fbpx

เราต่างเสมอภาคกันในความตาย (แต่มีราคาต้องจ่ายในยามป่วย)

‘เมื่อจบเกมหมากรุก ขุนและเบี้ยต่างถูกกวาดจากกระดานลงกล่องเดียวกัน’ เป็นสำนวนของชาวอิตาลีที่กล่าวถึงโมงยามสุดท้าย ที่ ‘ความตาย’ มาเคาะเยี่ยมหน้าประตูบ้าน ใช่แล้ว ไม่ว่าจะยากดีมีจน หรือรวยพ้นล้นฟ้า ต่างไม่อาจหลีกหนีสัจธรรมข้อนี้ของชีวิตไปได้ ต่างต้องนอนราบให้ดินกลบหน้า หรือเดินทางเข้าสู่เชิงตะกอน เหลือเพียงเถ้าถ่านและความอาลัยต่อผู้จากไปของคนที่ยังต้องอยู่ต่อ ให้สู้ชีวิต และข้ามผ่านความโศกเศร้าทั้งหลายเหล่านั้นไปให้ได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ใช่แล้ว…เราต่างเสมอภาคกันในความตาย

แต่ก็เช่นเดียวกับห้วงทุกข์ของชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนา มันยังมีกระบวนการที่ต้องมาถึงก่อนความตายมาเยือน นั่นคือ ‘ความเจ็บป่วย’ ด้วยโรคภัยที่จะค่อยๆ คืบคลานมาตามอายุขัย ก็เป็นอีกหนึ่งความจริงที่หนีไม่พ้นเฉกเช่นเดียวกัน เรี่ยวแรงและกำลังวังชาที่พร้อมทะยานในวัยหนุ่มสาว ต่างถูกลดทอนลงไป แทนที่ด้วยความป่วยไข้ ที่เป็นผลสะท้อนจากการใช้ชีวิตที่ผ่านมาของคนคนหนึ่ง

และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ ‘การสาธารณสุข’ และ ‘การแพทย์’ ดำรงอยู่บนโลกใบนี้

มนุษย์พยายามเอาชนะความเจ็บไข้ ซื้อเวลาต่อไปไม่ให้โมงยามแห่งความตายมาเยือนก่อนเวลาอันควร ซึ่งก็ทำได้ค่อนข้างดีในรอบหลายศตวรรษที่ผ่านมา ที่ธรรมชาติได้โยนบททดสอบอันสุดแสนจะอันตรายมานักต่อนัก และมนุษยชาติก็สามารถผ่านพ้นไปได้

มันควรจะเป็นโลกที่น่าอยู่ ที่คนรักยังคงไม่รีบด่วนจากเราไปในเร็ววัน

แต่กระนั้น ความเจ็บป่วย ‘เสมอภาค’ จริงหรือ?

เราอาจะหนีไม่พ้นความเจ็บป่วย นั่นเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ แต่ท่ามกลางแวดวงสาธารณสุข ที่เกี่ยวโยงกับนโยบายของภาครัฐ และการกำกับตัวยาจากภาคเอกชน ก็ทำให้โลกยุคปัจจุบัน ความเจ็บป่วยนั้นมี ‘ราคา’ ที่ต้องจ่าย และกลายมาเป็นความเหลื่อมล้ำที่ไม่อาจมองข้าม

สำหรับคนที่มีเงินทอง แม้การรักษามะเร็งจะเป็นกระบวนการอันแสนสาหัส (ไม่ว่าจะผ่าตัด คีโมบำบัด การพักฟื้น) แต่ก็ยังไม่น่าอิดหนาระอาใจ เมื่อเทียบกับที่มีภาระที่ต้องรับผิดชอบ หรือคนหาเช้ากินค่ำทั่วไป ที่ไม่แม้แต่จะสามารถวางแผนอนาคตตัวเองในระยะยาว มีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้ และพรุ่งนี้ ขอแค่มีข้าวสารกรอกหม้อ ให้ท้องได้อิ่ม ให้ข่มตาได้หลับ เพื่อกลับไปสู่วงจรชีวิตแบบเดิมๆ การป่วยไข้ร้ายแรงสำหรับพวกเขาเหล่านั้น ความตายอาจเป็นปลายทางสุดท้ายที่ดีกว่าในแบบที่ไม่มีอะไรจะเสีย

ความเหลื่อมล้ำทางด้านสาธารณสุขไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นสิ่งที่เรื้อรังสะสมมานานในโครงสร้างทางสังคมแบบทุนนิยมที่ถ่างช่องว่างดังกล่าวให้กว้างออกไป และเกิดขึ้นในทุกที่ทั่วโลก เป็นปัญหาใหญ่ที่รอคอยการแก้ไขและสะสาง แต่ก็ไม่มีทีท่าว่า ‘ราคา’ ดังกล่าว จะลดน้อยลงแต่อย่างใด

ยังไม่นับรวมบุคลากรทางด้านการแพทย์ ที่แม้จะเต็มไปด้วยองค์ความรู้ ความสามารถ แต่ก็ทำได้แค่เพียงยื้อเวลาแห่งความเสมอภาคและอ้อมกอดของความตายให้มาถึงช้าลง ซื้อเวลาเพิ่มขึ้นอีกสักนิด ในบางพื้นที่ห่างไกล พวกเขาเป็นที่พึ่งเพียงหนึ่งเดียว ที่ต้องเป็นได้ในทุกบทบาท ที่ๆ การสนับสนุนจากภาครัฐนั้นไม่อาจ และบางทีไม่คิดที่จะเอื้อมมือไปถึงด้วยซ้ำ

มาในวันนี้ โลกกำลังเจอบททดสอบสำคัญอีกครั้ง ในวิกฤติการณ์ COVID-19 ที่กำลังแพร่ระบาดออกไปทั่วโลก มันไม่เพียงแต่สั่นคลอนรากฐานและความเชื่อทางสังคมแบบเดิมๆ แต่ยังเปิดเผยใบหน้าอันแสนอัปลักษณ์ของความเหลื่อมล้ำ และความไม่เพียงพอด้านสาธารณสุขให้เผยตัวออกมา

ไม่ต้องมองที่ไหนไกล ย้อนกลับมาดูที่ประเทศไทย เรามีจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในแต่ละวันที่ผ่านไป ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการโดยคร่าวๆ ที่จะค่อยๆ เปิดเผยออกมา พร้อมกับที่บุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลนเครื่องมือที่ใช้สำหรับรับศึกอันแสนสาหัสนี้อย่างเต็มกำลัง ต้องคิด และต้องทำด้วยตนเอง ทั้งที่มันควรจะเป็นภาครัฐที่ให้การสนับสนุน

(แต่นั่นคงเป็นเรื่องยาก ในขณะที่รัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นเพียงมนุษย์ปากพล่อยที่คอยพูดบั่นทอนกำลังใจบุคลากรและเมินเฉยไม่ทำอะไร การเงยหน้าขอเงินจากสวรรค์อาจจะง่ายกว่า….)

มันจะดีกว่าไหม ถ้าโครงสร้างทางระบบการเมืองการปกครอง มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้กระบวนการ ‘ป่วยไข้’ นั้น ‘เสมอภาค’ ด้วยภาคสาธารณสุขที่ทั่วถึงคนทุกกลุ่ม และบุคลากรทางการแพทย์สามารถทำงานได้อย่างเต็มความสามารถ

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว สวัสดิการด้านสาธารณสุขสำหรับประชาชนทั่วไปคือ Priority อันดับหนึ่งที่ภาครัฐให้ความสำคัญ ทั้งการสนับสนุนครอบคลุมการรักษาสำหรับประชาชน และการจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ แน่นอนว่าในสถานการณ์อันไม่ปกติเช่น COVID-19 นั้น มันดูเป็นเรื่องที่สาหัสอย่างเต็มกำลัง แต่ก็ยังมั่นใจได้ว่า บุคลากรมีสรรพกำลังและอุปกรณ์ที่เพียงพอ และประชาชนที่ต้องการการรักษาสามารถเข้าหาระบบได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันถัดไป กับ ‘ราคา’ ที่ต้องจ่าย เพื่อไปให้ถึงจุดนั้น

ดังเช่นที่กล่าวไปช่วงต้น ‘ความตาย’ คือความเสมอภาคอันเที่ยงแท้ ไม่มีข้อยกเว้นแม้แต่คนที่ร่ำรวยที่สุด หรือยากจนที่สุด และแน่นอน การเจ็บป่วยย่อมมี ‘ราคา’ ที่ต้องจ่าย มากน้อยแตกต่างกัน

แต่การจัดวางโครงสร้างที่เหมาะสมเท่านั้น ที่จะประกันได้ว่า การป่วยไข้นั้นจะใกล้เคียงกับ ‘ความเสมอภาค’ ให้มากที่สุด และปล่อยให้เรื่องของความตายเป็นปลายทางสุดท้ายโดยแท้จริง

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ