่างมาก และในปัจจุบัน งานด้านภาษียังคงทำผ่านเอกสารกระดาษ มีขั้นตอนยุ่งยาก ซึ่งผมว่าไม่เกิดประโยชน์เลย ไม่เกิดรายได้หรือผลสัมฤทธิ์ที่จับต้องได้ สิ้นเปลืองทรัพยากรไปเปล่าๆ ด้วยซ้ำ”
อีกทั้งเป้าหมายอีกประการในการพัฒนา ITAX นี้ คือ การที่ไทยจะเป็นประเทศที่มีระบบภาษีแบบ ‘Tax Automation’ ได้อย่างเต็มรูปแบบ
“นั่นคือเป้าหมายสูงสุดเลยล่ะครับ ระบบภาษีแบบ ‘Tax Automation’ ที่แทบไม่ต้องทำอะไรเลย แต่มีระบบหลังฉากที่จัดการ ดำเนินการให้อย่างเสร็จสรรพทุกขั้นตอน และตัดยอดภาษีเมื่อถึงเวลา ผมว่านั่นเป็นสิ่งที่ควรจะไปให้ถึง เพราะมีประสิทธิภาพมากๆ และเชื่อหรือไหมถ้าคนเข้าถึงการเสียภาษีได้เยอะขึ้น จะเสียภาษีได้ ‘ถูกลง’ เพราะมีคนเสียภาษีในระบบที่มากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องไปปรับอัตราภาษีให้สูงขึ้น ผมว่ามันเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายนะ”
เป็นการสนทนาเกี่ยวกับเรื่องภาษีที่เคยคิดว่ายาก แต่กลับเรียบง่าย ตรงไปตรงมา และให้มุมมองที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะไม่ว่าจะมากหรือน้อย ภาษี คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าจะกรอกภาษีเงินได้ หรือซื้อสินค้าที่ขายตามร้านค้า และถ้ามีสิ่งที่ทำให้เข้าใจได้ง่าย ชัดเจน สะดวก และเป็นธรรม ภาพที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร นี่คือคำถามที่น่าสนใจอย่างยิ่ง