เมตาเวิร์สกับการศึกษาไทย จะเดินไปด้วยกันในรูปแบบไหน
แวดวงการศึกษาเป็นอีกเป้าหมายที่เชื่อว่าเมตาเวิร์สจะเข้าไปมีบทบาทเปลี่ยนแปลงรูปแบบและเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนให้ดีขึ้น เพื่อให้ผู้สอนและผู้เรียนเชื่อมต่อกันด้วยเมตาเวิร์สที่จะกลายเป็นสถานที่ที่สาม มีเนื้อหามากมายให้เรียนรู้ และเป็นที่ฝึกทักษะที่ช่วยประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลา
แต่ประเทศไทยจะไปถึงจุดที่ใช้เมตาเวิร์สปฏิวัติการเรียนรู้ได้ดีแค่ไหน ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณะบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง นำประสบการณ์ใช้งานเมตาเวิร์สที่ลาดกระบัง ซึ่งมีการตั้งศูนย์เมตาเวิร์สขึ้นมาแล้ว จะมาแชร์ประสบการณ์และชี้ให้เห็นแนวโน้มและโอกาสของเมตาเวิร์สที่จะเข้ามีส่วนร่วมพัฒนารูปแบบการศึกษาไทยได้อย่างไรบ้าง
“ไม่ว่าเราสนใจเมตาเวิร์สหรือไม่ แต่โลกกำลังผลักดันเราไปทางนั้น” ผศ.ดร.อันธิกา เกริ่นนำถึงเมตาเวิร์สที่ทำให้คนที่อาจจะไม่เคยสนใจ รู้สึกอยากรู้จักเมตาเวิร์สขึ้นมาทันที
ตามที่คนรู้จักกันทั่วไป เมตาเวิร์ส หมายถึงโลกสามมิติที่ผสมผสานทั้งโลกจริงและโลกเสมือนเข้าไว้ด้วยกันแบบไร้รอยต่อ ที่จะทำให้ผู้คนสามารถเข้าไปใช้ชีวิต ทั้งทำงาน พักผ่อน เล่นเกม พบปะพูดคุย สังสรรค์ รวมทั้งมีกิจกรรมร่วมกันได้เหมือนกิจกรรมต่าง ๆ ในโลกจริง โดยมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นพื้นฐานและปัจจุบันต้องอาศัยอุปกรณ์ เช่น มือถือ อุปกรณ์สวมศีรษะ ฯลฯ เป็นเครื่องมือในการเข้าถึง
ผศ.ดร.อันธิกา เล่าว่า ที่ผ่านมาคณะสถาปัตยฯ มีประสบการณ์กับการพัฒนาเมตาเวิร์ส เช่น เปิดตัว KMITL Metaverse ศูนย์การเรียนรู้เมตาเวิร์สครบวงจร เพื่อใช้ในการเรียนการสอนรวมทั้งเปิดให้ผู้สนใจภายนอกเข้าไปศึกษาและใช้งานได้ พร้อมกับมีการจัดกิจกรรมหลายอย่างของมหาวิทยาลัยที่ทำในรูปแบบเมตาเวิร์ส โดยเฉพาะเพื่อเลี่ยงข้อจำกัดที่ทำให้ผู้คนไม่สามารถมาพบปะกันได้ด้วยตัวตนจริง ๆ ในช่วงโควิด ทำให้เมตาเวิร์สที่เริ่มก่อตั้งขึ้นพัฒนาไปมากกว่าแค่เรื่องการเรียนการสอนเพียงอย่างเดียว
“ในโลกการศึกษาต้องให้ความสำคัญกับเมตาเวิร์ส แม้ปัจจุบันเมตาเวิร์สจะยังมีขีดจำกัดในเรื่องของความเร็วอินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์ต่าง ๆ แต่ก็ต้องเริ่มพัฒนาและทดลอง เพราะวันหนึ่งเมื่ออินเทอร์เน็ตยกระดับเป็น 6G, 7G เหมือนที่ใช้กันในอวกาศ ความสมจริงของเมตาเวิร์สก็จะมากขึ้นและเป็นเรียลไทม์จริงๆ ฉะนั้นเป็นประเด็นที่ภาคการศึกษาต้องให้ความสนใจและสร้างความคุ้นเคยตั้งแต่ตอนนี้”
ตัวอย่างในต่างประเทศ มีการใช้เมตาเวิร์สในการศึกษาที่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ทำให้การเข้าไปค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้เหมือนลงไปยังพื้นที่จริง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาประวัติศาตร์ หรือโลกอวกาศ ลบข้อจำกัดของการศึกษารูปแบบเดิมที่ค้นคว้าบนหน้ากระดาษหรือในคอมพิวเตอร์ซึ่งอาจจะถูกลืมไปได้เลยในอนาคต การใช้เมตาเวิร์สในการสร้างแบบจำลอง ทดลอง ที่นอกจากช่วยลดค่าใช้จ่าย ยังทำให้เห็นภาพของการวิจัยต่าง ๆ และชิ้นงานที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาของคณะสถาปัตย์ที่ต้องมีการออกแบบ ทำแบบจำลอง แก้ไขแบบ ที่จะได้ประโยชน์จากการศึกษาผ่านเมตาเวิร์สโดยตรง
“เราไม่ต้องมาทำแบบจำลองกันจริง ๆ แต่ทำในเมตาเวิร์ส ผิดแก้ไขได้แล้วระบบสามารถบันทึก หรือหยุดเพื่อให้ศึกษารายละเอียดหรือกลับมาย้อนดูได้ และรูปแบบการศึกษาในเมตาเวิร์ส ยังทำลายข้อจำกัดในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสนใจต่อผู้เรียนมากขึ้น จะเรียนผ่านเกม หรือทำเป็นเกมเพื่อการศึกษาก็ได้ ที่สำคัญคือลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาในหลาย ๆ ด้าน ผู้เรียนอาจจะไม่ถูกจำกัดด้วยอายุจะเด็ก ผู้สูงวัย หรือผู้พิการด้านใดก็สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมผ่านเมตาเวิร์ส ไม่รวมถึงการสร้างอวตาร์ขึ้นแทนตัวตนของแต่ละคนในโลกของเมตาเวิร์สที่สามารถกำหนดรูปลักษณ์ที่อยากจะเป็นได้ตามความต้องการ” ผศ.ดร.อันธิกา กล่าว และเล่าตัวอย่างการใช้งานเมตาเวิร์สในการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นจริงในช่วงโควิดให้ฟังอีกว่า
“ที่คณะสถาปัตยฯ ถือว่าพัฒนาเรื่องเมตาเวิร์สเร็วมาก ในรายวิชาหนึ่งเรามีการคำนวณพื้นที่สีเขียวของบางกระเจ้า เราจะเรียนผ่าน Zoom ง่าย ๆ ก็ได้ แต่เราเลือกให้นักศึกษาและอาจารย์อวตาร์ตัวเองเข้าไปพรีเซ็นต์งานในเมตาเวิร์ส แม้จะยังไม่สมบูรณ์ ขยับช้า ไม่มีขาเพราะข้อจำกัดเรื่องอินเทอร์เน็ต แต่ก็ทำให้เรียนได้สนุกและมีข้อได้เปรียบกว่าการเรียนในชั้นเรียนแบบเดิมมาก”
กรณีนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ยืนยันว่า ทำไมมหาวิทยาลัยต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมตาเวิร์ส ถึงขั้นเปิดศูนย์เรียนรู้เมตาเวิร์ส ที่มีอุปกรณ์ครบครัน ที่ไม่เพียงใช้เรียนรู้กันเองในมหาวิทยาลัย ยังใช้เป็นพื้นที่ให้มหาวิทยาลัยทำกิจกรรมกับภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมสนับสนุนการเรียนรู้ได้อย่างน่าสนใจ เช่นมหาวิทยาลัยเคยจัดให้มีการจัดประกวดออกแบบร้านเซเว่นบนดาวอังคารผ่านเมตาเวิร์ส นอกจากเป็นกิจกรรมเรียนรู้ที่สนุกและสร้างสรรค์ ยังเป็นการส่งเสริมจินตนาการและกระตุ้นให้เกิดการเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้นด้วย
จากการเริ่มพัฒนาและศึกษาเกี่ยวกับเมตาเวิร์ส ผศ.ดร.อันธิกา กล่าวว่า มีการสรุปผลบวกของการศึกษาที่ได้จากเมตาเวิร์สไว้ 6 ด้าน หนึ่ง-ทำให้ทุกคนเชื่อมต่อมารวมกันในโลกเสมือนได้โดยไม่จำเป็นต้องมีมหาวิทยาลัย สอง-ยกระดับการเรียนรู้จากการฝึกทักษะผ่านโลกเสมือนเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนแบบไฮบริด สาม-ช่วยเปิดโลกการเรียนรู้ที่แตกต่างผ่านการสร้างภาพหรือการเล่าเรื่องเสมือนจริง สี่-สร้างความสามารถของมนุษย์ในสถานการณ์ระหว่างบุคคลหรือสถานการณ์ที่ยากลำบาก ห้า-ช่วยให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้เท่าเทียมกับคนทั่วไปมากขึ้น และ 6-เพิ่มประสิทธิภาพในการรับข้อมูลต่างในการเรียนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้วยศักยภาพของเมตาเวิร์สที่มีบทบาทต่อการศึกษาที่จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นนี้ รวมถึงเมตาเวิร์สที่จะมีบทบาทกับอีกหลาย ๆ กิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเพื่อการทำงานหรือพักผ่อน แบบนี้แล้วใครที่คิดจะรอให้ตัวเองถูกโลกบังคับเปลี่ยน ต้องลองหันกลับมาคิดใหม่และเริ่มต้นศึกษาหาข้อมูลไว้จะดีกว่า โดยเฉพาะถ้าได้ฟังข้อมูลจาก บิลล์ เกต ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ ที่ ผศ.ดร.อันธิกา ยกมายืนยันว่า บิลล์ เกต ทำนายไว้ว่า ภายในปี 2568 ซึ่งไม่เกิน 3 ปีต่อจากนี้ การเรียนรู้และการประชุมจะขยับไปอยู่บนเมตาเวิร์สทั้งหมด ก็น่าจะเป็นเครื่องยืนยันว่าเราทุกคนคงหนี้โลกเมตาเวิร์สไม่พ้นจริง ๆ
ในงาน “STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2022” หรือ SITE 2022 จัดโดย NIA สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ภายใต้แนวคิด “Reconnecting the World เชื่อมเรา เชื่อมโลก กลับมาเจอกัน”
จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ดูรายละเอียดงานเพิ่มเติมได้ที่ https://site.nia.or.th