THE PURSUIT OF DEMOCRACY AND HAPPINESS
ย้อนกลับไปมองช่วงชีวิตในปีที่ผ่านมา คุณคิดว่าตนเองมีความสุขมากขึ้นหรือน้อยลง?
จิกมีทินเลย์
ท่ามกลางความร้อนแรงของปัญหาการเมือง เศรษฐกิจรัดตัว สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ดูเหมือนว่าจะเสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ GM กำลังคิดว่าพวกเรามีความสุขกันน้อยลงทุกทีๆ แต่จากสายตาของคนนอก กลับไม่คิดอย่างนี้เลย เขามองว่าเมืองไทยของเรามีปัจจัยมากมายที่จะทำให้คนไทยทุกคนมีความสุข
IN
จิกมี ทินเลย์ หรือ เลียนโป จิกมี โยวเซอ ทินเลย์ (Lyonpo Jigmi Yoeser Thinley) อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศภูฏาน เขาเดินทางมาเยือนเมืองไทยเพื่อปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากนั้น เขาก็ให้เวลาตลอดบ่ายกับ GM เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับ ‘ประชาธิปไตยและความสุข’
จะว่าไป เขาคือปรมาจารย์ของเรื่อง GNH หรือ Gross National Happiness ปาฐกถาเรื่อง Values and Development : Gross National Happiness ที่เขาไปกล่าวในงาน Millennium Meeting for Asia and the Pacific ตอนปลายปี ค.ศ. 1998 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ได้จุดประเด็นเรื่อง GNH ให้กลายเป็นเทรนด์ใหม่สำหรับการพัฒนาของทั้งโลก
เขาเดินสายปาฐกถาไปทั่วโลก และรวบรวมสรรพความรู้ที่จำเป็นต่อการทำให้ประชากรของประเทศตนเองมีความสุข จนกระทั่งมาถึงกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร
ในวันที่เรากำลังมีม็อบเคลื่อนขบวนไปทั่วกรุง และทุกคนกำลังหน้าดำคร่ำเครียด เพราะเมื่อมองไปข้างหน้า ทุกทางล้วนตีบตัน ไม่มีใครเห็นทางออกจากวังวนของปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในทุกวันนี้ได้
บางที คำตอบและทางออกของเรา อาจจะอยู่ที่ต้นแบบในประเทศเล็กๆ บนเทือกเขาหิมาลัย
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย นัมชุก เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 4 ทรงสละราชสมบัติพระราชทานให้แก่ เจ้าฟ้าชายจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก มกุฎราชกุมาร ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 5 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2549 โดยมีพระราชดำริในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ประเทศที่เพิ่งปิดฉากระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเริ่มตั้งไข่ประชาธิปไตยของตัวเองเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ประเทศที่คนทั้งโลกมองเข้าไปอย่างเคลือบแคลงสงสัย ว่าวิถีชีวิตแบบล้าหลังของพวกเขา จะสร้างความสุขได้จริงเพียงไร
จิกมี ทินเลย์ มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจมาตลอดหลายทศวรรษ ถึงแม้ว่าเขาจะเพิ่งพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งมาเมื่อไม่กี่เดือน
ก่อนหน้านี้ แต่เขาก็นำเรื่องราวและบทเรียนต่างๆ ที่ได้รับ มาทบทวนตัวเอง และเผยแพร่ให้กับเราได้รับรู้
GM จะไม่โรแมนติกไซส์ประเทศเล็กๆ แห่งนี้ว่าเป็นสวรรค์วิมาน และไม่เชิดชูแนวคิด GNH ว่าเป็นสัจธรรมสูงสุดจนเกิน แต่เราจะซักไซ้ไล่เลียงสารพัดคำถาม ที่น่าจะเป็นประโยชน์และเป็นบทเรียนให้กับสังคมไทย และนำมาถ่ายทอด ณ ที่นี้อย่างไม่ตัดทอน
GM: ท่านเคยเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และระบอบประชาธิปไตย ในความเห็นของท่าน การทำงานภายใต้ทั้งสองระบอบมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
จิกมี ทินเลย์ : ผมทำงานให้กับประเทศมานาน โดยการรับราชการในตำแหน่งต่างๆ จากวันที่สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 4 ขึ้นครองราชย์ ท่านมีวิสัยทัศน์ว่า
ท่านต้องการเห็นประเทศพัฒนาไปทางใด และผมก็เป็นข้าราชการที่โชคดีคนหนึ่ง ที่มีส่วนทำงานให้วิสัยทัศน์นี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ซึ่งการนำประชาธิปไตยเข้ามาในประเทศภูฏาน ก็เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์นี้ด้วย และผมได้มีส่วนร่วมโดยตรงมาตั้งแต่ต้น ในช่วงปี ค.ศ. 1998 สมเด็จพระราชาธิบดีตัดสินพระทัยว่าท่านจะวางมือจากการบริหารประเทศ และจะโอนถ่ายอำนาจการบริหารไปให้แก่คณะรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งโดยสมัชชาแห่งชาติ ผมเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีที่ได้รับการเลือกในรอบนั้น โดยที่สมเด็จพระราชาธิบดีเป็นผู้เสนอชื่อคณะรัฐมนตรีให้สมัชชา
แห่งชาติเป็นผู้เลือก คณะรัฐมนตรีเดิมก่อนหน้านั้นก็โดนยุบไป ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาธิบดี และต้องปฏิบัติราชการตามแต่ที่สมเด็จพระราชาธิบดีจะทรงโปรด ไม่มีวาระการดำรงตำแหน่งตายตัว แต่ในคราวนั้น ในปี ค.ศ. 1998 สมเด็จพระราชาธิบดีท่านยุบคณะ
รัฐมนตรีเดิม และเสนอชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ให้สมัชชาแห่งชาติเป็นผู้เลือก และคณะรัฐมนตรีชุดนี้มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่แน่นอน คือ 5 ปีเท่านั้น
และเนื่องจากผมได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดจากสมัชชาแห่งชาติ ผมจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ผมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง ในปี ค.ศ. 2003 ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการแบบเดียวกับครั้งแรก
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2008 ประเทศภูฏานเริ่มใช้ระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ มีการจัดตั้งพรรคการเมือง ในตอนนั้น ผมเองจัดตั้งพรรคขึ้นมาค่อนข้างช้ากว่าคนอื่น เพราะเป็นความตั้งใจของผมตั้งแต่แรกแล้วที่จะเกษียณอายุจากการรับราชการ เมื่อภูฏานเปลี่ยนระบอบการปกครอง ผมคิดว่าภายใต้ระบอบใหม่ ก็ควรเป็นหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ๆ มารับช่วงต่อไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นวันนั้น คือเมื่อการเลือกตั้งใกล้เข้ามา มีพรรคการเมืองเหลือเพียงพรรคเดียว คือพรรค PDP และประเทศเราไม่สามารถมีการเลือกตั้งโดยมีพรรคการเมืองเดียวได้ ผมกับเพื่อนจึงก่อตั้งพรรค DPT ขึ้นมา วัตถุประสงค์เราในตอนนั้นคือเพื่อเป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีประสิทธิภาพ เราไม่ได้หวังว่าจะชนะการเลือกตั้ง แต่เราก็ชนะขึ้นมาได้ และเราได้จัดตั้งรัฐบาลแรกภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
TE
GM: ขอย้อนกลับไปถามเรื่องที่มาของสมัชชาแห่งชาติครับ
จิกมี ทินเลย์ : ตอนผมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ผมเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้ง โดยกระบวนการคือสมเด็จพระราชาธิบดีเสนอชื่อผม และสมัชชาแห่งชาติเป็นผู้แต่งตั้งผม ตอนนั้นสมัชชาแห่งชาติก็มาจากการเลือกตั้ง ประเทศของเรามีสมัชชาแห่งชาติตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 และผู้แทนมาจากการเลือกตั้งในแต่ละเขต แต่คณะรัฐมนตรียังเป็นการเสนอชื่อโดยสมเด็จพระราชาธิบดี และแต่งตั้งโดยสมัชชาแห่งชาติ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2008 เราเปลี่ยนเป็นการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งประเทศ ประชาชนทุกคนที่มีอายุมากกว่า 18 ปี สามารถลงคะแนนเสียงได้ มันจึงมีความแตกต่างไปจากในอดีต และความรับผิดชอบของรัฐบาลก็ต้องเปลี่ยนไปเช่นกัน ในตอนที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรีสองครั้งแรก เรามีหน้าที่รับผิดชอบต่อนโยบายของสมเด็จพระราชาธิบดี แต่หลังจากปี ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น ความรับผิดชอบของรัฐบาลจึงเป็นต่อความต้องการของประชาชนทุกคน โดยที่สมเด็จพระราชาธิบดีทรงเป็นประมุขและศูนย์รวมจิตใจของคนในประเทศ
GM: มีความแตกต่างกันหรือไม่ ระหว่างสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 4 และองค์ที่ 5
จิกมี ทินเลย์ : บอกได้เลยว่ามีความแตกต่างกันอย่างมาก ผมถวายงานรับใช้สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 4 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1974 เมื่อประเทศภูฏานยังคงอยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งหมายความว่าสมเด็จพระราชาธิบดีทรงเป็นผู้ตัดสินใจในการดำเนินการของรัฐบาลในด้านต่างๆ จากวันนั้น ท่านทรงนำภูฏานเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างเป็นระบบ และเริ่มกระจายอำนาจออกไป และท่านทรงลดอำนาจของตนลงเรื่อยๆ และในปี ค.ศ. 1998 ท่านทรงประทานอำนาจด้านบริหารทั้งหมด ให้แก่คณะรัฐมนตรีได้รับการรับรองโดยสมัชชาแห่งชาติ โดยท่านทรงลดบทบาทของท่านในคณะรัฐมนตรีโดยสิ้นเชิง ก่อนหน้านั้น ท่านจะทรงเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีในฐานะประธาน นี่เป็นการยุติบทบาทในการบริหารประเทศ โดยสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 4 อย่างเป็นระบบ และเมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 5 ขึ้นครองราชย์ ประเทศภูฏานก็เป็นประชาธิปไตยเต็มตัว
GM: อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศภูฏานต้องนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้ มีการพูดกันหรือเปล่าว่าประเทศภูฏานมีความพร้อมแค่ไหนสำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตย เท่าที่ติดตามข่าวมา พบว่ามีการเตรียมการกันมา 10-20 ปีก่อนหน้านี้แล้วใช่ไหม
จิกมี ทินเลย์ : ถ้าจะให้ถูกต้อง ต้องบอกว่ากระบวนการนี้ใช้เวลาเตรียมการมานานถึง 33 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 4 ขึ้นครองราชย์
ประเทศภูฏานจัดการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2551 เพื่อเลือกสมาชิกรัฐสภา มีพรรคการเมือง 2 พรรคที่จดทะเบียนโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ภูฏานเข้าแข่งขันในการเลือกตั้ง ได้แก่ พรรคสันติภาพและความรุ่งเรืองของภูฏาน (DPT) นำโดย จิกมี ทินเลย์ และพรรประชาธิปไตยประชาชน (PDP) ส่วนพรรคการเมืองที่ 3 พรรคแห่งชาติภูฏาน (BNP) ถูกยกเลิกการขอจดทะเบียน – วิกิพีเดีย –
นั่นแหละครับ ท่านทรงมีพระราชดำรัสว่าอยากให้ประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เพราะมันเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุด นั่นคือสิ่งที่ท่านทรงเชื่อตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นความคิดที่ก้าวหน้าเป็นอย่างยิ่งสำหรับช่วงเวลานั้น กระบวนการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองนั้น ดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนในปี ค.ศ. 2006 เมื่อพระองค์ทรงรับสั่งอย่างเป็นทางการ ว่าพระองค์จะยกเลิกอำนาจเด็ดขาดของพระมหากษัตริย์ และจะทรงสละราชสมบัติ และจะนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้ในการบริหารประเทศ ในตอนแรก ประชาชนมีความกังวลเป็นอย่างมาก คนส่วนใหญ่ไม่ได้ชื่นชอบความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นหรอกนะ พวกเขามีความสุขกับสิ่งเดิมที่มีอยู่แล้ว มีความสุขที่จะถูกปกครองโดยพระมหากษัตริย์ พวกเราไม่รู้ว่าประชาธิปไตยจะมาพร้อมกับอะไรบ้าง ในวันนั้น เรามีสันติสุข มีเสถียรภาพในชีวิตอยู่แล้ว และพระองค์ก็ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยเมตตาธรรม สังคมของเรามีความยุติธรรมและความเท่าเทียมกัน และเมื่อเราพิจารณาประชาธิปไตยรอบโลก รวมทั้งในภูมิภาคของเรา เราก็เกิดความกังวลกันขึ้นมา เป็นห่วงว่าประเทศภูฏานจะสูญเสียสันติสุขและเสถียรภาพนี้ไป ในตอนแรกนั้น มีคนถวายฎีกาให้สมเด็จ-พระราชาธิบดี ว่าอย่านำระบอบประชาธิปไตยมาใช้เลยด้วยซ้ำ (หัวเราะ)
GM: ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ท่านคิดว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ดีกับชาวภูฏานจริงหรือไม่
จิกมี ทินเลย์ : ตอนแรกๆ เราทุกคนก็สงสัยในเรื่องนี้เหมือนกัน ในการเลือกตั้งครั้งแรก มีการรณรงค์ให้คนออกมาลงคะแนนเสียง ก็มีความกังวลว่าจะไม่มีใครออกมาเลือกตั้งเลย สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 5 ถึงกับต้องทรงออกมารณรงค์ด้วยตัวพระองค์เอง เพื่อให้ประชาชนออกมาลงคะแนนเสียงในวันเลือกตั้ง ทรงบอกว่าเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน และเป็นที่น่ายินดีว่าวันนั้นมีประชาชนมาใช้สิทธิออกเสียงกว่าร้อยละ 80 จากวันนั้น เวลาผ่านมา 5 ปีแล้ว จนถึงวันนี้ ทุกคนก็เริ่มเข้าใจและเห็นประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย
GM: มีตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับข้อดีเหล่านี้หรือเปล่า
จิกมี ทินเลย์ : โอเค! สิ่งที่ชัดเจนมากๆ คือประชาชนชาวภูฏานมีความรู้สึก ว่าตนเองมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศมากขึ้น ไม่เฉพาะแค่ความรู้สึกมีส่วนร่วมในระดับหมู่บ้านหรือในระดับเขตเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงนโยบายระดับประเทศด้วย พวกเราพบว่าผู้แทนที่เลือกเข้าไป ต้องรับผิดชอบการกระทำต่างๆ โดยตรงกับพวกเรา ซึ่งนี่คือสิ่งที่แตกต่างจากอดีตมาก ผู้แทนเหล่านี้เคารพและให้เกียรติชาวบ้านมากขึ้น ชาวบ้านสามารถซักถามและเข้าถึงตัวผู้แทนได้ และเมื่อผู้แทนมีความรับผิดชอบโดยตรงกับประชาชนในเขต พวกเขาก็ต้องลงพื้นที่เข้าไปหาชาวบ้านมากขึ้น ถ้ามองในระดับรัฐบาล ประชาชนก็ได้เห็นผลงานอันเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นมากมาย จากรัฐบาลที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงกับประชาชน ในการเลือกตั้งครั้งแรก พรรคการเมืองต่างๆ ออกมาหาเสียงกับประชาชน ว่าถ้าท่านเลือกพวกเรา เราก็จะดำเนินการในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้ ซึ่งมีอะไรบ้าง ลองนับมาดู อย่างเช่นพรรคของผมเอง บอกประชาชนว่าเราจะต่อระบบไฟฟ้าเข้าไปในหมู่บ้านขนาดใหญ่ทุกหมู่บ้าน เราจะสร้างถนนที่รถวิ่งได้ให้ครอบคลุมหมู่บ้านใหญ่ๆ ทุกแห่งในเวลา 5 ปี เราจะทำให้ทุกบ้านจะต้องมีน้ำสะอาดใช้ เด็กทุกคนจะได้รับโอกาสทางการศึกษา เราจะปรับปรุงประสิทธิภาพของการให้บริการทางสุขภาพ และทุกคนจะเข้าถึงการบริการทางสุขภาพ โดยที่ไม่ต้องเดินทางไกลมากนัก เราจะเชื่อมต่อประเทศด้วยโครงข่ายการสื่อสาร ซึ่งคำหาเสียงทั้งหมดนี้ พรรคของผมได้ทำให้เกิดขึ้นใน 5 ปีที่ผ่านมา
“เวลาผ่านมา 5 ปีแล้ว จนถึงวันนี้ ทุกคนก็เริ่มเข้าใจและเห็นประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย”
GM: ในเมื่อพรรคของท่านสร้างผลงานไว้มาก ในช่วงที่ได้เป็นรัฐบาล แต่ทำไมพรรคของท่านจึงแพ้การเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อปีที่ผ่านมา เทียบกับอีกพรรคหนึ่งที่เคยมีผู้แทนเพียงแค่ 2 คน สามารถผันตัวเองมาเป็นรัฐบาลได้ เกิดอะไรขึ้น?
จิกมี ทินเลย์ : นี่ไงครับ คือสิ่งที่ดี ผมคิดว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นสิ่งที่ดี ในประการแรก แสดงให้เห็นว่าประชาชนชาวภูฏาน รู้จักวิธีที่จะหาประโยชน์จากระบอบประชาธิปไตยให้ได้มากที่สุด ทุกคนทราบดีอยู่แก่ใจว่าประเทศของเราเป็นประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ จากการเลือกตั้งครั้งแรก พวกเราได้เห็นแล้วว่าพรรคการเมืองใหญ่พรรคนี้ สามารถทำอะไรให้ได้บ้าง ทีนี้พอมาถึงการเลือกตั้งครั้งที่สอง พวกเราก็ต้องอยากรู้อยากเห็น ว่าอีกพรรคหนึ่งจะทำงานอย่างไร เพราะฉะนั้น เพียงในเวลาอันสั้นๆ ชาวภูฏานจะได้มีโอกาสเห็นความสามารถของทุกพรรคการเมือง สามารถหาประโยชน์จากการเลือกตั้งให้มากที่สุด พรรคการเมืองหลักทั้งสองในประเทศ สามารถทำอะไรได้บ้างทั้งในฐานะพรรครัฐบาลและในฐานะพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งผลการเลือกตั้งแพ้ชนะทั้งสองครั้งที่ผ่านมา จะทำให้ประชาชนทุกคนมีข้อมูลที่ดีมากในการตัดสินใจสำหรับการเลือกตั้งครั้งถัดๆ ไปจึงรู้สึกยินดีมากกับเรื่องนี้
เคยมีชาวบ้านมาพูดกับผม เมื่อตอนเลือกตั้งครั้งแรก ว่าเขาจะลงคะแนนให้พรรคผมตอนนั้น เพราะทางพรรคมีคนที่มีประสบการณ์มากกว่า มีคนที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วในอดีตถึง 3 คน มีอีก 4 คนที่เคยเป็นรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นพรรคของผมจึงมีประสบการณ์การทำงานที่มากกว่า และเป็นสิ่งที่หลายคนต้องการสำหรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรก แต่ในการเลือกตั้งครั้งที่สอง ได้มีชาวบ้านมาพูดกับผม ว่าพวกเขาจะลองไปเลือกอีกพรรคหนึ่ง นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนความคิดของชาวภูฏานที่ต้องการให้โอกาสทั้งสองพรรคโดยเร็วที่สุด จะได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในอนาคต
GM: ท่านกำลังบอกว่า ท่านไม่ได้ตั้งใจจะเอาชนะในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา?
จิกมี ทินเลย์ : (หัวเราะ) ไม่ใช่อย่างนั้นครับ พวกเราพยายามอย่างเต็มที่แล้ว ผมเองก็ทุ่มสุดตัวให้กับการรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งที่ผ่านมา สมาชิกพรรคทุกคนก็ทุ่มเทอย่างเต็มที่ และตอนแรกๆ เรามีความมั่นใจมากว่าเราจะชนะ เรามั่นใจกันจนถึงวันเลือกตั้ง แต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้ ในวันนั้น ผมบอกเพื่อน
ร่วมพรรคทุกคน ว่าเราได้เคยแสดงออกอย่างภาคภูมิว่าเป็นผู้ชนะ เราเคยปฏิบัติตัวอย่างมีศักดิ์ศรีอย่างไร ตอนนี้เราแพ้แล้ว เราก็ต้องปฏิบัติตัวอย่างมีศักดิ์ศรีในความพ่ายแพ้ของเราเช่นกัน ทางพรรคยอมรับในผลการเลือกตั้ง ว่าเป็นมติของประชาชน
GM: มีสำนักข่าวบางแห่ง อ้างว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้กล่าวว่า ประเทศภูฏานในยุคใหม่ จะให้ความสำคัญกับเรื่อง GDP มากกว่า GNH ท่านมีความเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้
จิกมี ทินเลย์ : ผมไม่แน่ใจว่าคุณอ่านมาจากแหล่งข่าวไหน แต่ผมเชื่อว่าท่านนายกรัฐมนตรีไม่ได้หมายความแบบที่คุณว่ามา ตอนนี้ผมได้ลาออกจาก
รัฐสภาแล้ว ถึงแม้ว่าผมจะได้รับเลือกกลับเข้าไปด้วยคะแนนกว่าร้อยละ 80 และเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ผมก็ได้ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค DPT แล้วด้วยเช่นกัน ตอนนี้ผมไม่ใช่นักการเมืองอีกต่อไป แต่ผมอยากจะอธิบายต่อคำถามของคุณ ว่านี่เป็นเรื่องปกติมากๆ ที่รัฐบาลใหม่ย่อมจะพยายามทำให้ตนเองแตกต่างจากรัฐบาลเก่า ผมคิดว่าสิ่งที่นายกรัฐมนตรีท่านนี้ต้องการจะบอก คือรัฐบาลก่อนหน้า ซึ่งก็หมายถึงผมเอง ได้ใช้ความพยายามในการประชาสัมพันธ์เรื่อง GNH ในเวทีต่างประเทศมากเกินไป ซึ่งผมกำลังจะบอกว่าเขาเข้าใจผิด ข้อเท็จจริงคือประเทศภูฏานไม่ได้ต้องการออกไปพูดให้ชาวโลกมาทำตามเรา เราไม่ได้ออกไปประชาสัมพันธ์ว่าเราทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วต่อไปนี้ชาวโลกควรมาทำตามเรา และเราไม่ได้อวดอ้างว่าวิถีของเราเป็นวิถีการพัฒนาที่ดีที่สุด เราไม่ได้ทำอะไรอย่างนี้เลย สิ่งที่เกิดขึ้นจริง คือมีคนจากข้างนอก ได้เข้ามาชักชวนให้พวกเรานำวิถีการพัฒนาของเราออกมาแบ่งปันกับชาวโลก สิ่งที่เราพูดกับชาวโลกก็ไม่ใช่สิ่งที่เราคิดว่าพวกเขาควรทำ แต่เป็นสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในประเทศของเราเอง
ประเทศภูฏานนำเสนอเรื่อง GNH นำเสนอต่อโลกภายนอกครั้งแรกในปี ค.ศ. 1998 ถ้ายังจำได้ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผู้คนตื่นตัวกับสหัสวรรษใหม่ที่กำลังจะมาถึง ทุกคนอยู่ในช่วงแห่งการครุ่นคิด ว่ามนุษยชาติเราได้ทำอะไรมาแล้วบ้างในรอบสหัสวรรษที่ผ่านมา และในสหัสวรรษหน้า เรากำลังจะก้าวไปในทิศทางใด ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ได้มีข้อสรุปที่คล้ายคลึงกัน คือมนุษยชาติเราไม่ได้มีความก้าวหน้ามากนักในแง่ของความเป็นมนุษย์ แต่ในด้านเทคโนโลยีอะไรเหล่านั้น เราได้บรรลุถึงสิ่งมหัศจรรย์มามากมายหลายอย่าง เช่นด้านการแพทย์และเรื่องอื่นๆ แต่พอกลับมาพิเคราะห์ถึงความเป็นมนุษย์ เราพบว่าเรามีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ไม่ได้มีความสุขมากขึ้นเลย ทั้งในระดับครอบครัวและในระดับปัจเจก แล้วคำถามคือ จะมีอะไรที่สามารถเป็นเครื่องชี้ทางให้เราได้ในสหัสวรรษใหม่ที่จะมาถึง พอหลายคนเคยได้ยินเรื่อง GNH ก็เลยเชิญสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 4 ซึ่งเป็นผู้วางรากฐาน GNH ให้ไปพูดที่ Asia Pacific Millennium Summit จัดโดยสหประชาชาติ ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ จริงๆ ตอนนั้นก็มีการประชุมแบบนี้ที่จัดขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก โดยนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ และงานที่ผมว่านี้ เป็นงานหนึ่งที่ประเทศเราได้รับเชิญให้ไปพูด แต่ในคราวนั้น ท่านก็ไม่ได้เสด็จไปเอง จึงได้รับสั่งให้ผมไปแทน
R
ตอนแรก ผมก็ได้ปฏิเสธสหประชาชาติไป เพราะตอนนั้นก็เกรงว่าจะมีแต่คนหัวเราะเยาะเรา พวกเขาคิดว่าวิธีการของเราเป็นยูโทเปีย ที่ไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริง เขาถามว่าเราจะวัดความสุขได้อย่างไร มีแต่คนสงสัย ผมเลยคิดว่าไม่พูดจะดีกว่า พวกเรามีความแน่วแน่ในการดำเนินนโยบาย GNH ในประเทศเราอยู่แล้ว แต่การพูดถึงมันให้คนอื่นฟัง เป็นสิ่งที่เราไม่แน่ใจว่าควรหรือเปล่า ดังนั้นผมจึงตอบปฏิเสธ แต่สหประชาชาติก็ตื๊อมาก ยืนยันว่าอยากให้เราไปจริงๆ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1998 ผมจึงเดินทางไปเกาหลีใต้ และเป็นครั้งแรกที่ได้พูดถึง GNH บนเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งที่งานนั้น มีผู้นำทางความคิดมาเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้คนทั้งโลกก็ให้ความสนใจเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น และจากการที่ผู้คนได้เห็นว่าเราพัฒนาไปขนาดไหน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972 เขาก็เริ่มอยากรู้ว่าเราทำได้อย่างไร อะไรคือ GNH ถ้าจะให้อธิบายง่ายๆ GNH คือการพัฒนาที่มีเป้าหมายที่แน่นอน และเป้าหมายนั้นคือการทำให้มนุษย์สามารถที่จะพัฒนาตนเองให้มีความสุขขึ้นมาได้ ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นสิ่งพื้นฐานที่สุดของความเป็นมนุษย์
GM: อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญของการดำเนินนโยบายภาครัฐ คือการวัดผลลัพธ์ของมัน เราวัด GNH กันอย่างไร และอะไรคือ GNH
จิกมี ทินเลย์ : ถูกต้อง แน่นอนว่าต้องมีการวัดผล มีคนตั้งคำถามนี้ตั้งแต่ก่อนปี ค.ศ. 1998 เสียอีก และนี่คือสาเหตุหนึ่งที่มีผู้คนไม่น้อยที่หัวเราะเยาะและดูแคลนพวกเรา พวกเขาบอกว่า GNH วัดไม่ได้ แต่นั่นก็ไม่ได้กระทบอะไรพวกเราเลย เพราะพวกเราคิดว่า GNH สำคัญมาก เราหัวเราะกลับไป พร้อมกับตอบแบบติดตลก ว่าเราวัด GNH จากความกว้างของรอยยิ้มบนใบหน้าประชาชน ซึ่งนั่นไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงนะ จากปี ค.ศ. 1998 เป็นต้นมา สังคมโลกเริ่มให้ความสนใจ GNH มากขึ้น และในโลกนี้อะไรก็ตามที่มีค่า เราต้องวัดค่าของมันได้ ตั้งแต่นั้นมา เราจึงต้องเริ่มคิดพัฒนาดัชนีต่างๆ มาเป็นเครื่องมือในการวัด เราได้พัฒนาดัชนีที่มีความซับซ้อนขึ้นมาเพื่อการนี้ หลายปีที่ผ่านมาเราร่วมมือกับนักวิชาการในการพัฒนา GNH ให้เป็นศาสตร์ของการพัฒนา
GNH ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่า ถ้าสิ่งที่มนุษย์ต้องการมากที่สุดคือความสุข หน้าที่หลักของรัฐ คือต้องสร้างปัจจัยที่เหมาะสมให้ประชาชนสามารถไขว่คว้า
ความสุขนั้นมาได้ ปัจจัยที่เหมาะสมนั้นเรากลั่นกรองออกมาเป็นเสาหลัก 4 ต้น
เสาหลักต้นแรก คือ การพัฒนาสังคมเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม นี่คือสิ่งที่ผมพูดไปแล้วเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลของผม ตลอดช่วง 5 ปีนั้นเลย เสาหลักที่สอง เนื่องจากภูฏานเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัยที่สูง ระบบนิเวศของเรามีความเปราะบางมาก ความอยู่รอดของเราขึ้นกับว่ามนุษย์กับธรรมชาติจะอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลได้อย่างไร ดังนั้น เสาหลักที่สองสำหรับเรา คือการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม เสาหลักที่สาม คือ การอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรม ถึงภูฏานจะเป็นประเทศเล็ก อยู่ระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่คือจีนและอินเดีย เราก็ยังอยู่รอดเป็นเอกราชมาได้จนทุกวันนี้ วัฒนธรรมของเราเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศเราคงความเป็นเอกราชเอาไว้ได้ และเสาหลักที่สี่ คือ ธรรมาภิบาลที่ดี และเพื่อให้เสาหลักต้นที่สี่นี้บรรลุ ประเทศภูฏานจึงเลือกที่จะเดินบนเส้นทางของประชาธิปไตยไงล่ะ
การพัฒนาประเทศตาม GNH ตั้งอยู่บนเสาหลักทั้ง 4 ต้นนี้ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1998 ที่คนจากภายนอกมาบอกว่าเราต้องลงรายละเอียดมากกว่านี้อีก สิ่งที่ทำ
อยู่นั้นไม่เพียงพอ โอเค ไม่เป็นไร เราก็ได้ใช้เวลาหลายปีในการนำหลักทั้งสี่มาประยุกต์ เป็นองค์ประกอบหลักแห่งความสุข 9 ด้าน ได้แก่
1. สุขภาพที่ดี
2. ระดับการศึกษา และพัฒนาการด้านสมอง
3. รายได้และการกระจายตัวของรายได้ มันไม่ใช่แค่คนคนหนึ่งหาเงินได้เท่าไหร่ แต่ว่ารายได้ทั้งหมดของคนในสังคมมีการกระจายตัวอย่างไร
4. ความหลากหลายทางวัฒนธรรม แม้แต่ในประเทศเล็กอย่างภูฏาน เราก็มีวัฒนธรรมหลายอย่าง มีภาษาหลายภาษา และมีคนหลายเผ่าพันธ์ุอยู่ร่วมกัน
5. สุขภาพจิต ซึ่งดัชนีหลายๆ อันไม่มีการวัดเลย แต่เราทำได้
6. การใช้เวลา ว่าแต่ละคนมีการใช้เวลาที่สมดุลหรือไม่ หรือว่าเวลาทั้งหมด หมดไปกับการทำงาน มีเวลาให้ครอบครัวหรือการสันทนาการหรือไม่
7. ชุมชนที่เข้มแข็ง สาเหตุหนึ่งที่สังคมมีความเสื่อมโทรมลงก็เพราะชุมชนขาดความเข้มแข็ง บ้านเราอยู่ใกล้กัน ในคอนโดฯ ใหญ่ แต่เราไม่รู้จักกันเลย
เราไม่เคยพูดทักทายกัน นี่คือชุมชนที่ไม่เข้มแข็ง เราจะทำอย่างไรให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง
8. สุขภาพของระบบนิเวศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของความอยู่รอดของสังคม
9. ธรรมาภิบาล จากเสาหลัก 4 ต้น และองค์ประกอบหลัก 9 ด้าน ทั้งหมดนี้เราพัฒนาต่อมาให้เป็นตัวแปรที่สำคัญ 72 อย่าง ที่เราสามารถวัดได้ ตัวอย่างเช่น เราวัดสุขภาพจิตจากอัตราการฆ่าตัวตาย ระดับสุขภาพจิตของคนในสังคม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่วัดได้นะครับ
GM: ในช่วง 5 ปีที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ตัวแปรเหล่านี้ดีขึ้นหรือไม่ และอย่างไร
จิกมี ทินเลย์ : ผมบอกไม่ได้หรอกว่าตัวแปรทุกอย่างดีขึ้นหมด แต่ผมบอกคุณได้แน่ๆ ว่าในช่วง 5 ปีที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรี เราผลักดันให้ GNH เป็นปัจจัยหลักในการดำเนินนโยบายสาธารณะ เรามีความมุ่งมั่นในการพัฒนาในแนวทางนี้มากขึ้น ไม่มีโครงการไหนหรือนโยบายไหน ที่จะเริ่มได้หากไม่ได้ผ่านการคัดกรองโดยใช้เครื่องมือชี้วัดของ GNH และในกระบวนการคัดกรอง เรานำตัวแปรต่างๆ มาวิเคราะห์อย่างละเอียด โครงการนี้จะทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นหรือไม่ โครงการนี้จะสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนหรือไม่ โครงการนี้จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศหรือเปล่า ผู้วางนโยบายหรือผู้ตั้งโครงการนั้นๆ จะต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ และให้คะแนนในแต่ละตัวแปรด้วย ถ้านโยบายไหนได้คะแนนติดลบเราก็จะไม่ทำ นโยบายหรือโครงการนั้นจะถูกตีกลับไปยังหน่วยงานต้นสังกัด ให้กลับไปทบทวนมาใหม่ เราได้พัฒนาดัชนีวัดขึ้นมา การคัดกรองทำโดยคณะกรรมการ GNH และทุกโครงการต้องผ่านคณะกรรมการนี้ ทุกอย่างทำกันเป็นระบบ
GM: ขอย้อนกลับไปในเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตามที่ท่านอธิบายว่าเป็นเสาหลักต้นที่สาม และเป็นองค์ประกอบข้อที่ 4 ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ประเทศของท่านเคยมีการเนรเทศคนเชื้อสายเนปาลกว่าแสนคนออกนอกประเทศ กลายเป็นข่าวใหญ่ครึกโครม นโยบายเช่นนี้สอดคล้องกับมาตรวัด GNH อย่างไร
จิกมี ทินเลย์ : ตามข้อเท็จจริงก็คือ มีคนประมาณ 64,000 คน ที่ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ทางมนุษยธรรมครั้งนั้น และตามข้อเท็จจริงก็คือ คนเหล่านั้นเป็น
“GNH ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่า ถ้าสิ่งที่มนุษย์ต้องการมากที่สุดคือความสุข หน้าที่หลักของรัฐ คือต้องสร้างปัจจัยที่เหมาะสมให้ประชาชนสามารถไขว่คว้าความสุขนั้นมาได้”
คนเชื้อสายเนปาลที่เข้าประเทศภูฏานโดยผิดกฎหมาย เมื่อรัฐบาลตระหนักว่าคนลักลอบเข้าเมืองพวกนี้มีจำนวนมากขึ้น ในอัตราที่เร็วอย่างน่าเป็นห่วง และอาจทำให้ประเทศเสียสมดุลประชากร รัฐบาลได้ติดตามปัญหานี้อย่างจริงจัง และพบว่ามีคนที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายประมาณ 64,000 คน พวกเขาไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในประเทศนี้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เราได้ดำเนินการทางกฎหมายทุกขั้นตอนในการจัดการเรื่องนี้ สิ่งที่ชาวโลกไม่ค่อยจะได้รับรู้ คือแม้กระทั่งใปัจจุบัน ประชากรประมาณร้อยละ 23 ของประเทศภูฏานมีเชื้อสายเนปาล ซึ่งคนเหล่านี้เป็นพลเมืองภูฏาน มีสิทธิทางพลเมืองเท่าเทียมกับคนอื่นทุกประการ และไม่ได้ถูกกีดกันใดๆ เลย นี่คือความหลากหลายทางวัฒนธรรมจริงๆ เราเพียงแค่ดำเนินการเนรเทศคนที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเท่านั้น
GM: ทั้งๆ ที่ประเทศเนปาลเอง ก็ไม่ได้ต้องการรับกลับเข้าประเทศตนเองเลย ท่านเนรเทศพวกนั้นออกไป…แต่ผมไม่แน่ใจว่าใช้คำว่า ‘เนรเทศ’ จะแรงเกินไปหรือเปล่า
จิกมี ทินเลย์ : คุณถามได้ทุกคำถามที่ข้องใจ และผมยินดีจะตอบตามข้อเท็จจริง ผมหวังว่าคำถามและคำตอบเหล่านี้จะอยู่ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้อย่างครบถ้วนด้วย ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจกันก่อน ว่าเนปาลเป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องการเติบโตของประชากรอย่างรวดเร็วมาหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา เนปาลยังมีปัญหาเรื่องความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ดังนั้น จึงมีผู้คนจำนวนมาก ที่กลายเป็นผู้ลี้ภัยทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมากจากเนปาล ประเทศเขายังประสบปัญหาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และเนื่องจากภูฏานซึ่งเป็นประเทศที่สุขสงบ และมีโอกาสการทำงาน จึงมีผู้อพยพย้ายถิ่นฐานจากเนปาลเข้ามาเพราะเหตุนี้ ซึ่งผมขอเน้นว่าเราเนรเทศเฉพาะคนที่ลักลอบเข้ามาโดยผิดกฎหมาย และผมอยากจะเสริมเพิ่มด้วย ว่าในรัฐบาลผม ผู้แทนกว่าร้อยละ 20 มีเชื้อสายเนปาล รองประธานสภาก็เป็นคนเชื้อสายเนปาล ในคณะรัฐมนตรีที่มี 10 คน ก็มีอยู่ 2 คนที่มีเชื้อสายเนปาล และดูแลงานด้านการศึกษาและโทรคมนาคม
GM: ขอถามท่านในเรื่องเศรษฐกิจ ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เราเห็นว่าตัวเลขหนี้สาธารณะในประเทศภูฏานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันอยู่ที่ประมาณร้อยละ 70 ของ GDP ซึ่งถือว่าสูงมากๆ สำหรับประเทศเล็กๆ ท่านมีความเห็นว่าอย่างไร
จิกมี ทินเลย์ : สิ่งแรกที่ผมอยากจะพูด คือนักเศรษฐศาสตร์อาจมีความเห็นเรื่องของหนี้สาธารณะที่ต่างจากเรา พวกเขามักจะคิดแค่ว่าหน้าที่ของรัฐ คือการดูแลให้ระดับเงินเฟ้อต่ำ และงบประมาณแผ่นดินไม่ขาดดุลจนเกินไปนัก อันนี้เป็นมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์สายคลาสสิกทั่วไป และตอนนี้บรรดาประเทศในยุโรปที่กำลังเผชิญกับการตัดสินใจเรื่องนี้ และรัฐส่วนใหญ่ก็ใช้หลักเศรษฐศาสตร์สายคลาสสิกนี้ ในการตัดสินใจดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีความเห็นแย้งมา ที่บอกว่าสิ่งที่สำคัญคือการสร้างงาน ถ้ามีการสร้างงาน สร้างรายได้ ทุกอย่างจะดีของมันเอง
ในขณะที่ประเทศอย่างภูฏานของเรา เราเพิ่งเริ่มจากศูนย์ คือไม่มีอะไรเลยจริงๆ ภูฏานพัฒนามาได้จนถึงทุกวันนี้ ก็ด้วยเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาเป็นหลัก
จนกระทั่งเมื่อเราเริ่มเติบโตขึ้น เราจำเป็นต้องเริ่มก่อหนี้ยืมสิน เพราะประเทศที่ให้ความช่วยเหลือเรา บอกเราว่าเราเดินมาได้ขนาดนี้แล้ว เขาไม่สามารถให้แต่เงินให้เปล่าได้อีกต่อไป เขาจะเริ่มให้ในรูปเงินกู้ด้วย ภาครัฐจึงต้องเริ่มกู้เงิน แต่กว่าร้อยละ 60 ของเงินที่เรากู้ ไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ และเราสามารถทำผลตอบแทนได้อย่างรวดเร็วในการลงทุนด้านนี้ นี่จึงเป็นการกู้เงินเพื่อไปสร้างฐานรายได้ ฐานเหล่านี้จะช่วยในการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต เรามีเป้าหมายว่าประเทศจะสามารถพึ่งตัวเองได้เต็มที่ในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งโดยหลักคือเราจะไม่ต้องรับเงินช่วยเหลืออีกต่อไปหลังจากปี ค.ศ. 2020
GM: ถ้าเป้าหมายหลักของการกู้เงินมาลงทุน ก็เพื่อการสร้างงาน แล้วในตอนนี้ สถานการณ์การจ้างงาน อัตราการว่างงาน และสภาพเศรษฐกิจของภูฏานเป็นอย่างไรบ้าง
จิกมี ทินเลย์ : ภาพที่เห็นในภูฏานตอนนี้ คือนักเรียนนักศึกษาที่จบมาใหม่ ต้องการทำงานราชการ และดูเหมือนว่าภาคเอกชนจะยังไม่สามารถสร้างงานที่ดึงดูดคนเหล่านี้ได้เลย คนยังอยากทำงานรับราชการมากที่สุด ผมว่านี่เป็นเรื่องปกติสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ประเทศกำลังพัฒนาทุกแห่ง เริ่มพัฒนาจากการที่รัฐบาลทำหน้าที่หลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเมื่อเวลาผ่านไป ส่วนต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจก็ค่อยๆ ถูกยกระดับขึ้นไป ปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของภาคเอกชน ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านนี้ ก็เป็นปกติที่คนที่หางานทำจะไม่อยากไปทำงานภาคเอกชน เพราะรายได้และสวัสดิการยังไม่ดีเท่าภาครัฐ ประเทศเรามีกระทรวงแรงงานซึ่งตั้งเมื่อ 9 ปีที่แล้ว หน้าที่หลักของกระทรวงนี้คือการพัฒนาตลาดแรงงานภาคเอกชน เพื่อให้มีเสถียรภาพและค่าตอบแทนที่ดีเท่างานในภาครัฐ ตอนนี้คนภูฏานก็ค่อยๆ เริ่มเห็นว่างานในภาคเอกชนก็เป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง
GM: เรื่องการว่างงานเป็นปัญหาในตอนนี้หรือไม่
จิกมี ทินเลย์ : การว่างงานเป็นปัญหานะ แต่มันควรจะถูกยกเป็นปัญหาหรือเปล่า นี่ก็ถือเป็นอีกประเด็นเลย ในตอนนี้มันถูกทำให้เป็นปัญหาทางการเมืองอย่างแน่นอน ประเทศเราไม่เหมือนประเทศไทย ที่พวกคุณมีอัตราการว่างงานที่ต่ำมากเพียงแค่ร้อยละ 1 ในประเทศภูฏาน ตัวเลขว่างงานตอนนี้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.1 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนว่างงานส่วนใหญ่กระจุกตัวในทิมพู ซึ่งเป็นเมืองหลวง ดังนั้นการว่างงานจึงเป็นอะไรที่เห็นได้ชัดมาก คนเหล่านี้กลายเป็นคนจรจัด อาศัยอยู่ตามวัดต่างๆ และถ้าเราจำแนกการว่างงานตามอายุ อัตราการว่างงานของหนุ่มสาวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 7 ถึงร้อยละ 8 ซึ่งสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนทีเดียว ถ้าเราเปรียบเทียบตัวเลขนี้กับตัวเลขในอดีต มันก็เป็นตัวเลขที่สูงกว่านี้อีก
GM: ในประเทศไทยเรายังมีงานภาคเกษตรกรรม ที่สามารถดูดซับคนวัยทำงานเข้าไปได้เยอะมาก
จิกมี ทินเลย์ : ใช่ๆ ซึ่งนี่คือจุดที่แตกต่างจากประเทศภูฏาน คนภูฏานที่หางานทำในเมืองไม่ได้ ไม่ค่อยจะกลับไปทำงานภาคเกษตรกรรมกัน คนว่างงานส่วนใหญ่ก็ยังคงอยู่ในเมืองโดยเฉพาะที่เมืองหลวง มีบางส่วนกระจายไปยังเมืองเล็กบ้าง การให้ทุกคนมีงานทำยังเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากเห็น
VI
GM: ประเทศของท่านถูกขนาบด้วย 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ คือ จีนและอินเดีย ในอดีตประเทศต้องพึ่งอินเดียเป็นอย่างมาก สิ่งนี้จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่
จิกมี ทินเลย์ : อินเดียเป็นพันธมิตรหลักของเราในด้านการพัฒนาประเทศ ถ้าพิจารณาปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ อินเดียจะยังคงต้องเป็นพันธมิตรหลักของภูฏานต่อไปในอนาคต การออกไปสู่โลกภายนอก เราจำเป็นจะต้องผ่านอินเดียเป็นหลัก และอินเดียเป็นตลาดที่ใหญ่มาก เข้าถึงได้ง่าย ไม่เหมือนกับจีนทางเหนือ ซึ่งเราต้องผ่านเทือกเขาหิมาลัย อินเดียจึงเป็นพันธมิตรที่สำคัญของเรา อย่างที่ผมเล่าไปแล้ว เป้าหมายหลักของเราคือเราต้องการเป็นประเทศที่ไม่พึ่งพาเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศภายในปี ค.ศ. 2020 นี่คือสิ่งที่รัฐบาลของผมพยายามทำและได้มีนโยบายออกมา ส่วนเรื่องที่รัฐบาลนี้จะสานต่อให้เกิดขึ้นภายในปี ค.ศ. 2020 ได้หรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่ผมไม่สามารถให้คำตอบได้
GM: หนึ่งในประเด็นสำคัญสำหรับการเลือกตั้งใหญ่รอบที่แล้ว คือความสัมพันธ์กับอินเดียและจีน ท่านเพิ่งพูดไปว่าคุณต้องการให้ภูฏานเป็นอิสระมากขึ้นจากการพึ่งพาอินเดีย
จิกมี ทินเลย์ : ผมขอบอกก่อนว่าภูฏานเป็นประเทศที่เป็นอิสระและเป็นเอกราช ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับต่างประเทศ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เท่าเทียมกัน เป็นไปด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน และพึ่งพาอาศัยกัน แต่ในความเป็นจริง ก็คือเรามีเพื่อนบ้านที่ใหญ่มากๆ 2 ประเทศ อินเดียอยู่ทางใต้ และจีนอยู่ทางเหนือ เรามีความจำเป็นที่จะต้องพูดคุยกับจีนอยู่เรื่อยๆ นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลผมทำ ผมไม่ได้ทำอะไรมากกว่านั้น ผมเพียงแค่พูดคุยกับทางจีนเป็นระยะๆ
GM: ประเทศภูฏานมีสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนหรือเปล่า
จิกมี ทินเลย์ : ตอนนี้ภูฏานไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับจีน เรามีเพียงแค่เจอกันบ้างเป็นระยะ และปรึกษาเรื่องที่เป็นประโยชน์กับ
ทั้ง 2 ประเทศ เราไม่มีการค้าผ่านชายแดน เพราะว่าสภาพภูมิศาสตร์ไม่อำนวย แต่เรามีการค้าขายผ่านทางทะเลซึ่งต้องผ่านทางอินเดีย
GM: ขอถามถึงสภาพทั่วไปด้านการเมืองในภูฏาน ตอนนี้มีพรรคการเมืองหลัก 2 พรรคแข่งขัน แต่ละพรรคมีความแตกต่างด้านแนวคิดหรือเปล่า
จิกมี ทินเลย์ : ใครตั้งพรรค PDP? ใครตั้งพรรค DPT? คำตอบคือทั้งสองพรรคตั้งโดยอดีตข้าราชการและอดีตคณะรัฐมนตรี ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นคนที่ได้รับการสั่งสอนโดยตรงโดยสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 4 ดังนั้น พวกเราจึงไม่มีความแตกต่างในเรื่องแนวคิดหรืออุดมการณ์ ทุกคนมีความทุ่มเทให้กับการพัฒนาโดยใช้ GNH แม้กระทั่งรัฐบาลปัจจุบัน เขาวิพากษ์วิจารณ์เราในเรื่องการใช้เวลากับการประชาสัมพันธ์ GNH กับโลกภายนอกมากเกินไป และตอนนี้ พวกเขาจะกลับมาให้ความสำคัญเรื่องภายในเพิ่มขึ้น แต่ก็อย่างที่อธิบายไปแล้ว ว่ารัฐบาลของผมก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภายในอยู่แล้ว ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ทำให้โลกภายนอกสนใจในสิ่งที่ภูฏานทำ ดังนั้น สรุปก็คือ เราไม่มีความแตกต่างด้านแนวคิดเลย โดยส่วนตัว ผมตั้งข้อสังเกตว่าความแตกต่างสำคัญ กลับเป็นเรื่องบุคลิกของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในความหมายที่ว่าผมดูมีอายุมากเกินไปแล้ว แต่หลายคนก็ไม่ได้เห็นด้วยกับข้อสังเกตนี้ของผมนะ ท้ายที่สุด ผมว่าประชาชนภูฏานฉลาด พวกเขาเห็นพรรคการเมืองหลัก 2 พรรค และก็คงอยากลองให้โอกาสทั้ง 2 พรรคได้มาแข่งกันแบบนี้
ในปี ค.ศ. 2007 ภูฏานเป็นประเทศที่มีอัตราเติบโตสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 22.4 ซึ่งเป็นผลจากการเริ่มใช้เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าทาลา สินค้าส่งออกสำคัญคือไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ซึ่งส่งออกไปยังอินเดีย
– วิกิพีเดีย –
GM: จากการที่ประเทศภูฏานเริ่มเป็นประชาธิปไตย ท่านคิดว่าคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่หรือไม่
จิกมี ทินเลย์ : ข้อดีข้อหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย คือประชาชนจะเอาใจใส่ในเรื่องที่เป็นปัญหาสำคัญ คอร์รัปชั่นในตอนนี้ ผมคิดว่ายังไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่มาก ในภูฏาน แต่สื่อมวลชนมักจะเอาเรื่องนี้มาโหมกระพือในระดับชาติ ตามการสำรวจของ Transparency International เราอยู่ที่อันดับ 34 ของโลกในปีที่แล้วในเรื่องของคอร์รัปชั่น เท่าที่จำได้ รู้สึกว่าในปีนี้เราเลื่อนขึ้นมาเป็นอันดับที่ 32 แล้วนะ เรามีอันดับดัชนีความโปร่งใสที่อันดับ 7 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และอันดับแรกสุดของเอเชียใต้ ซึ่งถือว่าเราดีมากๆ กับปัญหาคอร์รัปชั่น
GM: ท่านมองว่าประเทศภูฏานจะพัฒนาไปทางใด
จิกมี ทินเลย์ : ผมมั่นใจว่าภูฏานจะเติบโตไปในทิศทางของประชาธิปไตยที่ดี ไม่ว่าพรรคไหนจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ประเทศของเราจะใช้แนวทางการพัฒนาแบบ GNH เสมอ การพัฒนาของเราจะเป็นไปโดยการดูองค์รวมทั้งหมดมีความยั่งยืน และให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งหมายความว่าเราจะเติบโตไปอย่างเป็นอันหนึ่ง-อันเดียวกัน เราจะไม่ประสบปัญหาทางการเมืองอย่างที่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศมักจะประสบ เราจะเป็นประเทศที่มีความสงบภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
GM: อยากให้ท่านช่วยอธิบายเรื่องระบบเลือกตั้งของประเทศภูฏาน ที่กำหนดให้มีการเลือกตั้ง 2 รอบ โดยรอบแรกจะเป็นการคัดพรรคการเมืองเหลือเพียงแค่ 2 พรรค แล้วให้ทั้ง 2 พรรคแข่งขันกันในรอบที่ 2 ดังนั้น ในที่สุดจะมีเพียงแค่ 2 พรรคการเมืองที่จะมีผู้แทนไปนั่งในสภา ทำไมถึงเป็นแบบนี้
จิกมี ทินเลย์ : ตอนที่เราร่างรัฐธรรมนูญ เรามีการคิดเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ผมคิดว่าวิธีนี้เป็นวิธีการที่ชาญฉลาดทีเดียว ความกังวลใหญ่ของเรา คือถ้าเราไม่มีระบบการเมืองที่มีเพียง 2 พรรค เพื่อมาทำหน้าที่รัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ภูฏานอาจต้องเผชิญกับความอ่อนแอทางการเมือง อันเนื่องจากการมีรัฐบาลผสม หรือมีพรรคฝ่ายค้านผสม สิ่งที่คณะร่างรัฐธรรมนูญต้องการคือรัฐบาลที่เข้มแข็ง พรรครัฐบาลต้องมีพรรคเดียวเพื่อให้การบริหารราชการเป็นไปด้วยความเด็ดขาด และไม่เชื่องช้า ตัดสินใจไม่ได้ เช่นที่มักจะเป็นปัญหากับรัฐบาลผสม
GM: แล้วถ้ามองจากมุมของฝ่ายค้านล่ะ การที่พรรคฝ่ายค้านมีเพียง 2 เสียงในสภา เขาทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหน
จิกมี ทินเลย์ : ผมต้องการให้โอกาสพรรคฝ่ายค้านได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ตอนที่ผมเข้ามาตั้งพรรคการเมือง และลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็เพราะผมต้องการ
ให้มีพรรคฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง พวกเราเข้าร่วมการเลือกตั้งในตอนแรก ก็เพราะเราอยากจะเห็นประเทศมีฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง แต่ก็กลายเป็นว่า เราได้เป็นรัฐบาล แล้วพรรคฝ่ายค้านมีเพียง 2 เสียงในสภา แล้วเราทำอย่างไรรู้ไหม เราเลยตัดสินใจว่าสมาชิกสภาฝ่ายค้าน จะต้องได้สิทธิพิเศษกว่าในสภา โดยประธานสภาจะให้โอกาสสมาชิกฝ่ายค้าน ได้เป็นผู้อภิปรายก่อนสมาชิกฝ่ายรัฐบาลในทุกเรื่อง มันไม่ใช่แค่ว่าฝ่ายค้านต้องได้เวลาอภิปรายเท่าเทียมกับฝ่ายรัฐบาลเท่านั้นนะ แต่ฝ่ายค้านต้องได้อภิปรายทุกครั้ง ถ้าเขาจะขออภิปราย และเราก็หารือกับฝ่ายค้านในทุกเรื่อง นอกจากนี้ ที่ผ่านมา สภาสูงยังทำหน้าที่ช่วยพรรคฝ่ายค้านด้วย เพราะเห็นว่าฝ่ายค้านมีคนน้อยเกินไป
GM: ท่านมองประเทศไทยอย่างไร ผ่านสายตาของผู้คร่ำหวอดในเรื่อง GNH
จิกมี ทินเลย์ : เวลาผมไปประเทศไหน ผมมักพยายามมองประเทศนั้นผ่านเลนส์ของ GNH เสมอ ทุกครั้งที่ผมเดินทางมาเยือนประเทศไทย ผมคิดว่าคนใน
ประเทศนี้ที่มีความสุข มีมากกว่าคนที่ไม่มีความสุข สังคมไทยมีสิ่งดีงามหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมไทย ผมคิดว่าวิถีดำรงชีวิตของคนไทยเป็นสิ่งที่ดีมาก อย่างเช่นที่ผมเพิ่งกลับมาจากเชียงใหม่ เรามีนักศึกษาชาวภูฏาน 6 คน มาเรียนวิชาการเกษตร ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นักศึกษาพวกนี้เป็นข้าราชการระดับล่าง ที่มีโอกาสมาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี หลังจากรับราชการมาแล้วไม่กี่ปี สิ่งที่พวกเขาคุยกับผม ทำให้ผมรู้สึกดีมาก พวกเขาเล่าให้ผมฟังถึงสิ่งที่พวกเขาเห็นในท้องนาไทยและวัฒนธรรมไทย ความมีวินัยในการทำงาน ความคิด และวิถีการดำเนินชีวิตของชาวนา เหล่านี้เป็นสิ่งที่คนภูฏานสามารถเรียนรู้จากคนไทย ชาวนาไทยเป็นคนที่ทุ่มเทให้กับงานมาก นักศึกษาเล่าให้ผมฟังถึงความร่วมมือกันระหว่างชาวนาในหมู่บ้านและศีลธรรมที่พวกเขามี ซึ่งผมว่าดีมาก
สังคมไทยมีลำดับชั้น มีความเคารพของผู้น้อยที่มีต่อผู้ใหญ่ นี่เป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก นักศึกษาภูฏานยังเล่าให้ผมฟังถึงประเพณีรับน้อง ที่รุ่นพี่จะเข้ามาดูแลรุ่นน้อง อาจมีการทำโทษบ้าง สั่งให้ทำนู่นทำนี่ แต่ไม่มีอะไรที่แย่ แล้วหลังจากนั้นเขาจะเป็นเหมือนผู้นำทางให้รุ่นน้อง และจะรับผิดชอบต่อรุ่นน้องเต็มที่ นักศึกษาจากภูฏานล้วนรู้สึกทึ่งกับสิ่งเหล่านี้ พิธีกรรมเหล่านี้ยังได้รับการรักษาในสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งทำให้อาจารย์มีความทุ่มเทให้กับงานมากยิ่งขึ้น เพราะว่าเขาได้รับความเคารพ ไม่ว่าจะเป็นครูบาอาจารย์ ผู้อาวุโส
สิ่งเหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่ผมยังเห็นมากในประเทศไทย แม้กระทั่งในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ผมเดินเข้าร้านขายของในกรุงเทพฯ อย่างเช่นเพื่อไปซื้อเสื้อสักตัว สิ่งแรกที่ผมได้ยินคือ คำว่า ‘สวัสดี’ ผมไม่แน่ใจเรื่องขนาดเสื้อ คนขายอาจเอาเสื้อถึง 10 ตัวมาให้ผมลอง และถ้าผมไม่ซื้อเสื้อเลย คนขายก็ยังพูดขอบคุณผม คุณไม่มีทางเห็นอะไรอย่างนี้ที่ประเทศอื่น ถ้าผมเข้าร้านที่ฮ่องกง คนขายจะถามเลยว่าตั้งใจจะซื้อของหรือไม่ ถ้าไม่ซื้อก็อย่าจับ อย่าลอง
อัตราการว่างงานในไทยที่ร้อยละ 1 เป็นอัตราที่ต่ำมาก ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องการเก็บข้อมูล แต่อัตราที่ต่ำขนาดนี้ก็สะท้อนถึงจำนวนงานที่ได้มีการสร้างขึ้นมา และแบ่งปันตำแหน่งงานนั้นให้ทุกคนมีโอกาสได้ทำงาน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีกว่าหลายๆ ประเทศในโลกนี้ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมมางานสัมมนาในประเทศไทย และได้มีโอกาสคุยกับผู้บริหารท่านหนึ่งเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย กับวินัยในการทำงาน พวกเรายอมรับในฝีมือแรงงาน คนไทยสามารถผลิตสินค้าคุณภาพสูงออกมาได้ แต่ผู้บริหารท่านนั้นตั้งข้อสังเกตกับผม ว่าผลิตภาพ (Productivity) ของแรงงานไทยไม่ค่อยดีนัก มีการใช้แรงงานมากเกินไป และผลิตภาพต่อหัวต่ำกว่าญี่ปุ่นหรือยุโรปมาก
ในขณะที่ผมกลับมองตรงกันข้ามเลย ผมบอกเขาว่าอย่าพูดเรื่องผลิตภาพต่อหัวเลย ถ้าคุณพูดเรื่องอย่างนี้ แปลว่าคุณอยากให้คนงานทุ่มเทกับงานมากที่สุดตั้งแต่เช้าจรดเย็น และแข่งขันกันตลอดเวลา จากที่คุณอาจมีคน 6 คนทำงานอย่างหนึ่ง คุณกำลังพูดถึงการลดคนทำงานเหลือแค่ 1-2 คนเพื่อจะทำงานเดียวกันนั้น ซึ่งผมสนใจที่จะตั้งคำถาม ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นกับคนอีก 4 คนที่เหลือนั้น
ล่าสุด ผมไปหาหมอที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เพื่อตรวจสุขภาพประจำปี ทันทีที่ผมก้าวเข้าไปในโรงพยาบาล ก็จะมีพนักงานคอยต้อนรับ ผมเดินไปหาหมอตามชั้นต่างๆ ก็จะมีคนเดินนำทางไปส่ง ผมไม่รู้ว่าคนเหล่านี้ได้รายได้เท่าไหร่ ซึ่งคงจะไม่มากนักหรอก แต่ผมเห็นได้ชัดถึงความสุขของพวกเขา พวกเขาภูมิใจในงานที่ทำ คนกวาดถนนที่ผมเห็นบนท้องถนนในกรุงเทพฯ คนปลูกต้นไม้ตามเกาะข้างถนน ผมก็เห็นว่าเขามีความภูมิใจในงานเขา ผมคิดว่านี่คือศักดิ์ศรีอย่างหนึ่ง ในการใช้แรงงานที่สุจริต และในการที่ทุกคนสามารถเข้าถึงหน้าที่การทำงานได้
ผมคิดว่าคนไทยมีอะไรที่เขาควรจะภูมิใจได้หลายอย่าง ผมค่อนข้างทึ่งในสิ่งที่ผมจะเห็นในข่าวเกี่ยวกับการเมืองของประเทศไทย ผมไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไร
ขึ้นบ้าง แต่ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศแห่งความงาม วัฒนธรรมที่เลอเลิศ ผู้คนมีอารยธรรมสูง และมีความสูงส่งในจิตใจ แต่การที่ประชาชนในประเทศไม่สามารถหาคำตอบร่วมกันในเรื่องอะไรก็ตามที่เป็นปัญหาอยู่นีี้ ทำให้ผมประหลาดใจมากเลยทีเดียว
GM: จนกระทั่งถึงวันนี้ ท่านคิดว่าประเทศภูฏานยังขาดอะไรบ้าง ที่จะทำให้ GNH สมบูรณ์ขึ้น
จิกมี ทินเลย์ : แนวคิดเกี่ยวกับ GNH มีวิวัฒนาการมาโดยตลอด ทั้งในเรื่องวิธีการและการคิดดัชนีที่ใช้ชี้วัด สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในระยะ 7-10 ปีที่ผ่านมา และตอนนี้ GNH ก็เป็นแนวทางการพัฒนาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ในปี ค.ศ. 2011 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติได้ผ่านมติที่เสนอโดยภูฏานและอีกกว่า 60 ประเทศ ว่าด้วยเรื่อง GNH แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน และตามมาด้วยการประชุมระดับสูง ว่าด้วยเรื่องความสุขที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งภูฏานเป็นประธาน นี่เป็นประวัติศาสตร์ที่นายกรัฐมนตรีภูฏาน ได้เป็นประธานการประชุมระดับโลก ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และยังมีการประกาศให้วันที่ 28 มีนาคม เป็นวันแห่งความสุขสากลด้วย เลขาธิการสหประชาชาติยังได้นำเสนอรายงานว่าด้วยความสุขความสบายให้กัสหประชาชาติ ซึ่งรายงานนี้ก็กล่าวถึงแนวโน้มที่ประชาคมโลกกำลังขับเคลื่อนไปสู่การส่งเสริมให้ประชาชนมีความสุขและความอยู่ดีกินดี ดังนั้น ก็ชัดเจนว่าเรื่องนี้กำลังกลายเป็นเรื่องใหญ่ GNH กลายเป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลกในการนิยามแนวทางการพัฒนาแบบใหม่ เราจะมีการหารือรอบสุดท้ายในเรื่องนี้ในปี ค.ศ. 2014 ซึ่งจะเป็นการตกลงร่วมกันของประชาคมโลกในเรื่องทิศทางการพัฒนาสังคมมนุษย์ระหว่างปี ค.ศ. 2015-2030 ที่จะมาแทนที่ Millennium Development Goal ในภูฏานเราทำงานเรื่องนี้ด้วยความทุ่มเทที่มากขึ้น และมีการให้ความสำคัญกับ GNH เป็นอย่างมากในรอบ 5 ปี
ที่ผ่านมา GNH กลายเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษา ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาลไม่สามารถที่จะคิดโครงการใดขึ้นมาโดยไม่คำนึงถึง GNH ดังนั้น GNH เป็นแนวทางที่หยั่งรากลึกในภูฏานแล้ว ผมไม่คิดว่าเรายังขาดองค์ประกอบอะไรที่สำคัญไปอีก
GM: ท่านจะกลับไปเล่นการเมืองหรือเปล่า
จิกมี ทินเลย์ : ผมเกษียณแล้ว และจะไม่กลับไปรับตำแหน่งทางการเมืองอีก
GM: แล้วตอนนี้ท่านใช้เวลาไปกับเรื่องอะไร
จิกมี ทินเลย์ : โอ … ตอนนี้ผมมีกิจกรรมทำเต็มมือ ผมเป็นประธานของศูนย์ GNH ในประเทศภูฏาน ผมทำงานในคณะทำงานนานาชาติของสมเด็จพระราชาธิบดี เพื่อจัดตั้งระบบการพัฒนาแบบทางเลือก ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศร่วมอยู่ถึง 60 คน ผมเดินทางไปบรรยายในหลายที่ ผมเพิ่งกลับมาจากจังหวัดเชียงใหม่ ผมไปบรรยายเรื่องเกษตรอินทรีย์ที่นั่น ก่อนหน้านี้ผมเดินทางไปประเทศเดนมาร์ก เพื่อไปพูดเรื่องสถาปัตยกรรมแบบยั่งยืน และ GNH ที่สมาคมสถาปนิก และโรงเรียนบริหารธุรกิจแห่งหนึ่งที่นั่น หลังจากนี้ ผมกำลังจะเดินทางไปบรัสเซลส์ ไม่ต้องห่วงหรอก ตอนนี้ผมมีเรื่องที่ต้องทำเยอะพอตัวทีเดียว