สู่บทเรียน “ธนาคารกลางท่ามกลางความท้าทาย” ของผู้ว่าการวิรไท
วันที่ 30 กันยายน 2563 จะครบวาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ของ ดร.วิรไท สันติประภพ ตลอดเส้นทาง 5 ปี ในฐานะ “หัวเรือใหญ่” ขององค์กรที่มีพันธกิจหลักคือ การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศท่ามกลางความท้าทายมากมาย ทั้งจากระบบเศรษฐกิจและการค้าโลกที่คาดเดาได้ยาก ตลาดทุนและตลาดการเงินที่ผันผวนสูง การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัลในโลกการเงิน ตลอดจนวิกฤติโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลก
Conversation with the Governor ฉบับส่งท้ายตำแหน่งของผู้ว่าการ ธปท. คนปัจจุบัน ได้รับเกียรติจากคุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร นักคิดและนักเขียนชื่อดัง เจ้าของเพจ “8 บรรทัดครึ่ง” มาชวนคุยถึงบทสรุปการเดินทางในโลก VUCA ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งสิ่งที่ฝากถึงชาว ธปท. เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโจทย์ใหญ่ในอนาคตที่จะท้าทายการดำเนินงานของธนาคารกลางมากยิ่งขึ้น
ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง เท่าทันโลกการเงินยุคใหม่
คุณกวีวุฒิ : ขอเริ่มต้นจากการย้อนกลับไปมองการทำงานตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ท่านผู้ว่าการคิดว่าบรรลุเป้าหมายตามที่คาดหวังไว้หรือไม่
ดร.วิรไท : ผมถือว่าการทำหน้าที่ผู้ว่าการเป็นการเดินทางร่วมกับพี่น้องชาว ธปท. เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจการเงินไทย ไปพร้อม ๆ กับการทำหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของธนาคารกลาง คือการดูแลเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศ
ถ้ามองในภาพใหญ่ ผมคิดว่ามีหลายเรื่องที่ ธปท. ได้ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และอาจมีหลายเรื่องที่ยังไม่เกิดผลอย่างที่ต้องการ
ขอยกตัวอย่างเรื่องที่เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนและประชาชนสัมผัสได้คือ การทำให้มีระบบนิเวศการเงินดิจิทัลในระบบการเงินไทย อย่างเช่นการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เมื่อก่อนประเทศไทยอาจจะยังตามหลังหลายประเทศ แต่วันนี้เราเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่ามีพัฒนาการด้าน e-Payment ที่ดีมาก จนหลายประเทศขอเรียนรู้และถอดบทเรียนจากเรา
อีกตัวอย่างหนึ่งที่เราได้พัฒนามากขึ้นคือ การดูแลเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวม (financial stability) จากเดิมที่เราให้ความสำคัญกับธนาคารพาณิชย์เพราะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยตรง แต่เมื่อระบบการเงินมีความซับซ้อนมากขึ้นและเชื่อมโยงกันสูงขึ้นมาก
เวลาเกิดปัญหาที่จุดใดจุดหนึ่งก็อาจลามไปทั้งระบบการเงินได้เร็วมาก การยกระดับการทำงานร่วมกันของผู้กำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ธปท. กระทรวงการคลัง ผู้กำกับดูแลด้านตลาดทุน และผู้กำกับดูแลด้านประกันภัย ไปพร้อมกับการสร้างองค์ความรู้และการพัฒนาฐานข้อมูล ทำให้เราสามารถออกมาตรการหลายอย่างได้อย่างเท่าทัน โดยเฉพาะมาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงินและช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19
การบริหารความคาดหวังที่หลากหลายคือสิ่งที่ท้าทายมาก
คุณกวีวุฒิ : อะไรคือความท้าทายที่สุดในการทำหน้าที่ผู้ว่าการ ธปท.
ดร.วิรไท : ธปท. มีหน้างานที่กว้างมาก ตั้งแต่การทำนโยบายการเงินเพื่อดูแลเสถียรภาพด้านราคาและดูแลเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ตามศักยภาพ การกำกับดูแลสถาบันการเงิน การบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศ การบริหารระบบการชำระเงินหลักของประเทศไปจนถึงการบริหารจัดการธนบัตร และการคุ้มครองและให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน การทำงานของ ธปท. จึงกระทบกับทุกคนในมิติที่แตกต่างกัน
คนส่วนใหญ่อาจรู้สึกว่า “ธปท.” เป็นเรื่องไกลตัว แต่แท้จริงแล้ว งานของ ธปท. เป็นเรื่องใกล้ตัวและเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความคาดหวังแตกต่างกัน การบริหารความคาดหวังจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะไม่มีทางที่การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของ ธปท. จะถูกใจทุกคน และไม่ควรเป็นเช่นนั้นด้วยเพราะทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด และไม่มีอะไรฟรี อีกทั้ง “เสถียรภาพ” เป็นเรื่องที่ต้องมองไปให้ไกล มองไปในระยะยาว แปลว่าต้องยอมเสียสละบางอย่างในช่วงระยะสั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในระยะยาว
การบริหารความคาดหวังและการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการทำนโยบายของ ธปท. จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และจะเป็นความท้าทายของธนาคารกลางต่อไปในอนาคต
เทคนิคการรับมือกับความคาดหวังที่มีต่อการดำเนินนโยบายของ ธปท.
คุณกวีวุฒิ : ในเมื่อการบริหารความคาดหวังถือเป็นความท้าทายของ ธปท. ท่านผู้ว่าการมีเทคนิคในการรับมือกับความคาดหวังที่หลากหลายจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างไร
ดร.วิรไท : ข้อแรกคือ นโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่เราทำต้องอธิบายได้ การตัดสินใจทุกอย่างของ ธปท. จะต้องอยู่บนหลักการที่ชัดเจนและมีข้อมูลประกอบ ในโลกปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมากขึ้น นโยบายที่เราทำส่งผลกระทบกับคนหลากหลายกลุ่มซึ่งมีความคาดหวังแตกต่างกัน ฉะนั้น เราจึงต้องทำนโยบายให้ตรงจุดและมีเป้าหมายชัดเจน จะทำแบบเหวี่ยงแหไม่ได้ นี่คือหลักปฏิบัติที่สำคัญมากในการทำงานตลอด 5 ปีที่ผ่านมา และจะยิ่งสำคัญมากขึ้นไปอีกในอนาคต
อีกข้อหนึ่งที่สำคัญคือ การสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (stakeholders engagement) เราต้องสร้างความเข้าใจไว้ล่วงหน้าก่อนออกนโยบายต่าง ๆ ทั้งกับผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ต้องเข้าใจความกังวลและปัญหาของแต่ละกลุ่ม และอธิบายได้ว่าสิ่งที่ ธปท. ทำจะมีผลอย่างไร จะแก้ความกังวลของเขาได้อย่างไร เราต้องสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย เพื่อที่เขาจะยินดีให้ข้อมูลกับเราอย่างตรงไปตรงมา ตรงนี้ถือเป็นหัวใจของการบริหารความคาดหวัง และยอมรับในการตัดสินใจสุดท้ายของ ธปท.
นอกจากนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญมากทำอย่างไรเราจึงจะสื่อสารไปสู่ประชาชนหรือภาคธุรกิจซึ่งเป็นเป้าหมายปลายทางของนโยบายได้ เพราะการทำนโยบายใด ๆ ก็ตามต้องมีผลต่อพฤติกรรมของประชาชนและภาคธุรกิจ ถ้าเขาเข้าใจและเห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำ จึงจะเกิดผลลัพธ์อย่างที่ต้องการได้
เมื่อก่อน ธปท. มักสื่อสารนโยบายกับสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแล แล้วคาดหวังว่านโยบายเหล่านั้นจะมีผลต่อประชาชนและภาคธุรกิจ แต่ในโลกความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น ในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา ธปท. จึงเพิ่มการรับฟังและพูดคุยกับผู้คนที่หลากหลายในสังคมไทยเพื่อนำความคิดเห็นและคำแนะนำที่ได้รับมาเป็นแนวทางการทำงานและการออกนโยบายต่าง ๆ
ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน
คุณกวีวุฒิ : ค่านิยมร่วมขององค์กรที่ว่า “ยืนตรง มองไกลยื่นมือ ติดดิน” มีส่วนช่วยในการบริหารจัดการความคาดหวังของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง
ดร.วิรไท : ค่านิยมร่วมเป็นเรื่องสำคัญมาก “ยืนตรง มองไกลยื่นมือ ติดดิน” เริ่มมาตั้งแต่สมัยท่านผู้ว่าการธาริษา วัฒนเกส ปฏิบัติต่อเนื่องมาสมัยท่านผู้ว่าการประสาร ไตรรัตน์วรกุล จนถึงปัจจุบัน เป็นหลักการที่สำคัญอย่างยิ่งของคน ธปท. เพราะสินทรัพย์สำคัญที่สุดของ ธปท. ก็คือ ความเชื่อถือของประชาชนและสังคม ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีต่อ ธปท.
คำว่า “ยืนตรง” คือ ธปท. ต้องมีหลักการชัดเจนในสิ่งที่ทำการยืนตรงนี้เองที่จะทำให้คนเกิดศรัทธา ทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้งคนที่พอใจและอาจจะไม่พอใจในสิ่งที่เราทำ “มองไกล” ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะเราจะมาตามแก้ปัญหาอย่างเดียวไม่ได้ หน้าที่หลักของ ธปท. คือการรักษาเสถียรภาพ ซึ่งเป็นแนวคิดระยะยาว ฉะนั้น เราต้องมองไปข้างหน้าตลอดเวลา คน ธปท. จึงต้องตื่นตัวอยู่เสมอ แล้วพยายามมองว่ามีปัญหาใดบ้างที่อาจเกิดขึ้น และจัดการให้ได้ก่อนที่ปัญหาจะเกิดหรือลุกลามใหญ่โต ซึ่งทั้ง “ยืนตรง” และ “มองไกล” ถือเป็น DNA ของคน ธปท. มาตั้งแต่ในอดีต ทำให้เราได้รับการยอมรับและสามารถเข้าไปมีส่วนสำคัญในการให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง
ส่วน “ยื่นมือ” และ “ติดดิน” จะมีความสำคัญมากขึ้นในโลกปัจจุบันและโลกอนาคต เมื่อโลกเศรษฐกิจซับซ้อนมากขึ้น นโยบายของ ธปท. ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองแล้วเกิดผลอย่างที่ต้องการอีกทั้งไม่มีมาตรการใดมาตรการหนึ่งที่จะตอบโจทย์ยาก ๆ ของระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยได้ การ “ยื่นมือ” ทำงานร่วมกับผู้คนที่หลากหลายในสังคม ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จึงเป็นเรื่องสำคัญ สุดท้าย “ติดดิน” ก็คือ เราต้องเข้าใจปัญหาและความต้องการของผู้อื่นแบบติดดิน ไม่ใช่อยู่บนหอคอย การออกนโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ ต้องนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงและเกิดผลลัพธ์ตามที่เราต้องการ
ผมเชื่อว่า หลักการ “ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน” จะเป็นคุณค่าหลัก (core value) ของการดำเนินนโยบายของ ธปท.ไปอีกนาน
มองให้ไกล มองให้เห็นปัญหาในระยะยาว
คุณกวีวุฒิ : มองไปในอนาคต ท่านคิดว่าประเทศไทยยังมีปัญหาใดที่น่าเป็นห่วงในมิติทางเศรษฐกิจ และการทำงานของ ธปท. จะช่วยสอดประสานให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นในสังคมไทยอย่างไร
ดร.วิรไท : มีหลายเรื่องที่จะยิ่งท้าทายมากขึ้นในอนาคต ทำให้ต้องคิดว่าสิ่งที่ ธปท. เคยมองและทำงานในมุมเดิม โดยเฉพาะเรื่องการกำกับดูแลระบบการเงินและสถาบันการเงิน อาจไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะยกระดับเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนได้ ดังนั้น เราจึงต้องมองให้ไกลและมองให้รอบกว่าเดิม
เรื่องหนึ่งที่เราให้ความสำคัญมากขึ้น คือการดูแลผู้ใช้บริการทางการเงินที่มีหลากหลายกลุ่มให้ได้รับบริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม เพราะในอดีตผู้บริโภครายเล็กไม่มีอำนาจต่อรองกับสถาบันการเงิน หรือพฤติกรรมของสถาบันการเงินที่ปฏิบัติต่อเนื่องมายาวนาน กลายเป็นเอาเปรียบผู้บริโภคเกินพอดี เช่น การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และค่าธรรมเนียมหลายอย่างที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค การบังคับขายประกันจนผู้บริโภคไม่อยากไปสาขาธนาคารพาณิชย์ การให้บริการทางการเงินที่ตรงกับความต้องการของผู้ขายแต่ไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธปท. จึงได้ยกเครื่องกฎเกณฑ์การกำกับดูแลเรื่องการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (market conduct) ได้ทำงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ของระบบเศรษฐกิจไทย เราจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นและต้องทบทวนนโยบายอยู่ตลอดเวลาเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม
ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ ธปท. ให้ความสำคัญมาก เป็นปัญหาใหญ่ต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว และพอเกิดวิกฤติโควิด 19 ปัญหานี้ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเพราะประชาชนขาดรายได้จึงจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นมากเพื่อมาเลี้ยงชีพ ซึ่งจะมีผลกับฐานการออมของประเทศในระยะยาว และการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แปลว่าเราจะต้องมีเงินออมไว้ใช้เมื่ออายุมากขึ้น แต่เรากลับเริ่มมาจากจุดที่เปราะบาง การแก้ไขปัญหาต้องอาศัยหลากหลายมิติ ตั้งแต่เรื่องของการแข่งขันระหว่างสถาบันการเงินที่เร่งปล่อยสินเชื่อจนเกินพอดี พฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่และค่านิยม “ของมันต้องมี” ที่ทำให้ไม่คำนึงถึงการวางแผนทางการเงินระยะยาว ไปจนถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ระดับต่ำจนไม่สร้างแรงจูงใจให้คนออม หรือแม้แต่การขาดความรู้ความเข้าใจทางการเงินซึ่งเป็นทักษะสำคัญของชีวิต
จะเห็นได้ว่า ธปท. ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาเองได้ทั้งหมด ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย แม้จะเป็นปัญหาในระยะยาว แต่ถ้าเราไม่เริ่มแก้ไขจริงจังตั้งแต่วันนี้ ปัญหาก็จะยิ่งใหญ่ขึ้นและแก้ยากมากขึ้นด้วยเช่นกัน
การประสานนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
คุณกวีวุฒิ : เพื่อช่วยกันแก้ “โจทย์ยาก” ของประเทศให้ลุล่วง ธปท. กับรัฐบาลต้องมีความสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง
ดร.วิรไท : ธปท. เป็นองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่ทำนโยบายดังนั้นเราจึงต้องทำงานสอดประสานกับนโยบายด้านอื่นของประเทศเวลาที่พูดถึง “ความเป็นอิสระ” ของธนาคารกลาง ไม่ได้หมายถึง
การทำงานอย่างโดดเดี่ยว เราต้องพูดคุยกับรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ เพื่อประสานนโยบายอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันต้องไม่ทำให้การดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบการเงินถูกบั่นทอนประสิทธิภาพและประสิทธิผลลง หากมีสิ่งที่ภาคการเมืองหรือรัฐบาลอยากให้เราทำ แต่เมื่อเห็นว่าจะสร้างผลเสียในระยะยาว เราก็ต้องยึดมั่นในหลักการของธนาคารกลางอย่างชัดเจนและต้องอธิบายได้ว่าไม่ควรทำเพราะอะไร
ฉะนั้น ธนาคารกลางกับรัฐบาลจะต้องทำงานร่วมกันแต่ต้องรักษาระยะห่างให้เหมาะสมด้วย เพราะธนาคารกลางถูกออกแบบให้มีพันธกิจหลักด้านการรักษาเสถียรภาพซึ่งเป็นเรื่องระยะยาว ขณะที่รัฐบาลโดยทั่วไปมักให้ความสำคัญกับเรื่องระยะสั้นตามระยะเวลาของการเลือกตั้ง เช่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีในช่วงเวลาสั้น ๆ ธนาคารกลางกับรัฐบาลจึงอาจเห็นต่างกันบ้างในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายและการทำนโยบาย ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาของธนาคารกลางทุกประเทศ เพราะธนาคารกลางเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ต้องเตือนเมื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อนแรงจนเกินพอดี หรือมีจุดเปราะบางเกิดขึ้นในจุดใดจุดหนึ่งของระบบเศรษฐกิจถ้าเราเห็นสัญญาณไม่ดีก็ต้องแตะเบรกเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามจนเกิดเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ
“ทีมงาน” ขุมพลังแห่งการทำงานของผู้ว่าการ
คุณกวีวุฒิ : มองย้อนกลับไป 5 ปีที่ผ่านมา ด้วยภาระหน้าที่ที่ค่อนข้างหนัก ท่านผู้ว่าการมีเทคนิคในการรีเฟรช (refresh) ตัวเองอย่างไรให้อยากตื่นขึ้นมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกวัน
ดร.วิรไท : ถ้าเราเข้าใจว่าพันธกิจของเราคืออะไร และตระหนักว่างานที่ทำมีความสำคัญอย่างไรบ้าง จะช่วยทำให้เกิดพลังในการทำงาน ผมถือว่าการอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. เป็นโอกาสที่จะช่วยให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนได้ นอกจากนี้ ต้องบอกว่าผมโชคดีเพราะเพื่อนร่วมงานที่ ธปท. มีแนวคิดคล้ายกันอยู่มาก คนที่ตัดสินใจมาทำงานที่นี่มักเป็นคนที่มีจิตสาธารณะ ยอมสละผลประโยชน์ในภาคเอกชนที่ได้รับผลตอบแทนสูงกว่า เพราะฉะนั้น เราจึงมี “ทีมงาน” ที่มีพลัง มีความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่จะช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดพลังในการทำงานเพื่อส่วนรวม
ปรับความสมดุลในชีวิตและไม่หยุดเรียนรู้
คุณกวีวุฒิ : หลังจากหมดวาระผู้ว่าการ ธปท. แล้ว ท่านวางแผนว่าจะทำอะไรบ้าง
ดร.วิรไท : ผมยังไม่ได้มีแผนอะไรที่ชัดเจน ผมเป็นคนที่ถ้าตัดสินใจจะทำอะไร ต้องทำเต็มที่ ทำให้ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สมดุลในชีวิตบางอย่างอาจจะไม่ค่อยดีนัก เมื่อพ้นจากการทำหน้าที่ผู้ว่าการแล้ว จึงอยากใช้เวลาเพื่อปรับสมดุลด้านต่าง ๆ ของชีวิตให้ดีขึ้นกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจตัวเอง การให้เวลากับครอบครัว รวมถึงการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วย เรื่องที่ผมเรียนรู้ในช่วงที่ผ่านมาจะเน้นหนักในเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการเงินและระบบการเงิน แต่ในโลกยังมีองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาก เราจะหยุดนิ่งไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องเรียนรู้ตลอดเวลาเพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง
ฝากข้อคิดถึงเพื่อนพนักงาน ธปท.
คุณกวีวุฒิ : สุดท้ายอยากให้ท่านฝากข้อคิดถึงเพื่อนพนักงาน ธปท. เพื่อใช้ในการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ
ดร.วิรไท : ผมขอย้อนกลับไปที่ค่านิยมร่วมของชาว ธปท. คือ “ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ และติดดิน” ผมมั่นใจว่ายืนตรงกับมองไกลเป็น DNA ของชาว ธปท. อยู่แล้ว แต่ในระยะข้างหน้าการยื่นมือและติดดินจะเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้น เราต้องเปิดใจเพื่อจะเข้าใจคนอื่น เข้าใจปัญหา และเข้าใจความต้องการ เพื่อช่วยประสานการทำงานและสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกับผู้คนที่หลากหลายในสังคมได้ นอกจากนี้ สิ่งที่เราทำต้องไม่เป็นเพียงทฤษฎีที่อยู่บนหิ้ง แต่ต้องนำไปใช้ได้ในทางปฏิบัติและเกิดผลได้จริงต้องเน้นที่ผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิดขึ้น เรื่องเหล่านี้สำคัญสำหรับการสร้างความน่าเชื่อถือและศรัทธาให้กับ ธปท.
ผมย้ำอีกครั้งว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ธนาคารกลางทำงานได้คือความน่าเชื่อถือและศรัทธาของประชาชน โจทย์ที่เราจะเผชิญในอนาคตจะเป็นโจทย์ที่ท้าทายและซับซ้อนมากขึ้น และเราก็ไม่สามารถทำตามความคาดหวังของทุกคนได้ บางครั้งเราอาจจะต้องทำในสิ่งที่คนไม่พอใจหรืออาจขัดผลประโยชน์ แต่เราต้องทำให้เขาเห็นว่า สิ่งที่ ธปท. ตัดสินใจทำ ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยในระยะยาว แม้คนบางกลุ่มอาจเสียผลประโยชน์ในระยะสั้น ๆ ถ้าคน ธปท. ช่วยกันสร้างบรรทัดฐานเช่นนี้ให้เกิดขึ้นเราจะสามารถทำหน้าที่ธนาคารกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในระยะยาว