fbpx

ENRES สตาร์ทอัพ AI กับแนวคิดประหยัดพลังงานสร้างจุดคุ้มทุน

ไม่มากก็น้อย ต้องเคยได้ยินมาบ้างว่า การใช้ไฟของห้างสรรพสินค้าใจกลางเมืองกินไฟเท่ากับทั้งจังหวัด!

นี่แค่ห้างสรรพสินค้าอย่างเดียว หากลองจินตนาการดูว่าโรงพยาบาลและโรงงานต่างๆ ที่ตั้งธงว่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ต้องพร้อมทำงานตลอด 24 ชั่วโมง จะกินไฟเท่าไร?

และถ้าสามารถประหยัดพลังงานจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ เจ้าของโครงการหรือผู้ประกอบการจะลดต้นทุนการผลิตได้ขนาดไหน?

นี่คือแนวคิดแรก เมื่อครั้งก่อตั้ง ENRES (อ่านว่า เอ็นเรส มาจากคำว่า Energy Response) สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของสามผู้เชี่ยวชาญต่างสายงาน ไชยวิวรรธน์ ชูวิเชียร’ จบด้าน Solar Engineering จากอเมริกาและทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านพลังงาน ‘กฤษฎา ตั้งกิจ’ จบด้านเทคโนโลยี และ ‘ตฤณ อนันตมงคลชัย’ จบด้านสถาปนิก ทั้ง 3 ได้ร่วมมือกับโปรแกรมเมอร์ผู้เคยทำงานที่ Facebook และสตาร์ทอัพจาก Silicon Valley

“พวกเราเห็นปัญหาหลายอย่างว่า ทุกวันนี้ทุกคนอยากประหยัดพลังงาน แต่ทำไมลงทุนไปมากมายถึงยังไม่ประหยัด โดยทุกคนตอบไม่ได้ว่าวันนี้สิ่งที่ลงทุนไปมันคุ้มค่าไหม”

“เลยคิดว่าการนำ IoT, Data Analysis หรือ AI (Artificial Intelligence: เทคโนโลยีจัดการวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาล) มาช่วยในการตรวจสอบทุกการลงทุน ทุกมาตรการประหยัดพลังงานยั่งยืน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุ้มทุนมากที่สุด นี้คือโจทย์ใหญ่โจทย์แรก” ไชยวิวรรธน์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ENRES แพลตฟอร์มที่เรียกตัวเองว่า Energy Optimization Platform เผยให้ GM Live ฟังถึง Pain Point หลักของการประหยัดพลังงานในวงการอุตสาหกรรม

แน่ใจแล้วหรือ? ว่าแนวทางที่ใช้อยู่ประหยัดไฟจริง

จากประสบการณ์ด้านการเป็นที่ปรึกษาพลังงาน ไชยวิวรรธน์ เล่าว่าโจทย์ใหญ่ที่เจอจากลูกค้า เป็นคำถามง่ายๆ คือ ลงทุนเครื่องจักรไปแล้ว ช่วงแรกก็ประหยัดไฟได้จริง เมื่อเวลาผ่านไปทำไมจึงไม่ประหยัดเหมือนเดิม หรือปัจจุบันยุค 4.0 ที่ทุกอุตสาหกรรมมีอุปกรณ์ตรวจวัดค่าการใช้พลังงานติดอยู่กับเครื่องจักรอยู่แล้ว ทำไมต้องใช้ระบบ Energy Optimization Platform ด้วย

“สิ่งที่คนไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ คืออุปกรณ์เหล่านั้นเป็นแค่ระบบมอนิเตอริ่งแต่ไม่ใช่ระบบวิเคราะห์ เหมือนนาฬิกา Garmin ที่ตรวจเช็คสุขภาพบอกว่าวันนี้เราวิ่งเท่าไร ถ้ายังตอบตัวเองไม่ได้ว่าทำไมระบบที่ลงทุนไม่ช่วยให้ประหยัดไฟ แสดงว่าควรต้องเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการตรวจสอบ”

“ส่วนกรณีที่ว่าทำไมเวลาผ่านไปไม่ประหยัดเหมือนเดิม ตรงนี้ต้องดูความเสื่อมสภาพและวิธีการใช้งาน ยกตัวอย่างรถยนต์ใหม่ก็คงไม่กินน้ำมันเท่ากับรถเก่า การใช้งาน การดูแลก็ไม่เหมือนกัน เพราะถ้าใช้งานไม่ถูกต้องอาจใช้พลังงานเปลืองกว่าเดิมด้วยซ้ำ”

ไม่ใช่แค่มอนิเตอร์ แต่คำนวณได้ว่าคุณควรได้เงินเท่าไหร่

เมื่อรู้จริงถึง Pain Point ของการประหยัดพลังงานในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างโรงงาน โรงพยาบาล หรืออาคารสำนักงาน หน้าที่ของ ENRES คือพัฒนาการใช้แพลตฟอร์ม IoT มาเชื่อมโซลูชั่นขับเคลื่อนงานด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยให้ทำงานร่วมกันได้ในเชิงการเพิ่มประสิทธิภาพ (Optimize) ผ่านระบบอัตโนมัติ (Automation) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดค่าใช้จ่ายและลดการใช้แรงงานคนที่ไม่จำเป็นออกจากธุรกิจนั้นๆ

“สิ่งที่เราทำไม่ใช่แค่มอนิเตอร์ว่าใช้ไฟเท่าไหร่ ผลิตได้เท่าไหร่ แต่บอกได้ว่าจริงๆ แล้วควรต้องได้เงินเท่าไหร่ เช่น โรงงานหนึ่งบอกว่าผลิตได้ 10,000 บาท แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้วควรต้องได้ 15,000 บาท เหมือนที่ผมยกตัวอย่างรถยนต์ ถ้าเรียนรู้พฤติกรรมปกติว่ากินพลังงานเท่าไร เมื่อผ่านไป 4 ปีเครื่องยนต์เริ่มเสื่อมลงและผิดปกติ ช่องว่างตรงนี้อยู่ที่ประมาณเท่าไหร่”

“สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้สามารถรู้ว่า Saving ของคุณหายไปเท่าไหร่จากพฤติกรรมที่เคยใช้ ต่อให้ประสิทธิภาพเท่าเดิม แต่ถ้าคนใช้งานเปลี่ยน ช่างเปลี่ยน วิศวกรเปลี่ยน จุดนี้เป็นการนำโซลูชั่น Machine Learning AI มาใช้”

จุดแข็งที่ ENRES ภาคภูมิใจ ซึ่ง ไชยวิวรรธน์ถ่ายทอดให้ฟัง คือ การใช้ AI ที่ต้องอาศัยข้อมูลและโมเดลทางคณิตศาสตร์ ดังนั้นความถูกต้องของข้อมูล (Data) จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ในสองปีแรก ENRES จึงศึกษาการได้มาของข้อมูล เพื่อรวบรวมเป็นเซ็นเตอร์ให้กับอาคารต่างๆ บวกกับการผสานประสบการณ์สาขาต่างๆ ของทีมงาน ทำให้ ENRES มั่นใจในการดีไซน์โซลูชั่นตั้งแต่ปลายทางย้อนไปถึงต้นทางของการประหยัดพลังงานได้

“ในตลาดไม่ค่อยมีใครทำแบบนี้ นี่เป็นจุดหนึ่งที่เราทำมาก่อน ทำให้เห็นว่าลูกค้าอยากได้อะไรในอนาคต แล้วค่อยดีไซน์ย้อนหลัง ตรงนี้จึงเป็นจุดแข็งในเชิงของการเป็นที่ปรึกษาไปในตัว”

ความภูมิใจในฐานะ First Move และEnergy Solution ที่ประหยัดได้จริง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งที่ผู้ประกอบการยุค 4.0 เจอเสมอ คือ การบริหารจัดการโซลูชั่น เมื่อทุกระบบมีมอนิเตอร์ต่างๆ มากมาย แต่ยังใช้แรงงานคนในการควบคุม เมื่อเกิดการโยกย้ายพนักงานกลายเป็นว่างานสะดุด ซึ่ง ENRES ได้สร้างแพลตฟอร์มการบริหารให้อัลกอริทึมตรวจทำงานแทนคน ซึ่งมีความแม่นยำกว่า รวมถึงให้คำแนะนำในการควบคุมระบบต่างๆ โดยความต้องการลักษณะนี้ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่กลายเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ประกอบธุรกิจ ตระหนักถึงความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีทดแทนคนมากขึ้น

“ในตลาด ENRES เข้าไปช่วยเรื่องพลังงานมี 2 ส่วน ส่วนที่ 1: ลูกค้าต้องการประหยัดเลย เราจะเสนอโซลูชั่น เช่น เปลี่ยนแอร์ ติดอุปกรณ์ แต่ ENRES จะมีซอฟต์แวร์ตรวจสอบพ่วงไปด้วย ซึ่งเหมือนในท้องตลาดทั่วไป เพียงแต่มีแพ็คเกจเพิ่ม ส่วนที่ 2: บางครั้งลูกค้ามีระบบอยู่แล้ว ENRES จะทำหน้าที่เข้าไปเชื่อม Energy Solution ทั้งหมดมารวมบริหารจัดการในที่เดียว ฉะนั้น KPI แรก คือ ผลประหยัดได้ 20 -30%”

ด้วยโมเดลการทำงานนี้ ENRES ช่วยประหยัดพลังงานให้กลุ่มอาคารสำนักงาน โรงงาน โรงพยาบาล สถานศึกษา และธุรกิจค้าปลีก รวมถึงโครงการของภาครัฐและภาควิสาหกิจมากมาย กวาดรางวัลสตาร์ทอัพยอดเยี่ยมจากหลายหน่วยงาน อาทิ รางวัลชนะเลิศ depa Accelerator Program (ASEAN’s First Smart City Accelerator) โครงการ depa Accelerator Program โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, รางวัลนวัตกรรมการจัดการพลังงานดีเด่นด้วยเทคโนโลยี 4.0 โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ประจำปี 2562 และรางวัล “Singtel Future Maker 2019” จากโครงการ avpn CONFERENCE 2019 โดย Singtel ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น

“ถ้าถามความภูมิใจส่วนตัว ผมคิดว่าเป็นความกล้าหาญของทีมมากกว่า ไม่ใช่ผมคนเดียว ที่เราเป็น First Move จริงๆ ในอุตสาหกรรมนี้ เพราะมันไม่ใช่แค่ทฤษฎี แต่เป็นการนำไปใช้ได้จริงในตลาดจริง แล้วเราก็ผ่านไปด้วยกัน”

หมุดหมายต่อไป กับการพัฒนา Smart City Platform

5 ปีที่เวียนผ่านของ ENRES ไชยวิวรรธน์บอกว่าเป็นความสำเร็จทีละขั้น ขั้นหนึ่งได้เดินหน้าอีกขั้นได้สร้างผลงานในแต่ละส่วน ที่มีทั้งล้มลุกคลุกคลาน ทั้งสำเร็จ จนกลายเป็นวงจรปกติ การพัฒนาโซลูชั่นจากความต้องการของตลาด ทำให้ ENRES กลั่นกรองมาสู่การกำหนดทิศทางต่อไปที่จะมุ่งพัฒนา Smart City Platform ตั้งแต่การมอนิเตอร์ วิเคราะห์ ควบคุมอัตโนมัติ ในทุกระบบ มัดรวมไว้ในที่เดียว ชนิดว่าอาคารไม่ต้องใช้คน แต่สามารถใช้ระบบตรวจสอบและดำเนินการได้ด้วยตัวมันเอง

“สองปีแรกที่เราทำ ‘AI’ ฟังดูเซ็กซี่ และนั่นทำให้เข้าตลาดได้ เราทำ AI ได้แม่นยำ จนบริษัทมหาชน-บริษัทน้ำมันให้การยอมรับ แต่ภาพรวมของตลาดพร้อมซื้อได้ทันทีไหม? ดังนั้นในทางธุรกิจเราต้องปรับตัวไปในตลาดที่กว้างขึ้น ทำโซลูชั่นที่คนต้องการใช้ทุกวัน จริงๆ ลูกค้าต้องการแค่สเต็ปที่ 2-3 แค่นั้นตลาดก็ใหญ่มากแล้ว ซึ่งทีมงานของเราออกแบบสเต็ป 1,2,3,4 ได้ค่อนข้างแม่น และรู้ว่าโรดแมปของลูกค้าควรไปยังไง ทำให้สามารถวางรากฐานเพื่อไปต่อยอดขั้น 5,6,7,8 และควรไปขั้นที่ 10 ยังไง”

“แนวคิดประหยัดพลังงาน จากทฤษฎีฟังดูดีเซ็กซี่ใช่ไหม แต่เมื่อเข้าตลาดจริงๆ พลังงานเป็นเรื่องรอง ไม่ทำวันนี้ก็ไม่ตาย กลายเป็นว่าเราไปทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ปรับระบบการดำเนินการที่ทำอย่างไรให้ลดค่าใช้จ่าย ลดการทำงานของคน และเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย จุดนี้คือโซลูชั่นที่พัฒนาขึ้นและทำให้เราเปิดกว้างมากขึ้นไปสู่งานบริหารเมือง”

มาถึงบรรทัดนี้ คงรู้แล้วว่าความถนัดของ ENRES คือ AI เทคโนโลยีอัจฉริยะที่จะมีบทบาทในการพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และจะเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่อง ‘จำเป็น’ ที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องทำเท่าทันเทคโนโลยีเหล่านี้

เช่นเดียวกับที่ไชยวิวรรธน์อยากฝากไปถึงภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ควรสนับสนุนทั้งความรู้ การทดลองใช้เทคโนโลยีของผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้เกิดความมั่นใจและเห็นประโยชน์ของเครื่องมือเหล่านี้ว่ามีประสิทธิภาพคุ้มกับการลงทุนจริง เพื่อที่ท้ายสุดจะนำไปสู่การขยายผลการลงทุนต่อไป…

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ