fbpx

Happy Grocers : เกษตรสุขใจ ในแพลทฟอร์มเพื่อ ‘ผลผลิตออร์แกนิก’

การรับประทานผักผลไม้ มีประโยชน์ต่อร่างกาย นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ได้รับการสอนในวิชาว่าด้วยโภชนาการ วิทยาศาสตร์การอาหาร แน่นอนว่าการรับประทานอาหารจากธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี เสริมสร้างร่างกายให้เกิดความแข็งแรง ปลอดภัยจากโรค และมีภูมิคุ้มกันที่เพียงพอ

แต่ในความเป็นจริงของการเกษตรยุคปัจจุบัน ความต้องการที่นอกเหนือจากการรับประทานในครัวเรือน ได้ยกระดับไปสู่การเพาะปลูกเพื่อการค้าขายและส่งออก มาตรฐานอุตสาหกรรมเป็นตัวกำหนดรูปแบบ หน้าตา รสชาติ และการวัดผลปัจจัยต่างๆ อย่างรัดกุม การใช้สารเคมีเพื่อให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ ได้ราคาที่สูง ไม่โดนกดราคาจากกระบวนการ จึงเป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยง และส่งผลต่อสุขภาพของผู้รับประทานในปลายทาง

นั่นทำให้เทรนด์ของ ‘อาหารออร์แกนิก’ หรือผักผลไม้ที่ปลอดสาร ส่งตรงจากไร่ ให้คุณค่าที่ครบถ้วน กลายเป็นที่นิยมในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่ในทางหนึ่ง ผลิตผลออร์แกนิก ก็เป็นสิ่งที่หาตลาดรองรับได้ยาก และไม่ใช่เกษตรกรทุกรายจะมีต้นทุนหรือช่องทางที่จะสามารถทำได้

และนั่นคือจุดที่ก่อให้เกิดเป็นแนวคิดเบื้องต้นของ ‘Happy Grocers’ แพลทฟอร์มเพื่อผลผลิตทางการเกษตรออร์แกนิก โดย คุณสุธาสินี สุดประเสริฐ และเพื่อนผู้ร่วมก่อตั้ง ที่หวังจะพาตัวเอง เป็นหนึ่งในช่องทางการรับซื้อ ขนส่ง และเชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้บริโภคสายออร์แกนิก ให้สามารถพบเจอและตอบสนองต่อความต้องการได้อย่างลงตัว

เมื่อ COVID-19 ก่อเกิดเป็น ‘ความจำเป็น’ และ ‘ทางแก้ปัญหา’

สำหรับวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 หลายธุรกิจนับเป็น ‘วิกฤติ’ ที่สั่นคลอนและส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานอย่างใหญ่หลวง บางรายที่สายป่านไม่ถึง จำต้องล้มพับ ปิดกิจการลงไป แต่สำหรับคุณสุธาสินี การมาของ COVID-19 กับ ‘ความจำเป็น’ ก่อให้เกิดเป็นแนวคิดที่สานต่อ จนกลายเป็นแพลทฟอร์ม Happy Grocers

“Happy Grocers เกิดจากความต้องการที่จะช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงตลาดและกลุ่มผู้ซื้อเนื่องมาจากปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา”

เกษตรกร เป็นอาชีพที่ต้องพึ่งพาการติดต่อซื้อขาย ทั้งกับผู้ซื้อคนกลาง และผู้ซื้อรายย่อย ยิ่งเป็นเกษตรกรรายเล็ก ที่ไม่ได้มีช่องทางขนส่งเป็นของตนเอง การแพร่ระบาดของเชื้อโรค ยิ่งส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วง และด้วยแนวคิดที่เรียบง่ายเช่นนี้เอง ที่คุณสุธาสินีกับเพื่อนผู้ร่วมก่อตั้งจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มทดสอบระบบเบื้องต้น

“แรกเริ่มก็มาจากวิธีการง่ายๆ ด้วยการโพสต์บนเครือข่าย Facebook ดูผลตอบรับของเกษตรกรรายย่อย ว่ามีมากพอที่จะขยายผลไปเป็นแพลทฟอร์มหรือไม่ เมื่อได้จำนวนที่แน่นอน ได้ความต้องการที่ชัดเจน และมองเห็นปัญหาที่ผู้ใช้งานมีร่วมกัน จึงเริ่มพัฒนาเว็บไซต์ Happy Grocers ทั้งหมดเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่นานค่ะ”

อุปสรรคในการพัฒนา สู่ความร่วมมือให้มุ่งหน้าไปอย่างก้าวกระโดด

แพลทฟอร์ม Happy Grocers เริ่มต้นพัฒนา เปิดใช้งาน และเป็นคนกลางให้กับเกษตรกรรายย่อยเพื่อผลผลิตการเกษตรแบบออร์แกนิกเป็นจุดเด่นสำคัญ และเมื่อคุณสุธาสินีและทีม ส่งโครงการเข้าประกวดและได้รับรางวัลจากเวที Startup Thailand League ปี 2020 ของทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติหรือ NIA ก็เป็นส่วนช่วยให้ธุรกิจสามารถไปได้อย่างก้าวกระโดด

“ในจุดนี้ต้องบอกว่า อุปสรรคในระหว่างการพัฒนาอยู่ที่การจะหาผู้ทำหน้าที่ให้บริการขนส่ง ที่เชื่อมั่นในแพลทฟอร์ม Happy Grocers รวมถึงการสร้างเครือข่ายให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งการประกวดในเวที Startup Thailand League ปี 2020 ก็ได้รับความช่วยเหลือในเรื่องเงินทุน และการหาเครือข่าย รวมถึงคำแนะนำในการพัฒนาธุรกิจที่ดีมากๆ”

แต่ทั้งนี้ ปัญหาในการทำธุรกิจในฐานะผู้ให้บริการเครือข่ายขนส่งสำหรับเกษตรกรรายย่อย ก็ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ นั่นเพราะสิ่งที่ยากที่สุด คือความเข้าใจในแนวคิด ‘ออร์แกนิก’ ที่ยังไม่แพร่หลายนักของไทย

“ปัญหาด้านเทคนิค เช่น การพัฒนาเว็บไซต์ การปรับปรุงระบบการจ่ายเงิน หรือการผนวกเข้ากับ Social Media สามารถปรับปรุงและทำให้ดีขึ้นเมื่อทำการปล่อยเว็บไซต์ใหม่ในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2020 แต่ความเข้าใจในแนวคิด ‘ออร์แกนิก’ ด้านผลิตผลการเกษตร ยังเป็นปัญหาที่พบเจอได้บ่อยครั้ง เพราะมาตรฐานผลผลิตการเกษตรปัจจุบัน ยังไม่เข้าใจว่าสินค้าออร์แกนิก จะมีรูปแบบที่อาจจะไม่สวยหรือสมบูรณ์แบบ ทำให้โดนกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง”

แต่นั่น คือปณิธานหลักที่ Happy Grocers ได้ตั้งใจจะไปให้ถึง การเป็นคนกลางเพื่อเกษตรกรรายย่อยสายออร์แกนิก

‘เราตั้งใจจะให้ Happy Grocers เป็นคนกลางสำหรับเกษตรกรรายย่อย โดยมีการประกันราคาตลอดทั้งปี เพื่อให้เกษตรกรสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายที่แน่นอนได้ ซึ่งจะประหยัดต้นทุน และมีรายได้เพิ่มขึ้น”

เมื่อปัญหามาต้องแก้ที่หน้างาน และโอกาสของ Startup ในยุคสมัยปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี แม้ว่า Happy Grocers จะถือกำเนิดขึ้นจากความจำเป็นและโอกาสที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในสภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ไม่ใช่ว่าการดำเนินงานของคุณสุธาสินีและเพื่อนผู้ร่วมก่อตั้งจะเรียบง่าย เพราะจะมากจะน้อย การแพร่ระบาดก็ส่งผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

“จริงๆ ต้องบอกว่ากระทบอยู่เหมือนกัน เพราะตลาดของ Happy Grocers ส่วนใหญ่นั้น ลูกค้าจะมาจากต่างประเทศที่มีความเข้าใจและนิยมสินค้าสายออร์แกนิก การแพร่ระบาดทำให้การส่งออกลดลง รวมถึงการเคอร์ฟิวช่วงการแพร่ระบาด ก็ทำให้การขนส่งในเครือข่ายติดขัด แต่ทั้งหมด เป็นเรื่องของระบบ ไม่เกี่ยวข้องกับตัวสินค้าอย่างใด”

ในสถานการณ์เช่นนี้ เมื่อถามคุณสุธาสินีถึงความช่วยเหลือที่ภาครัฐจะสามารถให้กับผู้ประกอบการ Startup ได้นั้น คุณสุธาสินีได้เสนอแนวทางที่น่าคิดตามอย่างยิ่ง

“สภาพเศรษฐกิจอาจจะไม่ใช่ปัญหาในการก่อตั้ง Startup ตราบเท่าที่ยังสามารถหาไอเดียเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้คนได้ แต่การสนับสนุนเงินทุนจากภาครัฐที่มีเงื่อนไขเบื้องต้น เช่น จะต้องมีสินทรัพย์เท่านี้ จะต้องมีการระดมทุนเบื้องต้นเท่านั้น สำหรับผู้ประกอบการ Startup แล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีต้นทุนสำรองออกไปก่อน ก็เห็นว่าควรพิจารณาในจุดนี้ตามแต่กรณีไป”

ก้าวต่อไปเพื่อหัวใจการเกษตรออร์แกนิก

ในขณะนี้ ธุรกิจ Happy Grocers ของคุณสุธาสินี กำลังไปได้ดี และอยู่ในช่วงระดมทุนรอบแรก รวมถึงเพิ่มเครือข่ายสำหรับผู้ประกอบการเกษตรรายย่อยและสายส่งตามระยะเวลา แต่หนทางแห่งแนวคิดออร์แกนิก ยังคงมีระยะทางให้เดินอีกมาก

“ส่วนตัวเชื่อว่าสินค้าเกษตรออร์แกนิกสามารถเติบโตได้อีกมาก และ Happy Grocers ก็ตั้งเป้าไว้ว่า นอกจากจะเป็นคนกลางสำหรับเกษตรกรรายย่อยแล้ว จะมุ่งเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับเกษตรออร์แกนิก การมีธรรมาภิบาลโปร่งใสกับทุกฝ่ายในธุรกิจ และความทั่วถึงของการขนส่งสำหรับรายย่อยค่ะ”

ท้ายที่สุดนี้ คงไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้คุณสุธาสินี ที่ชีวิตเริ่มต้นจากการเห็นงานภาคการเกษตรจากจังหวัดพิจิตร รู้สึกภูมิใจได้เท่ากับเห็นเกษตรกรรายย่อยมีชีวิตที่ดีขึ้น

“รู้สึกภูมิใจนะ กับการที่เราเป็น Startup ที่ไม่ใหญ่มาก แต่สามารถครอบคลุมตลาดออร์แกนิก และมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเกษตรกรในทางที่ดีได้”

 

 บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ