จาก ‘โดม’ วันวาน สู่การขับขานบนทางสายใหม่: การออกแบบที่บ่งบอกช่วงเวลาผ่านเส้นสายลายสถาปัตย์
มีคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า งานสถาปัตยกรรมใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นบนโลก ต่างเป็นการหาสมดุลกันระหว่าง ‘สไตล์การออกแบบ’ และ ‘ประโยชน์ทางด้านการใช้งาน’
สไตล์บ่งบอกถึงช่วงเวลาและมุมมองที่ผู้สร้าง มีต่อยุคสมัย และประโยชน์ด้านการใช้งาน เป็นแก่นที่อยู่ภายใน ที่สไตล์จะทำการ ‘รับใช้’ เพื่อให้เอื้อทั้งความงดงาม และถึงพร้อมในอรรถประโยชน์ ที่เป็นหัวใจหลัก
งานสถาปัตย์ที่มีแต่สไตล์ แต่ไม่เอื้อต่อการใช้งาน ก็เป็นเพียงการระบายความคลั่งไคล้อันกลวงเปล่า หรืองานสถาปัตย์ที่เน้นใช้งานเป็นสารัตถะ แต่ไม่มีเส้นสายการออกแบบ ก็เป็นเพียงอาคารที่แข็งทื่อ ไร้จิตวิญญาณ ไม่เป็นที่จดจำ
เช่นนั้นแล้ว ‘ตึกโดม’ จึงเป็นการวิสาสะของทั้งสไตล์ คุณประโยชน์ และพ่วงด้วยปัจจัยที่สามอย่างเช่น ‘ประวัติศาสตร์’ อย่างไม่อาจจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปได้
และเมื่อบวกรวมกับที่มาที่ไป และบทบาทของ ‘ธรรมศาสตร์’ ในหน้าประวัติศาสตร์ของสยามประเทศ เราจะพบกับความสำคัญ ที่ถูกแปรเปลี่ยนมาเป็นงานออกแบบตึกโดมนี้ได้อย่างชัดเจนอย่างยิ่ง
ตึกโดม เป็นอาคารขนาดสามชั้น ที่มีตึกทางเข้า เป็นรูปทรงโดม ตามสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่ฐานกรวยเป็นแปดเหลี่ยม ยอดแหลมชี้ขึ้นฟ้า สองปีกของอาคารทอดยาวออกไปยังฝั่งถนนท่าพระอาทิตย์ และท่าพระจันทร์
ตัวอาคาร ความหมาย เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการส่งผ่านของแนวคิดจากคณะราษฏรในช่วงแรกเริ่ม การนำส่งความรู้สู่ประชาชน การเปิดกว้างทางความคิดอันไพศาล หรือแม้กระทั่งสไตล์ที่ใช้ ก็ยังเป็นแนวอาร์ตเดโค (Art Deco) ที่เกิดขึ้นภายใต้ปรัชญาสำนักคิดปรวิสัย (Objectivism) ที่เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ หลักฐานเชิงประจักษ์ และความเป็นปัจเจกอย่างสูงสุด (ตัวอย่างนักคิดฝั่งตะวันตกในสำนักนี้ ได้แก่ Ayn Rand, Tibor Machan, Leonard Peikoff)
แน่นอนว่า แม้จะมีเส้นสายของความเป็นปัจเจก การไม่ยึดติดกับอำนาจใดนอกเหนือจากการพิสูจน์อย่างประจักษ์ทางปรวิสัย และเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่เท่าเทียม แต่ตึกโดม ก็ยังแฝงไปด้วยลายเส้นที่ประนีประนอม และมีลักษณะที่เป็น ‘เฉพาะ’ อันเกิดจากการสังเคราะห์ของสยามประเทศ
ในจุดนี้ สถาปนิกผู้ออกแบบอย่าง จิตรเสน อภัยวงศ์ เข้าใจในตัวตนและจุดยืนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนจะนำมาสู่รูปทรงอาคารที่สามารถจับต้องได้ ที่คงความหมาย และครบถ้วนในวัตถุประสงค์การใช้งาน
มาในวันนี้ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ของประเทศไทย ได้พบคลื่นแห่งความเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ตึกโดม ก็ยังคงตั้งตระหง่าน ยืนหยัดท้ากาล บ่มเพาะส่งต่อความรู้อย่างสงบนิ่ง อย่างมั่นคง และดำรงตนเป็นแหล่งปัญญาให้แก่ประชาชน เมื่อถึงวันที่สิ่งเหล่านั้น กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด
ในเวลาอันใกล้ ตึกโดม จะมีการปรับปรุง รับกับช่วงเวลาที่เลยผ่าน และให้อาคารที่เป็นสัญลักษณ์นี้ ยังคงตั้งมั่นอย่างองอาจ ภายใต้ความหมาย และจุดประสงค์ดั้งเดิมของมัน
เพราะในอีกสิบ หรือยี่สิบปีข้างหน้า เราไม่อาจคาดเดาได้ว่า สังคมไทย จะมีรูปโฉม หรือหน้าตาอย่างไร จากความเปลี่ยนแปลงที่โหมกระหน่ำ และถาโถมที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ….
แต่สิ่งที่แน่ใจได้อย่างหนึ่งเป็นมั่นเหมาะนั้นคือ ตราบเท่าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังคงตั้งอยู่อย่างมั่นคง เช่นเดียวกับงานสถาปัตยกรรมของมัน เราก็คงจะมีหลักยึดเหนี่ยวเอาไว้ เพื่อให้เราไม่หลงลืมว่า เป็นใคร และกำลังจะก้าวไปจุดใด…
และงานสถาปัตยกรรม จะเป็นตัวบ่งบอกจุดประสงค์ และหัวใจที่เริ่มต้นของอาคารนั้นๆ เสมอ…