บล็อกเชน กลไกสำคัญเชื่อมต่อโลกจริงกับโลกเสมือน
หนึ่งในเทคโนโลยีหลักที่ขับเคลื่อนเมตาเวิร์ส คือ บล็อกเชน ที่สามารถระบุความเป็นเจ้าของและยืนยันองค์ประกอบต่างๆ ในโลกดิจิทัลและเมตาเวิร์ส การใช้งานบล็อกเชนในเมตาเวิร์ส จึงเป็นเหมือนตัวกรองข้อมูลที่ทำให้โลกเสมือนกับโลกจริงมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ในการเชื่อมต่อกัน แต่อย่างไรนั้นต้องฟังจากตัวจริงในวงการกับกลไกเบื้องหลังเมตาเวิร์สของไทยที่ยังต้องลงทุนเพื่อพัฒนาองค์ประกอบอีกหลายด้าน
กฤษดา รองรัตน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าถึงการดำเนินงานของบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับโลกดิจิทัลโดยเฉพาะว่า บริษัททำงานด้านบล็อกเชน จัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือของ 6 ธนาคาร
ขณะที่ สุรศักดิ์ วนิชเวทย์พิบูล หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี แผนกธุรกิจคลาวด์ ประเทศไทย บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด มาเล่าให้ฟังถึงการพัฒนาบริการของหัวเว่ยที่เกี่ยวข้องและจะส่งเสริมการพัฒนาโลกดิจิทัลและเมตาเวิร์สในไทยว่า นอกจากคอสซูเมอร์บิสซิเนสที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักหัวเว่ย ทั้งจาก สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อื่น ๆ หัวเว่ยยังมีธุรกิจที่หลากหลายที่คนไทยอาจจะไม่รู้ว่าหัวเว่ยทำด้วย เช่น มีธุรกิจรถยนต์ในจีน เป็นบริษัทที่มีสิทธิบัตรมากที่สุดในโลก เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีที่ใช้ในองค์กร เป็นผู้นำในตลาดไวไฟ 6 และไวไฟ 7 (“EHT-Extremely High Throughput) ที่ทำให้ไวไฟทำงานได้อย่างเสถียรและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการเป็นผู้ให้บริการคลาวด์บิสซิเนสยูนิตที่มีส่วนแบ่งตลาดอันดับสามในไทย แต่มีระยะห่างจากเบอร์ 1-2 ไม่เกิน 3% และอีกธุรกิจที่เกิดขึ้นด้วยเป้าหมายด้านการดูแลสภาพแวดล้อม คือ ดิจิทัลเพาเวอร์บิสซิเนส ที่มีผลิตภัณฑ์ตัวแปลงสัญญาณไฟจากโซลาร์เซลมาใช้ในบ้านที่มีส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งเป็นผู้นำของโลก
“หัวเว่ยมีการตั้งพับบลิกคลาวด์ในไทย เพื่อซัพพอร์ทสตาร์ทอัพ เมื่อเมตาเวิร์สเริ่มเติบโตเทคโนโลยีที่อยู่หลังบ้านยังมีเอไอ นอกจาก เออาร์ วีอาร์ และบล็อกเชนที่เป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ของเมตาเวิร์ส โดยหัวเว่ยซัพพอร์ทเรื่องของการเชื่อมต่อ สมาร์ทดีไวซ์ และคลาวด์เทคโนโลยี รวมทั้งมีเมตาสตูดิโอที่เปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว ที่หวังว่าจะใช้กับธุรกิจคลาวด์ในไทยได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมทั้งเป็นสมาชิกหลักของเมตาเวิร์สบิสซิเนสฟอรั่มเพื่อมีส่วนสร้างมาตรฐานที่เป็นสิ่งสำคัญมาก”
โดย สุรศักดิ์ ชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจคลาวด์ที่หัวเว่ยเข้ามาเปิดศูนย์บริการในไทย มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกับเมตาเวิร์สคือสนับสนุนในเรื่องของการทำงานแบบกระจายศูนย์ไม่ว่าจะเรื่องของบล็อกเชน เมตาเวิร์ส หรือWeb 3.0 ส่วนใหญ่แล้วก็คือมองที่จะเป็นกระจายศูนย์ บางอย่างอาจจะยังไม่เห็นภาพ เช่น เกมวีอาร์ ฯลฯ แต่เมื่อมองในมุมที่จะสเกลใหญ่ขึ้น แบบเดียวกับเมตาเวิร์สที่คาดว่าจะต้องรองรับปริมาณผู้ใช้จำนวนมาก คลาวด์จะมีบทบาทสำคัญมาก ๆ เป็นเหตุผลให้หัวเว่ยเลือกที่จะไม่พับบลิคคลาวด์แค่ศูนย์เดียว แต่มีถึง 3 ดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยเพื่อให้กระจายใช้งานได้ทั้งสามศูนย์ เพราะคงไม่มีใครอยากเห็นเมตาเวิร์สพังหรือเข้าไม่ได้ จากการมีแค่ศูนย์เดียวซึ่งจะเป็นข้อจำกัดเกินไป
กฤษดา กล่าวเพิ่มเติมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างเมตาเวิร์สและบล็อกเชนว่า ด้วยความที่เมตาเวิร์สเป็นโลกเสมือนที่ให้คนเข้าไปทำกิจกรรมจำนวนมาก เกิดชุมชนที่จะให้เสมือนจริงได้ก็ต้องอาศัยอุปกรณ์ เช่น เออาร์ วีอาร์ เพื่อช่วยในการสร้างภาพที่คล้ายกับของจริงที่เรียกว่าเป็นดิจิทัลทวิน เพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ที่จำลองอยู่ในนั้น หน้าที่ของบล็อกเชน เป็นดาต้าเบสที่จะกระจายออกไปไม่ได้อยู่ที่ใดที่หนึ่ง ทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยน ลบ หรือแก้ไขข้อมูลได้ บล็อกเชนจึงเป็นตัวที่ทำให้ข้อมูลในเมตาเวิร์สถูกต้องและน่าเชื่อถือมากขึ้น ทำหน้าที่จัดเก็บดาต้าและมีอีกหน้าที่ที่สำคัญคือทำหน้าที่เชื่อมกับโลกจริงกับโลกเสมือน
“ตัวอย่างการใช้งานเมตาเวิร์สที่เห็นในปัจจุบัน เช่น กลุ่มคริปโท เอ็นเอฟที ดีฟาย ที่เกี่ยวข้องกับบล็อกเชนโดยตรง เพราะทั้งหมดต้องอาศัยความน่าเชื่อถือของข้อมูล บล็อกเชนทำให้สิ่งเหล่านี้น่าเชื่อถือมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการใช้งานที่ไม่เกี่ยวกับบล็อกเชนโดยตรง เช่น การจัดอีเวนท์ การโฆษณาบนบิลล์บอร์ด ฯลฯ ซึ่งต่อไปเราจะเห็นโฆษณาแบบเดียวกับโลกจริงในโลกเสมือน เพราะเมตาเวิร์สคือการสร้างให้ผู้ใช้ได้ประสบการณ์ที่เหมือนจริง หรือแม้แต่อสังหาริทรัพย์ ถ้าอยากซื้อขายที่ดินหรือเช่าพื้นที่เพื่อสร้างบ้าน หรือเปิดร้าน เราไม่ต้องเดินทางไปด้วยตัวเอง แต่ตรวจสอบผ่านเมตาเวิร์สได้ แถมยังตรวจสอบพื้นที่ข้างเคียงได้ด้วยเหมือนที่บางคนอาจจะเคยได้ยินในชื่อเอิร์ธทวิน เมตาเวิร์สทำให้เราตรวจสอบพื้นที่ทางกายภาพได้บนโลกดิจิทัล ซึ่งสามารถปรับไปใช้งานในเรื่องสำคัญกว่านั้นได้ด้วย เช่น การตรวจสอบภัยพิบัติต่าง ๆ ที่มีความใกล้เคียงกับโลกจริงมาก ทั้งโลกกายภาพและเมตาเวิร์สจึงทำให้เรารับมือภัยพิบัติได้เร็วขึ้นกว่าเดิม โดยยิ่งได้รับข้อมูลที่แม่นยำจากเมตาเวิร์สมากเท่าไรก็จะยิ่งทำให้จัดการกับโลกจริงได้ดีขึ้น”
ที่สำคัญกรณีของกฎหมายพีดีพีเอ ที่ไทยเพิ่งประกาศใช้ หน้าที่ของบล็อกเชนที่มีอยู่บนเมตาเวิร์สหลัก ๆ จะเกี่ยวข้องกับข้อมูลที่อยู่ในเมตาเวิร์สโดยตรง และอย่างแรกบล็อกเชนจะเข้าไปดูแลข้อมูลที่มีความอ่อนไหวไม่ให้ถูกเปิดเผยตามที่ผู้ใช้กำหนดไว้ และเรื่องของข้อมูลคุณภาพ บล็อกเชนจะเข้าไปช่วยดูดาต้าที่อยู่ในเมตาเวิร์สว่าที่มาที่ไปของข้อมูลเชื่อถือได้ขนาดไหน โดยมีเอไอในการรับส่งข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งเมื่อบล็อกเชนช่วยตรวจสอบความถูกต้อง ก็จะทำให้ข้อมูลที่ไหลเข้าไปที่เอไอเป็นข้อมูลคุณภาพที่มีผลต่อการประมวลผลที่แม่นยำมากขึ้น
แล้วบล็อกเชนกับเมตาเวิร์ส ควรทำงานควบคู่หรือแยกจากกัน กฤษดา มีความเห็นว่า ด้วยเทคโนโลยีและอินฟราสตรัคเจอร์ในอนาคตที่เชื่อว่าจะสามารถลดต้นทุนช่วยประหยัดพลังงานได้มากขึ้น จะทำให้บล็อกเชนทำงานบนเมเตอร์เวิร์สได้โดยยังคงรักษาคุณสมบัติความน่าเชื่อถือของตัวบล็อกเชนเอง ซึ่งความคุ้มค่าของการรันบล็อกเชนในเมตาเวิร์สเมื่อแลกกับเรื่องของดาต้าไพรเวซี่ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หรือแม้กระทั่งเรื่อง integrity ยิ่งน่าจะเป็นเรื่องคุ้มต่อการนำเอาเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้าไปใช้ในเมตาเวิร์ส เพื่อให้เวิร์สเหล่านั้นมีความมั่นคงน่าเชื่อถือในการใช้งานเมตาเวิร์สต่อไป
สุรศักดิ์ เองก็เห็นพ้องด้วย โดยเสริมว่าในแง่ของการลดค่าใช้จ่ายเรื่องการใช้พลังงานกับการใช้งานอย่างกระจาย ทำให้ธุรกิจคลาวด์ที่หัวเว่ยให้ความสำคัญ จะมีบทบาทเสริมที่ดี เพราะไม่ใช่ทุกคนใช้งานเมตาเวิร์สตลอดเวลา การใช้คลาวด์เป็นการใช้ทรัพยากรส่วนกลางที่ช่วยให้ค่าใช้จ่ายถูกลง คนเข้าน้อยจ่ายน้อย เข้ามากจ่ายมาก ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน และที่สำคัญผู้ให้บริการคลาวด์ส่วนใหญ่จะมีการควบคุมการใช้พลังงานที่ดี เหมือนที่หัวเว่ยมีหน่วยงานอย่างดิจิทัลเพาเวอร์ช่วยเรื่องการจัดการการใช้พลังงาน เพราะต้องไม่ลืมว่านอกจากการพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาเมตาเวิร์ส แต่สิ่งสำคัญที่ทุกธุรกิจรวมทั้งทุกคนบนโลกต้องให้ความร่วมมือและตระหนักควบคู่กันอย่างจริงจังไม่ว่าเรื่องใดคือการให้ความสำคัญกับการใช้พลังงาน ที่ต้องช่วยกันลดการใช้พลังงานและพัฒนาไปสู่เน็ตซีโร่อย่างร่วมแรงร่วมใจกันด้วย
เนื้อหาบางส่วนจากในงาน “STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2022” หรือ SITE 2022 จัดโดย NIA สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ภายใต้แนวคิด “Reconnecting the World เชื่อมเรา เชื่อมโลก กลับมาเจอกัน” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ดูรายละเอียดงานเพิ่มเติมได้ที่ https://site.nia.or.th