Altotech เทคโนโลยี AI อัจฉริยะเพื่อการใช้พลังงานในอาคารอย่างคุ้มค่า
“It is much better to know something about everything than to know everything about one thing” คำกล่าวนี้ของแบลซ ปัสกาล ผู้ที่เป็นทั้งนักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ และนักปรัชญาคงอธิบายได้ดีที่สุดถึงตัวตนของ ดร.วโรดม คำแผ่นชัย ผู้คิดค้นเทคโนโลยี Altotech นวัตกรรมใหม่เพื่อช่วยจัดการการใช้พลังงานในอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งช่วยลดค่าไฟฟ้าได้มากถึง 30%
เขาจบดุษฎีบัณฑิตด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค แต่นั่นไม่ใช่ที่มาขององค์ความรู้ทั้งหมดและประสบการณ์ที่ทำให้เขาได้รับการยอมรับในวงการพลังงาน แต่เพราะเขาเลือกเดินบนเส้นทางของพลังงานไฟฟ้ามาตั้งแต่เยาว์วัย สั่งสมองค์ความรู้จากทั้งตำราเรียน และประสบการณ์ในการลงมือทำจริง เรียกได้ว่า เขาเลือกที่จะรู้กระจ่างเพียงอย่างเดียวแต่รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับสิ่งนั้น ทุ่มเทชีวิตและเวลาจนกระทั่งกลายเป็นความเชี่ยวชาญและสามารถทำสิ่งนั้นได้ดีอย่างที่สุด
“ชีวิตผมผูกพันกับพลังงานไฟฟ้ามาตั้งแต่อายุ 15 ปริญญาตรีเรียนจบวิศวกรรมไฟฟ้า ปริญญาโทเรียนด้านพลังงาน ปริญญาเอกก็เรียนเกี่ยวกับวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์
มีความสนใจเรื่องนวัตกรรม เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่อง Global warming ทุกคนอยากจะไป Net Zero เราก็คิดว่าจริงๆ แล้วทุกอย่างบนโลกต่อไปจะต้องถูกไดรฟ์ด้วยเรื่องของ Coding เรื่องของ Digital ก็เลยเป็นที่มาว่าทำไมถึงอยากพัฒนาซอฟท์แวร์เพื่อมาจัดการระบบพลังงานของโรงแรม
เหตุผลที่เลือกเจาะจงด้านตัวอาคารเพราะผมได้โจทย์จากทางกระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกาตอนทำปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทคว่า ตอนปี 2011 อาคารประมาณ 90% ที่เป็นอาคารขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วอเมริกาไม่มีระบบจัดการพลังงาน มีแค่อาคาร 10% เท่านั้นที่เป็นอาคารขนาดใหญ่ซึ่งมีระบบจัดการพลังงาน ผมได้ทำโปรเจคขึ้นแล้วนำเข้าไปแข่งขันกับมหาวิทยาลัย 16 แห่งในอเมริกา แล้วได้รับรางวัลชนะเลิศด้านการพัฒนาตัวแพลตฟอร์มจัดการพลังงานสำหรับอาคารขนาดกลางขนาดเล็ก ก็เลยเป็นที่มาว่าเราได้โจทย์มันชัดเจนมาก ตึกทุกตึกไม่ว่าจะเป็นอาคารใหญ่หรือว่าอาคารขนาดกลาง ก็จะต้องใช้คนในการมอนิเตอร์ ควบคุม แต่หน้าที่ของคนส่วนใหญ่คือเป็นการตั้งค่าให้เครื่องทำงานตามปกติ แต่ด้วยข้อมูลที่มันเยอะมากๆ คนไม่สามารถมองฟ้าได้ตลอดว่าตอนนี้ ฝนกำลังจะตกนะ ตอนนี้แดดกำลังออกนะ ทำให้คนที่เฝ้าเครื่องก็ไม่ได้สามารถที่จะจัดการการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็เลยเป็นที่มาของ Altotech ”
ศรัทธาและความน่าเชื่อถือคือกุญแจสู่ประตูทุกบาน
ในสนามของการทดลอง เมื่อผิดพลาดอาจเริ่มใหม่ได้ แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องเดินหน้าและกระโจนลงไปในสนามแข่งขันทางธุรกิจ ความท้าทายที่สุดของน้องใหม่ในสนามแข่งจริงคือการสร้างความน่าเชื่อถือ เมื่อศรัทธาเกิด ธุรกิจจึงเกิด พร้อมเดินหน้าและแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าในทุกโจทย์ที่ท้าทาย
“เป้าหมายของเราคือการสร้างแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์จากเจ้าไหนก็ได้ เพราะฉะนั้น คำว่าเจ้าไหนก็ได้ถือเป็น Challenge ของเรา ในตอนที่เริ่มทำสตาร์ทอัพใหม่ๆ เราเป็นบริษัทเล็กๆ มีพนักงานแค่ 3-4 คน การที่เราจะไปคุยกับบริษัทใหญ่ค่อนข้างยาก หนึ่ง เราต้องแก้ปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ เรื่องของความสามารถ ทำไมเขาถึงต้องเชื่อเรา ทำไมเขาถึงต้องให้เราเข้าไป Integrate กับอุปกรณ์ของเขาซึ่งมีราคาหลักหมื่นหลักแสน หรืออาคารที่เราจะเข้าไปควบคุม มูลค่าเป็นร้อยล้านพันล้าน ทำไมเขาต้องเลือกเรา ดังนั้น เรื่องของ Trust, Know-how และ Reliability เป็นความท้าทายที่เราต้องแก้ไขให้ได้เป็นอันดับแรก
ผมใช้วิธีสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการบอกเล่าถึง Know-How ที่ผมมีว่าก่อนที่จะมาทำ สตาร์ทอัพผมได้ทำงานมาประมาณ 10 ปี เริ่มทำ IOT ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2011 ผมเปิดบริษัทเมื่อปี 2019 ก็นับเป็นเวลา 8 ปีที่เราพิสูจน์ตัวเองด้วยโปรไฟล์ตัวเองก่อน ตั้งแต่หนึ่ง การนำเสนอถึงวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของผมชนะเลิศอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา สอง การทำงานที่ซิลิคอนวัลเลย์เพื่อสะสมประสบการณ์ สาม ประสบการณ์การทำงานที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อสะสมโปรไฟล์ คอนเนคชั่น ถึงแม้เราจะใหม่ในแวดวงธุรกิจ แต่เราไม่ได้ใหม่ในอุตสาหกรรม”
โลกอนาคตคือโลกของการประหยัดพลังงาน
หากถามทุกคนว่า ใครต้องการลดค่าไฟบ้างขอให้ยกมือขึ้น คงไม่มีใครไม่ยกมือ แต่หากถามว่า แล้วใครที่จะมาช่วยทำให้ค่าไฟลดลงได้บ้าง จะมีสักกี่คนที่กล้ายืดอกและตอบอย่างภาคภูมิใจว่า เขาทำได้ แต่ดูเหมือนว่า Altotech กำลังก้าวเข้าสู่ความสำเร็จและความภาคภูมิใจที่จะบอกสังคมและองค์กรในประเทศไทยว่า การประหยัดพลังงานเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ล่าสุดนี้กับรางวัลชนะเลิศจากกิจกรรม NIA Interventions Testing Program บวกรวมกับความตั้งใจที่ทีมงาน Altotech ไม่เคยหยุดการพัฒนาเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
“Altotech ค่อนข้างมั่นใจใน Solution ที่เรามี ถ้าถามว่าเราทำอะไร อธิบายง่ายๆ ให้เห็นภาพ เราทำระบบที่เรียกว่า Self-Drive ถ้าเป็นรถยนต์ก็คือรถยนต์ที่ขับรถได้เอง รถคือการขับจาก A ไป B ให้ปลอดภัยรวดเร็วประหยัดเชื้อเพลิงที่สุด แต่ว่าของเราก็คือ Self-Drive ให้กับอาคารอสังหาฯต่างๆ เพื่อให้เกิดการประหยัดเชื้อเพลิงมากที่สุด เกิด Carbon Footprint ต่ำที่สุด เข้าใกล้ Net Zero มากที่สุด ถ้าเราทำรถยนต์เราต้องการผลิตรถยนต์ที่ไม่มีพวงมาลัยและไม่มีคันเร่ง แต่เราทำในส่วนของอาคาร เพราะในวันหนึ่งเราต้องการผลักดันให้อาคารเป็น Unman ได้ ทุกอย่างออฟติไมซ์โดย AI แล้ววันนี้เราไปถึงหรือยัง เรายังไปไม่ถึงหรอก แต่ว่าเรากำลังทำระบบที่ค่อยๆ ไต่ระดับไปเรื่อยๆ จาก Level 1-5
Level 1 เป็นเรื่องของการควบคุุมเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเครื่องปรับอากาศแบบออโต้ สามารถควบคุมแต่ละจุดของอาคารให้เกิดการประหยัดพลังงานได้
Level 2 เริ่มที่จะสามารถควบคุมสองสิ่งพร้อมกันได้ เช่น การควบคุมเครื่องปรับอากาศ สามารถปรับอุณภูมิได้ สั่งปิดระบบการทำงานได้ หรือควบคุมอุปกรณ์อื่นๆ ได้บ้าง
Level 3 ควบคุมได้หลากหลายอุปกรณ์มากขึ้น เริ่ม Automate เองได้ แต่ยังต้องมีคนคอยเฝ้าระวังและดูแลอยู่บ้าง เช่น มีแผงโซล่าร์ มีการเติมอากาศเข้าเครื่องปรับอากาศ
Level 4 สามารถ automate เองได้โดยที่คนไม่ต้องคอยเฝ้าระวัง แต่อาจจะต้องมีคนคอยดูแลในบางสถานการณ์ที่ เช่น ถ้าวันที่แดดออกทำงานได้ดีมากเลย แต่วันที่พายุเข้าฝนตก ทำไม่ได้ ต้องยังใช้คนมาควบคุมแก้ไข
Level 5 ตัดคนออกไปได้เลย ระบบสามารถ Automate และหากเกิดการ Error ก็สามารถเปลี่ยนการตั้งค่าของตัวเอง ถ้าเป็นรถยนต์ ระดับนี้คือ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนก็สามารถแก้ไขได้ เช่น ไปเจอถนนน้ำท่วมก็สามารถที่จะหาทางไปเองได้”
ยอมรับความเปลี่ยนแปลง เอาชนะทุกวิกฤติ วิธีคิดของคนที่อยู่รอด
ความสามารถในการจัดการพลังงานเป็นคนละขั้วกับความสามารถในการจัดการธุรกิจ แต่ทันทีที่ก้าวเข้าสู่สนามของการเป็นสตาร์ทอัพ ดร.วโรดมบอกตัวเองว่า เขาต้องสามารถจัดการกับทุกปัญหาได้ เขาไม่ได้มองที่เป้าหมายเท่านั้น แต่เพราะเขาเลือกที่จะมองไปรอบๆ ตัวเพื่อที่จะพบว่า ธุรกิจที่เขาทำอยู่นั้นไม่ใช่เรื่องตัวของเขาเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่เขามีคนรอบข้างที่ต้องดูแลรับผิดชอบ และธุรกิจจะแข็งแกร่งขึ้นได้ไม่ใช่จากการวิ่งหนีปัญหาแต่คือการวิ่งเข้าใส่ปัญหาเพื่อค้นหาทางออก
“Altotech เริ่มต้นจากการเป็นบริษัทสตาร์อัพที่รับจัดการเรื่องพลังงานให้โรงแรมเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม ปี 2019 เกิดโรคระบาดโควิดในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2020 โรงแรมทุกโรงแรมในประเทศไทยปิดหมด ไม่มีโรงแรมเท่ากับไม่มีลูกค้า เราไม่สามารถเชื่อมต่อ IOT ในโรงแรมได้ละ เราจึงคิดแก้ปัญหาด้วยการไปทำระบบเชื่อมต่อคน ดูแลบริหารจัดการในส่วนของคนที่เข้ามากักตัว State Quaruntine ซึ่งจะต้องโทรศัพท์ไปรายงานผลอุณหภูมิต่างๆ หรือขอ เราคิดว่าทุกวันตอนแปดโมงเช้า แล้วคน 500 คนพยามจะโทรศัพท์เข้าไปเพื่อขออะไรสักอย่างโรงแรมแย่แน่ จึงได้ทำระบบเพื่อสื่อสารกัน โดยเริ่มต้นจากโรงแรมแถวพระรามเก้า และกระจายไปทั่วกรุงเทพและพัทยา มีคนใช้งานระบบที่เราคิดค้นขึ้นมากว่า 50,000 คน เราทำให้รัฐบาลฟรี แต่บริษัทเราไม่ตายเพราะได้เงินจากทางบริษัทที่เป็นสปอนเซอร์ ทำให้เราผ่านตรงนั้นมาได้ พอสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ก็กลับมาทำธุรกิจที่เป็นหลักของตัวเอง ก็ต้องรู้จักปรับตัวในวันที่ไม่มีลูกค้า
ถามว่าท้อมั้ย เรียกว่าอาจจะท้อไม่ได้ เพราะว่าธุรกิจก็ต้องไป เราก็มีพนักงานในบริษัทที่เราต้องพาเขาไป ให้เขาประสบความสำเร็จให้ได้ ตัวเราเองต้องปรับตัวแล้วก็พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง ข้อนี้นับเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมาก เราเจออะไรเราก็ไม่ตายละ เพราะเราเคยผ่านจุดที่มันแย่ที่สุดมาละ เป็น Turning Point สำคัญสำหรับสตาร์ทอัพด้วยเพราะถ้าทุกอย่างราบรื่นมาตลอด แล้ววันหนึ่งเจอวิกฤติ ก็จะรับไม่ได้ แต่ว่าพอเจอวิกฤติมาก่อน ตัวเราก็จะแข็งแกร่งขึ้น ถ้าไม่เจอวิกฤติก็จะไม่มีวันแข็งแกร่ง”
Business Detail: ALTOTECH แพลตฟอร์มสำหรับการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และจัดการการใช้พลังงานภายในโรงแรมและอาคารได้อย่างอัตโนมัติ ด้วย AI และ IoT
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)