fbpx

ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ ผู้มีกล้องถ่ายรูปเป็นเข็มทิศ

เรื่อง : บุญรัตน์ ศักดิ์บูรณพงษา
ภาพ : พิชญุตม์ คชารักษ์

“คุณสามารถร้องเพลงให้เหมือนเบิร์ด-ธงไชย ได้ แต่จะน่าเศร้าใจมาก ถ้าคุณร้องเพลงของตัวเองแล้วไม่มีใครฟัง หน้าที่ของผมคือให้โซลูชั่นคุณว่าควรไปในทิศทางไหนในแบบที่เป็นคุณและสนุกกับมัน สิ่งที่ผมเป็นทุกอย่างผมผลักไว้ที่โรงเรียนหมดแล้ว การที่ผมเป็นอย่างวันนี้ เพราะผมมีกล้องถ่ายรูปเป็นเข็มทิศ”

ประโยคที่สะท้อนให้เห็นตัวตนของ ‘โรงเรียนสอนถ่ายภาพสังเคราะห์แสง’ คือ ความรู้ทั้งหมดที่พร้อมทุ่มเทให้ด้วยใจแบบไม่มีกั๊ก จากช่างภาพคนนี้ ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ ชายหนุ่มมาดกวนอารมณ์ดี ผู้คลุกคลีบนเส้นทางอาชีพถ่ายภาพมานานนับสิบปี เริ่มต้นเข้าสู่โลกแห่งการถ่ายภาพ จากความเข้าใจผิดสุดฮา คิดว่า ‘นิเทศศาสตร์’ คือ ‘นิเทศศิลป์’ แต่สำหรับตุลย์ กลับมองเป็นเรื่องดีแบบที่เรียกว่า ‘ความบังเอิญของความผิดพลาด’

“จริงๆ ผมเรียนผิดคณะ (หัวเราะ) ก็ตามเพื่อนมาเรียนได้เทอมหนึ่ง ผมถามเพื่อนว่าเมื่อไรจะได้เรียนดรออิ้งวะ? เพื่อนทำหน้าผีหลอกใส่ แล้วถามกลับว่าผมเพี้ยนหรือเปล่า นี่นิเทศศาสตร์นะ ตอนนั้นไม่กล้าบอกที่บ้าน จนปี 2 เจอวิชาถ่ายรูปถึงได้รู้ว่านี่แหละใกล้เคียงกับชีวิตที่เราชอบมากที่สุด” ตุลย์เล่าติดตลกถึงการพบกันของเขาและศาสตร์การถ่ายภาพที่มาแบบมึนๆ

บนความไม่ตั้งใจ กลายเป็นรู้จักและรู้จริง จากวิชาหนึ่งในคณะพาให้เด็กแสบสายป่วนอย่างตุลย์เข้าชมรมถ่ายภาพของมหาวิทยาลัย (ม.กรุงเทพ) ซึ่งเป็นจุดให้เขาได้พบกับ สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ (นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์) ผู้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจคนสำคัญให้เขาจริงจังกับการถ่ายภาพไปอีกขั้นมากกว่าแค่ตกหลุมรัก

ชีวิตนักศึกษาของตุลย์ใช้เวลาไปกับการทำกิจกรรมในชมรมถ่ายภาพ จัดเวิร์กช็อป ออกทริป จัดแสดงนิทรรศการ จนวันหนึ่งภาพถ่ายของเขาซึ่งจัดแสดงที่สยามเซ็นเตอร์ไปเข้าตายูนิเซฟ ประเทศไทย และเขาได้รับการติดต่อขอซื้อภาพนั้น เพื่อนำไปประกอบแคมเปญในระดับเอเชีย โดยได้รับค่าภาพเป็นเงิน 1 หมื่นบาท

นี่คือเงินก้อนแรกที่ได้จากการถ่ายภาพของเขาตั้งแต่ยังเป็นเพียงนักศึกษา จากนั้นเขารับงานถ่ายภาพให้กับยูนิเซฟ ทั้งงานที่เขาตั้งใจถ่ายให้โดยไม่คิดเงิน และงานที่ได้รับค่าตอบแทน จนเมื่อจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี เขาต่อปริญญาโททันทีในคณะเดียวกัน พร้อมกับได้โอกาสเป็นอาจารย์พิเศษด้านการถ่ายภาพที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ตลอดเส้นทางสายช่างภาพ ตุลย์คลุกคลีเติบโตอยู่บนสายงานภาพถ่ายโฆษณา หลงเสน่ห์งานไฟน์อาร์ตและภาพขาว-ดำ พกพาหลากหลายบทบาท ทั้งการเป็นอาจารย์พิเศษด้านการถ่ายภาพในมหาวิทยาลัย, วิทยากรให้กับแบรนด์กล้องมากมาย ปัจจุบันเป็น Leica Ambassador Thailand, อุปนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์คนล่าสุด และผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนถ่ายภาพสังเคราะห์แสง (School of Photographic Arts)

ทำไมถึงชื่อสังเคราะห์แสง? คำถามแรกในการพูดคุยเกี่ยวกับโรงเรียนของเขา ซึ่งตุลย์ตอบแบบยิ้มๆ ว่า “ถามเรื่องนี้มียาว”

“เราอยู่ในยุคที่ใครๆ ก็ถ่ายภาพได้ แต่ผมอยากให้ความสำคัญกับเรื่องแสง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการถ่ายภาพมาใช้ให้ก่อเกิดประโยชน์อย่างที่ใจต้องการ คำว่า ‘สังเคราะห์แสง’ จึงสะท้อนการคิดแบบมีกระบวนการ การคิดแบบมีนัยในการถ่ายภาพ”

ถ้าคิดว่านี่คือคำตอบทั้งหมดแล้ว ไม่ใช่เลย เพราะตุลย์ยังตอบอีกว่า คำว่า ‘สังเคราะห์แสง’ เมื่อนำมาย่อจะตรงกับคำว่า ส.ค.ส. พ้องกับตัวย่อคำว่า ‘ส่งความสุข’ เช่นเดียวกับชื่อย่อภาษาอังกฤษของโรงเรียน จะไปตรงกับคำว่า SPA ซึ่งทั้งหมดบังเอิญตรงกับคอนเซปต์ของโรงเรียนที่ตุลย์ต้องการให้สถานที่นี้เป็นพื้นที่ความสุขในโลกของการถ่ายภาพ

“ผมอยากให้ทุกคนสนุกกับการมาเรียน ได้มั่นใจในดีเอ็นเองานของตัวเอง มากกว่าจะไปตั้งกรอบสิ่งที่เราทำ คือผลักดันให้เขาสร้างความเป็นตัวเองผ่านงานของเขา

สังเคราะห์แสง เปิดมานานกว่า 3 ปีแล้ว จากเดิมเป็นล็อกเล็กๆ แต่อบอุ่นในตลาดนัดสวนจตุจักร ก่อนปีหลังสุดจะย้ายมาที่หลังสามย่านมิตรทาวน์ โดยยังคงจุดยืนเดิมที่จะเป็นฮับโฟโต้กราฟเฟอร์ ตั้งแต่บีกินเนอร์ถึงโปรเฟสชั่นแนล โดยมุ่งมั่นผลักดันกลุ่มคนที่ชื่นชอบการถ่ายภาพยุคใหม่ พร้อมได้มือดีขั้นเทพมาเป็นเพื่อนร่วมขบวนการอีก 3 คนที่ถนัดวิชาภาพกันคนละด้านอย่าง ‘เอ็กซ์-อาวุธ ชินนภาแสน’ (Films Darkroom) ‘โต้-วิรุนันท์ ชิตเดชะ’ (Studio) และ ‘แบงค์-ชัยพฤกษ์ เฉลิมพรพานิช’ (Director of Photo-graphy)

“ก่อนนี้สังเคราะห์แสงเหมือนศาลพระภูมิ มีแค่เสาต้นเดียว ทำอยู่คนเดียว มีไดเรกชั่นเดียว แต่พอได้มาร่วมทีมกันเหมือนมีเสา 4 ต้น กลายเป็นบ้านที่คนเรียนจะได้ประโยชน์มากขึ้น

“ผมเชื่อว่าเด็กไทยมีความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ แต่มักถูกกรอบของการศึกษาเดิมๆ มาจำกัด ถ้าพูดตรงไปตรงมา คือทำงานถูกใจอาจารย์คือได้คะแนนดี แต่ไอเดนติตี้ของสังเคราะห์แสง คือ การทำงานให้ถูกใจตัวเอง สิ่งที่ต้องมีคือเริ่มต้นจากการมีพื้นฐานที่ดี มีกรอบความเข้าใจในงานของตัวเอง ทำตรงนี้ไปเพราะอะไร มีเหตุผลสนับสนุน เข้าใจเนื้อหาในสิ่งที่คุณจะทำ

“ผมไม่ได้เก่งครับ แต่ผมแค่โง่จนไม่เหลือที่ให้ความโง่ ผมผิดพลาดจนที่ว่างของความผิดพลาดมันน้อยลง เราก็แค่นำประสบการณ์ที่เคยผิดพลาดจากโลกถ่ายภาพมาแชร์กับทุกคน”

ความเป็นคนเปิดกว้าง บวกกับมองโลกในแง่ดี แนวทางของตุลย์จึงมักสะท้อนวิธีคิดบวก เพื่อส่งต่อความคิดในแง่ดีผ่านภาพถ่ายอยู่เสมอ บ่อยครั้งที่เขามักบอกนักเรียนของเขาว่า ให้ทำงานอยู่บนพื้นฐานของความเป็นคนคิดดี เมื่อไรก็ตามที่มี Positive Thinking วันหนึ่งสิ่งดีๆ จะเข้ามาเอง สิ่งสำคัญคือต้องเตรียมตัวให้หนัก เพราะ ‘โอกาส’ จะเกิดขึ้นกับ ‘คนที่พร้อม’ เท่านั้น

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่า สังเคราะห์แสงในสไตล์ของตุลย์มักผุดโปรเจกต์ถ่ายภาพออกมาให้นักเรียนได้บริหารไอเดียฝึกสมองกันอยู่เสมอ รวมถึงการใช้ทักษะการถ่ายภาพมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม อย่าง Portrait of Charoenkrung อีกโปรเจกต์ที่เขาสนุกและภูมิใจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Bangkok Design Week 2020 โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ที่ต้องการบันทึกเรื่องราวของเจริญกรุงผ่านภาพถ่ายประสบการณ์ของ นาย/นาง/นางสาว/เด็กหญิง/เด็กชาย เพื่อสะท้อนเอกลักษณ์และคุณค่าของเจริญกรุงในแง่มุมที่มีคุณค่า แต่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน

เบื้องหลังการทำงานของโปรเจกต์นี้มีหลายส่วนงาน จากแรกเริ่มที่ได้รับการชักชวน CEA ต้องการให้โรงเรียนสังเคราะห์แสงเป็นผู้ลั่นชัตเตอร์ แต่ตุลย์และหุ้นส่วนกลับเสนอว่าน่าจะชวนช่างภาพรุ่นใหม่ๆ ที่เป็นคนพื้นที่จริงๆ มาร่วมกันทำงานดีกว่า เพื่อให้ได้งานที่หลากหลาย จึงเกิดพื้นที่ 49 บล็อก ชวนร้านอัดภาพและฟิล์มแล็บในย่าน 7 ร้าน และให้แต่ละร้าน
ชวนช่างภาพที่เป็นลูกค้าของเขา ร้านละ 7 คน มารวมตัวกันเป็นทั้งหมด 49 คน มาถ่ายทอดความเป็นเจริญกรุง โดยแต่ละร้านจะได้โจทย์แตกต่างกันไป แต่มีกฎพื้นฐานคือต้องถ่ายด้วยฟิล์ม

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นการทำงานโดยโรงเรียนสังเคราะห์แสงเอง ภายใต้โจทย์ Family Portrait ซึ่ง ‘เอ็กซ์-อาวุธ’ ตีความ ‘เจริญกรุง’ เปรียบเป็นคนคนหนึ่ง และปิ๊งไอเดียเป็นการถ่ายภาพพอร์ตเทรดครอบครัวในบ้านของคนที่อาศัยในพื้นที่จริงๆ สะท้อนวิถีความเป็นตัวเขา ซึ่ง CEA สนใจไอเดียนี้มาก แต่ก็รู้สึกว่าเป็นไปได้ยาก เพราะอุปสรรคสำคัญคือคนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวปิด ไม่อยากให้คนนอกเข้าไปวุ่นวาย แต่ด้วยความตั้งใจ
ท้ายสุดทีมสังเคราะห์แสงก็ทำให้เกิดภาพนั้นขึ้น และได้รับความสนใจที่ดีมากจากคนในพื้นที่ กลายเป็นภาพชุดกว่า 50 ครอบครัว

“วัตถุประสงค์ของ CEA อยากให้คนในชุมชนมีความสุข คนที่เข้ามาในชุมชนแฮปปี้ โปรเจกต์นี้ทำให้เกิดทัศนคติใหม่กับคนในพื้นที่ จากเมื่อก่อนเขารู้สึกไม่ส่วนตัวเวลามีใครมาถ่ายรูปหน้าบ้านหรือหน้าร้านของเขา แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าใครมาถ่ายรูป เขาจะให้ข้อมูลสถานที่อื่นๆ ไปด้วย จริงอยู่โปรเจกต์นี้งบไม่เยอะนะ แต่เราตั้งใจทำ เราจ้างทีมวิจัยมืออาชีพ
ลงพื้นที่กว่า 2 เดือน เจาะลึกถึงรากประวัติศาสตร์ เพื่อหาครอบครัวที่มีความสัมพันธ์กับพื้นที่ เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์”

จากความสำเร็จนั้น ทำให้เกิดโปรเจกต์เพื่อสังคมตามมาอีกหลายโปรเจกต์ เพราะหลังจากงาน Bangkok Design Week 2020 จบไปไม่ทันไร ก็เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ตามมาติดๆ โรงเรียนสังเคราะห์แสงเลยแตกยอดไอเดียช่วยเหลือสังคม ครีเอทโปรเจกต์เล็กๆ ชื่อน่าเอ็นดูว่า ‘กินใจ’ เปิดรับถ่ายภาพสินค้าอาหารประเภทโฮมเมดฟรีให้กับผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นอาหารโฮมเมดที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมอาหาร และไม่ได้เป็นร้านอาหารที่มีแบรนด์อยู่แล้ว

“เราตระหนักดีว่าคนตกงาน ว่างงานกันเยอะมาก แต่เรายังต้องกิน เราจึงอยากนำทักษะการถ่ายภาพมาช่วยธุรกิจเหล่านี้ โดยเราอาสาถ่ายให้ฟรี โปรเจกต์อาจทำให้รู้สึกว่าโลกสวย แต่ผมไม่ได้ต้องการเหตุผลมากมาย แค่มีความตั้งใจดีที่อยากทำให้ ผมเชื่อว่าต้องมีอะไรกลับมาในแง่ความรู้สึกดีๆ”

โปรเจกต์อาสานี้เปิดรับเฟสแรก 20 ราย เต็มทันทีภายใน 2 ชั่วโมงที่เปิดรับทางออนไลน์ และยังมี Waiting List อีกจำนวนมาก จนตุลย์ต้องชักชวนบรรดาลูกศิษย์ในโรงเรียนของเขาและเพื่อนช่างภาพ มาเป็นช่างภาพอาสาช่วยกันกระจายทีมไปถ่ายเพิ่ม

นอกเหนือจาก ‘กินใจ’ แล้ว โรงเรียนสังเคราะห์แสงยังมีโอกาสช่วยโรงพยาบาลศิริราช ร่วมกันทำแคมเปญ ‘โรคติดต่อ จะไม่ติดต่อ ถ้าเราไม่ติดต่อกัน’ โดยเป็นทีมสนับสนุนช่วยครีเอทคอนเซปต์ภาพถ่ายเพื่อช่วยสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คน ทุกอย่างเริ่มต้นจากคุณหมอท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นนักเรียนของโรงเรียนมาปรึกษาเรื่องการหารูปแบบรณรงค์ที่จะมากระตุ้นให้คนตระหนักถึงสิ่งสำคัญที่สุดที่จะลดการระบาดของโรค ไม่ใช่แค่ ‘กินร้อน ช้อนเรา ล้างมือ’ แต่แท้จริงคือ ‘Social Distancing’

“ตอนนั้นเราช่วยเสนอว่าให้อาจารย์หมอถือป้ายประโยคที่คุณมีอยู่แล้วนี่แหละ ‘โรคติดต่อ จะไม่ติดต่อ ถ้าเราไม่ติดต่อกัน’ และถ่ายเป็นภาพลงโซเชียลฯ โดยขอความร่วมมือบุคลากรทางการแพทย์เริ่มโพสต์ก่อน เขาก็สงสัยนะว่าจะสร้างอิมแพคได้เหรอ สุดท้ายแล้วมันก็กลายเป็น Challenge Social Media” ตุลย์เล่าอย่างภูมิใจที่อย่างน้อยได้มีส่วนใช้ทักษะการถ่ายภาพ ส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับผู้คนอย่างที่เขาตั้งใจ พร้อมกับแชร์บทเรียนจากสถานการณ์ COVID-19 ในฐานะมนุษย์ร่วมโลกคนหนึ่งที่เผชิญสภาพเดียวกัน

“ผมว่าจากสถานการณ์นี้ ได้บทเรียนว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม เพราะในวันที่อยู่ในภาวะปกติ มักโหยหาเวลา อยากมีเวลาพักผ่อน แต่พอวันนั้นเกิดขึ้นแล้ว กลับอยากไปหาความวุ่นวาย สุดท้ายคือต้องพยายามเข้าใจตัวเองกับสิ่งที่เกิดขึ้น เรียนรู้ที่จะมีความสุขแบบไม่เบียดเบียนใคร และถ้าเกิดมีโอกาสทำสิ่งดีๆ ตอบแทนสังคม ผมว่าคนไทยน่ารักตรงนี้แหละ

“อย่างตอนในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต เราจะเห็นจิตอาสาออกมามากมาย คือต้องรอให้เกิดวิกฤติแบบนั้นหรือ ถึงจะกลับมาเป็นคนไทยที่รักกันจริงๆ บางทีเรามักถูกบิดเบือนด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง หรือเรื่องเศรษฐกิจโน่นนี่ จนลืมเนื้อแท้ความเป็นคนไทยที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี” เรียกว่าเป็นคำพูดจากปากของชายหนุ่มที่ทำให้ชวนคิดและกลับมาสำรวจตัวเองอีกครั้ง

ท้ายสุดก่อนลาจากกัน ในฐานะช่างภาพผู้คร่ำหวอดในวงการมานาน ที่พ่วงบทบาทการเป็นอุปนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉายภาพวงการถ่ายภาพไทยยุคนี้ ซึ่งเขายังเชื่อมั่นในฝีมือของช่างภาพไทย และวงการถ่ายภาพไทยทุกวันนี้เจริญและก้าวหน้าไปมาก มีช่างภาพรุ่นใหม่ประสบความสำเร็จในระดับสากลมากมาย เพียงแต่คนไทยมักไม่ค่อยยอมรับความสามารถของคนไทยด้วยกัน สุดท้ายต้องย้อนกลับมาดูว่าไทยเป็นชาติที่มีรากลึกทางวัฒนธรรมที่ไม่แพ้ชาติใด

“ผมว่าวงการช่างภาพไทยกำลังผลิดอกออกผล เพียงแต่เราต้องรอระยะเวลาให้คนอีกเจเนอเรชั่นมาทำให้ดอกผลที่ออกมาเริ่มแปรรูปและสร้างแบรนด์”

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ