The Important of “Logistic”: ห่วงโซ่ไม่ขาด ไม่พลาด ‘อุปสงค์’ และ ‘อุปทาน
ถ้าพูดกันถึงเรื่องการท่องเที่ยวแล้ว เรามักจะนึกถึงอะไรบ้าง? …
บรรยากาศดี อาหารอร่อย การปล่อยใจให้ล่องลอยจากภาระและความกังวลที่ตกค้าง ออกห่างจากความสามัญชีวิตชั่วครู่หนึ่ง พักฟื้นฟูพลังใจ เพื่อกลับไปสู้ต่อ แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ แต่ก็เป็นความสั้นที่เต็มเปี่ยม ไม่ว่าสถานที่แห่งนั้น จะเป็นเพียงต่างจังหวัด ระยะทางขับรถไปถึง หรือต่างประเทศ ที่วางแผนและตาราง เฝ้าคอยกันนานนับปี

แต่ในอีกด้านของการท่องเที่ยว ความเพียบพร้อมสมบูรณ์ของสถานที่ จนถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ที่สามารถรองรับทุกความต้องการของทั้งคนในท้องที่ และคนต่างถิ่นที่เดินทางเข้ามา ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ‘ระบบห่วงโซ่อุปสงค์อุปทาน’ หรือ ‘โลจิสติกส์’ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
ไม่ใช่แค่เพียงสนองต่อความต้องการพื้นฐานให้เพียงพอและเท่าทัน แต่หลายครั้ง ต้องรวดเร็ว ฉับไว และมีประสิทธิภาพ และดูจะเป็นงานที่ทบเท่าทวีตามระยะเวลาที่ผ่านไป นั่นเพราะความต้องการของผู้คนตามหลักเศรษฐศาสตร์นั้น ไม่เคยอยู่นิ่ง และเมื่อได้รับการเติมเต็ม มาตรฐานการใช้ชีวิตก็จะสูงขึ้น ระบบอุปสงค์อุปทานก็ยิ่งต้องดีขึ้น

และนั่นทำให้การบริหารจัดการการขนส่ง หรือศาสตร์แห่งโลจิสติกส์ มีบทบาท และเป็นเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงความเป็นอยู่กับเศรษฐกิจอย่างยิ่งยวด
เพราะการขนส่งจากจุดหนึ่ง ไปอีกจุดหนึ่ง ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของการขนสินค้าใส่ยานพาหนะ เดินทาง ถึงที่หมาย แล้วเอาลง แต่ยังมีเรื่องของกระบวนการต้นทุน การคิดถึงจำนวน สถานที่ระหว่างทาง การใช้เทคโนโลยี และการหาวิธีที่จะทำให้ทุกอย่าง สามารถครอบคลุมยังส่วนปลีกย่อยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน
นอกเหนือจากนั้น ในยุคสมัยปัจจุบัน ที่แนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม การใส่ใจต่อชุมชน และการมีธรรมาภิบาล ก็ถูกผนวกรวมเข้ากับฐานคิดในงานด้านโลจิสติกส์ เพราะมันคงจะไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้าหากกระบวนการนั้นมีประสิทธิภาพ แต่เบียดเบียนผู้ที่อยู่มาก่อน ไม่สร้างงาน ทั้งยังทำร้ายสภาพแวดล้อม เพียงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการให้มากที่สุด เร็วที่สุด

แน่นอนว่า งานศึกษาด้านโลจิสติกส์ ส่วนหนึ่ง จะเกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภคที่รัฐจัดเตรียมไว้เป็นปัจจัยที่นำมาคำนวณ การพัฒนาเมืองที่ดีมีคุณภาพ ทั่วถึง และสะดวกต่อการใช้ชีวิต อย่างที่เห็นได้จากหลายๆ ตัวอย่างในโลก อาทิ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี เดนมาร์ก ที่อำนวยต่อการดำรงชีพ ด้วยการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง หรือระบบรถไฟทั่วถึงของฉงชิ่ง ประเทศจีน ก็จะมีส่วนช่วยให้การวางระบบขนส่งหรือโลจิสติกส์ สามารถเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้
หรือในสภาวะที่โลกตกอยู่ภายใต้วิกฤติ COVID-19 ที่ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก แต่ความต้องการของผู้คนในแต่ละพื้นที่ทั่วโลก ยังคงหมุนเวียนต่อไป งานด้านโลจิสติกส์ก็จำต้องปรับตัว และเข้าสู้กับปัญหา เพื่อหา Solution ที่ดีที่สุด รวดเร็วที่สุด ประหยัดที่สุด และทั่วถึงที่สุด ภายใต้ความจำกัดเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อจำกัดทางด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่ในแต่ละสถานที่อาจจะมีในระดับที่ไม่เท่ากัน มันก็คือความท้าทายของผู้ที่ทำงานสายนี้ รวมถึงผู้ประกอบการ ที่จะไปให้ถึงปลายทางของประสิทธิภาพสูงสุดของงานด้านการขนส่ง ที่ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของคนทั่วโลก

เช่นนั้นแล้ว ครั้งถัดไป ถ้าคุณแวะไปที่บาหลี แล้วสงบสบายกับบรรยากาศและอาหารเลิศรส ไปลอนดอน แล้วสามารถซื้อแผ่นเสียงหายากที่ส่งตรงจากสเปน ไปที่ลอส แองเจลิส สหรัฐอเมริกา แต่ยังสามารถหาซูชิญี่ปุ่นทานได้ หรือแวะไปเกาหลีใต้ แต่นึกอะไรไม่ออก ก็แวะร้านแฮมเบอร์เกอร์กินพอประทังหายหิว ขอให้รู้ไว้ว่า เบื้องหลังการใช้ชีวิตทุกจังหวะก้าว มีกระบวนการที่ไม่เคยหยุดนิ่งของโลจิสติกส์ ขับเคลื่อนอย่างไม่หลับใหล และจะยังเป็นไป ตราบเท่าที่โลกยังคงหมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้ทุกความต้องการ ถูกตอบสนองได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบ

และสำหรับ “เบทาโกร” บริษัทผู้ผลิตและจัดส่งอาหารชั้นนำของไทย ล่าสุด ก็ได้ร่วมกับ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)” โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ ลงนามความร่วมมือด้านการวิจัย โครงการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์ (Supply Chain & Logistics Excellence) ของธุรกิจเบทาโกร มุ่งสร้างนวัตกรรม เพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการบริหารห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ ตอบสนองกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจ “Betagro Powering Change” ด้าน Supply Chain Resilience และ Digital Transformation โดยในปีนี้เบทาโกรตั้งเป้าที่จะนำร่องศึกษาวิจัย และพัฒนาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสุกร หลังจากนั้นจะขยายให้ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน และระบบโลจิสติกส์ของธุรกิจเบทาโกร ซึ่งมี “นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และ “ผศ.ดร.มณฑิรา นพรัตน์” รองอธิการบดีฝ่ายอุตสาหกรรมและภาคีความร่วมมือ ในฐานะผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเบทาโกร และ มจธ. ร่วมเป็นสักขีพยาน และเป็นเกียรติในพิธีดังกล่าว ณ อาคารเบทาโกร ทาวเวอร์ นอร์ธปาร์ค กรุงเทพฯ

นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เบทาโกรในฐานะผู้ประกอบธุรกิจอาหารและเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจรชั้นนำ ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพิ่มผลิตภาพ และประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต โดยเฉพาะการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์เป็นหนึ่งในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ยังมุ่งมั่นในการสร้างนวัตกรรมใหม่ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มมูลค่า และตอบสนองความต้องการของลูกค้า และคู่ค้าที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจของเบทาโกร
ความร่วมมือด้านการวิจัย ของเบทาโกรกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ ภายใต้โครงการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการส่งเสริม สนับสนุน การวิจัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ (Supply Chain & Logistics) ให้กับธุรกิจของเบทาโกรเองแล้ว ยังเป็นการเพิ่มองค์ความรู้และศักยภาพให้กับการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ของอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรอีกด้วย

รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง มจธ. และเบทาโกร สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาอุดมศึกษาของประเทศ ที่เป็นแหล่งสนับสนุนการสร้างงานและนำความรู้ไปแก้ปัญหาผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชนและท้องถิ่น รวมทั้งเป็นไปตามทิศทางการพัฒนาของ มจธ. ที่มุ่งมั่นในการผลิตกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มี Employability ใน Global market และเป็น Social Change Agent ตลอดจนผลิตงานวิจัย และงานบริการวิชาการให้ตอบโจทย์ ชี้นำภาคอุตสาหกรรมและสังคมต่อไป
มจธ. มีศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยเฉพาะทางที่มีประสบการณ์งานวิจัยกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนมากว่า 20 ปี มีผู้เชี่ยวชาญด้านห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ที่พร้อมให้คำปรึกษาเพื่อยกระดับการดำเนินงานด้าน Supply Chain & Logistics ของเบทาโกรได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทในปัจจุบัน และในอนาคต

ด้าน ผศ.ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวเสริมว่า ธุรกิจอาหารและปศุสัตว์มีความสำคัญ และมีคุณค่าเป็นอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมมาอย่างยาวนาน ขณะเดียวกัน ก็เผชิญความท้าทายใหม่ ๆ เข้ามาอย่างมากมาย ส่งผลกระทบธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเร่งปรับตัวและผ่าฟันข้อจำกัดต่าง ๆ ด้วยความมุ่งมั่น พร้อมก้าวไปสู่เป้าหมายสำคัญด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)
มจธ. โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ เล็งเห็นว่าเบทาโกรฐานะบริษัทชั้นนำด้านการผลิตอาหารและเกษตรอุตสาหกรรมของไทย มีห่วงโซ่อุปทานจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำที่ยาว และมีความซับซ้อน จึงพร้อมที่จะเข้ามาส่งเสริม และสนับสนุนการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายในอนาคต โดยเฉพาะการพัฒนาความเป็นเลิศของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Excellence) ในการยกระดับประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์ของ เบทาโกร เพื่อสร้างความได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจในระยะยาวต่อไป
สำหรับโครงการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์ เบทาโกรได้ทำงานกับพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจและภาคส่วนต่าง ๆ ด้วยกลยุทธ์ Betagro Powering Change ในด้าน Supply Chain Resilience ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ด้าน ที่จะเพิ่มความเข้มงวดรัดกุมของระบบ Biosecurity ให้มีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนของปัจจัยแวดล้อม ตลอดจนถึงการมองหาโอกาสในการปรับปรุงการดำเนินงานในปัจจุบันและอนาคตควบคู่กันไป
