Fungjai: แพลตฟอร์มดีๆ ของ ‘ดนตรีที่หล่นหาย’
ปัจจุบัน… ที่ดนตรียิ่งเบ่งบาน มากมาย และอาจจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกๆ วินาทีแม้แต่ขณะที่คุณกำลังอ่านบทความชิ้นนี้อยู่
แต่จะมีดนตรีสักกี่ท่วงทำนอง ที่ได้ถูกรับฟัง จะมีสักกี่ชิ้น เป็นที่รู้จัก ท่ามกลางกระแสธารแห่งชิ้นงานที่ไหลบ่าจนท่วมท้น และดนตรีเองก็ผูกโยงเข้ากับภาคธุรกิจ ถ้าเป็นดนตรีสายหลัก คุณอาจจะหาฟังได้อย่างไม่ยากเย็น แต่ถ้าหากเป็นดนตรีนอกกระแส หรือ ‘อินดี้’ แล้วล่ะก็ มันอาจจะกลายเป็น ‘ตัวโน้ตที่หล่นหาย’ และไม่ถูกค้นพบไปอีกเลยก็ได้ ซึ่งมันเรื่องที่น่าเศร้า
และด้วยความคิดเช่นนี้เอง ที่ พาย-ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการบริษัท Fungjai จำกัด ผู้พัฒนาแอพลิเคชัน ‘สตรีมมิ่งดนตรีอินดี้’ ในชื่อเดียวกัน ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ได้ตัดสินใจที่จะเลือก ‘ฟังเสียงของหัวใจ’ และลงมือทำในสิ่งที่เชื่อ เพื่อไม่ให้ตัวโน้ตนอกกระแส ตกหล่น หลุดหาย และล้มตายอย่างลำพัง
นี่คือการสัมภาษณ์ที่พูดคุยกันด้วยปาก แต่ฟังกัน ‘ด้วยใจ’ ที่เปิดกว้างอย่างยิ่ง ทั้งตัวตน การตัดสินใจ มุมมอง และสิ่งที่เขาคิดเอาไว้กับอนาคตของ Fungjai ที่จะก้าวต่อไปในวันข้างหน้า
ผ่อนกายให้สบาย แล้วมาร่วมเปิดใจรับฟังไปกับเรา…
จากหนุ่มอนาคตไกล สู่เส้นทางใหม่ที่ให้ ‘หัวใจนำทาง’
แม้คนทั่วไปจะรู้จักพาย ในฐานะกรรมการบริษัทและผู้ก่อตั้ง Fungjai รวมถึงในฐานะศิลปินอินดี้ที่มีผลงานดนตรีในแวดวงนักฟังเพลง แต่จุดเริ่มต้นเส้นทางชีวิตของเขานั้น มันดูแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว
‘ตัวผมเองชอบดนตรีมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้วครับ’ พายกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของเขา ‘แต่ที่บ้านไม่ได้สนับสนุนให้ทำงานด้านนี้เลย ผมก็เรียนในสิ่งที่พ่อแม่ท่านสบายใจ แต่ในหัวใจ ก็ยังคิดไว้เสมอ ว่าถ้ามีโอกาสได้ทำงานเกี่ยวกับดนตรีเมื่อไหร่ จะไปในทันที ซึ่งพอผมไปเรียนต่อปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา ผมก็ขอไปฝึกงานที่บริษัท Startup เกี่ยวกับดนตรีแห่งหนึ่ง ก็ถือว่าได้ตามความที่เราหลงใหล ก็กลายเป็นความรู้สึกว่า เราอยากจะทำแบบนี้บ้าง’
ในด้านการศึกษาของพาย อาจจะเรียกได้ว่าไม่ธรรมดาอย่างยิ่ง เพราะเขาเรียนจบปริญญาตรีและโทในสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ และต่อปริญญาโทอีกใบด้านบริหารธุรกิจ (MBA) ที่สหรัฐอเมริกา ถ้าเขาจะตัดสินใจจะทำงานตามวุฒิที่จบมา เขาสามารถนั่งแท่นเป็นผู้บริหาร รับเงินเดือนได้เป็นหลักแสนอย่างสบายใจ แต่ก็อีกเช่นกัน ที่เสียงหัวใจของเขา มันไม่ใช่ทางนั้น…
‘พอเรากลับมาที่ประเทศไทย เราเริ่มทำงานดนตรี ก็มามองดูความเป็นไปได้ และพบว่า แม้จะมีคนฟังและคนติดตามอยู่บ้าง แต่มันก็ไม่พอที่จะเลี้ยงชีพ และด้วยประสบการที่ผมเรียนมาทางสาย Sustainability ที่ทำให้เรามองทุกอย่างเป็นระบบ เราพบว่า ทางรอดของเพลงอินดี้ไทย คือการปรับปรุง ‘วัฏจักร’ ของแวดวงให้เอื้อกว่านี้’
และประจวบเหมาะเป็นจังหวะเดียวกันกับที่พายได้พบกับ ท้อป-ศรัณย์ ภิญญรัตน์ อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้ง ที่ได้ไปฝึกงานที่ Silicon Valley และมีความรักและชอบในเสียงดนตรี โดยเฉพาะดนตรีอินดี้เช่นเดียวกับพาย
‘ผมคุยกับท็อปในเรื่องนี้ เขาก็เล่าให้ฟังว่า สมัยแรกเริ่มที่ทำงานบริษัทของตัวเองด้าน กราฟิก มันเหมือนเราเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโต พอได้ที่แล้ว ก็ส่งต่อให้คนอื่น แต่การทำ Startup มันเหมือนเราได้เลี้ยงดู ฟูมฟัก และเฝ้ามองการเจริญเติบโตของเด็กคนนั้นอย่างใกล้ชิด และมันเป็นสิ่งที่เขาอยากทำมากกว่า และมันคือ ‘Music Streaming’ ซึ่งตรงกับสิ่งที่ผมคิดเอาไว้พอดี’
เมื่อสองคนที่ชอบสิ่งเดียวกันมาเจอกัน ความชอบแบบเดียวกัน เสียงของหัวใจก็ดังขึ้น และภาพของความเป็นไปได้ของแพลตฟอร์ม Streaming ก็ดูจับต้องได้ยิ่งขึ้น จนในที่สุด พายก็ได้ ‘เลือก’ ที่จะหันเส้นทางออกมา จากการเขียนบล็อกเกี่ยวกับดนตรีเป็นงานเสริมจากงานประจำ สู่การเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Fungjai อย่างเป็นทางการ
เส้นทาง Roadtrip ที่ไม่ได้เรียบง่ายอย่างที่ฝัน
การตัดสินใจ ‘ฟังเสียงของหัวใจ’ ของสองหนุ่มพายและท็อปนั้นคือจุดเริ่มต้น แต่ความฝันกับไอเดีย ท้ายที่สุด ก็ต้องมาจบที่การลงมือทำจริง ซึ่งพายก็ได้บอกเล่าให้เราฟังว่า ในช่วงแรกนั้น ไม่ง่ายเลยแม้แต่น้อย
‘ในช่วงแรก เราทำ Music Streaming เป็นแบบ Web Application ซึ่งมีปัญหาทางเทคนิคค่อนข้างมากครับ อย่างเช่น ฟังเพลงไปแล้วสะดุดกลางคัน หรือไม่มีระบบค้นหาศิลปินตามการจัดหมวดหมู่ ต้องไล่เลื่อนหากันเอาเอง ซึ่งในภายหลัง พอพัฒนามาเป็น Mobile Application และได้ทีมโปรแกรมมิ่งมาช่วยทำ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักตั้งแต่เริ่มต้น ปัญหาทุกอย่างก็ดีขึ้น’
ทางเทคนิคก็ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ นักดนตรีในสังกัดที่เข้ามาอยู่ในรั้วของ Fungjai ที่มากขึ้นตามเวลาที่ผันผ่าน ที่กลายเป็นอีกโจทย์ความท้าทายที่พายต้องผ่านมันไปให้ได้ เพราะเมื่อชุมชนยังเล็ก อาจจะยังพร้อมทำด้วย ‘ใจ’ แต่พอเริ่มเติบใหญ่ ทุกคนก็ ‘ต้องกินต้องใช้’ และนั่นคือประเด็นที่สำคัญ
‘ในช่วงแรกที่ชุมชนของเรายังไม่ใหญ่มากนัก ทุกคนก็พร้อมเผยแพร่งานกันมาด้วยใจนะครับ มีอะไรก็ช่วยกัน’ พายกล่าวถึงช่วงเวลาเริ่มต้น ‘แต่พอคนมากขึ้น ศิลปินในสังกัดเยอะขึ้น ก็จะเริ่มมีคำถามตามมาแล้ว ว่าจะจ่ายค่าตอบแทนอย่างไร จะจ่ายเป็นเงินแบบไหน ซึ่งเราก็คิดเอาไว้แล้วว่า จะต้องหาวิธีการที่เป็นธรรมและทั่วถึงให้กับนักดนตรีทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน’
ในปัจจุบัน การจ่ายผลประโยชน์ให้กับนักดนตรีในสังกัดของ Fungjai นั้น ใช้กระบวนการ ‘นับยอดฟัง’ ซึ่งค่อนข้างแฟร์พอสมควร แต่มันก็ตามมาด้วยปัจจัยที่สาม คือมุมมองของ ‘ผู้ฟัง’ กับกระบวนการฟังเพลงแบบ Streaming
‘ในยุคนั้น เราพยายามที่จะเลียนแบบโมเดลธุรกิจของ Spotify คือ เป็นแบบฟรีเมียม (Freemium) คุณฟังฟรี แต่ถ้าไม่อยากฟังโฆษณา ก็จ่ายสมัครสมาชิกรายเดือน แต่ทีนี้ มันจะติดปัญหาตรงที่ มันมีทางเลือกอื่นๆ ที่คนสามารถเลือกไปเสพได้ ไม่นับรวมการขายโฆษณา ซึ่งพอเราจะไปขาย เขาก็จะดูยอดฟังแล้ว ถ้ามันไม่ถึงระดับหลักล้าน มันจะขายยากเอามากๆ’ พายกล่าวถึงความยากลำบากในกระบวนการ
แต่ทั้งหมดทั้งมวล ก็ไม่ได้ทำให้แก่นหลักดั้งเดิมของ Fungjai เปลี่ยนแปลงไป
‘เหนือสิ่งอื่นใด รูปแบบโมเดลธุรกิจแบบเก็บเงิน มันขัดกับแก่นของ Fungjai ที่เราตั้งไว้ ที่เราพยายาม ‘ลดกำแพง’ ให้คนมาลองฟังเพลงใหม่ๆ นอกเหนือจากเพลงที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว เราเลยตัดสินใจว่า Fungjai จะต้อง ‘ฟรี’ แล้วเราไปหารายได้จากทางอื่นมาจ่ายศิลปินเอาดีกว่า’
และจากจุดนั้นเอง ที่ทำให้เกิดสิ่งมหัศจรรย์อย่างที่สองตามมา
เมื่อ Fungjai ขยายร่างเป็น ‘เห็ดสด’
เมื่อทั้งพายและท็อป สองผู้ก่อตั้ง ตัดสินใจที่จะเดินมาในทางที่จะให้ดนตรีเป็นของ ‘ฟรี’ ที่ใครก็เข้าถึงได้ แต่รายได้และการทำกำไรเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจให้เดินหน้าต่อก็ยังเป็นความท้าทายที่รอคอยอยู่ ทั้งสองจึงระดมสมองว่าจะใช้หนทางใด และคำตอบนั้นก็แสนเรียบง่าย …. ‘คอนเสิร์ต’
‘เราใช้การจัดคอนเสิร์ต ทั้งนี้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายมาให้กับศิลปิน เท่าที่เราพอจะจ่ายไหวและยุติธรรม และสอง เพื่อเป็นช่องทางให้ศิลปินที่มาร่วมงาน ได้พูดคุย ติดต่อ และขยายฐานแฟนเพลงให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ซึ่งในภายหลัง ศิลปินในสังกัดก็เข้าใจในจุดประสงค์นี้ และผสมผสานทางเลือกต่างๆ เช่น ลงเพลงในแพลตฟอร์มที่ให้ผลตอบแทนที่ดีด้วย และมาร่วมงานคอนเสิร์ตของเราด้วย’
นั่นจึงเป็นที่มาของคอนเสิร์ต ‘เห็ดสด’ ซึ่งจัดโดย Fungjai ที่จะมีศิลปินในสังกัด มาร่วมงานแสดงดนตรี และเริ่มเป็นที่รู้จักกันในหมู่แวดวงนักฟังเพลงอินดี้ ในจังหวะที่คลื่นหลักอย่าง Fat Radio เริ่มแผ่วลงไป
‘เราตั้งชื่อคอนเสิร์ตว่า ‘เห็ดสด’ เพราะคำว่า Fungjai นั้น นอกเหนือจากการฟังด้วยใจ มันพ้องกับคำว่า ‘ฟังไจ’ ที่แปลว่าเห็ดรา ที่จะงอกขึ้นมาเป็นเห็ดสด นี่คืองานแสดงดนตรีสด ที่คุณจะไม่สามารถหาได้จากที่ไหน เป็นงานจากศิลปินของกลุ่ม Fungjai โดยแท้’
แต่กระนั้น คอนเสิร์ต ‘เห็ดสด’ ก็ใช่ว่าจะผ่านไปอย่างราบรื่น และพายเองก็ยอมรับว่า ปัญหาต่างๆ ก็ยังมีเข้ามาอยู่โดยตลอด
‘เราเผชิญกับปัญหาอยู่ตลอดครับ แม้แต่ในตอนนี้’ พายกล่าวถึงสถานการณ์ที่เป็นจริง ‘ในตอนแรกเราคิดกันว่า แนวเพลงอินดี้มีทิศทางการเติบโตที่มากขึ้น และเราประเมินว่ามันจะทำให้เราอยู่ได้ แต่พอมาถึงสถานการณ์จริง เราพบว่า ปริมาณของมัน ก็ไม่ได้มากอย่างที่เราคิดกันไว้ เพราะคำว่า ‘อินดี้’ ที่เรารู้จักและถนัด มันเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น มันยังคงมีอินดี้ในแบบอื่นๆ เช่น อินดี้แร็พ อินดี้หมอลำ ฯลฯ มันทำให้เราพบว่า อินดี้ ไม่ใช่กลุ่มก้อนเดียว แต่กระจายออกตามแนวต่างๆ และมีความ Niche ที่มากกว่า’
เมื่อแพลตฟอร์มต่างชาติ เข้ามาท้าทาย และช่วงเวลาที่หล่นหาย ในวิกฤติ COVID-19
อย่างไรก็ดี Fungjai ก็เป็น ‘หนึ่งใน Music Streaming’ ที่เป็นผู้เล่นในตลาด และเมื่อบวกกับการเข้ามาทำตลาดของแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง Spotify หรือ Youtube Premium ที่ตอบโจทย์ความคุ้นชินของผู้ฟังได้มากกว่า เราอดสงสัยไม่ได้ว่า ทาง Fungjai รับมือกับอุปสรรคเหล่านี้อย่างไร ซึ่งพายก็ได้ตอบในข้อสงสัยนี้
‘ผมไม่ได้มองว่ามันเป็นอุปสรรคนะครับ คือเรารู้ตำแหน่งของตัวเอง และแพลตฟอร์มของเราคงหารายได้ไม่ได้มากมายนัก เน้นที่ประเทศเป็นหลัก เราเลยมองว่า ถ้าเราเป็นร้านขายยา ก็เป็นร้านขายยาตามหมู่บ้าน ขายกันในชุมชน เราก็พยายามหาเงินจากวิธีการต่างๆ มาช่วยพยุงให้ไปต่อได้’
วิธีการต่างๆ ที่ว่านั้น ฟังดูเหมือนง่าย แต่มันมีหลากหลาย และ Fungjai ก็ ‘ทำ’ มาเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะรับจ้างทำให้แบรนด์ต่างๆ เป็น Creative Agency ด้านดนตรี และอื่นๆ เรียกว่าทำทุกสิ่งที่สามารถทำได้
และเมื่อวิกฤติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่าง COVID-19 เข้ามากระทบในรอบหนึ่งปี และส่งผลอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกับการ ‘จัดคอนเสิร์ต’ ที่เคยเป็นหนึ่งในเส้นเลือดของ Fungjai ที่ต้อง ‘ร้างลากันไปก่อน’ มันจึงไม่ใช่สภาวะที่ง่ายสำหรับพายและบริษัทเลยแม้แต่น้อย
‘COVID-19 ทำให้เราต้องลืมเรื่องคอนเสิร์ตไปเลย’ พายกล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุด ‘และเราก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน เราก็เริ่มจัดตั้ง Business Unit เปิดช่องทางธุรกิจใหม่ๆ ให้มีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงบริษัท ไม่ว่าจะขายเสื้อผ้า ถุงผ้าแบบออนไลน์ ทำอาหารแบบ Delivery ก็มีมาแล้ว ทำคอนเทนต์แบบ Fungjai TV และ Fungjai Academy ที่เอา Know-How มาให้ความรู้ในด้านต่างๆ เกี่ยวกับดนตรี เราลองทำหลายอย่างมาก ซึ่งไม่ใช่ทุกอย่างจะไปได้ดี แต่เราก็ยังสู้ต่อครับ’
เมื่อพูดถึงการขยายตัวและความพยายามที่จะหารายได้ พิจารณาจากกลุ่มศิลปินที่อยู่ในสังกัดของ Fungjai ที่มีอยู่ไม่น้อย มันมีศักยภาพพอที่จะก้าวไปสู่ระดับสากลได้ ซึ่งเราก็ได้โยนคำถามนี้ไป และพายก็ได้ให้คำตอบที่ค่อนข้างจะน่าสนใจกลับมา
‘จริงๆ เรามองเรื่องนี้เอาไว้แต่แรกแล้วล่ะครับ’ พายกล่าว ‘ผมคิดว่าศิลปินอินดี้ไทยมีฝีมือไม่แพ้ชาติไหน เพียงแต่เรายังติดกับแนวคิดที่ว่า ร้องเพลงภาษาไทย จะไปจับตลาดต่างประเทศได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ แต่ก็มีอยู่หลายวง ที่ร้องเพลงเป็นภาษาไทยอีกเช่นกัน ที่มีกลุ่มแฟนเพลงในภูมิภาคอาเซียน คือคนฟังไม่จำเป็นต้องฟังออก แต่รับรู้ดนตรีได้ด้วยใจ เหมือนเพลง K-Pop น่ะครับ เราอาจจะไม่รู้ความหมาย แต่เราก็ยังฟังกันได้ใช่ไหมครับ’
ขับเคลื่อนด้วยศิลปิน แต่ติดปีกบินด้วยภาครัฐ
คำถามหนึ่งที่เรามักจะพบอยู่เสมอเกี่ยวกับการทำธุรกิจ Startup นั่นคือ มันมีความจำเป็นหรือไม่ ที่ ‘ภาครัฐ’ ควรเข้ามาสนับสนุนในอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะกับโลกสมัยใหม่ ที่ธุรกิจแบบ Gig Economy และการก่อตั้งบริษัทขนาดย่อมเป็นเรื่องพบเห็นกันได้จนชินตา และเราก็เคยคิดว่า ธุรกิจ Music Startup เอง อาจจะไม่ต่างกัน แต่พายช่วยฉายภาพให้เห็นสิ่งที่เป็นจริงได้กระจ่างยิ่ง
‘ไม่ครับ ที่สหรัฐอเมริกา ภาครัฐไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวเลย’ พายกล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ‘ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยศิลปิน แต่ที่มันเติบโตได้ มันเกิดขึ้นเพราะวัฒนธรรมการฟังเพลงของฝั่งตะวันตกที่เปิดกว้างกับสิ่งใหม่ๆ มันทำให้ศิลปินอินดี้มีรายได้เลี้ยงชีพ และอยู่ได้ มันถึงขั้นที่คนในอุตสาหกรรมพูดกันเลยด้วยซ้ำว่า ภาครัฐ คือบริษัทขนาดใหญ่ ถ้าพวกเขาเข้ามาสนับสนุนเมื่อไหร่ ติดปีกบินได้ไกลกว่านี้แน่ๆ’
แต่สำหรับเมืองไทยล่ะ? ในจังหวะที่ Startup ยังต้องการความช่วยเหลือ และแวดวงเพลงอินดี้ก็ยังต้องการลมใต้ปีกพยุง เราจะสามารถทำตามฝั่งตะวันตกได้หรือไม่ หรือควรจะต้องเป็นอย่างไร?
‘ผมมองว่าสิ่งหนึ่งที่ภาครัฐควรทำเป็นอย่างมาก และเป็นลำดับต้นๆ เลย คือการค้นคว้าเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับสังคม หรือ Socio-Economics ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงการคืนทุน แต่เป็นเรื่องของผลดีประชากร เป็นผลดีทางวัฒนธรรม เช่น ภูมิภาคยุโรปที่มีภาครัฐให้การสนับสนุนศิลปินแขนงต่างๆ อย่างมาก เพราะเขามองว่า ศิลปะ ช่วยยกระดับจิตใจ ถ้าประชากรมีสภาพจิตใจที่ดี มีความสร้างสรรค์ ก็จะมีเรี่ยวแรงไปทำงาน และเป็นประโยชน์กลับคืนในแง่เศรษฐกิจ ภาษี รวมถึงอาชญากรรมที่ลดลง ลดการว่างงาน เขามองไปถึงขั้นนั้นกันแล้ว’
มันออกจะเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศไทย ที่เรายังติดอยู่กับคำว่า ‘ประเทศกำลังพัฒนา’ ที่ยังคงเน้นวิชาชีพที่มีผลตอบแทนทางรายได้เป็นตัวกำหนดหลัก แต่พายก็ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมในมุมมองที่ต่างออกไป
‘ตอนนี้ ผมคิดว่าทางภาครัฐเองก็เริ่มมองเห็นแล้วนะครับ ว่าการสร้างเศรษฐกิจที่อิงกับคอนเทนต์นั้น นอกเหนือจากประโยชน์ทางด้านวัฒนธรรมแล้ว มันยังมีผลตอบแทนกลับที่อยู่ในระดับสูงไม่น้อย แต่ต้องมีการลงทุนที่นาน และต้องใช้เวลาพิสูจน์ ภาครัฐอาจจะต้องมองให้รอบ ไม่เพียงแค่ด้านการเงินอย่างเดียว’
Startup กับเมืองไทย ควรหรือไม่ ในวันข้างหน้า
ในโลกที่เศรษฐกิจแนวใหม่กำลังเคลื่อนตัวเข้ามา ที่ๆ ความคิดสร้างสรรค์จากกลุ่มคน สามารถสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงในระดับโลกได้ ผ่านโมเดลธุรกิจแบบ Startup มันจึงเป็นคำถามสำคัญไม่น้อย ว่าประเทศไทย ควรจะพัฒนาแนวทางนี้ในทางใด และ/หรือ ควรหรือไม่ ที่จะมีธุรกิจ Startup
‘Startup สำหรับผม มันเริ่มต้นจากการคิดที่จะ ‘แก้ปัญหา’ เล็กๆ ที่อาจจะยิ่งใหญ่สำหรับใครบางคน’ พายกล่าวให้ความเห็น ‘รวมถึงขนาดองค์กรที่เล็ก เปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้เร็ว ซึ่งนวัตกรรมในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ก็เกิดจากบริษัทเล็กๆ แทบทั้งสิ้น ผมมองว่า ควรจะปลุกปั้นให้คนรุ่นใหม่ ขึ้นมาตั้ง Startup กัน’
แต่นั่นมีเงื่อนไขที่ตามมา ซึ่งเป็นเรื่องของ ‘วัฏจักร’ ที่เอื้อให้กับการเกิด และเติบโตของ Startup ด้วย
‘สำหรับประเทศไทย ผมมองว่ามันอยู่บนฐานของความเป็นทุนนิยมค่อนข้างสูงนะ’ พายให้ความเห็น ‘ช่องว่างระหว่างชนชั้นมันถ่างกว้างมากๆ ถ้าภาครัฐสามารถ ‘ให้ต้นทุน’ ไม่ว่าจะเป็นทุนเริ่มต้น การลดข้อจำกัด การเปิดโอกาสและตลาด และนโยบายที่หนุนเสริม Startup เกิดใหม่ให้เติบโต มันน่าจะดีไม่น้อย’
ทางต่อไป ของ Fungjai ที่ยังคงแพร่ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
มาในวันนี้ เจ็ดปี หลังจากไอเดียของสองหนุ่ม พายและท็อป กับจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของความชอบในดนตรีอินดี้ สู่บริการ Music Streaming สำหรับแวดวงอินดี้ สู่เวทีคอนเสิร์ตเห็ดสด สู่การลองโมเดลธุรกิจรูปแบบต่างๆ แล้ว ‘เชื้อฟังไจ’ กลุ่มนี้ จะเดินทางต่อไปอย่างไร นี่คือคำถามที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
‘ผมไม่คิดว่า Fungjai เป็น Startup อีกต่อไปแล้วนะ’ พายกล่าวถึงสภาพในปัจจุบัน ‘คือเรามาถึงจุดที่เราเป็นผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME ส่วนที่เราอยากพัฒนาวัฏจักรของแวดวงดนตรีอินดี้ เราก็จะยังทำต่อไป แต่ส่วนอื่นที่จะช่วยให้เราประคองต่อไปได้ ก็ทำ อย่างงาน Creative ด้านดนตรี ที่เราสามารถใช้องค์ความรู้ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ เป็นต้น’
และเมื่อถามถึงสิ่งที่ภูมิใจที่สุดสำหรับพาย ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง ศิลปิน และผู้ ‘ฟูมฟัก’ Fungjai มาแต่อ้อนออก ดูเหมือนว่าสำหรับเขา ทุกอย่างจะยังเป็นความท้าทาย และการก้าวข้ามความยากลำบาก และทำสิ่งที่เดินมาตามหัวใจเรียกร้องได้ คือความสำเร็จอย่างหนึ่ง
‘ผมคิดว่า มันไม่ได้เฉพาะเจาะจงนะครับ แต่ผมมองย้อนกลับไป อย่างช่วงปี 2014 ตอนนั้นเป็นปีที่สาหัสมาก มีหลายอย่างที่เราไม่อยากทำ แต่ก็ต้องทำ เพื่อประคองสิ่งที่เราฝันเอาไว้ให้อยู่รอด และการได้เห็นมันเติบโต เป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจน สำหรับผม มันคือสิ่งที่ทำให้รู้สึกดีอยู่’
เราจบบทสนทนาครั้งนั้น และจากลากันด้วยดี
ผู้เขียนดาวน์โหลดแอพลิเคชัน Fungjai ติดตั้งลงบนโทรศัพท์ ใช้เวลาไม่นาน หน้าจอเรียบหรูใช้งานง่าย ก่อนจะใช้นิ้ว ‘กดสุ่ม’ เพลงขึ้นมาหนึ่งชิ้น และ ‘ปล่อยใจนั่งฟัง’ โดยไม่สนว่าจะเป็นแนวไหน มันเป็นเพลงป๊อบหวานๆ ที่ไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน
เพราะบางอย่างอาจจะไม่ต้องใช้เหตุผล และ ‘เสียงของหัวใจ’ ในบางครั้ง ก็อาจจะเพียงพอ…