สหรัฐฯ vs อิหร่าน ความขัดแย้งที่ทวีความซับซ้อน
เรื่อง : ศุพวรรณ พรรณราย
ถ้าวลี ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ นั้นมีคุณค่าของความเป็นจริงอยู่บ้าง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง ในความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่านก็น่าจะสามารถใช้วลีดังกล่าวได้อย่างเต็มปาก เพราะในขณะนี้ มันถูกขยายจากปฏิบัติการณ์ลับเพียงหนึ่งเดียว ที่ผลักให้ปริมณฑลดังกล่าวเข้าสู่ความขัดแย้งอย่างที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
– ชนวนเหตุความขัดแย้ง –
ต้นเหตุของความขัดแย้ง เกิดจากปฏิบัติการลับของสหรัฐอเมริกา ที่ส่งเครื่องบินบังคับไร้คนขับ (Drone) เพื่อลอบสังหาร คาเซม โซไลมานี ผู้บัญชาการทหารบกสูงสุดของอิหร่าน ที่สร้างความโกรธแค้นให้กับประชาชนของประเทศ ตามมาด้วย อาลี คาเมเน ผู้นำสูงสุดของประเทศ ประกาศกร้าวว่าจะล้างแค้นให้กับการสูญเสียครั้งนี้อย่างเต็มกำลัง
ทางด้านสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ออกมาตอบโต้ต่อแถลงการณ์ดังกล่าวอย่างเผ็ดร้อน โดยกล่าวว่า โซไลมานี เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงแผนการที่จะสร้างความสูญเสียให้กับกองกำลังสหรัฐฯ ในภูมิภาค และการตายของโซไลมานีนั้น ‘เป็นเรื่องที่จะต้องเกิด’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งหมดนี้ เป็นชนวนเหตุสำคัญที่สร้างความระส่ำระสายให้กับภูมิภาคตะวันออกกลางในขณะนี้ ที่ความซับซ้อนของสถานการณ์ ได้ม้วนตัวสู่วังวนแห่งความขัดแย้งครั้งใหม่
– ผลกระทบที่ตามมา –
ปฏิบัติการลับในการลอบสังหารโซไลมานีของสหรัฐอเมริกานั้น นอกจากจะสร้างความโกรธแค้นให้กับประชาชนชาวอิหร่านนับล้านคนแล้ว ยังมีความซับซ้อนทางภูมิภาคที่กำลังเป็นปัญหา เนื่องจากปฏิบัติการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเขตแดนของประเทศอิรัก (ตามรายงานข่าวกรองที่ออกมา) ซึ่งเป็นพื้นที่เปราะบางจากประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศที่ผ่านมา
นั่นทำให้ปัญหาความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้นอีกหลายเท่า เนื่องด้วยปฏิบัติการลอบสังหารโซไลมานีนั้น อาจถูกขยายตัวขึ้นไปสู่การดึงประเทศรอบข้างให้สวามิภักดิ์ต่อฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ซึ่งในขณะนี้ ทางอิหร่านก็ได้ยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้ ทำลายฐานที่มั่นของสหรัฐอเมริกาในอิรัก อันเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการณ์ ‘Martyr Soleimani’ ที่ทางอิหร่านกล่าวว่า นี่เป็นเพียงการโจมตีระลอกแรก เพื่อตอบโต้การกระทำของสหรัฐอเมริกา รวมถึงยังประกาศกร้าวว่า การโจมตีที่จะตามมานั้น จะครอบคลุมไปถึงประเทศที่เป็นพันธมิตรในภูมิภาคอย่างไม่เลือกหน้า
ทั้งนี้ นอกเหนือจากอิรักแล้ว สถานการณ์ในซีเรียที่เป็นอีกหนึ่งจุดเปราะบางก็มีรายงานที่น่าตระหนกอยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กองกำลังติดอาวุธที่อิหร่านสนับสนุนได้อพยพศูนย์บัญชาการในเมือง Albukamal และกระจายตัวตามแถบริมแม่น้ำยูเฟรติส และยึดครองบ้านเรือนของชาวซีเรียในแถวซีกตะวันออก ทำให้ชายแดนของอิรักและซีเรียต้องปิดตัวลงอีกครั้ง
เท่านั้นยังไม่พอ เพราะทางอิสราเอลที่ถือว่าเป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐอเมริกาก็ได้ประกาศจุดยืนของตนเองรวมถึงบุคลากรของประเทศอย่างชัดเจนว่า จะไม่เข้าร่วมในความขัดแย้งดังกล่าว ท่ามกลางความเสี่ยงในการรายงานของหน่วยสืบราชการลับของประเทศหรือ Mossad ที่ยังคงเฝ้าระวังท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงโดยง่าย
ในขณะนี้ ขีปนาวุธระลอกสองถูกยิงเข้าใส่ฐานที่มั่นของสหรัฐอเมริกาในพื้นที่เพิ่มเติม ตอกย้ำถึงความตั้งใจของอิหร่านที่มีต่อการ ‘ล้างแค้น’ ภายใต้เงื่อนไขของการ ‘ป้องกันตนเอง’ ที่ทางโฆษกของประเทศได้ออกมาประกาศให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
– สิ่งที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้น –
สถานการณ์ความขัดแย้งของสหรัฐอเมริกาและอิหร่านในรอบนี้ สร้างความตื่นตระหนกให้กับนานาประเทศเป็นอย่างมาก ว่าจะขยายตัวขึ้นสู่ระดับของสงครามโลกครั้งที่สาม แต่ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากหลากหลายปัจจัยแล้ว พบว่าความเป็นไปได้ที่ทุกสิ่งจะขยายตัวไปสู่ระดับของความขัดแย้งดังที่ว่านั้น ยังเป็นไปได้ยาก จากความซับซ้อนอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน
- ทางด้านกำลังพลของอิหร่านนั้น มีน้อยกว่าสหรัฐอเมริกาอยู่เกือบ 10 เท่า ทำให้การขยายตัวไปสู่การรบพุ่งอย่างเต็มรูปแบบนั้นเป็นไปได้ยาก
- นั่นทำให้อิหร่านอาจจะต้องพึ่งการรบนอกรูปแบบ เช่น การใช้กองกำลังติดอาวุธที่สนับสนุน เพื่อทำการรบในเฉพาะเขตภูมิภาค
- ทางฝั่งสหรัฐอเมริกา ไม่มีเหตุผลที่มากพอในการประกาศสงครามก่อการร้าย เพราะอิหร่านไม่ได้โจมตีประชาชนทั่วไป แต่เล็งผลที่กองทัพสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก
- แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะมีขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง แต่ข้อผูกมัดตามสนธิสัญญาสันติภาพและการไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ การละเมิดในข้อตกลงจะทำให้สหรัฐอเมริกาถูกประณามจากนานาชาติอย่างรุนแรง
- ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยังไม่มีฝักฝ่ายที่ชัดเจน และสหรัฐอเมริกายังไม่มีความพร้อมที่จะเปิดศึกอย่างเต็มกำลัง เพราะต้องกระจายกำลังพลในพื้นที่อื่นๆ ของภูมิภาคเพื่อรักษาที่มั่นเอาไว้
แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้จะเป็นความขัดแย้งที่อยู่เฉพาะภูมิภาค แต่ก็สร้างความระส่ำระสายทางด้านเศรษฐกิจของโลกอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักจากที่อิหร่านโจมตีฐานที่มั่นสหรัฐฯ ในอิรัก ทั้งดัชนีดาวโจนส์ที่ร่วงลงเกือบ 40 จุด และราคาทองสปอตพุ่งขึ้นเหนือ 1600 ดอลลาร์/ออนซ์ ไปจนถึงค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงรับกับสถานการณ์อันแสนตึงเครียดเหล่านี้
ในขณะนี้ ความซับซ้อนของความขัดแย้งยิ่งทวีคูณ เพราะสหรัฐอเมริกายังคงต้องตรึงกำลังเอาไว้ในเขตอิรัก เพื่อรักษาจุดมั่นคงเพื่อต่อต้านกลุ่มก่อการร้าย IS ที่ทำให้อิรัก กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ว่าจะวางตำแหน่งตนเองเอาไว้ในจุดใด และสหรัฐอเมริกา อาจจะต้องพบเจอกับความยากลำบากต่อการรับมือสถานการณ์ดังกล่าว รวมถึงการประกาศตั้งค่าหัวของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ทางการต้องเพิ่มการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดให้มากขึ้นไปทุกขณะ
– ไทยอยู่จุดไหนในความขัดแย้งนี้ –
สำหรับประเทศไทย แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับความขัดแย้งในครั้งนี้ แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ย่อมกระทบกับสถานภาพและเสถียรภาพของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู ผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ก็ชี้ว่า ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดล่อแหลมเช่นนี้ ควรใช้วิธีทางการทูตเพื่อผ่อนคลายแรงเสียดทานของสถานการณ์ และไทยเองจะต้องไม่แสดงท่าทีที่จะประกาศตัวเองว่าอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง อันเป็นการวางจุดยืนของตนเองที่ดีที่สุด
แต่กระนั้นจากกรณีที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวถึงการที่สหรัฐอเมริกาส่งสัญญาณเกี่ยวกับปฏิบัติการณ์ลับเด็ดหัวโซไลมานีนั้น ก็สร้างความตื่นตระหนกให้กับหลายฝ่ายอยู่ไม่น้อย จนทำให้ ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี นักการศาสนาผู้นำมุสลิมชีอะห์ในประเทศไทย ออกแถลงการณ์ถึงความไม่เหมาะสมของการกระทำดังกล่าว ว่าจะเป็นการชักศึกเข้าบ้าน เพราะเท่ากับเป็นการประกาศโดยอ้อมว่าไทยนั้น รู้เห็นเป็นใจกับสหรัฐอเมริกาในปฏิบัติการณ์ดังกล่าว อีกทั้งนี่ยังเป็นปฏิบัติการณ์ลับของสหรัฐอเมริกา ความเป็นไปได้ที่ไทยจะรู้ก่อนประเทศมหาอำนาจย่อมเป็นไปไม่ได้
เราคงต้องเฝ้าระวังกันต่อไป ว่าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่าน อันเกิดจากปฏิบัติการณ์ลับสังหารมือขวาของผู้นำประเทศจะนำพาปริมณฑลนี้ไปสู่ทิศทางใด แต่เราคงกล่าวได้อย่างเต็มปาก ณ ขณะนี้ว่า สถานการณ์แนวรบตะวันออก(กลาง) เหตุการณ์นอกจากไม่เปลี่ยนแปลง ยังจะทวีความรุนแรงขึ้นอีกต่างหากIn this article:สงครามตะวันออกกลาง, สหรัฐอเมริกา, อิหร่าน