W9 เผยไทยเผชิญฝุ่นพิษล้อมเมืองติดอันดับโลก 5 กลุ่มเสี่ยงรับฝุ่นพิษ ภัยเงียบสะสม
W9 Wellness Center เผยฝุ่นพิษ PM 2.5 ภัยเงียบสะสม คร่าชีวิตประชากรโลก 7 ล้านคนต่อปี พบประเทศไทยเผชิญฝุ่นพิษ อากาศแย่ติดอันดับ 5 ของเอเชีย และอันดับที่ 36 ของโลก ค่า PM 2.5 เฉลี่ย 23.3 ไมโครกรัม สูงกว่าค่าอากาศมาตรฐาน 4.7 เท่า WHO ชี้ค่า PM 2.5 อยู่ในกลุ่มฝุ่นพิษสารก่อมะเร็ง เป็นฉนวนกระตุ้นเกิดโรคภูมิแพ้ และโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ (NCDs) โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุ
5 กลุ่มเสี่ยง รับพิษจากฝุ่นจิ๋วเข้าสู่ร่างกาย
นายแพทย์พิจักษณ์ วงศ์วิศิษฎ์ แพทย์ผู้อำนวยการ W9 Wellness Center กล่าวว่า ปัจจุบันประชากรทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญศึกหนักกับมลภาวะฝุ่นพิษ PM 2.5 สารโลหะขนาดเล็กที่ลอยปนเปื้อนในอากาศแทบจะครอบคลุมทุกพื้นที่ เป็นภัยเงียบร้ายแรง ข้อมูลจาก IQAir Global ผู้ติดตามคุณภาพอากาศทั่วโลกรายงานว่า PM 2.5 คร่าชีวิตประชากรโลกไปกว่า 7 ล้านคนต่อปี โดยพบว่าในปี 2567 คุณภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แย่ลงกว่าปีที่ผ่านมา มีปริมาณฝุ่นพิษ PM 2.5 เพิ่มขึ้นกว่า 20%
ขณะเดียวกันพบว่าประเทศไทย เป็นหนึ่งในเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่เป็นอันดับที่ 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับที่ 36 ของโลก ที่มีปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 พุ่งสูงเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 23.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO ถึง 4.7 เท่า
ทั้งนี้ ฝุ่นพิษ PM 2.5 คือภัยเงียบที่กระตุ้นการเกิดโรคร้าย โดยเฉพาะใน 5 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่
1. ผู้ที่สูบบุหรี่ ฝุ่น PM 2.5 เร่งการเกิดโรคถุงลมโป่งพอง และยังเป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็งปอด โดยคนทั่วไปสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดได้มากถึง 1.4 เท่า แต่สำหรับคนที่สูบบุหรี่จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงขึ้นเป็น 2 เท่า
2. ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ จะมีความไวต่อการกระตุ้นจากฝุ่น PM 2.5 หรือสารก่อภูมิแพ้ ทำให้สมรรถภาพปอดลดลง และเกิดอาการหอบหืดกำเริบ
3. ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงหรือเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด จากงานวิจัยสรุปว่าฝุ่น PM 2.5 เพิ่มอัตราการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ภาวะหลอดเลือดแข็ง ส่งผลให้หลอดเลือดตีบตัน ซึ่งทำให้เกิดอาการหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรืออัมพฤกษ์ อัมพาตได้
4. ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคมะเร็ง ฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นสารก่อมะเร็งที่มีความร้ายแรง อาทิ โพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโครคาร์บอน และโลหะหนักบางชนิด ที่จะเข้าไปทำลาย DNA RNA ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์ เกิดเป็นเซลล์มะเร็ง
5. ผู้ที่ระบบภูมิต้านทานต่ำ หรือไม่สมบูรณ์ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรหลีกเลี่ยงฝุ่นขนาดเล็ก ที่สามารถทำลายระบบภูมิคุ้มกันร่างกายได้โดยตรง ทำให้โอกาสติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเพิ่มมากขึ้นได้
7 สัญญาณเตือนระดับสารพิษสะสมสูง
นายแพทย์พิจักษณ์ กล่าวเสริม “เมื่อมีสารพิษสะสมในร่างกายจำนวนมาก ร่างกายจะพยายามลดพิษในเลือดลง โดยการพยายามนำสารพิษออกจากระบบเลือด แล้วไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่ออื่นของร่างกายแทน เช่น เนื้อเยื่อไขมัน กระดูก หรือกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจไม่แสดงอาการของพิษเฉียบพลัน แต่ส่งผลในระยะยาว ทำให้เกิดอาการผิดปกติเรื้อรังโดยไม่รู้ตัว
ทั้งนี้ สามารถตรวจเช็คสัญญาณที่บ่งบอกอาการผิดปกติได้เบื้องต้นได้ด้วยตนเองจาก 7 อาการ ดังนี้
1. มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง ไม่สดชื่น
2. นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท
3. มีความรู้สึกว่าสมองล้า คิดช้า โฟกัสงานไม่ค่อยดี ขี้ลืมมากขึ้น
4. ลดน้ำหนักยาก เนื่องจากโลหะหนักจะไปรบกวนระบบเผาผลาญ
5. ควบคุมอารมณ์ยากขึ้น
6. ป่วยติดเชื้อง่ายขึ้น ไอบ่อย เป็นหวัดบ่อย
7. เป็นผื่นแพ้ หรือลมพิษ บ่อยขึ้น
แนวทางป้องกันและรับมือกับฝุ่นพิษ PM 2.5
สำหรับแนวทางป้องกันและรับมือกับฝุ่นพิษ PM 2.5 นอกเหนือจากคำแนะนำเบื้องต้น เช่น การลดกิจกรรมนอกบ้านในวันที่ฝุ่น PM 2.5 สูง หรือการใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นแล้ว การดูแลสุขภาพเชิงเวลเนสที่เน้นป้องกันจากภายในสู่ภายนอกก็มีความสำคัญเช่นกัน ซึ่งประกอบด้วย 3 การดูแลสุขภาพหลัก ๆ ดังนี้
เร่งการขับสารพิษ ผู้ที่ดูแลระบบขับสารพิษของร่างกาย ร่างกายจะสามารถขับสารพิษที่ได้รับเข้ามาได้ดีกว่า ทำให้การรับสารพิษเข้ามาเพิ่มมีผลต่อร่างกายน้อยกว่า โดยพฤติกรรมหลัก ๆ ที่ช่วยส่งเสริมระบบดีท็อกซ์ของร่างกาย คือการเลือกรับประทานอาหารกลุ่ม ผักใบเขียวเข้ม หรือผักสีเขียวปั่นรวมกาก การรับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุซัลเฟอร์สูง หรือผักที่มีสารกลูต้าไธโอนมีปริมาณสูงในกลุ่มผักที่มีกลิ่นฉุน เช่น ต้นหอม กระเทียม ผักชี ขึ้นฉ่าย กุยช่าย เป็นต้น ช่วยเพิ่มปริมาณสารกลูต้าไธโอน สารต้านอนุมูลอิสระหลักในระบบดีท็อกซ์ของตับ ช่วยกระตุ้นระบบขับสารพิษหลักของร่างกายได้
ป้องกันและลดการทำลายเซลล์ เพิ่มสัดส่วนการรับประทานอาหารที่มีส่วนช่วยในการต้านอันตรายที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 เช่น สารโฟเลตในความสดของผักผลไม้ แคโรทีนอยด์ในผักตำลึง ฟักทอง ข้าวโพด แครอท ไลโคปีนในมะเขือเทศ และผักผลไม้สีแดง แอนโทไซยานินในผักเคล และผลไม้กลุ่มเบอร์รี่ สารเควอซิตินในหัวหอม คะน้า หรือแอปเปิ้ล และสารคาเทชินในชาเขียว เป็นต้น เพื่อเพิ่มความอิ่มตัวของสารต้านอนุมูลอิสระในเนื้อเยื่อของร่างกาย ป้องกันและลดการทำลายเซลล์
เสริมเกราะระบบภูมิต้านทานของร่างกายให้แข็งแรง นอกจากการรับประทานอาหารให้สมดุล การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีส่วนสำคัญต่อการทำงานปกติของระบบภูมิต้านทาน วิตามินและแร่ธาตุที่สามารถใช้เป็นตัวช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิต้านทาน ได้แก่ แร่ธาตุสังกะสี แร่ธาตุทองแดง วิตามินดี วิตามินซี และ N-acetyl cysteine อีกทั้งยังพบว่าสามารถช่วยเสริมการทำงานของเม็ดเลือดขาว ช่วยป้องกันและลดโอกาสการติดเชื้อ รวมทั้งเสริมเกราะระบบภูมิต้านทานทั้งระบบได้ นอกจากนี้ การบริหารจัดการความเครียด และการนอนหลับลึกที่เพียงพอในช่วงเวลาที่เหมาะสม ก็ถือว่ามีความจำเป็นต่อการซ่อมแซมและฟื้นฟูการทำงานของระบบภูมิต้านทานด้วยเช่นกัน
การดูแลสุขภาพเชิงเชิงเวลเนส เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีให้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกับ รายละเอียดเพิ่มเติม https://w9wellness.com/th/