รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กับพันธกิจ ‘Digital Transformation’ และการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่ยุคสมัยแห่งดิจิทัล
เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ‘ภาคอุตสาหกรรม’ คือฟันเฟืองหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เปรียบเสมือนรากฐานที่ครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่ระดับล่างสุดของห่วงโซ่การผลิตไปจนถึงระดับบนสุดที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและการให้บริการ การดำรงอยู่ของระบบเศรษฐกิจ การซื้อขายสินค้า ล้วนมีภาคอุตสาหกรรมอยู่เบื้องหลังคอยหล่อเลี้ยงและขับเคลื่อน ยิ่งขนาดความต้องการสินค้าอุปโภค-บริโภคภายในประเทศมีมากขึ้น ภาคอุตสาหกรรมโดยรวมก็จะเติบโตและมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย กลไกนี้เปรียบเสมือนแรงจูงใจ ผลักดันให้เกิดการพัฒนาและขยายขนาดของภาคอุตสาหกรรม เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมทั้งระบบ
ในยุคที่การเติบโตอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ภาคอุตสาหกรรมเผชิญความท้าทายใหม่จากมาตรฐานสากลและเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้การดำเนินงานมีความซับซ้อนมากขึ้น สังคมให้ความสำคัญกับประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม และด้วยปัจจัยที่เพิ่มทวีขึ้น แรงงานคนเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ อุตสาหกรรมจึงจำเป็นต้องก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเร่งด่วน
GM Magazine มีโอกาสสัมภาษณ์ รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ถึงพันธกิจขององค์กรในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล และดำเนินงานด้านภาคอุตสาหกรรมของประเทศ และเป้าหมายในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล รวมทั้งโครงการ ‘Digital Twin’ ที่จะพลิกโฉมหน้าภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่ความทันสมัยทัดเทียมระดับสากล
จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านสู่ ‘Digital Transformation’
รศ.ดร.วีริศ : ช่วงแรกของการเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. ก็ได้รับนโยบายจากคณะกรรมการ กนอ. ในการดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ Digital ตามแนวนโยบายที่รัฐบาลได้วางไว้ โดยการนำระบบ Digital เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดค่าใช้จ่าย ประกอบกับช่วงที่ผมเข้ามารับตำแหน่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 พอดี จึงเป็นช่วงเวลาที่หลายภาคส่วนถูกบังคับให้ต้องทำงานแบบ Digital มากขึ้น
ทั้งนี้ จุดประสงค์ของการเปลี่ยนผ่านเป็นดิจิทัลก็เพื่อลดความซ้ำซ้อน และความไม่เชื่อมโยงของระบบงานและข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผมต้องการข้อมูลต่างๆ ของโรงงานและจำนวนแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่ แต่ใช้เวลานานเกือบสัปดาห์กว่าจะได้ ซึ่งผมมองว่าช้าและเสียเวลาอย่างมาก จึงเกิดความคิดว่าน่าจะมีข้อมูลชุดใหญ่ 1 ชุด แล้วใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาเชื่อมโยงถึงกันให้เกิดความเป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพ จนเกิดเป็นแนวทางและจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านสู่การทำงานที่ใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วย ประกอบกับที่การทำงานในยุคปัจจุบันมีปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการเปิดรับเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ซึ่งการทำงานกับคนหลายช่วงอายุวัย ตั้งแต่วัย 20 ต้นๆ จนถึงคนวัยใกล้เกษียณ ทำให้เห็นว่าการปรับตัวเข้าสู่รูปแบบดิจิทัลมีอุปสรรคติดขัดด้านใดบ้าง การติดขัดในการขับเคลื่อนขององค์กรมีอะไรบ้าง ฐานข้อมูลมีการเชื่อมโยงอย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ คำถามเหล่านี้เมื่อทราบคำตอบแล้ว จะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านได้อย่างถูกจุด และมีประสิทธิภาพในการให้บริการกับประชาชนได้ดียิ่งขึ้น เพราะหน้าที่ของการนิคมอุตสาหกรรมคือการอนุมัติและอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการต่างๆ ซึ่งถ้าทุกอย่างเชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำได้อย่างรวดเร็วผ่านทางออนไลน์ ก็จะนำไปสู่ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการและนักลงทุนได้เป็นอย่างมากด้วยเช่นกันครับ
การแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมของภูมิภาคค่อนข้างสูงมากโดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน ขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านควรต้องมีรูปแบบใด
รศ.ดร.วีริศ : อย่างแรกสุดเลย คือสร้างความเข้าใจกับคนในองค์กรก่อนว่าเมื่อเปลี่ยนผ่านเป็น Digital แล้ว เราจะได้อะไร Digital จะมาช่วยในการทำงานของพนักงาน กนอ. อย่างไร ขั้นตอนต่อไปคือการเชื่อมโยงระบบงานต่างๆ เข้าด้วยกัน เมื่อการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น การสื่อสารและประสานงานกับลูกค้า ซึ่งก็คือผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม และผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม จะใช้ภาพ Graphic หรือ Dashboard ที่เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น จากการวิเคราะห์ในรูปแบบ Data Analytic ด้วยระบบ AI ซึ่งจะช่วยยกระดับการให้บริการแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในการเป็นการยกระดับศูนย์เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (ศสป.) เป็นศูนย์กลางการสนับสนุนและบริหารจัดการในสถานการณ์ปกติและภาวะฉุกเฉิน
โครงการ Digital Twin คือตัวนำร่องของการนิคมอุตสาหกรรมสำหรับการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล อยากให้ช่วยอธิบายภาพรวมของโครงการนี้
รศ.ดร.วีริศ : Digital Twin เป็น Platform พื้นฐาน คือถ้ามีนิคมอุตสาหกรรมก็ต้องมี Platform มีระบบสาธารณูปโภค มีถนน มีรถ มีเสาไฟฟ้า เหล่านี้คือ Digital Platform โดย Digital Twin ก็มีเหมือนกัน ก็คือมี Platform ที่อยู่บนโลกเสมือนจริงบนระบบดิจิทัล เพื่อใช้ในการกำกับดูแลภาพรวมของนิคม รวมถึงข้อมูลทรัพย์สินต่างๆ ที่นิคมอุตสาหกรรมมี เช่น เรามีเสาไฟฟ้ากี่ต้น มีถนนรวมกี่กิโลเมตร มีระบบบำบัดน้ำเสียอยู่ตรงไหน อันนี้เป็นเรื่อง Asset Management ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Digital Twin เพราะเมื่อมีโลกเสมือนของนิคมอุตสาหกรรมอยู่บน Platform แล้ว ก็จะสามารถดึงระบบต่างๆ เข้ามารวมกันได้ ทั้งบัญชี การเงิน การบริหารทรัพยากรบุคคล การบริหารทรัพย์สิน ระบบ e-PP ระบบการอนุมัติอนุญาต การเชื่อมโยงงานด้านพัสดุ รวมถึงข้อมูลต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพและมีความถูกต้อง ซึ่งเมื่อมีระบบเสมือนจริงที่ค่อนข้างละเอียดแม่นยำสูง ระยะของจริงกับระยะดิจิทัลห่างกันเป็นหลักมิลลิเมตร ก็จะสามารถใช้ระบบนี้ในการตรวจสอบทรัพย์สินต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมได้ ซึ่งก็อาจกล่าวได้ว่า Digital Twin เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงที่จะเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมไปสู่ยุค Digital
และในอนาคตสามารถขยายระบบถึงการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำเสียก่อนเข้าระบบและออกจากระบบบำบัดน้ำเสีย รวมถึงข้อมูลที่จำเป็นเมื่อต้องบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉิน เช่น ข้อมูลสารเคมีของโรงงานอุตสาหกรรม แม้กระทั่งพิมพ์เขียวของโรงงานอุตสาหกรรม และสามารถฝึกซ้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินในสภาพแวดล้อมเสมือนจริงที่ปลอดภัย ซึ่งทำได้หมด การนำข้อมูลจาก CCTV เข้ามาบริหารการจราจรได้ นำระบบการจัดการน้ำมีสูญหายอยู่ส่วนไหน สามารถบริหารจัดการได้จากเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่ติดอยู่หลักๆ คือ Digital Twin เป็น Platform ที่รวมทุกอย่างของ กนอ. ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และนี่คือสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างมากของ Digital Twin
นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาการทำงาน บางอย่างสามารถขอข้อมูลกันได้โดยใช้เวลา 1-2 วัน ในการขอข้อมูลข้ามฝ่าย ข้ามสายงาน ข้ามนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งผู้บริหาร กนอ. ก็สามารถเรียกดูข้อมูลได้เองจากหน้าจอของท่านตามสิทธิ์ที่อนุญาตให้เข้าถึง โดยใช้เวลาเพียง 5-10 วินาที ช่วยลดเวลาการทำงาน สามารถตัดสินใจบนข้อมูลที่เป็น Real-Time มีเอกภาพ Digital Twin ที่พัฒนาขึ้นสามารถต่อยอดไปสู่การจำลองสถานการฉุกเฉินภายในโรงงานที่อาจเกิดขึ้นประกอบการปรับปรุงแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้, จำลองการตั้งโรงงานในพื้นที่ที่ว่างอยู่เพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม และหากเชื่อมต่อกับ Smart Factory และระบบ e-PP ดำเนินการได้สมบูรณ์ก็จะนำไปสู่การบริหารจัดการโรงงานอุตสาหกรรมแบบไร้รอยต่อ ซึ่งการบริหารจัดการเหล่านี้ ผู้ประกอบการไม่ต้องกังวลกับกระบวนการเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ เมื่อเซ็นเซอร์ต่างๆ ของโรงงานสามารถส่งข้อมูลเข้าไปยังระบบ e-PP ได้ ทำให้มีความเป็นไปได้ในการลดภาระการจัดทำเอกสารของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสามารถใช้เวลาไปกับธุรกิจได้เต็มที่โดยไม่ต้องกังวลกับระบบเอกสารคำขอต่างๆ และข้อมูลเหล่านี้เมื่อนำมาวิเคราะห์ในภาพรวมยังสามารถให้คำแนะนำกลับไปยังโรงงานและต่อยอดไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานอีกทางหนึ่ง
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ Digital Twin ถูกนำมาใช้ในภาคนิคมอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง
รศ.ดร.วีริศ : ที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับ กนอ. เช่น Digital Facility Platform, Digital Human Resource Platform, Smart Facility Management และ Cyber Security กว่า 584 ล้านบาท อันเป็นผลจากการลดระยะเวลาดำเนินการรับ-ส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้มากกว่า 95% ซึ่งจะดึงดูดการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้พลังงาน ลดการเกิดของเสีย ทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น
ขณะที่โลกปัจจุบันกำลังถูกท้าทายด้วยการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ก่อให้เกิดรูปแบบการดำเนินการใหม่ๆ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงและมีแนวโน้มต้นทุนลดลง กนอ. ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของประเทศที่มีภารกิจในการดึงดูดการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ไม่สามารถรอให้การเปลี่ยนแปลงมาถึงก่อนแล้วจึงคิดจะเปลี่ยนแปลง ดังนั้น จึงต้องเตรียมรองรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อเปลี่ยนโฉมสู่โลกแห่งดิจิทัล (Digital Transformation) และ Digital Twin ที่พัฒนาขึ้นเป็นองค์ประกอบที่ช่วยให้ กนอ. อยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็วได้ แต่ที่สำคัญที่สุดขององค์กรจะอยู่รอดไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว หากแต่อยู่ที่บุคลากรซึ่งเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนองค์กรที่แท้จริงครับ
เมื่อเปลี่ยนผ่านเป็น Digital Transformation แล้ว ในมุมของท่านผู้ว่าการ กนอ. ได้ประโยชน์อย่างไร
รศ.ดร.วีริศ : ผมมองว่าสามารถสร้างความมั่นใจในการตัดสินใจด้านธุรกิจ มองเห็นโอกาสทางธุรกิจได้รวดเร็วและชัดเจนขึ้น มีการคาดการณ์ที่มีความแม่นยำ มีความคล่องตัวในการดำเนินงานและปรับตัวให้สอดคล้องกับปริมาณงานที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานสูงขึ้น สร้างการมีส่วนร่วมและความผูกพันของพนักงานจากการบริหารจัดการบนข้อมูลที่มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้
ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่กำลังรวบรวมอยู่ตอนนี้ มีความคืบหน้ามากน้อยเพียงใด
รศ.ดร.วีริศ : ตอนนี้ในภาพรวมดำเนินไปได้ครึ่งทางแล้วครับ เพราะในช่วงปีแรกจะเป็นการวางแนวทาง วางไอเดียเพื่อให้คนเข้าใจและเห็นภาพว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ส่วนปีถัดมาเป็นการของบประมาณเพื่อดำเนินการ และในปี 2566 ที่ผ่านมา กนอ. ได้ทดลองโมเดล Digital Twin กับนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาครเป็นแห่งแรก ซึ่งแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ทันสมัยและเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ และผู้ประกอบการให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
คาดว่าโครงการ Digital Twin จะแล้วเสร็จได้ในช่วงเวลาใด
รศ.ดร.วีริศ : ผมคาดการณ์เอาไว้ว่าโครงการจะแล้วเสร็จได้ในช่วงปลายปีงบประมาณ 2567 นี้ ซึ่งในส่วนของข้อมูลต่างๆ ของทาง กนอ. ก็ไม่ได้มีปัญหาการแบ่งปันหรือแชร์ให้กับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งคิดว่าเดือนกันยายนที่จะถึงนี้น่าจะได้เห็นภาพว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร และสามารถนำเสนอให้กับสาธารณชนได้รับทราบโดยทั่วกัน ซึ่งน่าจะเป็นฐานข้อมูลหลักใหญ่ทางด้านภาคอุตสาหกรรมของประเทศได้อย่างแน่นอน
มองว่าหลังจากโครงการ Digital Twin แล้วเสร็จ จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีความน่าดึงดูดในสายตานักลงทุนมากน้อยเพียงใด
รศ.ดร.วีริศ : แน่นอนว่าความดึงดูดใจต่อนักลงทุนย่อมมากขึ้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า Digital Twin คือการนำเอาข้อมูลจำนวนมหาศาลมาจัดวางเรียงกันให้ดูเข้าใจได้ง่าย แต่การที่ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีสาธารณูปโภค 5G และ Internet of Things ที่พร้อมบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งที่จะได้ถัดจากนี้ไป หากเป็นระดับโรงงานก็คือการนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะกระบวนการผลิต การใช้พลังงาน การสั่งสินค้าคงคลัง สามารถสั่งการด้วยระบบดิจิทัลได้ ซึ่งจากจุดนี้ขั้นตอนต่อไปของ กนอ. คือการหาบริษัทที่มีศักยภาพและเทคโนโลยีดังกล่าวมาร่วมทุนทางธุรกิจ เพื่อให้โรงงานและนิคมอุตสาหกรรมสามารถดำเนินงานด้วยระบบดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โรงงานและนิคมอุตสาหกรรมมีความตื่นตัวมากน้อยเพียงใดกับความเปลี่ยนผ่านที่กำลังจะมาถึง
รศ.ดร.วีริศ : เชื่ออย่างยิ่งว่าผู้ประกอบการต่างก็มองถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ไว้อยู่แล้ว เพียงแต่ถ้าเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กอาจจะมีปัญหาในเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐและการนิคมอุตสาหกรรมจะต้องหาวิธีหรือเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ราคาไม่แพงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าวครับ
วางแผนระยะยาวของ กนอ. ไว้อย่างไร
รศ.ดร.วีริศ : แผนระยะยาวของ กนอ. นั้น คือการบริหารทุกอย่างให้ยั่งยืน เรื่องเทคโนโลยีนั้นมีเข้ามาอย่างแน่นอน ซึ่งจะดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นในราคาที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีด้านพลังงาน ด้านอุตสาหกรรม เพราะหน้าที่ของการนิคมอุตสาหกรรมคือการหา Solution ที่ดีขึ้น และกระจาย Solution เหล่านั้นออกไปสู่วงกว้าง ให้ได้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งจะไปเกี่ยวข้องกับเป้าประสงค์ของระดับสากล อย่างเช่น การลดโลกร้อน การใช้พลังงานสะอาด ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น กนอ. มองไว้หรือไม่ว่าจะทำอย่างไรให้คนยังสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องห่วงกังวล
รศ.ดร.วีริศ : มีการพูดคุยเรื่องนี้กันบ่อยครั้งและได้ข้อสรุปว่า ทุกคนต้องปรับตัว และต้องมีสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา กนอ. เองเมื่อมีข้อมูลจำนวนมากอยู่ในมือก็จะสามารถทราบได้ว่าความต้องการของคนงานคือสิ่งใด ต้องการการฝึกฝนเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งต่อยอดไปสู่สถาบัน กนอ. เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน โดยร่วมมือกับหลายๆ หน่วยงาน ซึ่งในภาพของประเทศแน่นอนว่าภาคอุตสาหกรรมจะต้องเติบโตขึ้น หน้าที่หนึ่งของการนิคมอุตสาหกรรม คือการผลัดเปลี่ยนรูปแบบอุตสาหกรรม ให้เปลี่ยนจากอุตสาหกรรมแรงงานมาสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลักสำคัญ เพื่อให้ทุกอย่างสอดคล้องกันไป ทั้งค่าแรงเพิ่มขึ้น ทักษะฝีมือแรงงานมากขึ้น อุตสาหกรรมที่ดีขึ้น
ทราบว่าเป็นคนที่ใส่ใจด้านสุขภาพ คำว่า ‘สุขภาพที่ดี’ ของท่านผู้ว่าการ กนอ. จะต้องเป็นอย่างไร
รศ.ดร.วีริศ : สำหรับผม คนสุขภาพดีคือคนที่มีสมดุลระหว่างการทำงาน การออกกำลังกาย การพักผ่อน การรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ และต้องมีสุขภาพจิตที่ดีประกอบกันไปด้วย ต้องเรียนว่างานของ กนอ. ค่อนข้างหนักและเยอะ เพราะต้องติดต่อกับนักลงทุนที่เข้ามา และต้องทำให้ได้ตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งอาจใช้เวลาอยู่บ้างอย่างไรก็ตาม ต้องพยายามหาเวลาว่างเพื่อออกกำลังกาย รวมทั้งการนั่งสมาธิก็สามารถช่วยลดความเครียดได้
ทั้งนี้ในส่วนของการดูแลสุขภาพพนักงาน นอกจากจะมีเรื่องออกกำลังกาย ชมรมกีฬาต่างๆ แล้ว ยังได้มีการพูดคุยกันในบอร์ดบริหารเกี่ยวกับการทำงาน 4 วัน ใน 1 สัปดาห์ ว่าจะสามารถเป็นไปได้หรือไม่ กล่าวคือ ทำงานที่สำนักงาน 4 วัน อีก 1 วันทำงานจากที่ไหนก็ได้ ก็พยายามศึกษาข้อกฎหมายและระเบียบ เพราะถ้าจะไปสู่ความเป็น Digital ก็อาจพอเป็นไปได้ แต่ฝ่ายที่ต้องประสานงานกับลูกค้าก็ต้องไม่ขาดตกบกพร่อง หรือการประชุมกับหน่วยงานภายนอกก็ต้องไม่ขาดหายไป ในปัจจุบัน กนอ. ก็มีการจัดเวลาเข้า-ออกงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถเช็กอินเวลาเข้า-ออกงานได้โดยผ่านแอปพลิเคชันภายในระยะขอบเขตของ กนอ. โดยไม่ต้องเสียเวลามายืนรอสแกนนิ้วมืออีก
คิดอย่างไรกับคำว่า ‘Work-Life Balance’ และเชื่อในแนวทางนี้หรือไม่
รศ.ดร.วีริศ : ส่วนตัวผมมองว่าในปัจจุบันหลายคนประสบปัญหาที่ทำให้รู้สึกว่างานเข้ามาปะปนกับการใช้ชีวิตมากเกินไป และไม่สามารถแบ่งแยกเวลาการทำงานและการใช้ชีวิตออกจากกันได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้ชีวิตของเราเสียสมดุลจนนำไปสู่ผลเสียต่อสุขภาพอย่างชัดเจน
ผมมีแนวคิดที่ไม่ได้แบ่งแยกการทำงานออกจากการใช้ชีวิต แต่เป็นการสนับสนุนแนวทางผสมผสานทั้งการใช้ชีวิตและการทำงานให้เป็นหนึ่งเดียวกัน หรือ Work-Life Harmony โดยแนวคิดนี้น่าจะเหมาะสมกับการใช้ชีวิตในปัจจุบันมากกว่า เพราะเป็นแนวคิดที่มีความยืดหยุ่น เช่น อาจจะเลิกงานเร็วแต่ก็พร้อมที่จะประชุมหรือทำงานช่วงนอกเวลางานได้ ซึ่งจะทำให้มีความสุขในการใช้ชีวิตและทำให้สามารถทำงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยที่ไม่จำเป็นต้องแยกการทำงานกับการใช้ชีวิตออกจากกัน แต่สามารถมีความสุขทั้งจากการทำงาน และการใช้ชีวิตไปพร้อมๆ กันได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ตายตัว แต่ละคนต้องค้นหาวิธีที่เหมาะสมกับตัวเอง
ในฐานะผู้บริหารที่ต้องทำงานร่วมกันกับทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า มีหลักเกณฑ์ในการบริหารงานอย่างไร
รศ.ดร.วีริศ : อย่างแรกเลยคือต้องเข้าใจความแตกต่างของคนในแต่ละรุ่น คนรุ่นใหม่กล้าแสดงออก มีความคิดริเริ่ม ต้องการความท้าทาย ขณะที่คนรุ่นเก่าประสบการณ์สูง ทำงานละเอียด มีความรับผิดชอบสูง ซึ่งต้องผสานข้อดีเหล่านี้ให้ได้อย่างลงตัวด้วยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพชัดเจน ตรงไปตรงมา เปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างตั้งใจ
รวมทั้งคอยกระตุ้นการทำงานร่วมกัน สนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ต่อกัน สร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน อีกทั้งต้องมอบหมายงานให้เหมาะสมกับทักษะความสามารถที่มี ประกอบกับแรงจูงใจที่ดี
ซึ่งตัวผมเองก็ต้องเป็นผู้นำที่มีความรู้ ปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้คนในองค์กรได้ปฏิบัติตามและไว้วางใจด้วยครับ
หลักปรัชญาที่ยึดใช้ในการทำงาน
รศ.ดร.วีริศ : ในแง่ปรัชญาการทำงานจะให้ความสำคัญต่อการ ‘ยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง’ การทำงานทุกอย่างต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ไม่ใช้โอกาสฟุ่มเฟือย พยายามพัฒนาสิ่งที่ตัวเรามีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น สร้างโอกาสให้บุคลากร องค์กร และประเทศชาติ เพื่อสุดท้ายแล้วประเทศชาติต้องได้ประโยชน์สูงสุดจากสิ่งที่เราทำครับ