fbpx

ดร.วิรไท สันติประภพ ≈

หลังจากคิวนัดหมายและภารกิจประชุมยาวเหยียดตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เราจึงได้มานั่งจับเข่าคุยกันอีกครั้ง หลังจากไม่ได้เจอกันมานานสองปี

จำได้ว่าสมัยนั้น เขายังมีเวลาแวะเวียนมาเยี่ยมเราถึงที่ออฟฟิศ GM และเรายังเคยไปนั่งจิบกาแฟคุยกันเรื่องชีวิต ธรรมะ และความสุข กันในร้านอาหารเล็กๆ ย่านบางขุนพรหม

Settling Down

GM : จากเมื่อสองปีที่แล้วที่เราได้คุยกัน ตอนนั้นคุณเคยเป็นนักเศรษฐศาสตร์พเนจร มาตอนนี้คุณมาลงหลักปักฐานกับงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ชีวิตคุณเป็นอย่างไรบ้าง และมีการปรับตัวอย่างไร

ดร.วิรไท : สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจน คือพอมีสังกัดแล้ว มาเป็นส่วนหนึ่งในองค์กรแล้ว มุมมองที่เคยมี สิ่งที่ผมเคยโฟกัส ก็เปลี่ยนแปลงไป จะให้เป็นเหมือนนักเศรษฐศาสตร์พเนจรอย่างเดิมคงไม่ได้ เมื่อก่อนผมเคยเป็นคนที่มีความสนใจหลากหลาย มีโอกาสได้ทดลองทำอะไรหลายอย่างที่อยากทำ ตอนนี้ผมมีภารกิจชัดเจน และเป็นภารกิจที่เต็มเวลางาน จะเรียกได้ว่าเกินเวลาก็ว่าได้ ดังนั้น มิติแรกที่เปลี่ยนแปลงไป ก็คือผมคงไม่สามารถใช้ชีวิตไปตามอย่างที่ตัวเองสนใจได้ ต้องทำงานตามภารกิจขององค์กร ในมิติที่สอง ผมมีหมวกที่สวมอยู่ ดังนั้น บทความต่างๆ ความคิดเห็นต่างๆ ที่จะแสดงออก ก็ไม่ใช่ความคิดเห็นส่วนตัวอีกแล้ว ถึงแม้ผมจะพูดออกตัวไปว่านี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัว แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันอยู่ภายใต้หมวกที่สวม เมื่อดำรงตำแหน่ง การแสดงออกทุกอย่างมีความหมาย มีผลกระทบต่อตลาด กระทบต่องาน ต่อนโยบายที่สำคัญ เพราะฉะนั้น ผมต้องลดความเป็นปัจเจกของตัวเองลงไปเยอะ ทุกวันนี้ชีวิตส่วนตัวผมน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ

GM : เรารู้สึกว่าน่าเสียดาย เพราะคุณเป็นคนหนึ่งที่กล้าแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมืองและเศรษฐกิจ ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์และในเฟซบุ๊ค คงมีแฟนๆ ข้อเขียนของคุณอีกหลายคนเฝ้ารอติดตามอยู่

ดร.วิรไท : ก็ต้องยอมสละส่วนนั้นไป เพราะภารกิจหลักย่อมสำคัญกว่า ด้วยความเป็นสถาบันของธนาคารกลาง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้บริหารธนาคารกลางของประเทศหนึ่งๆ พูดออกไป ย่อมกระทบต่อตลาด ต่อสังคมในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่มีโซเชียลมีเดีย เราทุกคนยิ่งต้องระมัดระวังเรื่องการสื่อสารเป็นพิเศษ

ล่าสุดก็มีคนทำเพจเฟซบุ๊คชื่อผมขึ้นมาเลียนแบบ 2 เพจแล้ว มีเพื่อนส่งมาให้ดู แล้วหลังจากนั้นก็มีเพื่อนๆ ช่วยกันรีพอร์ตไปทางเฟซบุ๊คว่านี่ไม่ใช่เพจของผมนะ ทางเฟซบุ๊คก็แจ้งกลับมาว่า โอเค เราจะระงับเพจนี้ไปก่อน แล้วปรากฏว่าอีกสองวันต่อมา ทางเฟซบุ๊คก็แจ้งกลับมาบอกว่า ตรวจสอบให้แล้วนะ ทางเพจนั้นเขาไม่ได้โพสต์อะไรที่ทำให้คุณเสียหาย ดังนั้นเขาก็จะเตรียมรีแอคทิเวทเพจนั้นกลับมา (หัวเราะ) ผมก็อ้าว! คุณ เพจนั้นใช้ชื่อผม ใช้รูปภาพผม แล้วก็ตั้งชื่อให้แตกต่างจากเพจของผมจริงๆ เพียงแค่เพจหนึ่งใส่คำว่าดอกเตอร์นำหน้าชื่อ ส่วนอีกเพจหนึ่งก็ใช้ชื่อผมเลย เพียงแต่ใส่จุดฟุลสต๊อปไว้ข้างหลัง แจ้งไปอีกครั้งเขาถึงยอมระงับให้ต่อไป ในยุคนี้ เราก็ต้องระมัดระวังกัน นอกจากเรื่องโซเชียลมีเดียแล้ว การสื่อสารกับสื่อมวลชน ก็ต้องทำออกมาในรูปแบบของการเขียนเป็นเอกสารมากขึ้น การจะไปร่วมพูดที่ไหน ก็มักต้องร่างเป็นสปีช

GM : ธนาคารแห่งประเทศไทยถึงกับต้องมีคู่มือสำหรับผู้ว่าการในการเล่นเฟซบุ๊คเลยหรือเปล่า

ดร.วิรไท : (หัวเราะ) ไม่ถึงขนาดนั้นครับ มันเป็นเรื่องวิจารณญาณมากกว่า เพราะจริงๆ แล้วนี่คือช่องทางการสื่อสารที่สำคัญ เราทุกคนที่นี่ก็ต้องเรียนรู้มากขึ้นในการใช้โซเชียลมีเดียเป็นหนึ่งในช่องทางการสื่อสาร มันยากมากๆ ที่จะนำนโยบายสำคัญ มีรายละเอียดยาวๆ ที่ต้องเข้าใจกับบริบท สภาพแวดล้อม ที่มาที่ไปของเรื่องต่างๆ นำทั้งหมดนั้นมาสื่อสารผ่านการเขียนเป็นข้อความสั้นๆ ในโซเชียลมีเดียจะกลายเป็นข้อความเพียงหนึ่งหรือสองย่อหน้า บางทีก็ถูกบิดเบือนความหมายไปได้ง่าย แต่การสื่อสารออกไปยังคนรุ่นใหม่ที่หันมาสนใจเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่ฝ่ายสื่อสารองค์กรของธนาคารต้องหารูปแบบที่สมดุล เช่น แถลงการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย เราไม่สามารถจะสื่อสารออกไปทั้งแถลงการณ์ได้ เพราะมันยาวเกินไป เราก็จะหารูปแบบที่จะทยอยสื่อสารมันออกไปให้สั้นๆ เป็นเรื่องๆ ไป

GM : แถลงการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยแต่ละฉบับที่เผยแพร่ออกมา พวกคุณเลือกใช้ถ้อยคำอย่างไร เพื่อจะสื่อสารความเป็นจริงให้ได้มากที่สุด คำบางคำ อย่างเช่น เศรษฐกิจไทย ‘เริ่มฟื้นตัว’ เศรษฐกิจไทย ‘เติบโต’ มีความหมายที่แตกต่างกันมาก และผู้คนจะนำไปตีความแตกต่างกัน

ดร.วิรไท วิรไท : ถ้าเทียบกับ FED หรือธนาคารกลางสหรัฐ ที่เขามีมาตรฐานของคำที่ชัดๆ ทางเราคงไม่มีถึงขนาดนั้น แต่สิ่งสำคัญที่เราคำนึงถึงมากๆ คือจังหวะเวลา การที่เราอาจจะสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับตลาดได้นั้นเหมาะสมหรือไม่ เพราะตลาดชอบความแน่นอนมากกว่า ดังนั้น ช่วงเวลาที่เราสื่อสารออกไปจึงสำคัญ เราจะมีกรอบช่วงเวลาของการสื่อสารที่ชัดเจน เช่น เราจะมีแถลงข่าวในวันที่มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน มีรายงานการประชุมแบบสั้นที่ออกมาอีกสองอาทิตย์หลังจากนั้น และที่เราทำ 4 ครั้งต่อปี คือรายงานนโยบายการเงินที่จะดูในภาพใหญ่ ปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจ เพื่อสื่อสารเรื่องทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ

หลังจากที่มีกฎหมายปี 2551 (พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551) เราให้ความสำคัญการพิจารณาตัดสินใจในรูปแบบคณะกรรมการ จากที่เดิมตัดสินใจโดยผู้ว่าการ และคณะกรรมการของเรานั้น มีสัดส่วนของคนนอกสูงกว่าคนใน เช่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 4 คน เป็นผู้บริหารภายในของเราเพียง 3 คน ดังนั้น การสื่อสารของเราก็คือการนำผลการตัดสินใจของคณะกรรมการเผยแพร่ออกไปในกรอบเวลา ที่ต้องขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมในช่วงเวลานั้นๆ ว่าสังคมกำลังมองเรื่องอะไร มีเรื่องอะไรที่เราอยากตอกย้ำ มีเรื่องอะไรที่เราอยากจะบอกตลาด สร้างความเข้าใจร่วมกัน เราพยายามให้การสื่อสารของเราสะท้อนมุมมองและแนวคิดของคณะกรรมการให้มากที่สุด เพราะนี่คือเรื่องความโปร่งใสในการทำนโยบาย เหตุผลสำคัญๆ ที่ใช้ในการตัดสินใจจะต้องอยู่ในเนื้อหาที่เราสื่อสารออกไป

Sustainable Development

GM : ในช่วงนี้อยู่ในวาระ 100 ปีชาตกาล ของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แล้วคุณเองก็พอดีเข้ามารับตำแหน่งใหม่ โดยผู้คนภายนอกมักจะมองว่าคุณเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาชนบท ความยุติธรรมทางสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แถมยังอายุน้อยๆ ตอนเข้ารับตำแหน่งเหมือนกันด้วย คุณคิดว่าตัวเองจะทำงานให้กับที่นี่ได้เหมือนหรือต่างจากอาจารย์ป๋วย

ดร.วิรไท :  ผมศรัทธาในงานของอาจารย์ป๋วย ตั้งแต่สมัยที่เป็นนักศึกษาอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ถึงแม้ผมจะไม่ได้เป็นลูกศิษย์โดยตรง แต่อาจารย์ของผมในคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ในตอนนั้น ก็เป็นลูกศิษย์โดยตรงของอาจารย์ป๋วย เป็นบุคลากรที่อาจารย์ป๋วยสร้างขึ้นมา โดยหาทุนให้ไปเรียน แล้วก็กลับมาสอนหนังสืออยู่ที่นั่น คนรุ่นผมจึงได้รับอิทธิพลหลายอย่างทั้งทางตรงและทางอ้อม วิธีคิดสำคัญของอาจารย์ป๋วย ก็คือวิชาเศรษฐศาสตร์ไม่ได้แยกออกจากเรื่องทางสังคม มันเชื่อมโยงกันอยู่ บรรดาอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์สมัยที่ผมเรียนอยู่ จึงเป็นคนที่สนใจเรื่องราวความเป็นไปในสังคมอย่างมาก เป็นนักสังเกตการณ์ เป็นผู้คอยวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาต่างๆ ไม่ใช่สอนแต่วิชาเศรษฐศาสตร์ตามตำราอย่างเดียว นี่คืออิทธิพลที่ผมได้รับตั้งแต่ตอนผมเข้าเรียนธรรมศาสตร์เมื่อ 30 ปีที่แล้ว

เมื่อได้ศึกษางานของอาจารย์ป๋วย ก็พบว่าท่านเป็นต้นแบบในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค ท่านสร้างผลงานให้กับประเทศนี้อย่างมาก ท่านเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่นานที่สุด คือนานถึง 12 ปี และในช่วง 12 ปีนั้น ท่านได้ริเริ่มและวางแนวทางหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการวางกฎเกณฑ์ธนาคารพาณิชย์ ผ่าน พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 การเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจมหภาค สภาพัฒน์ก็เริ่มในสมัยนั้น ท่านเคยทำงานในหน่วยงานหลักๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาคทั้งนั้น ทำให้ท่านมองภาพเศรษฐกิจที่กว้าง ไม่ได้มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยต้องทำงานแค่เฉพาะเรื่องนโยบายทางการเงิน แต่มองเห็นความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการสร้างคน สร้างให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย สร้างคนให้กับสถาบันการศึกษา เรื่องการสร้างคนก็เป็นเรื่องสำคัญมาก ในวันนี้ พวกเราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังคงพูดกันถึงประเด็นนี้ ว่าจะทำอย่างไรให้พวกเรามี Core Value ร่วมกันที่ ‘ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ และติดดิน’ คุณสมบัติทั้ง 4 ข้อนี้ ถ้าใครที่ได้ศึกษาผลงานของอาจารย์ป๋วย ก็จะพบว่าท่านยืนอยู่บนคุณค่าหลักนี้ทั้งหมด ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยหลายรุ่นหลังจากนั้นมา ก็มักจะมีคุณสมบัติ 4 ข้อนี้ ก็แสดงว่าอาจารย์ป๋วยคือต้นแบบของคุณสมบัติ

ที่พึงประสงค์ แม้ว่าเวลาจะผ่านมานานมากแล้ว แต่คุณค่าก็ยังสืบต่อมา

เพียงแต่บริบททางสังคมนั้นเปลี่ยนแปลงไป แต่ละยุคสมัยเราจะเจอปัญหาและความท้าทายที่แตกต่างออกไป ในยุคปัจจุบัน ผมคิดว่าเราต้องเน้นในภารกิจหลักของเรา ซึ่งก็สอดคล้องกับธนาคารกลางของทุกประเทศทั่วโลกในตอนนี้ ที่จะต้องเน้นการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ เสถียรภาพของระบบการเงิน เสถียรภาพของระบบการชำระเงิน เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน ธนาคารกลางเป็นเสาหลักหนึ่งของเศรษฐกิจ ซึ่งยังมีเสาหลักอื่นๆ อีกมาก งานของธนาคารกลางต้องชัดเจนในภารกิจหลัก ในยุคของเรา งานธนาคารกลางอาจจะไม่ควรขยายตัวออกไปสู่งานอื่นๆ เหมือนกับยุคก่อนหน้า เราจำเป็นต้องโฟกัสกับงานของเรา เพื่อตามให้ทันความเปลี่ยนแปลงและความซับซ้อนใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ตัวแปรใหม่ๆ ในระบบเศรษฐกิจมหภาคที่เชื่อมโยงกันมากขึ้นข้ามประเทศ

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (9 มีนาคม พ.ศ. 2459 – 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2542)

GM : ตรงจุดนี้แหละที่จะสร้างความสับสนให้กับคนทั่วไป เพราะพวกเราคาดหวังในการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทยไว้กว้างมาก ทั้งที่เครื่องมือของพวกคุณเองก็มีอยู่จำกัด นโยบายทางการเงินก็มีข้อจำกัดในการใช้งาน คนทั่วไปยังสับสนระหว่างนโยบายทางการเงินและนโยบายทางการคลังด้วยซ้ำ

ดร.วิรไท : ใช่ครับ ในด้านหนึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ผู้คนในสังคมมีความเชื่อถือต่อธนาคารแห่งประเทศไทย มีความคาดหวังกับเรามาก อยากให้เราเข้าไปมีส่วนอย่างมากต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหลายๆ เรื่อง ผมถือว่าความน่าเชื่อถือคือเรื่องสำคัญที่สุดของธนาคารกลางเลยก็ว่าได้ แต่เราต้องจัดลำดับความสำคัญในเรื่องต่างๆ ให้ดี เราต้องเริ่มต้นด้วยภารกิจของเราให้ดีที่สุดเสียก่อน แต่หลังจากนั้น เราก็ไม่ปิดกั้นตัวเองที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลืองานของหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่เกินความสามารถของเรา หรือขัดแย้งกับภารกิจหลักของเรา

GM : จากที่คุณบอกว่าในเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ตอนนี้เรากำลังเผชิญกับปัญหาใหม่ ความซับซ้อนใหม่ เทคโนโลยีใหม่ แล้วในตอนนี้ พวกคุณมีเครื่องมืออะไรใหม่ๆ มารับมือบ้างหรือเปล่า อย่างที่มีนักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่บางคน ตั้งคำถามว่าเครื่องมืออย่าง Inflation Targeting ที่เราใช้กันอยู่นี่ มันดีที่สุดแล้วเหรอ ในขณะที่ตอนนี้โลกของเรากำลังเผชิญกับสิ่งที่คาดไม่ถึง คือ Negative Interest Rate อยู่

ดร.วิรไท : Inflation Targeting ถือเป็นกรอบนโยบายทางการเงินที่ประเทศ Emerging Markets นิยมใช้กันมากที่สุด และก็ยังใช้กันอยู่ทั่วทั้งโลก มันเป็นกรอบนโยบายทางการเงินที่ได้ผ่านการพิสูจน์มาพอสมควรแล้วว่าจะช่วยสร้างการเจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพมากที่สุด เวลาที่เราสงสัยความเหมาะสมของ Inflation Targeting เราต้องแยกแยะหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาวะปัจจุบัน มีหลายปัจจัยที่มาเกี่ยวข้อง และทำให้เรามาอยู่ในสภาวะแบบนี้ ประการแรก ผมเชื่อว่ากรอบ Inflation Targeting นั้นยังเหมาะสม ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำนโยบายการเงินและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในขณะนี้ เพราะตอนนี้เราไม่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ทำให้เราคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเอื้อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ ในตอนนี้เราโต 3-3.5% ก็ไม่ได้ผิดความคาดหมายอะไรไปมากนัก

กรอบ Inflation Targeting เป็นกรอบกระบวนการของการทำนโยบาย เป้าหมายเงินเฟ้อเป็นแค่ส่วนหนึ่งในกระบวนการ กรอบ Inflation Targeting ช่วยให้เกิดกระบวนการทำงานระหว่างธนาคารกลางและภาครัฐที่ชัดเจน ในแง่ของเป้าหมายนโยบายการเงิน เราต้องตกลงเป้าหมายเงินเฟ้อ ต้องเปิดเผยประมาณการ แล้วถ้าไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ก็ต้องเปิดเผยเหตุผลและแนวทางแก้ไขต่อไป

ประเทศไทยเราโชคดีกว่าหลายประเทศ เพราะเราไม่เคยมี Hyper-Inflation หรือเงินเฟ้อสูงมากๆ ในประเทศอื่นที่มี Inflation สูงมากๆ จะสร้างปัญหาต่อการเจริญเติบโตในระยะยาว รวมถึงมีผลต่อการจัดสรรทรัพยากรในประเทศอย่างมาก เพราะจะมีคนบางส่วนที่ได้รับความเดือดร้อน อย่างเช่นพวกคนแก่ที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยเงินออม เมื่อเงินเฟ้อสูงมาก พวกเขาก็อยู่ไม่ไหว แม้กระทั่งภาคธุรกิจเองก็ดำเนินธุรกิจไปไม่ไหว เราจึงต้องสร้างความมั่นใจให้ได้ ว่าประเทศของเรามีธนาคารกลางที่มั่นคงในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา และจะคอยดูแลป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้เงินเก็บของเราไม่เสื่อมค่าลงไป คนในสังคมก็ต้องมีความคาดหวังที่ถูกต้อง ว่าเงินเฟ้อควรจะอยู่ในระดับที่พอเหมาะเท่านั้น ถ้าปล่อยให้เงินเฟ้อสูงขึ้นจนประชาชนคิดว่าเงินเฟ้อจะปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ก็จะเกิดปัญหาต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และปัญหาสังคมในระยะยาว

ถ้าจะลองดูกรอบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ Inflation Targeting ก็จะมี เช่น กรอบ Exchange Rate Targeting ที่ใช้กันในบางประเทศ อย่างเช่นสิงคโปร์ เพราะเขาเป็นประเทศขนาดเล็ก และมีระบบเศรษฐกิจที่เปิดมาก เขาจึงเลือกใช้กรอบนโยบายแบบนั้น เพื่อให้ส่งผลต่อมาถึง Inflation แต่สำหรับประเทศเรา ถ้าใช้ Exchange Rate Targeting จะยากมาก เพราะอัตราแลกเปลี่ยนของเรา ถูกกำหนดโดยปัจจัยภายนอกเป็นส่วนใหญ่ เป็นปัจจัยที่เราควบคุมเองไม่ได้ การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องของปัจจัยภายนอก เช่น FED จะขึ้นหรือจะลดดอกเบี้ย ถ้า FED จะขึ้นดอกเบี้ย เงินไหลออก ค่าเงินเราก็จะอ่อนลง Exchange Rate Targeting จะทำได้ยากในทางปฏิบัติ ประชาชนทั่วไปก็จะโยงผลกระทบของ Exchange Rate Targeting กับชีวิตประจำวันของพวกเขาได้ยาก ในขณะที่ Inflation นั้นเกี่ยวโยงกับทุกอย่างในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าคุณจะเจรจาเงินเดือน ขึ้นค่าแรง ราคาข้าวของ ค่าครองชีพ พวกนี้ Inflation เข้าไปเกี่ยวข้องชัดเจนทั้งหมด

กรอบอื่นๆ ที่เมื่อก่อนนิยมใช้กัน อย่าง Credit Growth Targeting คือไปดูที่การขยายตัวของสินเชื่อ พอมาในยุคนี้ โครงสร้างความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆ ทางการเงินก็เปลี่ยนไป ระบบการเงินเปิดเสรีมากขึ้น ก็ทำได้ยาก หรือมาล่าสุดเริ่มมีคนพูดถึงกรอบใหม่ คือ Nominal GDP Targeting โดยใช้ Inflation ไปบวกกับ Growth แต่ตอนนี้ยังไม่มีประเทศไหนนำกรอบนี้ไปใช้ ยังเป็นเรื่องทางทฤษฎีเท่านั้น ถ้าเราจะทำนโยบายการเงิน สิ่งสำคัญที่สุดคือเราจะทำอย่างไรให้ผู้คนเชื่อมั่นว่าเราจะคอยดูแลป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อสูง ถ้าสร้างความเชื่อมั่นนี้ได้ การทำนโยบายการเงินก็จะมีความยืดหยุ่นได้มากขึ้นด้วย

GM : ในปัจจุบัน เป้าหมาย Inflation ของประเทศเรา อยู่ที่ประมาณ 2-3% แต่ช่วงปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันผันผวนมากในทางลบ ทำให้การทำนโยบายการเงินของเรายากขึ้นไหม

ดร.วิรไท : เป็นปัญหาของทุกประเทศทั่วโลกตอนนี้ เพราะว่านโยบายการเงินเป็น Demand Management Policy คือนโยบายการบริหารจัดการด้านอุปสงค์ ทีนี้พอเกิดสถานการณ์ช็อกทางด้านอุปทาน หรือ Supply การที่ราคาน้ำมันลดลงไปต่ำมากๆ ตรงนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเรื่องเสียหาย ผมจำที่รัฐมนตรีท่านหนึ่งของประเทศสเปน เคยพูดไว้ว่า คอเลสเตอรอลก็มีทั้งแบบดีและเลว เงินเฟ้อติดลบก็เป็นเช่นเดียวกัน มันมีข้างที่ดีและข้างที่เลว เงินเฟ้อติดลบจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตอนนี้มันดีกับกระเป๋าของผู้บริโภค และต้นทุนของหลายธุรกิจ

GM : ถ้าไม่ใช่เรื่องกรอบนโยบายการเงิน ในยุคของคุณ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง

ดร.วิรไท : สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด วัฏจักรเศรษฐกิจในยุคนี้สั้นลง แคบลง เมื่อก่อนเราจะพอมองเห็นทิศทาง มีสัญญาณมาก่อนว่าจะเป็นขาขึ้นหรือขาลง ในช่วงอีก 1-2 ปีข้างหน้า แต่ทุกวันนี้ทุกอย่างสั้นลง ใครจะคาดคิดว่าราคาน้ำมันจะต่ำลงมาได้ถึงขนาดนี้ ขนาดเมื่อปีที่แล้ว ราคา 40-50 เหรียญต่อบาร์เรล ว่าต่ำสุดแล้ว

พอมาวันนี้ต่ำลงกว่านั้นอีก นอกจากนั้น เศรษฐกิจและระบบการเงินก็เชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น

สิ่งสำคัญที่สุด ก็คือการวิเคราะห์ข้อมูล ต้องช่วยให้การทำนโยบาย Responsive มากขึ้น คือต้องรวดเร็วเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง เราต้องทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ ได้เร็วขึ้น เราต้องทำความเข้าใจ Microfoundations เรื่องจุลภาค เรื่อง Supply Side ในยุคก่อนๆ ธนาคารกลางมักจะสนใจเรื่องมหภาค และเรื่อง Demand Side แต่ในยุคข้างหน้าจะไม่พอ

สิ่งต่อมาคือวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับบริการทางการเงิน เรามีบริการรูปแบบใหม่ๆ ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีเป็นความรู้สำคัญที่ธนาคารกลางจะต้องมี นอกจากนี้เราสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลมากมายมาจากบริการทางการเงินใหม่ๆ มาสร้างเป็น Big Data และนำมาวิเคราะห์สถานการณ์ทางเศรษฐกิจได้อย่างทันท่วงที การตัดสินใจนโยบายทางเศรษฐกิจจะต้องตั้งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงที่ทันต่อสถานการณ์

ในวิชาเศรษฐศาสตร์ Microfoundations หมายถึงการวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์จุลภาค พฤติกรรมของปัจเจกแต่ละคน แต่ละหน่วยย่อย แต่ละครัวเรือน – เรียบเรียงจากวิกิพีเดีย

GM : เรื่องฐานข้อมูลที่อัพเดทและรวดเร็ว นับเป็นจุดอ่อนของภาครัฐบ้านเรามาโดยตลอดอยู่แล้ว เทียบกับ FED ที่ในแต่ละเดือนจะมีข้อมูลต่างๆ เผยแพร่ออกมา แล้วพวกนักวิเคราะห์จากทั่วโลกก็ได้นำไปใช้งานกันอย่างกว้างขวาง มาถึงวันนี้ ถ้าประเทศเราต้องการเก็บข้อมูลกันในระดับจุลภาค และเก็บข้อมูลมากมายจากบริการใหม่ๆ เราจะทำได้หรือ

ดร.วิรไท : ก็มีบางอย่างที่ค่อยๆ เริ่มพัฒนาขึ้นมาบ้างแล้ว โดยอาศัยข้อมูลจากแหล่งใหม่ๆ เช่นจากอินเทอร์เน็ต เราเริ่มเก็บสะสมข้อมูลโฆษณาการขายใบจองคอนโดฯ หมู่บ้านจัดสรร ดูแนวโน้มว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร เพื่อจะได้เป็นตัวชี้วัดสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ตัวหนึ่งได้ นอกจากนี้ เรามีฐานข้อมูลสินเชื่อ SME จากทุกธนาคารอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาเรายังไม่ได้นำข้อมูลนี้มาบริหารอย่างเป็นระบบ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เราจับชีพจรของ SME ไทยได้ชัดเจนขึ้น เรามีฐานข้อมูลระบบการชำระเงิน ข้อมูล BAHTNET การโอนเงิน ฐานข้อมูลเช็คที่ต้องมาเคลียริ่งผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย พวกนี้เป็นฐานข้อมูลใหญ่ที่เราจะใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นในอนาคต

GM : การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หันมาให้ความสนใจกับ Microfoundations จะทำให้ประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย ภาคครัวเรือน และคนชนบท เข้าถึงการบริการของสถาบันการเงินได้มากขึ้นบ้างไหม ทุกวันนี้มีบางคนมองว่าเราแบ่งกันอย่างชัดเจนเลย คนในชนบทก็พึ่งพาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ในขณะที่คนเมืองใหญ่ถึงจะได้ใช้บริการของธนาคารพาณิชย์ หลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในอเมริกา คนยิ่งหันมาเพ่งเล็งการทำงานของสถาบันการเงินกันมากขึ้น ว่าเอารัดเอาเปรียบด้วยการมี Spread ที่มากเกินไป และมีค่าธรรมเนียมต่างๆ สูงเกินไป

ดร.วิรไท : ผมให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นธรรมในสังคม และได้ฝากโจทย์ให้ธนาคารพาณิชย์ได้นำไปคิดต่อ อย่างเรื่องค่าธรรมเนียมที่มีความบิดเบี้ยวอยู่มาก เราเสียค่าธรรมเนียมบริการทางอิเล็กทรอนิกส์มากเกินไป ทั้งที่บริการพวกนี้มีต้นทุนต่ำมาก เรื่องพวกนี้มีความบิดเบี้ยวมายาวนาน เพราะสถาบันการเงินลงทุนในระบบเอทีเอ็ม ระบบสาขา ระบบเคลียริ่งเช็ค ซึ่งเป็นการลงทุนสูงในอดีต แต่ที่ผ่านมา ผู้บริโภคจ่ายค่าธรรมเนียมบริการเงินสด บริการเอกสารพวกนี้ต่ำมาก พอธนาคารในยุคนี้เขามีบริการอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา เขาก็หาค่าธรรมเนียมจากบริการใหม่ๆ เหล่านี้ไปชดเชยต้นทุนบริการเก่าๆ ของเขาที่ไม่คิดค่าบริการ หรือคิดต่ำกว่าต้นทุน บริการอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ พวกนี้ต้นทุนต่ำมาก และคืออนาคต เราต้องการย้ายคนไปใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ต้องมีการปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม นอกจากนี้ ผมอยากเห็นบริการทางการเงินที่เป็น Public Goods คือบริการขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปิดบัญชี การโอนเงินแค่ไม่กี่ครั้งต่อเดือน สำหรับประชาชนระดับฐานราก พวกนี้จะต้องมีค่าธรรมเนียมต่ำมากๆ

ปัญหาอื่นๆ ที่คุณถามมาเมื่อสักครู่ ผมคิดว่ามันคืออาการที่ปลายทาง สิ่งสำคัญที่ต้องมองคือระบบนิเวศโดยรวม อย่างเรื่องที่บอกว่า SMEs กู้ดอกเบี้ยแพง หรือกู้ไม่ได้เลย แน่นอนว่าส่วนหนึ่งโยงไปในเรื่องอำนาจต่อรองของประชาชน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องระบบข้อมูล บัญชีของ SMEs ไม่ได้มาตรฐาน เราต้องยอมรับว่าตอนนี้หลักประกันบางประเภทบังคับหลักประกันไม่ได้ เช่นพวกเครื่องจักรที่เมื่อผ่านกระบวนการบังคับคดีจะมีมูลค่าต่ำมาก สถาบันการเงินก็ต้องคิดค่าความเสี่ยงสูง หรืออย่างสินค้าเกษตรซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากของประเทศเรา เรายังไม่มีกฎหมายหลักประกันสินค้าเกษตร ที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับรูปแบบการทำธุรกิจ ดังนั้น ถ้าธุรกิจการเกษตรจะมาขอกู้ เขาก็ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงอยู่ เราก็ต้องไปพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ต้องช่วยกันแก้ไขระบบนิเวศของการปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งกรอบกฎหมาย

GM : วินมอเตอร์ไซค์ทุกคนก็บอกเสื้อวินของเขามีมูลค่านะ

ดร.วิรไท : ใช่ครับ กฎหมายหลักประกันใหม่ออกมาแล้ว แต่ก็ยังขาดกลไกที่เป็นองค์ประกอบ เช่น การตีราคา ใครจะมาตีราคาธุรกิจ นี่คือการสร้างระบบนิเวศขึ้นมา และเรากำลังพยายามร่วมกันทำ นอกจากนี้ เรื่องข้อมูลที่ครบถ้วนก็สำคัญ ที่ผ่านมาเครดิตบูโรช่วยเราได้เยอะในเรื่องนี้ ในอนาคตถ้าเราสามารถกำหนดให้บัญชีที่ใช้เสียภาษีเป็นบัญชีหลักของธุรกิจ สถาบันการเงินก็ใช้บัญชีนั้นในการพิจารณาสินเชื่อได้ อันนี้ก็มีผลดีต่อ SMEs ด้วย สถาบันการเงินก็จะทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะโดยทั่วไป SMEs แนวโน้มว่าอยากจะเสียภาษีน้อยๆ อยู่แล้ว ถ้าบัญชีที่คุณใช้เสียภาษีนั้นยังมีกำไร มีความสามารถในการชำระเงิน ก็เอาไปกู้เงินได้เลย กระบวนการพิจารณาสินเชื่อจะง่ายขึ้นมาก นี่ก็คือการแก้ปัญหาพร้อมกันทั้งระบบนิเวศ ลดปัญหาเรื่อง Asymmetric Information ลงได้ แต่ละหน่วยงานก็จะมีข้อมูลตรงกัน ต้องช่วยกันแก้ไขทั้งระบบ กระทรวงพาณิชย์ก็เดินหน้าทำเรื่องกฎหมายหลักประกัน กระทรวงยุติธรรมก็ทำเรื่องบังคับคดี กระทรวงการคลังก็ทำเรื่องบัญชีภาษี ส่วนเราธนาคารแห่งประเทศไทยก็ทำเรื่องฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เราส่งเสริมให้มีเครดิตการันตี สร้างระบบคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน สร้างเป็นระบบนิเวศ

GM : เพราะว่ากฎหมายของเรามีเพดานดอกเบี้ยด้วยหรือเปล่า จึงทำให้ผู้คนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้ ต้องออกไปนอกระบบ

ดร.วิรไท : เรามีสถาบันการเงินบางประเภทเกิดขึ้นมา เช่น นาโนไฟแนนซ์ เพอร์ซันนอลโลน พวกนี้ก็สามารถเก็บได้เกินเพดานดอกเบี้ย มันจะมีปัญหาเกิดขึ้นถ้าเราเปิดเสรีเป็นการทั่วไป มันก็จะเกิดการตามหนี้แบบแปลกๆ ควบคุมไม่ได้ เกิดปัญหาความเป็นธรรม การคุ้มครองผู้บริโภค ทุกวันนี้พวกใบอนุญาตที่เราให้ไปก็ไม่ได้มีการจำกัดจำนวน ใครที่มีคุณสมบัติครบก็สามารถมาขอได้ เพียงแต่ต้องมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเรา

GM : ถ้าเราดูตัวอย่างในต่างประเทศ พวกไมโครไฟแนนซ์เขาเก็บดอกเบี้ยกัน 40-50% ได้เลย

ดร.วิรไท : แต่ในเมืองไทยเราต้องถึงขนาดนั้นหรือเปล่า ผู้คนในบ้านเรายังมีหนทางที่จะเข้าถึงสินเชื่อที่ต้นทุนไม่ต้องสูงถึงขนาดนั้น เรายังมีธนาคารออมสิน สินเชื่อชุมชนตอนนี้ก็ดอกเบี้ย 20% ต้นๆ เรายังมีทางเลือกอื่นๆ อีกมาก นอกจากนี้รัฐบาลก็ส่งเสริมกองทุนหมู่บ้าน สินเชื่อวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริม SFI ให้ดึงประชาชนที่ต้องการกู้เงินเข้ามาสู่ในระบบมากขึ้น

GM : ตอนนี้ตัวเลขเงินกู้นอกระบบในบ้านเราเป็นอย่างไร มันเพิ่มขึ้นหรือลดลงในช่วงปีที่ผ่านมา

ดร.วิรไท : ถ้าเป็นนอกระบบ ก็คงไม่มีใครมีตัวเลขจริงๆ หรอกครับ แต่เท่าที่ผมเคยพูดคุยกับผู้คนในพื้นที่ชนบทที่ไปทำงาน ผมเห็นชัดว่าเขามีทางเลือกมากขึ้น เขามีช่องทางกลับเข้ามาสู่ในระบบที่มีดอกเบี้ยถูกกว่า

GM : วิธีหนึ่งในการช่วยให้คนในสังคมเข้าถึงบริการทางการเงินหรือ Financial Access มากขึ้น ก็คือการเพิ่มบริการแนวอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งวันนี้เป็นกระแสโลก ในอดีตเวลาธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการกำกับดูแล ก็จะเข้าไปดูในระดับสถาบันการเงิน การให้ใบอนุญาตต่างๆ แต่เข้าใจว่าตอนนี้ กฎหมายใหม่เกี่ยวกับระบบ E-Payment System ธนาคารแห่งประเทศไทยก็เข้ามากำกับระบบนี้ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นแค่ธนาคารเท่านั้นแล้ว คุณมองว่านี่คืองานของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ขยายออกไปมากขึ้น คือนอกจากจะดูแลสถาบันการเงิน ยังดูแลบริการทางการเงินด้วย และมันจะมีมิติใหม่ของการเพิ่ม Financial Access หรือเปล่า

ดร.วิรไท : ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตประการหนึ่ง คือเมื่อก่อนเวลาเราพูดถึง Financial Inclusion เรามักจะคิดว่ามันคือ Access to Credit เป็นหลัก ซึ่งถ้าลองดูในภาพใหญ่ Financial Access ยังมีอีกหลายมิติ แล้วการที่พวกเรามองเฉพาะที่เรื่อง Access to Credit นี่หรือเปล่าที่อาจจะทำให้เรากำลังมีปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน ในขณะที่เรายังไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการบริหารเงิน เปรียบเทียบกับอีกหลายๆ ประเทศ เขาไปมองกันที่เรื่อง Access to Payment ว่าเป็นเรื่องสำคัญ และควรไปเริ่มต้นจากตรงนั้น ในวันนี้ ก็ต้องยอมรับว่าเรามีปัญหาเรื่อง Access to Payment กันอยู่ จึงต้องลุกขึ้นมาทำ National Payment Roadmap นอกจากนี้ ยังมี Access to Deposit Account หรือ Access to Saving ถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่มีปัญหามากเท่าประเทศอื่น กว่าร้อยละ 80 ของประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ของเรา มีบัญชีธนาคารกันแล้ว เพราะพวก SFI ทั้งหลายเข้าไปเปิดให้ แต่เราก็ยังมี Access to Financial Products อื่นๆ น้อยอยู่ พวกที่เป็นการออมระยะยาวของเรายังมีน้อยอยู่ Access to Insurance ก็ยังน้อยอยู่ ซึ่งจะช่วยบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการประกันพืชผล ประกันภัย ประกันสุขภาพ แล้วสุดท้ายเราก็ค่อยกลับมาดู Access to Credit

ในบางประเทศเขาถือว่าถ้าจะจัดลำดับ เขาอยากให้มี Access to Payment เสียก่อน แล้วต่อด้วย Access to Deposit แล้วค่อยตามมาด้วย Access to Credit และสุดท้ายจึงเป็น Access to Insurance ในขณะที่บ้านเราเน้นกันที่ Access to Credit เป็นหลัก จึงนำไปสู่ผลข้างเคียงเยอะ

GM : เรื่องหนี้ครัวเรือน ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาอย่างไร และตอนนี้ระเบียบใหม่ที่กำลังจะออกมา ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องไปกำกับดูแลธนาคารของรัฐด้วย จะยิ่งช่วยแก้ปัญหาได้ดีขึ้นหรือเปล่า

ดร.วิรไท : เรื่องหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องที่น่ากังวล ทำให้เกิดความเปราะบาง เมื่อระดับครัวเรือนต้องเผชิญกับความผันผวน แล้วกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของเขา ในภาพใหญ่ จะทำให้ภาคการบริโภคภายในประเทศ ไม่สามารถเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ที่ผ่านมา เราเคยมีบางนโยบายที่ไปส่งเสริมให้ประชาชนก่อสินเชื่อมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนเร่งตัวเร็วขึ้นมาก ชัดเจนว่าเราไม่ควรพึ่งนโยบายแบบนี้อีกต่อไปแล้ว ไม่ควรเน้นนโยบายที่อัดสินเชื่อลงไปในระดับครัวเรือน เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ และนโยบายแบบนี้ ถึงแม้จะทำอีก ก็ไม่ค่อยจะมีประสิทธิผล เหมือนอย่างในช่วงที่ผ่านมา เพราะระดับหนี้ครัวเรือนอยู่สูง จะทำให้เกิดความเปราะบางให้กับระบบเศรษฐกิจ และส่งผลทางด้านสังคมค่อนข้างมาก

การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ต้องเป็นการแก้แบบระยะยาว คือต้องสร้าง Financial Literacy คือการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการบริหารเงิน นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยถือเป็นพันธกิจสำคัญที่ต้องทำ เป็นทักษะชีวิตที่เราทุกคนต้องเรียนรู้ ถ้าไม่มีใครทำอะไรจริงจังในเรื่องนี้ ก็จะเกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนไปเรื่อยๆ กระทบต่อไปยังการออมของประเทศ กระทบต่อเสถียรภาพของประเทศ ผมถือว่า Financial Literacy คือเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของประเทศ

เรื่อง SFI ที่คุณถามถึงว่าเรากำลังจะเข้าไปมีบทบาทในการกำกับดูแล ต้องขออธิบายว่า SFI มีผู้เกี่ยวข้องอยู่ 4 ส่วน คือ ผู้ที่เป็นเจ้าของ (Owner) ผู้กำหนดนโยบาย (Policy Maker) ผู้ดำเนินกิจการ (Operator) และผู้กำกับดูแล (Regulator) ถ้าเราจะสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาล เราต้องแน่ใจว่าทั้ง 4 ส่วนนี้ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุด เจ้าของและผู้กำหนดนโยบายในตอนนี้คือกระทรวงการคลัง โดยที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำกับดูแล จะต้องทำให้แน่ใจว่า SFI เหล่านี้่จะบริหารจัดการได้ดี เพื่อความยั่งยืนขององค์กรของเขาในระยะยาว

GM : เราจะนำกฎระเบียบต่างๆ แบบเดียวกับที่ใช้อยู่กับธนาคารพาณิชย์หรือเปล่า

ดร.วิรไท : เราใช้หลักคิดเดียวกัน เพียงแต่ SFI มีความแตกต่างออกไป อย่างเช่น SFI บางแห่งไม่ได้รับเงินฝาก SFI บางแห่งปล่อยสินเชื่อเฉพาะประเภท เราอาจจะใช้แค่หลัก Basel II สัดส่วนเงินกองทุนก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในระดับเดียวกับธนาคารพาณิชย์ เพราะเขามีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่วิธีคิดเรื่องความเสี่ยง การบริหารความเสี่ยง กระบวนการสินเชื่อ การบริหารสภาพคล่อง หลักคิดพวกนี้เราจะเอามาใช้ แต่จำเป็นจะต้องสัดส่วนเดียวกันหรือเปล่า เปอร์เซ็นต์เท่ากันหรือเปล่า อันนี้ผมว่าไม่จำเป็น เพียงแต่เราใช้หลักคิดเดียวกัน

Basel II กล่าวถึงการนำข้อมูลต่างๆ ของพอร์ตสินเชื่อในระดับที่ละเอียดพอสมควรจากสถาบันการเงิน มาประมวลผลเพื่อประมาณระดับความเสี่ยงด้วยวิธี

(ซึ่งสามารถสะท้อนความเป็นจริงได้ดีในระดับหนึ่ง) ที่สถาบันการเงินต่างๆ สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง และนำผลลัพธ์ดังกล่าวมากำหนดเงินกองทุนสำหรับรองรับ

ความเสี่ยงดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม – จากบทความ Basel II คืออะไร และดีกว่าวิธีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอย่างไร? โดย บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ – ประชาชาติธุรกิจ

– 25 มิถุนายน พ.ศ. 2550

GM : ระเบียบในทางปฏิบัติ เราจะทำได้จริงแค่ไหน เพราะใครๆ ก็รู้ว่าสถาบันการเงินของรัฐ ก็คือเครื่องมือทางนโยบายของรัฐ

ดร.วิรไท : ต้องทำให้เกิดความโปร่งใส นี่ก็เป็นกรอบการปฏิรูปกลไกกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจโดยรวม กฎหมายที่จะออกมาใหม่เพื่อสร้างระบบกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ก็จะครอบคลุมไปถึง SFI ด้วย กฎหมายฉบับนี้จะนำไปสู่การตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติเป็น Superholding และยกระดับ Governance Structure

ของรัฐวิสาหกิจ ยกตัวอย่างเช่น ถ้ารัฐบาลมีนโยบายให้รัฐวิสาหกิจทำเรื่องที่อยู่นอกเหนือจากพันธกิจหลัก ก็ต้องทำกรอบกติกาให้ชัดเจน ต้องทำ Public Service Account ต้องไม่เป็นนโยบายที่สร้างต้นทุนแบบปลายเปิด คือต้องคิดต้นทุนอย่างครบถ้วนล่วงหน้าตั้งแต่วันที่มีมติ ครม. รองรับว่าจะชดใช้เท่าไร หรือการแต่งตั้งคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ รวมถึง SFI ที่ผ่านมา มักจะลอยมาจากการเมือง ถ้าเราเชื่อในระบบการบริหารจัดการองค์กร คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจมีความสำคัญที่สุดในการวางนโยบายและกำกับดูแลองค์กร ดังนั้น เราต้อง Empower คณะกรรมการเหล่านี้ เราต้องมั่นใจว่าคณะกรรมการมีความสามารถ เป็นกันชน กันการแทรกแซงที่ไม่ชอบ หลักการตั้งคณะกรรมการที่ดี ก็ต้องไปดูตัวอย่างของบริษัทจดทะเบียน คือ ต้องเริ่มมาจากความต้องการของบริษัท เริ่มจากคุณสมบัติของตัวกรรมการตามที่บริษัทต้องการ มี Board Matrix ชัดเจนว่าต้องการคุณสมบัติแบบไหน แล้วก็ผ่านกระบวนการสรรหา ตั้ง Short List แล้วผู้มีอำนาจแต่งตั้งก็จะแต่งตั้งได้แค่จาก Short List  ที่เสนอเข้ามาเท่านั้น อย่างในกรณีของ SFI ต่อไปก็ต้องมาผ่านธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย ให้เราให้ความเห็นชอบ เหมือนกับการตั้งกรรมการธนาคารพาณิชย์ แล้วเราก็มีกลไกที่จะเข้าไปหยุดยั้งการทำงานได้ ถ้ารัฐบาลสั่งให้ผู้บริหาร SFI ทำอะไรที่นอกเหนือจากพันธกิจและจะทำให้เกิดความเสียหาย นี่คือการสร้างระบบที่ทัดทานอำนาจกันอยู่ ในกรณีของรัฐวิสาหกิจอื่นๆ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) จะสามารถเข้าไปสั่งให้หยุดนโยบายที่เกิดผลเสียระยะยาวได้ และภายใน คนร. จะมีนักการเมืองอยู่เพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น

คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ดบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือ ซูเปอร์โฮลดิ้ง ผู้ควบคุมรัฐวิสาหกิจ

GM : กลับไปสู่ประเด็นที่เราเคยคุยกันในการสัมภาษณ์เมื่อครั้งที่แล้ว ว่ากฎหมายที่นำไปสู่การปฏิรูป มักจะออกมาในช่วงที่ประเทศเราไม่มีประชาธิปไตย เราเคยคุยกันว่า กฎหมาย ธปท. ที่ให้ความเป็นอิสระในการทำงานแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยเอง ก็เกิดขึ้นมาในยุคของ คมช. [แต่กฎหมายแย่ๆ ก็เช่นเดียวกัน]

ดร.วิรไท : ถ้าเราผลักดันกฎหมายที่ดีออกไปได้ มันจะอยู่ต่อไป ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะเข้ามา เหมือนอย่างกฎหมายอำนวยความสะดวกของภาครัฐ ที่ได้สร้างมาตรฐานใหม่ของการทำงานของภาครัฐขึ้นมา ต่อไปเป็นหน้าที่ที่ประชาชนต้องคอยจับตาให้หน่วยงานทำตามกฎหมาย มีกฎหมายที่ดีอีกฉบับหนึ่งที่ TDRI เสนอให้ห้ามการโฆษณาของหน่วยงานของรัฐ เป็นการหยุดการโฆษณาตัวเองของพวกผู้มีอำนาจ ประเภทที่เอารูปตัวเองไปแขวนอยู่บนป้ายตามทางด่วน งบโฆษณาที่หน่วยงานของรัฐจะใช้ ต้องแสดงให้เห็นชัดเจนว่าประชาชนได้อะไรจากการใช้งบนั้น หรือกฎหมายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ถ้าออกมาได้ก็จะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ของประเทศเราเลย กฎหมายการเงินและการคลัง เรื่องวินัยทางการคลัง ถ้าออกมาได้ก็จะสร้างความชัดเจน ปิดช่องโหว่ของการทำนโยบายแบบปลายเปิด จำกัดการลงทุนที่จะส่งผลเสีย ก่อให้เกิด Contingent Liability

ตอนนี้กฎหมายที่ออกมาแล้ว ก็เช่นกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ กฎหมาย Class Action ซึ่งเรารอกันมาเป็นสิบปี ช่วงแรกๆ อาจจะยังไม่เห็นว่ามีผลดีอย่างไร เพราะมันเป็นกฎหมายใหญ่ที่จะเข้าไป Fine Tuning ในระบบ อีกกฎหมายที่ผมอยากจะเห็น คือกฎหมายที่จะตั้งกรมราง เอารางรถไฟออกมาจากการรถไฟ ให้รางเป็นของรัฐบาล รัฐบาลลงทุนสร้างรางแบบทางหลวง เปิดให้มีผู้ประกอบการเอกชนเข้ามาเป็นผู้เดินรถไฟ แข่งกับการรถไฟแห่งประเทศไทย เพราะทุกวันนี้

ระบบรางยัง Under Utilized มาก ไม่ได้เอาไปทำประโยชน์ให้คุ้มค่า ผมก็อยากให้มีกฎหมายดีๆ ออกมาให้ได้ในช่วงนี้ มีอีกหลายกฎหมายที่ควรต้องเร่งแก้ไข เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท ที่ปัจจุบันทำให้คนไม่กล้าตรวจสอบผู้มีอำนาจ กฎหมายข้อมูลข่าวสารของรัฐ กฎหมายเพื่อปฏิรูประบบราชการ

GM : อยากจะขอย้อนกลับไปในเรื่องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เมื่อกฎหมายตอนนี้ออกมาว่าให้ตั้งซูเปอร์โฮลดิ้งขึ้นมาแล้ว ตัวซูเปอร์โฮลดิ้งจะมีความโปร่งใสอย่างไร

ดร.วิรไท : สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ Disclosure อย่างตัว ซูเปอร์โฮลดิ้ง ต้องเปิดเผยหลายอย่างออกมาให้ชัดเจน รวมไปถึงการทำ Statement of Direction ของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง การแยกบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน ใครทำอะไร และทำอย่างโปร่งใส นี่คือหัวใจ สื่อมวลชน ภาคประชาชน ประชาสังคม ก็ต้องมาวิเคราะห์ติดตามให้คนที่มีหน้าที่ได้ทำงานอย่างโปร่งใส

GM : สหกรณ์ออมทรัพย์ มาถึงตอนนี้มีธุรกรรมซับซ้อนและขยายใหญ่โตมาก ทำไมธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เข้าไปจัดการ

ดร.วิรไท : ธนาคารแห่งประเทศไทยคงไม่มีความสามารถมากพอจะเข้าไปกำกับดูแล สหกรณ์ออมทรัพย์มีจำนวนมาก วันนี้มีทรัพย์สินประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท ตอนนี้ก็เห็นว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลมีแนวคิดที่จะปฏิรูป เราก็ต้องเห็นใจหน่วยงานที่กำลังทำงานตรงนี้อยู่ เขาถูกจำกัดโดยขอบเขตหน้าที่ตามกฎหมาย กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ก็มีหน้าที่แค่เพียงตรวจบัญชี คือตามไล่หลังไป ส่วนกรมส่งเสริมสหกรณ์ก็มีหน้าที่ส่งเสริม เขาพยายามเสนอจะทำงานกำกับดูแล แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะหน้าที่ตามกฎหมายคือการส่งเสริม ทุกวันนี้ก็กำลังแก้กฎหมายกันอยู่ เพื่อให้กรมส่งเสริมมีหน้าที่เข้าไปกำกับดูแลด้วย โจทย์ใหญ่มากก็คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ดีๆ นั้นมีเยอะมาก พวกเขาทำงานกันแบบมืออาชีพจริงๆ แต่วันนี้เราแยกไม่ออกระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ดีกับที่อ่อนแอ ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาก็จะทำให้เกิดปัญหาลูกโซ่ได้ เพราะมีการปล่อยกู้ข้ามกันไป ทุกวันนี้เราเห็นพฤติกรรม Search for Yield คือผู้คนมองหาผลตอบแทนสูงสุด คนมีความคาดหวังผิดๆ ว่าสหกรณ์ออมทรัพย์จะต้องรับประกัน Yield สูงให้กับสมาชิก แล้วพวกเขาก็เลยต้องเอาเงินไปลงทุนในตราสารหรือไปปล่อยกู้ต่อในลักษณะที่เสี่ยงสูงขึ้น ตอนแรกก็ปล่อยกู้ให้สมาชิก ต่อมาก็ปล่อยกู้ให้สมาชิกสมทบ แล้วก็ไปปล่อยกู้ให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ด้วยกันเอง หรือไปปล่อยกู้ให้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนบางแห่ง แล้วในที่สุดก็เกิดความเสียหาย พวกนี้แหละที่ต้องมีใครเข้าไปกำกับดูแลใกล้ชิด

ธนาคารแห่งประเทศไทยก็เข้าไปช่วยทำ Course ให้ความรู้กับผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบสหกรณ์ เราทำมาตรฐานบางอย่างให้เอาไปประยุกต์ใช้ได้ เราส่งเสริมให้สหกรณ์ออมทรัพย์มาเป็นสมาชิกเครดิตบูโร เพราะมันมีความเชื่อมโยงระหว่างลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์กับลูกหนี้สถาบันการเงิน สำหรับประเทศโดยรวมแล้ว เราควรจะรู้ตัวเลขการปล่อยกู้จริงๆ อย่างครบถ้วน รอบด้าน ไม่ว่าจะทางฝ่ายไหน เราควรรู้

GM : เราพูดกันมาเยอะในเรื่องกฎหมายดีๆ แต่ปัญหาจริงๆ ของประเทศเรานี่คือการนำกฎหมายไปใช้และการบังคับใช้กฎหมาย แม้กระทั่งประชาชน ถ้าคิดว่าโอเคแล้ว กฎหมายออกมาแล้วทุกอย่างจบ มันก็ไม่ใช่

ดร.วิรไท : ก็ต้องมีภาคประชาชนเข้ามาร่วมด้วย ติดตาม เกาะติดเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับชีวิตของเรา

Forecastingthe Future

GM : สถานการณ์ทางการเมืองในตอนนี้ ถือเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจแค่ไหน และธนาคารแห่งประเทศไทยนำไปเป็นตัวแปรในการประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์มากแค่ไหน

ดร.วิรไท : เรามองทุกความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เราเตรียมพร้อมกับความเสี่ยงต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ

GM : อย่างเช่นเรามีร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเข้าสู่กระบวนการทำประชามติ ประเด็นแบบนี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจเราอย่างไร

ดร.วิรไท : แน่นอนว่ามันมีผล ถ้าผ่านหรือถ้าไม่ผ่าน ถ้าการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยช้าออกไป จะส่งผลต่อการลงทุนในภาคเอกชนแน่ๆ ทุกคนกำลังรอความชัดเจนกันอยู่ และถ้ากำหนดเวลาไม่ชัดเจน เราจะไปคาดหวังว่าการลงทุนของภาคเอกชน จะกลับมาเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็เป็นไปได้ยาก เราคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้อยู่

GM : แล้วนอกจากการลงทุนของภาคเอกชน ตอนนี้เราก็รอการลงทุนของภาครัฐอยู่ มีหลายโครงการที่อาจจะดีเลย์ออกไปอีก เรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาทำอะไรได้บ้าง นโยบายการเงินทำอะไรได้บ้าง

ดร.วิรไท : ก็ต้องยอมรับว่า นโยบายการเงินที่เราทำได้นั้นมีช่องอยู่จำกัด การที่คณะกรรมการนโยบายการเงินตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายมา 6 ครั้งแล้ว ก็เพราะว่าเรามองเห็นความเสี่ยงที่รออยู่ ตอนนี้ที่เศรษฐกิจยังพอโตได้ร้อยละ 3-3.5 ก็ถือว่าประเทศเรารักษาโมเมนตัมไว้ได้ ก็เลยเก็บกระสุนไว้ เผื่อว่ามีสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยลบภายนอกเข้ามา เราไม่มี Policy Space เหลือมาก เราก็ยังอยากเห็นโครงการลงทุนใหญ่ๆ รัฐบาลลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยที่มีความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูล นี่จะเป็นหลักประกันสำคัญว่าโครงการเหล่านี้จะยังคงดำเนินต่อไปได้ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลอย่างไร แต่ถ้าเมื่อไรก็ตาม ที่โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมีความไม่ชัดเจน ไม่โปร่งใส พอเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที ก็มีโอกาสสูงมากที่โครงการเหล่านี้จะถูกทบทวน ซึ่งจะถือเป็นผลเสียต่อทั้งระบบเศรษฐกิจ แถมบางโครงการอาจกลายเป็น Sunk Cost หรือต้นทุนที่ต้อง Write-off ด้วยซ้ำไป

GM : การวิเคราะห์เศรษฐกิจและสังคมไทยแบบนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะทำผ่านงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นมาไม่นาน มากน้อยเพียงใด

ดร.วิรไท : หลักสำคัญอย่างหนึ่งของธนาคารกลาง คือเราต้องมีงานวิจัยเชิงลึกมากๆ การที่เรามีพนักงานที่ทำงานประจำไปด้วย ทำวิจัยไปด้วย แบบเมื่อก่อน เรายังไม่สามารถดึงดูดคนที่อยากทำงานวิจัยเป็นหลักให้เข้ามาร่วมงานด้วยได้ นอกจากนี้ งานประจำของพนักงานเราก็เยอะอยู่แล้ว ก็ไม่สามารถจะรักษาคุณภาพของงานวิจัย เรื่องนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เราตั้งสถาบันวิจัยฯ ขึ้น อีกเหตุผลหนึ่งก็คือการสร้างเครือข่ายนักวิจัยขึ้นมา อย่างที่บอกไปว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่สามารถทำนโยบายอย่างโดดเดี่ยวได้ เราก็ต้องมีพันธมิตร เข้าใจมุมมองอื่นๆ องค์ความรู้ในมิติต่างๆ ดังนั้น ในสถาบันวิจัยป๋วย จะไม่มีแค่พนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่จะมีอาจารย์มหาวิทยาลัย มีนักวิจัยจากต่างประเทศ เข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับวิชาเศรษฐศาสตร์ให้กับประเทศไทย สถาบันนี้จะผลิตงานวิจัยที่เน้นหนักอยู่ในประเด็นที่เป็นพันธกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องนโยบายการเงิน สถาบันการเงิน เศรษฐกิจมหภาค เพราะเราเองก็คงไม่มีความรู้และข้อมูลที่จะให้คนเข้ามาทำวิจัยเรื่องการเกษตรอะไรแบบนั้น

GM : มีงานวิจัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สนับสนุนให้ทุนกับ TDRI เรื่องปัญหากับดักของประเทศรายได้ปานกลาง หรือ Middle Income Trap พอได้งานวิจัยเรื่องนี้ออกมา แล้วธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหา Middle Income Trap ของประเทศไทยเราได้อย่างไร

ดร.วิรไท : เมื่อสองปีที่แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยจัด Symposium เรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อสร้างการรับรู้ถึงปัญหา ซึ่ง Middle Income Trap เป็นปัญหาต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาวถ้าเราไม่เริ่มต้นแก้ปัญหา แต่ก็ต้องยอมรับว่าหลายเรื่องนั้นเป็นนโยบายด้านอุปทาน ซึ่งเกินไปกว่า Mandate ของธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้น เท่าที่เราทำได้ก็คือการสร้างองค์ความรู้เหล่านี้ให้เกิดขึ้น ทำให้เกิดการรับรู้ เกิดความเห็นร่วม สำหรับบางเรื่องที่อยู่ภายใต้การทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย เราก็รับมาทำต่อ แต่ก็ไม่ใช่นโยบายโดยตรงจากงานวิจัยอันนั้น อย่างเช่น ความพยายามของเราที่จะทำ Payment System เพื่อลดต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงิน การสร้างฐานข้อมูลการเงินให้กับประเทศ เพื่อให้กระบวนการตัดสินใจอยู่บนข้อมูล ข้อเท็จจริง และรอบด้านมากขึ้น การส่งเสริมให้เกิดธุรกรรมทางการเงินประเภทใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยง การส่งเสริมให้เกิด Financial Technology เพื่อให้เกิด Access มากขึ้น การส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าประเทศกลุ่ม CLMV ตอนนี้สำคัญกับประเทศไทย มากกว่าที่ประเทศไทยสำคัญต่อ CLMV แล้วด้วยซ้ำ เขาเป็นตลาดใหญ่ มีศักยภาพในการเติบโตสูง นี่คือส่วนหนึ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีส่วนในการแก้ปัญหากับดักรายได้ปานกลาง ยังมีงานอีกหลายด้านที่ต้องทำ CLMV คือประเทศ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม

GM : แถลงการณ์ฉบับปลายปีที่แล้ว บอกว่าประเทศไทยเริ่มฟื้นตัว จริงๆ แล้วเศรษฐกิจของเราตอนนี้เป็นแบบนั้นจริงหรือ

ดร.วิรไท : แถลงการณ์ฉบับล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ คาดการณ์ว่า GDP ปีนี้จะโต 3.5% ในแต่ละปี เราปรับประมาณการ 4 ครั้ง ตัวเลขนี้คือประมาณการตั้งแต่เดือนธันวาคม เรามีความเสี่ยงด้านลบอยู่เยอะมากตั้งแต่ต้นปี เราก็จะปรับประมาณการอีกครั้งในเดือนมีนาคม

GM : ในแถลงการณ์เหล่านี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ลดโทนน้ำเสียงตัวเอง และทำให้คนไทยเรามองโลกในแง่ดีกว่าที่เป็นอยู่จริงหรือเปล่า

ดร.วิรไท : ไม่ครับ เราไม่มีเหตุผลอะไรจะต้องพูดให้ดูดีกว่าที่เป็นจริง ถ้าคุณดูสถานการณ์ตอนนี้ จะเห็นว่าโมเมนตัมของการฟื้นตัวยังมีอยู่ต่อเนื่อง เพียงแต่มันเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และมันไม่กระจายตัว ในช่วงที่กำลังฟื้นตัวลักษณะนี้ คนบางภาคส่วนจะรู้สึกว่า เอ๊ะ! มันไม่เห็นดีเลย มันแย่ลงด้วยซ้ำไป แต่ถ้าดูในภาพรวมทั้งหมด จะเห็นว่ามันเริ่มฟื้นตัว สาเหตุที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น ก็เพราะภาคการเกษตรของเรา คิดเป็น GDP ประมาณแค่ 10% ของทั้งหมด แต่มีประชากรในอาชีพเกษตรมากถึงหลายสิบล้านคน ตอนนี้คนในภาคการเกษตรกำลังเจอปัญหา 2 เด้ง คือ ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและปัญหาภัยแล้ง คนส่วนนั้นจึงรู้สึกว่าเศรษฐกิจแย่ลง แต่ถ้าคุณมองในภาพกว้าง จะเห็นว่าภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยว เราจะเห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อีกเรื่องที่ตอนนี้เราไม่เห็น และผมหวังว่าเราจะไม่เห็นนะ คือปัญหาการว่างงานแบบที่โรงงานพร้อมใจกันปิด พนักงานโดนเลย์ออฟเยอะ ตอนนี้เราพอเห็นพวกโอเวอร์ไทม์ลดลงตามกำลังการผลิตที่ลดลง นี่เป็นปัญหาที่เห็นอยู่มา 2 ปีแล้ว และค่อนข้างทรงตัวแล้ว

GM : ตัวเลขการว่างงานที่ว่าไม่เยอะขึ้น คือดูจากที่ไหน จากแหล่งที่เชื่อถือได้แค่ไหน

ดร.วิรไท : เราดู Labour Force Survey เราลงไปดูเป็นรายภาค รายอุตสาหกรรม ดูจำนวนชั่วโมงทำงาน ตัวเลขการว่างงานในภาพรวมนั้นมันหยาบเกินไป จึงต้องดู Labour Force Survey เพราะสำรวจต่อเนื่อง เราจะเห็นว่าบางภาคมีปัญหาจริงๆ คือภาคการเกษตร ส่วนภาคบริการก็ยังทรงๆ เราเห็นบางกลุ่มที่ขาดแคลนแรงงาน หาพนักงานไม่ได้ ถ้าดูในภาพใหญ่ ถึงแม้การส่งออกจะติดลบ แต่มันเป็นการติดลบจากราคา เมื่อราคาสินค้าเกษตรตกต่ำลง ยางราคาลง รวมไปถึงราคาสินค้าที่เชื่อมโยงกับราคาน้ำมัน คือกลุ่มปิโตรเคมี พวกนี้มูลค่าการส่งออกติดลบ แต่ตัวปริมาณการผลิตนั้นไม่ได้ลดมากเหมือนตัวเลขมูลค่า

GM : ตั้งแต่ที่คุณเข้ารับตำแหน่ง 7 เดือน

ดร.วิรไท : ตอนนี้ 5 เดือนกว่าๆ ครับ

GM : นับได้เป๊ะมาก (หัวเราะ) เอาเป็นว่าคุณเจอปัญหาอะไรที่ยากกว่าที่คิดไว้บ้างหรือยัง

ดร.วิรไท : ผมอาจจะโชคดีตรงที่ถึงแม้ผมเป็นคนนอก แต่ไม่ถึงกับเป็นคนที่ห่างไกลกับธนาคารแห่งประเทศไทย ก่อนหน้านี้ผมเป็นกรรมการของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ปีเศษ ก่อนจะมารับตำแหน่ง รวมถึงเป็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน รวมถึง พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดว่ากระบวนการสรรหาผู้ว่าการ จะต้องทำล่วงหน้าหลายเดือนก่อนที่จะรับตำแหน่ง ทำให้ผมมี Smooth Transition ในการเข้ามารับตำแหน่งนี้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในสภาวะที่ภายนอกมีความผันผวนสูง น้ำหนักที่ผมให้ในช่วงแรกๆ ที่เข้ามาก็คือ Smooth Transition ไม่ว่าจะเรื่องนโยบาย หรือเรื่องการบริหารงานบุคคล หรือการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ร่วมตลาด นี่เป็นหัวใจสำคัญในภาวะที่มีความผันผวนสูง พนักงานของที่นี่มีความเป็นมืออาชีพสูง เราสามารถร่วมมือกันทำงานให้มีความต่อเนื่องได้

GM : คนในธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร เพื่อรับมือกับความผันผวนมากมายขณะนี้

ดร.วิรไท : ผมว่าเราจะต้องทำงาน Cross Function กันได้มากขึ้น โครงสร้างองค์กรของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็คงคล้ายๆ กับโครงสร้างองค์กรของหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ คือมันมีความเป็นกล่องอยู่สูง ถ้าจะตอบรับความท้าทายใหม่ๆ เราต้อง Cross Function ทำงานที่ Overlap กันได้ อย่างประเด็นเรื่องเสถียรภาพการเงินในกฎหมาย ธปท. ระบุชัดเจนว่าเรามีรองผู้ว่าการได้ 3 คน คนหนึ่งทำงานด้านการบริหาร อีกคนดูด้านสถาบันการเงิน อีกคนดูด้านนโยบายการเงิน แต่การสร้างเสถียรภาพทางการเงิน เป็นงานที่คร่อมกัน นี่คือโจทย์ภายในองค์กรของเราที่จะทำอย่างไรให้เราทำงานร่วมกัน ทำงานข้ามสายงาน มีการแชร์ข้อมูล แชร์องค์ความรู้ มองไปข้างหน้าทิศเดียวกัน สร้างเครื่องมือใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างเหมาะสม

Balancing Life

GM : ในเมื่อคุณต้องมีงานท้าทายมากมายขนาดนี้ ตอนนี้คุณจะได้ไปเที่ยวที่ไหน ไม่สิ ไม่ใช่ไปเที่ยว ต้องเรียกว่าการเดินทาง คุณได้เดินทางไปไหนมาไหนแบบตอนหนุ่มๆ อีกไหม

ดร.วิรไท : เวลาส่วนตัวน้อยลง โฟกัสกับภารกิจที่นี่เป็นหลัก ดังนั้น ก็ต้องจัดลำดับความสำคัญกับเรื่องต่างๆ ในชีวิต ถ้าอยากไปวัด ก็พอจะหาเวลาไปได้ แต่คงไม่สามารถหายไป 10 วันเหมือนเมื่อก่อน (หัวเราะ) ออกกำลังกายก็น้อยลง ต้องแบ่งเวลาใหม่ พยายามทำตารางเวลาให้สมดุลในเรื่องกายและใจ ถ้าอยากจะให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ก็ต้องมีกายและใจที่ดี งานพัฒนาชนบทที่เคยไปช่วยงานก็ต้องลดน้อยลง ไปประชุมกับเขาได้แค่ปีละครั้ง ไม่ได้ลงไปทำงานกับชาวบ้าน มีโครงการวิจัยที่ชวนนักวิชาการไปช่วยงานชนบท มีรายงานส่งมาให้เป็นตั้ง ยังไม่มีเวลาอ่านเลย

GM : 5 เดือนที่ผ่านมา เคยมีสักแวบไหมที่คิดว่าเราตัดสินใจผิด

ดร.วิรไท : ไม่ครับ

GM : ‘ไม่’ นี่คือคุณยังไม่มีเวลามานั่งคิดเรื่องนี้เลยใช่ไหม

ดร.วิรไท : (หัวเราะ)

GM : เคยมีเรื่องเล่าลือกันว่าตอนที่คุณทำปริญญาเอกที่ฮาร์วาร์ด มีช่วงที่คุณเหนื่อยและท้อแท้มาก คุณออกเดินทางแบบพเนจรไปไกล เพื่อหาไฟกลับมาทำ Thesis นั้นให้เสร็จ นั่นเป็นเพียงเรื่องเล่าลือหรือเรื่องจริง

ร.วิรไท : ช่วงนั้นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสนใจพุทธศาสนา สมัยนั้นเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว โทรศัพท์กลับบ้านก็แพง อีเมลก็ยังไม่มี ผมอยู่คนเดียวเยอะ หรือวันๆ ก็เจอแต่เพื่อนนักเรียนด้วยกัน ผมก็ลองอ่านธรรมะ อ่านงานของพระอาจารย์ชยสาโร เป็นงานที่ให้หลักคิดเราได้หลายอย่าง พอถึงช่วงที่ทำ Thesis ก็รู้ตัวเองเลยว่าเราคิดวน คิดอยู่เรื่องเดียว คิดคนเดียว จึงต้องหาวิธีตัดวงจร คือการออกเดินทาง ไปโน่นไปนี่ ไปเดินป่าเที่ยวธรรมชาติ มีแผนการเดินทางของตัวเองทุกๆ 3-4 เดือน เดินทางเพื่อตัดวงจรความคิดในหัวตัวเอง เพื่อจะได้กลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

GM : แล้วถ้าตอนนี้เหนื่อยหรือท้อแท้ คุณจะทำอย่างไร

ดร.วิรไท : ความท้อแท้นี่มันก็แค่อารมณ์ของจิต ที่เราปรุงแต่งของเราเอง ถ้าเราเท่าทันจิตตัวเอง รู้ได้เร็ว ก็ละได้ วางได้ การมาทำงานยากๆ แบบนี้ก็เป็นการฝึกจิตอย่างหนึ่ง ผมว่าผมก็ยังฝึกปฏิบัติได้อยู่นะ ระหว่างที่เป็นประธานของที่ประชุมก็ฝึกสมาธิได้ งานก็คือพาร์ทหนึ่งของชีวิต เราก็พยายามบาลานซ์ให้ได้ ระหว่างกายกับใจ ทุกวันนี้เวลาเหนื่อยๆ ผมว่าเป็นความเหนื่อยทางกายมากกว่า

GM : ทริปการเดินทางครั้งต่อไปคือเมื่อไร

ดร.วิรไท : (หัวเราะ) ยังไม่รู้เลย คนมาเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ค่อยมีวันหยุดกันหรอก แต่รุ่นผมนี่ยังดี เพราะว่าท่านอดีตผู้ว่าการประสาร ไตรรัตน์วรกุล ได้ทำระเบียบวันหยุดไว้ให้ ผู้ว่าการตอนนี้ลาหยุดพักผ่อนได้ปีละ 10 วัน จะได้ใช้หรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สมัย ดร. ประสาร ผู้ว่าการไม่มีวันลาหยุดพักผ่อน

ดร.วิรไท สันติประภพ นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำคนหนึ่งของเมืองไทย ที่ใครๆ ชอบเรียกเขาจนติดปากว่า ‘นักเศรษฐศาสตร์พเนจร’ เขามาลงหลักปักฐาน เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จนถึงตอนนี้

ก็ครึ่งปีแล้ว

แน่นอนว่าเขาต้องว่างเว้นจากการออกเดินทางพเนจรท่องโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่เขารักมาตั้งแต่สมัยที่เรียนปริญญาเอกที่ฮาร์วาร์ด แล้วยังเดินทางไปทำงานในหลายทวีป ให้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์ และอุดมการณ์อยู่พักใหญ่

เขาจำต้องลดบทบาทการทำงานในองค์กรพัฒนาสังคม อย่างมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และมูลนิธิปิดทองหลังพระ แถมยังต้องเลิกเขียนบทความอันแหลมคมตามหน้าหนังสือพิมพ์และโซเชียลมีเดีย เพื่อวิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทย

ชุดสูทเทาสุดเนี้ยบ ใบหน้าและแววตาเคร่งขรึม วันนี้เขามาอยู่ภายใต้หมวกขององค์กรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อเศรษฐกิจของไทย สวมบทบาทที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบอย่างแท้จริง ล้ำลึกกว่าบทบาทที่เคยพเนจรอยู่ภายนอก

บทสนทนาระหว่างเราในเย็นย่ำของวันนั้น จึงไม่ได้หวือหวา ท้าทาย แล้วรุ่มรวยไปด้วยความฝันถึงโลกที่ดีขึ้นของคนหนุ่มนักพเนจร

แต่มันจริงจัง ลงลึก และโฟกัสไปที่ปัญหาที่แท้จริงของบ้านเมืองเราในขณะนี้ ว่าเมื่อเขาได้มาลงหลักปักฐานอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง งานหนักงานนี้ ในวันนี้ เขาจะมีส่วนนำพาประเทศของเราให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างไร

Inflation Targeting

การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ได้มีการประกาศเอาไว้ล่วงหน้า หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า การควบคุมอัตราเงินเฟ้อของประเทศ กลายเป็นเป้าประสงค์หลักในการดำเนินนโยบายการเงิน – อ้างอิงจาก ‘นโยบายกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไป’ โดย ภาวิน ศิริประภานุกูล – thaipublica.org

ในวันนี้พวกเราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังคงพูดกันถึงประเด็นนี้ ว่าจะทำอย่างไรให้พวกเรามี Core Value ร่วมกันที่ ‘ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ และติดดิน’ คุณสมบัติทั้ง 4 ข้อนี้ ถ้าใครที่ได้ศึกษาผลงานของอาจารย์ป๋วย ก็จะพบว่าท่านยืนอยู่บนคุณค่าหลักนี้ทั้งหมด

สถาบันการเงินเฉพาะกิจ | Specialized Financial Institutions : SFIs |

8 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมและบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย

ในบางประเทศเขาถือว่าถ้าจะจัดลำดับ เขาอยากให้มี Access to Payment เสียก่อน แล้วต่อด้วย Access to Deposit แล้วค่อยตามมาด้วย Access to Credit และสุดท้ายจึงเป็น Access to Insurance ในขณะที่บ้านเราเน้นกันที่ Access to Credit เป็นหลัก จึงนำไปสู่ผลข้างเคียงเยอะ

การแต่งตั้งคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ รวมถึง SFI ที่ผ่านมา มักจะลอยมาจากการเมือง ถ้าเราเชื่อในระบบการบริหารจัดการองค์กร คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจมีความสำคัญที่สุดในการวางนโยบายและกำกับดูแลองค์กร ดังนั้น เราต้อง Empower คณะกรรมการเหล่านี้ เราต้องมั่นใจว่าคณะกรรมการมีความสามารถ เป็นกันชน กันการแทรกแซงที่ไม่ชอบ

ถ้าคุณดูสถานการณ์ตอนนี้ จะเห็นว่าโมเมนตัมของการฟื้นตัวยังมีอยู่ต่อเนื่อง เพียงแต่มันเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และมันไม่กระจายตัว ในช่วงที่กำลังฟื้นตัวลักษณะนี้ คนบางภาคส่วนจะรู้สึกว่า เอ๊ะ! มันไม่เห็นดีเลย มันแย่ลงด้วยซ้ำไป แต่ถ้าดูในภาพรวมทั้งหมด จะเห็นว่ามันเริ่มฟื้นตัว

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ