fbpx

Horganice: ใส่ใจและบริการในงานบริหาร ‘ที่อยู่อาศัย’

ในบรรดาปัจจัยสี่นั้น เราคงยากจะปฏิเสธได้ว่า ‘ที่อยู่อาศัย’ คือสิ่งที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ เพราะถ้าท้องอิ่ม หายป่วยไข้ มีเครื่องนุ่งห่มใส่ แต่ทั้งหมดจะมีความหมายอะไร ถ้าไม่มีหลังคาคุ้มหัว ให้ที่พักพิงในยามหมดวัน เพื่อเติมพลังก่อนไปสู้กันในวันถัดไป 

บ้านพักอาศัยแบบถาวรเป็นฝันของใครหลายๆ คน แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจและความจำเป็นที่แตกต่าง หลายคนจำต้องเลือกพักในสถานที่ ‘ชั่วคราว’ อย่างเช่นหอพัก หรือ อพาร์ทเมนท์ ที่มีการจัดเก็บรายเดือน เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และก็อีกเช่นกัน ที่ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ดูจะเป็นความยุ่งยาก ทั้งฝั่งผู้พักอาศัย และฝั่งผู้เป็นเจ้าของ ทั้งการวางบิล การคำนวณค่าไฟ ค่าน้ำ รวมถึงการตามค่าเช่าตกค้าง กลายเป็นความยุ่งเหยิงที่ไม่สิ้นสุด 

จะดีแค่ไหน  ถ้าหากมีใครมาช่วยขมวดทุกกระบวนการเหล่านี้ ให้สะดวก และง่ายขึ้น จบทุกขั้นตอนให้เสร็จเหลือเพียงรายละเอียดปลายทางในช่วงปลายเดือน? 

GM Live  ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับ เฟิร์ส – ธนวิชญ์ ต้นกันยา CEO หนุ่มของบริษัท Horganice (หอแกไนซ์) ผู้ให้บริการระบบจัดการหอพักรูปแบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ เป็นตัวกลางที่เชื่อมประสานระหว่างผู้เช่ากับผู้เป็นเจ้าของ ให้ทุกอย่างง่าย สะดวก และหมดปัญหาเรื่องอึดอัดขัดข้องในระหว่างทาง ที่นอกจากจะเป็นการสนทนาที่เปี่ยมไปด้วยพลังของคนหนุ่มถึงที่มาที่ไป แนวคิด และวิธีการของบริษัทแล้ว เรายังได้เห็นภาพที่เขามองไปข้างหน้า มุมมองของเขาที่มีต่อธุรกิจ Startup ในอนาคต รวมถึงการมีส่วนร่วมของเขากับ ‘ภาครัฐ’ ในการเป็นส่วนหนึ่งเพื่อสู้กับวิกฤติ COVID-19 ที่กำลังรุมเร้าอยู่ในขณะนี้ 

เขาคือตัวอย่างของคนหนุ่มไฟแรง ที่มีทั้งความมุ่งมั่น มันสมอง และกระบวนการ ที่เราอยากชวนให้คุณมาทำความรู้จักอย่างยิ่ง

จากการไหว้วานของคุณแม่ สู่การแก้โจทย์ ‘หอพัก’ แบบสากล

เช่นเดียวกับธุรกิจ Startup หลายๆ แห่งบนโลกใบนี้ มันไม่จำเป็นต้องมีจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่มุ่งหมายเพื่อกอบกู้โลก หลายครั้งอีกเช่นกัน มันเป็นเพียงการ ‘แก้ปัญหาเล็กๆ’ ที่เรามองข้ามไป หรือเห็น แต่ไม่ได้คิดว่าเป็นปัญหาเพราะชินชาและไม่เห็นว่าจะลำบากอย่างไร ไม่ว่าจะทั้ง Facebook, Amazon, Zoom และ Horganice ของเฟิร์ส ธนวิชญ์เอง ก็ไม่ต่างกัน และสำหรับเขา มันใกล้ตัวกว่านั้นมาก 

‘เริ่มมาจากตอนที่ผมเรียนอยู่ปี 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครอบครัวผมทำธุรกิจหอพักที่พิษณุโลก แล้วคุณแม่อยากให้ผมช่วยเขียนโปรแกรมคำนวณบัญชีค่าใช้จ่าย’ เฟิร์ส CEO หนุ่มแห่ง Horganice กล่าวถึงที่มาที่ไป 

‘ทีนี้ ผมทำตัวไหนไปก็ไม่เข้าท่า จะตัวนั้นก็ไม่ได้ ตัวนี้ก็ไม่ได้ ผมก็เริ่มมาคิดแล้ว ว่านี่ขนาดหอพักแห่งเดียวนะ แล้วถ้าคนที่มีหอพักหรืออพาร์ทเมนท์หลายๆ แห่งล่ะ จะทำยังไง ต้องมานั่งเฝ้ากันไม่ต้องไปไหนกันเลยเหรอ ผมจึงเริ่มคิดหาทางที่จะทำยังไงก็ได้ ที่จะสามารถทำให้ผม ดูแลหอพักได้ แม้จะอยู่ที่ใดบนโลกนี้ ให้ง่ายที่สุด สะดวกที่สุด’

สิ่งที่เฟิร์สพูดมานั้นเป็นปัญหาสากลสำหรับผู้เป็นเจ้าของหอพักและอพาร์ทเมนท์อยู่ไม่น้อย อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านั้น การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ไม่รวมคำนวณค่าน้ำค่าไฟ มันเป็นเรื่องที่จุกจิกปลีกย่อยและวุ่นวายมาก ซึ่งเขาเองก็เอาจุดนี้มาอยู่ในสมการการคำนวณ ‘วิธีการ’ แก้ปัญหาในระยะยาวของตนเองด้วย 

‘ในส่วนของ Horganice นี้ จะทำอยู่สามหลักใหญ่ด้วยกันครับ คือหนึ่ง จัดการเกี่ยวกับคำนวณค่าเช่าหอพัก การวางบิล ใบแจ้งหนี้จากฝั่งเจ้าของไปยังผู้เช่า สอง จัดการเรื่องคำนวณการเก็บเงิน และสุดท้าย คือส่วนของอุปกรณ์ ที่คำนวณอ่านมิเตอร์ค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งทุกกระบวนการ จะเสร็จสรรพ จบ สามารถดำเนินการได้จากที่ใดก็ได้บนโลก และเสริมด้วยในส่วนบริการ เช่น การติดต่อช่าง การจ้างแม่บ้าน ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ ถ้าทำเอง จะกินเวลาต่ำๆ ก็ 15 วัน แต่ถ้าใช้แพลทฟอร์มของเรา จะเหลือเพียงไม่กี่คลิกบนโทรศัพท์ เราต้องการทำให้ทุกอย่างง่าย และเป็นมิตรกับผู้ใช้งานให้มากที่สุด’ 

เป็นกระบวนการที่รอบด้าน ผ่านการคิดมาเป็นอย่างดี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าเฟิร์สเรียนสายตรงทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และมีบ้านทำธุรกิจเกี่ยวกับหอพักอยู่เป็นทุนเดิม แต่พอเราได้คุยกับเขาเพิ่มเติมลงไป เรากลับพบความ ‘ทุ่มเท’ ที่มากขึ้นไปอีกขั้น และมันเป็น ‘กระบวนการ’ ที่แน่นยิ่งกว่าที่เราคิดไว้ หลายเท่านัก 

แนวคิดพื้นฐานคืองานสำคัญ และไม่จำเป็นต้องใช้โค้ดสักบรรทัด

แต่พอเป็น  Startup เกี่ยวกับแอปพลิเคชันแล้ว ก็มักจะนึกถึงภาพของผู้ก่อตั้งและเพื่อนๆ ที่มาพร้อมคอมพิวเตอร์พกพา นั่งเขียนโปรแกรม ทดสอบระบบ และเสนอขายงาน ที่กลายเป็นภาพจำไปอย่างช่วยไม่ได้ แน่นอนว่า Horganice เองก็อาจไม่ต่างกัน แต่นั่นเป็นเพียงกระบวนการในภายหลัง เพราะสิ่งที่เฟิร์ส ได้ทำ มันเป็นอะไรที่ ‘ลงแรง’ อย่างมหาศาล และตั้งใจจริงกว่านั้นมาก 

‘ต้องออกตัวก่อนว่า ตัวของผมและ Horganice นั้น เป็น Startup ที่ ‘ไม่มีเงินทุน’ ตั้งต้นครับ ในช่วงแรกที่เริ่มคิดคอนเซปต์ ผมยังเป็นเพียงนักศึกษาปีสาม ผมเริ่มจากการเอา ‘โปรแกรมที่มีอยู่แล้ว’ อย่าง Line, Google และอื่นๆ มา ‘ประกอบกัน’ แบบกึ่งๆ Manual ไม่ได้เป็นอัตโนมัติ ทั้งหมดนี้ ผมทำเพื่อ ‘ทดสอบ’ แนวคิดว่าสามารถทำงานได้ และผมก็มาถูกทาง’ 

เป็นแนวคิดที่ค่อนข้างรอบคอบอยู่ไม่น้อย เพราะการลงมือเขียนโค้ดหรือ Coding เสียตั้งแต่แรกโดยไม่ได้ทำการทดสอบแนวคิด มีโอกาสที่จะเกิดการผิดพลาดหรือไม่เป็นไปตามกระบวนการได้สูง 

‘หลังจากนั้น นอกเหนือจากการไปฝึกงานแล้ว ผมขอ ‘อาสา’ ไปทำงานที่หอพักหลายที่ แบบไม่รับค่าจ้าง เพื่อดูกระบวนการจัดเก็บเงิน การบริหารจัดการ  แล้วผมเขียนกระบวนเหล่านี้ลงกระดาษ รวมออกมาได้ประมาณร้อยกว่าหน้า เป็น ‘Flow Chart’ ที่รวบรวมมากว่าสองปี จากนั้น พอผมเรียนจบ ผมเอาเอกสารชุดนี้ ไปขอเงินทุน ซึ่งผมมองว่า ผมสามารถทำจุดนี้ได้ เพราะผมเป็นนักศึกษา ผมมีแรง ผมมีเวลา ผมทุ่มให้มันเต็มที่ และผมก็ได้เงินทุนมาก่อตั้งบริษัทจาก Angel Investor ที่เป็นบริษัทที่ผมไปฝึกงาน จากเอกสารที่รวบรวมนี้ ก่อนจะเริ่มหา Co-Founder และเปิดบริษัทครับ’

เหนือกว่าประสิทธิภาพ คือ ‘ความเชื่อ’ ในสิ่งที่ทำ

ฟังดูแล้ว เหมือนจะเป็นบริษัทของคนรุ่นใหม่ที่มีแบบแผน มีการคิดเป็นอย่างดี และมีเส้นทางที่ราบรื่น แต่เฟิร์ส ธนวิชญ์บอกกับเราว่า และย้ำว่า ระหว่างทางนั้น ไม่ง่ายอย่างที่เห็น 

‘เงื่อนไขของการได้รับเงินสนับสนุนของบริษัทผม คือการไปถึง ‘เป้า’ ที่กำหนดไว้ เช่น ต้องมีผู้ใช้จ่าย ต้องมีรายได้เข้ามา ทีนี้ พอเราไปถึงเป้าไม่ได้ เงินก็ไม่เข้าแล้ว ผมกับโปรแกรมเมอร์ และนักพัฒนา User Interface ที่จ้างมา ก็คุยกัน ว่าจะยังไงดี โชคดีที่อีกคน ตัดสินใจที่จะสู้ต่อ เราพัฒนาโปรแกรมให้คนใช้ฟรีๆ และได้คนที่มาดูแลในส่วนปฏิบัติการณ์อีกคน อยู่กันแบบไม่มีเงินเดือนเกือบครึ่งปี สุดท้าย ทั้งหมดก็ได้กลายเป็น Co-Founder ของ Horganice ครับ’ 

 ความลำบากคือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าแต่ฐานแน่น แนวคิดผ่าน กาลเวลาจะเป็นตัวพิสูจน์ ว่าสิ่งที่ตั้งใจเอาไว้นั้น คือเส้นทางที่ถูกต้องหรือไม่ Horganice ได้ผ่านช่วงเวลานั้นมาได้อย่างองอาจ 

‘ในช่วงเวลาที่เรารู้ว่าจะต้องอยู่แบบไม่มีเงินเดือน ผมนั่งคุยกับทุกคนกันตรงๆ เลย ว่าเรายัง ‘เชื่อ’ กันอยู่มั้ย เชื่อว่าสิ่งที่เราทำ จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรือเปล่า มีคุณค่าต่อลูกค้าหรือผู้ใช้งานจริงหรือไม่ คือถ้าวันนั้น Horganice ไม่มีคนใช้งาน ผมจบเลยนะ ไปทำอย่างอื่น แต่นี่มันมีคนใช้ไงครับ แต่ที่เขายังไม่จ่ายเงิน ผมมองว่าเพราะคุณค่าของมัน ‘ยังไม่มากพอ’ ที่เขาจะรู้สึกว่า ควรเสียเงินให้กับเรานะ หรือเราหา Solutions ในการหารายได้ที่เหมาะสมไม่เจอ จนมาถึงวันที่ลูกค้าคนหนึ่งบอกกับผมว่า โปรแกรมของเราใช้ดี ขอจ่ายเงินได้มั้ย จ่ายเท่าไหร่ อยากช่วย มันปลดล็อคความกังวลจนหมดเลย’

เมื่อถามเพิ่มเติมว่าเขานำพาลูกทีม ฝ่าความกดดันเหล่านี้มาได้อย่างไร กับสภาวะที่ต้องอยู่กับความไม่แน่นอน มีเพียง ‘ความเชื่อ’ เป็นแรงขับเคลื่อน สิ่งที่เราได้รับกลับมานั้น จัดว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง 

‘ช่วงนั้นที่ผมมืดแปดด้านไปหมด คิดอะไรไม่ออก ผมโทรไปคุยกับรุ่นพี่ ว่าผมถึงทางตันแล้ว จะทำยังไงดี เขาบอกกับผมว่า เชื่อมั้ย คนส่วนใหญ่ ก็เคยผ่านจุดนี้มาแล้วทั้งนั้น และถ้าทะลุมันออกไปได้ เราจะไปได้อีกไกล พบทางสว่าง และจากวันนั้น ผมก็ใช้แนวคิดนี้มาตลอด คือถ้าผมรู้สึกว่าทุกอย่างราบรื่น นั่นมันไม่ใช่แล้ว ผมภาวนาเสมอเลยว่า ขอให้ถึงจุดที่ผมจะเจอกับ ‘ปัญหา’ เพื่อที่ผมจะได้แก้มัน แล้วก้าวไปต่อ ถ้าเรามองว่าคือปัญหา มันก็เป็นปัญหา แต่ถ้าเรามองมันเป็น ‘ความท้าทาย’ มันจะกลายเป็นแรงผลัก ขับเคลื่อนให้เราเดินหน้าต่อไป’ เฟิร์สกล่าวถึงแนวคิดในการแก้ปัญหาที่เข้ามา 

เป็นการพูดคุยที่สัมผัสได้ถึงพลัง ความมุ่งมั่น ที่อยู่หลังแนวคิดและกระบวนการ ที่เราก็รู้สึกได้ ว่าคนหนุ่มผู้นี้ มีพลังงานบวกที่พร้อมจะมอบให้ และไม่แปลกใจ ที่องค์กรของเขา จะเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วในรอบห้าปีที่ผ่านมา ที่เปี่ยมด้วยคนคุณภาพผ่านการเลือกสรรมาเป็นอย่างดี มีผู้ใช้งานกว่า 7,000 อาคาร ดูแลจำนวนห้องพักกว่า 400,000 ห้องทั่วประเทศ ด้วยแอปพลิเคชันเล็กๆ บนโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว

บทบาทของ Horganice กับการเข้าไปมีส่วนสำคัญในสภาวะวิกฤติ COVID-19

แน่นอนว่า เมื่อเป็นแอปพลิเคชันจัดการด้านหอพักและที่อยู่อาศัย เราอดสงสัยไม่ได้ ว่าทาง Horganice ได้ใช้องค์ความรู้ และเครื่องมือที่พร้อม ในการช่วยเหลือจัดการ และบริหารพื้นที่สำหรับรองรับผู้ป่วยในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้หรือไม่ แต่ดูเหมือนว่าคำถามนี้ จะมีคำตอบเตรียมรอเอาไว้แล้ว เพราะพวกเขาไม่เพียงแค่คิด แต่ ‘ลงมือทำ’ กันจริงในภาคสนามตั้งแต่แรกเริ่มเลยด้วยซ้ำ 

‘จริงๆ รายได้หลักๆ ของ Horganice แต่เดิม จะมาจากการขายชุดแอปพลิเคชันให้กับหอพักของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนขนาดใหญ่ ที่เราขายเป็น Solutions อยู่แล้วเป็นทางหลัก นั่นทำให้เราได้มีโอกาสที่จะเข้าไปร่วมมือช่วยเหลือในการจัดการบริหารพื้นที่เตียงของโรงพยาบาลภาคสนามสำหรับรองรับผู้ป่วย COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา อย่างล่าสุดสองสามวันที่ผ่านมา ผมก็อยู่โรงพยาบาลสนามแทบจะทุกวัน คอยไปจัดการเรื่องระบบของเตียงผู้ป่วย ร่วมกับกลุ่ม ‘เป็ดไทยสู้ภัย’’ 

อย่างไรก็ตาม เฟิร์สกล่าวถึงความยากลำบากในความร่วมมือระหว่าง Startup และภาคเอกชน ที่จะเข้าไปช่วยเหลือภาครัฐในการจัดการกับสภาวะวิกฤติได้ค่อนข้างน่าสนใจ 

‘ต้องบอกกันตรงๆ นะครับ ในฐานะหนึ่งใน Startup ที่ลงไปคลุกคลีกับปัญหา ผมเชื่อ ว่าบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าของกิจการ หน่วยงานภาคเอกชน ไม่ได้อยากจะใช้โอกาสเหล่านี้มาหาเรื่องทำกำไรหรือรายได้ เราพร้อมจะช่วย ด้วยองค์ความรู้ที่มีพร้อม ด้วยอุปกรณ์ที่พร้อมใช้ ที่เราบอกกับภาครัฐว่า ‘เอาไปใช้ได้เลย’ เอาไปใช้ให้เร็ว แล้วกู้วิกฤติ COVID-19 นี้ให้มันจบเร็วที่สุด ผู้คนจะได้กลับมาใช้ชีวิต และทำมาหากินกันต่อ เราหวังแค่นี้จริงๆ ซึ่งมันจะยั่งยืนในระยะยาว’ เฟิร์สบอกกล่าวความในใจ 

‘ผมแทบจะเอา Solutions ไปให้ฟรีๆ เลยด้วยซ้ำ อย่างสุดความสามารถ แต่ด้วยกระบวนการของภาครัฐที่ค่อนข้างจะวุ่นวายและหลายขั้นตอน ก็ทำให้ทุกอย่างมันไม่เกิดประสิทธิภาพ ไหนจะช่องว่างที่ทำให้เกิดการรั่วไหลของงบประมาณระหว่างทาง และอย่าลืมว่า เวลาที่เสียไปในแต่ละวัน แต่ละชั่วโมง แต่ละวินาที มันหมายถึงชีวิตและความเป็นความตายของผู้คนจาก COVID-19 ซึ่งผมว่ามันเป็นอะไรที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลย เราควรจะรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ รู้จำนวนเตียง สถานที่จัดหาที่รักษา เอาอย่างเร็วคือ Real-Time กันไปเลย ไม่ใช่รู้อีกทีสองวัน มันไม่ทันแล้ว’ 

เป็นสภาวะที่ชวนให้ใจหล่นสำหรับคนทำงานอยู่ไม่น้อย เมื่อความทุ่มเทที่ใส่ลงไป กลายเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม แต่สำหรับชายหนุ่มผู้ก่อตั้ง Horganice เขายังคงมีกำลังใจที่ดี และยังมองทุกอย่างในความเป็นจริง 

‘ถามว่าเสียกำลังใจมั้ย มีบ้าง แต่ผมคิดว่า ถ้าผมไม่ทำอะไร เอาแต่ด่าภาครัฐผ่านหน้า Social Media ผมก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรมันดีขึ้น ผมก็เป็นเพียงแค่เกรียนคีย์บอร์ด ในตอนนี้ ผมทำในสิ่งที่พอจะทำได้ แม้มันจะขยับไปข้างหน้าไม่มาก แม้มันจะไปได้เพียงแค่ทีละนิด ก็ยังดีกว่าไม่ก้าวไปไหนเลย และถ้าทุกคนร่วมกันขยับไปข้างหน้า ผมเชื่อว่าเราจะสามารถผ่านพ้นวิกฤติการณ์นี้ไปได้’ เฟิร์สกล่าวให้ความเห็น 

วงจร Startup ในมุมมองของ CEO หนุ่ม

ในฐานะที่ Horganice เป็นบริษัท Startup คนรุ่นใหม่ ที่เปี่ยมไปด้วยคนหนุ่มสาวที่มากไปด้วยไฟและพลัง เราจึงอดไม่ได้ที่จะถามว่า สิ่งที่พวกเขาต้องการจากภาครัฐ ในฐานะ Startup คืออะไร เงินทุน? คอนเนคชัน? แต่คำตอบก็ทำให้เราแปลกใจอีกครั้ง 

‘ที่ผ่านมา ภาครัฐสนับสนุน Startup ด้วยการเอาเงินมาให้ใช้ แต่สิ่งที่ผมมองว่าจำเป็นอย่างมาก คือการเปิด ‘โอกาส’ ให้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจาก Startup เหล่านั้น ได้เข้าไปถูกใช้ในองค์กรภาครัฐครับ’ เฟิร์สให้ความเห็น ‘คือคุณควรสร้างโอกาสและตลาด ให้ Startup ได้เติบโต เป็นไม้ใหญ่ที่แข็งแรง เพราะถ้าคุณหว่านเงินลงไป แต่ไม่มีตลาดรองรับ กลับไปใช้การจัดซื้อจัดจ้างตามปกติ มันยากที่จะเติบโตต่อยอดออกไปได้’ 

ทั้งนี้ เฟิร์สรวมถึงหน่วยงานภาคเอกชนกับความสัมพันธ์ที่มีต่อบริษัท Startup ด้วยเช่นกัน 

‘ภาคเอกชนเอง ก็ให้การสนับสนุน Startup แต่พอพวกเขาเริ่มโต เริ่มยืนขึ้นได้ คุณกลับทำสินค้าหรือ Solutions มาแข่งกับพวกเค้า เหมือนต้นไม้ที่กำลังจะโตแล้ว แต่คุณไปกดพวกเค้าไว้แค่นั้น ห้ามไม่ให้มันโต กลัวว่าเราจะไปแข่งขันแย่งตลาดกัน มันก็ตายระหว่างทางเท่านั้น ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย’

แต่แม้จะฟังดูเหมือนตัดพ้อ แต่น้ำเสียงของเฟิร์สกลับไม่มีการกล่าวโทษใดๆ ทั้งยังให้มุมมองที่น่าสนใจอย่างมากใน ‘วงจรการเติบโต’ ของ Startup ไทย

‘แน่นอนว่า Startup ที่มีขนาดเล็ก ย่อมมีความไว สามารถปรับเปลี่ยนในแบบที่องค์กรขนาดใหญ่ทำไม่ได้ แต่ผมมองว่า ถ้าจะสร้างวงจรการเติบโตที่ยั่งยืน ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ช่วยเหลือและ ‘ให้เกียรติ’ ซึ่งกันและกัน ไม่ใช่คิดแต่ว่าจะเป็นเจ้าของและทำเองแต่เพียงผู้เดียว’ 

ก้าวต่อไปของ Horganice และคำแนะนำที่อยากจะให้ถึง ‘ผู้ที่จะตามมา’ 

ในตอนนี้ แอปพลิเคชัน Horganice ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และภารกิจในการจัดสรรดูแลเรื่องเตียงโรงพยาบาลภาคสนามก็เป็นสิ่งที่อยู่ในการกำกับดูแลเป็นหลัก เขายังเชื่อว่า ทุกอย่างมีความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้ลองอยู่อีกมาก 

‘ถ้ามองว่า Horganice เป็นแอปพลิเคชันแบบ Mobile-Based ที่อิงกับโทรศัพท์มือถือหรือไม่ ผมอยากให้มองว่าเป็น ‘Device-Based’ มากกว่า คือในอนาคต มันจะไม่ได้จำกัดแค่โทรศัพท์แล้ว แต่อุปกรณ์ต่างๆ จะถูกเชื่อมต่อถึงกัน และ Horganice เองก็ต้องเท่าทันในความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นด้วย’ 

‘ตั้งแต่วันแรก ผมตั้งเป้าไว้ว่า Horganice จะต้องให้ ‘คุณค่า’ กับลูกค้า ให้พวกเขาเป็น ‘เสือนอนกิน’ ได้เต็มร้อย มันไม่ได้จำกัดแค่เพียงแอปพลิเคชัน วันข้างหน้า Horganice อาจจะเป็นบริษัทรูปแบบที่แตกต่างกันไป โดยยังยึดหลักการแรกสุดนั้น’ 

  ในฐานะที่เป็นบริษัท ‘รุ่นพี่’ ที่เดินนำหน้ามาก่อน เราถามถึงเคล็ดลับสำหรับผู้ที่อยากจะก้าวตามมาในธุรกิจ Startup ว่า จะต้องทำอย่างไร ซึ่งเฟิร์สก็ได้ให้คำตอบที่เรียบง่าย ชัดเจน ตรงไปตรงมาอย่างยิ่ง 

‘ผมยึดหลักสามข้อครับ Fail Fast ล้มให้เร็ว, Fail Cheap ล้มให้ถูก และ ‘Fail Forward’ ล้มไปข้างหน้า อย่าล้มอยู่กับที่ เรียนรู้จากความผิดพลาด แล้วไปต่อ ที่สำคัญที่สุดคือ ‘อย่าคิดเยอะ’ คือคุณจะมีไอเดียมากมายอยู่ในหัว แต่สุดท้ายสิ่งที่จะวัดกันว่ามันดีจริงหรือไม่ คือ ‘การลงมือทำ’ เท่านั้น และผมก็เชื่อในปรัชญาเหล่านี้’ 

เราปิดการสนทนาครั้งนี้ด้วยความรู้สึกที่เปี่ยมไปด้วยพลัง จากคนหนุ่มที่มากไปด้วยไฟ แนวคิด กระบวนการ และการมองโลกในแง่ดีตามความเป็นจริง จนเราอยากจะรู้ ว่าสำหรับเขา ‘ความสำเร็จ’ จริงๆ คือจุดใด … 

‘ถ้าพูดถึงความสำเร็จ ผมแยกเป็นสองทางนะครับ อย่างแรก คือการทำให้ทีมงานมีความสุขกับการทำงาน ทุกคนรู้สึกว่าได้สร้างสิ่งที่มีคุณค่า ฝ่ายขายไม่ได้แต่เพียงออกไปขาย แต่ไปช่วยแนะนำสิ่งดีๆ ให้กับผู้ใช้งาน ช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น รวมถึงไม่ต้องกังวลว่าบริษัทจะมีเงินจ่ายพนักงานหรือไม่ ซึ่งผมได้เห็นแล้ว และยังอยากจะเห็นต่อไป แต่สำหรับอย่างที่สอง คือตัวผมเอง ผมวัดความสำเร็จที่ ‘ความสุข’ นะครับ ความสุขที่ว่า คือการได้ทำสิ่งต่างๆ ได้สำเร็จ ส่งมอบสิ่งดีๆ ได้ก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ ซึ่งถ้าวัดในแง่นี้ …. ผมว่าผมประสบความสำเร็จทุกวันแล้วล่ะ’ 

เพราะที่อยู่อาศัยคือชายคา และ Horganice กับแนวคิดของเฟิร์ส – ธนวิชญ์ ต้นกันยา ก็สะท้อนออกมาได้อย่างอบอุ่น และเปี่ยมไปด้วยพลังอย่างยิ่ง  

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ