ร้านไร้พนักงาน เจ๊งในจีนแต่โตในสิงคโปร์
เรื่อง : Mr.Lens
ก่อนหน้านี้เทรนด์ของร้านไร้พนักงานในจีนจะบูมสุดขีด แต่ไม่นานมานี้หลายๆ ร้านได้ปิดตัวลง อย่างกรณีของร้าน ‘Buy-Fresh Go’ ร้านสะดวกซื้อแบบไร้พนักงานที่ปิดตัวลงในช่วงกลางปีที่ผ่านมา หลังจากที่เปิดให้บริการได้เพียง 1 ปี หรือถึง ‘i-Store’ ซึ่งเป็นร้านสะดวกซื้อแบบไร้พนักงาน ก็ปิดสาขาจนเหลือเพียง 3 สาขา จากตอนแรกมีถึงประมาณ 9 สาขา และคาดยังมีอีกหลายรายที่ชะลอการเปิดสาขา เช่น JD.com พี่ใหญ่ในอีคอมเมิร์ซจีน ที่ขอเลื่อนร้านไร้พนักงานขายไซส์เล็กออกไปก่อน
จริงๆ แล้วข้อดีของคนจีนคือเห็นโอกาสแล้วก็ลงมือทำ ยิ่งคนจุดกระแสนี้เป็นพ่อแจ็ค หม่า ที่ดันเปิดร้านสะดวกซื้อไร้พนักงานมาช่วงปี 2017 ด้วยแล้ว มันก็ทำให้ผู้ประกอบการจีนเห็นโอกาสที่อยากลอง และทำให้เกิดร้านค้าไร้พนักงานเปิดกันไม่ต่ำกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ แต่ประเด็นคือร้านเหล่านี้ที่เปิดขึ้นมา มีรายได้หลักราว 40-50% จากกลุ่มอาหารสด เพราะมันเข้าข่ายร้านสะดวกซื้อ ซึ่งพอเปิดกันจริง มันกลายเป็นร้านที่ไม่ต่างอะไรกับเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติใหญ่ๆ เครื่องหนึ่งในสายตาของผู้บริโภค
ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจัยที่ทำให้ดูพังไม่เป็นท่า คือ ธุรกิจนี้ยังขาดการใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่พัฒนาเรื่องความสะดวกบางประการให้สมชื่อได้จริง เพราะมัวแต่มองว่าจะเปิดเพื่อทดแทนการใช้แรงงานเป็นหลัก
แต่ดูเหมือนเทรนด์นี้จะไปได้ดีที่ประเทศสิงคโปร์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการในสิงคโปร์ที่กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานและอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น แต่พวกเขาเหล่าผู้ประกอบการมองเทรนด์ร้านค้าไร้พนักงานเหล่านี้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ และตั้งใจที่จะไม่ทำผิดแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในจีน
หนึ่งในผู้ประกอบการที่ถูกมองว่าไปได้ดี ตามรายงานของนิตยสารนิกเคอิ เอเชียน รีวิว คือ ‘Octobox’ ร้านสะดวกซื้อไร้พนักงาน จากสตาร์ทอัพสัญชาติสิงคโปร์ ที่มีสาขาตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) โดยจับกลุ่มไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ตอบสนองดิจิทัลสูง ด้วยการเซตอัพเรื่องของความสะดวก ราคาที่เข้าถึงได้ และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารร้าน เพื่อเติมเต็มในสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ โดยภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ที่เปิดตัว มีนักศึกษาที่สนใจลงทะเบียนกว่า 3,000 คน ที่สแกนฝ่ามือเพื่อผูกกับเบอร์โทรศัพท์ในการยืนยันตัวตน ทำให้มีแผนการเปิดสาขาอีก 4 แห่งเร็วๆ นี้
เหตุผลที่ร้านเหล่านี้ทำได้ดีในสิงคโปร์ เพราะสามารถลดขั้นตอนที่ยุ่งยากของการยืนยันตัวตน จนถึงผู้บริโภคสามารถทำรายการต่างๆ ได้สำเร็จอย่างว่องไว ซึ่งเป็นการเรียนรู้ความล้มเหลวของร้านไร้พนักงานจากจีน ที่ไปทำขัดกับคอนเซปต์ของร้านสะดวกซื้อแบบไร้พนักงานทั้งสิ้น