fbpx

BOI-MAI-สรรพากร-กรมทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมใจส่งเสริมอินโนเวชั่นบิซเนสในไทย

งาน SITE 2023 ปีนี้ทำให้คำว่าหุ้นส่วนนวัตกรรมเป็นที่รู้จักกันทั่วไปมากขึ้น แต่หุ้นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อน ผลักดันให้สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ๆ เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ยังต้องอาศัยสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานภาครัฐช่วยสนับสนุน ซึ่ง 4 หน่วยงานสำคัญให้การขานรับมานาน อีกทั้งยังทำงานสอดรับกันที่จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมสตาร์ทอัพ​ เพื่อเป็นส่วนขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ด้วยความหวังว่าจะเพิ่มสัดส่วนของสตาร์ทอัพไทยให้มีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้น

BOI ปรับลดขนาดธุรกิจรับการส่งเสริมการลงทุน

วรกาญจน์ โกศลพิศิษฐ์กุล ผู้อำนวยการกองเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI-บีโอไอ) กล่าวว่า โดยทั่วไปคนมองภาพการส่งเสริมการลงทุนธุรกิจของบีโอไอไปที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ระดับพันล้านหมื่นล้าน แต่จริง ๆ แล้วบีโอไอให้การสนับสนุนการลงทุนกับธุรกิจที่มีขนาดการลงทุนตั้งแต่ 1 ล้านบาท และมีการปรับลดสำหรับเอสเอ็มอีลงเหลือเพียงการลงทุนเริ่มต้นที่ 5 แสนบาทเท่านั้นในปัจจุบัน โดยส่งเสริมในประเภทกิจการมากกว่า 400 ประเภท​ ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าครอบคลุมทุกกิจกรรมธุรกิจที่ทำอยู่ในเมืองไทย ซึ่งสามารถเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มสตาร์ทอัพที่จะเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอได้ไม่ยากเช่นกัน

โดยหากไม่ติดต่อด้วยตัวเอง ก็สามารถหาข้อมูลและติดต่อผ่านเว็บไซต์ boi.go.th ที่จะมีรายละเอียดขั้นตอนการขอส่งเสริมหรือขอรับคำปรึกษาไว้โดยละเอียด รวมทั้งจากการร่วมออกบูธของบีโอไอในงานต่าง ๆ เช่นเดียวกับที่งาน SITE 2023

ขณะที่ความเคลื่อนไหวด้านการลงทุนที่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มสตาร์ทอัพในการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ง่ายและเร็วขึ้น โดยช่วง 1 ปีที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงาน ก.ล.ต. ร่วมกันพัฒนา ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกในการระดมทุนในตลาดทุนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพไทย ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ให้สามารถระดมทุนเพื่อสร้างการเติบโต โดยหวังให้บริษัทเหล่านี้พัฒนาและเติบโตต่อไปได้เป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ใน MAI และ SET ต่อไป

ประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ และ ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่อยู่ในโลกที่เทคโนโลยีเอื้ออำนวยสามารถสร้างอะไรใหม่ ทำธุรกิจใหม่ขึ้นมา ขยายตลาดได้เร็วด้วยดิจิทัลและโซเชียลมาร์เก็ตติ้ง มีโอกาสและตัวช่วยอย่างหน่วยงานภาครัฐ หลายหน่วยงาน พร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีธุรกิจเติบโต รวมทั้งส่วนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเอง ก็มีการสนับสนุนอย่างจริงจังด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่นการเปิด ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์

โดยภายใน ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ จัดให้มีโปรแกรมการเรียน การอัพสกีล ที่สนับสนุนสตาร์ทอัพในเชิงปฏิบัติการด้วย เช่น โปรแกรมไลฟ์สตาร์ทอบรม 1 วันได้รับเงินสนับสนุน 25,000 บาท หรือเข้า Incubator Program เข้าอบรม 3 วันก็มีเงินสนับสนุน 50,000 บาท ฯลฯ​ สามารถ​ศึกษา​รายละเอียดเพิ่มเติม​ได้ที่ https://www.dct.or.th/

“สตาร์ทอัพสามารถเข้าไปอัพสกีล รีสกีล กับบริษัทที่ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ มีให้ หรือจะเข้าไปหาคนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เช่น หาคนทำบัญชี เราก็ช่วยสนับสนุนผ่านเว็บไซต์”

ประพันธ์ กล่าวว่า ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ แตกต่างจาก SET และ MAI 2 ตลาดที่เปิดมาก่อนที่เป็นบริษัทที่มีทุนแข็งแรงและมีกำไรพอสมควรถึงจะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดเหล่านั้นได้ แต่ ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์เกิดขึ้น​ เพื่อสนับสนุนธุรกิจใหม่ทั้งเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ จึงไม่มีการนำเรื่องกำไรมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา สำหรับสตาร์ทอัพเพียงแค่มี VC ลงทุน ก็สามารถยื่นขอเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนใน ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ได้

“หลังจากเปิดตัวไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์เมื่อเดือนมีนาคม 2565 มีเอสเอ็มดีและสตาร์ทอัพเข้าจดทะเบียนในไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์แล้ว 3 ราย บริษัทแรกได้เงินลงทุนไป 80 ล้านบาท บริษัทที่สอง 66 ล้าน บริษัทที่สาม 50 ล้าน เมื่อธุรกิจพัฒนาไปได้ระยะหนึ่งมีการเติบก็สามารถขยับเข้าไปจดทะเบียนในตลาด MAI หรือ SET ได้ในอนาคต นี่คือบันไดอีกขั้นที่ช่วยย่นระยะให้อาจจะถึงครึ่งทางในการผลักดันให้สตาร์ทอัพเติบโตไปสู่ตลาดทุนใหญ่ให้มีความเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น”

ด้านการสนับสนุนสตาร์ทอัพในฝั่งภาษี

อัครราชย์ บุญญาศิริ หัวหน้ากลุ่มนโยบายภาษีกรมสรรพกากร กล่าวว่า สรรพากรมีภารกิจทั้งเรื่องการให้บริการเพื่อการเสียภาษีให้ถูกต้องตรงเวลา การให้ความรู้ทั่วไปและความรู้เฉพาะเรื่องเกี่ยวกับภาษีผ่านโปรแกรมต่าง ๆ รวมทั้งการใช้นโยบายภาษีในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในการสนับสนุนธุรกิจทุกขนาด

โดยสรรพากร มีส่วนสนับสนุนด้านภาษีสำหรับสตาร์ทอัพโดยตรงเด่น ๆ 3 มิติ

มิติแรก คือเรื่องของทุนส่งเสริมให้ระดมทุนได้ เมื่อสตาร์ทอัพและผู้ลงทุนคาดหวังว่า ในอนาคตจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าการลงทุนในสตาร์ทอัพเสี่ยงมากกว่าธุรกิจอื่น สรรพากรจึงช่วยส่งเสริมเรื่องการยกเว้นภาษีเงินได้บุคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรจากการขายหุ้นในสตาร์ทอัพ ที่ท้ายที่สุดอาจจะเติบโตไปเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ว่าตลาดใดก็ตาม โดยผู้ลงทุนใดก็ตามที่เสียภาษีจะได้รับยกเว้นภาษีจากการขายหุ้นอยู่แล้ว แต่ผู้ลงทุนที่เป็นนิติบุคคลจะไม่ได้รับยกเว้น ขณะเดียวกันสตาร์ทอัพก็อาจไม่ได้จดทะเบียนในตลาดฯ แต่เมื่อขายหุ้นออกไปก็จะต้องเสียภาษี

“จุดนี้อาจจะทำให้ผู้ลงทุนต้องพิจารณาว่าจะลงทุนในสตาร์ทอัพหรือไม่ กรมสรรพากรก็สนับสนุนผ่านการยกเว้นภาษีสำหรับสตาร์ทอัพ มาตรการนี้มีระยะเวลานานถึง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2575 ให้ทั้งการลงทุนโดยตรงและทางอ้อม หรือการลงทุนผ่าน VC คือผู้ลงทุนไปลงทุนผ่าน VC แล้ว VC ไปลงทุนผ่านสตาร์ทอัพ เงื่อนไขมีแค่เป็นสตาร์ทอัพที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่รัฐบาลกำหนด และรายได้หลักของสตาร์ทอัพต้องมาจากอุตสาหกรรมเป้าหมายและผู้ลงทุนต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 2 ปี เป็นไปตามเงื่อนไขเท่านี้ ผู้ลงทุนก็จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรจากการขายหุ้นในสตาร์ทอัพ ผู้ลงทุนที่ว่าทั้งหมดรวมทั้งที่เป็นคนไทยและต่างชาติ ทั้งบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วน และนิติบุคคล ก็จะได้รับประโยชน์ตรงนี้ทั้งหมด”

มิติที่สอง การสนับสนุนของกรมสรรพากรยังมีมาตรการร่วมกับบีโอไอ เพื่อดึงดูด Global Talent เข้ามาทำงานในไทยผ่านการให้วิซ่าพิเศษประเภท LTR VISA โดยกรมสรรพากรให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสำหรับกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญทักษะพิเศษ เช่น เป็นกำลังหลักในการช่วยให้สตาร์ทอัพเติบโต จะได้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากปกติที่เป็นอัตราภาษีก้าวหน้าเป็น 17% อัตราเดียวจากเงินพึงประเมิน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนด้านการพัฒนาความรู้ผ่านการการอัพสกีล รีสกีล ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

มิติที่สาม ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือมิติของโอกาส โดยจากการที่กรมสรรพากรอาจจะไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือเงินสนับสนุนแก่สตาร์ทอัพโดยตรงเหมือนหน่วยงานอื่น ๆ แต่ส่วนที่สตาร์ทอัพจะได้รับโอกาสเพิ่มเติมจากสรรพกากร คือการพัฒนาบริการต่าง ๆ ที่มีการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ผู้ประกอบการได้ใช้บริการใหม่ ๆ เช่น ด้านซอฟท์แวร์ โดยให้เอสเอ็มอีหักรายจ่ายในการซื้อซอฟท์แวร์ได้สองเท่า หรือเรื่องของระบบภาษีอีเล็กทรอกนิกส์ต่าง ๆ ให้ผู้ประกอบการหักภาษีได้สองเท่า สิ่งเหล่านี้ก็เป็นโอกาสที่สตาร์ทอัพจะนำเสนอบริการและสินค้าแก่ผู้ประกอบการเหล่านั้นเพื่อตอบสนองการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการได้

ส่งท้ายการสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมผ่านสตาร์ทอัพจากหน่วยงานอย่างกรมทรัพย์สินทางปัญหา ทักษอร สมบูรณ์ทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญ​เฉพาะด้านกฎหมาย กล่าวเป็นข้อคิดสั้น ๆ ว่า

“ถ้าสตาร์ทอัพจะไปให้ถึงระดับสากล ต้นทุนทางสินทรัพย์ทางปัญญา เป็นที่ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพควรให้ความสนใจ เพราะการมีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นแต้มต่อที่กฎหมายและเป็นเกราะคุ้มกันธุรกิจของสตาร์ทอัพในช่วงที่กฎหมายให้ไว้ ทำให้สตาร์ทอัพเดินหน้าสู่ตลาดอย่างมั่นใจ และจากตัวอย่างในต่างประเทศบอกได้เลยว่าสตาร์ทอัพที่เป็นยูนิคอร์นได้ มีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นพื้นฐาน ซึ่งของไทยก็เช่นเดียวกัน” ทักษอร กล่าวทิ้งท้าย

ทั้ง 4 หน่วยงานนี้เป็นเพียงตัวอย่างการสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมผ่านสตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นแล้วอย่างจริงจังและมีตัวอย่างผลลัพธ์ให้เห็นแล้วทั้งสิ้น

รายละเอียด​เพิ่มเติม​ https://site.nia.or.th/

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ