ผ้าไทยเร่งปรับตัว เพื่อการแข่งขันในเวทีโลก
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มองอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยกำลังถูกท้าทายด้วยต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น กับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองตลาดในปัจจุบันได้เร็วกว่าและมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่ต่ำกว่า หากไทยไม่เร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตจากแบบดั้งเดิม (Traditional) ที่เป็นอยู่ พร้อมกับวางกลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะสมเพื่อกีดกันการแข่งขันด้านราคาจากผู้ประกอบการต่างชาติ และยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ บทบาทของสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มต่อเศรษฐกิจไทยคงจะลดลงอย่างต่อเนื่อง
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในแง่มุมของการสร้างเม็ดเงินที่สูงถึง 4.17 แสนล้านบาทในปี 2565 ประกอบกับลักษณะเฉพาะของอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น (Labor Intensive) จึงเป็นแหล่งงานสำคัญที่มีการจ้างงานที่สูงถึง 4 แสนตำแหน่ง หรือคิดเป็นราว 10% ของแรงงานในภาคการผลิต อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความสำคัญของมิติเม็ดเงินและการเป็นแหล่งงานให้กับประเทศไทยของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ก็ยังแฝงไปด้วยความเปราะบางที่พร้อมจะเกิดรอยร้าวและความเสียหายได้ทุกเวลา จากข้อจำกัดของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยที่ยังรับจ้างผลิต (Original Equipment Manufacturer : OEM) แบรนด์แฟชั่น Hi-Street รวมถึงผู้ผลิตที่ยังไม่สามารถสร้างเอกลักษณ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value-added) ผ่านแบรนด์สินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเปรียบเสมือนกำแพงที่ปกป้องอุตสาหกรรมจากการเน้นเรื่องคุณภาพการผลิต มากกว่าการมุ่งเน้นในเรื่องของต้นทุน
ทั้งนี้ สัญญาณการถูกลดบทบาทจากการที่ไทยเป็นเพียงฐานะการรับจ้างผลิตสะท้อนผ่านมูลค่าของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในปี 2566 ปรับตัวลง 5.9% เหลือเพียง 3.92 แสนล้านบาท และในปี 2567 แม้การหดตัวจะลดลงอยู่ที่ 1.42% ที่มูลค่า 3.86 แสนล้านบาท แต่ก็เป็นผลจากภาคส่งออกในรูปแบบค่าเงินบาทที่ช่วยพยุงในช่วงครึ่งปีแรก โดย ttb analytics มองถึงสัญญาณเตือนแนวโน้มที่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยจะเริ่มมีบทบาทลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นในแต่ละกลุ่มดังต่อไปนี้
- ผลกระทบของกลุ่มรับจ้างการผลิตในตลาดกลุ่ม Hi-Street Fashion ที่ย้ายฐานการผลิตสู่แหล่งต้นทุนต่ำ ด้วยธรรมชาติของรูปแบบการผลิตดั้งเดิม (Traditional) ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นรูปแบบการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor Intensive) เมื่อประกอบกับบริบทที่ไทยเป็นผู้ผลิตและผู้รับจ้างผลิตกลุ่มสินค้า Hi-Street ที่มีมูลค่าเพิ่มไม่สูงจึงมักแข่งขันในเรื่องต้นทุนมากกว่าคุณภาพ ส่งผลให้มีการย้ายฐานการผลิตที่จะทำให้สามารถรักษาข้อได้เปรียบจากต้นทุน โดยเฉพาะในส่วนของต้นทุนแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ไทยเริ่มต้นการผลิตอยู่ที่ 255 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น บังกลาเทศ และเวียดนาม เริ่มต้นที่ 114 และ 195 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ตามลำดับ ส่งผลให้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกของไทยซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 65-70% ของมูลค่าตลาดทั้งหมดหดตัวกว่า 13.1% ในขณะที่ภาคการส่งออกของกลุ่มประเทศที่ถูกยกระดับการเป็นฐานการผลิตใหม่ในรูปแบบการผลิตแบบดั้งเดิมของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เช่น บังกลาเทศและเวียดนามกลับมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นกว่า 20.2% และ 45.3% ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาตามลำดับ
- ผลกระทบในตลาด Mass Marketing ที่กดดันให้การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ที่ต้องตอบสนองพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ด้วยบริบทของคนในยุคปัจจุบันที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังเน้นกระแส Fast Fashion ที่เมื่อมีกระแสนิยมตามช่วงเวลานั้น ๆ สินค้าต้องวางขายให้เร็วที่สุดก่อนกระแสนั้นจะเบาบางลง กอปรกับความก้าวหน้าในเรื่องของสื่อสังคมออนไลน์ยังเป็นแรงขับเคลื่อนให้กระแส Fast Fashion ขยายตัว จากเดิมอาจเป็นแค่กระแสในประเทศ (Country Trends) เกิดเป็นไวรัลจนกลายเป็นกระแสในสังคมโลก (Global Trends) ดังนั้น การผลิตในรูปแบบดั้งเดิมอาจไม่สามารถผลิตเพื่อตอบสนองเทรนด์ดังกล่าวได้ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเปลี่ยนโฉมการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นรูปแบบการผลิตที่ใช้ทุนเข้มข้น (Capital Intensive) จึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ โดยโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตสามารถมีกำลังการผลิตต่อ 1 โรงงานได้มากกว่า 100,000 ตัวต่อวัน ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการระยะสั้น ๆ ที่เข้ามาทันทีทันใดได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการผลิตโดยเน้นบทบาททางเทคโนโลยีส่งผลในมิติที่หลากหลายทั้งในเรื่องของการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ที่ลดต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้น ด้วยบทบาทของไทยในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ส่วนใหญ่ยังจัดอยู่ในกลุ่มรับจ้างผลิตสินค้าในระดับแค่ Hi-Street Fashion รวมถึงในกลุ่มผู้ผลิตที่ยังไม่สามารถสร้างเอกลักษณ์ผ่านตราสินค้าได้ ซึ่งจะเป็นกำแพงที่ทำให้เกิดผลกระทบจากการแข่งขันด้านต้นทุนและป้องกันการลอกเลียนแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไทยยังเผชิญกับแรงกดดันอันลดทอนศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก โดยส่วนต่างของศักยภาพอันเสียเปรียบของไทยมีแนวโน้มที่จะขยายเพิ่มออกไปเรื่อย ๆ ทั้งแรงกดดันจากการย้ายฐานการผลิตของกลุ่มเจ้าของแบรนด์ Hi-Street Fashion เข้าสู่ประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า และการตอบสนองตลาด Mass ที่เน้นการออกแบบตามกระแสมากกว่าคุณภาพและพร้อมเปลี่ยนได้ตลอดเวลา (Fast Fashion) ซึ่งจะต้องอาศัยการผลิตเชิงอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มปริมาณสินค้าให้เท่าทันความต้องการในระยะเวลาอันสั้น โดยพบว่าฐานการผลิตเพื่อตอบสนองสินค้ากลุ่มนี้มักกระจุกตัวในจีน ที่มีศักยภาพในการผลิตเชิงอุตสาหกรรมสูง บนข้อได้เปรียบที่จีนเป็นเจ้าของ Platform การค้าออนไลน์ที่เป็นแหล่งข้อมูลที่สามารถคาดการณ์เทรนด์การสั่งซื้อ และพฤติกรรมของผู้ซื้อได้อย่างแม่นยำ ด้วยแรงกดดันดังกล่าว ttb analytics จึงมองทางรอดสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ตามข้อแนะนำดังต่อไปนี้
- กำหนดกลุ่มลูกค้าให้มีความชัดเจน ด้วยแรงกดดันการแข่งขันด้านต้นทุน ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเน้นในเรื่องกลุ่มเป้าหมาย (Segment Marketing) ที่เหมาะกับสินค้าของตนเองผ่านเอกลักษณ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ดีไซน์ รูปแบบ เพื่อให้ลูกค้าตระหนักในเรื่องคุณภาพสินค้าได้ (Perceived Quality) โดยสามารถปรับกลยุทธ์เพื่อสร้างอัตรากำไรให้สูงขึ้น และขยายธุรกิจได้ในเวลาเดียวกันผ่านกลยุทธ์ทางราคา (Price Strategy) ในรูปแบบที่ไม่ใช่การแข่งขันทางราคา ซึ่งการเน้นคุณภาพให้สูงเพียงพอจะเป็นกำแพงป้องกันการตีตลาดจากฝั่งผู้ประกอบการต่างชาติที่เน้นเรื่องต้นทุนต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- พัฒนาศักยภาพการผลิต โดยเฉพาะในกลุ่มที่ยังมีพื้นที่ขายตลาดกลุ่ม Mass ที่แข่งขันในเรื่องต้นทุนมากกว่าเน้นเรื่องคุณภาพ ควรพยายามพัฒนาบทบาททางเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิตและจะทำให้ลดช่องว่างความเสียเปรียบด้านต้นทุนให้แคบลงที่สุด เนื่องจากหากต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำกว่าระดับหนึ่ง เช่น ต่ำกว่า 50% นโยบายภาษีของภาครัฐอาจไม่ส่งผลเพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศ เนื่องจากต้องยกระดับถึงการเก็บภาษีกว่า 100% จึงจะช่วยลดแต้มต่อจากต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าในจำนวนนั้น ๆ ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบในประเทศควรเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อลดต้นทุนให้มีกรอบที่แคบลงเพียงพอที่ภาครัฐจะสามารถใช้นโยบายภาษี เพื่อลดความเสียเปรียบนั้นได้อย่างสมเหตุสมผล
ขับเอกลักษณ์ประจำชาติ บนเอกลักษณ์ของไทยที่มีวัฒนธรรมอันยาวนาน รวมถึงมีจุดเด่นด้านการแต่งกายประจำภาคก็เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นนั้น ๆ ได้ การเพิกเฉยต่อเอกลักษณ์เหล่านั้น โดยไม่หยิบมาใช้ เนื่องจากไม่มีความเหมาะสมต่อการใช้สอยในชีวิตประจำวันจึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ดังนั้น ภาครัฐควรร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อออกแบบและกำหนดชุดแต่งกาย สำหรับชุดทำงาน (Business Attire) ที่มีกลิ่นอายของไทยและเหมาะสำหรับการทำงานในทุก ๆ วัน ทั้งกลุ่มชุดทำงานที่ไม่เป็นทางการ (Business Casual) ชุดทำงานกึ่งทางการ (Business Semi-Formal) และ ชุดทำงานที่เป็นทางการ (Business Formal) รวมไปถึงการนำผ้าไทยจากทุกภูมิภาคมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบเพื่อให้มีกลิ่นอายแบบไทย ๆ ผนวกเข้ากับชุดแต่งกายที่ร่วมสมัยและเข้าถึงบริบทในชีวิตประจำวัน