fbpx

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ The Edge of Life

ข้อมูลมากมายบอกว่า เขาเป็นนักธุรกิจหนุ่ม อยู่กับอาณาจักรอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่หลายแวดวง ภายนอกเขาคือนักบริหารที่ตรงไปตรงมา โผงผาง ชัดเจน ตัวสูง และเสียงดัง

ด้วยวันและวัยสามสิบปลายๆ เอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ น่าจะข้ามขอบของความสำเร็จในธุรกิจมาพอสมควร แต่เมื่อเห็นตัวเองในกระจกกับชีวิตที่สองที่เขาสถาปนาว่า ‘ข้าคือนักผจญภัย’ ผู้ชายคนนี้ยังมี ‘ขอบฟ้า’ อีกหลายสถาน ที่รอการไปพิสูจน์ความกล้าหาญของตัวเอง

ใช่, เอกพูดถึง ‘ขอบ’ หรือว่า ‘Edge’ เขาเป็นพวกที่หากลงมือทำอะไร เขาจะตรงไปถึงขอบของอีกด้าน จะเรียกว่าเป็นความสุดโต่งแบบนั้นก็ได้ ใครจะรู้บ้างว่า ที่ผ่านมาเขาแตะขอบของการผจญภัยมานักต่อนัก เป็นต้นว่า วิ่งในทะเลทรายโกบี ลากเลื่อนบน Arctic Circle พายเรือคายัคจากพัทยาไปหัวหิน ปั่นจักรยานทัวริ่งหลายสิบวัน เลาะชายแดนลาว-เวียดนาม ปีนภูเขาสูงในญี่ปุ่นตามลำพัง ฯลฯ

และเป้าหมายที่รอเขาอยู่ในปลายปี 2018 คือการเดินทางไปใช้ชีวิตที่ขั้วโลกใต้ อย่างน้อยก็ต้องกินเวลาแรมเดือนในอุณหภูมิติดลบ 20 องศาฯ เพราะเขาหวังไปเดินเท้าระยะไกลในดินแดนไกลโพ้นสุดขั้วโลกที่ไม่มีคนอาศัย ไร้สิ่งมีชีวิต ที่นั่นเปรียบเสมือนดวงจันทร์บนดาวโลก ที่เขาหลงใหลมาหลายปี แผ่นดินที่อยู่ใต้ขอบสุดของโลกใบนี้

คิดแล้วไม่ได้เก็บไว้ เขาประกาศว่าเขาจะทำโครงการ TrueSouth Thailand นำทีมคนไทย 10 ชีวิตร่วมเดินทาง ที่ทวีปแอนตาร์กติกา การเดินทางเป็นแบบพึ่งพาตัวเอง 100 เปอร์เซ็นต์ เขาเน้นว่าถึงเวลาที่คนไทยสักกลุ่มต้องพิชิตขั้วโลกใต้ เพราะอย่างน้อยการทำ Expedition ลักษณะนี้ เป็นการตั้งเป้าหมายที่จะทำให้ตัวเองได้ฝึกฝน พบเจอความเจ็บปวดทนทุกข์ทรมาน เพื่อรีดเอาความทรหดอดทนออกมา ก้าวข้าม ‘ขอบกั้น’ ของตัวเอง

GM สนทนากับเขาเรื่องพวกนี้ เอก-ธนาธร เป็นนักผจญภัยในธรรมชาติชนิดที่ฟังแล้วเราอาจจะตั้งคำถามในใจ

‘ไม่กลัวตาย ทำไม่ได้’ ‘ไม่รวย ทำไม่ได้’ ‘ไม่บ้าบอ ทำไม่ได้’ แต่ทั้งหมดนั้นผิดหมด เพราะเบื้องหลังการลงมือทำเรื่องท้าทายเช่นนี้ กลับมาเติมเต็มให้วิญญาณความเป็นนักบริหารความเสี่ยงในอาณาจักรธุรกิจของเขามีความแม่นยำ มีแผนสำรอง รู้ทางแก้ไขกับวิกฤติการณ์เฉพาะหน้า ไม่ได้โลดโผนตามแต่อารมณ์จะพาไป ทั้งหมดอัดแน่นไปด้วยความเข้าใจธรรมชาติและเยื่อใยความเข้าใจในตัวเอง

พูดง่ายๆ ว่า ‘ขอบ’ ที่เอกสนใจจะก้าวผ่านจากการออกไปผจญภัยนั้น มันมักมาถ่าง ‘ขอบหรือกรอบ’

ถ้าคุณมองเห็นบางขอบที่กั้นหรือขังคุณอยู่ ลองอ่านเรื่องของ เอก-ธนาธร และขอบของเขา

The Extreme Adventure

GM: คุณได้ประกาศว่าให้เวลา 2 ปีกับการเตรียมไป South Pole ขั้วโลกใต้

ธนาธร : ใช่, ถ้าคนอื่นทำได้ เราน่าจะทำได้ การเดินทางที่ผมเตรียมไว้ จะไม่มีการช่วยเหลือจากภายนอก การเดินทางภายในขั้วโลกมีหลายชนิด เช่น การใช้สุนัขลากเลื่อน เครื่องยนต์ติดล้อ หรือมีเฮลิคอปเตอร์บินเอาสัมภาระมาทิ้งให้ตามจุดต่างๆ แต่ของTrueSouth ที่ผมออกแบบโปรแกรมไว้ พูดในภาษานักผจญภัยได้ว่า เป็นการเดินทางแบบ ‘Unsupported’ พวกเราจะนำสัมภาระ อาหาร ติดตัวเดินทางไปด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ละคนต้องลากเลื่อนหรือ Sled ไปเองประมาณ 100 กิโลกรัม ความยาวระยะทางประมาณ 1,200-1,300 กิโลเมตร ในแต่ละวันต้องเดินเท้าลากเลื่อนวันละ

10 ชั่วโมง แต่เป็นแบบจากน้อยไปหามาก วันแรกเริ่มจาก 6 ชั่วโมง ค่อยๆ ไต่ไป 7-8 ชั่วโมง เพราะสัมภาระยังหนักอยู่ เก็บระยะทางที่ 5-7 กิโลเมตรก็ได้ตามเป้าแล้ว แต่พอผ่านสัปดาห์ที่ 1 ไป สัมภาระอาหาร เชื้อเพลิง เริ่มถูกใช้ถูกบริโภคไปเรื่อยๆ น้ำหนักติดตัวจะเบาลง การทำระยะทางต่อวันจะดีขึ้น   

GM: ตามแผนการเดินทางทริปนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

ธนาธร : พฤศจิกายน 2018 จำเป็นต้องเตรียมตัวให้รัดกุมที่สุด นักผจญภัยคนหนึ่งที่เขาทำโปรเจกต์นี้สำเร็จ เขาฝึกซ้อมต่อเนื่องแรมปี ช่วงก่อนไป เขาใช้เวลาซ้อมสัปดาห์ละ 30 ชั่วโมง เดินลากยางรถยนต์ครั้งละ 7-8  ชั่วโมง ถือว่าโหดมาก ผมอยากเตรียมทีม ใช้เวลาฝึกซ้อมให้พร้อมที่สุดก่อนไป คัดเลือกนักผจญภัยคนที่สนใจ มีความแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ ด่านแรกคือการวิ่ง 100 กิโลเมตร ด่านต่อมาคือสอบสัมภาษณ์ ด่านต่อๆ มา เกี่ยวกับการดำรงชีพในธรรมชาติให้ได้ มีเรื่องการใช้สกี การ Hiking และอีกหลายอย่าง เพื่อคัดเลือกนักผจญภัยไทยจำนวน 15 คน

GM: ทีม TrueSouth Thailand จะเริ่มเดินจากจุดไหนที่ขั้วโลกใต้

ธนาธร : เราจะเดินทางไปจากชิลี เพื่อต่อเครื่องบินไปจุดที่เรียกว่า ‘Hercules Inlet’ การเดินในขั้วโลกใต้จะเริ่มนับจากบริเวณขอบทวีป จะเอาจุดไหนเลือกได้หมดเลย ผมเลือกจุดเริ่มต้นที่ Hercules Inlet ที่เลือกจุดนี้เพราะว่าเป็นตำแหน่งที่อยู่ไม่ไกลมากนักจาก      ภูเขาที่ชื่อว่า ‘Vinson Massif’ ซึ่งภูเขาลูกนี้อยู่ในรายชื่อ 1 ใน 7 ของยอดเขาที่สูงที่สุดในแต่ละทวีปของโลกที่เรียกว่าการพิชิต Seven Summitsภูเขา Vinson Massif สูงราวๆ 4,800 เมตรเศษ (4,892 เมตร) ในเมื่อไหนๆ ไปแอนตาร์กติกาแล้ว ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นทวีปที่ไปยากที่สุด ไกลที่สุด แพงที่สุด ผมไม่คิดว่าตัวเองจะไปขั้วโลกใต้ซ้ำ 2 ครั้งในชีวิตนี้ คิดว่าการเดินทางไปขั้วโลกใต้ คือการต่อเครื่องบินจากทวีปหนึ่งไปยังอีกทวีปหนึ่ง ไม่ว่าคุณจะอยู่ชิลี อาร์เจนตินา ทวีปอเมริกาใต้ คุณอยู่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ คุณต้องบินไปลงทวีปแอนตาร์กติกา ไหนๆ ไปแล้ว ครั้งนี้ผมวางแผนจะปีนขึ้น Vinson Massif ด้วยเลย เป็นภูเขาที่ไม่สูงเกินระดับ 6,000 เมตร ผมคิดว่าน่าจะให้โอกาสตัวเองได้ลองทำ หลังจากเดินทางในขั้วโลกใต้เสร็จสิ้น ก่อนกลับผมจะไปที่ภูเขาลูกนี้ แต่ผมประกาศไปแล้วว่า Vinson Massif ที่เพิ่มมาเป็นความสมัครใจของทีม TrueSouth Thailand อยากจะไปด้วยหรือไม่ไปก็ได้

GM: คุณน่าจะเคยผ่านตาเรื่องกฎ 95/5 ออกไปปีนเขาสูง 95% คือ ความเจ็บปวด Suffering ความสุขตอน Summit มีแค่ 5% คุณรับได้

ธนาธร :อยู่แล้วละ ลองไปถามนักปีนเขาที่ขึ้นไปเอเวอเรสต์ พวกเขาใช้เวลาไม่น้อยกว่า 8 สัปดาห์ อย่างต่ำต้องมี 2 เดือน ให้ผมเดานะ พอคุณไปถึงยอดหิมาลัย คุณยืนอยู่บนนั้นได้ไม่เกิน 2 นาที เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ 95/5 น้อยกว่านั้นอีก คุณลองคิดดูสิ คุณหายไปกับภูเขา 2 เดือน เพื่อแลกกับ 10 นาที หนาวก็หนาว ล้า หายใจแทบไม่ได้ ออกซิเจนบางเบา บนยอดเขาสูงมันมีความเป็นความตายอยู่ตลอดเวลา ไปถึงบนนั้นได้เพื่อกลับลงมา ถ่ายรูปได้แล้ว พอแล้ว แม่งจะตายเอา

GM: นั่นสิ แล้วคุณล่ะเลือกทำเรื่องพวกนี้ไปทำไม

ธนาธร :(กลั้นเสียงหัวเราะไม่อยู่) สำหรับคนอื่นผมไม่รู้ แต่เหตุผลที่ผมมีต่อเรื่องพวกนี้ แม่งชัด ผมอยากรู้ว่าไอ้เส้นของผมมันอยู่ตรงไหน เส้นที่กั้นผมกับขอบเหว ไหนเส้นที่เดินไปอีกก้าวจะตกขอบเหว ผมอยากไปถึงจุดตรงนั้น ชีวิตที่อยู่แค่อีกก้าวเดียวนั้น ผมอยากก้าวไปถึง Edge เท่าที่ตัวเองจะสามารถก้าวไปได้ใกล้มันมากที่สุด

ผมสงสัย ทบทวน ค้นหา ต่อเรื่องพวกนี้เองมาหลายปีว่า Edge of Life หรือ ขอบ เส้นแบ่ง เส้นกั้นระหว่างความกล้าหาญ กับความบ้าคลั่งของผมเองอยู่ที่ตรงไหนกันแน่ ผมยังเดินไปได้อีกกี่ก้าว ถึงจะไปแตะขอบนั้น (นิ่งคิด) อีกเรื่องที่ผมจะไม่ลืมและตระหนักกับตัวเองอยู่ตลอดเวลา คือ เส้นกั้นบางๆ ระหว่างความกล้าหาญกับความบ้าบิ่นของคนคนหนึ่งอยู่ที่ว่า ถ้าเขาลงมือก้าวข้ามขอบนั้นไปแล้ว เขาสามารถ Come Home Safely ได้ไหม นักผจญภัยที่ยิ่งใหญ่คือคนที่ออกไปทำอะไรมาแล้ว กลับบ้านอย่างปลอดภัย นั่นคือหลักคิดก่อนผมจะก้าวข้ามขอบเหวว่า จะไปต่อหรือไม่ไปต่อ

GM: จากพื้นเพที่คุณมี…ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว การงาน บริษัท ตำแหน่งบริหารองค์กร ดูเป็นชีวิตที่ไม่น่าไปเสี่ยงทำอะไรแบบนี้เท่าไหร่

ธนาธร : ไม่มีหรอกคุณ ฐานะ เงินทอง ตำแหน่งใหญ่โต พอคุณบอกว่าตัวเองเป็นนักผจญภัย แล้วพาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น On Ice รวยจน เท่ากันหมด ไม่สำคัญว่าชื่อบนนามบัตรคุณเป็นใคร มาจากไหน คนชาติอะไร ความหนาวเย็น ความสูงชัน ธรรมชาติ ทำให้คุณเป็นมนุษย์เท่ากันหมด สายตาที่คุณมองตัวเอง มองคนอื่น ไม่เหมือนเวลาอยู่บนพื้นราบ เพียงข้อเดียวที่จะทำให้คุณเอาตัวรอดได้ คือ คุณเตรียมตัวมาพร้อมแค่ไหน ร่างกาย จิตใจ ประสบการณ์ เครื่องมือและรายละเอียดที่คุณมีต่อสถานการณ์นี้เป็นอย่างไร ตรงนั้นต่างหากที่เป็นความเสี่ยงที่แท้จริง ถ้าพูดถึงความเสี่ยง เรื่องพวกนี้คือประเด็น ความเสี่ยง ไม่ใช่ว่าคุณเป็นซีอีโอ หรือว่าเป็นพนักงานขับรถไฟ คุณอยู่ตรงนั้น คุณเท่ากันหมด ธรรมชาติไม่ได้รู้จักว่า คุณเป็นซีอีโอ หิมะจะไม่ตกใส่คุณ ไม่ใช่

การเตรียมตัวเป็นหัวใจสำคัญ ถ้าร่างกายคุณไม่ฟิต ตอนเดินลงเขานี้คุณตายเลย Going Up is Easy  นักปีนเขาที่ไปเอเวอเรสต์รู้กันดีว่า ความตายรออยู่ขาลง ถ้าไม่แข็งแรงไม่พร้อม นั่นแหละแช่ขาอีกข้างไว้กับหิมาลัยแล้ว ตอนลงต้องฟิตให้พอ

ผมเป็นคนบริหารความเสี่ยงนะ การไปยืนตรง Edge มันทำให้เรารู้ว่าอีกก้าวควรจะกลับหรือควรจะไป ตรงนั้นสอนผม ผมเคยไปพายเรือคายัคออกอ่าวไทยจากพัทยาเพื่อไปหัวหิน ไปกับเพื่อน 2 คน ผมเอา Satellite Phone ไป 3 เครื่อง ถ้าเรือคว่ำกลางทะเล เราต้องรอด มีน้ำมีอาหารอยู่ได้ถึง 2 วัน ถ้าจะเอาเบา ไม่คิดว่าจะมีอะไรต้องเสี่ยง เราจะเตรียมตัวเพื่อ 24 ชั่วโมงก็พอ แต่ผมเตรียมไว้ 48 ชั่วโมง ทำอะไรแบบนี้บ่อยครั้งเข้า เราจะเริ่มมีสัญชาตญาณต่อการเอาชีวิตรอด กลับกัน ถ้าไม่ทำเลย ยิ่งคุณ

ปล่อยให้ตัวเองสบายมากขึ้นเท่าไหร่ คุณยิ่งเลี้ยงความเสี่ยงให้เติบโตขึ้นเท่านั้น

GM: ทำอย่างไรให้เรารองรับความเสี่ยงกับเรื่องพวกนี้ได้ดีล่ะ

ธนาธร : ยิ่งคุณอยากเป็นคนที่บริหารความเสี่ยงได้ดี สิ่งที่คุณต้องมี คือ ประสบการณ์ คุณต้องรู้จักตัวเอง ยอมรับกับตัวเองว่าคุณยังขาดอะไร มองไว้ติดลบก่อน เช่น ออกไปผจญภัยเดินป่า ปีนเขา พายคายัค ร่างกายคุณเป็นเบสที่สำคัญที่สุด คุณต้องฟิต ฝึกซ้อม ออกกำลังกายมีวินัย ทำมันบ่อยๆ ให้โอกาสไปเจอประสบการณ์ ยิ่งเจอมามากเท่าไหร่ คุณจะมองออกเองว่าขาดอะไร

GM: ที่คุณออกไปทำพวกนี้ติดต่อกันหลายปี มันคล้ายการออกไปจาริกแสวงบุญ Pilgrimage ใช่ไหม

ธนาธร : จะว่าอย่างนั้นก็ถูก อย่างเมื่อวาน ผมไปปีนเขาที่สระบุรี เขาไม่ได้สูงมาก แต่ลูกนี้ไม่เคยมีใครปีนมาก่อน เจออุปสรรคหลายอย่าง ผมไปกับเพื่อนรุ่นพี่อีกคน มันเป็นการจาริกแสวงบุญในแบบของเรา เป็นการค้นหาตัวเองในแบบของเรา ไม่ใช่เป็นเรื่องทางศาสนา คำสอน แต่เป็นเรื่องทางจิตใจ จิตวิญญาณ การเดินทางพบเห็นโลกภายนอก ทำไปเพื่อเข้าถึงโลกภายในของตัวเอง เรื่องพวกนี้ผมถูกถามอยู่เสมอว่าทำไปแล้วได้อะไร ช่วยอะไรกับชีวิตและงาน ผมบอกช่วยมาก ชีวิตผมเปลี่ยนไปเยอะมาก อย่างแรกคือสุขภาพดีขึ้น เรื่องนี้ชัดเจน เมื่อก่อนผมใช้ร่างกายหนัก นอนหลับแล้วตื่นยาก กลไกการทำงานร่างกายภายในปั่นป่วน ระบบรวนไปหมด จมูกหายใจไม่โล่ง แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปหมด กินง่าย นอนง่าย ตื่นง่าย หายใจสะดวก แค่ได้ร่างกายแบบนี้กลับคืนมาก็มีผลต่อชีวิตและการทำงานมหาศาลแล้วคุณ

นอกจากนั้น พวกทัศนคติการมองชีวิตเปลี่ยนไป ผมเป็นพวก Complain บ่นได้กับทุกเรื่อง บ่นได้ตลอดเวลา ไม่พอใจ แต่พอผมออกไปเดินทางกลับมา พบความยากลำบากสาหัสสากรรจ์พอสมควร พอกลับเข้าในชีวิตประจำวัน ผมกลายเป็นอีกคน Complain Less, Appreciate More ไม่มานั่ง Complain ชีวิต ไม่กลัวงาน เปลี่ยนกระทั่งผมมาเป็นคนชอบจัดบ้านเอง อะไรไม่เข้าที่ไม่เรียบร้อย ผมลงมือทำเอง

GM: คุณเคยบอกว่าตัวเองไม่มีของสะสมเป็นวัตถุ แต่ให้คุณค่ากับของสะสมที่การเดินทาง

ธนาธร : ผมเป็นพวกไม่บ้ารถ ไม่บ้านาฬิกา เสื้อผ้าที่ใส่อย่างที่เห็นและจำเป็น ที่ผมมีเยอะก็พวกหนังสือปรัชญา ผมชอบอ่านหนังสือมาก ถ้าไม่ไปไหนทำอะไร ผมจะอ่านหนังสือเงียบๆ ที่ไม่มีของสะสมเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะข้าวของพวกนั้น พอคุณได้เป็นเจ้าของมันแล้ว มันจะมีแต่เสื่อมราคาลง ไปซื้อรถที่โชว์รูม วินาทีที่คุณเซ็นชื่อเป็นเจ้าของมัน รถคันนั้นกลายเป็นรถมือสองในท้องตลาด ทั้งที่มันยังจอดนิ่งในโชว์รูม ราคามันเปลี่ยนไปแล้ว

แต่ประสบการณ์เดินทางการผจญภัย ทันทีที่คุณผ่านมันมาได้ คุณหันหลังกลับมาให้กับสถานที่ที่คุณเคยไป คุณค่ามันเกิดขึ้นทันที ประสบการณ์บางเรื่อง ยิ่งผ่านไปหลายปียิ่งมีราคา คุณย้อนกลับไปทำมันอีกไม่ได้แล้ว มันจะทำงานกับความคิดความอ่านของเรา ให้เราเข้าใจบางเรื่องไปเอง ผมเคยสมัครไปวิ่งงานชื่อ 6633 Ultra เป็นงานวิ่งระยะไกลที่พื้นผิวเป็นหิมะ อยู่ทางตอนเหนือของประเทศแคนาดา เขานิยามให้เป็นสนามที่เวิ้งว้างและหนาวเย็นที่สุด ผมต้องลากเลื่อนวิ่งไปบนพื้นหิมะ ระยะทางทั้งหมด 566 กิโลเมตรที่ต้องเดินต้องวิ่งด้วยขาตัวเอง วิ่งอยู่คนเดียวนาน 3-4 ชั่วโมง วิวข้างหน้าเหมือนเดิม มีแต่สีขาวโพลน ไม่เจอคนหรือว่าสิ่งมีชีวิตอะไร นานๆ จะมีคนผ่านมาที เป็นบริเวณที่เรียกว่า ‘Arctic Circle’

ก่อนไปผมคิดแบบโรแมนติกว่า เอาละ ในช่วงเวลาหลายวันที่ได้อยู่คนเดียว ไม่มีการติดต่อใดๆ จากโลกภายนอก ผมจะใช้เวลาคิดงาน วางแผนสะสางเรื่องโน้นนี้ ตื่นเช้ามาจะนั่งต้มกาแฟ ดูวิวภูเขา แต่อะไรรู้ไหม ผมไม่ได้ทำเรื่องพวกนี้เลย แม้มีเวลามาก เพราะว่าอากาศที่นั่นหนาวจนแค่จะถอดถุงมือมาถ่ายรูปสักรูป ยังต้องคิดแล้วคิดอีก เพราะอุณหภูมิติดลบ ทุกวันคิดว่าไปให้ถึงจุด Station ที่เขากำหนด ง่วงแล้วก็ล้มตัวนอนข้างทางริมหิมะ งัดของที่พามาประทังชีวิต

ผมจบเรซนี้ได้สำเร็จ ประสบการณ์ที่ได้ไปเจอ ไปเห็นมา ครั้งนั้นมันยิ่งใหญ่ มันอยู่กับผม ไม่ได้มีใครเอาไปได้ ผมยังมีเรื่องพวกนี้บอกให้ลูกให้หลานฟังว่า เคยไปตรงนั้นตรงนี้ ภูเขาลูกนั้นลูกนี้ พอเวลาผ่านไปเราจะยิ่ง Appreciate กับการเดินทางที่ผ่านมา

Life Beyond  Destiny

GM: อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณไปถึงจุดของความเป็น Extreme Adventure

ธนาธร : จุดเริ่มต้นของผมนี่ตลกมาก คือหลังจากเรียนจบ ผมก็ทำงาน แล้วช่วงนั้นไม่ออกกำลังกายเลย ผมเข้างานสังคม กินเหล้า สูบบุหรี่ตามเรื่องตามราว ตั้งแต่อายุ 20 กว่าจนถึง 30 ต้นๆ ใช้ชีวิตรุนแรงมาก จนอายุประมาณ 31 คือเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ผมเกิดอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อน เพราะไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ไม่ได้ยืดเส้นยืดสายอะไร แล้วมีวันหนึ่งนัดเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัยไปเตะฟุตบอลกัน แล้วก็เตะครั้งแรกเลย เสร็จแล้วปวดหลังมาก แล้วก็ปวดไปนาน พอไปหาหมอ ปรากฏว่าหมอนรองกระดูกเคลื่อน ขยับไม่ได้ ลุกจากเตียงไม่ได้ ตั้งแต่นั้นก็เริ่มทำกายภาพบำบัด หมอก็แนะนำให้ไปขี่จักรยาน ให้สร้างกล้ามเนื้อคอ ให้ไปเล่นโยคะ หรืออะไรอีกหลายอย่าง ผมเริ่มจากจุดนั้น

GM: เรียกว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต

ธนาธร : ใช่ๆ มันสองสามเรื่องนะ หนึ่งก็คือ เรารู้จักศักยภาพของเราดีขึ้น คือผมคิดว่าหลายคนไม่เข้าใจว่า การมีความเชื่อมั่นตัวเองจากการตั้งเป้าหมายเชิงกายภาพ แล้วเราทำมันให้ได้ มันจะมีผลกระทบต่อชีวิตด้านอื่นๆ เยอะมาก ผมยกตัวอย่าง ในโครงการ TrueSouth มีผู้สมัคร 200 กว่าคน แล้วก็มีผู้เข้ารอบสัมภาษณ์ ตอนช่วงที่สัมภาษณ์ผมเห็นเลยว่านักกีฬาทุกคนที่ประสบความสำเร็จ เวลามานั่งคุยหรือให้สัมภาษณ์ เขาจะมีความมั่นใจ มีความเชื่อมั่นในศักยภาพตัวเอง ผมเห็นได้เลยว่าการออกกำลังกาย การท้าทายตัวเอง มันส่งผลกับบุคลิก ส่งผลกับทัศนคติ คือทำให้มีบุคลิกและทัศนคติที่ดีขึ้น มีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น ทุกอย่างเห็นชัด รวมทั้งตัวผมเองด้วย

ในทุกๆ ปี หรือทุกๆ ครั้ง ผมจะตั้งเป้าหมายใหม่ เช่น วิ่งให้ไกลขึ้น จาก 50 กิโลเมตรเป็น 100, 300 หรือ 500 กิโลเมตร ไปเรื่อยๆ แต่เราก็รู้สึกว่าการวิ่งไกลขึ้น มันอาจจะทดสอบความอดทน แต่ไม่ได้ทดสอบจิตใจเรามากขึ้น ผมก็จะเปลี่ยนจากการวิ่งมาเป็นการปีนภูเขา ซึ่งมันก็คืออีกโลกหนึ่ง แน่นอนว่าพื้นฐานของการปีนเขาคือความพร้อม ความทรหด และความแข็งแกร่งของร่างกาย แต่ที่มากกว่านั้นคือ มันพาตัวเราให้เข้าใกล้หน้าผามากขึ้น ไปยังจุดที่ก้าวอีกก้าวเดียวมันจะตกลงไป ผมอยากไปยืนอยู่ตรง

จุดนั้น จุดที่มันติดขอบหน้าผามากที่สุดจริงๆ

ผมคิดว่า เมื่อเราพูดถึงการผจญภัย มันคือการเดินทางที่คุณไม่รู้ผลลัพธ์ สมมุติคุณไปพระโขนง คุณขึ้นรถไฟฟ้าไป มันรู้ผลลัพธ์อยู่แล้ว มันก็ไม่ใช่การผจญภัย แต่สมมุติคุณเป็นเด็กต่างจังหวัด ไม่เคยเข้ากรุงเทพฯ แล้วคุณต้องขึ้นรถไฟฟ้าไปพระโขนง มันอาจจะเป็นการผจญภัยเล็กๆ ของคุณก็ได้ แล้วสิ่งที่สนุกก็คือ คุณต้องเจอปัญหา แล้วคุณก็แก้ปัญหาตลอดเวลา และการแก้ปัญหาที่พบในการผจญภัย ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่คุณไม่เคยเจอ ไม่เคยแก้มาก่อน แล้วพอคุณไปแก้ มันท้าทายตัวเราเองทั้งด้านร่างกาย จิตใจ การเตรียมการ ทักษะไหวพริบ แล้วสิ่งเหล่านี้มันจะส่งผลสะท้อนกลับมาในชีวิตจริงของเราว่า เมื่อเจอปัญหา คุณเลิกบ่น คุณเลิกโทษคนอื่น คุณเลิกคิดว่าทำไม่ได้ ความคิดเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้มันหายไปเลย

GM: ต่างกันไหมระหว่างผจญภัยในเมือง กับการผจญภัยในธรรมชาติ และบางทีอาจเป็นธรรมชาติที่เหี้ยมโหดด้วย

ธนาธร : ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในแนวรถไฟฟ้า คุณไม่ได้ออกไปเจอโลก ไม่ได้ออกไปเจอผู้คนที่ต่างชนชั้นวรรณะ ไม่ได้ออกไปเจอผู้คนที่มีวัฒนธรรมอื่น ผมว่าชีวิตแบบนี้ มันไม่เปิดโอกาสให้เรียนรู้ มันไม่เปิดโอกาสให้เราเข้าใจโลก เรามีชีวิตเดียวก็ควรจะเรียนรู้ให้เต็มที่ แล้ววิธีที่จะเรียนรู้ให้เต็มที่ก็คือคบเพื่อนที่มีฐานะต่างจากคุณ เพื่อนที่มีพื้นฐานการเติบโตหรืออายุต่างจากคุณ ผมว่านี่คือรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปิดกว้าง ที่เราควรจะส่งเสริม

GM: นอกเหนือจากการผจญภัยที่เปลี่ยนชีวิตแล้ว มีหนังสือเล่มไหนที่เปลี่ยนชีวิตเราบ้าง

ธนาธร : หนังสือที่ชอบอ่านมีเยอะมาก ถ้าให้ยกตัวอย่างนี่ จริงๆ Game of Thrones ผมก็ชอบมากนะ ผมอ่านหนังสือชุดนี้ก่อนที่ผมจะดูทีวีซีรีส์ ตอนที่ผมอ่านนี้ เล่มมันหนามาก แล้วก็เป็นภาษาอังกฤษ เพราะตอนนั้นภาษาไทยยังไม่ได้แปล ผมใช้เวลาอ่านเป็นอาทิตย์ ทำงานเสร็จกลับมาก็นั่งอ่าน Game of Thrones นี่สนุก ตื่นเต้น มีหลายมิติมาก และไม่ได้เป็นแค่ความบันเทิง แต่ก็ไม่ใช่หนังสือเล่มที่เปลี่ยนชีวิต

ถ้าพูดถึงหนังสือที่ทำให้เห็นโลก ยกตัวอย่างเช่น A Thousand Splendid Suns และ The Kite Runner ของ Khaled Hosseini แล้วก็เล่มล่าสุดของเขา คือ And the Mountains Echoed ทั้ง 3 เล่มนี้ บอกเลยว่าทุกเล่มผมอ่านแล้วร้องไห้ มันเศร้ามาก อย่าง A Thousand Splendid Suns เป็นเรื่องที่อยู่ภายใต้บริบทขอสงครามกลางเมือง ถ้าผมจำไม่ผิด คือในอัฟกานิสถาน เป็นเรื่องของครอบครัวชาวมุสลิมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ เขามีภรรยา 2 คน ตอนแรกภรรยาคนแรกกับภรรยาคนที่สองเกลียดกัน ตอนหลังกลายเป็นพวกเดียวกัน แต่ภรรยาคนที่สองมักโดนทำร้าย ลูกโดนทำร้าย ไม่มีอนาคตสำหรับครอบครัว เธอจึงตัดสินใจฆ่าสามีตัวเอง ภรรยาคนแรกรักภรรยาคนที่สอง และรักลูกของภรรยาคนที่สองมากเสียจนบอกตำรวจว่า เธอเป็นคนฆ่าเอง เพื่อที่จะให้ภรรยาคนที่สองได้มีชีวิตต่อไปอย่างสวยงาม มันเป็นเรื่องราวของการเสียสละที่สวยงามมาก

หรืออย่างเล่ม The Book Thief (เขียนโดย Markus Zusak) ผมก็ทั้งร้องไห้และหัวเราะ เป็นเรื่องราวที่สวยงามและครบรสมาก เรื่องนี้ผมยังไม่เห็นแปลเป็นภาษาไทยนะ แต่ถ้าผมต้องแนะนำหนังสือเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 สักเล่มหนึ่งให้แก่เยาวชนเพื่อเรียนรู้ถึงความลำบาก และเข้าใจถึงวิธีการมองโลกของเด็ก ผ่านมุมมองของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ผมว่า The Book Thief นี่เป็นหนังสือที่ควรจะต้องอ่าน

GM: ดูจากหนังสือที่ยกตัวอย่างมา ถือว่าผิดคาดพอสมควร เข้าใจว่าคุณน่าจะพูดถึงหนังสือทางด้านสังคมศาสตร์หรืออะไรประมาณนี้มากกว่า

ธนาธร : พวกนั้นก็อ่านนะครับ แต่พวกนั้นมันจะเป็นหนังสือหนักๆ มากกว่าที่จะเป็นนวนิยาย จริงๆ หนังสือหนักๆ ก็อ่าน แต่ว่าต้องเรียนตามตรงว่า เวลามันมี 24 ชั่วโมง ซึ่งจำกัดมาก นอกจากให้งาน ครอบครัว เพื่อนฝูงแล้ว เดี๋ยวนี้ก็ออกไปข้างนอกเยอะขึ้น ช่วง 2-3 ปีหลัง ก็อ่านหนังสือน้อยลงไปเยอะ อย่างเล่มล่าสุด ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าผมจะอ่านจบเมื่อไหร่ แต่เล่มต่อไปที่จะอ่านเลยก็คือรัฐธรรมนูญที่เพิ่งประกาศใช้ คือผมอ่านมาตั้งแต่ฉบับ พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 อ่านจบทั้งเล่ม ฉบับ พ.ศ. 2560 ยังไม่ได้อ่าน แต่ว่าอยู่ในแพลน…

ผมคิดว่าโครงสร้างที่มีอยู่ในสังคมไทยโดยภาพรวม ไม่เอื้อให้เกิดจินตนาการ หรือการเติบโตของคนรุ่นใหม่ที่จะเท่าทันเศรษฐกิจแบบดิจิทัล ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าคุณลองไปซื้อนิทานที่เขียนโดยคนไทย กับนิทานที่เขียนโดยฝรั่ง สุ่มหยิบมาอย่างละ 10 เล่มแล้วเทียบกัน คุณจะพบว่า 10 เล่มของนิทานภาษาไทย จะสอนเรื่อง คุณธรรม ซื่อสัตย์ เคารพผู้ใหญ่ อ่อนน้อม นี่คือค่านิยมที่จะอยู่ในนิทาน 10 เล่มของไทย ร้อยทั้งร้อยจะเป็นแบบนี้ แต่ถ้าไปอ่านนิทานสำหรับเด็กของต่างประเทศ เขาจะเน้นไปที่จินตนาการ ความสนุกสนานของเด็ก จะเห็นว่านิทานของไทยกับต่างประเทศแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน

นิทานที่คนไทยอ่านคือนิทานที่ปลูกฝังค่านิยมที่ไม่เหมาะสมต่อการพาประเทศไปสู่อนาคต ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นหนึ่งในเรื่องที่สะท้อนความสิ้นหวังของอนาคตของสังคมไทย เพราะจริงๆ แล้ว จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดวิพากษ์ เป็นสิ่งที่เราควรปลูกฝังให้กับเด็กๆ แต่สิ่งที่ประเทศไทยสอนให้กับเยาวชนของเรา คือกรอบ คุณสอบกรอบทุกอย่าง ตั้งแต่ทรงผม ชุดนักเรียน การเกณฑ์ทหาร การอยู่ในโอวาทของผู้ใหญ่ หรือการปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา ทุกอย่างคือกรอบทั้งหมด ซึ่งถ้าบอกว่าเรากำลังพูดถึง Thailand 4.0 เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรืออะไรก็แล้วแต่ โดยที่ไม่ได้พูดถึงวัฒนธรรมที่มันฝังรากอยู่ในสังคมไทย การพูดเรื่องเหล่านั้น มันก็ไม่มีความหมาย

GM: โดยตัวคุณเองมีบุคลิกลักษณะที่สุดขอบสุดขั้ว แต่คุณก็ยังเป็นผลผลิตของสังคมไทย แล้วคุณคิดนอกกรอบได้อย่างไร มีความขบถได้อย่างไร หรือมาจากประสบการณ์ในต่างแดน

ธนาธร : ผมว่าการที่มีลักษณะขบถ มันมีมาตั้งแต่ตอนก่อนไปศึกษาต่างประเทศ และผมส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีลักษณะขบถด้วยนะ ถ้าถามว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ผมก็อธิบายตัวเองไม่ได้ แต่ผมคิดว่ามันสามารถทำได้ อย่างเช่น คุณสามารถที่จะแพ็คกระเป๋าโดยไม่มีจุดหมายไปถึงหัวลำโพง ขึ้นรถไฟขบวนไหนก็ได้ที่อยู่ชานชาลาเบอร์ 4 แล้วไปให้สุดทาง เดินทางโดยไม่ต้องมีจุดหมายเพื่อไปดูโลก ถ้าสมมุติมีทางให้เลือก มีทางที่ยากกับง่าย ทางเป็นปูนซีเมนต์กับทางที่เป็นป่าเขา แต่ไปถึงจุดหมายเดียวกัน ก็เลือกทางป่าเขา เลือกทางที่ยาก คือถ้าเราอยากจะสร้างจิตสำนึกแบบนี้ เราก็ต้องสร้างมัน

GM: สร้างจิตสำนึก สร้างการเรียนรู้ ฟังดูแล้วโรแมนติกนิดๆ

ธนาธร : นักปฏิวัติต้องโรแมนติกทุกคน

GM: เราพูดถึงเรื่องหนังสือเยาวชนที่สังคมไทยมุ่งสอนเรื่องคุณธรรมมากกว่าจินตนาการ แล้วส่วนตัวคุณเชื่อในศาสนาไหม

ธนาธร : ผมคิดว่าทุกคนมีพระเจ้าของตัวเอง แล้วคุณก็คุยกับพระเจ้าของคุณเองได้โดยไม่ต้องผ่านวัด โบสถ์ หรือมัสยิด คุณคุยกับพระเจ้าของตัวคุณได้ แม้กระทั่งระหว่างการวิ่ง คุณก็คุยกับพระเจ้าได้ คุณไม่ต้องไปตักบาตร ไปมิสซา หรือละหมาดเพื่อจะคุยกับพระเจ้า สิ่งที่ผมเชื่อก็คือศรัทธาทางศาสนาควรจะเป็นศรัทธาที่เปิดกว้าง และไม่ควรมีวัดหรือศาสนาหรือองค์กรใดมาบังคับหรือเชิดชูความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งให้มากกว่าความเชื่ออื่นๆ เช่น รัฐไทยไม่ควรจะอุปถัมภ์ศาสนาพุทธ เพราะมันทำให้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แก้กันไม่จบ ผู้คนที่อยู่ใน 3 จังหวัด แง่หนึ่งก็เหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง เพราะไม่มีที่ยืนที่เท่าเทียมกันกับคนที่นับถือศาสนาพุทธ ผมคิดว่ารัฐควรจะถอยตัวเองออกมาจากเรื่องศาสนา ไม่ควรจะอุปถัมภ์ศาสนาอะไรเลย ที่นี่คุณจะนับถือยูดาห์ คุณจะนับถือเต๋า นับถือเซนก็ได้ เหมือนอย่างธรรมกาย ต่อให้ไม่เห็นด้วยกับธรรมกาย รัฐก็ไม่ควรไปยุ่ง ปัญหาคือถ้ารัฐไปยุ่ง มันก็จะซับซ้อนวุ่นวายไปหมด

เมื่อเร็วๆ นี้ มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มีผู้ลงสมัครผู้ว่าฯ 2 คน คนหนึ่งเป็นผู้สมัครที่นับถือศาสนาอิสลาม อีกคนหนึ่งเป็นผู้สมัครที่นับถือศาสนาคริสต์ สิ่งที่น่าตลกมากก็คือ ผู้สมัครที่นับถือศาสนาคริสต์เคยเป็นผู้ว่าฯ มาก่อนและมีผลงาน ประชาชนชอบผลงาน แต่อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ประชากรมุสลิมหนาแน่น แล้วมีป้ายหนึ่งในมัสยิดของพวกหัวรุนแรงเขียนว่า ‘การเลือกผู้ว่าฯ ที่ไม่ใช่ศาสนาอิสลามถือว่าผิดหลักศาสนา’ นี่คือการเอาเรื่องรัฐกับเรื่องศาสนามาเกี่ยวข้องกัน ซึ่งผมเห็นว่าไม่ควร

GM: จริงๆ ในอดีต อำนาจรัฐกับอำนาจทางศาสนาแนบชิดกันมาโดยตลอด

ธนาธร : ใช่, เหมือนสิ่งที่เกิดขึ้น คุณไปดูครูเสด สงครามระหว่างคริสต์กับอิสลาม มีคนตายเป็นล้าน ผมคิดว่าสิ่งที่ถูกคือการแยกรัฐกับศาสนาออกจากกัน เหมือนยุโรปกับญี่ปุ่น ผมคิดว่าอะไรก็ตามที่บังคับให้คนเชื่อหรือศรัทธาในสถาบัน มันนำไปสู่ความรุนแรง ตัวอย่างการเชิดชูสถาบัน เช่น นักเรียนอาชีวะที่ปัญหาทั้งหมดมาจากการยึดติดกับสถาบัน ในเยอรมนี หลายมหาวิทยาลัยไม่มีการรับใบประกาศนียบัตร เพราะมันเป็นการส่งเสริมให้เกิดสถาบันนิยม ไม่ว่าจะศาสนานิยม อะไรนิยมก็ตาม ชาตินิยมยิ่งแล้วใหญ่ อะไรก็ตามที่มีการสร้างสถาบันนิยมขึ้นมา การสร้างสถาบันนิยมรับใช้แต่คนที่เป็นชนชั้นนำของสถาบันนั้น และทำให้เกิดความรุนแรง ทำให้เกิดความขัดแย้งกับสังคมอื่นๆ ผมคิดว่าไม่ว่าจะเป็นศาสนา ชาติ เราควรจะประนีประนอมกันเพื่อสันติภาพของโลก อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ที่พูดเรื่อง Make America Great Again มันคือการปลุกปั่นเรื่องชาตินิยม ผูกเงื่อนไขให้คนเกลียดกัน และท้ายที่สุดนำไปสู่สงคราม สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็แบบนี้ ญี่ปุ่นก็นิยมในตัวจักรพรรดิ การสร้างอะไรที่มันเป็นนิยมหรือศรัทธาขึ้นมา จะนำไปสู่การทำลายล้างกันเองของมนุษยชาติ

GM: จากประสบการณ์ที่ได้เดินทางไปในสถานที่ต่างๆ มากมาย คุณมองความน่าอยู่ของเมืองไทยอย่างไร

ธนาธร : ผมเพิ่งคิดเรื่องนี้เมื่อวานนี้เอง เจออะไรไม่รู้ทำให้ผมคิดเรื่องนี้ เมืองไทยนี่มันเป็น Land of Smile ใช่ไหม ผมมานั่งคิดว่าทำไมเราถึงยิ้ม แล้วคำตอบที่ได้ อาจจะไม่ถูกใจคนไทยหลายๆ คน แต่เหตุผลที่ผมคิดว่า ทำไมคนไทยถึงยิ้ม ก็เพราะคนไทยไม่มีจุดยืนเรื่องอะไรเลย เมื่อโดนถามเรื่องอะไรก็แล้วแต่ แล้วเราตอบไม่ได้ ทำได้อย่างเดียวคือยิ้ม ไม่มีจุดยืน แม้แต่ในเรื่องที่สากลเขายอมรับกัน อย่างเช่นเรื่องสิทธิมนุษยชน คือเราอาจจะมีบางอย่างที่เป็นจุดร่วมกันกับคนในสังคม แต่มันอธิบายกับคนในระดับสากลไม่ได้

ดังนั้น ถ้าถามว่าความน่าอยู่ของสังคมไทยคืออะไร ผมคิดว่าความน่าอยู่ในสังคมไทยมีอยู่อย่างเดียว คือคุณต้องเป็นคนแบบผม คุณต้องเป็นคนที่มีเงินและมีอำนาจ ประเทศไทยถึงจะน่าอยู่ เห็นจากหลายกรณี เมื่อคนที่มีอำนาจและมีเงินถูกขึ้นศาล ทำผิดกฎหมายแล้วไม่ถูกลงโทษ ในขณะที่ถ้าเป็นประชาชนธรรมดาไม่มีชื่อเสียง คุณก็จะถูกกระทำโดยกฎหมาย สังคมไทยน่าอยู่ก็ต่อเมื่อคุณมีเงินและมีอำนาจเท่านั้นเอง สำหรับผม ถ้ามีเรื่องอะไรอย่างหนึ่งที่จะต้องพูดให้ชัดเจนเพื่อสร้างสังคมไทยในวันข้างหน้าก็คือเรื่องนี้แหละ การบังคับใช้กฎหมายให้เท่าเทียมกันกับทุกคน ไม่ว่าคุณจะนามสกุลอะไร

อีกอย่างคือ โครงสร้างพื้นฐานของเมืองไทยก็แย่มาก สงกรานต์เพิ่งตายไปไม่รู้เท่าไหร่ ประมาณ 300 กว่าคน ลองนึกดูว่าคนที่ตายไปอายุเฉลี่ยประมาณ 20 ปี คุณคิดว่าค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการสร้างคนอายุ 20 ปีขึ้นมา 1 คนนี่คือเท่าไหร่ ผมคิดว่าต้องมีล้านสองล้านแน่นอน หรืออาจจะเกินกว่านั้นด้วย นี่คือความสูญเสียมหาศาล ยังไม่นับผลกระทบทางด้านจิตใจของคนรอบตัวเขาอีก นี่มันเป็นเรื่องอะไรที่เหลือเชื่อมาก โครงสร้างพื้นฐานก็แย่ การบังคับใช้กฎหมายก็แย่ ค่านิยมที่ถูกปลูกฝังในสังคมก็แย่ สมมุติคิดว่าอยากจะเปลี่ยนชนชั้นในชั่วชีวิตคุณ คุณทำได้ไหม จากชนชั้นกลางเป็นชนชั้นกลางระดับบน หรือชนชั้นล่างเป็นชนชั้นกลางในชั่วชีวิตเดียว

GM: ยุคสมัยหนึ่ง คนจีนโพ้นทะเลที่มาแบบเสื่อผืนหมอนใบอาจจะทำได้

ธนาธร : กี่คน และที่สำคัญคนที่ทำได้เกือบทั้งหมด มีสักกี่คนที่ไม่ผูกขาดสัมปทาน เอาเปรียบประชาชนกับรัฐ หรือโกงกินภาษีประชาชน นี่คือข้อเท็จจริง อย่างก่อนหน้านี้ เราพูดกันเรื่องอัสดงของอุตสาหกรรมสื่อ แต่ก่อนอัสดงของอุตสาหกรรมสื่อ มีผู้เล่นในอุตสาหกรรมสื่อกี่เจ้าครับ สื่อวิทยุ เจ้าของก็คือทหาร โทรทัศน์ก็ผูกขาด ไม่มีการประมูลกันมาเป็น 20-30 ปีแล้ว เพราะฉะนั้น ระบบการผูกขาดที่หยั่งรากในสังคม ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจในสังคมไทย แล้วทำให้คนในสังคมไทยไม่มีการเลื่อนฐานะทางสังคม ซึ่งหมายความว่า คุณไม่สามารถเปลี่ยนชนชั้นในชีวิตคุณ น้อยมาก คนที่จะทำได้มีอยู่ 2 อย่าง คือไปเลียแข้งขานักการเมือง ไม่ก็ไปหากินกับสัมปทานของรัฐ คุณไม่สามารถมี มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ในสังคมไทยได้ เราไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในด้านสังคม วัฒนธรรม ทั้งในด้านกายภาพที่จะทำให้เกิดการเลื่อนฐานะทางสังคมเลย

GM: ตอนนี้เขากำลังพูดถึง 4.0 พูดถึง Startup ที่จะเป็นอนาคตเป็นความหวัง

ธนาธร : คนที่พูดถึงเรื่อง 4.0 แล้วไม่พูดถึงเรื่องนี้ ผมไม่เข้าใจว่าคุณพูดถึงเรื่อง 4.0 ได้อย่างไร เพราะผมถามว่าสังคมไทยมีความหวังได้อย่างไร ถ้าคนธรรมดาไม่สามารถมีจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่าในชั่วชีวิตของเขาเอง ถ้าคุณอายุ 25 ปีในวันนี้ แล้วคิดว่าถ้าอายุ 45 แล้วชีวิตคุณยังเป็นเหมือนเดิม ไม่ดีขึ้น คุณไม่สามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลูกยังต้องลำบากเหมือนคุณ ผมคิดว่าสังคมนั้นมีปัญหานะครับ คุณจะพัฒนาเศรษฐกิจทำไม ถ้าคนในสังคมของคุณไม่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปัญหาของสังคมไทยก็คือเศรษฐกิจพัฒนาจริง แต่ผลของการพัฒนาไปอยู่กับคนมีอำนาจทั้งหมด มันไม่ได้ตกไปอยู่ที่ประชาชนธรรมดา เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าอันนี้เป็นปัญหาที่สำคัญมาก

GM: แล้วคนรุ่นใหม่ในรั้วสถาบันที่มีโอกาสไปบรรยายและได้พบเจอเป็นอย่างไรบ้าง

ธนาธร : น่าสนใจ ผมอยากเห็นเด็กที่เข้ามหาวิทยาลัยรหัสประมาณ 57-63 คืออายุประมาณ 14-15 ปี ซึ่งจะเริ่มเดียงสาแล้ว พอเริ่มเดียงสาแล้ว คุณเจอกับค่านิยม 12 ประการที่เกิดขึ้นมาพอดี โจทย์ก็คือว่าคนรุ่นนี้ที่ถูกปลูกฝังให้ท่องค่านิยม 12 ประการ จะมีจิตสำนึกอย่างไร ผมยังไม่เคยสอนคนรหัส 60 รหัส 59 นี่มีสอนบ้างแต่น้อย ผมว่ามันน่าสนใจเพราะคนที่เกิดมาแล้วถูกยัดเยียดค่านิยมอย่างแรงแบบหนึ่ง ทั้งที่จริงๆ แล้ว ค่านิยมที่ถูกต้องคือค่านิยมที่ใฝ่การเรียนรู้ ไม่ต้องบอกว่าอะไรถูกอะไรผิด คุณไปเรียนรู้เอง แต่ต้องไม่ทำผิดกฎหมาย และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนอื่น แต่เมืองไทยบอกว่า ค่านิยมที่ถูกต้องคือคุณต้องกตัญญู ต้องมีมารยาท ตามค่านิยม 12 ประการ

ผมอยากเห็นว่าคนที่เกิดมาโดยการถูกยัดเยียดค่านิยมแบบนี้ ในขณะที่เขาเดียงสาแล้วโตขึ้นมา จะเกิดอะไรขึ้น ผมอยากเห็น ผมอยากคุยกับนักศึกษารุ่นนี้ อยากรู้ว่าเขาจะตอบรับกับเรื่องนี้อย่างไร

แต่ก่อนหน้านี้ ผมคิดว่าเด็กรุ่นนี้ 2549-2559 11 ปี ก็คือคนที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยตอนนี้ น่าสนใจในแง่หนึ่งก็คือ มีชีวิตเติบโต ถ้าเป็นภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Formative Years คือปีที่ทำให้คุณเป็นคุณ ปีที่คุณก่อร่างสร้างตัว หรือทำให้คุณมีบุคลิกแบบนี้ ความเชื่อแบบนี้ ผมคิดว่า Formative Years ของคนอายุ 20 หรือ 20 กว่าๆ ในปัจจุบัน คือปีที่มีความขัดแย้งทางการเมือง คนพวกนี้เติบโตมาเจอรัฐบาล 2549 เจอการยิงกัน การปิดถนน 10 ปีที่ผ่านมา มันมีแต่ความขัดแย้งทางการเมือง มีค่านิยมที่ต่างกัน ความเชื่อที่ต่างกันที่ทำให้สังคมไทยทุกชนชั้นมีการถกเถียง แล้วก็ถูกบังคับให้ต่อสู้กันในเรื่องพวกนี้ตลอดเวลา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผมคิดว่า Formative Years ของคนรุ่นนี้ คือปีที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง ผมคุยกับคนพวกนี้หลายคน เพราะผมได้มีโอกาสสอน เขาตั้งคำถามเยอะว่าเกิดอะไรขึ้น คำถามเกี่ยวกับค่านิยมของการกระทำหลายๆ อย่าง ผมคิดว่าตราบใดที่คุณตั้งคำถาม สังคมจะมีความหมาย ผมไม่รู้ว่าสิ่งที่ผมพูดมันเป็นเหตุเป็นผลไหมนะ

GM: ชีวิตดูจะมุ่งไปข้างหน้าตลอดเวลา มีโอกาสนั่งลงเพื่อตกตะกอนบ้างไหม

ธนาธร : คือผมคุยกับตัวเองเยอะ ถ้าถามว่าวันนี้ผมมองตัวเองอีก 5 ปีอย่างไรเทียบกับปีที่แล้ว มันก็ต่างกันเยอะนะ ผมคิดว่าในเชิงของเป้าหมายหรืออะไรพวกนี้ก็เปลี่ยนไปตามประสบการณ์และความอิ่มตัวทางคุณวุฒิของเรา ก็คิดเยอะเกี่ยวกับความเป็นตัวของตัวเอง

GM: สุดท้ายกลับมาเรื่องนี้ ชีวิตเราเติมเต็มหรือเปล่า ถ้านั่งอยู่กับบ้านแล้วมองหาความรื่นรมย์ตรงนั้น

ธนาธร : อยู่กับครอบครัว เป็นเวลาที่มีความสุขมาก ผมชอบอยู่กับครอบครัวมาก ถ้าไปดูกล้องผม จะเห็นว่ามีแต่รูปครอบครัว เวลาไปเที่ยวจะไม่ถ่ายเซลฟี่ ไม่ถ่ายรูปอาหาร มีแค่รูปครอบครัว คือเป็นช่วงเวลาที่ได้อยู่ด้วยกัน ยิ้มด้วยกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน สมมุติว่ามีไปเที่ยวเสาร์-อาทิตย์ด้วยกัน ส่วนใหญ่จะเป็น Active Holiday ทั้งหมด คือพาไปขี่จักรยานร่วมกัน เด็กๆ ก็พาไป หรือถ้าไม่ Active ก็ Passive ไปเลย เช่น พาไปห้องสมุด ไปอ่านหนังสือร่วมกัน มุมใครมุมมัน

ผมก็ใช้ชีวิตปกตินะ แต่ผมไม่ค่อยเข้ากรุงเทพฯ ผมไม่ชอบงานสังคม แล้วจริงๆ ผมมีสังคมเยอะ ที่ชวนไปงานกาล่า ไปงานปาร์ตี้เยอะมาก ผมไม่ชอบใส่สูท ผมไม่ชอบงานสังคม เลยไม่ค่อยได้ออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 5-6 ปีหลังนี่ แทบจะออกงานน้อยมาก ผมรู้สึกว่าในแง่หนึ่งมันไม่ใช่ตัวเรา

GM: นึกภาพไม่ออกว่า คุณจะต้องปฏิเสธคำเชิญที่เข้ามาในแต่ละวันอย่างไร

ธนาธร : โอ้ย! ไม่ปฏิเสธครับ แต่ผมไม่ตอบ (ยิ้มกว้าง)

GM: ชีวิตผจญภัยย่อมไม่รู้จุดหมายปลายทาง ตัวคุณเองมองชีวิตนับจากนี้ต่อไปอย่างไร

ธนาธร : ถ้าทุกคนใช้ชีวิตเหมือนผม โลกนี้ไม่ต้องมีนิยาย คือมันผ่านเรื่องราวมากมาย แต่ถ้าถามผม ผมยังไม่อิ่ม ผมยังรักชีวิตผม ผมยังไม่อยากตาย ผมยังอยากใช้ชีวิต ถ้าย้อนกลับไปอายุ 18 ได้อีกครั้ง ผมจะใช้ชีวิตหนักกว่านี้อีก ผมจะกินเหล้าอีกเป็นเท่าตัว ผมจะปีนเขาให้เร็วกว่านี้อีก 10 ปี แต่ถ้าถามถึงการเดินทางไปข้างหน้าของชีวิต ยังมีสิ่งที่ผมอยากทำ ยังมีสิ่งที่ผมอยากเห็นอีกเยอะ อันนี้ไม่ได้พูดถึงเรื่องการเดินทางในเชิงผจญภัยตามสถานที่นะ แต่พูดถึงการเดินทางของชีวิต ผมยังไม่อยากตาย ผมยังอยากคุยกับผู้คน อยากเห็นสิ่งต่างๆ ในโลก ยังอยากเห็นอะไรอีกเยอะมาก

เวลาพูดคุยกับตัวเอง ท้ายที่สุดมันต้องตอบตอนวินาทีที่คุณจะตาย ว่าคุณจะร้องขออีก 10 นาทีหรือเปล่า ตอนนี้ผมยังไม่อยากตาย ยังขอต่ออีก 10 นาที กับอีกแบบที่ในวินาทีที่คุณต้องตาย แต่คุณสามารถอ้าแขนรับมัน ผมอยากใช้ชีวิตให้ถึงจุดนั้น จุดที่ผมจะอ้าแขนรับมันอย่างเต็มใจแล้วก็ภาคภูมิใจ และไม่ทิ้งอะไรไว้ข้างหลังให้เสียใจ ผมอยากใช้ชีวิตแบบนี้

มันเป็นการจาริกแสวงบุญในแบบของเรา ไม่ใช่เรื่องทางศาสนา คำสอน แต่เป็นเรื่องทางจิตใจ จิตวิญญาณ การเดินทางพบเห็นโลกภายนอก เพื่อเข้าถึงโลกภายในของตัวเอง ชีวิตผมเปลี่ยนไป สุขภาพดีขึ้น เมื่อก่อนผมใช้ร่างกายหนัก นอนหลับแล้วตื่นยาก กลไกการทำงานภายในปั่นป่วน แต่ตอนนี้กินง่าย นอนง่าย ตื่นง่าย แค่ได้ร่างกายแบบนี้กลับคืนมา ก็มีผลต่อชีวิตและการทำงานมหาศาลแล้ว อะไรก็ตามที่บังคับให้คนเชื่อหรือศรัทธาในสถาบัน มันนำไปสู่ความรุนแรง ตัวอย่างนักเรียนอาชีวะ ปัญหามาจากการยึดติดกับสถาบัน ไม่ว่าจะศาสนานิยม ชาตินิยมยิ่งแล้วใหญ่ การสร้างสถาบันนิยมรับใช้แต่คนที่เป็นชนชั้นนำของสถาบันนั้น ทำให้เกิดความรุนแรง เกิดความขัดแย้ง อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ที่พูดเรื่อง Make America Great Again มันคือการปลุกปั่นเรื่องชาตินิยม ผูกเงื่อนไขให้คนเกลียดกัน และท้ายที่สุดนำไปสู่สงคราม

บางแง่มุมของ เอก-ธนาธร

การศึกษา / จบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบปริญญาโท 3 สาขา คือ เศรษฐศาสตร์ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) การเงิน (นิวยอร์ก) และ กฎหมาย (สวิตเซอร์แลนด์)

‘‘ผมชอบการเรียนรู้ เหตุผลที่เรียนเศรษฐ-ศาสตร์ จุฬาฯ คือตอนนั้นเราเรียนจบวิศวกรรมฯ แล้วพอเราต้องกลับไปบริหารธุรกิจ เราไม่รู้เรื่องเลย จึงต้องไปเรียนเศรษฐศาสตร์เพื่อที่จะเข้าใจวิธีการบริหารธุรกิจ แล้วก็เกิดความรู้สึกว่าเศรษฐศาสตร์ยังไม่พอ ต้องไปเรียนรู้เรื่องการเงินด้วย พอไปต่อการเงินก็รู้สึกว่าเราต้องรู้เรื่องกฎหมาย ก็เลยไปต่อกฎหมาย’’

เคยบวช / ‘‘บวชที่วัดป่าแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ทั้งวัดมีพระอยู่ 5-6 รูป ตอนนั้นผมอยากลอง แล้วก็คิดว่าถ้าทำแล้ว คุณแม่น่าจะมีความสุข จริงๆ ตอนไปบวช ผมก็มีความสุขกับช่วงเวลานั้น แต่ไม่ใช่ความสุขด้านศาสนานะ การไปบวชไม่ใช่บันไดไปสู่นิพพานของผม บันไดไปสู่นิพพานของผมมีอีกหลายบันได ไม่ใช่การไปบวชแน่นอน’’

ชอบทำโทรศัพท์มือถือหล่นแตกเป็นประจำ / ‘‘เป็นเพราะไลฟ์สไตล์ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ตอนนั้นน่าจะโทรศัพท์ iPhone 5 เพิ่งออกใหม่ แล้วมีคนให้มา ผมใช้ไปประมาณ 2 อาทิตย์ ก็ไปเล่นไอซ์สเก็ตแล้วลื่นล้ม พอออกมามันก็หายไปแล้ว คิดว่าน่าจะตกตอนล้ม’’

ชอบพิมพ์เลขไทย / ‘‘มี 2-3 เหตุผลนะ คือถ้าใครใช้ Microsoft Word เยอะๆ ถ้าเวอร์ชันใหม่บางฟอนต์อาจจะเปลี่ยนไปแล้ว แต่ถ้าเป็นเวอร์ชันเก่า พอคุณกดตัวหนอนแล้วพิมพ์ภาษาอังกฤษ ขนาดตัวอักษรมันจะใหญ่กว่าภาษาไทย อีกอย่าง คือผมชอบตัวเลขไทย ไม่ใช่ในเชิงอนุรักษนิยม แต่ผมรู้สึกว่ามันมีความโรแมนติกของมัน’’

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ