Baiya แพลตฟอร์มเทคโนโลยีการแพทย์ ยกระดับสุขภาพและชีวิตคนไทย
ใบยา ไฟโตฟาร์มเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ Deep Tech สัญชาติไทยที่ก่อตั้งมาเป็นเวลาเกือบห้าปีแล้ว ก่อนการระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้น จากการพัฒนาต่อยอดงานวิจัย CU Innovation Hub ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างสรรค์เทคโนโลยีทางการแพทย์โดยใช้พืชเป็นแหล่งผลิต ‘รีคอมบิแนนท์โปรตีน (Recombinant Protein)’ ให้บริการด้านการวิจัย และพัฒนาผลิตเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ และผลิตยารักษาโรค กระทั่งมาถึงการคิดค้นวิจัยวัคซีนโควิดและล่าสุดกับชุดตรวจคัดกรองโรคโควิด Baiya Rapid Covid-19 IgG/IgM Test kit™ ซึ่งใช้เทคโนโลยี Baiyapharming พัฒนาโปรตีนของไวรัส SAR-CoV-2 สำหรับใช้ในโครงการวิจัย ในโรงพยาบาล และสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ นับเป็นความภูมิใจของวงการแพทย์ไทยอย่างแท้จริง
“Co-founder ในบริษัทมีสองท่านนะคะ คือรองศาสตราจารย์ ดร.วรัญญู พูลเจริญ ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ตัวดิฉันเองซึ่งจบปริญญาตรีจากเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบปริญญาโทกับปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ทำงานวิจัยเชิงนโยบายเกี่ยวกับเรื่องราคายามานาน แล้วส่วนตัวเองก็เป็นแม่มีลูกนะคะ ไปเรียนที่ต่างประเทศจริงๆ ก็ไม่ได้อยากกลับมาเมืองไทย แต่กลับมาด้วยเหตุผลส่วนตัว พอกลับมาเมืองไทยก็รู้สึกว่าประเทศนี้แห้งแล้ง เติบโตไม่ได้ แต่อย่าลืมว่า ประเทศไม่เปลี่ยนได้ด้วยคนที่พูดหรอกค่ะ แต่เปลี่ยนได้ด้วยคนที่ลงมือทำ ซึ่งจริงๆ เราก็ไม่ได้เป็นคนเก่งอะไร คิดแต่เพียงว่า ถ้าเราทำสิ่งที่ตั้งใจสำเร็จก็น่าจะทำให้ประเทศเราดีขึ้น”
ใบยา
ชื่อที่แสนเรียบง่ายผลิตสิ่งที่เป็นปัจจัยสี่พื้นฐานในการดำรงชีวิต แต่สิ่งที่ใบยาทำคือการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความซับซ้อน ไม่ใช่ใครก็ทำได้เพราะต้องผ่านการค้นคว้า คิดค้น ทดลองครั้งแล้วครั้งเล่า จนเกิดเป็นนวัตกรรมที่ยากต่อการเลียนแบบ
“เราเป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ผลิตรีคอมบิแนนท์โปรตีนโดยการใช้พืช ซึ่งกระบวนการในการทำยา ประเทศไทยยังไม่เคยมีคนทำ ประเทศอื่นเขาทำได้ เราก็ควรจะทำได้ เหตุผลที่ก่อตั้งบริษัทขึ้นมา ประการแรกเพราะรู้สึกว่าประเทศไทยเรามีปัญหาเรื่องของการเข้าถึงยา โดยเฉพาะยาราคาแพง เราผลิตเองไม่ได้ เราต้องนำเข้า แล้วเราก็ไม่มีอำนาจในการต่อรอง ประการที่สอง ดิฉันเองสอนหนังสืออยู่ในคณะเภสัชศาสตร์ เราฝึกฝนเด็กปริญญาโท ปริญญาเอก นักวิจัยจำนวนมาก แต่มองไม่เห็น Career Path ของบัณฑิตที่เราผลิตออกมา หรือทำงานก็ได้เงินเดือนน้อย เราอยากให้ประเทศขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่คนทำงานวิจัยแล้วได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม และประการสุดท้าย เราเป็นอาจารย์แล้วบางครั้งเราต้องไปสอนนักศึกษาในเรื่องที่เราเองไม่เคยทำ เคยทำงานวิจัยเพื่อเอาไปตีพิมพ์ แต่ไม่ได้วิจัยเพื่อนำไปพัฒนาให้เกิดขึ้นจริง พอถึงเวลาที่ทำวิจัยเสร็จแล้วเด็กถามว่าแล้วหลังจากนั้นทำอย่างไรต่อ เราก็ไม่มีทางออกให้เด็ก”
ลองผิดลองถูกจนถูกทาง
ไม่มีใครรู้ว่าวันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยเฉพาะเมื่อเป็นการค้นคว้าทดลองด้านวิทยาศาสตร์ ไม่มีใครตอบได้ว่า ผลลัพธ์จะตรงกับสมมติฐานไหม เช่นเดียวกับการทำธุรกิจ ต่างก็ต้องลองผิดลองถูก ทำไปเรื่อยๆ ก่อนจะรู้ว่าทางไหนถูกหรือผิด
“ถามว่ารู้ไหมว่ามาถูกทาง ธุรกิจก็ต้องลองผิดลองถูกนะคะ เราไม่ได้แน่ใจขนาดนั้น แต่เมื่อลองแล้วผลลัพธ์โอเค มีการวางแผน มีเป้าหมาย ก็ไปต่อ ในมุมของการวิจัยเองนั้นมีหลักการวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์อยู่แล้วว่าสิ่งที่เราทำนั้นทำได้หรือไม่ เพราะสิ่งที่เราทำนั้นไม่ได้ทำคนเดียวในนะคะ ถ้าถามว่าจุดเปลี่ยนคืออะไรที่ทำให้รู้ว่ามาถูกทาง ก็คือทำไปเรื่อยๆ ค่ะ ทำก่อนถึงรู้ว่าทำแบบไหนถูก แบบไหนไม่น่าเวิร์คก็เปลี่ยน อย่างเวลาเราเล่าให้นักลงทุนในต่างประเทศฟัง เราก็จะบอกว่า Key Milestone ที่ผ่านมาเราระดมทุนไปทั้งหมด 15 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ มีทั้งรัฐบาล มีทั้งหน่วยงานอย่าง NIA ให้ทุนมา ซึ่งตรงนี้เราใช้เวลาทั้งหมด 4 ปี ถามว่าเรามาถูกทางไหม…ก็คงถูก แล้วเร็วไหม…ก็คงเร็วนะคะ”
ความล้มเหลวเป็นเรื่องจำเป็น
ทุกคนรู้ดีว่า ไม่มีใครเกิดมาแล้วประสบความสำเร็จทันที แต่น่าแปลกใจที่คนส่วนใหญ่มองข้ามความจริงที่ว่า “ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางความสำเร็จ” เมื่อเห็นใครผิดพลาด ล้มเหลว พวกเขาจึงเชื่อไปก่อนแล้วว่า ถ้าล้มเหลวก็แปลว่ายากที่จะประสบความสำเร็จ
“อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดคือ ความเชื่อของคนค่ะ อย่างเราอยากทำนวัตกรรม เราก็ต้องการความมั่นคง ต้องการความแน่นอน ต้องการการตัดสินใจที่ไม่ผิดพลาด เอาเข้าจริงนวัตกรรมไม่มีหรอกค่ะ มีแต่การเรียนรู้ การทำทุกอย่างย่อมมีความเสี่ยง นวัตกรรมเองก็มาพร้อมความเสี่ยงอยู่แล้ว เป็นความจริงที่ทุกคนทราบดี เราแค่ต้องเปลี่ยนความเชื่อ ต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดให้ได้ เหมือนที่ใบยาเรามี เราไม่ค่อยกลัวคนทำอะไรผิด เรารู้สึกว่าการที่มีคนทำผิดแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นสมมติว่า มีคนเทน้ำแล้วทำให้อ่างเป็นรอย คำถามคือ ใครเทอะไรลงไป เราไม่ได้เรียกมาต่อว่านะคะ เราแค่จะเรียนรู้จากสิ่งนั้นว่าครั้งหน้าแสดงว่าเราไม่ควรจะเทสิ่งนั้นลงไปอีก เป็นการแชร์ความรู้กัน เรามีวัฒนธรรมว่าเราไม่ได้กลัวความผิดพลาด อย่าลืมนะคะว่า Failure is compulsory.”
สิ่งที่ควรชัดเจนที่สุด
แม้ว่าปัจจัยสำคัญต่อการประสบความสำเร็จไม่ว่าจะในเชิงธุรกิจหรือการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ก็ตามคือ
การลงมือทำ แต่สตาร์ทอัพทุกคนควรจะรู้ดีกว่าก่อนลงมือทำนั้น ยังมีปัจจัยที่สำคัญกว่า
“ถ้าไม่มีเป้าหมายไม่ต้องทำนะคะ คืออย่างใบยาเราเอง วัคซีนโควิดเป็นแค่วิธีการที่ทำให้เราไปถึงเป้าหมายที่เราต้องการ ตอนแรกคนก็โฟกัสว่าเราทำแต่วัคซีนหรือปล่า วัคซีนเป็นแค่เป้าหมายเดียว เราเองก็ต้องถามตัวเองว่า เป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร เราไม่ได้อยากได้ชื่อเสียง แต่เราอยากให้คนไทยมีเงิน มีรายได้ อยากให้นักวิทยาศาสตร์หรือจริงๆ ใครก็ตามที่ทำอะไรที่มีคุณค่าก็ควรได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม อยากให้คนไทย ลืมตาอ้าปากได้ มีเทคโนโลยีที่ดีใช้ มีบริษัทยาเป็นของตัวเอง หลังจากนั้นแล้วเราก็ค่อยหาหนทางไปให้ถึงเป้าหมายที่เราวางไว้”
รายละเอียดเพิ่มเติม :
https://www.facebook.com/BaiyaPhytopharm/
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)