เด็กรุ่นใหม่อาจลืมรสชาติวาฬไปแล้วญี่ปุ่นกลับมาล่าวาฬในรอบ 30 ปี
เรือล่าวาฬสัญชาติญี่ปุ่นออกทำหน้าที่อีกครั้งในรอบ 30 ปี ก่อนนักล่าวาฬจะนำวาฬมิงค์สีเทากลับมาเพื่อทำการเฉลิมฉลองด้วยการต่อแถวราดสาเกให้ทั่วตัว เพื่อต้อนรับการกลับมาล่าวาฬอีกครั้ง ทั้งที่ความจริงแล้วญี่ปุ่นไม่เคยหยุดล่าวาฬเลย
Reasons to Read
- เรือล่าวาฬสัญชาติญี่ปุ่นออกทำหน้าที่อีกครั้งในรอบ 30 ปี ก่อนนักล่าวาฬจะนำวาฬมิงค์สีเทากลับมาเพื่อทำการเฉลิมฉลองด้วยการต่อแถวราดสาเกให้ทั่วตัว เพื่อต้อนรับการกลับมาล่าวาฬอีกครั้ง ทั้งที่ความจริงแล้วญี่ปุ่นไม่เคยหยุดล่าวาฬเลย
เมื่อวันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา เรือล่าวาฬสัญชาติญี่ปุ่น 5 ลำได้แล่นออกสู่ทะเลอีกครั้งในรอบ 30 ปี หลังจากประเทศญี่ปุ่นตัดสินใจถอนตัวจากคณะกรรมาธิการการล่าปลาวาฬนานาชาติ หรือ IWC (International Whaling Commission) ตั้งแต่ปีที่แล้ว และเริ่มอนุญาตให้ล่าวาฬเพื่อการค้าได้อีกครั้งตั้งแต่วานนี้
หลังจากประเทศญี่ปุ่นถอนตัวจากสัญญาหยุดล่าวาฬ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ก็เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีที่เรือล่าวาฬได้ออกทำหน้าที่อีกครั้ง ก่อนหลายชั่วโมงต่อมาจะกลับเทียบฝั่งพร้อมกับวาฬมิงค์สีเทาขนาด 8 เมตร ที่ถูกนำไปโกดังเพื่อให้นักล่าวาฬทั้งหลายได้ทำการเฉลิมฉลองโดยการต่อแถวราดสาเกให้ทั่วตัว เพื่อเป็นการชำระล้างและต้อนรับการกลับมาล่าวาฬอีกครั้ง ทั้งที่ความจริงแล้วประเทศญี่ปุ่นไม่เคยหยุดล่าวาฬเลย…
ประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมสัญญาหยุดล่าวาฬมาตั้งแต่ปี 1986 เนื่องจากเวลานั้นมีการล่าวาฬเพื่อการค้าเป็นจำนวนมากในหลายประเทศจนเริ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ นานาชาติจึงตัดสินใจทำข้อตกลงกันว่าด้วยการหยุดล่าวาฬจนกว่าจำนวนจะฟื้นตัว และสามารถกำหนดโควต้าที่เหมาะสมสำหรับการล่าวาฬของแต่ละประเทศได้ ทว่าหากเป็นการนำวาฬมาด้วยจุดประสงค์เพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ จะถือเป็นข้อยกเว้น
และอาจด้วยช่องวางตรงนี้เองที่ญี่ปุ่นใช้เพื่อนำวาฬขึ้นมาจากทะเลตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยพบว่า ตั้งแต่ปี 1987 ญี่ปุ่นฆ่าวาฬไปมากถึง 200-1,200 ตัวต่อปี โดยให้เหตุผลว่าเพื่อสำรวจจำนวนวาฬ ซึ่งนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ก็เห็นว่าเป็นเพียงข้ออ้างใช้บังหน้าเพื่อให้ประเทศล่าวาฬมาเป็นอาหารได้ เนื่องจากเนื้อวาฬที่นำมาวิจัยส่วนใหญ่มักจบลงที่ถูกขายในตลาด
การถอนตัวจากข้อตกลงครั้งนี้ ญี่ปุ่นจะสามารถล่าวาฬได้ตามโควต้าทั้งหมด 227 ตัวจนถึงสิ้นปี แบ่งเป็นวาฬมิงค์ 52 ตัว วาฬบรูด้า 150 ตัว และวาฬเซ 25 ตัว ซึ่งการกลับมาล่าวาฬครั้งนี้ทำให้ญี่ปุ่นถูกนักอนุรักษ์และประเทศที่ต่อต้านการล่าวาฬวิจารณ์อย่างหนัก ทว่าสำหรับบางเมืองในญี่ปุ่น การล่าวาฬถือเป็นประเพณีอย่างหนึ่ง โดย โยชิฟุมิ ไค หัวหน้าสมาคมล่าวาฬขนาดเล็กแห่งประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่า “แม้มันเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก แต่ผมภูมิใจในการล่าวาฬ บ้านเกิดของผมล่าวาฬกันมานานกว่า 400 ปีแล้ว”
“ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ไม่รู้วิธีปรุงเนื้อวาฬและวิธีกินเนื้อวาฬอีกแล้ว ผมอยากให้ทุกคนได้ลองชิมมันสักครั้งหนึ่ง” ฮิเดกิ อาเบะ นักล่าวาฬวัย 23 ปีกล่าว ก่อนจะแล่นเรือออกไป
โดยคนญี่ปุ่นนิยมกินเนื้อวาฬอย่างมากในช่วงปี 1960 หรือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เฉลี่ยประมาณ 200,000 ตันต่อปี ก่อนลดลงเหลือ 5,000 ตันในช่วงปัจจุบัน นิยมกินดิบในรูปแบบซาชิมิหรือนำไปทอด