fbpx

Zeekdoc: ทางเฉพาะสำหรับ ‘หมอเฉพาะทาง’

ขึ้นชื่อว่าอาการเจ็บไข้ได้ป่วย คงไม่มีใครอยากจะประสบพบเจอ เพราะร่างกายที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัย ย่อมเป็นสิ่งที่น่าพึงปรารถนา และทำให้ชีวิตดำเนินไปอย่างราบรื่น ทำทุกสิ่งได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ

แต่ถึงอย่างนั้นแล้ว เรามนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ก็ย่อมหลีกหนีความเจ็บป่วยไม่พ้น มากบ้าง น้อยบ้าง แต่สำหรับคนที่เจ็บป่วยด้วย ‘โรคเฉพาะทาง’ ที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นพิเศษ น่าจะลำบากยิ่งกว่า เพราะหมอผู้ที่มีทักษะชำนาญ ไม่ได้พบเจอกันได้ง่ายๆ ในโรงพยาบาลทั่วทุกแห่ง บางคน อาจจะต้องเดินทางไปกลับ ใช้เวลาหลายชั่วโมง เพื่อรับการรักษา เสียทั้งเงิน เวลา แต่ก็กลายเป็นเรื่องที่ได้แต่ทำใจ

มันจะดีหรือไม่ ถ้าหากมีแอปพลิเคชัน ‘ทางเฉพาะ’ เพื่อค้นหา ‘หมอเฉพาะทาง’ ที่สามารถนัดหมาย สอบถาม และเข้ารับการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

และด้วยคำถามเดียวกันนี้เอง ที่ทำให้ ฟ้า – วลัยพรรณ ฉันทร์มิตรกุล อดีตผู้แทนยา ดีกรีเภสัชกรจากรั้วจามจุรี ได้ร่วมกับเพื่อนๆ พัฒนาแพลตฟอร์มZeekdoc’ ที่ช่วยให้ผู้ใช้งาน สามารถค้นหา ‘แพทย์เฉพาะทาง’ หรือที่เรียกกันว่า ‘แพทย์อนุสาขา’ ได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น

GM Live ได้ร่วมพูดคุยในรายละเอียด ทั้งจุดเริ่มต้น ทิศทาง ความคาดหวัง และสิ่งที่เป็นเป้าหมายที่ Zeekdoc ต้องการจะก้าวไปให้ถึง ในบทสนทนาเกี่ยวกับ ‘แพลตฟอร์มแพทย์เฉพาะทาง’ ที่ ‘ไม่เป็นการเฉพาะ’ และทุกคน สามารถร่วมรับรู้และอ่านได้ในวรรคถัดจากนี้ไป

เพราะแพทย์เฉพาะทาง มีอยู่อย่างจำกัด

ในการศึกษาทางด้านการแพทย์นั้น เรารับรู้และเข้าใจโดยทั่วกันว่า เป็นสาขาที่ค่อนข้างยากลำบากในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเป็นแพทย์ ‘อนุสาขา’ หรือ ‘แพทย์เฉพาะทาง’ นั้น ก็ยิ่งทำให้กระบวนการดังกล่าว ยากขึ้นอีกเป็นเท่าตัว

“ในส่วนของแพทย์อนุสาขาหรือแพทย์เฉพาะทางนั้น จะค่อนข้างหายากค่ะ” ฟ้า – วลัยพรรณ ฉันทร์มิตรกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง Zeekdoc กล่าวอธิบาย “เพราะนอกจากจะต้องจบจากคณะแพทย์ศาสตร์แล้ว การเรียนต่อเฉพาะทาง แพทย์จะต้องเจียดเวลาจากการทำงาน เพื่อไปศึกษาเพิ่มเติมในสาขาที่เลือกอีกระยะเวลาหนึ่ง นั่นทำให้แพทย์อนุสาขามีอยู่ค่อนข้างจำกัด และอาจารย์หมอเหล่านี้ ก็ไม่ได้อยู่ประจำในทุกโรงพยาบาล”

มันเป็นความจริงที่เราพบเห็นกันได้ทั่วไป เพราะในโรงพยาบาล การมีแพทย์เฉพาะสาขานั้น น่าจะเรียกว่าน้อย ถึงน้อยมาก และตารางของคุณหมอเหล่านั้นมักจะแน่น ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวจึงนำมาซึ่งการตั้งคำถามถึงการหาทางที่จะทำให้กระบวนการเหล่านี้ สามารถทำได้ง่ายขึ้น

“สมัยที่ทำงานเป็นผู้แทนยาได้ติดต่อกับแพทย์เฉพาะทางมาพอสมควร ทำให้เราพบว่า แพทย์เฉพาะทางหรือแพทย์อนุสาขานั้น ก็มีแตกแยกย่อยในรายละเอียดลงไปอีก เช่น แพทย์ที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลัง ก็จะดูในส่วนของกระดูกสันหลังเป็นการเฉพาะ ซึ่งคนไข้ส่วนมากจะยังไม่ค่อยเข้าใจ เพราะจะต้องผ่านกระบวนการตรวจจากหมอทั่วไปก่อน พอพบว่าเป็นเฉพาะทาง จึงจะส่งต่อไปให้แพทย์อนุสาขา ซึ่งจะใช้เวลาพอสมควร”

แม้จะเป็นกระบวนการปกติที่เข้าใจกันได้ แต่มันก็เป็นโจทย์ที่ฟ้ามาขบคิด ว่าจะมีหนทางใด ที่สามารถ ‘ร่น’ กระบวนการเหล่านี้ ให้สั้นลง เร็วและสะดวกยิ่งขึ้น

“เราก็มาคิดว่า ถ้าเรารู้ว่าเราเป็นโรคเฉพาะทางแบบนี้ แล้วเราอยากหาแพทย์ท่านอื่นที่เหมือนกันแต่เร็วกว่า ในละแวกที่ใกล้กว่า จะเป็นไปได้รึเปล่า”

จากโจทย์ที่ตั้งไว้ ฟ้าและทีมได้ร่วมมือกันพัฒนาแอปพลิเคชัน ‘นัดหมายแพทย์’ เวอร์ชันเริ่มต้น และค่อยๆ ขยายขอบเขตการใช้งานให้ครอบคลุมในทุกกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกัน

“ในช่วงแรก จากโจทย์ที่เรามีในใจ เราพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อนัดหมายแพทย์ และเน้นไปที่ฝั่งคนไข้เป็นหลัก เป็นแอปพลิเคชันที่เป็น ‘Patient-Centric’ แต่เราก็ค่อยๆ เพิ่มในส่วนการใช้งานและรายชื่อของแพทย์เฉพาะทางเข้ามา ประกอบกับห้าปีก่อนหน้านั้น เรากับทีมได้ไปแข่ง Hackathon หรือการแข่งขันพัฒนาแอปพลิเคชันของบริษัทสตาร์ทอัพ ที่แม้ว่าเราจะไม่ได้รางวัล แต่ก็มีผู้ลงทุนสนใจที่จะให้โอกาสในการพัฒนาต่อ เพราะเห็นความเป็นไปได้ เราตัดสินใจที่จะต่อยอดจากจุดนั้น”

เป็นจุดเริ่มต้นที่ดูไม่ต่างจากสตาร์ทอัพและแอปพลิเคชันหลายๆ ตัวที่เราคุ้นเคยกัน แต่สำหรับ Zeekdoc ที่เกี่ยวข้องกับแพทย์เฉพาะทางนั้น มันมีโจทย์และความยากซ่อนอยู่ ที่ฟ้าและทีมต้องฝ่าไปให้ได้

“ถ้าถามว่าอะไรเป็นอุปสรรคในช่วงแรกเริ่มพัฒนา ก็คงจะเป็นการเข้าหาฐานลูกค้า ซึ่งก็คือคนไข้และโรงพยาบาลที่จะเข้าร่วมฐานข้อมูลของแอปพลิเคชันของเรา ที่เราเน้นไปที่โรงพยาบาลเอกชนก่อนเพราะเข้าหาได้ง่ายกว่าโรงพยาบาลของภาครัฐ”

ยังไม่นับรวมการใช้งานแอปพลิเคชันในตอนเริ่มต้น ที่ลงว่าเป็นของใหม่แล้ว มันย่อมเป็นการยาก ที่จะให้ผู้ใช้งานตอบสนองและยอมรับการใช้งานได้โดยง่าย ทั้งยังต้องมีการแนะนำการใช้งาน ซึ่งถือเป็นกำแพงที่สูงอยู่ไม่น้อย

“ความเชื่อมั่นของคนไข้และทางฝั่งแพทย์กับโรงพยาบาลก็เป็นอุปสรรคหนึ่งค่ะ เพราะเราต้องทำให้เขาเชื่อมั่นและเกิดการใช้งานในแอปพลิเคชันของเราให้ได้ อีกทั้งเราต้องมีคนที่เป็นแอดมินคอยดูแลในส่วนฐานข้อมูล เราต้องพิจารณารูปแบบธุรกิจ เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับความสะดวกที่สุด จนผู้ใช้งานรู้สึกได้ว่า มันช่วยให้งานของพวกเขา ง่ายขึ้นจริงๆ”

COVID-19 กับแอปพลิเคชันที่ช่วยให้เข้าถึง ‘แพทย์’

ในปัจจุบัน ท่ามกลางวิกฤติ COVID-19 ที่ระบาดและแพร่กระจายไปทุกภาคส่วน ที่แม้แต่การจัดการของภาครัฐ ก็ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น การมีแอปพลิเคชันที่มีฐานข้อมูลของโรงพยาบาลและแพทย์ น่าจะเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการฝ่าวิกฤติครั้งนี้ และเราก็ได้ถามกับทาง Zeekdoc ว่า ได้มีส่วนร่วม หรือได้รับผลกระทบในภาคธุรกิจมากน้อยเพียงใด และคำตอบของคำถามนี้ ก็ไม่ใช่อะไรที่ตอบได้…ง่ายนัก

“ถามว่าเราได้รับผลกระทบหรือไม่ ต้องบอกว่ามันค่อนข้างจะ ‘สวิง’ นะคะ อย่างตอนที่แพร่ระบาดเมื่อปีที่แล้ว มีคำสั่งปิดสถานบริการต่างๆ ผู้คนเก็บตัวอยู่บ้านและเลือกที่จะไปหาหมอในสถานพยาบาลรายย่อย เราก็ไปช่วยจัดการเรื่องฐานข้อมูล เราจึงมีลูกค้าที่เป็นคลินิกต่างๆ มากขึ้น แต่ก็มีบางแห่งเหมือนกันที่บอกกับเราตรงๆ ว่า ช่วยจัดการระบบนัดหมายเพื่อไม่ให้ผู้คนมากระจุกตัวรวมกันได้ไหม เพราะมันมีความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อ”

แต่ทั้งนี้ ฟ้าก็ยังเสริมด้วยว่า ความ ‘สวิง’ ของภาคธุรกิจของ Zeekdoc เกิดขึ้น จากความไม่แน่นอนของจำนวนผู้มาใช้บริการของสถานพยาบาลรายย่อยด้วยเช่นกัน กล่าวคือ บางแห่ง ก็ยกเลิกการใช้งาน เมื่อพบว่า ไม่มีผู้มาใช้บริการ ซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งของสถานพยาบาลบางแห่งที่มีคนเข้ามาอย่างหนาแน่น เป็นสภาวะที่ต้องรับมือให้เหมาะสม

“มาในปีนี้ ที่การระบาดครั้งที่สอง คนไข้เริ่มไปสถานพยาบาลมากขึ้น ก็เริ่มมีการใช้งาน Zeekdoc ที่เยอะขึ้นกว่าเดิม เพราะแอปพลิเคชันนี้ ช่วยให้สามารถนัดพบแพทย์ได้โดยไม่ต้องชนกับนัดอื่นๆ หรือรอนานๆ”

เมื่อสตาร์ทอัพไม่อยากให้ภาครัฐเป็น ‘คู่แข่ง’ แต่เป็น ‘ผู้ร่วมทาง’

อนึ่ง แม้ว่าสตาร์ทอัพจะเป็นโมเดลธุรกิจที่ไม่ได้ใหม่ และเริ่มอยู่ในความเข้าใจของคนไทยมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับสตาร์ทอัพนั้น ยังอยู่ในฐานะที่ไม่สู้ดีนัก อาจจะด้วยโครงสร้างการบริหารงานของภาครัฐที่เป็นแบบรวมศูนย์ก็ดี หรือความคล่องตัวที่น้อยกว่าก็ดี มันจึงเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพหลายแห่งได้พบเจอ ถึงความไม่เข้าใจ และการ ‘ดำเนินงาน’ ที่ดูเหมือนจะเป็น ‘คู่แข่ง’ ไปเสียอย่างนั้น

“มันเกิดขึ้นบ่อยนะคะ ที่ภาครัฐเรียกบรรดาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไปพูดคุย เพื่อระดมไอเดียในประเด็นปัญหาต่างๆ แต่แล้วก็กลายเป็นว่า ภาครัฐเอาไอเดียนั้นไปทำเสียเอง หรือไม่ก็ไปจัดซื้อจัดจ้างต่างชาติมาพัฒนา แล้วสตาร์ทอัพของคนไทยก็จบเลย ไปต่อไม่ได้”

ในจุดนี้ ดูจะตรงกับหลายๆ สตาร์ทอัพซึ่งมันอาจจะเกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจในธรรมชาติของธุรกิจสตาร์ทอัพของภาครัฐ หรือการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน ซึ่งฟ้าก็ได้บอกว่า ไม่ได้ขออะไรมาก ขอแค่อย่ามองว่าสตาร์ทอัพ  เป็น ‘คู่แข่ง’ เท่านั้นก็พอ

“ถ้าถามว่าเราอยากจะขออะไรจากภาครัฐ เราไม่ขออะไรเลยนะคะ” ฟ้ากล่าว “มีอย่างเดียวจริงๆ คือให้พวกเราพัฒนาชิ้นงานของเรา และให้ ‘โอกาส’ แก่สตาร์ทอัพไทยเป็น ‘ผู้ร่วมทาง’ กับภาครัฐจริงๆ คือเอาผลงานที่พร้อมไปใช้เลย สะดวก และประหยัดงบประมาณได้มากกว่า”

เป็นความในใจของอีกหนึ่งสตาร์ทอัพไทยที่มีต่อบทบาทร่วมกับภาครัฐ ที่ไม่ขออะไรมากไปกว่าการได้เข้าไปช่วยเหลือ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ให้ก้าวไปสู่ทิศทางที่มั่นคงและยั่งยืน ที่เชื่อว่า นอกเหนือจากผลกำไรแล้ว สตาร์ทอัพไทย ก็มีหัวใจที่พร้อมจะช่วยเหลืออย่างเต็มสามารถ หากได้โอกาสและเวทีที่เหมาะสม

Zeekdoc กับทิศทางของการเป็น ‘ทางเฉพาะ’ เพื่อ ‘แพทย์เฉพาะทาง’

เป็นเวลาห้าปีแล้ว นับจากข้อกังขาที่เกิดขึ้นในใจของ ฟ้า – วลัยพรรณ ฉันทร์มิตรกุล สู่การพัฒนาแอปพลิเคชันและก่อตั้ง Zeekdoc เพื่อช่วยเหลือคนไข้ในการค้นหาแพทย์เฉพาะทาง อันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง แต่แน่นอน ห้าปี มันยังเป็นเวลาที่เริ่มต้น ยังมีระยะทางอีกยาวไกลที่ทอดยาวไปข้างหน้า และเราก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ฟ้าและทีม จะหันหัวเรือ Zeekdoc ไปทางใด

“ตอนนี้ เราพยายามจะกระจายการใช้งานของ Zeekdoc ให้ทั่วถึงและครอบคลุมมากยิ่งขึ้นค่ะ” ฟ้ากล่าวถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ “ในที่นี้ คือออกไปยังต่างจังหวัด ที่หาแพทย์เฉพาะทางได้ยาก ให้สามารถค้นหาได้ง่ายขึ้น อีกอย่าง ในปัจจุบัน มีผู้พัฒนารายอื่นที่ทำแอปพลิเคชันในลักษณะคล้ายๆ กันออกมา เราก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะต้องเป็นเพียงเจ้าเดียวในตลาด แต่เราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้การแพทย์เข้าถึงได้มากขึ้น อีกทั้งการใช้งานแอปพลิเคชันก็เป็นกำแพงอีกข้อที่เราต้องตีให้แตก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะถนัดหรือมีความพร้อมสำหรับการใช้งาน”

เป็นงานที่ไม่ง่าย และอาจจะต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย แต่ฟ้ากับทีม Zeekdoc ก็ยังคงมุ่งมั่น ส่วนหนึ่งเพราะเคยเกี่ยวข้องกับงานด้านการแพทย์มาก่อน และอีกส่วนหนึ่งคือ มันไม่เคยมีการทำสิ่งเหล่านี้ แม้จะเป็นสิ่งที่ ‘ควรจะต้องมี’

“ต้องบอกกันตามตรงว่า ตอนเราเกิดความสงสัย เรายังไม่ได้คิดไปไกลถึงขั้นพัฒนาแอปพลิเคชันนะคะ เพราะคิดว่าคนอื่นหรือบริษัทอื่น น่าจะทำได้ดีกว่า แต่ก็ไม่เคยมี ไม่เคยเห็น ทั้งที่เรื่องพวกนี้ มันควรจะมีคนทำ หรือแม้แต่หน่วยงานภาครัฐเอง ก็ควรจะลงมาดูแลด้วยซ้ำ แต่ในเมื่อมันยังไม่มี หรือมีแต่น้อยมาก เราก็จะยังคงจุดยืนนี้ต่อไป”

ฟ้าทิ้งท้ายกับเราเกี่ยวกับ Zeekdoc ว่า มีความตั้งใจจะกระจายไปให้ถึง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ตอบสนองต่อความต้องการด้านแพทย์เฉพาะทางของทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่เมืองไหน หรือจังหวัดใด และมองว่ายังอีกห่างไกล กว่าจะไปถึงเป้าหมายนั้น

แต่เราก็เชื่อว่า แอปพลิเคชันที่สามารถตอบโจทย์ที่เป็น ‘การเฉพาะ’ เหล่านี้ จะสามารถทำได้ และเรื่อง ‘แพทย์เฉพาะทาง’ ก็อาจไม่เป็น ‘เรื่องเฉพาะ’ อีกต่อไป…

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ