Getztrac: เพื่อนคู่คิด มิตรคู่ ‘เก็บเกี่ยว’
คงปฏิเสธได้ยาก ถึงบทบาทของเกษตรกรในประเทศไทย ซึ่งเปรียบประหนึ่งกระดูกสันหลังของชาติ ที่สร้างรายได้ทำเม็ดเงินมหาศาลให้กับประเทศมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นพืชไร่หรือพืชสวน แน่นอนว่าขั้นตอนการเพาะปลูกนั้นก็มีความสำคัญ หากแต่สิ่งที่หลายคนอาจจะมองข้าม คือเมื่อผลผลิตสุกงอม ‘การเก็บเกี่ยว’ เป็นกระบวนการที่ต้องให้ความใส่ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผลิตผลที่มีจำนวน ‘มากจนเกินไป’ อาจกลายเป็นภาระสำหรับผู้เพาะปลูก และจำต้องปล่อยทิ้งไว้อย่างเดียวดาย เป็นมูลค่ามหาศาล
แต่ด้วยเศรษฐกิจสมัยใหม่ การเข้ามาของตัวช่วยอย่างแอปพลิเคชันและธุรกิจแบบ ‘Sharing’ ก็ช่วยให้เกิดความเป็นไปได้อันไม่สิ้นสุด รวมถึงธุรกิจ ‘จองรถเกี่ยวข้าว’ อย่าง Getztrac ที่ GM Live ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับ โอ๊ค – เปรมศักดิ์ ทานน้ำใจ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ถึงจุดเริ่มต้น แรงบันดาลใจ และมุมมองที่เขามีต่อธุรกิจภาคการเกษตรยุคสมัยใหม่ ที่ Getztrac จะสามารถเข้าไปเป็น ‘เพื่อนคู่คิด มิตรคู่เก็บเกี่ยว’ ได้อย่างสอดคล้อง เหมาะเจาะอย่างยิ่ง
และนี่ คือการสนทนาที่ ‘เก็บเกี่ยว’ มาได้ ให้ร่วมรับรู้กัน…
งานเก็บเกี่ยว ความสำคัญที่ถูกมองข้าม
โดยปกติแล้ว ในงานภาคการเกษตร คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงกระบวนการเพาะปลูกและการผลิต และให้ความสำคัญกับส่วนนั้นมากเป็นพิเศษ แต่สำหรับ โอ๊ค เปรมศักดิ์ ทานน้ำใจ ผู้ก่อตั้ง Getztrac เขาได้ไปเห็นสิ่งที่ทำให้ความคิดและความเข้าใจเกี่ยวกับงานด้านการเกษตรที่เปลี่ยนแปลงไป
“สมัยก่อน ผมไปขายเครื่องจักรการเกษตรที่กัมพูชา แล้วได้เห็นว่า มี ‘รถเกี่ยวข้าว’ จำนวนมาก มาจอดรอที่จังหวัดหนึ่ง ผมก็ลองถามไปว่า ทำไมมากันเยอะขนาดนี้ เขาก็บอกผมว่า มารับจ้างเกี่ยวข้าว มาทุกปี ทั้งที่เป็นจังหวัดที่ไม่น่าจะมีพื้นที่เยอะอะไรขนาดนั้น แต่เขาย้ำว่า มาทุกปี ได้รายได้กลับไป เพราะมีข้าวให้เกี่ยวได้ตลอด และเยอะมาก”
จากจุดเริ่มต้นนั้นเอง ที่โอ๊คเริ่มตั้งคำถามถึง ‘ปัญหา’ ที่เกษตรกรไทยต้องประสบ ว่าจะเป็นไปในทางเดียวกันกับกัมพูชาหรือไม่
“พอผมกลับมาจากกัมพูชา ผมเก็บเอาความสงสัยนี้ ไปถามเกษตรกรไทย เพราะเชื่อว่าพฤติกรรมการเกษตรของประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์ น่าจะไม่ต่างกัน ซึ่งก็พบว่า มันเป็นเช่นนั้นจริง รถเกี่ยวข้าวไม่เคยพอ โดยเฉพาะภาคที่มีการปลูกข้าวมากอย่างภาคอีสาน ที่จะเก็บเกี่ยวพร้อมกันในช่วงนาปี พอรถเกี่ยวไม่พอ ก็เจอปัญหาแย่งรถเกี่ยว โก่งราคา สารพัด เราก็มองว่า ถ้าเราสามารถเข้ามาช่วยเหลือตรงนี้ได้ น่าจะเหมาะสมและตรงความต้องการ”
และนั่น คือจุดเริ่มต้นที่โอ๊คกับทีมงาน ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน ‘Getztrac’ สำหรับจองรถเกี่ยวข้าว แต่ เนื่องด้วยว่ามันเป็น ‘ของใหม่’ สำหรับภาคการเกษตร จึงกลายเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย ว่าจะมีเกษตรกรที่พร้อมเปิดใจ ‘ใช้’ แอปพลิเคชันตัวนี้หรือไม่
“คือเราต้องทำความเข้าใจในจุดนี้กันก่อนครับ ว่าการพัฒนาแต่ละแอปพลิเคชันนั้นมีข้อแตกต่างกัน แอปพลิเคชันสำหรับซื้อของมันเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา แต่สำหรับการ ‘เกี่ยวข้าว’ นั้น มันคืออาชีพของพวกเขา จึงเป็นการยากมากๆ ที่พวกเขาจะจ่ายเงินให้กับอะไรสักอย่างที่ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แอปพลิเคชันของเรา ซึ่งตอนแรก เรายังไม่ได้พัฒนามาเป็นรูปเป็นร่างด้วยซ้ำ มีแค่การใช้โปรแกรมอย่าง Line และการให้บริการ”
แต่ถ้าอุปสรรคคือความ ‘เชื่อใจ’ แล้วนั้น ทาง Getztrac ก็ใช้วิธีแบบ ‘ลูกทุ่ง’ เข้าลุย ในแบบที่เข้าถึงได้ง่าย เข้าใจได้ง่าย ไม่ต้องยุ่งยากซับซ้อนอะไร
“ตอนนั้นเรามองว่า ถ้าปัญหาของพวกเขาคือเรื่องการจ่ายเงิน เราก็มอบส่วนลด ถ้าปัญหาคือเรื่องความเชื่อใจในบริการ เราก็หาคนที่คนในชุมชนไว้วางใจ ให้ลองใช้แล้วไปบอกต่อกันแบบปากต่อปาก ทำกันแบบนี้เลยล่ะครับ”
รถเกี่ยวคือตัวนำร่อง เพื่อเป้าหมายหลักแห่ง ‘เกษตรแม่นยำ’
แม้ว่า Getztrac จะเน้นไปที่แอปพลิเคชันสำหรับรับจองรถเกี่ยวข้าวเป็นหลัก และเริ่มเป็นที่แพร่หลายกันในหมู่เกษตรกร แต่โอ๊คก็กล่าวถึงจุดมุ่งหมายจริงๆ ที่ทาง Getztrac ต้องการไปให้ถึง ซึ่งเป็นภาพที่ใหญ่กว่านั้นอย่างมาก
“จริงๆ การจองรถเกี่ยวข้าว ถือเป็นตัวนำร่องครับ เป้าหมายหลักของเราจริงๆ คือการใช้แอปพลิเคชันอย่างทั่วถึง และให้องค์ความรู้ของ ‘เกษตรแม่นยำ’ ว่าจะต้องใส่ปุ๋ยแบบไหน พรวนดินยังไง เก็บเกี่ยวแบบใดจึงจะได้ผลดี แต่บางที ทางเกษตรกรอาจจะติดขัดในแง่ของอุปกรณ์ ไม่มีรถเก็บเกี่ยวบ้าง ขาดโดรนสำหรับให้น้ำบ้าง ซึ่งเราคิดว่าเราจะไปเสริมในจุดนี้ได้”
ไม่เพียงเท่านั้น หากแต่การใช้งานแอปพลิเคชัน Getztrac นั้น ยังเกี่ยวข้องกับงานด้านฐานข้อมูลหรือ Big Data ที่ทาง Getztrac จะใช้ เพื่อสำรวจกิจกรรมทางการเกษตร ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่มีคุณค่าในการพัฒนาทางด้านการเกษตรในระยะยาวไม่น้อยเลยทีเดียว
“เรามองไปไกลถึงขั้นที่ว่า เราสามารถสำรวจแผนที่ของผู้ใช้งานและกิจกรรมทางการเกษตรได้แบบ Real-Time ตามภาคต่างๆ ของประเทศไทย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีคุณค่าอย่างมาก และจะช่วยให้ภาครัฐเอาไปใช้เพื่อพัฒนางานด้านการเกษตรได้อย่างมหาศาลครับ”
แน่นอน เพราะธุรกิจแบบ Sharing Business นั้น หัวใจสำคัญคือข้อมูลหรือ Data อย่างที่เราทราบกันดี และ Getztrac ก็ได้วางเป้าหมายไว้ในจุดนี้ ซึ่งกำลังก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นอย่างช้าๆ แต่มั่นคง และภาพสุดท้ายนั้น ก็จัดได้ว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง
COVID-19 และผลกระทบภาคการเกษตร
กระนั้นแล้ว วิกฤติ COVID-19 จัดได้ว่าเป็นสิ่งที่ร้ายแรง และส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ในวงกว้าง ทั้งภาคการบริการ ภาคธุรกิจ การดำเนินชีวิต รวมถึง ‘ภาคการเกษตร’
“เป็นทั้งวิกฤติและโอกาสนะครับ” โอ๊คกล่าวอธิบาย “ในแง่โอกาส คือเรามีฐานผู้ใช้งานอยู่แล้ว แต่ถ้าในแง่วิกฤติและอุปสรรค คือเราไม่สามารถทำการประชุมกลุ่มหรือรวมตัวกันภายใต้สภาวะ COVID-19 ได้ อีกอย่างการทำคลิปวิดีโอเพื่อสอนการใช้งาน หรือเปิดหน้าเพจ Facebook นั้น ก็ถือว่าได้ผลน้อยกว่าการประชุมและสาธิตมาก”
นอกเหนือจากนั้น โอ๊คมองว่า การสนับสนุนจากภาครัฐในภาคการเกษตรในสภาวะเช่นนี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงการสนับสนุน Startup ที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาให้กับประชาชน
“จริงๆ มีหลายส่วนนะครับ ที่ภาครัฐจะสามารถช่วยได้ อย่างภาคการธนาคารที่ดูแลด้านการเกษตรก็ส่วนหนึ่ง กระบวนการทำงานของภาครัฐ ที่ในปัจจุบัน ก็ยังเป็นลักษณะที่ต้องสั่งการลงมาจากข้างบน ทำให้คนที่อยู่หน้างาน ทำงานได้ยาก และเป็นเพียงการร่วมมือในระดับเล็ก ไม่กล้าทำอะไรออกหน้ามากนัก ซึ่งผมมองว่า ถ้าภาครัฐไม่ขยับตัวในจุดนี้อย่างจริงจัง หลายสิ่งก็อาจจะเป็นไปได้ยาก”
และเมื่อเราถามต่อว่า อยากให้ภาครัฐดำเนินการอย่างไร เพื่อกระตุ้นในจุดนี้ โอ๊คก็กล่าวอย่างกระชับ และเห็นภาพได้ชัดเจนอย่างยิ่ง
“อยากให้ภาครัฐเรียกประชุมบรรดาแพลตฟอร์มสำหรับการเกษตร พูดคุยกันเลย ว่าใครจะดูแลช่วยเหลือส่วนไหน ให้ภาครัฐออกหน้ารับรอง ความเชื่อถือจากเกษตรกรก็จะมากขึ้น รวมถึงโครงสร้างภาษีที่ยังไม่เอื้อกับ Startup มากนัก อยากให้ภาครัฐพิจารณาในจุดนี้ด้วย”
Getztrac กับทิศทางในอนาคตในฐานะ ‘เพื่อนคู่คิด มิตรคู่เก็บเกี่ยว’
สำหรับการทำแพลตฟอร์มในธุรกิจ Startup นั้น ไม่เคยมีข้อจำกัดประเภท หรือการใช้งาน ขอเพียงสามารถตอบโจทย์ ความต้องการของกลุ่มลูกค้า แก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิผล และ Getztrac ก็ทำได้อย่างดีในรอบสามปีที่ได้เปิดตัวมา แต่ในอนาคตข้างหน้า พวกเขาจะไปต่อในทิศทางใด…
“ต้องออกตัวว่าตอนนี้ Getztrac กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนะครับ แพลตฟอร์มของเราจะไปต่อแน่ๆ แต่ไปต่อในทิศทางใด มันมีหลายทางเลือกให้เราพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นการควบรวมกับองค์กรอื่นๆ หรือพัฒนาแพลตฟอร์มของเราต่อไป แต่ทั้งนี้ คิดว่าเราคงไปต่อกับแพลตฟอร์มตัวนี้ครับ”
เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังของการพัฒนา Getztrac ค่อนข้างเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายพอสมควร เมื่อได้ยินจากปากของโอ๊ค ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท
“จริงๆ มันออกจะเกินความเชื่อแรกเริ่มของเราไปนิดหนึ่งนะครับ แต่เราอยากให้ภาคการเกษตรของไทยยังคงอยู่ต่อไป จะทำยังไงให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่า ภาคการเกษตรนั้นง่าย และสะดวกมากขึ้น อีกอย่างคือ ในประเทศไทย ถ้าทำเกษตรเพียงอย่างเดียว มันไม่มีทางรวย ถ้าคุณไม่ได้เป็นเจ้าของที่นับพันๆ ไร่ แต่มันก็เริ่มมีเทรนด์คนเมืองเริ่มหันกลับไปทำการเกษตรมากขึ้น ซึ่งผมมองว่า มันควรจะเป็นหนึ่งในรายได้เสริม แอปพลิเคชันของเราก็ควรจะเป็นตัวช่วยให้ทุกอย่างนั้นง่าย โดยที่คุณไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมากนัก เราอยากที่จะเห็นภาพเหล่านี้เกิดขึ้นครับ”
ก่อนจากลากัน โอ๊ค – เปรมศักดิ์ ทานน้ำใจ ผู้ร่วมก่อตั้ง Getztrac ได้กล่าวถึงมาตรวัด ‘ความสำเร็จ’ ที่เขาอยากจะเห็น แน่นอน การเกษตรแม่นยำ พฤติกรรมการทำการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ การเข้าถึงกลุ่มเกษตรกรและช่วยภาครัฐให้ยกระดับงานด้านนี้ให้ดียิ่งขึ้น ยังคงเป็นเป้าหมายที่พวกเขาตั้งใจ และยังเป็นเส้นทางอีกยาวไกลเช่นเดียวกับการเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูเก็บเกี่ยว มันไม่สามารถทำสำเร็จได้ภายในวันเดียว…
Getztrac พร้อมจะจับมือ เคียงข้างเกษตรกร ในขั้นตอนสุดท้ายของการ ‘เก็บเกี่ยว’ เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลที่สุด ไม่ว่าจะมีพื้นที่มากน้อยแค่ไหน หรือพืชผลชนิดใดก็ตาม…