ความเป็นเมืองนวัตกรรมไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
เป้าหมายของการเชื่อมเมืองนวัตกรรมกับนานาประเทศทั่วไปเพิ่งได้รับการพัฒนาไปอีกขั้น หลังจากงาน “สตาร์ทอัพและอินโนเวชันไทยแลนด์ เอ็กซ์โป 2022” (STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2022 : SITE 2022) ที่มีทั้งการจัดงานให้ชมกันจริง ๆ ที่ อาคารอุทยานนวัตกรรม ซอยโยธี ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และเป็นไฮบริดให้เลือกชมงานในรูปแบบ METAVERS เต็มรูปแบบ ระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ที่เพิ่งจบลงไป
การแสดงผลงานของสตาร์ทอัพ และหน่วยงานต่าง ๆ ภายในงาน รวมทั้งความรู้และประสบการณ์จากวิทยากรกว่า 80 รายผ่านหัวข้อต่าง ๆในฟอรัมที่จัดขึ้นในงาน ทำให้ได้เห็นความพร้อมทางนวัตกรรมของ ในอุตสาหกรรมและพื้นที่ต่าง ๆ ที่สามารถพัฒนาเชื่อมต่อกับเมืองนวัตกรรมอื่น ๆ ของโลกได้อย่างแท้จริง ตอบโจทย์แนวคิดของงาน SITE 2022 ในปีนี้ที่ว่า “Reconnecting the World เชื่อมเรา เชื่อมโลก กลับมาเจอกัน” ได้ตรงตัว
จากการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพโลกประจำปี 2565 (Global Startup Ecosystem Index 2022) ซึ่งเว็บไซต์ StartupBlink ศูนย์กลางข้อมูลด้านระบบนิเวศนวัตกรรมทั่วโลกได้มีการจัดอับดับ 100 ประเทศ และ 1,000 เมือง ที่มีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดของโลก พบว่า กรุงเทพฯ ยังคงได้รับการจัดอันดับติดอยู่ใน 100 อันดับเมืองแรกของโลก เป็นอันดับที่ 11 ในเอเชียแปซิฟิก และยังคงเป็นอันดับ 4 ในอาเซียน เป็นรองประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยยังนำฟิลิปปินส์และเวียดนาม
จากข้อมูลของ NIA ยังยืนยันว่า ประเทศไทยคงศักยภาพที่จะเป็นเมืองแห่งนวัตกรรมใน 3 ด้าน ได้แก่ นวัตกรรมทางการเงิน การเติบโตของศูนย์กลางการบิน และการสร้างเขตนวัตกรรมที่เชิญชวนการลงทุนระหว่างประเทศ โดยจะเห็นได้ว่าแม้ต้องเผชิญช่วงวิกฤตโควิด แต่ประเทศไทยมีการจัดการกับปัญหาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สามารถทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตอบรับกระแส urbanization หรือ การกลายเป็นเมืองซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและต้องมีนโยบายอย่างสม่ำเสมอ ที่จะส่งเสริมหรือให้พื้นที่สำหรับนวัตกรรมเพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว และให้คนเมืองมีวิถีชีวิตที่ดีในเมืองใญ่ พร้อมไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองและประเทศ ซึ่งกรุงเทพฯยังคงรักษาการเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านนวัตกรรมระดับภูมิภาคไว้ได้ดีด้วย
“กรุงเทพฯมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางลงทุนด้านนวัตกรรมของอาเซียน โดยจะเห็นว่าก่อนหน้านี้นักลงทุนมีทางเลือกระหว่างสิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ และจาการ์ตา ปัจจุบันเริ่มมีบริษัทร่วมทุนระดับโลกจำนวนมากขึ้นเลือกที่จะลงทุนในกรุงเทพฯ เนื่องจากชื่อเสียงของเมืองในฐานะแหล่งรวมนวัตกรรมทางการเงิน อันเนื่องมาจากโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างขึ้นอย่างดีของเมือง นอกจากนี้กรุงเทพฯยังดำเนินการขยายโอกาสให้กับผู้มีทักษะหรือมีประสบการณ์ ได้มีการส่งเสริมองค์ความรู้ ความร่วมมือทางการค้า และการเชื่อมโยงทางธุรกิจใหม่ ๆ” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว พร้อมกับชี้ให้เห็นศักยภาพที่เป็นจุดแข็งของกรุงเทพฯที่เป็นพื้นฐานพัฒนาสู่เมืองนวัตกรรมที่ดีด้วยว่า
กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีสถาบันการศึกษาหลากหลายที่ช่วยส่งเสริมให้มีการยกระดับทักษะและการปรับทักษะใหม่ ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาบริการทางการเงิน ประกอบกับมีนโยบายดึงนักลงทุนสตาร์ทอัพและด้านนวัตกรรมจากทั้งในและนอกประเทศโดยการสร้างกรอบส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยอุตสาหกรรมนวัตกรรมทางการเงิน นอกจากนี้ยังมีศักยภาพด้านการเป็น ศูนย์กลางการบิน ของภูมิภาค ที่จะมีบทบาทเชื่อมต่อโลกเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติหลักวิกฤตโควิด ซึ่งแม้จะมีคู่แข่งสำคัญอย่างสิงคโปร์ในด้านนี้ แต่ไทยมีข้อได้เปรียบด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ดีกว่า อีกทั้งการคาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมก็เป็นปัจจัยสนับสนุนที่ดีด้วย
“การที่จะส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางการบินของกรุงเทพให้ดีขึ้น ยังเป็นโอกาสของนักพัฒนาที่จะหาโซลูชั่นสำหรับนักเดินทางและความสะดวกสำหรับผู้ประกอบการ ที่นวัตกรจากทั่วทุกมุมโลกสามารถคิดสร้างสรรค์เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมและร่วมมือกับภาคส่วนอื่น ๆ ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่า กรุงเทพฯป็นเมืองที่เปิดกว้างสำหรับพลเมืองโลกอย่างแท้จริง”
ขณะที่เขตหรือย่านนวัตกรรมในกรุงเทพฯ ก็ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมมองหาความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อกำหนดย่านนวัตกรรมให้สามารถพัฒนาเอกลักษณ์ของเมืองให้มีความโดดเด่นในนวัตกรรมด้านต่าง ๆ เช่น การแพทย์ ดิจิทัล ท่องเที่ยว โลจิสติกส์ และอื่นๆ เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถทำหน้าที่เป็นศูนย์บ่มเพาะสำหรับผู้ประกอบการและตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่ผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมากจะได้รับประโยชน์จากความมุ่งมั่นในการจัดตั้งย่านนวัตกรรมที่เกิดขึ้น
ดังนั้นไม่ว่าในระดับโลกหรืออาเซียน การพัฒนาความเป็นเมืองนวัตกรรมของไทย ยังคงจัดว่าเดินหน้าอยู่เสมอ
รวมถึงตอนนี้กรุงเทพฯมีสตาร์ทอัพที่พัฒนาอยู่ใน 8 จาก 11 อุตสาหกรรม โดยในปี 2565 ได้รับการยอมรับว่ามีความโดดเด่นที่สุดในด้านเทคโนโลยีการศึกษา (Edtech) นอกจากเหนือจากความโดดเด่นในด้านอื่น ๆ ที่มีอยู่เดิมแล้วอย่าง อีคอมเมิร์ซ การคมนาคมขนส่ง และฟินเทค
เมืองนวัตกรรมอันดับรองจากกรุงเทพฯของไทยยังมี ภูเก็ต เชียงใหม่ และพัทยา ซึ่งเห็นได้ชัดว่าทุกเมืองพัฒนาต่อจากความเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ไทยมีความโดดเด่นในด้านนี้มานาน แล้วมีการพัฒนานวัตกรรมกระจายออกไปเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศในระดับท้องถิ่นเพิ่มขึ้น โดยทั้งกรุงเทพฯและเมืองเหล่านี้ ไม่เพียงมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวแต่ยังได้รับการยอมรับว่ามีความพร้อมรองรับกลุ่ม Digital Nomad ที่เป็นเทรนด์ของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทุกเมืองของไทยจะได้รับการจัดอันดับลดลงจากปีที่แล้วเพราะสถานการณ์โควิดและมาตรการล็อคดาวน์ที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของทั้ง 4 เมืองโดยตรง แต่ก็เห็นได้ว่าทุกเมืองยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเชื่อว่าจะกลับมารีคอนเน็กและได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นในปีต่อไป
ทั้งนี้ ภายในงาน SITE 2022 ที่ผ่านมา มีการจัดโชว์พื้นที่นวัตกรรมจากทั้ง 4 ภาคของไทย พร้อมแสดงเส้นทางนวัตกรรมตั้งแต่ต้นทางในการวิจัย กระบวนการ จนเข้าสู่ตลาดให้เห็นถึงศักยภาพด้านนวัตกรรมที่สามารถเข้าถึงการพัฒนาของพื้นที่ต่าง ๆ ของไทยได้ทั่วถึงและหลากหลายมิติ
* กรุงเทพฯ เป็นตัวแทนจากภาคกลางจัดแสดงย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี เพื่อสะท้อนด้านนวัตกรรมเพื่อชีวิตที่มีสุขภาพดี (Health Living) ซึ่งย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี เป็นย่านนวัตกรรมการแพทย์แห่งแรกของไทยที่มุ่งพัฒนาสู่ย่านนวัตกรรมด้านการแพทย์อันดับต้น ๆ ในอาเซียน เป็นเขตส่งเสริมการลงทุนเพื่อรองรับการวิจัยและพัฒนาที่นอกจากสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เข้มแข็งแล้ว ยังคาดหวังว่าจะทำให้เกิดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่นำมาใช้และต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ที่ผ่านมามีผลงานวิจัยสู่การขยายผลเชิงพาณิชย์ให้เห็นแล้วในการแก้ปัญหาด้านทันตกรรม
* นครราชสีมา เป็นตัวแทนเมืองนวัตกรรมจากภาคอีสานในด้านนวัตกรรมเพื่อชีวิตที่มีอาชีพและรายได้ใหม่ (Wealthy Living) นำ โคราชวากิว มาจัดแสดงให้เห็นถึงแนวคิดในการพัฒนาวัวสายพันธุ์วากิวเพื่อเพิ่มมูลค่าให้เกษตรกรผู้เลี้ยงวัว ผลิตเนื้อวัวระดับเกรดพรีเมียมทดแทนการนำเข้าสู่ตลาดที่มีความต้องการบริโภคเนื้อคุณภาพมากขึ้น โดยใช้นวัตกรรมยกระดับการพัฒนาเนื้อตั้งแต่ต้นทางที่ฟาร์มจนถึงการแปรรูปและส่งเข้าสู่เครือข่ายร้านอาหาร
* เชียงใหม่ ยังคงได้รับเลือกเป็นตัวแทนจากภาคเหนือ โดยมีย่านนวัตกรรมเกษตรแม่โจ้ มาเผยแพรน่วัตกรรมเพื่อชีวิตที่มีสุขภาพดี (Healthy Living) ซึ่งย่านนวัตกรรมเกษตรแม่โจ้ มีเป้าหมายพัฒนาเป็น “วัลเลย์นวัตกรรมการเกษตรของไทย” เพราะมีความพร้อมทั้งด้านงานวิจัยจากการมีสถาบันการศึกษาในพื้นที่ มีพื้นที่ทดสอบ และมีความร่วมมือกับหน่วยงานชุมชนที่จะสนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพด้านเกษตรที่ยกระดับสู่ระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก ต่อไป ล่าสุดยังได้เพิ่มการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชา ผ่านฟาร์มวิจัยกัญชา เพื่อผลิตสารคานาบินอยด์สำหรับการแพทย์ตามความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นหลังไทยมีนโยบายกัญชาเสรี
* ภาคใต้ มีโมเดล “เขา ป่า นา เล” จากพัทลุงเป็นตัวแทนแสดงให้เห็นนวัตกรรมเพื่อชีวิตที่เป็นมิตรกับโลก (Smart Living) อีก ทั้งยังเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนานวัตกรรมเกิดได้แม้ในระดับชุมชน เหมือนเช่นที่พัทลุงที่ส่งเสริมนวัตกรรมผ่านวิสาหกิจชุมชนระดับภูมิภาคท้องถิ่น ให้มีการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นต้นทาง ไปสู่กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรในพื้นที่ เช่น ปลาลูกเบร่ ที่มีอยู่มากในแหล่งน้ำของจังหวัดพัทลุง ไปสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายเชิงพาณิชย์สู่ตลาดทั่วไป
“จากภาพการพัฒนานวัตกรรมของพื้นที่ต่าง ๆ ในไทย จะเห็นว่ามีความเป็นเอกลักษณ์เพราะหยิบจับสิ่งที่มี อยู่มาพัฒนาต่อยอดด้วยนวัตกรรม ซึ่งหลายเมืองทั่วโลกมีนโยบายในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ ตลอดจนทำให้ชุมชนน่าอยู่มากขึ้นไม่ตั้งกัน โดยเฉพาะเพื่อให้เมืองเป็นเมืองที่ยั่งยืน จึงมีการใช้นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาและจัดการกับปัญหาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ” ดร.พันธุ์อาจ ผู้อำนวยการ NIA กล่าว และแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า
ทั้งนี้ ได้ยกตัวอย่างเมืองจากหลายประเทศทั่วโลกที่พัฒนาเมืองนวัตกรรมให้มีความโดดเด่น อาทิ บาเซโลนา ของประเทศสเปน ลอนดอน ของสหราชอาณาจักร นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หลายเมืองในเอเชียและยุโรป หรือเมืองที่โดดเด่นขึ้นมาเป็นเมืองเทคโนโลยีเทียบเคียงกับซิลิคอน วัลเลย์ ของประเทศจีน อย่างเมือง เซินเจิ้น ก็ประสบความสำเร็จมีภาพลักษณ์และความโดดเด่นที่ชัดเจน
“หากดูข้อมูลแล้วก็จะพบว่า เมืองเหล่านี้สำเร็จได้ไม่ว่าในด้านใด ก็เพราะมีคุณสมบัติสำคัญด้านการเป็นมิตรต่อนวัตกรรม มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือภาครัฐมีความสามารถในการควบคุมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมือง มีกฎระเบียบที่ส่งเสริมการพัฒนาความคิดใหม่ๆ และมีภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่ส่งเสริมการเติบโตด้วยนวัตกรรม” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวย้ำถึงปัจจุบันที่จะพัฒนาเมืองนวัตกรรมให้สำเร็จ
ทั้งงาน SITE 2022 และกิจกรรมต่าง ๆ ของ NIA ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไทยในการร่วมกันสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่เอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม” จากการเชื่อมต่อจิ๊กซอว์จากการพัฒนาเมือง ชุมชน และท้องถิ่นต่าง ๆ ในไทยที่เข้มแข็งและมีความชัดเจนขึ้นทุกขณะอย่างเป็นรูปธรรม
เนื้อหาบางส่วนจากในงาน “STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2022” หรือ SITE 2022 จัดโดย NIA สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ภายใต้แนวคิด “Reconnecting the World เชื่อมเรา เชื่อมโลก กลับมาเจอกัน” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ดูรายละเอียดงานเพิ่มเติมได้ที่ https://site.nia.or.th