fbpx

ช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่ต้องยอมรับกัน

เรื่อง : ดร.วิชยุตม์ ทัพวงษ์

สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดที่ผ่านมา ทำให้เกิดวิธีการปฏิบัติตัวใหม่โดยแท้จริง ณ เวลานี้ หากจะออกจากบ้านเพื่อการเดินทาง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ให้พร้อมเสมอและตรวจสอบการสวมใส่ให้กระชับ ซึ่งนอกจากนั้นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก คือต้องประเมินความเสี่ยงทุกครั้ง

หลักการทั่วๆ ไปของชีวิต หลังจากเจอคลื่นลูกแรกของสถานการณ์โควิด-19 นอกจากการป้องกัน ระมัดระวังการติดเชื้อจากการเดินทาง หรือการไปในสถานที่ต่างๆ แล้ว ยังมีหลักการที่ใช้กันโดยทั่วไปสำหรับกิจการต่างๆ นั่นคือ การบริหารจัดการความเสี่ยง

เป็นที่ค่อนข้างเข้าใจตรงกันว่ากิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสังคมของมนุษย์เรา จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเกิดการติดต่อไปมาหาสู่ซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน และส่งมอบงานแก่กัน การติดต่อไปมาหาสู่นี่เองที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้ ซึ่งในอีกทางหนึ่ง การไม่ติดต่อกันก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจะทำอย่างไรดีในการจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการติดต่อกัน

ว่ากันโดยทั่วไปแล้วนั้น ต้องบอกว่าไม่มีกิจกรรมใดๆ ที่ทำแล้วไม่มีความเสี่ยง ขึ้นอยู่กับว่ามันเสี่ยงกับอะไร และส่งผลกระทบมากหรือน้อยแค่ไหนต่างหาก โดยหลักการในการจัดการกับความเสี่ยงนั้นเป็นหลักการที่ใช้ในการบริหารธุรกิจโดยทั่วๆ ไปอยู่แล้ว

สำหรับชีวิตส่วนตัว หลักการจัดการความเสี่ยงสามารถนำมาใช้ได้แทบจะทุกลมหายใจของการดำเนินชีวิตเลยทีเดียว ก่อนอื่นมาเข้าใจหลักการการจัดการความเสี่ยงและองค์ประกอบหลักๆ ของการดำเนินการกันก่อน ที่นำมาใช้กันอย่างกว้างขวางและทั่วไปแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ขั้นตอนหลัก ได้แก่


1. การระบุว่าความเสี่ยงนั้นได้แก่อะไรบ้าง

ในกิจกรรมที่เราทำ ยกตัวอย่างเช่นกิจกรรมนั้นต้องมีการเจรจาซึ่งหน้ากันหรือไม่ มีการทำกิจกรรมทางร่างกาย เช่น ออกกำลังกายจนถึงขั้นต้องมีเหงื่อกันหรือไม่ จำนวนผู้เข้าร่วมเท่าไร มีพื้นที่ในการจัดกิจกรรมกว้างขวางเพียงใด


2. การประเมินว่าความเสี่ยงสามารถทำอะไรให้เกิดขึ้นได้บ้าง ทั้งผลดีและผลเสีย

แน่นอนว่าการจัดกิจกรรมบางอย่างสะท้อนไปสู่ผลบวกมากขึ้น เช่น ความบันเทิงหรือการรับรู้ข่าวสาร ซึ่งต้องมาลองดูกันให้ชัดว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องจัดในช่วงเวลานี้


3. การวางแผนรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

โดยส่วนใหญ่แล้วมาจากการวางแผนรับมือกับความเสี่ยงในรูปแบบที่ค่อนข้างจะสร้างความเสียหาย เพื่อทำให้ความเสียหายนั้นเกิดการถูกควบคุม และสะท้อนมาสู่ความเสียหายที่น้อยที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้ผ่านการควบคุมนั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนและง่ายก็คือการบันทึกรายละเอียดของผู้เข้าร่วมกิจกรรม การเว้นระยะห่างระหว่างกัน การทำความสะอาดฆ่าเชื้อตามความเหมาะสม เช่น จัดให้มีที่ล้างมือ


4การลงมือทำ การติดตาม และการควบคุม

นั่นคือการดำเนินงานตามแผนการจัดการความเสี่ยงที่วางไว้ทั้งหมดด้านบน เมื่อดำเนินการไปในระยะหนึ่ง เช่น ทุกวันก็ต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดว่าทำรายการได้ครบถ้วนหรือเปล่า ยังมีความบกพร่องติดขัดอะไรระหว่างการดำเนินการบ้าง รวมไปถึงการแก้ไขปรับปรุงพัฒนาการดำเนินการอยู่ตลอดเวลา

โดยทั่วไปแล้วอยากให้มองว่าความเสี่ยงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และสามารถจัดการได้ถ้าใช้เวลาในการวางแผนร่วมมือป้องกันอย่างมากพอ ใช้สติปัญญา ใช้ความรอบคอบ ใช้ประสบการณ์ที่มีจากหลายฝ่าย หลายความเชี่ยวชาญ หาทางดำเนินการร่วมกัน

องค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญในการร่วมมือกัน จัดการกับความเสี่ยงนั้นคือสิ่งที่เรียกว่าการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น มีการประกาศให้ชัดเจนว่าองค์กรหรือตัวเรากำลังจะทำอะไร เพื่ออะไร ระหว่างการทำนั้นต้องเจออุปสรรคอะไรบ้าง และคุ้มค่ากับสิ่งที่จะได้รับจากการกระทำนั้นหรือไม่ อย่างไร เพื่อที่จะทำให้ทุกคนในทีมงานเห็นว่า สุดท้ายแล้วจะได้อะไรจากการลงทุนลงแรงในการทำงานชิ้นนั้น

สำหรับชีวิตของแต่ละบุคคล มีมิติในการจัดการความเสี่ยงต่างๆ ได้ไม่ต่างกับองค์กร สามารถนำหลักขั้นตอนในการดำเนินงานจัดการความเสี่ยงมาใช้กับการจัดการความเสี่ยงส่วนบุคคลในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องสุขภาพ เรื่องสถานภาพทางด้านการเงินส่วนบุคคล หรือแม้ในแง่ของเรื่องความสัมพันธ์ ทั้งบุคคลในครอบครัว บุคคลในสถานที่ทำงาน เพื่อนฝูง ก็สามารถใช้หลักการนี้ได้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าไม่มีการลงมือทำการวางแผนการจัดการความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ อาจเริ่มง่ายๆ โดยการจัดลำดับความสำคัญก่อน ว่าจะเริ่มทำกับเรื่องใด โดยส่วนใหญ่จะจัดการความเสี่ยงในลักษณะองค์กรมากกว่าเรื่องของส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ผมเชียร์ให้ดำเนินการเรื่องส่วนตัวก่อน

สถานการณ์ฉุกเฉินแห่งโลกนี้สอนให้เรียนรู้เรื่องของการจัดการความเสี่ยงที่จำเป็นที่สุดคือ เรื่องด้านการเงินส่วนบุคคล ซึ่งสามารถแบ่งได้ว่าเป็นการจัดการความเสี่ยงทางด้านการออมเงิน การเตรียมสำหรับภาวะฉุกเฉินที่จะต้องใช้ การวางแผนเมื่อเกิดการเจ็บป่วย และรวมถึงการวางแผนเพื่อเวลาเกษียณในอนาคต เรื่องเหล่านี้แค่แยกออกมาเป็นหัวข้อก็จะรู้ว่าต้องทำอะไรแล้ว

ไม่มีความเสี่ยงใดที่หนีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่แน่นอน หากแต่ทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงน้อยลงได้ด้วยการจัดการความเสี่ยง ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพที่แข็งแรงมีความปลอดภัย และมีการจัดการความเสี่ยงอย่างมืออาชีพครับ

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ