fbpx

DeepTech กับปฏิบัติการกู้ภัยพิบัติ จุดอ่อนของไทยอยู่ตรงไหน

กรณีศึกษา: หมิงตี้

 

จากเหตุการณ์สารเคมีอันตราย โรงงานหมิงตี้ ย่านกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ที่ผ่านมา การระเบิดของสารเคมีสร้างความเสียหาย เป็นอันตรายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในบริเวณรัศมีรอบโรงงานเป็นวงกว้าง รวมไปถึงชีวิตทีมกู้ภัยที่ขาดข้อมูลที่ถูกต้องในการเข้าไปกู้วิกฤตในพื้นที่

เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นปัญหาว่า นอกจากไทยจะขาดความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เคยเกิดขึ้นแล้ว เรายังขาดความพร้อมรับมือกับอุบัติภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้นอย่างไร้แบบแผน ขาดความรู้การปฏิบัติที่ถูกวิธี ขาดผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนและกอบกู้สถานการณ์ได้ทันท่วงที เป็นที่หวั่นเกรงว่าหากมีอุบัติภัยใหม่ ๆ เกิดขึ้นเราจะสามารถป้องกันอันตรายจากการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างไรบ้าง

ดังนั้น ขณะที่ประเทศกำลังมีการโหมพัฒนาเทคโนโลยีอย่าง DeepTech จึงมีการร่วมกันวิเคราะห์และหาคำตอบว่า เทคโนโลยีจะมีบทบาทเข้ามาช่วยแก้ไขสถานการณ์เหล่านี้ได้หรือไม่ อย่างไร ทั้งการเตรียมพร้อม รับมือ และแก้ปัญหาในกรณีที่ภัยพิบัติใหม่ ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น และหากเป็นไปไม่ได้ อะไรที่เป็นอุปสรรคชิ้นโต

การระดมสมองครั้งนี้ได้เกียรติขากผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่านมาร่วมแชร์ไอเดีย ได้แก่ รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา จากภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร. ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และนิธิกร บุญยกุลเจริญ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการดิจิทัลวิถีใหม่

รศ.ดร.พนิต กล่าวว่า การจัดการภัยพิบัติมี 2 เรื่องที่ต้องทำคือ “ป้องกัน” และ “บรรเทา” ดีสุดคือป้องกันไม่ให้เกิด แต่ถ้าเกิดแล้วก็ต้องบรรเทาให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด โดยสิ่งที่เป็นปัญหาของการจัดการแก้ปัญหาเมื่อเกิดภัยแล้ว ไม่ใช่การขาดแคลนเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ แต่โดยมากเป็นเพราะการจัดการมักมีการรวมศูนย์ เช่น มีสถานีดับเพลิงที่มีเทคโนโลยีที่ใช้ในการดับเพลิงทุกชนิด แต่บางครั้งขาดความเชี่ยวชาญ ขาดข้อมูล ที่จะทำให้เห็นผลกระทบจากภัยที่เกิดขึ้น เช่นกรณีของหมิงตี้ที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญในการดับเพลิงที่เกิดจากสารเคมี และต้องรู้ชนิดของสารเคมีที่ระเบิด และปริมาณของสารเคมีในที่เกิดเหตุ เป็นต้น อีกทั้งการปฏิบัติงานในพื้นที่ยังขาดการดำเนินงานโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อกำหนดวิธีการเข้าพื้นที่เพื่อระงับเหตุอย่างตรงจุด

“จากเหตุการณ์นี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของคนทั่วไป ที่ปกติไม่มีใครซื้อประกันแบบที่แพงที่สุด เพราะไม่คาดหวังว่าจะมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เวลาเกิดภัยร้ายแรงจึงไม่สามารถเทลเลอร์เมดการแก้ปัญหาได้ตรงจุดและทันท่วงที” รศ.ดร.พนิต กล่าว

“การซื้อประกัน” ในความหมายที่ รศ.ดร.พนิต กล่าวถึง คือ การป้องกันภัยพิบัติ ซึ่งสามารถทำให้ครอบคลุมและป้องกันความสูญเสียได้ตั้งแต่ต้นทาง แต่ต้องใช้เงินลงทุนเหมือนซื้อประกันและน้อยคนที่จะยอมจ่ายเพราะไม่เห็นความสำคัญกระทั่งเมื่อภัยมา กรณีหมิงตี้ โรงงานตั้งมาก่อนในพื้นที่ไม่ถือว่ามีความผิดสำหรับคำถามว่าทำไมโรงงานมาตั้งอยู่ในย่านชุมชน เพราะชุมชนเป็นฝ่ายที่มาทีหลัง ตามหลักสากลเมื่อที่อยู่อาศัยเข้ามาอยู่ใกล้โรงงาน มักจะเกิดการเรียกร้องให้โรงงานป้องกันมลพิษที่อาจส่งผลกระทบเช่น เรื่องของเสียง ฝุ่น ควัน กลิ่น ฯลฯ ซึ่งการลงทุนป้องกันตามหลักสากลผู้มาทีหลังต้องเป็นคนจ่าย แต่เพราะไม่เคยเกิดเหตุร้ายแรง ทำให้สังคมไทยคุ้นเคยกับการมีชุมชน มีหมู่บ้านใกล้โรงงานและไม่มีการเตรียมพร้อมป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นในกรณีนี้

แต่หากเป็นการป้องกันในมุมของเทคโนโลยี ในทุกพื้นที่ตั้งโรงงานควรจะมีการกำหนดพิกัด ระบุประเภทสารเคมีที่มีการจัดเก็บ ใช้งาน รวมทั้งมีโครงสร้างอาคารที่เก็บรวมศูนย์ไว้กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลป้องกันภัยต่าง ๆ เพราะเมื่อเกิดอุบัติภัยขึ้นเมื่อไร เทคโนโลยีจะสามารถดึงข้อมูลมาประมวลวิเคราะห์ คาดการผลกระทบและใช้วางแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาหรือบรรเทาได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงภัย การเข้าถึงพื้นที่เสี่ยงภัย การแจ้งเตือนพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบ

“เรื่องพวกนี้ถ้าไม่เคยเกิดปัญหา ก็จะไม่มีใครยอมลงทุน กรณีหมิงตี้เราจึงไม่รู้เลยว่ามีสารเคมีอยู่เท่าไร อยู่จุดไหน วาล์วอยู่ตรงไหน แต่ก็โชคดีที่มีเทคโนโลยีอย่างโดรนนำไปช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ ฉะนั้นต้องถือว่าเรายังมีทั้งปัญหาการจัดการ การขาดข้อมูลที่มีไม่มากพอ และเทคโนโลยีบางอย่างที่อาจจะมีไม่มากพอเช่นกัน”

นิธิกร บุญยกุลเจริญ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการดิจิทัลวิถีใหม่ เห็นพ้องกับ รศ.ดร.พนิต แต่ก็เชื่อว่าประเทศไทยมีเทคโนโลยีมากพอในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ โดยภาครัฐเองมีการเตรียมความพร้อมเรื่องการป้องกันภัยพิบัติไม่น้อยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น มีการใช้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์มาช่วยวิเคราะห์จำนวนหลังคาเรือนที่ได้รับผลกระทบจากภัยต่าง ๆ หรือแม้แต่การกำหนดเส้นทางลอจิสติกส์สำหรับการส่งของบรรเทาทุกข์ของสภากาชาดไทย เป็นต้น

“วันนั้นผมดูข่าวอยู่ตลอดเวลา ที่บอกให้อพยพคนในรัศมี 5 กม. ถ้าเช็คจากเส้นทางแล้วรถพาอ้อม คนที่ควรอพยพก็เลยไม่อพยพ ก็เป็นจุดอ่อน ในมุมนักเทคโนโลยีพอตีโจทย์ได้ว่า ผู้ใช้ต้องการรู้รัศมีก็สามารถจับจีพีเอสให้บริการผ่านเว็บใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเปิดให้บริการได้ทันที วันนั้นวันเดียวมีประชาชนเข้ามาใช้ 3 ล้านคน นั่นแสดงให้เห็นว่าคนไทยตื่นตัวกับเทคโนโลยีที่สามารถตอบปัญหาเขาได้ ณ ตอนนั้น แต่การป้องกันระยะยาวต้องมีการวางแผนมากกว่านั้น” นิธิกร กล่าวดังนั้น การเตรียมพร้อมด้านเทคโนโลยีสำหรับป้องกันวิกฤตต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงต้องคิดจากฝั่งประชาชนด้วยว่าควรได้รับระบบเตือนภัยที่น่าเชื่อถือและเป็นเรียลไทม์ แล้วค่อยเอาเทคโนโลยีมาจับ ส่วนในมุมของการวางแผนระดับชาติต้องทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆให้ครบถ้วน ที่รัฐเร่งทำอยู่ทั้งข้อมูลพิกัดโรงงาน เส้นทางต่าง ๆ

“ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีทุกอย่างพร้อมแล้ว เหลือแค่ระบบการจัดการ ภาครัฐซึ่งมีเรื่องเต็มมือ แต่ถ้ามีข้อมูลมากองให้ภาคเอกชนไปเชื่อมต่อได้ ทั้งภาคนักศึกษา สตาร์ทอัพ องค์กรเอกชน พร้อมที่จะร่วมพัฒนา เพื่อใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาภัยพิบัตที่เกิดขึ้นได้ทันทีอยู่แล้วในตอนนี้หรือแม้แต่ในอนาคต” นิธิกรยืนยัน

ด้าน ผศ.ดร. ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวสรุปทิ้งท้ายถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อป้องกันภัยพิบัติ ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“การให้ความช่วยเหลือที่เป็นเทคโนโลยี เหมาะสมที่จะลงทุน แต่จุดเริ่มต้นต้องหยุดถามคำถามว่า ลงทุนแล้วจะได้ผลกลับมาแค่ไหน เรื่องเทคโนโลยีไม่เป็นปัญหา เพราะมีความเป็นสากล มีหนทางนำมาพัฒนา เพื่อให้เรารู้เท่าทันความเสี่ยงที่มีและจัดการให้ได้ ถ้าทุกภาคส่วนขยับ ก็จะมีการวิจัยและพัฒนาตามมาอีกมาก ถ้ารัฐทำไม่ได้ก็ต้องออกใบอนุญาตให้ภาคส่วนอื่นทำ และให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลรวมทั้งส่งเสริมให้รู้รอบตัวมากขึ้น เพราะสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องทำให้ระบบป้องกันหรือเตือนภัยเกิดขึ้นจริง เพราะความปลอดภัยเป็นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ฉะนั้นหากไม่เริ่มจากทำให้สังคมปลอดภัยก็หยุดพูดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปได้เลย”

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับเทคโนโลยีเชิงลึก เปิดประตูสู่โลกนวัตกรรมแห่งอนาคต ที่จะมาขับเคลื่อนประเทศไทยในงาน ‘STARTUP X INNOVATION THAILAND EXPO 2021’ ที่รวบรวมนวัตกรรมด้านเทคโนโลยียิ่งใหญ่แห่งปี จัดขึ้นในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual Event) ระหว่างวันที่ 15-18 กันยายน 2564 นี้ ฟรี !! ไม่มีค่าใช้จ่าย

รายละเอียดงานเพิ่มเติมได้ที่ https://site.nia.or.th

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ