fbpx

HealthTAG มาตรฐานใหม่ของการเก็บข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล

HealthTAG หรือเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ก่อตั้งและพัฒนาโดย นายแพทย์เดโชวัต พรมดา ปัจจุบันนี้รู้จักกันในฐานะที่เป็นบัตรประจำตัวสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ คล้ายกับบัตรประชาชนด้านสุขภาพที่บันทึกข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล (Personal Health Record) โดยมีกุญแจฝังอยู่ในชิปเข้ารหัสแบบพิเศษที่ใช้เป็นตัวกลางในการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยทางข้อมูล (Data Privacy) โดยผู้ที่มีสิทธิเก็บและเข้าถึงข้อมูลได้คือ บุคคลผู้เป็นเจ้าของ กับ บุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะเขาเจอปัญหาซ้ำๆ และแทนที่จะอยู่เฉย เขาลงมือทำด้วยเพราะเขาเชื่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นควรได้รับการแก้ไขและมีทางออกเสมอ

“ผมไม่ได้เป็นคนที่ต้องวางแผนเยอะ แต่เน้นที่การลงมือทำ เน้นที่การแก้ปัญหามากกว่า ผมชอบคำพูดนึงของเนลสัน เมนเดลลา It always seems impossible until it’s done. ทุกอย่างที่ดูยาก ดูเป็นไปไม่ได้ จนกระทั่งเราทำเสร็จ เป็นปรัชญาที่ผมค่อนข้างเชื่อ ต่อให้โจทย์มันยาก ก็มักจะมีหนทางในการแก้ปัญหา ทุกอย่างเป็นโจทย์ที่มีคำตอบ”

ปัญหาคือจุดเริ่มต้นของทางออก

ถ้าไม่มีปัญหา ทุกอย่างก็ไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ได้ทำให้ดีขึ้น และเมื่อปัญหาได้รับการค้นพบโดยคนที่ชอบแก้ปัญหา จึงเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ให้โลกใบนี้ดีขึ้นได้

“ต้องเท้าความไปนิดนึงว่า โดยพื้นฐานผมเป็นเด็กเล่นเกมส์ ขี้เกียจ ชอบแก้ปัญหา ชอบเอาชนะ เรียนจบมานานละ เรียกได้ว่า จับพลัดจับผลูมาสร้างผลิตภัณฑ์ตัวนี้ก็ว่าได้ เพราะอยู่มาวันหนึ่ง ผมตั้งข้อสงสัยในงานที่ทำ ซึ่งเจอปัญหาเดิมซ้ำๆ ส่วนตัวถ้าปัญหาเดิมเกิดขึ้นสามครั้ง ผมคิดว่าควรจะได้รับการแก้ไข ปัญหาก็คือเวลาที่คนไข้ป่วยมาหาหมอ ทำไมหมอต้องพูดเรื่องเดิม ปัญหาเดิมซ้ำๆ ผู้ป่วยคนหนึ่งเป็นโรคหัวใจทำไมไปมาตั้งห้าโรงพยาบาล ให้กินยาอะไรบ้างถามคนไข้ก็ไม่รู้ ถุงยาก็ไม่เห็น ผมตั้งคำถามแล้วสุดท้ายพบว่า เกิดจากการเชื่อมโยงข้อมูลของคนไข้ยังไม่เป็นมาตรฐานดีพอ

จริงๆ ผมก็ไม่ได้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีอะไรมากมายครับ เรียนแพทย์มาโดยตรงเลย แต่มีเพื่อนๆ ที่จบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หรือวิทยาการคอมพิวเตอร์ก็ไปเล่าถึงสิ่งที่เราอยากแก้ไขให้เขาฟัง แล้วเขามองว่าฟังดูมีเหตุมีผลและน่าจะเป็นประโยชน์ มีเราเป็นตัวเริ่มต้น เพื่อนเป็นโซลูชั่น ช่วยกันสร้างเครื่องมือที่จะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ พูดง่ายๆ คือเราคิดที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการแลกเปลี่ยน เป็นแพลตฟอร์มการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางครับ โดยตอนแรกที่เราสร้างผลิตภัณฑ์ออกมาคือเป็นแอปพลิเคชัน ตอนนี้ก็เหมือนเป็นบัตรประจำตัวสุขภาพสำหรับเข้าสู่ระบบข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล สามารถใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนหรือเครื่องอ่าน NFC เพื่อเข้าดูข้อมูลสุขภาพได้ คนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนก็ไม่ต้องให้เขามาโหลดแอปฯ ครับ เราแก้ปัญหาตรงนี้ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของเราสามารถเข้าถึงได้ทุกคน”

โควิด-19คือตัวเร่งปฏิกิริยา

ปัจจุบันนี้ HealthTag ได้เข้าไปมีบทบาทในวงการการแพทย์แล้ว แต่ยังนับว่าเป็นเรื่องใหม่ การให้ความรู้และผลักดันทำให้เกิดการนำไปใช้จริงๆ เป็นเรื่องสำคัญ แต่ ณ วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นก็ถือว่าเร็วกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว เพราะหากจะนับไปอาจต้องใช้เวลาอีกประมาณ 5-10 ปี แต่เมื่อมีวิกฤติโควิด-19 เท่ากับเขย่าวงการแพทย์ให้ตื่นตัวมากขึ้น เรียกได้ว่า โควิด-19 คือตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้ทุกคนในวงการแพทย์ตระหนักว่า ข้อมูลที่เชื่อมโยงถึงกันนั้นสำคัญมาก

“ทุกคนรู้แล้วครับว่าระบบข้อมูลที่เชื่อมโยงถึงกันเป็นเรื่องจำเป็น แต่การที่จะทำให้สถานพยาบาลต่างๆ ยอมจ่ายเงินกับระบบนี้อาจจะยังเร็วเกินไป แต่ก็ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปครับ เราเองก็คือได้ก้าวเข้าไปอยู่ในตลาดแล้ว มีลูกค้าแล้วครับ ช่วงแรกลูกค้าคือรัฐบาล ช่วงหลังๆ ก็มีทั้งทางรัฐแล้วก็เอกชนครับ เครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มโรงเรียนแพทย์ เช่น โรงพยาบาลศิริราชทั้งเครือ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และกำลังขยายสู่โรงเรียนแพทย์อื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทางด้าน Active user ในระบบปัจจุบันเรามีประมาณ 10,000 ราย แต่ว่าในส่วนของข้อมูลที่มีการบันทึกอยู่ในระบบเกินห้าแสนแล้วครับ แค่นี้ก็ทำให้เราได้เห็นว่าทุกคนมีความต้องการใช้ข้อมูลเหล่านี้ บนความยินยอมของเจ้าของข้อมูล เรากำลังพยายามทำให้เห็นว่าถ้ามีระบบอำนวยความสะดวกที่ดี ก็ทำให้เกิดการใช้งานข้อมูลมากยิ่งขึ้นและง่ายขึ้นได้ครับ ”

 

ความไม่รู้คือความยากแต่ไม่ใช่อุปสรรค

กว่าจะรู้ กว่าจะมั่นใจ ว่า ธุรกิจที่ทำอยู่นั้นดำเนินมาถูกทางแล้ว เราไม่ได้คิดไปเอง อาจจะต้องทุ่มเทและใช้เวลาไปไม่น้อย ระหว่างทางที่เวลาหมุนไป ไม่ใช่แค่ต้องลงมือทำเท่านั้นแต่ยังต้องพยายามให้มากพอ

“ความยากคือ ผมไม่ได้จบธุรกิจ เป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างเดียวคือทางการแพทย์ สอง แพลนในกระดาษจะสวยงามแค่ไหน ก็ไม่ยากเท่าการลงมือทำ เพราะมีทั้งองค์ประกอบทางด้านจิตใจ ด้านปฏิบัติการ เรื่องเวลาที่ต้องใช้ในการทำธุรกิจต่างๆ ไม่ง่ายเลยครับ พอเราไม่มีความรู้ ก็ต้องศึกษาค้นคว้าทดลองมากพอ จนพบว่าสิ่งที่เรากำลังทำคือสิ่งที่จะทำให้คนจ่ายเงินเพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ของเราได้จริงๆ

ตอนที่เราเริ่มต้นไม่มีทางรู้หรอกว่า ทำไปแล้วจะรอดไหม ถ้ารอดในประเทศ จะมีความต้องการในระดับโลกหรือเปล่า เราดำเนินการมาสักมาประมาณสองปีกว่าครับ แล้วก็เริ่มได้รับรางวัล เช่น รางวัลชนะเลิศ ในหมวด Cross Category – Start-Up จาก Asia Pacific ICT Alliance Awards (APICTA) 2022 เข้ารอบแปดทีมสุดท้ายที่ Tech Investment Show 2023 ห้าทีมสุดท้ายที่เข้ารอบในงาน Mobile ID by NBTC 2023 เป็นต้น ซึ่งทำให้เราคิดว่า สิ่งที่เราทำไม่ใช่แค่การตอบโจทย์ในระดับประเทศ แต่เป็นการตอบโจทย์ในระดับโกลบอล เรามั่นใจว่าในระดับสากลมีความต้องการด้านนี้จริงๆ ไม่ใช่แค่สิ่งที่เราคิดไปเอง”

แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ไม่มีใครรู้ว่าตอนที่เริ่มต้น สิ่งที่เราทำจะสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงๆ หรือเปล่า จะดีกว่าไหมถ้าค่อยๆ หาทางแก้ปัญหาไปทีละขั้นตอน ค้นหาสาเหตุ ทดลอง เปลี่ยนวิธีการ และโฟกัสกับปัจจุบันอย่าเพิ่งฝันถึงตอนจบ

“ตอนเริ่มต้น ผมไม่รู้เลยครับว่าผมจะช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า ถ้าเกิดว่ากระโดดไปที่การแก้ปัญหาเลยก็เหมือนการจินตนาการ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องแต่ว่าเป็นไปไม่ได้จริง ก็พยายามคิดหาสาเหตุครับ อย่างวันที่ผมเข้ามาทำเรื่องข้อมูลทางการแพทย์ ทุกคนไปโฟกัสว่าการแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ต้องรอตรวจนานเกิดจากระบบคิวที่ไม่ดี เราต้องมีระบบที่ทำวิดีโอคอลคนไข้ได้ คนไข้จะได้ไม่ต้องไปโรงพยาบาล แต่จริงๆ แล้วอย่าลืมว่า จำนวนแพทย์ยังเท่าเดิมนะครับ ระบบคิวอาจช่วยแก้ปัญหาความแออัดได้บางขณะ แต่ถ้ามีข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลตื้นหรือลึกแค่ไหน ระบบของเราจะบันทึกไว้ทุกอย่าง มีการวิเคราะห์เชื่อมโยงถึงกันหมด คนไข้ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลบ่อย แต่ว่ามาเฉพาะที่จำเป็น มองว่าน่าจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดว่า ผมกำลังทำให้การจัดการบริหารข้อมูลดีขึ้น

ธุรกิจของคนส่วนใหญ่อาจจะพยายามไปแก้ที่ปลายน้ำครับ ทุกสิ่งทุกอย่างมักเป็นอย่างนี้ บางช่วงเวลาถ้าธุรกิจที่อยู่ปลายน้ำสามารถขายได้หรือเติบโตได้ก็เป็นไปได้ครับ ผมแค่จะบอกว่าต้องดูที่ช่วงเวลาด้วย เช่น ปัญหารถติด ถ้าบางคนมองว่าแก้รถติดก็ต้องสร้างทางด่วนเพิ่มก็ทำไป บางคนมองว่ารถติดต้องแก้ที่ผังเมืองไม่ต้องไปทำถนนเพิ่มก็หาวิธีแก้ผังเมืองซึ่งก็จะเป็นการแก้ไขที่ยั่งยืน กว่า ส่วนตัวผมก็เชียร์ที่จะให้ทำธุรกิจที่ยั่งยืน”

 

รู้จักตัวเองแล้วสร้างสมดุล

มีคนมากมายที่สนใจจะทำธุรกิจ และใช้เวลาทุ่มเทไปกับการศึกษาหาความรู้และเข้าใจทฤษฎีต่างๆ อย่างแจ่มแจ้ง จนหลงลืมที่จะทำความรู้จักตัวเองและสำรวจรากฐานชีวิต ที่สำคัญที่สุด ตราบใดที่เขายังไม่ลงมือทำก็ยังนับว่าห่างไกลกับจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ

“ผมเน้นการลงมือทำ ถ้าเราขาดประสบการณ์ เราก็ไปเรียนรู้ในที่ที่ให้ประสบการณ์กับเราได้ ถ้าเราขาดเงิน เราก็หาเงินก่อน ถ้าเราขาดทั้งสองอย่าง เราต้องบาลานซ์ให้ได้ รอวันที่เราพร้อมแล้วเราก็กระโดดเข้ามาเล่น พื้นฐานของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องดูว่าตัวเองมีอะไร ขาดอะไร หาเวทีที่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ตัวเอง บาลานซ์ให้ดี หลังจากนั้น เมื่อเรามีความมั่นใจ มีเงิน มีประสบการณ์มากพอ เราก็กระโดดไปในเลเวลถัดไป”

 

รายละเอียดเพิ่มเติม :

https://healthtag.io/th

https://www.facebook.com/mihealthtag

 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ