การเตรียมตัวบนทางแห่งหัวใจ กับข้อคิดที่ได้จากการ ‘วิ่งมาราธอน’ ของ ‘ตูน บอดี้สแลม
ผมเคยเขียนถึง ตูนบอดี้แสลมไปครั้งหนึ่ง ถึงวิถีการตัดสินใจของตูนที่ผมได้ยินผ่านปากของเขาจากเวทีแห่งหนึ่ง .. ครั้งนั้นเขาพูดถึงชีวิตในวัยเด็ก ว่าเคยมีคนมาดูถูกเขา และเขาเกือบจะต่อยปากคนนั้น แต่ด้วยการที่เขาได้ยั้งคิด ณ ตอนนั้นสักประมาณ 5 วินาที ทำให้เขาไม่ได้ออกหมัดแต่อย่างใด ..ตอนนั้นตูนให้เหตุผลว่า “ ที่บ้านส่งผมมาเรียน ถ้าผมทำอะไรออกไป แม่ต้องมาพบครู และก็จะเกิดอะไรที่วุ่นวายจะมาเต็มไปหมด ” นั่น คือ 5 วินาทีที่มีความหมายสำหรับเขา และสำหรับทุกๆ คน เพราะการที่เขามีภาพรายละเอียดแห่งอนาคตขึ้นมาหลายๆ ฉาก สะท้อนให้เห็นว่าตูนมีระเบียบการคิด และระบบการยั้งคิดที่ดีมากๆ
ในเวทีเดียวกันนั้น ผมมีโอกาสได้ถามตูนอีกว่า รู้สึกอย่างไรที่ต้องหยุดทำดนตรี เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย คุณไม่เสียดายในสิ่งที่ตัวเองรัก และกำลังไปได้ดีหรือ … คำตอบของตูนตอนนั้น ก็ไม่ธรรมดาอีกเช่นกัน เพราะเขาตอบว่า “ ผมรอได้ ผมต้องทำให้ที่บ้านรู้สึกว่าผมทำให้กับครอบครัวตามความหวังของที่บ้านแล้ว ” … ผมชอบคำตอบนี้อีกเช่นกัน เพราะเขาสร้างความลงตัว ระหว่าง “ ความหวัง” ของที่บ้าน กับ “ ความฝัน ” ของตัวเอง .. ซึ่งผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่หลายคนในวันนี้ ไม่มีพื้นที่ให้กับความอ่อนโยนต่อครอบครัวเหมือนเมื่อก่อน
นอกเหนือจากเวทีที่ผมเขียนถึงตูน ส่วนตัวแทบจะไม่ได้มีโอกาสได้คุยกันเลย นอกจากงานโรงเรียน หรือ เฉียดกันมากที่ที่สุด ก็คงจะเป็นตอนที่ตูนเป็นนักดนตรี ส่วนผมเป็นพิธีกร ซึ่งเป็นรุ่นพี่โรงเรียน
.. วันนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมอยากเขียนถึงเขา หลังจากที่ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือ “ ผู้นำเชิงปฏิบัติ พี่ตูน .. ก้าวที่กล้าของเขา ” ที่จัดทำโดยสถาบันพระปกเกล้า … ซึ่งผมว่าเรื่องแปลก แต่ดีมากๆ เพราะผมได้รู้จักตัวตนของ ตูน มากขึ้นผ่านมุมมองแบบงานเขียนวิชาการที่ไม่เคยได้อ่านจากที่ไหนมาก่อน โดยหนังสือนั้น มีการสัมภาษณ์บุคคลรอบตัวในแบบงานวิจัย .. ซึ่งผมขอย้ำว่าดูแปลกกับมุมวิชาการที่มีต่อนักร้อง นักดนตรี .. แต่อ่านแล้วก็ได้อะไรเยอะดี
..
มันดีตรงที่หยิบทฤษฎีผู้นำของศาสตราจารย์ โนนากะ ของญี่ปุ่น มาแยกย่อยความเป็นผู้นำของตูนเป็นข้อๆ ผ่านการสัมภาษณ์ และเก็บข้อมูลจากคนใกล้ตัวเขามากมาย แล้วมาใส่กรอบ หรือให้น้ำหนักความเป็นผู้นำของตูนว่าเข้าข่ายใดบ้าง ทั้งการกำหนดเป้าหมาย ความรู้เชิงประจักษ์ การสื่อสาร การวิเคราะห์ การขับเคลื่อน และการสร้างผู้นำรุ่นต่อไป ซึ่งปรากฏว่าเขาตอบโจทย์ทั้งทฤษฎี และปฏิบัติได้แทบจะทุกข้อ
ทั้งนี้ผมจะไม่ขอลงรายละเอียดแบบย่อเอกสารทางวิชาการ แต่ผมขอสรุปใหม่ และถอดความในแบบผมเอง ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะทำให้ได้รู้จัก ตูน บอดี้แสลม มากกว่าการเป็นนักร้อง หรือ การเป็นนักปฏิบัติที่มีแรงบันดาลใจอันแรงกล้าเท่านั้น
ตูนเป็นนักวางแผนและนักปฏิบัติ Real Planner Real Player
ผมเชื่อว่าก่อนหน้านี้หลายคนได้ยิน…มีคนปรามาสว่าตูนเหมือนติดยา .. ทั้งๆ ที่ตูนในความเป็นจริงแล้ว เป็นโคตรนักกีฬา เขาเคยเป็นนักฟุตบอลโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ระดับชิงถ้วยกรมพละศึกษา เคยเป็นนักกีฬาปิงปอง ซึ่งหลังจากที่เขาทำดนตรีหนักๆ จนเมื่อถึงขีดสุดของชีวิตดนตรี ตูนกลับมาซ้อมปิงปองอีกครั้งเพื่อลงแข่งขันในแบบทั่วไปกับตัวแทนทีมสุพรรณบุรี ซึ่งความมุ่งมันของเขาและผลงานที่ได้นั้นไม่ธรรมดา
และกับการวิ่งของตูนที่หลายๆ คนเห็น ไม่ได้เริ่มวิ่งแค่จากกรุงเทพฯ – บางสะพาน สี่ร้อยกว่ากิโลเมตร ก่อนที่จะมาเป็นเบตง – แม่สายสองพันกว่ากิโลเมตร เพราะตูนนั้นเก็บระยะและฝึกซ้อมมาอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่เล่นๆ ครับ อย่างตอนไปทำงานที่อังกฤษก็ยังเอารองเท้าไปซ้อมวิ่งที่ไฮด์ปาร์กในลอนดอน ฉะนั้นภาพที่บางคนมองว่าเขาแกร่ง จากความมุ่งมั่น และเป็นนักปฏิบัติ .. ผมขอบอกว่าจริงๆ แล้ว ตูน เป็นนักวางแผนที่ดีมากๆ และน่าจะเก่งวางแผนไม่น้อยไปกว่าปฏิบัติเลย ซึ่งจากโครงการก้าวฯ มันมีหลายอย่างที่สะท้อนการวางแผนที่ดีมากๆ เช่น เป้าหมายของการระดมเงินที่เน้นการมีส่วนร่วมมากกว่าเงินก้อนใหญ่ ( แต่ก็ได้ก้อนใหญ่มาก ) ซึ่งการบริจาคก็มีรูปบบที่มีการคัดสรรเป็นอย่างดี , การได้รับความร่วมมือจากทีมงานแพทย์พยาบาล นักแสดง นักกีฬา ที่แทบทั้งหมดมากันด้วยใจ แต่ครบถ้วนไปด้วยระบบการจัดการ เป็นต้น
ตูนสร้างสมดุลระหว่างความหวังและความฝัน Balance Passion
ผมเห็นคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ศรัทธาในพี่ตูน และเอาเขาเป็นแบบอย่างในชีวิตโดยเลือกมุมเดียวของพี่ตูนมานำทาง โดยบางคนเน้นทำตามฝัน หลังจากฟังเพลง “ เรือเล็กต้องออกจากฝั่ง” โดยเน้นแต่ Passion มากกว่า Reason ในการตัดสินใจ .. จะบอกว่า ถ้าย้อนกลับไปในอดีตของ “ ตูน หรือ พี่ตูน ” กว่าเขาจะนำเรือเล็กออกจากฝั่งนั้นมันมีหลายองค์ประกอบที่เขาได้ทำก่อนมากมาย ทั้งการเรียนจนจบปริญญาตรีตามที่ครอบครัวตั้งความหวังไว้ และไม่ไช่ปริญญาตรีธรรมดา เพราะพ่วงเกียรตินิยม จากนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสียด้วย ทั้งนี้จะบอกว่าช่วงเวลานั้น ตูนสามารถเลือกได้ที่จะทำดนตรีอย่างจริงจัง โดยหยุดการเรียนไว้ก่อน เหมือนกับที่หลายๆคนซึ่งตัดสินใจแบบนั้นเมื่อโอกาสมา แต่ทว่า ตูนเลือกที่จะให้น้ำหนักครอบครัวก่อน สานความฝันของตัวเอง
จะขอเน้นว่าก่อนที่พี่ตูนจะออกเรือ พี่ตูนได้ตระเตรียมทุกอย่างให้คนบนฝั่งได้สบายใจ ภูมิใจ และ มั่นคงพอประมาณ ก่อนที่จะนำเรือเล็กของตัวเองออกจากฝั่งพร้อมๆกับเพื่อนชาวบอดี้แสลม
ตูนป้องกันกับความผิดพลาดล่วงหน้า Worst Case Scenario
ใน “ หนังสือพี่ตูนกับก้าวที่กล้าของเขา ” มีส่วนสำคัญมากๆ ที่ผมคิดว่า ตูนเป็นคนตระเตรียมอะไรที่มีขั้นตอนดีมากๆ และ “เขาตระหนักเสมอว่าเขาจะพลาดไม่ได้” .. ช่วงที่เขาตัดสินใจไปเป็นสจ๊วต .. มันไม่ได้เกิดจากการที่แค่คิดว่าเขาทำได้ หรือมีใบปริญญาเบิกทางเข้าสู่การเป็นลูกเรือ แต่ตูนเลือกที่จะเป็นสจ๊วตเพราะอาชีพนี้สามารถทำให้เขามีรายได้แน่นอนซึ่งเป็นเงินเดือนขั้นต่ำในการดำรงชีพ ขณะเดียวกันช่วงเวลาที่เขาได้พักในต่างประเทศครั้งละ 2-3 วัน คือ ช่วงเวลาที่จะได้ทำเพลง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขารักมากที่สุด
จะเห็นว่าตูนมีมุมของการ Balance ที่ดีสุดๆ เพราะ “ หล่อเลี้ยงชีพ ” ด้วยรายได้จากการทำงานสายการบิน ขณะที่ “ หล่อเลี้ยงวิญญาณ ” ระหว่างที่ยังไม่ได้บินด้วยการทำดนตรี ซึ่งถ้าย้อนไปดูวิธีการตัดสินใจเรื่องนี้ของตูนนั้น ก็แทบไม่ต่างอะไรกับเลือกที่จะเรียนให้ที่บ้านก่อน แล้วดนตรีมาที่หลัง
ตูน เคยบอกว่าความฝันของตัวเอง รอได้ และ มันมีเวลาของมัน
ผมว่าพัฒนาการของ “ ตูน บอดี้ แสลม ” ยังคงมีอีกหลายเหตุการณ์ หลายช่วงชีวิต ที่เราสามารถเขียนถึงเขา และ สามารถนำสิ่งที่เขาเป็น มาเป็นตัวอย่างให้ผู้คนในสังคมได้เรียนรู้ได้อีกมาก โดยเฉพาะมุมที่คนไม่รู้ ไม่เห็น หรือไม่เคยมอง .. ตูนดำเนินชีวิตโดยมีฐานคิดมาจากครอบครัว เติบโตมาด้วยความไม่ประมาท และก้าวสู่ความสำเร็จในชีวิตด้วยแรงที่กล้าของเขา
ที่มา : หนังสือผู้นำปัญญาเชิงปฏิบัติ พี่ตูน กับก้าวที่กล้าของเขา / ปรีชญาณ์ นักฟ้อน