fbpx

ประภาส ทองสุข : ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กับการ ‘Forward’ สู่ ‘Next Normal’

ในสภาวการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ กับทุกภาคส่วน รวมถึงธนาคาร ทำให้บทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับธนาคาร ต้องขยับไปสู่รูปแบบใหม่ ความคุ้นเคยใหม่ ความ ‘ปกติ’ แบบใหม่ รูปแบบของธนาคารในภายภาคหน้าจะเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และท้าทายอย่างยิ่ง

GM ได้รับเกียรติจาก คุณประภาส ทองสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มาบอกเล่าถึงทิศทาง ‘Next Normal’ ย่างก้าวต่อไปในการ ‘Forward’ ครั้งใหญ่ของ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ที่มุ่งมั่นจะไปให้ถึง

 

Next Normal ของ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย คืออะไร

ประภาส :  ในสภาวะ COVID-19 พฤติกรรมการใช้บริการธนาคารของผู้คนก็เปลี่ยนแปลงไป ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จึงปรับปรุงในส่วนการให้บริการ และแอปพลิเคชันให้หลากหลาย แข็งแรงมากขึ้นสิ่งหนึ่งที่ชัดเจน คือ ทางธนาคารต้องตอบสนองให้เร็ว การดูแลลูกค้าภายใต้นโยบายของภาครัฐ ทำสิ่งนั้นให้ครบถ้วน ควบคู่ไปกับการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่จะมีเพิ่มเข้ามา ซึ่งนี่คือ New Normal ที่จะตอบสนองต่อพฤติกรรมใหม่ และจะเป็น ‘Next Normal’ ที่จะเกิดขึ้นอีกด้วยครับ

CIMB Group เป็นที่รู้จักอย่างมากในภูมิภาคอาเซียนจนได้ชื่อว่าเป็น ‘ธนาคารแห่งอาเซียน’ แต่อาจยังไม่เป็นที่รู้จักกว้างมากนักสำหรับคนไทย ธนาคารมีวิธีใดที่จะทำให้เข้าถึงคนไทยได้มากขึ้น

ประภาส : CIMB Group เข้ามาในไทยประมาณ 10 ปี จากการเข้ารวมกับไทยธนาคาร กลายเป็น ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ซึ่งตอนนี้มีอยู่ประมาณ 60 สาขา  โดยธนาคารมุ่งเน้นพัฒนาไปทางด้านความเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าเป็นหลักมากกว่าการเพิ่มจำนวนสาขา  ทำให้ในปัจจุบันองค์กรสามารถปรับตัวได้เร็ว คล่องตัว หรือที่เรียกกันว่า ‘Resilience’ มีความยืดหยุ่นสูง เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร กระบวนการทำงานได้ดี การที่ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ไม่ใหญ่ กลับกลายเป็นข้อได้เปรียบ การคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ก็สามารถนำเสนอออกได้ทันที สิ่งนี้เป็นจุดเด่นของธนาคาร และสิ่งที่แตกต่างก็คือ ‘จุดยืนที่ชัดเจน’ คือ ‘ความเป็นชาติอาเซียน’ เป็นเครือข่ายทางการเงินของอาเซียนที่แข็งแกร่งมั่นคง

ในจุดยืนของ ‘ชาติอาเซียน’ สร้างความแตกต่างอย่างไร

ประภาส :  จะมีอยู่หนึ่งคำที่กล่าวถึงชาติในอาเซียนอยู่บ่อยๆ นั่นคือ ‘Same but Different’  ที่ดูมีความคล้ายคลึงกัน แต่ลงลึกแล้วมีความต่างอย่างมาก ใครที่เห็นโอกาสทางธุรกิจ อยากต่อยอดไปสู่อาเซียน นั่นหมายถึงคุณต้องมีความเข้าใจในจุดนี้ และต้องมีพันธมิตรทางการเงินที่เข้าใจด้วยเช่นกัน ซึ่ง CIMB Group และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มีองค์ความรู้และความเข้าใจชาติอาเซียนอย่างดี มีสาขาที่ดำเนินงานในภูมิภาคนี้มาก

เป้าหมายของ CIMB Group ในประเทศไทย ตั้งใจปักหมุดในเรื่องใดเป็นหลัก

ประภาส : สิ่งหนึ่งที่ CIMB Group และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ทำเคียงคู่กันมากับการทำธุรกิจโดยตลอด คือการสร้างสิ่งที่ดี ที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเข้าไปทำธุรกิจในประเทศใด จะมองว่าการทำประโยชน์ให้กับประเทศ คือการทำประโยชน์ให้กับอาเซียนในทางหนึ่งด้วย

ในยุคการเงินรูปแบบใหม่ๆ ที่เข้ามามีบทบาท จนถึงการค้าที่ไม่ต้องผ่านระบบธนาคาร ทางธนาคารมองเป็นวิกฤติหรือโอกาส จากปรากฏการณ์เหล่านี้อย่างไร

ประภาส :  เรียกว่าเป็น ‘ความท้าทาย’ ดีกว่า เพราะทางเลือกเป็นของประชาชน เป็นสิ่งที่ดีที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในด้านการเงินแทบทั้งสิ้น แต่จากในสภาวะที่เป็นอยู่ตอนนี้ จากประสบการณ์ที่เคยไปลองนั่งที่สาขาต่างๆ สำหรับในสังคมไทย ธนาคารยังเป็นสถาบันทางการเงินที่ได้รับการเชื่อถือสำหรับประชาชน แต่ความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง และธนาคารก็ต้องเริ่มปรับตัว รวมถึงคิดว่า ไม่ได้แข่งขันอยู่แค่เพียงกลุ่มธนาคารด้วยกัน แต่รวมถึงวิถีชีวิต แนวคิด และกระบวนการที่ประชาชนมีต่อระบบการเงินใหม่ๆ ซึ่งองค์กรก็ต้องมีการคิดค้น สร้างคน สร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่เป็นทางเลือกให้กับประชาชน ให้น่าเชื่อถือ และน่าสนใจ

ในแง่ขององค์กร ทางธนาคารมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ใช้บริการที่มากขึ้น ให้ความรู้สึกที่แตกต่างออกไป จุดนี้ต้องการสื่อสารสิ่งใดออกไป

ประภาส : CIMB Group เคยมีสโลแกนว่า ‘Forward’ ซึ่งในยุคแรกๆ คือ พร้อมนำหน้า พร้อมเป็นผู้นำ แต่ในปัจจุบัน คำว่า Forward นั้น หมายถึง ‘ผู้ใช้บริการ’ ที่จะมี CIMB Group และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย คอยเดินเคียงข้าง ให้เกิดความยั่งยืน ด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่แข็งแรง และสิ่งที่ดีซึ่ง CIMB Group ได้มอบให้กับสังคมในประเทศไปทำธุรกิจ นั่นคือสิ่งที่ทาง ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ต้องการจะสื่อสารออกไป ว่ายังมี CIMB Group และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ที่อยู่คู่กับทุกคน ให้ลุกขึ้นมาเดินหน้า สู้ พัฒนาตัวเอง และก้าวต่อไป คว้าโอกาสในความเป็นไปได้ที่ไม่สิ้นสุด

ในฐานะผู้บริหารในส่วนสื่อสารองค์กร คิดว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 สามารถนำไปปรับใช้พัฒนาองค์กรให้ดีขึ้นต่อไปอย่างไร

ประภาส : ในฐานะเป็นคนที่อยู่ในหน่วยงานกลาง ต้องติดต่อสื่อสารและรับรู้ข้อมูล พบว่าสิ่งที่ต้องทำในช่วงเวลานี้ คือการสร้างกลไกข้อมูลข่าวสาร และสร้างเครื่องมือเพื่อใช้ในการเชื่อมโยงให้เกิดความรู้สึกว่า ทุกคนยังต่อติดถึงกันได้ตลอดเหมือนเดิม แม้จะ Work from Home ทุกคนต่างต้องรับผิดชอบงานในส่วนของตัวเองให้เต็มที่ ภายใต้การสื่อสาร การให้ข้อมูลข่าวสาร และการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ยังย้ำในทิศทางของคำว่า ‘Forward’ ที่ปรารถนาให้คนไทยได้เดินก้าวต่อไป ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ให้กำลังใจ ให้ข้อมูลข่าวสาร ให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ที่สื่อสารออกไป นี่คือสิ่งที่ปีนี้ได้ทำ  ส่วนในด้านธุรกิจ จุดนี้อาจจะสนับสนุนกลุ่มคนที่มีปัญหา ที่ยังต้องการการช่วยเหลือด้านการเงิน ต้องประคับประคองกันไป ไม่ใช่ว่าจะมุ่งขายแต่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินแต่เพียงอย่างเดียว

ในฐานะที่ทาง CIMB Group มีองค์ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนเป็นอย่างดี มีวิธีใดที่จะสนับสนุนให้ภาคธุรกิจไทย เกิดการลงทุนในภูมิภาคนี้มากขึ้นบ้าง

ประภาส : สิ่งหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ของอาเซียนที่ชัดเจน คือร่วมมือกัน แต่ก็แข่งขันกัน และ ‘ปรับตัว’ ไปพร้อมๆ กัน ยกตัวอย่างประเทศไทย ถ้าเปิดประเทศ เชื่อว่าคนจากภูมิภาคอาเซียนต่างอยากมาท่องเที่ยว เพราะไทยมีสิ่งที่ดีๆ อยู่มากมาย ซึ่งภูมิภาคอาเซียน ไม่ว่าประเทศไหน ก็มีเอกลักษณ์ และโอกาสที่รอคอยอยู่ เชื่อว่าจะเป็นอีกประตูสู่เพชรเม็ดงาม ทั้ง CIMB Group และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ก็ทำหน้าที่นำพาไปสู่ความงามเหล่านั้น

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ