Agnos แอปฯ ที่เป็นหมือนหมอคู่ใจ ปรึกษาได้ 24 ชั่วโมง
แม้การพัฒนาแอปพลิเคชันจะเป็นเรื่องของการใช้ความคิด ความสามารถ แต่ไม่ใช่เพียงความชาญฉลาด ความกล้าเสี่ยง หรือการมีวิสัยทัศน์เท่านั้น ที่จะสร้างสรรค์และขับเคลื่อนธุรกิจให้ไปต่อได้อย่างยาวไกลและยั่งยืน สิ่งสำคัญ ‘หัวใจ’ ที่มองเห็นสิ่งที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าอย่างแท้จริงสำหรับผู้ใช้งาน
และเพราะ ‘หัวใจ’ ของ ดร.ปพนวิช ชัยวัฒโนดม เข้าใจถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ การได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่กำลังมองหาที่พึ่ง และต้องการความช่วยเหลือทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต จึงทำให้เกิดแอปพลิเคชัน Agnos ขึ้นมาประดับวงการ MedTech
“มากกว่า 60 – 70% ของคนไข้ที่เดินทางไปโรงพยาบาล จริงๆ ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลก็ได้ แต่คนไทยยังไม่มีความรู้เพียงพอด้านการดูแลสุขภาพตัวเอง ประกอบกับผมเรียนด้าน Artificial Intelligence (AI) และทำงานด้านนี้มาตั้งแต่สมัยอยู่ต่างประเทศ ได้ทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพ จึงคิดว่าเราน่าจะทำ AI วิเคราะห์โรค ก็เลยไปคุยกับเพื่อนๆ ที่เป็นหมอ ลองขายไอเดียและถามทุกคนว่าจะเป็นไปได้มั้ย แรกๆ ก็ยังไม่ค่อยมีใครเชื่อว่าจะเป็นไปได้ เพราะมันค่อนข้างยาก สุดท้ายพอเราหาข้อมูลและเอาแอปฯ ของต่างประเทศทั้งของเยอรมันและอเมริกามาให้บรรดาหมอๆ ลองใช้ ทุกคนก็เริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ เราก็เลยรวมทีมกัน มีทั้งหมอ ทีมงานด้าน AI ด้านซอฟท์แวร์ ดีเวลลอปเมนต์ เพื่อพัฒนา Agnos ขึ้นมา
และผมมองว่า Health and Wellness มีอะไรให้เล่นเยอะ เสน่ห์ของอุตสาหกรรมนี้ถึงจะช้าแต่เห็น impact ชัดเจน บางเคสเราช่วยคนที่กำลังจะฆ่าตัวตาย เราช่วยคนที่อาจจะหัวใจวายให้ไปโรงพยาบาลได้ทันเวลา ให้เขาได้มีชีวิตอยู่ต่อ เราเห็นว่าเราสามารถช่วยชีวิตคนได้จากแพลตฟอร์มที่เราสร้างขึ้นมา เป็นแรงผลักดันให้เราเดินกันต่อ”
เมื่อคิดจะพัฒนา ต้องไม่มีคำว่าหยุด
แม้เริ่มแรก ดร.ปพนวิชจะเปิดตัว Agnos ว่าด้วยการเป็นแอปพลิเคชันวิเคราะห์โรค เปรียบตัวเองดั่งเพื่อนที่เป็นหมอคอยช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา เกี่ยวกับภาวะสุขภาพ แต่เมื่อได้ลงสนามจริงและเรียนรู้จากผู้ใช้งาน ก็ดูเหมือนว่า Agnos จะไม่หยุดแค่การเป็นเพื่อนคอยรับฟัง แต่จะเป็นเพื่อนที่เข้าอกเข้าใจ ช่วยคิด ช่วยจัดการ และช่วยให้ปัญหาสุขภาพได้รับการแก้ไขในที่สุด
“ตอนแรกเราอยากทำ AI มาวิเคราะห์โรค แต่ว่าตอนนี้ วาง Position ตัวเองว่าเราเหมือนเพื่อนที่เป็นหมอ เหมือนผมที่มีเพื่อนเป็นหมอเยอะๆ ป่วยหรือเป็นอะไรผมก็โทรไปถามเพื่อน โดยที่เพื่อนคนนี้สามารถอยู่กับทุกคนได้ 24 ชั่วโมง แต่ตอนนี้มีการขยายบริการมากขึ้นไม่ได้ดูแค่เรื่องโรคแล้ว ในอนาคตเรากำลังจะขยายไปถึง Care Provider หรือ Service Provider พอวิเคราะห์โรคได้ว่าเป็นอะไร เราอยากให้คุณรู้ว่าควรจะทำอย่างไรต่อ ควรจุะไปโรงพยาบาลดีไหม ไปหาหมอคนไหน หมอเฉพาะทางคนไหนที่จะเหมาะกับอาการ เพราะว่าบางทีอาการที่เกิดที่ตา แต่ว่าอาจจะไม่ใช่ต้องไปหาหมอตาก็ได้
เป้าหมายระยะสั้นต่อจากนี้ เราจะเจาะ Mental Health มากขึ้น เนื่องจากเรามองเห็นเทรนด์ด้วย ตอนนี้เราก็ทำงานร่วมกับกรมสุขภาพจิตอยู่ แล้วเราเห็นว่ามีกลุ่มคนที่เขาไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี ไม่กล้าพูดคุยปัญหากับคนอื่น และคนกลุ่มนี้ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับเป้าหมายระยะยาว เราอยากจะเป็นแพลตฟอร์มในด้าน Health & Wellness เราไม่ได้ต้องการแค่เป็น Marketplace ที่แค่เอาผู้ให้บริการมารวมกันแล้วทุกคนค้นหาบริการ แต่ผมจะให้แอปพลิเคชันตัวนี้เป็นเหมือน Care Navigator คือเป็นคนที่คอยแนะนำว่าถ้าคุณมีอาการแบบนี้ ควรใช้บริการด้านใดจึงจะเหมาะสม เพราะว่าการเลือกผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ จำเป็นต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ต้องพิจารณาหลายอย่าง ไม่เหมือนเลือกซื้ออาหาร เลือกเครื่องสำอางที่ชอบ”
ถนนสายธุรกิจ จำเป็นต้องมีเพื่อนร่วมทาง–ร่วมอุดมการณ์
บนถนนสายธุรกิจ อุปสรรคที่รออยู่ ทำให้การเดินคนเดียวเป็นเรื่องที่ยาก แต่หากมีเพื่อนร่วมทางที่ก้าวไปด้วยกัน ด้วยเป้าหมายและอุดมการณ์เดียวกัน จะทำให้ ถนนทุกสายโดยเฉพาะการทำธุรกิจย่อมอุ่นใจ มั่นใจ และเป็นไปได้มากกว่า โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาที่ต้องแก้และความท้าทายรออยู่
“สเต็ปแรกคือต้องหาคนที่เชื่อมั่นในอุดมการณ์ที่จะทำด้วยกัน หาคนที่เชื่อมั่นว่ามันเป็นไปได้ กับผู้ร่วมก่อตั้ง Agnos เราคุยกันในช่วงแรกๆ เลยว่า ทำตรงนี้อาจจะไม่ได้เงินนะ สองคือต้องใช้เวลาหากไปเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ สามคือหากต้องการสร้างกำไร ข้อนี้ก็เป็นเรื่องยากเหมือนกัน ดังนั้น การที่จะหาคนที่ทั้งเก่งด้วยและมีเป้าหมายเดียวกันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสิ่งที่เราต้องการไม่ใช่แค่เงิน แต่เราอยากจะปรับปรุงด้านการดูแลสุขภาพของคนในประเทศด้วย
เมื่อทำไปได้สักพัก เราก็พยายามขอความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เป็นโรงพยาบาล แต่ก็มีความล่าช้า อย่างตอนแรกเราต้องการเก็บข้อมูลร่วมกับหน่วยงานรัฐ ก็พบว่าประเทศไทยมีความไม่ไว้ใจกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนค่อนข้างเยอะ ภาครัฐก็ไม่ไว้ใจเอกชนกลัวเอาข้อมูลไปทำอะไรที่เขาไม่รู้ เรียกว่าคนมีข้อมูลทำไม่ได้ แต่คนที่ทำได้ไม่มีข้อมูล สิ่งเหล่านี้ก็ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองและเราก็ต้องปรับตัว”
นวัตกรรมที่มีค่า ย่อมมีคนมองเห็นคุณค่า
ไม่ใช่เพียงแอปพลิเคชันที่ให้คุณค่ากับชีวิตมากกว่าแค่การกระโดดก้าวสู่สนามธุรกิจเพื่อสร้างกำไรจากผลิตภัณฑ์และบริการ แต่เป็นนวัตกรรมที่ใช้งานง่ายและใช้งานได้จริง มีการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อประโยชน์ผู้ใช้งานเป็นหลัก จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหาก Agnos จะเคยได้รับรางวัลจากสถาบันทั้งในและต่างประเทศ และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ
“เราได้รางวัลซอฟท์แวร์ดีเด่นแห่งชาติด้าน AI จาก Thailand ICT Awards และเคยเป็นตัวแทนจากประเทศไทยไปแข่งขันที่สิงคโปร์ก็ติด 1 ใน 3 นอกจากนั้น ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ รวมทั้ง NIA ซึ่งถือเป็นผู้สนับสนุนรายแรกๆ ที่ช่วยผลักดันให้ Agnos พัฒนาขึ้นมาได้ ทั้งจากโครงการ YSF-Youth Start-Up Fund และ Social Innovation และ NIA ก็ให้การสนับสนุนต่อยอดเรามาตลอด ต้องขอขอบคุณ NIA ด้วยครับ”
จงสร้างคุณค่าและตอบให้ได้ว่าทำไมต้องเป็นเรา
มีปัจจัยมากมายที่จะทำให้ธุรกิจยั่งยืน หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ การหาจุดแข็งของตัวเองให้เจอ เพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ โดยเฉพาะเมื่อเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ไม่ได้ใหญ่โต ไม่ได้แข็งแกร่ง หากต้องแข่งกับคู่แข่งที่อยู่ในตลาด บางบริษัทนั้นยิ่งใหญ่กว่า มีเงินทุนมากกว่า ดังนั้น สตาร์ทอัพจำเป็นต้องบอกให้ได้ว่า ธุรกิจของตนเองทำอะไรได้ดีกว่า คุณค่าที่มอบให้ลูกค้ามีมากกว่าเพียงใด หากตอบถามเหล่านี้ไม่ได้ สุดท้ายแล้วธุรกิจก็อาจโดนกลืนหายไป
“ไม่อยากให้เริ่มด้วยเงินเพียงอย่างเดียว คือเงินเป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจอยู่ได้ เราไม่ปฎิเสธ แต่ว่าถ้าเงินเป็นปัจจัยหลัก มันอาจจะทำให้เราไปได้ไม่ถึงฝัน จริงๆ สตาร์ทอัพมีโอกาสสำเร็จน้อยมาก ข้อมูลที่เรารู้กันคือ มากกว่า 95% ของสตาร์ทอัพมักจะไม่ได้ทำต่อ ซึ่งเราก็ไม่ได้เคลมว่าเราประสบความสำเร็จขนาดนั้น แค่เราอยากแนะนำว่าการทำสตาร์ทอัพไม่ง่าย เรามองว่าเราเป็นบริษัทเล็กๆ ที่อยากจะสร้างอะไรขึ้นมาใหม่ๆ ส่งมอบคุณค่าดีๆ ให้กับผู้ใช้งานได้มากกว่าสิ่งที่มีอยู่เดิม ถือเป็นความภูมิใจ ที่เราได้ทำให้เกิด impact ด้วยมือของเรา ได้ใกล้ชิดกับคนใช้งาน เราได้ลองผิดลองถูกเอง ซึ่งมันมีข้อผิดพลาดอยู่แล้ว
ต้องหาให้ได้ว่าบริษัทเราต้องการทำอะไร เสร็จแล้วหลังจากนั้นลองดูว่าสิ่งที่เราจะทำนั้นตอบโจทย์ผู้ใช้งานด้วยหรือไม่ หลายๆ คนที่มาปรึกษา ผมต้องถามกลับว่าเป็น Painpoint ของเราเองคนเดียวหรือเปล่า เราสร้างอะไรขึ้นมาโดยที่คนอื่นไม่ได้เห็นคุณค่าด้วยหรือเปล่า อยากให้ทดลองคุยกับผู้ใช้งานเยอะๆ บางคนหวงไอเดีย ไม่กล้าคุยกับคนอื่นเพราะว่ากลัวคนอื่นจะเอาไปต่อยอด แต่จริงๆ แล้วถ้าเข้ามาทำงานตรงนี้จะรู้ว่าไอเดียมันไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น ทุกคนมีไอเดียได้เหมือนกันหมด แต่คนที่ทำได้มีแค่ไม่กี่คน ไอเดียไม่ใช่เป็นสิ่งไม่มีค่านะ แต่ว่าการที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นได้นั้นยาก และต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เราดีกว่าคนอื่นยังไง ทำไมต้องเป็นเรา”
Business Detail: Agnos แอปพลิเคชัน ที่จะเป็นเพื่อนคู่คิดด้านสุขภาพ โดยใช้เทคโนโลยี AI ช่วยวิเคราะห์อาการป่วย วิเคราะห์โรค คัดกรองและให้คำแนะนำผู้ป่วย
โดยพัฒนาและอาศัยข้อมูลความรู้จากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ สามารถใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง”
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)