fbpx

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ก้าวย่างที่ยากยิ่งในการนำทัพ Avengers ประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดที่มีอยู่ในขณะนี้ แม้จะเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่มีบุคลิกเป็นที่จดจำชัด แต่พรรคก็พยายามปรับตัวเพื่อแข่งขันกับกระแส ‘คนรุ่นใหม่ทำงานการเมือง’ อยู่เป็นระยะ วิธีการหนึ่งที่เห็นในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาคือการสร้างกลุ่ม ‘new dem”’ เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ของพรรค

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดที่มีอยู่ในขณะนี้ แม้จะเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่มีบุคลิกเป็นที่จดจำชัด แต่พรรคก็พยายามปรับตัวเพื่อแข่งขันกับกระแส ‘คนรุ่นใหม่ทำงานการเมือง’ อยู่เป็นระยะ วิธีการหนึ่งที่เห็นในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาคือการสร้างกลุ่ม ‘new dem”’ เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ของพรรค  

แต่ที่สุดแล้วประชาธิปัตย์ก็พ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งล่าสุดแบบพลิกความคาดหมายอย่างมาก เพราะได้เก้าอี้ ส.ส.เพียง 52 ที่นั่งจนกลายเป็นพรรคขนาดกลาง ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ และให้เป็นไปตามที่เคยได้กล่าวไว้ว่า “หากพรรคได้ ส.ส.ต่ำกว่า 100 เก้าอี้ จะลาออก” พรรคได้จัดให้มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ในวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้ท้าชิงตำแหน่ง 4 คน ประกอบด้วย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการณ์หัวหน้าพรรค, นายกรณ์ จาติกวณิช , นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน , นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อและเคยดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค โดยมีองค์ประชุมที่เคยเป็นอดีต ส.ส., ว่าที่ ส.ส.และสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่งมีสิทธิ์ในการออกเสียงรวม 309 คน แต่ขาดประชุม 34 คน

โจทย์สำคัญในการหาเสียงเพื่อให้ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค คือการแก้ปัญหาเรื่องความนิยมของพรรค และแนวทางการพัฒนาการทำงานของพรรคต่อไปในอนาคต ซึ่งผู้ท้าชิงทั้ง 4 คนก็ได้แสดงวิสัยทัศน์ของตัวเอง จากนั้นจึงมีการลงคะแนนลับ ปรากฏว่า นายจุรินทร์ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 50.5995 ได้เป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป

นายจุรินทร์นั้นเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์มา 8 สมัย เคยรับตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รมว.ศึกษาธิการและ รมว.สาธารณสุข และถือว่ามีความ ‘เก๋าเกม’ ในงานสภา จากที่เคยเป็นประธานคณะกรรมการประสานงาน ( วิป ) พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านมาหลายครั้ง ซึ่งวิปนั้นต้องทำหน้าที่ในการประสานพูดคุยกำหนดท่าทีการลงมติต่างๆ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

ชื่อเล่นที่ผู้สื่อข่าวสายการเมืองเรียกนายจุรินทร์คือ ‘อู๊ดด้า’ มาจากนามปากกาที่เคยเขียนการ์ตูนการเมือง     

วิสัยทัศน์

ในการแสดงวิสัยทัศน์ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค สิ่งที่นายจุรินทร์ย้ำคือ ‘การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง’ โดยเฉพาะเพื่อให้พรรคทันกับกระแสเทคโนโลยี และปรับตัวให้เข้ากับกระแสความต้องการ ไปถึงกระแสความนิยมของสังคมได้ และมีการสลายขั้วกลุ่มต่างๆ ให้พรรคมีความเป็นเอกภาพ โดยการแสดงวิสัยทัศน์ตอนหนึ่งคือ

“ถ้าได้รับโอกาสเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผมจะหยิบยื่นโอกาสให้ทุกคนที่ตั้งใจทำงานทุ่มเทเสียสละให้พรรคโดยไม่จำเป็นว่าต้องอยู่ฝ่ายไหน หรือเป็นเด็กของใคร พรรคประชาธิปัตย์ถึงเวลาต้องเปลี่ยนอย่างมีวุฒิภาวะ อะไรดีต้องรักษาไว้ อะไรสมควรเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยน  นโยบายวิสัยทัศน์ ต้องเปลี่ยนให้เท่าทันโลกเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันที่เกิดขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจ และการเมือง รวมถึงต้องเปลี่ยนระบบบริหารจัดการ ต้องนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ สังเคราะห์ประกอบการตัดสินใจทางการเมือง เดินหน้าสู่ความทันสมัยในอนาคต บุคลากรต้องเปลี่ยน” 

“หมดยุคซุปเปอร์แมน ยุคต่อไปต้องเป็นยุคของอาเวนเจอร์ ซุปเปอร์ฮีโร่ของพรรคต้องจับมือเป็นทีมอเวนเจอร์สประชาธิปัตย์ นำทัพเดินไปข้างหน้า นายกรณ์ นายอภิรักษ์ และนายพีระพันธุ์ จะเป็นหนึ่งในทีมอาเวนเจอร์ของพรรค แต่แค่นี้ไม่พอเพราะวันนี้ประชาธิปัตย์เหลือ ส.ส.แค่ 52 คน หัวหน้าพรรคต้องคิดทำอย่างไรให้เพิ่มจนมากกว่า 200 คน ในอนาคต ซึ่งมีคำตอบอยู่แล้วคือ ประชาธิปัตย์ต้องมีความเป็นเอกภาพ  มั่นใจว่าประชาธิปัตย์สามารถก้าวเดินไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นได้  ผมพร้อมจับมือร่วมแรงร่วมใจกับทุกคนที่มุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อพรรค พาพรรคก้าวสู่ความเป็นหนึ่ง” 

แม้จะต้องปรับตัวอย่างไร แต่ต้องคงไว้ซึ่งอุดมการณ์ของพรรคที่มีวัฒนธรรมเคารพแนวทางประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็ง ซึ่งนายจุรินทร์ได้กล่าวเรื่องนี้อีกครั้งเมื่อขึ้นขอบคุณผู้โหวตเลือกภายหลังรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ว่า

“ผลการเลือกตั้งวันนี้บอกกับเราว่า อย่างน้อยที่สุดในรอบ 73 ปีของประชาธิปัตย์ ผมเป็นหัวหน้าพรรคคนแรกที่ต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองอย่างยาวนานที่สุดอย่างน้อยถึง 33 ปี นับจากนี้ต่อไปประชาธิปัตย์จะก้าวจากยุคอุดมการณ์ไม่เคยเปลี่ยน  ก้าวเดินไปสู่ยุคอุดมการณ์ทันสมัยด้วยกัน และเราจะร่วมมือร่วมใจช่วยกันนำประชาธิปัตย์ไปสู่ความเป็นหนึ่ง”

โจทย์ท้าทายของจุรินทร์

มีการวิเคราะห์หลายเหตุผลที่ทำให้นายจุรินทร์ได้รับชัยชนะ ทั้งที่ไม่ได้มีภาพลักษณ์เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่อย่างนายกรณ์ เหตุผลที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นเพราะข่าวการสนับสนุนจากผู้ใหญ่คนสำคัญในพรรค โดยเฉพาะนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแทบจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของพรรคในยุคนี้และได้รับการยอมรับเป็นนักการเมืองน้ำดีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยมีรายงานข่าวมาเป็นระยะว่า นายชวนสนับสนุนนายจุรินทร์

การสนับสนุนของนายชวน ประกอบกับการอยู่พรรคมายาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 ของนายจุรินทร์ ทำให้ถูกมองว่าเป็น ‘เลือดสีฟ้าเข้มข้น’ ที่ไม่ว่าอย่างไรก็จะยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรค โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมความเป็นประชาธิปไตยที่ยึดมั่นตั้งแต่การมีพิธีรีตองในการเลือกกรรมการบริหารพรรค การรับฟังเสียงส่วนใหญ่ในพรรคเป็นหลัก และยึดมั่นไปใช้ในการทำงานระดับประเทศ สิ่งเหล่านี้จะช่วยต่อการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในระยะยาวว่า ‘อุดมการณ์มาก่อนผลประโยชน์’ ซึ่งต้องทำไปพร้อมกับการปรับตัวให้เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ ปรับตัวทันสมัยไปตามกระแสโลก เสนอแนวทางในการพัฒนาที่น่าสนใจ  มีการตัดสินใจที่รวดเร็ว ซึ่งมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า สิ่งที่หลายคนอยากเห็นจากพรรคประชาธิปัตย์คือการลบภาพการเมืองน้ำเน่า สร้างภาพความเป็นพรรคที่มีบทบาทเรื่องการทำงานเพื่อประชาชนมากกว่าเล่นเกมสภาหรือการเล่นเกมต่อรองอำนาจ

อย่างไรก็ตาม โจทย์เฉพาะหน้าที่กดดันนายจุรินทร์จนกลายเป็นการพิสูจน์ตัวเองที่หนักที่สุด คือการนำพาพรรคไปในแนวทางใดระหว่างการจับขั้วกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อให้ได้คะแนนถึงในการจัดตั้งรัฐบาล และเป็นการประกาศจุดยืนของพรรคที่เคยพูดว่า “ไม่เอาขั้วทักษิณ”  แต่ขณะเดียวกันก็มีเสียงทวงถามจากกลุ่มพรรคที่จับขั้วกับเพื่อไทยว่า “อย่าตระบัตสัตย์” ที่เคยกล่าวว่า “พรรคจะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ” ซึ่งการตัดสินใจไปในทางใดทางหนึ่งมีโอกาสที่พรรคจะเจ็บตัวทั้งสิ้น โดยเรื่องนี้พรรคประชาธิปัตย์มีเวลาตัดสินใจเพียงไม่นานนัก ต้องรีบกำหนดท่าทีเพราะภายหลังวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ ซึ่งจะมีพระราชพิธีเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก และมีความพยายามให้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม เพื่อรัฐบาลใหม่จะได้ทำงานสำคัญงานแรกคือการเป็นประธานอาเซียนที่จัดประชุมสุดยอดอาเซียนในช่วงระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายนนี้  

สิ่งที่น่าสนใจในการแสดงวิสัยทัศน์ของนายจุรินทร์ คือคำที่บอกว่า ภายในพรรคเองก็มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทำให้เข้าใจว่า ขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์เสียงแตกระหว่างการไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่ง เพื่อแลกกับเก้าอี้รัฐมนตรี 7 เก้าอี้ตามที่มีรายงานข่าวออกมาตลอดว่าเป็นโควตาพรรคขนาดกลางที่ไปรวมกับพลังประชารัฐ หรือการยอมทำตัวเป็นฝ่ายค้านอิสระ ที่ไม่แสดงท่าทีในการขึ้นตรงกับขั้วใดขั้วหนึ่ง กระทั่งการรวมกับขั้วเพื่อไทยก็มีโอกาสที่จะได้รับตำแหน่งในฝ่ายบริหารก็เป็นสิ่งที่ล่อใจ

ซึ่งเรียกว่าถ้าไม่เอาพลังประชารัฐ ก็มีเงื่อนไขยอมถึงกระทั่งว่าจะให้ประชาธิปัตย์รวมกับภูมิใจไทยเป็นแกนนำขั้วที่ 3 เพื่อรวมเสียงขั้วเพื่อไทยไปสนับสนุน และหาเสียงโหวตเพิ่มให้ถึง 376 เสียง หวังจะให้ยุติการที่ พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย แต่พลังประชารัฐก็คงไม่นิ่งเฉยกับกระแสนี้

กระแสการล็อบบี้รุนแรงจนกระทั่งตัวนายชวน หลีกภัย เองก็เคยแสดงความเป็นห่วงว่า “มีกระแสภายนอกมาครอบงำชี้นำพรรค” ซึ่งครอบงำตั้งแต่การเลือกหัวหน้าพรรค แต่เป็นที่เข้าใจว่าในภาวะสองฝ่ายเสียง ส.ส.ยังไม่ถึงครึ่งเช่นนี้ ความพยายามล็อบบี้จึงมีสูงมาก ซึ่งมีข่าวว่า มีทั้งความพยายามจากคนนอกและ ‘คนที่ออกจากพรรคไปแล้ว’ ที่ต่อรองเพื่อให้ประชาธิปัตย์เข้าร่วม แม้กระทั่งบางคนในพรรคประชาธิปัตย์เองก็ยังมีท่าทีว่า ควรไปร่วมรัฐบาลเพื่อจะมีโอกาสได้ทำงานและมีผลงานเป็นจุดขายในการเลือกตั้งเที่ยวหน้า แต่กระแสจากหลายคน โดยเฉพาะกลุ่มรุ่นใหม่หรือ new dem ก็ต่อต้านเรื่องนี้ว่าการทำให้เห็นว่าพรรคไม่มีอุดมการณ์  พยายามหาทางร่วมรัฐบาลเพื่อหวังผลประโยชน์จะเป็นผลร้ายในระยะยาวต่อพรรคเสียมากกว่า

และยังมีรายงานข่าวเรื่องโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีที่จะได้รับการจัดสรรหากร่วมกับพลังประชารัฐนั้น ก็ไม่ใช่เก้าอี้ในตำแหน่งที่พรรคต้องการใช้มาทำผลงาน เพราะกระทรวงใหญ่ที่กุมความสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนประเทศพรรคพลังประชารัฐจะเก็บไว้เองเพื่อแสดงบทบาทการทำงาน เพื่อหวังเป็นพรรคการเมืองที่มีอายุยืนยาว

ทางออกของนายจุรินทร์ หากออกมาในรูปแบบอนุญาตให้ ส.ส.ฟรีโหวต เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้ ส.ส.ต้องทำตามมติพรรค (หรือฟรีโหวตอาจเป็นมติพรรค) ก็ทำให้เกิดสภาพพรรคแตก และอาจขาดความเป็นเอกภาพจนกอบกู้กลับมาได้ยาก อาจเป็นไปได้จนถึงกลายเป็นสภาพเช่นเดียวกับพรรคเพื่อแผ่นดินในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ที่สุดท้ายก็หายไปจากสารบบการเมืองไทย  กลายเป็นภาพที่ฝั่งที่ไปรวมกับฝ่ายที่ตั้งรัฐบาลได้ก็จะมีตำแหน่ง มีผลงานและอาจถูกทาบทามให้ย้ายพรรคเอาเสียง่ายๆ

แต่การที่รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำมาก ก็มีการวิเคราะห์จากหลายฝ่ายอีกเช่นกันว่า จะทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพอยู่ไม่ได้นาน และยิ่งหากมีพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคแล้วต่อรองผลประโยชน์กันไม่ได้ รัฐบาลก็ยิ่งมีปัญหา ซึ่งหากไปร่วมรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ ก็ไม่มีโอกาสสร้างผลงานเพียงพอ อีกทั้งพรรคยังอาจถูกตีตราไปในทางใดทางหนึ่ง

นายจุรินทร์เข้ามานำพรรคในเวลาที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ตัดสินใจยากยิ่ง และ ณ ขณะนี้ก็ยังไม่น่าจะถึงเงื่อนไขที่ทำให้ประชาธิปัตย์ไม่ต้องเจ็บตัว คือการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เรียกว่าการ ‘อยู่หรือไป’ ครั้งนี้ไม่ใช่แค่หมายถึงการร่วมรัฐบาล แต่ลึกไปถึงอนาคตของพรรคเก่าแก่แห่งนี้ได้ทีเดียว

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ