fbpx

The Evolution of ‘Languages’: เมื่อภาษา ‘ดิ้นได้’ และไม่เคย ‘วิบัติ’

ประดิษฐกรรมหนึ่งของมนุษยชาติ ที่บ่งบอกถึงความก้าวหน้า และการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน และมีจุดร่วมกันที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยนั้นคือ ‘ภาษา’ นั่นเพราะคนในท้องที่ ในภูมิภาค หรือในประเทศ ต่างก็มีสื่อกลางที่ใช้สื่อสาร บ่งบอกความต้องการ และอรรถาธิบายสิ่งที่เป็นทั้งรูปธรรม นามธรรม และจินตนาการให้ออกมาเป็นรูปฐานที่ชัดเจน ภาษา จึงเป็นข้อบ่งชี้ถึงความก้าวหน้าในระดับสูง และเป็นอัตลักษณ์ของคนในขอบเขตหรือท้องที่นั้นๆ

แต่ก็เช่นเดียวกับเส้นแบ่งอาณาเขตของพื้นที่หรือประเทศ ที่เปลี่ยนแปลง หดแคบ ขยายออก ไม่มีความแน่นอน ตัวบทของภาษาเอง ก็มีการแปรสภาพ และไม่เคยอยู่นิ่ง แม้แต่ในประเทศเดียวกัน หากต่างท้องที่ ต่างภูมิภาค ก็สามารถมีความแตกต่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะในรูปของสำเนียงภาษาพูด หรือ ‘คำ’ ที่ใช้แทนความหมายของสิ่งหนึ่งสิ่งใด

ภาษา เปลี่ยนแปลงได้ ตามท้องที่ ตามเวลา และตามสถานการณ์จะนำพา

ในปัจจุบัน โลกแห่งการติดต่อสื่อสาร เดินทางข้ามมาสู่พื้นที่เสมือน การเข้าถึง Social Media และอินเตอร์เนท ก่อให้เกิดการแปรสภาพของ ‘ภาษา’ ไปสู่รูปสารที่แตกต่างออกไปจากเดิม หลากหลายคำถือกำเนิดขึ้นจากการใช้งาน ยอมรับร่วมกัน และมีความคุ้นชิน

แต่ในทางหนึ่ง ความคุ้นชินเหล่านั้น ก็หักล้างกับบัญญัติทางภาษาที่ถูกกำหนดเอาไว้โดยระเบียบ และหลักเกณฑ์ทางภาษาที่เป็น ‘ทางการ’ จนกลายเป็นความขัดแย้ง และข้อวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหู

หลายคำ สื่อความหมายได้ แต่ถูกสะกดผิดอย่างจงใจ หลายคำ เกิดขึ้นจากความบังเอิญ แต่เป็นที่รับรู้ความหมายเฉพาะกลุ่ม ก่อนที่จะออกมาสู่การยอมรับในวงกว้าง

ดอย, เกรียน, นะค่ะ, อ่ะหรอ, เกรียน, หยั่มมา เหล่านี้ คือตัวอย่างของ ‘ภาษา’ ที่ผ่านการ ‘บิด ดัด และพลิก’ ให้ไปสู่การใช้งานในโลกเสมือน ก่อนที่จะออกมาสู่พื้นที่ของโลกความเป็นจริง ทั้งในการเขียน การพูด และการสื่อสาร

แน่นอน คำเหล่านี้ จะไม่มีความหมายใดๆ ถ้าหากไม่มีบริบทที่รองรับ ที่มาที่ไป หรือการย้อนไปถึงต้นสายธารการกำเนิดของมัน และยิ่งกว่านั้น มันแทบไม่เป็นคำที่อยู่ในพจนานุกรมอย่างเป็นทางการ หรือตำราทางภาษาไทยเล่มไหนๆ

หลายครั้ง มันถูกเรียกอย่างไม่ใส่ใจ ว่าเป็นเพียงแค่ ‘ภาษาวิบัติ’

เป็นความวิบัติ เป็นความผิดผี เป็นความผิดเพี้ยน เป็นความไม่ใส่ใจในรสคำที่ ‘ถูกต้อง’ ตามหลักราชบัณฑิตยสภา ไม่คิดแม้แต่ว่าจะใส่ใจเปิดพจนานุกรม ไม่สนการสอนของครูบาอาจารย์ในชั้นเรียน ที่พร่ำสอนให้อ่านและเขียนอย่างระกำลำบากอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

แต่ถ้าย้อนกลับไปวรรคต้นๆ ของบทความชิ้นนี้ ถึงต้นกำเนิดของภาษาแล้วนั้น มันชวนให้ตั้งคำถามอย่างยิ่งว่า อะไรกันแน่ คือนิยามของคำว่า ‘ภาษาวิบัติ’?

ถ้าภาษาดัดแปลงได้ ภาษาเปลี่ยนได้ ภาษามีพลวัตไปตามการเลื่อนไหลของสังคมได้ และเหนือสิ่งอื่นใด ภาษาคือตัวสะท้อนภาพของการใช้งาน ‘จริง’ ในพื้นที่ที่ถูกยอมรับและเกี่ยวข้องกับการสื่อสาร ‘จริงๆ’ เช่นนั้น เหล่าภาษาที่ถูกมองว่าวิบัติ ก็ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการ ‘วิวัฒน์’ ไปอีกครั้ง อย่างที่มันเคยเป็น และพึงเป็น

แน่นอน เราคงไม่สามารถนำเอาคำหว่า ดอย หยั่มมา เกรียน นะค่ะ ไปใช้กับเอกสารทางราชการหรืองานเขียนที่เป็นทางการได้ เพราะมันมีปัจจัยของ ‘อำนาจทางภาษาและชนชั้น’ เข้ามาเกี่ยวข้อง เรียกกันง่ายๆ ว่า ถ้าจะสื่อสารกันในระบบที่ถูกกำหนดเอาไว้ด้วยขั้นบันได Hierarchy การจะไปหักล้างถางพง มันคงไม่ช่วยให้การสื่อสารเกิดความสัมฤทธิ์ผล

แต่ในกรณีเดียวกัน การจะใช้คำที่เป็นภาษาเขียน มาอยู่ในการสื่อสารภาษาพูดชีวิตประจำวัน มันก็คงไม่อาจสัมฤทธิ์ทางการสื่อความได้ หากคนรอบตัวรู้สึกว่า ผู้พูดไม่ได้เป็นอะไรนอกจากพจนานุกรมเคลื่อนที่ หรือครูสอนภาษาที่ไม่มีความพร้อมจะปรับเปลี่ยน หรือประยุกต์ให้เข้ากับบริบทแวดล้อมใดๆ

และเหนือสิ่งอื่นใด การกำเนิดของภาษา ‘วิบัติ’ ที่ถูกมองว่าผิดผีเหล่านี้ ใช่หรือไม่ ที่มันเป็นไป เพื่อหาคำอธิบาย และบอกกล่าวถึงสิ่งซึ่งอยู่ตรงหน้า และความรู้สึกบางอย่าง ที่ขั้นบันไดทางภาษาไทย ไม่เคยถูกกำหนด ไม่พึงกำหนด และไม่มีที่ทางที่จะให้สื่อสารออกไป

มีคนกล่าวว่า ภาษาไทยเรียนรู้ยากสำหรับคนที่ไม่ใช่ Native นั่นเพราะมันมีขั้นบันไดทางอำนาจอยู่มากมาย และภาษา ‘วิบัติ’ คือการทลายขั้นบันไดเหล่านั้น ในทางการใช้งานชีวิตประจำวัน

เอาเถิด ภาษามันจะวิปริต หรือวิบัติ คงไม่ใช่หน้าที่ของใครจะมาชี้นิ้วกำหนด อาจจะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกที่เคยเป็นมา เมื่อคำที่เคยถูกพูด ถูกใช้ เมื่อมันไม่ได้รับความนิยม มันจะสูญสลาย หายไป และแทนที่ด้วยของใหม่ และในทางกลับกัน คำบางคำที่เคยตาย ก็อาจจะกลับมาถูกใช้ เมื่อมันมีเหตุผลและนิยามในการคงอยู่ของมันที่มากพอ

และที่น่าตลกที่สุด คือคำ ‘วิบัติ’ ในยุคกาลก่อน ก็กลับเป็นคำที่ถูกใช้อย่างเป็นเรื่องปกติ โดยคนในปัจจุบัน โดยไม่ได้นึก หรือรู้สึกว่ามันวิปริต หรือผิดปกติด้วยซ้ำ

มันคือธรรมชาติของภาษา ที่บุคคล องค์กร หรือขั้นบันไดทางอำนาจใดๆ ก็ไม่อาจไปกำหนดได้ นอกจากฉันทามติที่ไม่ได้เอ่ย แต่ยอมรับร่วมกันโดยไม่ได้นัดหมาย เป็นคนกำหนด ว่ามันอยู่ไป หรือมันจะอยู่ แค่เท่านั้นเอง

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ