GISTDA จัดการปัญหา “ฝุ่น” บนโลก ด้วยนวัตกรรมอวกาศ
มีนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่บูรณณาการข้อมูลจากหลายส่วนมารวมกันเพื่อใช้วิเคราะห์หาปัญหาที่แท้จริง และนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ถูกทาง จนถึงขั้นนำไปสู่นโยบายการแก้ปัญหาระยะยาวเพิ่มขึ้นในหลายหน่วยงานของภาครัฐ ด้วยการนำนวัตกรรมเข้ามาเป็นหัวใจในการขับเคลื่อน เหมือนเช่นการทำงานของ GISTDA ซึ่งใช้นวัตกรรมจากอวกาศดึงข้อมูลจากดาวเทียม นำข้อมูลที่สามารถเก็บและตรวจจับได้มาวิเคราะห์เพื่อการแก้ปัญหาฝุ่นPM 2.5 หลังจากที่คนไทยเคยรู้จัก GISTDA จากการใช้ข้อมูลผ่านดาวเทียมในการแก้ปัญหาวิกฤตน้ำท่วมมาแล้วครั้งหนึ่ง ที่ทำให้การทำงานของ GISTDA ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลและรู้ปัญหาที่แท้จริงร่วมกัน ซึ่งไม่เพียงทำให้คนไทยคุ้นเคยและรู้จักเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศมากขึ้น ยังทำให้ปัญหาฝุ่นที่คลี่คลายลง และเกิดแรงบันดาลใจด้วยว่า ปัญหาฝุ่นที่เคยมองว่าเกินแก้ไข มีแนวโน้มที่จะร่วมกันทำให้จบปัญหาได้ในรุ่นเราอีกด้วย
ตัวอย่างการทำงานของ GISTDA และแพลตฟอร์ม Traffy Fondue และอีกหลาย ๆ แอปพลิเคชั่นที่สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลที่ได้มาตรฐานเหล่านี้ คือผลลัพธ์ของการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สะท้อนมิติของภาครัฐที่เริ่มต้นสร้าง Open Data ที่นอกจากทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ ยังจะนำไปสู่การพัฒนาเชิงนโยบายจากการที่ทุกคนได้รับรู้ข้อมูลตระหนักถึงปัญหาร่วมกันและเป็นแนวทางสร้างความโปร่งใสเพิ่มขึ้น จากข้อมูลที่ช่วยดึงภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามารับผิดชอบร่วมกัน จากกระบวนการมีส่วนร่วมที่หลั่งไหลเข้ามา อย่างเช่นกรณีการแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่ GISTDA จะมาเล่าให้ฟัง ทั้งยังสร้างโอกาสการพัฒนาองค์ความรู้ต่อยอดทำให้เกิดนวัตกรรมและสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดขึ้น โดยเริ่มต้นมาจากการโอกาสให้เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้
ฝุ่นP.M 2.5 และการทำงานของ GISTDA
ดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) อธิบายลักษณะของฝุ่นรวมถึงฝุ่นP.M 2.5 ว่า มีสถานะเป็นของไหลกระจายไปได้ทุกที่ มีผลกระทบจากสภาวะอากาศจากธรรมชาติ ซึ่ง GISTDA มีข้อมูลจากสถานีเพื่อติดตามและตรวจวัด รวมทั้งใช้ดาวเทียมในการติดตามและทดสอบ ขณะที่อีกปัจจัยที่สำคัญมาจากพฤติกรรมของมนุษย์
“เรารู้จักฝุ่น P.M 2.5 มาประมาณ 5 ปี เป็นทั้งปัญหาสุขภาพและปัญหาเชิงพื้นที่ และรุนแรงขึ้นทุกปี แปรผันตามช่วงเวลาและพื้นที่ การจะติดตาม ตรวจวัด จึงต้องมีข้อมูลครอบคลุมทุกที่และครอบคลุมปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่นอย่างครบถ้วน สำคัญด้วยว่าข้อมูลนั้นต้องทันสมัย อัพเดทอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรองรับการแก้ปัญหาและบรรเทาสถานการณ์ได้ทัน ดาวเทียมจึงเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยในการติดตามให้เราเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการเหล่านี้ได้”
โดยดาวเทียมจะมีการโคจรรอบโลกทุกวัน ทุกชั่วโมง ที่ GISTDA ใช้อยู่มี 2 ระบบ คือระบบที่วนรอบโลก ช่วงบ่ายโมงกว่าจะโคจรผ่านประเทศไทย ใช้ติดตามเรื่องฮอตสปอต หรือ จุดเผาไหม้ ทั้งในพื้นที่เกษตร พื้นที่ป่าไม้ ที่โล่ง โดยทุกพื้นที่ ทุกจุด สามารถรีเช็คได้จากดาวเทียมที่จะส่งข้อมูลมาที่สถานีรับของ GISTDA ที่ศรีราชา
ส่วนอีกดวงมีวงโคจรระยะไกล 3.6 หมื่นตารางเมตรจากพื้นโลก เป็นดาวเทียมค้างฟ้า (Geo Stationary) วงโคจรเดียวกับดาวเทียมสื่อสาร ข้อมูลจะอัพเดทรวดเร็วเพราะหมุนอยู่คงที่เท่าความเร็วที่โลกหมุน ถ่ายข้อมูลทุกหนึ่งชั่วโมง ทำให้เรามีข้อมูลฝุ่นทุกหนึ่งชั่วโมงติดตามทุกพื้นที่ไม่ว่าประเทศเราเองหรือประเทศเพื่อนบ้าน
“เราใช้ระบบดาวเทียมทั้งสองดวงร่วมกัน เพราะฝุ่นเป็นของไหล เปลี่ยนแปลง ไม่อยู่กับที่ ตอนนี้เกิดตรงนี้ อีกไม่ถึงชั่วโมงเคลื่อนที่ไปเกิดความรุนแรงอีกที่หนึ่ง ลอยได้ทั้งแนวดิ่งและแนวราบด้วย การอัพเดทจึงสำคัญในการช่วยติดตาม”
ดร.ปกรณ์ อธิบายต่อว่า แม้จะมีเครื่องมือตรวจจับที่ดีก็จริง แต่การวัดฝุ่นอย่างเดียวไม่ช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่นมีหลายด้าน การป้องกันและแก้ปัญหาต้องใช้องค์ประกอบจากข้อมูลด้านอื่น ๆ มาวิเคราะห์อย่างรอบด้าน อาทิ สภาพภูมิอากาศ เช่น ความกดอากาศ ที่ทำให้ฝุ่นรุนแรงขึ้น การเผาไหม้ หรือแม้แต่สถานการณ์อย่างเอลนิญโญ่ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ความแห้งแล้งและร้อนทำให้โอกาสเกิดวิกฤตฝุ่นมากขึ้น รวมถึงปัจจัยทางกายภาพต่าง ๆ ต้องถูกตรวจวัดด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการนำข้อมูลอื่นนอกจากข้อมูลดาวเทียมมาใช้ร่วมกัน เช่น ปริมาณความชื้นในอากาศ การใช้ประโยชน์ที่ดิน การเกษตร ฯลฯ
“ที่สำคัญคือ ข้อมูลแต่ละตัวต้องเชื่อมโยงกันได้ สามารถเล่าเรื่องราวที่มาที่ไปของข้อมูลได้ เช่น กรณีของฝุ่นการเชื่อมโยงข้อมูลกันจะทำให้เราเข้าใจปัญหาโดยละเอียด ต่างช่วง ต่างเวลา ต่างสภาวะ สร้างผลกระทบต่อฝุ่นที่ไม่เหมือนกัน และฝุ่นไม่ได้เกิดเฉพาะจุดและข้ามพรมแดนได้ด้วย บางช่วงฝุ่นเหมือนมีนัดกันมาช่วงพฤษจิกา-ธันวา เริ่มเกิดที่กรุงเทพฯภาคกลางก่อน หน้าหนาวหน้าร้อนขยับไปภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วลงไปใต้ ข้อมูลจากดาวเทียมจะทำให้เราเห็นภาพรวม จะแก้ปัญหาได้ถูกจุด ถูกที่ ถูกเวลา”
จากแนวคิดดังกล่าว GISTDA นำข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูลมาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มการให้บริการภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการ P.M 2.5 ซึ่งไม่ใช่แค่ตรวจวัดเกิดที่ไหน เมื่อไร ปริมาณเท่าไร เกินมาตรฐานหรือไม่ แต่เป็นการตรวจวัดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ P.M 2.5 ทางกายภาพทั้งหมด รวมไปถึงข้อมูลพื้นที่เกษตรที่มีการเก็บเกี่ยว อายุของพืชที่มีการเติบโต ความชื้นสัมพัทธ์ ความกดอากาศ ลักษณะภูมิประเทศ ฯลฯ เรียกว่ารวมทุกปัจจัยมีที่มาและทำให้ผู้ใช้ข้อมูลเห็นภาพรวมของฝุ่น โดยอัพเดทขึ้นแพลตฟอร์มให้ข้อมูลทันสมัยอยู่เสมอ
“เราเชื่อว่าการติดตามข้อมูลฝุ่น ทำให้คนเข้ามาใช้เข้าใจเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ทำให้มองเห็นเป็นภาพเดียวกัน เกิดการแก้ปัญหา การป้องกันเป็นไปในทิศทางเดียว เมื่อต้องการความร่วมมือหรือรณรงค์จะทำได้ง่าย สามารถจัดสรรคน ทรัพยากร และกำหนดระยะเวลาเพื่อการบริหารจัดการแก้ปัญหาได้มีประสิทธิภาพ”
ที่สำคัญ ดร.ปกรณ์ ถึงขั้นย้ำด้วยความหวังทิ้งท้ายว่า หากมีข้อมูลที่ครอบคลุม ทันสมัย เข้าถึงได้ แม้สภาพภูมิอากาศจะเปลี่ยนไปอย่างไร ไม่เพียงการจัดการแก้ปัญหาฝุ่นจะต้องดีขึ้น ก็จะทำให้สามารถจัดการปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย แบบนี้แล้วนอกจากจบปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในยุคที่เกิดแล้ว ยังทำให้คนรุ่นหลังไม่ต้องมารับช่วงต่อปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย
ถึงจุดนี้ คงไม่ต้องย้ำแล้วว่า เทคโนโลยี ข้อมูล และนวัตกรรม เมื่อนำมาบูรณาการใช้งานร่วมกันแล้วสามารถช่วยให้โลกและชีวิตเราดีขึ้นได้อย่างไร