How-To เปลี่ยนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี
ศุภชัย เจียรวนนท์ Chairman of the Digital Council of Thailand และผู้บริหารระดับสูงจากเครือซีพี ร่วมให้ทิศทางพัฒนาประเทศไทยไปสู่ศูนย์กลางเทคโนโลยี ในงาน ‘STARTUP X INNOVATION THAILAND EXPO 2021 ในหัวข้อ “Thailand Innovation Hub: Center of Excellence for Deep Tech” ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
ปัจจุบันความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรม เป็นปัจจัยหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ ประเทศใดจะมีความสามารถพัฒนาทางการแข่งขันได้ดีแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยเหล่านี้
การต่อยอดเทคโนโลยีแห่งอนาคตเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ จะอยู่ใน 5 กลุ่มนี้ ได้แก่ BIOTECH, NANOTECH, ROBOTICS, DIGITAL และ SPACE Technology
4 กลุ่มแรกคนไทยอาจจะคุ้นเคยกันบ้างแล้ว ส่วนในเรื่องของ Space Tech อาจจะอยู่ในขีดวงจำกัด แต่ไทยก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่ล้าหลังและอยู่ระหว่างการพัฒนาอย่างจริงจัง แม้จะยังห่างไกลจากการลงทุนในระดับโลกที่มีการลงทุนกันกว่า 82.5 พันล้านหรียญสหรัฐในปี 2020 ที่ผ่านมา
มุมมองที่ว่า กระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศที่จะส่งมนุษย์ออกไปหรือกลับเข้ามายังโลกจะทำได้ง่ายขึ้น ปลอดภัยและมีต้นทุนที่ถูกลง หรืออาจจะถึงขั้นมีเมืองที่มนุษย์สามารถอยู่อาศัยได้จริงในอวกาศในอีกร้อยปีข้างหน้า ซึ่งระหว่างการพัฒนานั้นจะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตมนุษย์อย่างมากมาย
ตัวอย่างเช่น ดาวเทียมที่ช่วยทั้งเรื่องการสื่อสาร การสำรวจทรัพยากรหรือช่วยพยากรณ์อากาศที่แม่นยำขึ้น การพัฒนายานสำรวจที่ทำให้เกิดเทคโนโลยีพาหนะไร้คนขับ หุ่นยนต์ เอไอ และระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรม การพัฒนากระสวยอวกาศที่ต่อยอดเทคโนโลยีการขนส่ง เครื่องบิน และอากาศยาน การสร้างสถานีอวกาศที่ทำให้เกิดการพัฒนาห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ทางการแพทย์ ระบบการดำรงชีวิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ แม้กระทั่งการพัฒนาจรวด ก็ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน เครื่องยนต์ และฟิสิกส์
พูดได้ว่า การคิดค้นพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ก่อเกิดนวัตกรรมและสร้างพัฒนาการหลากหลายให้มนุษย์ จนบางครั้งดูเหมือนเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริง ทำให้พิสูจน์คำพูดของไอน์สไตน์ที่ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” ครั้งแล้วครั้งเล่า และมนุษย์จึงไม่ควรหยุดใช้ “จินตนาการ” เพื่อผลักดันให้เกิดนวัตกรรม และทำให้สิ่งที่คิดที่ยังไม่เกิดขึ้นในวันนี้ ให้เกิดขึ้นจริงในอนาคตอ สิ่งสำคัญอยู่ที่ เมื่อคิดหรือจินตนาการแล้ว ต้องลงมือทำอย่างมีเป้าหมาย
สำหรับ 7 ปัจจัยพื้นฐานเพื่อการสร้างระบบนิเวศสู่การเปลี่ยนไทยเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศ โดยเฉพาะด้าน Deep Tech ประกอบด้วย
1. สร้างเทคโนโลยีที่สามารถสร้างพื้นฐานใหม่ เพราะจะมีผลในการพัฒนาต่อยอด รัฐและเอกชนควรร่วมมือให้ความสำคัญใช้งบในการวิจัยและพัฒนา ปัจจุบันรัฐบาลไทยมีงบลงทุนด้านเทคโนโลยีและการวิจัยเพียง 2% ของจีดีพี หรือประมาณ 1 หมื่นล้านเหรียญ
2. ส่งเสริม Tech Startup หาทุนเข้ามาในระบบและมีนโยบายสนับสนุนชัดเจน
3. ต้องมีความเป็นศูนย์กลาง เหมือนที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกลงทุนด้าน School of Technology เพื่อดึงคนที่สนใจมารวมกันทั้งอาจารย์ นักศึกษา จนกลายเป็นแหล่งรวมของคนเก่งจำนวนมากจากทั่วโลก
4. ดึงนักวิทยาศาสตร์ และถ้า “ไม่รวย” ก็ “ไม่เกิด” เพราะจากการศึกษาของศาสตราจารย์ใน Harvard University ท่านหนึ่ง ที่ได้ศึกษาความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีมาเป็น 10 ปี สรุปว่า ประเทศที่พัฒนาได้จะต้องมีองค์ประกอบ 2 อย่างนี้ นั่นคือ “นวัตกรรม” และ “ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ที่ร่ำรวย”
5. ต้องสร้างแรงจูงใจดึงนักวิทยาศาสตร์และ Tech Startup
6. Big Boy ตั้งศูนย์วิจัย พัฒนาไทยเป็นศูนย์กลาง กรณีไม่ใช่นักวิจัยหรือนักศึกษาในระบบมหาวิทยาลัย ก็ต้องสร้างศูนย์กลางให้เกิดขึ้น เช่นกรณีของบิลล์ เกต หรือ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ที่เลือกออกจากมหาวิทยาลัยกลางคัน ก็ยังมีซิลิคอน วัลเลย์ รองรับและนักพัฒนารู้ว่าจะหาเงินทุนได้จากที่นั่น
7. พัฒนาระบบการศึกษาไทย เพราะหลักสูตรการศึกษาที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมยุค 2.0 ล้าสมัยและไม่ตอบโจทย์การพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มุ่งเน้นให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดการคิดและพัฒนาอย่างไร้ขีดจำกัด
ทั้งนี้แต่ละปัจจัยล้วนเชื่อมโยงกัน เพราะการพัฒนาจะขาดคนเก่ง ขาดนักวิทยาศาสตร์ ขาดสตาร์ทอัพ ขาดเงินทุน และขาดการเชื่อมโยงเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้รวมทั้งการเชื่อมเข้าถึงแหล่งทุนไม่ได้ เทคโนโลยีที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนโลก เปลี่ยนอุตสาหกรรม เปลี่ยนชีวิตคน ล้วนต้องผ่านการล้มลุกคลุกคลานระหว่างทางมาก่อน จนกว่าจะเจอนักลงทุนที่ยอมร่วมลงขัน หรือประสบผลสำเร็จไปสู่เป้าหมายการพัฒนาคุณภาพทุกชีวิตให้ดีขึ้นกว่าเดิม
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับเทคโนโลยีเชิงลึก เปิดประตูสู่โลกนวัตกรรมแห่งอนาคต ที่จะมาขับเคลื่อนประเทศไทยในงานที่รวบรวมนวัตกรรมด้านเทคโนโลยียิ่งใหญ่แห่งปี จัดขึ้นในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual Event) ระหว่างวันที่ 15-18 กันยายน 2564 นี้ ฟรี !! ไม่มีค่าใช้จ่าย
รายละเอียดงานเพิ่มเติมได้ที่ https://site.nia.or.th