fbpx

Find Food สตาร์ทอัพคนธรรมดา จาก Social Marketplace for Sustainability ถึง ผู้พิทักษ์ความมั่นคงทางอาหาร

ไม่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือคร่ำหวอดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็รู้ดีว่าสถานการณ์ การแพร่ระบาดโควิด-19 พ่นพิษให้ตลาดการท่องเที่ยวซบเซายาวนานขนาดไหน ทุกธุรกิจที่พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวต่างพลิกกลยุทธ์เอาตัวรอด ดึงสายป่านให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อรอการกลับมาฟื้นตัวหลังจบวิกฤตโควิด-19

เช่นเดียวกับ Find Food (ฟายด์ ฟู๊ด) แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เรียกตัวเองเป็น Social Marketplace for Sustainability เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เกิดขึ้นจากการปรับตัวของ Find Folk (ฟายด์ โฟล์ค) สตาร์ทอัพโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ ที่ตั้งเป้าจะเป็น One Stop Service for Sustainable Tourism จากการเป็นบริษัททัวร์และที่ปรึกษา Destination Management Company (DMC) เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากการทำงานร่วมกับชุมชนกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ มาตลอด 3 ปี

“โควิดไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิด Find Food ก่อนหน้านั้นเรามีการวิจัยมาตลอด เห็นปัญหาของชุมชนที่เป็นผู้ผลิตภาคการเกษตรและอาหาร แต่กลับเผชิญความเสี่ยงหลายด้าน เราบอกว่าเป็นครัวของโลก แต่ชุมชนในฐานะผู้ผลิตไม่ได้ร่ำรวยขึ้น หนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น Find Folk เคยคิดอยากทำอี-คอมเมิร์ซจริงจัง และโควิดมาเป็นตัวมาเร่งให้เกิดมาร์เก็ตเพลสตัวนี้เร็วขึ้น” จักรพงษ์ ชินกระโทก ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Find Folk และ Find Food ย้อนถึงจุดเริ่มต้นของ Find Food ที่เหมือนกับอีกหลายๆ ธุรกิจที่โควิดมาเป็นปัจจัยสร้างโอกาส

Find Food ต่อสายป่านธุรกิจ ส่งเสริมความมั่งคงทางอาหาร

จากการปรับใช้เทคโนโลยีและฐานเดิมที่รู้ลึก รู้จริงกับชุมชนกว่า 50 แห่งจาก Find Folk มาสู่การช่วยสนับสนุนการจำหน่ายและกระจายผลิตภัณฑ์ในชุมชน Find Food จึงไม่ได้ช่วยต่อสายป่านธุรกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาและส่งเสริมความมั่งคงทางอาหารให้ชุมชนและส่งเสริมการเกษตรยั่งยืนอีกด้วย

“เราเห็นทรัพยากรด้านอื่นๆ ที่คิดว่าจะสร้างรายได้หรือสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนได้ จริงๆ ชุมชนไม่ได้เดือดร้อนเพราะการท่องเที่ยว เพราะสิ่งนี้ไม่ได้เป็นรายได้หลักของเขา แต่ชุมชนเริ่มได้รับผลกระทบเมื่อผลิตภัณฑ์และผลผลิตทางการเกษตรของชุมชนไม่มีช่องทางการจัดจำหน่าย ทำให้ Find Folk ต้องสร้างสตาร์ทอัพตัวใหม่ชื่อ Find Food ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนกิจการตรงนี้ของชุมชน รวมถึงให้ตัวเราอยู่รอดได้ในสถานการณ์นั้น”

เมื่อความตั้งใจของ Find Food ต้องการช่วยเหลือชุมชน บทบาทของ Find Food จึงทำหน้าที่หลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1. เป็นตัวกลาง (E-commerce) ผู้ให้บริการช่องทางการกระจายสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร  ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ 2. เป็นกระบอกเสียง ให้ข้อมูลและสนับสนุนช่องทางการตลาด (Social Marketing Contributor) 3. การเป็น Social Giver ผู้ผลักดันกิจการเพื่อสังคมด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยส่งเสริมการเกษตรยั่งยืนให้ชุมชนและลดความเสี่ยงด้านอาหาร

“เราค้นพบว่าคนยุคใหม่ผลิตอาหารน้อยลง ทำอาหารกินเองน้อยลง ทำการเกษตรน้อยลง พืชผลต่างๆ ก็น้อยลง ในอนาคตมีความเสี่ยงที่จะเผชิญความไม่ยั่งยืนด้านอาหาร ดังนั้น เราต้องให้ข้อมูลเหล่านี้กับสังคม และเมื่อการทำเกษตรยั่งยืนไม่สามารถแข่งขันกับตลาดแมสได้ เราก็ต้องสร้างตลาดใหม่ให้”

“ส่วนการส่งเสริมการทำเกษตรยั่งยืนให้ชุมชน เราไม่ได้เก่งเท่าชุมชน ดังนั้นหน้าที่ของ Find Food คือ ดึงความรู้ที่เขามีออกมาเป็นจุดเด่นในผลิตภัณฑ์ แล้วทำการตลาดสร้างมูลค่าให้กับจุดยืนที่เป็นเกษตรยั่งยืนอยู่แล้ว”

เกินคาดกับยอดขายมากกว่า 2,000 ออเดอร์ ในคืนเดียว

ด้วยสไตล์การทำงานที่คิดแบบคนทำงานโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ แน่นอนว่าการเบนเข็มจากทีมงานที่เติบโตมาจากงานบริการด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน มาสวมวิญญาณนักขายออนไลน์จำเป็น จักรพงษ์และทีมงานไม่ได้คาดหวังว่าก้าวแรกจะราบรื่น

แต่ภายในคืนเดียวหลังจากที่ทดลองโพสต์ขายลิ้นจี่ของชุมชน แค่ตั้งใจว่าขายให้ได้สัก 500 กิโลกรัมก็พอใจแล้ว กลับกลายเป็นว่าขายได้ 7,000 กิโลกรัม จำนวนกว่า 2,000 ออเดอร์ รวมเป็นเงินหลักล้าน ส่วนหนึ่งจักรพงษ์วิเคราะห์ว่าปรากฏการณ์นี้อาจเกิดขึ้นเพราะเป็นจังหวะเดียวกับที่แพลตฟอร์มจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส และ ธรรมศาสตร์ มาร์เก็ตเพลส แจ้งเกิดพอดี ทำให้มีคนนำโพสของ Find Food ไปแชร์ในเพจลักษณะนี้ ส่งผลให้ยอดของ Find Food เกิดเป็นกระแสโซเชียลในขณะนั้นด้วย

“ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก จำได้ว่าช่วงวันแรกขายไปประมาณ 2,000 ออเดอร์ จากคนที่ทำงานด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก เราไม่เคยขายของ ยิ่งเป็นสินค้าที่อายุสั้นด้วย ยิ่งเป็นความท้าทาย ก็เป็นความสนุกสนานแบบ happy problem การขายครั้งแรก คือ 30 เมษายน 2563 คืนเดียวขายไป 7,000 กิโลกรัม ก็งงๆ เหมือนกันตอบไลน์กันถึงตีสาม โดนด่าบ้าง อะไรบ้าง”

“ตอนแรกแค่ตั้งใจขายเพื่ออยากสื่อสาร เพราะอยากเป็นเพื่อนกับชุมชนที่เราทำงานด้วยอย่างต่อเนื่องเท่านั้นเอง ไม่ได้คิดขายเอาร่ำรวย แต่ตอนนี้กลับเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่เลี้ยงเรามานานมากเหมือนกัน เราเชื่อว่า Find Food เป็นของขวัญที่ได้จากโควิด เพราะเหลือเชื่อมากที่สามารถพลิกทุกอย่างจากรายได้ศูนย์ในเดือนเมษายน แต่ในเดือนพฤษภาคมคือหลักล้านจากการขายผลิตภัณฑ์ในชุมชน”

ถอดคีย์แอคชั่นโมเดล 5s ของ Find Food

ก้าวแรกของการลงมือจริง Find Food ได้รับผลตอบรับเหนือความคาดหมาย แต่ทีมงานก็ไม่ได้ปล่อยให้โชคชะตานำทางเท่านั้น ถึงแม้ฟังดูเหมือนแค่รับสินค้าชุมชนมาช่วยกระจายคงไม่ได้ยากเท่าไร

หากแต่สิ่งที่ Find Food ตกผลึกมาแล้ว ถึงขั้นตอนการทำงาน คือ โมเดล 5s ได้แก่ Searchสรรหา คัดสรร วัตถุดิบชุมชนคุณภาพดีจากเจ้าของทรัพยากร เจ้าของวัตถุดิบ, Standardize พัฒนาสินค้าร่วมกับชุมชน เพื่อสร้างมาตรฐานที่แข็งแรงและสร้างรายได้ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูลตลาด การทำมาร์เกตติ้ง การทำคู่มือปฏิบัติงาน (SOP) การทำแพ๊กเกจ การทำการตลาดออนไลน์, Send ส่งมอบสินค้าและบอกต่อสิ่งดีๆ จากชุมชน, Support ช่วยพัฒนาให้ความรู้ แนะนำแนวทางให้ชุมชนสามารถดำรงได้ด้วยตัวเอง และ Share แบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ ผู้ให้ได้รับ ผู้รับได้ให้

“วัตถุดิบหรือผลผลิตในชุมชน บางทีไม่ได้มีปัญหาเรื่องคุณภาพ แต่มักมีปัญหาในการขนส่ง ฉะนั้นเราต้องหาช่องทางที่เหมาะกับวัตถุดิบให้เจอ การทดสอบต่างๆ ก่อนขายจริง และไม่ได้ส่งเฉพาะสินค้า แต่รวมไปถึงการส่งต่อเรื่องราวว่าผลไม้หนึ่งลูกที่คุณกำลังกิน ช่วยได้กี่ครอบครัว น้ำผึ้งสักกระปุกที่กำลังซื้อสนับสนุนใครอยู่บ้าง”

คำว่า Share ในจำนวน 5s น่าจะเป็นโมเดลน่าสนใจที่สุด จักรพงษ์อธิบายเพิ่มเติมว่า ในที่นี่ไม่ได้หมายถึงการแชร์มูลค่า แต่เป็นการแชร์สู่สังคม โดยยกตัวอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านแคมเปญ ‘ตลาดนัดน้ำใจ Find Food’ ที่แรกเริ่มเกิดจากการที่เกษตรกรไม่สามารถขายมะม่วงได้  ปางช้างที่เคยร่วมงานกันมาก่อนหน้านี้กำลังจะอดตาย Find Food จึงปิ๊งไอเดียตลาดนัดน้ำใจขึ้น โดยให้คนทั่วไปบริจาคซื้อมะม่วงไปช่วยเลี้ยงช้าง แนวทางนี้ประสบความสำเร็จมาก สามารถช่วยอุดหนุนมะม่วงชุมชนได้มากกว่า 20-30 ตัน ขณะเดียวกันก็ดูแลช้างให้รอดจากความอดอยากด้วย

แม้กระทั่งตอนเกิดอุทกภัยที่นครศรีธรรมราช Find Food รู้ว่าชุมชนในบุรีรัมย์มีผลิตภัณฑ์ข้าวสาร ตลาดนัดน้ำใจ Find Food ก็เปิดรับบริจาค เพื่อซื้อข้าวสารจากชุมชนในบุรีรัมย์ ขนส่งไปยังนครศรีธรรมราช โดย Find Food เป็นผู้ประสานการขนส่งให้ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี

หนึ่งขวบปีกับประสบการณ์ที่ต้องเก็บเกี่ยวต่อไป

ทุกวันนี้ Find Food เป็นอีกรายได้ช่องทางหนึ่งที่หล่อเลี้ยงธุรกิจและชุมชน เปิดโอกาสให้ทีมงานได้เรียนรู้โอกาสใหม่ๆ อย่างไรเสีย จักรพงษ์ยังคงตั้งมั่นให้ Find Food ค่อยๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ เพื่อพาตัวสตาร์ทอัพและชุมชนเติบโตต่อไป โดยมุ่งเป้าไปที่การเพิ่มจำนวนกลุ่มลูกค้า B2B อย่างต่อเนื่อง

“ไม่ว่าจะ Find Folk หรือ Find Food เรามีเป้าหมายหลักในการทำธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)”

“แต่ Find Food อาจไม่เหมือน Find Folk ที่เติบโตจากการทำงานยั่งยืนใน 3 ปีแรก ระยะเวลา 3 เดือนแรก เราโยกคนจาก Find Folk ไปทำโมเดลนั้นหมด ดังนั้นในอนาคตเราต้องสร้างทีมใหม่เพื่อมาดูแล Find Food อย่างจริงจัง ถามว่าองค์ความรู้ของ Find Food แข็งแรงเท่า Find Folk ไหม ก็ยังไม่แข็งแรงเท่า เพราะเราโตมากับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ฉะนั้นเราต้องเติมเต็มและลงทุนจ้างบุคลากรที่ถนัดการทำโซเชียลมาร์เก็ตติ้งหรืออี-คอมเมิร์ซมาช่วยอีกมาก”

จะด้วยรายได้ หรือ ประสบการณ์ทำงานก็ตามที ทั้ง Find Food และ Find Folk จักรพงษ์มองว่าทั้งสองสตาร์ทอัพนี้ ยังไม่ถึงจุดของคำว่า ‘สำเร็จ’ เพราะสำหรับเขามีไม้บรรทัดวัดอยู่ในใจแล้วว่า มาตรฐานความสำเร็จต้องมีเสถียรภาพ 3 ประการ ได้แก่ 1. รายได้ยั่งยืนที่ดูแลตัวเองและองค์กรได้ โดยไม่เป็นภาระสังคม,  2. ชุมชนมีรายได้เพียงพอ มีการซื้อขายที่มั่งคง ไม่มีผลผลิตเสียหายในชุมชน และ 3. การส่งเสริมสิ่งแวดล้อม จากการส่งเสริมผลผลิตเกษตรแบบยั่งยืนให้เป็นที่ต้องการของตลาด

“เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงจากการที่บอกว่าเราเป็น ‘คนธรรมดา’ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จากการที่คนธรรมดาแต่ละคนทำหน้าที่และทำโอกาสของตัวเองให้ดี เรามีความรู้เรื่องการท่องเที่ยว มีจุดแข็งเรื่องการทำงานกับชุมชน ก็ใช้ความรู้นี้ดูแลตัวเอง ดูแลสังคม นี่เป็นสิ่งที่ภูมิใจและดีใจที่สุด”

“เวลาคนพูดถึง Find Food หรือ Find Folk ภาพลักษณ์คือเฟรชชี่ การเป็นน้องใหม่ในวงการที่สามารถทำงานกับชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืนจากตัวเราเอง” จักรพงษ์เผยถึงแรงผลักดันและกำลังใจของทีมงาน จากก้าวแรกของการทำงานเพื่อไปถึงจุดหมายของความสำเร็จ

Co-Operate: จุดบรรจบระหว่างภาครัฐและสตาร์ทอัพ

เมื่อถามถึงภาครัฐ ควรมีส่วนสนับสนุน สตาร์ทอัพประเภทเดียวกับ Find Food ในเรื่องใดบ้าง ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ยึดหลักโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ ให้ความเห็นว่า รัฐต้องเดินตามธุรกิจยุคใหม่ให้ทัน โดยควรมีส่วนสนับสนุนใน ‘มิติการสร้างความร่วมมือ’ แบ่งออกเป็น 2 ทาง ได้แก่ 1. การร่วมกันระดมแนวคิดระหว่างผู้ประกอบการยุคใหม่กับชุมชนให้มากขึ้น การรับฟังความเห็นในลักษณะล่างขึ้นบน (Bottom up) โดยสำรวจความคิดเห็นต่างๆ ก่อนตกผลึกและนำไปใช้อย่างต่อเนื่อง  2. การร่วมมือกันลงมือทำ

จักรพงษ์เชื่อว่าทุกสตาร์ทอัพ แต่ละหน่วยงานมีองค์ความรู้หลากหลาย มีการวิจัยข้อมูล Big Data ที่สามารถแชร์และสนับสนุนกัน เพื่อให้เติบโตไปได้ ทั้งในเชิงโยบายและการนำไปใช้ปฏิบัติจริง

“เราไม่ได้บอกว่าต้องโอบอุ้ม ดูแลเรา แต่อยากให้เห็นความสำคัญของกันและกัน ประคับประคองให้อยู่ต่อได้ ส่วนเรื่องเงินทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด เราทำได้ในลักษณะของแรงส่งเสริมสนับสนุน แต่ถ้าภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น คงไม่ใช่แค่เรื่องการ co-invest หรือ invest แต่ควรส่งเสริมในแง่มูลค่าทางการตลาด หรือมูลค่าการสร้างการรับรู้ การพาเราออกไปสู่สังคม”

“สิ่งหนึ่งที่ภาครัฐมีและเป็นจุดแข็งที่ควรสร้าง คือ การทำให้ทุกสตาร์อัพ ทุกชุมชน หรือทุกผู้ประกอบการสบายใจที่จะเข้าถึง ให้รัฐเป็นศูนย์กลาง สามารถเชื่อมโยงทุกคนให้มาเจอกันได้”

ถึงวันนี้ Find Food จะสามารถเติบโตและตั้งหลักได้แบบสายฟ้าแลบเกินคาด แต่สิ่งที่จักรพงษ์และทีมงานภูมิใจยิ่งกว่า คือ ได้ต่อลมหายใจและเจตนารมณ์ขององค์กรไปให้ถึงฝั่งฝัน

“เราชอบคีย์เวิร์ดที่คนบอกว่า คนโชคดีคือคนที่ทำตัวเองให้พร้อมรับโอกาส คนที่ทำงานใน Find Food ทุกคนมี passion มี purpose ที่แข็งแรงมาก เราดูแลตัวเองได้ ดูแลองค์กรได้ และยังเผื่อแผ่ไปยังสังคมชุมชนได้ในระยะยาว นั่นคือความชื่นใจที่เรามี”

เรียกว่าตลอดการสนทนา รู้สึกได้ถึงพลังแห่งการขับเคลื่อน ที่ชวนให้ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพหรือธุรกิจไหน ก็อยากให้ลองนำแนวคิดของ Find Food ไปปรับใช้ ถ้าทำได้กันคนละไม้คนละมือ สังคมเราจะน่าอยู่และเติบโตกว่านี้อีกมาก 

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ