fbpx

‘Course Square’ ผู้ปฏิวัติการเรียนรู้คอร์สออนไลน์ไทย

Online Learning เป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี 1992 จากการเรียนออนไลน์ The Educational Technology Leadership Program (ETL) ของ The George Washington University ก่อนจะได้รับความนิยมแพร่หลายในปี 2013 ที่มีอัตราการเติบโตกว่า 30% (เมื่อเทียบกับปี 2000)

หนึ่งปีต่อมา สตาร์ทอัพไทยรายหนึ่งได้นำแนวคิดการเรียนออนไลน์ ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในฝั่งตะวันตก มาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มการเรียนการสอนออนไลน์ฝีมือคนไทยในชื่อ ‘Course Square’ โดยหวังให้ทุกคนเข้าถึงคอร์สเรียนต่างๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา

ด้วยแนวคิดที่น่าสนใจ ที่จะช่วยให้คนทั่วไปเข้าถึงการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับ 7 ปีก่อน ในยุคที่พฤติกรรมการเรียนออนไลน์ไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก

หากเปรียบ Course Square เป็นภาพยนตร์สั้น ก็อาจฉายให้เห็นเรื่องราวเบื้องหลังแพลตฟอร์มของคนไทยที่ค่อยๆ เติบโต เริ่มต้นด้วยอุปสรรคขวากหนาม การลองผิดลองถูก ความทุ่มเทพยายาม ก่อนจะค้นพบทางของตัวเอง จนถึงวันที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง

GM Live จะชวนไปทำความรู้จักเส้นทางแห่งความสำเร็จ ผ่านคำบอกเล่าของ อัคคสิทธิ์ ตรุงกานนท์ Chief Technology Officer (CTO) หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Course Square

สตาร์ทอัพยุคบุกเบิกคอร์สเรียนออนไลน์ไทย

7 ปีที่แล้วในปี 2014 ในยุคเริ่มแรกของวงการสตาร์ทอัพไทย Couse Square เริ่มต้นนับหนึ่งจากแพลตฟอร์ม ‘ตลาดคอร์สเรียนออนไลน์’ หากแต่วันนี้ Course Square พาตัวเองมาไกลกว่านั้น ด้วยการเป็นพื้นที่ซึ่งเปิดกว้างสู่โลกแห่งการเรียนรู้สำหรับนักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงบุคคลทั่วไป ที่ต้องการพัฒนาความรู้ความสามารถของตัวเอง

“จุดเริ่มต้นของ Course Square มาจากไอเดียของผู้ร่วมก่อตั้ง ที่เกิดจากการมองเห็นปัญหาของการศึกษาไทยที่ยังจำกัดอยู่แต่ในห้องเรียน ขณะที่ต่างประเทศเริ่มเปิดคอร์สสอนออนไลน์มากขึ้น ในฐานะที่เราอยู่ในแวดวงการศึกษาและเทคโนโลยีจึงชวนกันสร้างแพลตฟอร์มใหม่ที่เปิดสอนออนไลน์โดยเฉพาะ ปีแรกๆ ตั้งโจทย์กันหลายข้อมากแต่ไม่เวิร์ค เราใช้เวลาเกือบสองปี จึงค้นหาแนวทางของตัวเองเจอ”

อุปสรรคในช่วงแรกเกิดจากความพยายามของผู้ก่อตั้งทั้ง 4 คน ได้แก่ อังคสิทธิ์ ตรุงกานนท์, อดิศร วิเชียรเจริญ, ณัฐพล วัชรศิริสุข และ ณัฐนรี ตรณโนภาส โดยตั้งธงว่าจะทำหน้าที่เป็นทั้งนักพัฒนาซอฟต์แวร์ นักผลิตคอนเทนต์ และนักการตลาด ควบรวมทั้งหมดในเวลาเดียวกัน แต่กลับไม่สามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติ จึงต้องปรับกลยุทธ์และโมเดลธุรกิจใหม่ เพื่อค้นหาโซลูชั่นที่ลงตัว จนท้ายสุดจึงตัดสินใจยกบทบาท ‘ผู้สอน’ หรือนักผลิตคอนเทนต์ให้เป็นหน้าที่ของอาจารย์ประจำสถาบันกวดวิชาต่างๆ ที่มีชื่อเสียงในเมืองไทย

“ความที่เราเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เลยอยากผลิตคอนเทนต์เอง แต่ถึงจุดหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า เราควรเป็น ‘ผู้สร้าง’ มากกว่า ‘ผู้สอน’ เราจึงใช้เวลาค้นหาผู้ผลิตคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์นานมาก เพราะต้องการคนที่ผลิตเป็นซีรีส์ แทนที่จะเป็นคอร์สสั้นๆ จนสุดท้ายมาลงตัวกับสถาบันกวดวิชา เพราะเรามองว่าการสอนออนไลน์สามารถช่วยขยายฐานลูกค้าของสถาบันกวดวิชาและติวเตอร์ต่างๆ ให้ไปได้ทั่วประเทศ” 

“แต่ช่วงนั้นการสอนออนไลน์เป็นเรื่องใหม่มากในเมืองไทย อาจารย์หลายท่านกังวลว่าจะอาจเกิดปัญหาหลายอย่างตามมา ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอหลุด การแชร์โดยไม่ได้รับอนุญาต กังวลเรื่องลิขสิทธิ์ต่างๆ เราจึงพัฒนาระบบหลังบ้านเพื่อแก้ Pain Point ด้านความปลอดภัย ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า และสุดท้ายด้วยความเป็นมืออาชีพของผู้ผลิตคอนเทนต์จากสถาบันกวดวิชาเอง บวกกับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ จึงทำให้ Course Square เดินหน้าต่อได้และเริ่มมีคนเข้ามาใช้บริการเรื่อยๆ”

ค้นพบโมเดลที่ ‘ใช่’ สู่ผู้อยู่เบื้องหลังการวางระบบคอร์สเรียน-อบรมออนไลน์ 

คงไม่ผิดนักหากกล่าวว่า Course Square เป็นผู้บุกเบิกและเป็นผู้ทำให้การเรียนรูปแบบออนไลน์กลายเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ในเมืองไทย โดยปัจจุบันโซลูชั่นนี้ใช้ชื่อว่า ‘Course Square Mine’ ที่นอกจากมาช่วยสร้างเว็บไซต์และวางระบบคอร์สเรียนออนไลน์ให้กับสถาบันกวดวิชาแล้ว ยังช่วยให้ผู้เรียนประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพิ่มความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา แถมยังเรียนซ้ำได้เรื่อยๆ

ในขณะที่วิทยากรหรืออาจารย์ผู้สอนก็สามารถบันทึกวิดีโอครั้งเดียวโดยไม่ต้องทำการสอนซ้ำไปมา และสามารถอัพเดตความรู้ใหม่ด้วยการอัปโหลดวิดีโอขึ้นไปได้อย่างรวดเร็ว จึงตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนและผู้สอนกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีอยู่แล้ว 

ปัจจุบัน Course Square Mine ไม่เพียงมีฐานลูกค้าเป็นสถาบันกวดวิชาเท่านั้น แต่มาไกลถึงการสร้างระบบอบรมออนไลน์สำหรับหน่วยงาน องค์กร เพื่อช่วยยกระดับการอบรมในองค์กรด้วย 

หลังจากสั่งสมประสบการณ์มาหลายปี Course Square พัฒนาคุณสมบัติเด่นมาเรื่อยๆ เพื่อตอบโจทย์การฝึกอบรมออนไลน์ในระดับองค์กรถึง 7 ประการ ได้แก่ ‘Flexibility’ ความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนฟีเจอร์ต่างๆ ให้เหมาะกับแต่ละองค์กร ‘Local Language’ การใช้งานภาษาไทยทำให้ผู้เรียนเข้าใจง่าย ‘Report’ สามารถจัดทำรายงานและผลการสอบในทันที ‘OEM/ License’ องค์กรขนาดใหญ่สามารถนำแพลตฟอร์มไปทำ OEM ได้ ‘Consulting’ ให้คำปรึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการขององค์กร ‘Security’ การพัฒนาระบบที่ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ‘Role-Based Access’ การจำกัดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลตามหน้าที่ และ ‘Policy’ สามารถกำหนดเงื่อนไขในการออกเกรด ประกาศนียบัตร หรือรูปแบบอื่นๆ ได้ตามความต้องการ

“จุดแข็งของ Course Square คือ เราสามารถพัฒนาระบบเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าแบบเฉพาะตัว เพราะเราเข้าใจว่าแต่ละองค์กรมีความต้องการและรายละเอียดที่แตกต่างกัน และเราก็มีทีมการตลาดและผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ (Content Creator) มืออาชีพที่จะแบ่งปันมุมมองและไอเดียต่างๆ แก่องค์กร”

“ตอนนี้หลายๆ องค์กรหันมาใช้การฝึกอบรมออนไลน์มากขึ้น อย่างบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งที่ร่วมงานกับเรามากว่าสามปี ซึ่งเป็นองค์กรที่มีพนักงานทั่วประเทศและมีผลิตภัณฑ์ใหม่อยู่เสมอ จึงจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมอยู่เรื่อยๆ จากเมื่อก่อนที่ต้องส่งพนักงานมาฝึกอบรมที่สำนักงานใหญ่ เมื่อเราพัฒนาระบบฝึกอบรมทางออนไลน์สำหรับองค์กร จึงทำให้เขาสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถวัดผลการสอบประเมินของพนักงานหลังบ้านได้ด้วย”

ลุยสนาม ‘Online Training’ เสิร์ฟคอร์สอบรมระดับองค์กร 

หลังจากเริ่มจับทางตลาดได้ มีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจนมากขึ้น Course Square ไม่หยุดอยู่แค่ตลาดคอร์สเรียนออนไลน์ แต่มองหาช่องทางใหม่ๆ และกล้าลองผิดลองถูก แม้จะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ไม่แน่นอนอย่างวิกฤตโควิด-19 ทีมผู้ก่อตั้งก็ยังนำร่องบริการใหม่ที่เรียกว่า ‘Course Square Selection’ คอร์สที่คัดสรรมาแล้วจาก Course Square โดยเป็นการผลิตคอนเทนต์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อมาเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรชั้นนำของไทยด้านการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพของทีมงาน จนถึงพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ 

Course Square Selection จะต่างจาก Course Square Mine ตรงที่ Mine เป็นบริการวางระบบเว็บไซต์คอร์สเรียนออนไลน์ โดยที่สถาบันกวดวิชา ติวเตอร์ หรือองค์กรจะมีคอนเทนต์ของตัวเองอยู่แล้ว แต่ Selection จะเหมาะกับองค์กรที่ต้องการการฝึกอบรม แต่ ‘ไม่มี’ หรือ ‘ไม่รู้’ ว่าจะหาคอนเทนต์หรือผู้เชี่ยวชาญจากไหนเพื่อสอน ดังนั้น Selection จะเป็นการเสิร์ฟคอนเทนต์ที่เหมาะกับวัตถุประสงค์ในการอบรมขององค์กร 

“เราโฟกัสการผลิตคอนเทนต์เพื่อพัฒนาทักษะสำหรับคนทำงาน จะเห็นได้จากหน้าเว็บไซต์ที่เรียกว่า ‘Selection’ จะเจาะกลุ่มเป้าหมายวัยทำงานที่อยากพัฒนาทักษะของตัวเอง รวมถึงองค์กรต่างๆ ที่อยากพัฒนาทักษะและศักยภาพของบุคลากร”

“ในส่วน ‘Selection’ เพิ่งเปิดตัวมาเมื่อต้นปี 2021 จริงๆ เป็นบริการที่ตั้งใจจะทำนานแล้ว แต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาเป็นตัวเร่ง โมเดลนี้ยังอยู่ในช่วงนำร่อง โดยเรามีคอนเทนต์ที่คัดสรรมาแล้วอยู่ในระบบของเรา เมื่อองค์กรต้องการจะอบรมหัวข้ออะไร เราก็จะคัดเลือกและออกแบบเนื้อหามาให้เพื่อตอบโจทย์”   

ไม่หยุดยั้งพัฒนาตัวเองยกระดับการเรียนออนไลน์ของไทย

แม้แพลตฟอร์มออนไลน์จะเป็นธุรกิจที่ได้เปรียบในยุคการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ ‘ผู้นำ’ อาจพลิกเป็น ‘ผู้ตาม’ เมื่อไหร่ก็ได้หากย่ำอยู่กับที ยิ่งธุรกิจการเรียนรู้ยุค 4.0 เป็นโลกไร้พรมแดน คู่แข่งของ Course Square จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่รวมไปถึงแพลตฟอร์มต่างชาติด้วย ทำให้ Course Square ต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับภายในปีนี้พร้อมสร้างแรงกระเพื่อมให้วงการการเรียนการสอนออนไลน์ของประเทศไทยให้ทัดเทียมต่างประเทศมากขึ้น ด้วยฟีเจอร์ใหม่ที่จะมาขยายฐานไปยังกลุ่มผู้เรียนที่ต้องอาศัยการเก็บชั่วโมงเรียนหรือสอบเพื่อนำไปต่อใบอนุญาต

“ทุกวันนี้ ทุกคน ทุกหน่วยงานมีแอปพลิเคชันใช้หมด แต่ 80% เป็นแอปพลิเคชันต่างประเทศ หากภาครัฐหันมาสนับสนุนแพลตฟอร์มคนไทย ใช้ Ecosystem ของคนไทย จะช่วยให้คนไทยได้พัฒนาศักยภาพและส่งเสริม Ecosystem ให้กับสตาร์ทอัพไทยได้เติบโตไปข้างหน้า สุดท้ายเมื่อสตาร์ทอัพไทยประสบความสำเร็จก็จะเสียภาษีกลับคืนให้ภาครัฐเช่นกัน” อังคสิทธิ์ให้มุมมองจาก ‘สตาร์ทอัพ’ ถึง ‘ภาครัฐ’ หากต้องการส่งเสริมให้แพลตฟอร์มไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

กว่าจะเป็นอย่างวันนี้ของ Course Square ผ่านบทพิสูจน์และเผชิญกับอุปสรรคมากมาย แต่กำลังใจหลักที่ส่งให้ทีมผู้ก่อตั้งทั้ง 4 ยังเดินหน้าต่อได้ เกิดจากความมุ่งมั่น ไม่ปล่อยโอกาสให้ผ่านไป จนเมื่อสิ่งที่ทุ่มเทเริ่มออกดอกผล จึงเป็นตัวจุดประกายให้เดินหน้าต่อได้

“เบื้องหลังพวกเราทั้ง 4 คนมาจากฝั่งเทคโนโลยีและการศึกษา ทำให้มีความสุขกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และเราต้องการสร้างอะไรขึ้นมาสักอย่างเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้ดีขึ้น เราวางตัวเองเป็นผู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่บนโลกออนไลน์”

“อย่างที่บอกทุกวันนี้ ไทยใช้แอปพลิเคชันต่างประเทศเกือบทั้งหมด เราจึงต้องการเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่จะพัฒนาเทคโนโลยีฝีมือคนไทย ให้คนไทยได้พิสูจน์ศักยภาพของตัวเองด้วย”

สิ้นการสนทนา คงสะท้อนให้เห็นแล้วว่า สตาร์ทอัพสัญชาติไทยอย่าง ‘Course Square’ จะไม่หยุดขยายโลกแห่งเรียนรู้ไว้แค่นี้แน่นอน

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ