แอปฯ โหด แค่กดโหลดประเทศบึ้ม!
เรื่อง: สันทัด โพธิสา
ละลานตา! เชื่อว่าหน้าจอสมาร์ตโฟนของทุกคนคงเกลื่อนไปด้วยแอปพลิเคชันสารพัด เกิดมีคำถามกลับมาว่า หากแอปฯ ที่อยู่ในมือถือของคุณ มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ คุณจะรู้สึกอย่างไรครับ?
รู้จักเจ้าแอปฯ Tik Tok กันใช่ไหมครับ เป็นอีกแอปฯ หนึ่งที่มาแรงเอามากๆ ช่วงปีสองปีมานี้ ฟีเจอร์อันโดดเด่นของมันก็คือ นำเสนอวิดีโอสั้นๆ เน้นความเป็นไวรัลให้แชร์กันไปโดยถ้วนทั่ว ซึ่งเจ้า Tik Tok นี้เป็นแอปฯ สัญชาติจีน จึงกลายมาเป็นประเด็นตรงที่ว่า จู่ๆ กองทัพบกสหรัฐฯ ก็ออกมาประกาศ ‘ห้ามใช้แอปฯ Tik Tok’ เด็ดขาด! เหตุผลน่ะเหรอครับ เพราะเกรงว่าบริษัทแม่ที่เป็นบริษัทสัญชาติจีน จะนำข้อมูลที่ต้องใช้กรอกตอนสมัครแอปฯ ไปให้ทางการจีน เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญทางการทหารนั่นเอง
ตายๆๆ กะจะโหลดเล่นกันสนุกๆ นี่จะมีผลต่อความมั่นคงประเทศกันเชียวหรือ?! การข่าวนี้ยังไม่ได้รับการคอนเฟิร์มว่าเป็นข้อเท็จจริงแบบร้อยเปอร์เซนต์ แต่เรื่องทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
ถ้ายังจำกันได้ เมื่อปีก่อน เจ้าตัว FaceApp หรือแอปฯ ทำหน้าแก่-หน้าเด็ก ที่ฮิตกันสุดๆ ในระยะเวลาอันสั้น ก็เคยมีกรณีใกล้เคียงกัน โดยในขณะที่เจ้า Faceapp กำลังถูกโหลดกันสนั่นหวั่นไหว อยู่ดีๆ ก็มีข่าว (กึ่ง) ลือจากทางการสหรัฐฯ (อีกแล้ว) ว่า แอปฯ นี้มีผู้ผลิตเป็นชาวรัสเซีย จึงมีการตั้งข้อสงสัยว่า บริษัทที่ผลิตจะให้สิทธิเข้าถึงข้อมูลพลเมืองของสหรัฐฯ กับบุคคลที่สาม รวมถึงรัฐบาลต่างชาติหรือไม่
ซึ่ง ณ เวลานั้น เจ้าแอปฯ ดังกล่าวมียอดการโหลดอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านครั้ง (สูงที่สุดในกูเกิลเพลย์) นั่นหมายความว่า จะมีข้อมูลส่วนตัวหลุดรอดออกไปกว่า 100 ล้านบัญชี! หากเป็นเรื่องจริง ถือว่าเป็นคลังข้อมูลประชากรที่สร้างประโยชน์ด้านการตลาด หรือแม้แต่การเมืองได้ไม่น้อยทีเดียว
เขียนมาถึงตรงนี้ คุ้นๆ ไหมครับว่า เรื่องข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้แอปฯ รั่วแบบนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับใคร? เฉลยโดยไว ก็เฟซบุ๊กยังไงล่ะ เหตุเกิดจากแอปฯ ที่ชื่อ thisisyourdigitallife หรือแอปฯ ทำนายบุคลิกภาพสนุกๆ ที่ถ้าจะเข้าเล่น ต้องเชื่อมต่อกับเฟซบุ๊ก ภายหลังผู้พัฒนาเจ้าแอปฯ ตัวนี้ดันนำข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 50 ล้านบัญชีรายชื่อ ไปขายให้กับบริษัทวิจัยด้านข้อมูล เรื่องเลยเถิดไปต่อว่า บริษัทนี้ก็ดั๊นมีงานหลักคือ วางแผนและช่วยนักการเมืองหาเสียงเลือกตั้งจากข้อมูลที่บริษัทหามาได้ ซึ่งหนึ่งในโปรเจ็กต์ที่ทำอยู่ในเวลานั้นก็คือ แคมเปญหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อปี 2016 นั่นเอง
และแล้ว โดมิโนแห่งความซวยนี้ก็ล้มลงมาเป็นทอดๆ จนมาใส่ที่ตัวของซีอีโอคนดังอย่าง คุณมาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก อย่างช่วยไม่ได้ เขาถูกเชิญตัวไปให้การต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ถึงความไม่ชอบมาพากลครั้งนี้ เรื่องทำท่าจะรุนแรงไปถึงขนาดที่ว่า คณะกรรมาธิการวุฒิสภาทำท่าว่าจะเข้ามาขอควบคุมการทำงานของเฟซบุ๊กเอง หื๋มม?! ซึ่งเป็นเรื่องที่คุณมาร์กไม่ปลื้มอย่างแน่นอน ถึงตรงนี้การพิจาณาข้อกล่าวหาต่างๆ ก็ยังคงคาราคาซังกันอยู่ แต่ประการที่สำคัญ ภายหลังจากเกิดกรณีอื้อฉาว ก็เกิดกระแสด้านลบต่อเฟซบุ๊กอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
เอาเข้าจริง ตัวแอปฯ ไม่ได้ผิด แต่ตัวคนทำแอปฯ (ที่ไม่บริสุทธิ์ใจ) ต่างหากที่ผิด จากกรณีโหลดแอปฯ สะเทือนถึงดวงดาวเหล่านี้ ดูเหมือนว่า ข้อมูลชีวิตของพวกเราในวันนี้ คงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว (ของเรา) อีกต่อไป แต่ถึงกระนั้น ถ้านำไปใช้เพื่อประโยชน์การณ์ใดการณ์หนึ่ง ก็ยังพอรับได้ (แม้จะรู้สึกว่าถูกขโมยก็เถอะนะ) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราคงไม่ยินดีนัก หากว่าข้อมูลส่วนตัวของเรา จะถูกนำไปสร้างผลประโยชน์ให้คนเฉพาะกลุ่ม หรือแม้แต่ไปเป็นเครื่องมือบ่อนทำลายมนุษย์ด้วยกันเอง
ถ้าโหลดแอปฯ แล้วจะส่งผลรุนแรงขนาดนั้น ขอย้อนเวลากลับไปใช้ชีวิตในถ้ำ เกลียดขี้หน้าใคร หยิบหินไปทุบหัวซะยังดีกว่า…
#GMlive #Facebook