Future Energy : พลังงานแห่งอนาคต ประสิทธิภาพ ที่มาพร้อมความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
ในโลกยุคปัจจุบัน คงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ความสำคัญของ ‘ความมั่นคงทางพลังงาน’ คือดัชนีชี้วัดความมั่งคั่งและความมีประสิทธิภาพในกำลังการผลิตของประเทศหนึ่งๆ ท่ามกลางการแข่งขันทางการค้าและอุตสาหกรรมที่ทวีขึ้นในทุกปีที่ผ่านไป
อย่างไรก็ตาม จากรายงานขององค์การสหประชาชาติปี 2018 นั้นได้พบความจริงที่น่าตื่นตระหนก เมื่อการแข่งขันทางด้านความมั่นคงทางพลังงาน ได้ส่งผลร้ายกับสภาพแวดล้อมโดยรวมของโลกในรูปของอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 1.5 องศาเซลเซียส และจะเกิดขึ้นในระยะเวลาระหว่างปี 2030-2052 เป็นอย่างช้า
ซึ่งนั่นเป็นระยะเวลาที่ไม่นาน เมื่อพิจารณาการกระจายตัวของอุตสาหกรรมที่ยังใช้พลังงานแบบเก่า ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่า นานาชาติเริ่มให้ความสำคัญและใส่ใจกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และลงนามในความตกลงร่วมกัน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ถึงเป้าหมาย ‘Carbon Neutrality’ หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงการคงอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มมากไปกว่าอัตราที่ทางองค์การสหประชาชาติได้ทำการศึกษาในรายงานล่าสุด
นับเป็นเป้าหมายที่ท้าทายและยากจะไปถึง แต่ทุกประเทศต่างพร้อมใจ เพราะเวลาแห่งการเพิกเฉยมองผ่านได้หมดไปแล้ว และการปฏิบัติเพื่อให้โลกยังคงอยู่ในระดับที่สามารถอยู่อาศัยได้ต้องเกิดขึ้นจริง
เมื่อเป้าหมายเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าได้รับการยอมรับและความยินยอมร่วมกัน พลังงานฟอสซิลแบบเก่าจึงต้องถูกทดแทนด้วย ‘พลังงานแห่งอนาคต’ ที่ทันสมัยกว่า สะอาดกว่า และปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า ดังจะเห็นได้จากการทดลองและรายงานเรื่องการใช้พลังงานดังกล่าวในประเทศฟากตะวันตกไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้า พลังงานลม หรือพลังงานหมุนเวียน
สำหรับประเทศไทย กลุ่ม ปตท. ผู้ดูแลด้านความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนผ่าน และภาวะวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่ใกล้เข้ามา จึงเริ่มพัฒนาและเบนเข็มเข้าสู่ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตเหล่านี้ให้ขับเคลื่อนไปพร้อมกับเป้าหมายในการไปถึง Carbon Neutrality ที่ประเทศไทยตั้งมั่นมุ่งหมายเอาไว้เช่นกัน
และการพัฒนาของกลุ่ม ปตท. ในด้านพลังงานแห่งอนาคตนั้น ก็เกิดขึ้นในหลากหลายมิติที่น่าสนใจ ในการช่วยขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมใหม่ได้ดีอย่างยิ่ง เช่น ในด้านธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร (EV Value Chain) ปตท. ได้ตั้งบริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun Plus) เพื่อรองรับการขยายฐานธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า และเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนา EV Ecosystem ทั้งของ ปตท. และของประเทศไทยให้ครบวงจร โดยทำหน้าที่ประสานการลงทุนกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงร่วมลงทุนกับพันธมิตรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการใช้ EV อย่างแพร่หลายในประเทศไทย ขับเคลื่อนไทยเป็นฐาน
การผลิตและธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียนต่อไปในอนาคต โดยมีผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทในกลุ่มที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น
บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (Horizon Plus)
บริษัทร่วมทุนระหว่าง อรุณ พลัส และ Hon Hai Precision Industry Co., Ltd. (FOXCONN) เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจรรูปแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยี MIH Platform หรือ Open EV Platform ซึ่งโรงงานจะตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี เขต EEC โดยการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จ พร้อมผลิต EV สู่ตลาดภายในปี 2567 ในระยะแรกมีกำลังการผลิตที่ 50,000 คัน/ปี
ออน-ไอออน (on-ion)
ผู้ให้บริการธุรกิจสถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ภายใต้ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด มุ่งขยายเครือข่ายไปยังพื้นที่ทำเลศักยภาพ เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน ร้านอาหาร เป็นต้น ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ รองรับการเติบโตของตลาด EV ในประเทศ ด้วยเครื่องอัดประจุไฟฟ้าชนิดกระแสสลับ (AC Charger) รองรับรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV: Plug-in Hybrid) และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV: Battery Electric Vehicle) ทุกรุ่น ทุกแบรนด์ที่มีหัวชาร์จ Type 2 ควบคุมการใช้งานผ่าน on-ion Mobile Application รองรับทั้ง Android และ iOS สะดวกในการค้นหาสถานี และยังมีบริการติดตั้งEV Charger ในที่พักอาศัย เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทุกรูปแบบ
อีวี มี (EVme)
แพลตฟอร์มที่พร้อมมอบประสบการณ์การเป็นเจ้าของ EV แบบครบวงจร ด้วยบริการในรูปแบบ Subscription รายแรกในไทย โดยบริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVME PLUS) ผ่านแอปพลิเคชัน EVme ที่จะทำให้การใช้งาน EV เป็นเรื่องง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกใช้บริการ EV จากแบรนด์ชั้นนำที่มีให้เลือกหลากหลายรุ่น เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน เลือกรุ่นรถ และกดจอง เพียงเท่านี้ก็สามารถรอรับรถได้ที่หน้าบ้าน ปัจจุบัน EVme ให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ และในปี 2566 จะขยายการให้บริการในพื้นที่ต่างจังหวัด และให้บริการในกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติด้วย
บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (Nuovo Plus)
บริษัทร่วมทุนระหว่าง อรุณ พลัส และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานอัจฉริยะของกลุ่ม ปตท. เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายแบตเตอรี่ประเภทลิเทียมไอออนฟอสเฟต ภายใต้แบรนด์ G-Cell ด้วยนวัตกรรมการผลิตแบตเตอรี่ SemiSolid แห่งแรกของไทยและภูมิภาคอาเซียน มีจุดเด่นด้านความปลอดภัยในการใช้งานสูง มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า จึงเหมาะกับรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย รวมทั้งยังสามารถรีไซเคิลได้ง่ายเมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน จึงเป็นแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด (Swap & Go)
แพลตฟอร์มธุรกิจผู้ให้บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ ต้นแบบทางธุรกิจที่พัฒนาขึ้นเพื่อทุกไลฟ์สไตล์การใช้งาน โดยเฉพาะไรเดอร์ในธุรกิจเดลิเวอรี ให้สลับแบตไว ไปได้เร็ว ใช้งานง่ายผ่านแอปพลิเคชัน Swap & Go ที่เชื่อมต่อกับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่รองรับการใช้งาน เพื่อสลับแบตเตอรี่เดิมที่หมดกับแบตเตอรี่ใหม่ที่พร้อมใช้งานในตู้ชาร์จด้วยตัวเองในเวลาไม่ถึง 3 นาที ปัจจุบันมีสถานีสวอพแบตเตอรี่ครอบคลุมกรุงเทพฯ ชั้นในแล้ว 22 สถานี
ตลอดจนมีการตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ในภูมิภาคอาเซียน ที่เป็นพลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีคุณสมบัติด้านการใช้งานที่หลากหลาย ทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน พร้อมทั้งจะขยายตลาดไปยังกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาชนจีน อันเป็นตลาดใหญ่ในภูมิภาค รวมทั้งภายในสิ้นปี 2565 นี้ กลุ่ม ปตท. จะมีคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) 2 แห่ง ซึ่งขยายขีดความสามารถในการนำเข้า LNG ของประเทศไทยเพิ่มเป็น 19 ล้านตันต่อปี
กลุ่ม ปตท. ได้ดำเนินการโดยยึดมั่นในแนวทาง ‘ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต (Powering Life with Future Energy and Beyond)’ ที่มุ่งหมายจะให้ถึงความสำเร็จด้านความมั่นคงทางพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตคนในสังคม อันเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะนี่จะเป็นรากฐานของประเทศในการขับเคลื่อนไปสู่ความเป็นผู้นำทางด้านพลังงานสะอาด และไม่หยุดยั้งอยู่เพียงเท่านี้ เพราะจะดำเนินธุรกิจที่ไกลกว่าพลังงาน พร้อมดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเคียงคู่กันไปในทุกมิติ
เป็นงานใหญ่ที่เกิดขึ้น และพร้อมขับเคลื่อนสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่กำลังจะมาถึงนี้