รูป รส กลิ่น เสียง THE PARADISE BANGKOK MOLAM INTERNATIONAL BAND
ส่วนผสมดนตรีจากแดนอีสานในนามของความเป็นสากล
หากโลกนี้จะมีอะไรที่เป็นภาษาสากล ที่พาคนให้คล้อยตามไปกับความสุข ความรื่นเริง ไปจนถึงความเศร้าหม่นหมองหรือยียวนจนอมยิ้มได้ ก็คงจะหนีไม่พ้นภาษาของดนตรี ภายใต้บทสนทนาของเครื่องดนตรีทั้งหลาย หลากเรื่องราวที่พันผูกอยู่ในตัวโน้ตอันแสดงผ่านจิตวิญญาณของนักดนตรีผู้เคี่ยวกรำในชีวิต ทำให้เกิด ‘บทสนทนา’ ที่จริงใจขึ้นมา ในโลกสมัยใหม่ ดนตรีในแบบที่เรียกว่า ‘เวิลด์มิวสิค’ อันแสดงผ่านอัตลักษณ์ของผู้คนพื้นถิ่น จึงเข้ามามีบทบาทและสามารถเข้ามายืนในโสตประสาทและหัวใจของผู้คนได้ไม่มีเนื้อเพลงหรือเสียงร้อง ดนตรีของ The Paradise Bangkok Molam International Band (PBMIB) เป็นดนตรี แบบ Instrumental โดยมีเพียงเสียงบรรเลงของดนตรีเท่านั้นที่นำสำนวนและทำนองของพวกเขาไปไกลถึงระดับโลก อย่างการขึ้นไปเล่นบนเวที Glastonbury รวมถึงได้รับการรีวิวจาก Mojo Magazine ถึง 2 ครั้ง และล่าสุดได้รับจากนิตยสาร Songlines และ The Guardianก่อนหน้าเมื่อ 2 ปีที่แล้ว พวกเขายังได้รับรางวัลจาก Worldwide Awards เป็น Album of the Week ของ BBC และอัลบั้มแรก 21st Century Molam ยังได้รับการเสนอชื่อให้เป็น 20 Album of the Year ของปี 2016 ด้วยการยอมรับจากสื่อระดับสากลเช่นนี้ คงเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า ดนตรีนั้นเป็นภาษาที่ไร้ข้อจำกัดทางพื้นที่และชาติพันธุ์จริงๆ
ย้อนกลับไปที่ต้นธารความคิด ก่อนเสียงเล่าขานของพิณและแคน- เบสและกลอง จะเริ่มขึ้น
ดีเจ Maft Sai หรือ ณัฐพล เสียงสุคนธ์ เจ้าของค่ายแผ่นเสียง ‘สุดแรงม้า’ (ZudRangMa Records) ผู้ก่อตั้งวงสวรรค์บางกอก รวมถึงเป็นโปรดิวเซอร์ของวง เล่าให้ฟังว่า
“โปรเจกต์นี้เราเริ่มมาจากปาร์ตี้ที่ชื่อว่า Paradise Bangkok ซึ่งเป็นไนต์คลับที่ผมเริ่มทำตอนประมาณปี 2009 กับเพื่อนอีกคนหนึ่งชื่อ Chris Menist ซึ่งเป็นมือเพอร์คัชชันอยู่ในกลุ่มด้วย คือเริ่มขึ้นมาจะทำเป็นงานดีเจเพื่อที่จะสนับสนุนเพลงหมอลำ ลูกทุ่ง เพลงไทย
“ตอนนั้นผมสะสมแผ่นเสียงอยู่แล้ว และเห็นว่าเพลงหมอลำลูกทุ่ง สมัยก่อนช่วงยุค ’60s ’70s และต้น ’80s มีความน่าสนใจ ผมเลยลองนำเพลงพวกนี้มา Crossover กับพวกเพลงจาก เอธิโอเปีย มาลี จาเมกา แล้วพอทำตรงนี้ขึ้นมาได้สักพัก เราก็อยากจะลองจับงานที่เป็น Live Element ดูบ้าง จึงเอาศิลปินที่เราเล่นจากแผ่นเสียงมาเล่นสด ก็เริ่มจากจัด Paradise Bangkok ให้เป็น Live Setting มากขึ้น ได้จัดงาน ดาว บ้านดอน, ศักดิ์สยาม เพชรชมภู, พิมพ์ใจ เพชรพลาญชัย, อังคนางค์ คุณไชย, แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ และ อีกหลายๆ ท่าน”
การมาถึงของสมาชิกวงในเวลาที่แตกต่างกัน เหมือนเสียงดนตรีที่ค่อยๆ ประสานทำนองจนกลมกลืนเป็นเนื้อเดียว เสน่ห์ บางอย่างของดนตรีในกลิ่นอายของดินแดนที่ราบสูง ที่ให้พวกเขาได้มาพบกัน ความแตกต่างทางพื้นเพ ทั้งถิ่นที่อยู่อาศัยและพื้นฐานทางวัฒนธรรม ย่อมมาส่วนที่ทำให้เกิดส่วนผสมใหม่ๆ ที่จัดจ้าน
“การจัดงานของ Paradise Bangkok ทำให้เราได้เจอนักดนตรีมากขึ้น และภายหลังก็ได้กลายมาเป็นสมาชิกในวง อย่างปั๊ม (ปิย์นาท โชติกเสถียร) เราก็รู้จักปั๊มอยู่แล้ว ปั๊มมางานที่ Paradise Bangkok จัดอยู่ทุกครั้ง พี่ไสว (แก้วสมบัติ) ผมก็เจอจากการจัดงานของ ดาว บ้านดอน พี่คำเม้า (เปิดถนน) ก็เจอกันตอนจัดงานของ ศักดิ์สยาม เพชรชมภู พอเริ่มทำมาสักพักเราก็มองว่าเราน่าจะทำโปรทำซาวนด์ที่มันใหม่ คือเราชอบเพลงเก่าก็จริง แต่ว่ายุคนี้เราก็อยากทำอะไรที่สะท้อนความเป็นตัวตนของเราด้วย ก็เลยเริ่มโปรเจกต์ของวงนี้ขึ้นมา”
ปั๊ม : แน่นอนว่านักดนตรีจากทุกสารทิศแต่ละท่านก็มีเรื่องราวมีอารมณ์ส่วนตัวของตัวเองที่จะเล่าอยู่แล้ว ผมก็เป็นคนชอบเสพดนตรี คือชอบเข้าไปสัมผัสดนตรีประเภทต่างๆ เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ เรื่องราววิถีชีวิต หรือแม้กระทั่งอาหารการกินของเขา พอได้ไปฟังดนตรีในงานอย่าง ดาว บ้านดอน, ศักดิ์สยาม เพชรชมภู ก็รู้สึกชอบมาก คือเป็นอารมณ์ที่เราเคยสัมผัสมาก่อนในฐานะคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะดนตรีอีสานยุค ’70s ที่เมื่อได้ฟังศิลปินในตำนานเหล่านั้นก็เหมือนได้ฟังเรื่องเล่าในยุคนั้น โดยยังมีความเพียวอยู่ และมีคนเอาเครื่องดนตรี เบส กลอง ต่างๆ เข้ามาผสม มีเครื่องเป่า มีออร์แกน ซึ่งเป็นประสบการณ์ฟังที่รู้สึกว่ามันได้รสชาติ ได้ความจริงใจจากการฟังงานเหล่านั้น พอไปดูนักดนตรีอีสานเล่น ได้เจอพี่คำเม้า ผมก็จินตนาการว่าพิณกับแคนสามารถมาผสมกับดนตรีสมัยใหม่ได้มากกว่านี้ด้วยซ้ำ สามารถเล่าเรื่องราว สามารถสะท้อนอารมณ์ ไม่ใช่แต่สนุกอย่างเดียว สามารถแสดงอารมณ์โกรธก็ได้ ทะเล้นทะลึ่งก็ได้ สนุกสนานก็ได้ เศร้าก็ได้
การปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมและเครื่องดนตรีต่างเชื้อชาติไม่ใช่ของใหม่ แต่มันคือรสชาติที่เคยมาการปรุง การทดลองกันมาแล้วตั้งแต่อดีต แต่อาจสูญหายไปในเวลาที่ดนตรีมาความเป็นธุรกิจมากขึ้น ซึ่ง PBMIB พยายามนำรสชาติเหล่านั้นกลับมาปรุงในแบบของตัวเอง
ดีเจ Maft Sai : จริงๆ โปรดักชันหรืองานพวกนี้ มันมีมาตั้งแต่ยุค ’70s แล้ว คือตั้งแต่ยุคที่ G.I. (ทหารอเมริกัน) เริ่มมาสร้างฐานทัพ เขาก็จะมีกลอง มีเบส มีอะไรเข้ามาผสมกับดนตรีหมอลำ อย่างที่เมื่อกี้ปั๊มเกริ่นไปว่า มันมีตั้งแต่ร็อค-หมอลำ หรือบางวงก็ไม่ใช้พิณไม่ใช้แคน ร้องเป็นหมอลำ แต่ว่าใช้เป็น Brass (เครื่องลมทองเหลือง) แทนทั้งวง ดังนั้น การทดลองมันมีตั้งแต่ยุค ’70s มาอยู่แล้ว แต่พอผ่านยุค ’80s มันก็น้อยลง กลายเป็นธุรกิจเข้ามา Take Over แล้วก็เป็นเรื่องของกลองสังเคราะห์ เครื่องดนตรีสังเคราะห์แทน ซึ่งมันทำให้ความเป็น Live Element ลดลง พอผ่านยุค ’80s ’90s ไป คนอาจจะลืมแล้วว่าสมัยก่อนมันเคยมีซาวนด์อย่างนี้อยู่ ฉะนั้นผมไม่ได้มองว่าการนำฟังค์หรือดิสโก้เข้ามา มันเป็นสิ่งใหม่ เพราะว่ามันมีคนทำตั้งแต่สมัยก่อนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราทำ มันก็อาจจะให้รสชาติในเวอร์ชันของพวกเราเอง
ดนตรีที่มีพื้นฐานมาจากดนตรีอีสานย่อมไม่สามารถขีดเครื่องดนตรีเลือดอีสานที่สามารถสร้างเสียงที่แม้ฟังดูไม่คุ้นหู ชาวโลก แต่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น อันไปตรึงจิตตรึงใจผู้ชมหลากหลายประเทศจนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก…หรือจักรวาล
พิณเพชร ทิพย์ประเสริฐ หรือ คำเม้า เปิดถนน ผู้ได้รับการขนานนาม ว่า เป็น Jimi Hendrix แห่งสายพิณ จากกลุ่มผู้ที่ติดตาม เขาคือหมอพิณผู้ใช้ชีวิตอยู่กับเสียงพิณมาตั้งแต่กำเนิด โดยก่อนหน้าที่จะมาเป็นหนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของวง เขาก็มีอาชีพอยู่กับเครื่องดนตรีชิ้นนี้มาโดยตลอด และ ยังเคยเป็นหมอพิณรักษาคนป่วยไข้ซึ่งเป็นความเชื่อของผู้คนอีสาน
คำเม้า : สมัยก่อนคือเป็นหมอพิณ ดีดพิณรักษาคน การรักษาก็คือจะมีนางรำนางฟ้อนมา แล้วให้คนที่ป่วยนอน พอเราดีดพิณ นางรำก็จะฟ้อนรำไป ถ้าคนป่วยคนไหนจะตาย ก็จะนอนนิ่งๆ ไม่สนุกไปด้วย แต่ถ้าคนไหนจะหายจากอาการป่วย ก็จะลุกขึ้นมารำ คือจิตใจคนเรา ถ้าไม่มีความสนุกสนานก็คือใกล้จะตายแล้ว แต่ถ้ายังรู้สึกสนุกหรือจิตใจยังสู้อยู่ โรคก็จะหายไปเอง
ความงามของพิณสำหรับคำเม้ามิได้อยู่เพียงแต่เนื้อเสียงที่แปร่งหู หากเขาบรรลุถึงปรัชญาของพิณในแง่มุมที่สอดแทรกอยู่ในพระพุทธประวัติ จากเรื่องเล่าของพ่อที่สอนให้ใช้ชีวิตอยู่ระหว่างพิณ 3 สาย
“พ่อของผมเคยบอกว่าพิณนี้ไม่ใช่พิณของอีสานนะ ที่เราเล่นเป็นทำนองของอีสานเฉยๆ ถ้าอยู่ใต้ก็ดีดทำนองใต้ ถ้าอยู่เหนือก็ดีดทำนองเหนือ พิณนี่ไม่ใช่ของอีสานเด็ดขาดเลย แต่มาจากพระอินทร์ที่ใช้ดีดให้พระพุทธเจ้าฟังก่อนจะตรัสรู้ คือตอนที่ท่านกำลังบำเพ็ญทรมานกายอยู่ คือถ้าสายพิณตึง มันจะขาด ถ้าหย่อนก็จะไม่เพราะ ต้องพอดีๆ นั่นคือทางสายกลาง ผมบอกได้เลยว่า ในโลกนี้ทางสายกลางศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในโลก คือมันเป็นความจริงของจักรวาลเลยก็ว่าได้ เขาบอกว่าดนตรีเป็นภาษาสากลของโลก แต่โลกมันยัง น้อยนะ ถ้าเทียบกับพิณ พิณนี่สายกลางจักรวาล”
อีกหนึ่งเครื่องดนตรีที่ต้องคู่กับพิณ ราวกับผัว-เมีย, พี่-น้อง ก็คือแคน ไสว แก้วสมบัติ หมอแคนผู้อาวุโสที่สุดในวง และเป็นสมาชิกคนหลังสุด หากแต่ช่ำชองในประสบการณ์การเป่าแคนมากว่า 40 ปี เขาเริ่มคลึงเต้าแคนเมื่ออายุ 30 บัดนี้อายุ 75 ภายใต้แว่นสีดำและแฟชั่นกระชากวัย 20 ปีไม่น้อยกว่านั้นที่เขาดูหนุ่มกว่าอายุจริง เล่าถึงที่มาของแคนในแง่มุมที่สะท้อนให้เห็นว่าแคนคือเครื่องดนตรีและภูมิปัญญาของท้องถิ่นอย่างแท้จริง
“แคนนี่เขาทำมาจากไม้ซาง ซึ่งหาไม่ได้แล้วในไทย มีอยู่แต่เพียงในประเทศลาว ต้นซางมันเป็นอย่างไรเราก็ไม่รู้ เราโตมาก็เห็นแคนรูปร่าง แบบนี้แล้ว แต่ช่างที่ทำแคนมีอยู่ที่ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี นครพนม ชัยภูมิ มหาสารคาม ภาคกลางก็มี เขาคงสืบต่อวิธีการทำแคนกันมาจนถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน แต่ว่าอุปกรณ์ต้องมาจากลาว และอุปกรณ์ที่เอามาทำซาวนด์ข้างในเป็นโลหะผสม คือเป็นลิ้นโลหะผสม มีทองกับเงินและโลหะอีกหลายๆ อย่าง ใช้เงินอย่างเดียวก็ไม่ได้ เสียงจะไม่ดี ทองอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องเป็นโลหะผสม ถ้าช่างไหนมีสูตรที่ดี ราคาก็จะสูงขึ้นๆ ปัจจุบันแพงสุดก็ 6,000 บาท แคนเหมือนเสื้อผ้าสั่งตัดกับผ้าโหล จริงๆ มันก็มีขายตัวละ 500-1,000 บาท แต่ว่าเขย่า ทีเดียวก็พังแล้ว อยู่กับเราไม่ถึงเดือนหรอก แต่แบบนี้เขาใช้เป็นสิบยี่สิบปี”
หากพิณและแคนคือคู่พระ-นางที่เฉิดฉายอยู่บนเวที คอยส่งลูกล่อลูกชนกันสนุกสนาน แต่เบื้องหลังจังหวะจะโคนที่รื่นเริง คือมือกลองของวงที่ทำหน้าที่เชื่อมประโยคของเครื่องดนตรีทุกชั้นให้ไหลลื่นในทำนองเดียวกัน
อาร์ม หรือ ภูษณะ ตรีบุรุษ มือกลองผู้คุมจังหวะของวง ประสานและร้อยเรียงเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น ให้เดินไปสู่ปลายทาง เล่าถึงมุมมองของเขาในฐานะบุคคลที่อยู่ ‘ข้างหลัง’
อาร์ม : เวลาผมเล่นโดยปกติ ผมก็มันกับเพลงอยู่แล้วด้วย และผมจะอยู่กับทุกคน ยกตัวอย่างพี่ไสว พี่คำเม้าเนี่ย เขาจะเล่นด้วยกันอยู่ พี่คำเม้าเล่นเป็นไลน์หลัก พี่ไสวก็จะคอยซัพพอร์ต พี่ปั๊มเป็นคนเปลี่ยนสีของวงว่าเพลงจะไปในแนวทางไหน ผมก็จะเป็นคนที่เล่นกับพี่ปั๊ม แล้วก็เชื่อมระหว่างพี่ไสวและพี่คำเม้ากับพี่ปั๊มแล้วก็พี่ณัฐ ซึ่งหน้าที่ตรงนี้มันสนุกมาก คือเราได้ฟังสิ่งที่มันไล่ๆ กันอยู่ตลอดเวลา อย่างตอนโซโล่ แล้วพี่ปั๊มก็จะเปลี่ยนสีด้วยการเดินคอร์ดที่แปลกออกไป แล้วเราก็ค่อยไปซัพพอร์ตกันตรงนั้น นอกจากนี้ ความสนุกของมันคือ อะไรก็ตามที่เราซ้อมกันอยู่ในห้องซ้อม เมื่อไปเล่นบนเวที มันก็จะมีความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่กับวงนี้มันพิเศษคือเวลาเราผิดพลาด มันจะเกิดสิ่งใหม่ตลอด
ความผิดพลาดคือสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากสำหรับการแสดงสด แต่ความผิดพลาดที่มาพร้อมกับจินตนาการและความสามารถนั้น ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ด้วยวิธีคิดแบบแจ๊ส ทำให้ดนตรีของพวกเขา เปิดกว้าง และเห็นความเป็นไปได้ต่างๆ ของการใช้ภาษาดนตรี
ดีเจ Maft Sai : มันเป็นเรื่องการ Improvise
อาร์ม : วิธีการคิดของวงนี้ มันเป็นฟอร์มของแจ๊สอยู่แล้ว คือมันมีเฮด แล้วก็จบเฮด แต่ตรงกลางมันคือ Improvisation
ปั๊ม : จริงๆ ทุกเพลงมันก็มีเรื่องราวอยู่กับชื่อเพลงอยู่แล้ว อย่างกวางน้อยเจ้าเล่ห์ ก็จะเป็นเพลงที่มีความกระโดดเด้ง
คำเม้า : เสียงที่ทำให้ดูเจ้าเล่ห์เนี่ย เป็นเสียงของเบสเลย
ปั๊ม : ผมอยากเพิ่มเติมว่า ชีวิตพี่คำเม้าโตมากับพิณ เพราะฉะนั้นทุกช่วงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์อะไร ตายหรืออยู่ เห็นแมลงภู่ตอมดอกไม้ ก็จะคิดเมโลดี้เลียนเสียงออกมา และวิธีทำเพลงของเราอย่างในเพลงน้ำตกของพี่ไสวแต่งมา เราก็จินตนาการร่วมกันว่า น้ำตกมันมีช่วงน้ำหลากและช่วงน้ำน้อย ทุกเพลงมีจินตนาการ แต่ที่อาร์มพูดคือการไปเล่นสดตามที่ต่างๆ บรรยากาศทุกอย่าง พลังที่คนดูส่งกลับมาให้เรา การได้ยินการได้อารมณ์ของแต่ละคน ต้นไม้ใบหญ้าหรือว่าอากาศในเวลานั้นๆ บรรยากาศของทุกอย่างมันส่งผลให้เราเล่นออกไปในทางใดทางหนึ่ง และเล่าเรื่องเพลงของตัวเองแตกต่างกันออกไปในแต่ละครั้ง
อาร์ม : ล่าสุดที่เราไปเล่นที่เบอร์ลิน มันเป็นเวลาที่ดึกมากแล้ว เราเล่นแล้วคนดูไม่อยากให้เราลงจากเวทีสักที แต่ว่าเพลงมันหมดลิสต์แล้ว ผมก็ตะโกนบอกให้พี่คำเม้าเล่นช้าๆ เขาจะได้กลับบ้าน แต่คงอาจจะได้ยินไม่ชัดหรืออะไร พี่เม้าก็ขึ้นมาเลย จังหวะอย่างเร็ว
ดีเจ Maft Sai : พี่คำเม้าเขาได้ยินคำว่าจะกลับบ้าน เขาเลยบอกว่างั้นรีบเล่นเร็วๆ
อาร์ม : แล้วทีนี้พอพี่คำเม้าเป็นแบบนี้ปุ๊บ ผมกับพี่ปั๊มเราอยากจะกลับกันแล้ว เพราะว่าอีก 3 ชั่วโมง เราต้องขึ้นเครื่องบินเพื่อไปอังกฤษต่อ พวกผมก็เลยเล่น Half Time กันเลย คือเล่นช้าใส่เลย ผลลัพธ์คือเกิดเพลงใหม่มาชื่อว่า ‘ซิ่งสโลว์’ 3 คนเร็ว อีก 3 คนช้า คือมันเกิดขึ้นได้ตลอด วงนี้มีอีกอย่างหนึ่งคือวิธีการเล่าเรื่องหรือวิธีการทำเพลงมันคล้ายเพลงแจ๊สตรงที่ หนึ่งคือเป็น Instrumental มันไม่มีนักร้อง สองคือเพลงแจ๊ส หลายๆ เพลงเวลาเราฟังมันจะมีชื่อเพลงอยู่ เราอ่านชื่อเพลง เราจินตนาการชื่อเพลงแล้วเราก็ไปฟังดู ซึ่งวงนี้มันก็เป็นวิธีการเดียวกัน
การทัวร์คอนเสิร์ตเป็นส่วนหนึ่งของวงดนตรี PBMIB เป็นวงที่มีส่วนผสมของสมาชิกวงที่มีความหลากหลาย การได้มา เดินทางร่วมกันบนถนนสายดนตรีย่อมทำให้พวกเขาได้พบกับ ความสนุกสนานและความประทับใจในแสดงโชว์บนเวทีที่แตกต่าง ทั้งสถานที่ จำนวนผู้ฟัง และบรรยากาศโดยรอบ
ดีเจ Maft Sai : เรามักมองว่าเวทีไหนที่เราได้เล่นแล้วสนุกกัน เพราะเราเดินทางตลอด บางทีจาก 30 วัน เราเล่นไปแล้ว 20 โชว์ อีก 10 วันที่เหลือคือเดินทาง ดังนั้น บางทีความจำมันจะอยู่ที่โชว์ไหนที่เล่นแล้วฟีดแบ็คจากคนดูเยอะหรือว่าเล่นแล้วสนุก เราก็จะเก็บอยู่ในความทรงจำ ถ้าพูดถึงก็คงมี Worldwide Festival ที่จัดทางตอนใต้ของฝรั่งเศส โดยเวทีที่แสดงเราหันหลังให้กับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพราะฉะนั้น คนดูก็จะเห็นนักดนตรีพร้อมกับภาพข้างหลังที่เป็นทะเล
อาร์ม : คือต้องเล่าด้วยว่า Worldwide Festival พิเศษมากๆ คือวงที่เล่นก่อนหน้าเรา คือ Roy Ayers แล้วก็ Ed Motta แล้วคือดูในไลน์อัพ ก็มีพวก James Blake มีศิลปินระดับท็อปๆ ของยุโรปมากมาย แล้วเราก็อยู่หลังเวที เห็น Roy Ayers เล่นอยู่ คือเราฟัง Roy Ayers มาตั้งแต่สมัยเด็กๆ พี่ณัฐก็มีแผ่น Roy Ayers อยู่ คือแบบเราได้นั่งฟัง ได้มาดูเขาเล่นจริงๆ แล้วเราก็เล่นต่อจากเขา มันเป็นความประทับใจมากๆ ที่เราไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นในชีวิต
ดีเจ Maft Sai : ผมว่าแล้วแต่ปี ทุกครั้งทุกปีที่เราเดินทาง มันจะมีเทศกาลดนตรีที่เราจำขึ้นใจ อย่างปีแรกก็เป็น Off Festival แน่นอน ส่วนปีที่ 2 ก็มีตั้งแต่ Fusion Festival ที่เราเล่นซัพพอร์ตให้ Damon Albarn ในคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มที่เบอร์ลิน ตอนที่เขาออกอัลบั้มเดี่ยวชุดที่ 2 แล้วก็มี Worldwide Festival, Glastonbury ปีล่าสุด มี Field Day Festival อันนี้สนุกมาก แล้วยิ่งได้ดูพี่คำเม้าวันนั้นยิ่งสนุกเข้าไปใหญ่
ปั๊ม : ขอเกริ่นนิดหนึ่งว่า Field Day เป็นเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในลอนดอน จัดที่ Victoria Park กรุงลอนดอน
ดีเจ Maft Sai : แล้วก็จะมีเพลงหนึ่งที่พี่ไสวเล่น รู้สึกจะเป็นเพลง ‘ไล่วัว’ เพลงนั้นพี่คำเม้าไม่ได้เล่น แกก็เลยเต้นแทน แล้วแกเห็นว่าคนอยู่ห่างกัน ทำให้มันมีที่ว่างตรงกลาง ก็เลยเรียกคนให้เข้ามาใกล้ๆ แต่ท่าทางคือคล้ายกับโยกแขนแบบฮิปฮอป แล้วคนทั้งงานก็ทำตามหมดเลย เรานั่งดูอยู่ก็แบบ โอ้โห! พี่คำเม้าวันนี้เปรี้ยวเว้ย
อาหารการกินเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางไกล
ดีเจ Maft Sai : คือต้องเกริ่นก่อนว่า วงเราอาจจะไม่ใช่วงที่เป็นสไตล์ร็อคแอนด์โรลขนาดนั้น แบบที่ไปจอดหยุดที่ไหนแล้วดื่มเหล้ากัน ออนเดอะโร้ด นี่อาจจะไม่ใช่ ของเราอาจจะหาข้าวอร่อยๆ กิน พวกไอติม ไรงี้
อาร์ม : ผมแบบมีน้อยใจบ้าง บางทีไปกินไอติมกัน แล้วไม่เรียกผม
ดีเจ Maft Sai : คือตอนนั้นอาร์มเขาต้องไปซาวนด์เช็ก แล้วผมกับปั๊มก็ต้องรอกลองซาวนด์เช็กเสร็จอยู่แล้ว เพราะงั้นเราก็เลยเดินไปกินกัน
อาร์ม : ฝังใจมาก คือไม่ได้ไปกินไอติม
ลั่น อวัยวะที่ยามอยู่ต่างบ้านต่างเมืองมักจะโหยหารสชาติของตำรับอาหารแผ่นดินเกิด
ปั๊ม : พี่คำเม้าเลยเอาปลาร้าไป
ดีเจ Maft Sai : ผมขอแทรกนิดหนึ่ง คือเวลามีการทัวร์ พี่ไสวเขาจะมีคาแรคเตอร์เป็นผู้ใหญ่ใจดี ชอบถือกล้องเดินถ่ายสัตว์ต่างๆ ไปตามเมือง เช่น อย่างตอนเดินอยู่ที่ซูริก จะเห็นพวกกวาง นกเป็ดน้ำ มีนู่นนี่นั่น เขาก็จะถ่ายวิดีโอ แล้วพี่คำเม้าก็จะประมาณว่า “ปั๊มๆๆ เป็ดๆ อยากกินลาบเป็ดอ่ะ”
อาร์ม : เอางี้ดีกว่า จะเล่าให้ฟังก่อน ตั้งแต่ผมเกิดมา พี่คำเม้าเป็นคนที่กินยากที่สุดในโลกเท่าที่เคยเจอ ไม่กินอะไรเลยที่ตัวเองไม่ชอบ เขาจะกินแต่สิ่งที่ตัวเองชอบเท่านั้น เช่น ข้าว มีข้าวอย่างเดียวก็กินได้ คือพี่คำเม้าเนี่ยกินยากมาก คือมันก็เป็นปัญหาของเราด้วยนิดหนึ่ง ตรงที่เราจะหาร้านอาหารยากมาก เพราะเขาไม่กินชีส ไม่กินเส้นสปาเกตตี พิซซ่า หรืออะไรก็ตามที่มีส่วนผสมของชีสเลย
ดีเจ Maft Sai : แต่เราก็จะใช้วิธีว่าเราจะจองพวก Airbnb เพื่อที่พักเราจะได้มีครัว พอมีครัว เราก็มีกับข้าวมีอะไรได้
อาร์ม : พี่ณัฐเขาทำอาหารเป็นด้วยไง เพราะฉะนั้นทุกครั้งเวลาเรา Airbnb ปุ๊บเนี่ย เราจะไม่ซื้ออาหาร แต่เราจะไปซื้อส่วนผสมมา แล้วพี่ณัฐก็จะเป็นพ่อครัวให้
การเดินทางของ The Paradise Bangkok Molam International Band ยังคงดำเนินต่อไป พวกเขามีกำหนด เปิดตัวอัลบั้มชุดที่ 2 Planet Lam วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ ต่อจากอัลบั้มก่อนหน้านี้ นั่นคือ 21st Century Molam นอกจากนี้ พวกเขายังเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ True Jazz Festival ที่จะจัดขึ้นทำTrue Arena Sport Complex หัวห‘น ในวันที่ 24-25 มีนาคมนี้แน่นอนว่าพวกเขาย่อมมีความสนุกสนานและรื่นรมย์ให้เราได้รอชมอย่างแน่นอน นอกจากนี้ชื่อวงอันยาวเหยียด ที่สะดุดตาใครต่อใครนั้น มีที่มาที่ไปอย่างน่าสนใจเช่นกัน
ดีเจ Maft Sai : คือโปรเจกต์ Paradise Bangkok มันเป็นจุดเริ่มต้น พอทำวงเราก็ยังอยากใช้ชื่อนี้เพื่อให้คนยังรับรู้ได้อยู่ว่าเป็นวงที่เกี่ยวข้องกับตรงนี้ แต่คอนเซปต์จริงๆ มันมาจากชื่อวงของพวกประเทศกานา ไนจีเรีย ซึ่งจะมีชื่อวงยาวๆ เป็นชื่อภาษาของเขา แล้วก็ตามด้วย International Band หรือ National Band คือถ้าไปเสิร์ชชื่อวงจาก มาลี ไนจีเรีย กานา มันจะมีชื่อวงยาวๆ เยอะมาก แล้วเราเก็บแผ่นของวงพวกนี้เยอะอยู่แล้ว เราก็เลยคุ้นชินกับการมีชื่อวงยาวๆ
อาร์ม : แต่มันดีนะ เวลาอยู่ในเทศกาลดนตรี
คำเม้า : ดียังไงพี่ ผมเพิ่งจำชื่อได้เนี่ย
อาร์ม : คือมันก็เป็นข้อดีตรงที่ว่า เวลาเทศกาลดนตรีมีป้ายไฟใหญ่ๆ ชื่อวงเราจะเห็นชัดตลอด เพราะว่ายาวสุด
ดีเจ Maft Sai : ข้อเสียก็คือว่าจะมีคนเรียกว่า Bangkok Paradise บ่อยมาก จริงๆ มันคือ Paradise Bangkok