fbpx

วิรัตน์ เอื้อนฤมิต: บทตอนถัดไป แห่งโรงกลั่นความภูมิใจของคนไทย ในวาระครบรอบ 60 ปี ของ Thaioil

ในโลกยุคปัจจุบัน ความสำคัญทางด้าน ‘พลังงาน’ นั้น เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความมั่นคงของประเทศ ไม่ว่าจะในระดับครัวเรือน จนถึงระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่อาจจะขับเคลื่อนไปได้ หากปราศจากการไหลเวียนของเส้นเลือด และการสันดาปจากเชื้อเพลิง ให้องคาพยพต่างๆ ดำเนินไปได้โดยไม่ติดขัด

เช่นนั้น พลังงาน จึงจัดเป็นเรื่องที่ถูกให้ความใส่ใจเป็นลำดับต้นๆ ที่ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจ สังคม จนถึงเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดใดๆ จะเกิดขึ้น ปัจจัยนี้จะต้องเดินหน้าต่อไป

และ ‘ไทยออยล์’ คือชื่อที่ขับเคลื่อนการผลิต เป็นกระดูกสันหลังแห่งน้ำมันดิบและเชื้อเพลิง นำส่งต้นน้ำแห่งพลังงานมาอย่างยาวนานกว่าหกทศวรรษ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 บวกรวมกับวิกฤติ COVID-19 ที่เข้ามากระทบอย่างไม่คาดคิด กับการ ‘Shift’ หรือเปลี่ยนผ่านของกระแสเชื้อเพลิงสะอาด พลังงานหมุนเวียน ที่เริ่มถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลาย ไทยออยล์ ที่เป็นองค์กรที่มุ่งหมายจะย่างก้าวไปสู่ระดับ ‘องค์กรหนึ่งร้อยปี’ จะต้องทำสิ่งใด คิดอย่างไร และเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปโฉมใด ในวาระที่กำลังจะมาถึงนี้

GM Magazine ได้รับเกียรติจาก คุณวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน ) ผู้อยู่กับแวดวงพลังงาน รวมถึงสายงานด้านบริหารมาอย่างยาวนาน รวมถึงมีความผูกพันกับองค์กรไทยออยล์มาหลายสิบปี ที่มาร่วมพูดคุยถึงเส้นทางในสายอาชีพ สภาพตลาดพลังงานในปัจจุบัน นโยบายไทยออยล์ในระดับรากฐาน จนถึงทิศทางที่องค์กรต้นน้ำแห่งพลังงานจะเดินหน้าต่อไป ที่ไม่หยุดแค่เพียงประเทศไทย แต่ยาวไกลถึงระดับภูมิภาคอาเซียน ที่จะมั่นคง เข้มแข็ง และยั่งยืนสืบไป

-โจทย์ยากหรือไม่ ในการที่จะทำให้ทันสมัยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน

เป็นความยาก แต่ไม่ใช่เฉพาะแต่กับ ไทยออยล์ เพียงอย่างเดียว เพราะทุกอย่างมันเคลื่อนตัวไปเร็วมาก หลายวงการคุ้นเคยกับคำว่า ‘Disruption’ แต่ในธุรกิจน้ำมันนั้น การเปลี่ยนแปลงเข้ามาได้สักพักหนึ่ง และ ไทยออยล์ ที่เดินในเส้นทางความสำเร็จมากว่า 60 ปี เริ่มต้นจากโรงกลั่นน้ำมัน ภายใต้ชื่อ ‘ไทยออยล์ Refinery Company (TORC)’ แต่ในวันนี้ เราทำธุรกิจน้ำมัน และในวิสัยทัศน์ ‘Next Chapter’ หรือในบทตอนถัดไปของ ไทยออยล์ คือ บริษัทพลังงานที่ต่อเนื่องไปเป็นบริษัทปิโตรเคมี ที่สร้างคุณค่าให้กับมนุษยชาติ ซึ่งจะดึงมูลค่าเพิ่มจากน้ำมันดิบ แล้วไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก กับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะเข้ามา

-จากที่มีประวัติการทำงานทั้งสายการเงิน จนมาถึง ไทยออยล์ แทบจะไม่เคยห่างจากธุรกิจพลังงาน อะไรคือเหตุผลในการเลือกเส้นทางดังกล่าว

จริงๆ ต้องบอกว่า ส่วนตัวเดินทางครบถ้วนในวงจร ทั้งตอนต้นที่จบปริญญาตรี แล้วไปต่อ MBA หรือบริหารธุรกิจ จากนั้นก็ไปเริ่มงานที่บริษัทน้ำมันเชลล์ ประเทศไทย ช่วงนั้นเป็นเวลาประมาณ 5-6 ปี ก็ได้มีโอกาสทำโครงการใหญ่ที่สุด คือโรงกลั่นน้ำมันที่ระยอง

จากนั้น พออยู่ที่เชลล์ได้พักใหญ่ๆ เริ่มรู้สึกว่าไม่ท้าทาย อันนี้ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ธุรกิจน้ำมันนั้นค่อนข้างจะมีเสถียรภาพสูง คือสิ่งที่ต้องระวังนั้นจะเป็นเรื่องความเสี่ยงในด้านต่างๆ แต่ถ้าปิดจุดเสี่ยงเหล่านั้นได้หมด มันก็ค่อนข้างจะปลอดภัย และทำให้รู้สึกว่าเป็นโซนปลอดภัย และช่วงเวลาก่อนปี 2540 เป็นยุคที่คนเรียนสาย MBA จะหันไปทำงานด้านวาณิชย์ธนกิจ เป็น ‘กลุ่มมนุษย์ทองคำ’ เป็นอะไรที่หวือหวามาก เงินเดือนสูง โบนัสไม่น้อย ก็เลยตัดสินใจกระโดดไปผจญกับงานด้านนี้สักที ทำอยู่หลายบริษัท หลากหลายสัญชาติ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ จนผู้บริหาร ปตท. ชักชวนให้มาทำงานด้วยกัน หลายต่อหลายครั้ง จนถึงช่วงที่เราอิ่มตัวกับงานวาณิชย์ธนกิจ และมีความคิดว่า อยากทำงานเพื่อประเทศชาติสักหน ก็เลยกลับมาสู่แวดวงพลังงานอีกครั้ง

-แล้วประสบการณ์ทั้งในฐานะที่เป็นวิศวกร และผู้ที่ผ่านงานด้านสายการเงิน ตำแหน่งในตอนนั้นคืออะไร

เป็นศาสตร์ที่ผสมกันนะครับ ตำแหน่งที่ได้รับตอนนั้นคือ Chief Financial Officer หรือ CFO และเป็นตำแหน่งใน ไทยออยล์ อย่างประจวบเหมาะ เพราะ CFO คนเก่า ย้ายไปในสายของ ปตท เลยเกิดตำแหน่งที่ว่างลง ก็ถูกส่งมานั่งในตำแหน่งนี้ จากนั้น ก็ตามเส้นทางอาชีพครับ วนไปในหลายกลุ่มบริษัทของ ปตท จนได้มาเป็น Chief Operation Officer หรือ COO ดูแลกระบวนการต้นทางของอุตสาหกรรม อาจจะเรียกว่า ส่วนตัวได้ผ่านประสบการณ์ทั้งจากข้างในและนอก ทั้งเอกชนและรัฐวิสหกิจ ความหลากหลายต่างๆ มันมีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกัน ทุกจุดคือประสบการณ์ที่ได้ตักตวง และเรียนรู้แทบทั้งสิ้น 

-ที่บอกว่าทุกจุดคือประสบการณ์ แต่จุดจะต้องลากผ่านออกมาเป็นภาพ มองภาพใหญ่จากการลากเส้นทางในการทำงานเป็นอย่างไร

ผมนึกถึงคำพูดของ สตีฟ จ็อปส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Apple ที่บอกว่าชีวิตนั้น เกิดจากการลากจุดต่อกัน แต่ในวันที่เริ่มต้นนั้น ตัวคุณจะยังมองมันไม่ออกหรอก แต่ถ้ามองย้อนหลังกลับไป จะเห็นว่ามันเชื่อมโยงกันอย่างไร มันเกี่ยวเนื่องอย่างไร ซึ่งสำหรับผม เริ่มต้นจากความสนใจในธุรกิจพลังงาน จากนั้นก็ต่อไปยังแวดวงด้านการเงิน จนมาถึงปัจจุบัน ที่เชื่อว่า น่าจะสิ้นสุดชีวิตการทำงานที่นี่ ที่ ไทยออยล์ ซึ่งก็เหลืออีกเพียงไม่กี่ปีก็จะเกษียณ ซึ่งผมก็มองตัวเองว่าเป็นตัวเชื่อมโยงของการเปลี่ยนแปลง จากบริษัทโรงกลั่นน้ำมัน สู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงานเต็มรูปแบบ ที่จะเพิ่มมูลค่า สร้างคุณค่าให้กับมนุษยชาติ

พูดถึงไทยออยล์ที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 60 ปี อะไรคือจุดแข็งขององค์กรที่ทำให้สามารถยืนหยัดมาจนถึงปัจจุบัน

ไทยออยล์ เป็นโรงกลั่นน้ำมันโรงแรกของประเทศไทย และทำหน้าที่รักษาความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศมาอย่างยาวนานโดยตลอด ไม่ว่าจะผ่านวิกฤติการณ์หนักหน่วงสักเพียงใด ก็ยังคงเป็นแกนที่ค้ำยันความมั่นคงและเสถียรภาพเอาไว้เสมอ จากโรงกลั่นเล็กๆ ผลิตได้ 30000 บาเรลล์ต่อวัน ซึ่งในปัจจุบัน ปริมาณการผลิตก็น่าจะคิดเป็นสิบเท่าของช่วงเวลาเริ่มต้น

แต่ถ้าถามว่าอะไรคือจุดแข็งจริงๆ ของไทยออยล์ น่าจะเป็นในส่วนของบุคลากร ที่มีความเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะในตำแหน่งใด และไทยออยล์ ก็เรียกได้ว่าเป็น ‘เจ้าแรก’ ในหลายๆ ด้านของประเทศไทย ทั้งโรงกลั่นเอกชนรายแรก ประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนรายแรกของประเทศไทย จดทะเบียนโรงกลั่นในตลาดหลักทรัพย์โรงแรกของประเทศ และเป็นโรงกลั่นที่ได้ Dow Jones Sustainable Index ระดับโลก ต่อเนื่องถึงเจ็ดปี เป็นหนึ่งในความภูมิใจของไทยออยล์เลยก็ว่าได้ หรือแม้แต่น้ำมันคุณภาพสูงต่างๆ อย่างน้ำมันไร้สารตะกั่ว ก็เป็นไทยออยล์ที่พัฒนาและผลิตรายแรก ซึ่งทั้งหมด เกิดขึ้นได้จากบริษัทคู่ค้า และผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งก็คือ ปตท ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ซึ่งในภาพรวม ไทยออยล์ได้สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่และน่าจดจำเอาไว้ไม่น้อยเลยทีเดียว  

-แล้วโจทย์ที่รอคอยไทยออยล์อยู่ ภายใต้การ Disruption ของห้วงเวลาถัดไป คืออะไร

ในธุรกิจพลังงานและน้ำมัน คืออุตสาหกรรมที่ต้องพบเจอกับการ Disruption เป็นอย่างแรกๆ ซึ่งเชื่อว่าหลายท่านน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน’ หรือ Energy Transition กันมาบ้าง คือการเปลี่ยนผ่านจากน้ำมันดิบ ไปสู่พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด ที่จะเข้ามาแทนที่ขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่มาแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นตัวสันดาปภายใน มันเป็นทิศทางที่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ และหลายสำนักก็คาดการว่า จะเริ่มเห็นอย่างเป็นรูปธรรม ในระยะเวลาอีกสิบ จนถึงสิบห้าปีข้างหน้า แต่ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าน้ำมันดิบจะหายไปหมด เพราะยังมีความต้องการด้านการใช้งานอยู่ เช่น เครื่องบินกับน้ำมันดิบ

อีกด้านหนึ่งที่ไทยออยล์โดนกดดันอย่างมากคือเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ทิศทางของแนวคิดดังกล่าวเริ่มมีมากขึ้น และในอนาคต การทำธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะยิ่งทำให้ต้นทุนในการดำเนินการสูงขึ้น และอีกเรื่องที่กระทบหนักมากๆ คือ COVID-19 ที่ทำให้การดำเนินธุรกิจเกิดการชะงัก เพราะความต้องการน้ำมันดิบสำหรับอากาศยานคือหายไปเลย ซึ่งเป็นกำไรที่ไม่น้อย แต่ทางไทยออยล์ก็ได้ทำการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพการณ์ ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ของไทยออยล์นั่นคือ ‘Clean Fuel’ หรือโครงการพลังงานสะอาด เงินลงทุนแสนห้าหมื่นล้านบาท เพื่อให้ไทยออยล์สามารถก้าวไปสู่ Next Chapter ได้อย่างไม่ติดขัด ทั้งในแง่ต้นทุน กำลังการผลิต และการต่อยอดสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ดีและมากยิ่งขึ้น

-แต่ทุกการเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งใหม่ไม่เคยง่าย โดยเฉพาะกับธุรกิจพลังงาน ที่ยังต้องดำเนินกิจการโดยไม่หยุด อะไรคือโจทย์สำคัญที่ไทยออยล์ต้องผ่านไปให้ได้

ถ้าให้เทียบในกรณีที่เห็นภาพแบบชัดๆ ก็คงเป็น การที่ต้องซ่อมเครื่องบิน ในขณะที่บินอยู่บนน่านฟ้า ระดับนั้นเลยครับ เพราะธุรกิจน้ำมันและพลังงาน ไม่สามารถหยุดกิจการได้เหมือนธุรกิจอื่นทั่วไป แม้แต่โครงการ Clean Fuel ที่ลงทุนสูงที่สุดของไทยออยล์ ก็เป็นการสร้างติดกับโรงกลั่นของเดิมที่มี และยังดำเนินการกลั่นอยู่ ซึ่งจะมีเรื่องของมาตรฐานการก่อสร้าง ความปลอดภัย และระเบียบปฏิบัติอีกมากมาย

เหล่านี้ คือความท้าทายที่ต้องเผชิญ และยิ่งหนักซ้ำอีกตรงที่ COVID-19 มากระหน่ำ ก็ยิ่งทำให้ความยากลำบากมันเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ แต่ในจุดนี้ต้องชื่นชมบุคลากรของไทยออยล์ในทุกระดับครับ ว่ามีความสามารถอย่างมาก แต่ก็ยังเป็นการต่อสู้ที่ยังไม่สิ้นสุด และไทยออยล์ก็ได้มองหาโอกาสทางธุรกิจเพิ่มเติม และพบว่า มีผู้ผลิตที่ประสบปัญหา แต่ขีดความสามารถในการผลิตไม่สามารถดำเนินการได้เท่าที่จำเป็น ไทยออยล์ก็ได้ประกาศการร่วมทุนครั้งสำคัญกับโรงกลั่นที่อินโดนีเซีย ที่เราจะทำดำเนินการยกระดับโรงกลั่นของประเทศนั้น ด้วยองค์ความรู้และทรัพยากรของไทยออยล์ และได้เข้าไปถือหุ้นที่สิบห้าเปอร์เซ็นต์

-แต่การเปลี่ยนผ่านไทยออยล์ไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง จะทำให้เกิดการแข่งขันในองค์กรของเครือ ปตท. หรือไม่

ในแง่นี้ นอกจากคำว่า Disruption แล้ว ยังมีอีกคำที่ถูกพูดถึงบ่อย คือคำว่า ‘Convergence’ ที่ธุรกิจ จากต่างคนต่างทำ จะเริ่มทำในใกล้เคียงมากขึ้น อย่างธุรกิจผู้ให้บริการโทรคมนาคมก็ดี ธุรกิจการธนาคารก็ดี เราเห็นภาพที่เกิดขึ้นเหล่านี้แทบทั้งสิ้น ซึ่งไทยออยล์และ ปตท. จะมีส่วนที่ใกล้เคียงมากขึ้น อันจะนำมาซึ่งกระบวนทัศน์สองประการคือ หนึ่ง การต่อยอดคุณค่าผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น สอง การแสวงหากำไรที่นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์หลัก ที่จะไม่ได้มาจากน้ำมันดิบเพียงอย่างเดียว ซึ่งในปัจจุบัน เรามีกำไรจากธุรกิจโรงงานไฟฟ้าประมาณสิบห้าเปอร์เซ็นต์ และรายได้ส่วนนี้จะทำให้เกิดเสถียรภาพและความยั่งยืน

-แล้วในแง่นโยบายกับแผนดำเนินงาน ทางไทยออยล์ได้วางรากฐานเอาไว้อย่างไร

ในจุดนี้ เราวางเอาไว้ทั้งหมดสี่จุดด้วยกันคือ หนึ่ง บุคลากร สอง กลุ่มลูกค้า ที่ทางไทยออยล์จะเน้นมากยิ่งขึ้น สาม บริษัทคู่ค้า ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทยออยล์อย่างที่ได้เรียนไว้ก่อนหน้านั้น ที่มีส่วนช่วยในการขยายธุรกิจ และกำลังการผลิตในระยะเวลาที่ผ่านมา รวมไปถึงผู้ถือหุ้นอย่าง ปตท. และสุดท้ายคือ แพลทฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นแพลทฟอร์มด้านธุรกิจ แพลทฟอร์มด้านองค์ความรู้ และไทยออยล์จะประเมินจากปัจจัยทั้งสี่ด้านนี้ในการพิจารณาการเติบโตแทบทุกครั้ง

-ถ้ามองในแง่การตลาดของประเทศและอาเซียนกับศักยภาพ จะดำเนินธุรกิจบนฐานของความยั่งยืนได้อย่างไรบ้าง

ต้องบอกว่า ภูมิภาคอาเซียนถือเป็นชัยภูมิที่ดีในด้านธุรกิจ และเชื่อว่าจะยังคงความสามารถกับศักยภาพในการเติบโตในระดับโลก ฐานของเราอาจจะอยู่ในประเทศไทย แต่ตลาดนั้นคือทั้งอาเซียน อย่างที่ยกตัวอย่างการลงทุนในอินโดนีเซีย ซึ่งมีการเจริญเติบโตและความต้องการด้านพลังงานที่มาก สอดคล้องกับประเทศไทยที่ผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก สามารถส่งออกตอบสนองต่อตลาดนี้ได้ อีกทั้งทิศทางด้านอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน ที่ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเหล่านั้น ประเทศไทยก็จะสามารถเป็นผู้รองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นได้อย่างพอเหมาะ เช่นนั้นแล้ว ในอนาคต จะมองเพียงแค่ในประเทศอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมองไปยังระดับภูมิภาคด้วย

-ชื่อไทยออยล์อาจจะดู ‘ไกลตัว’ ในความรู้สึกของคนไทย เพราะเป็นผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานต้นทาง มีวิธีใดที่จะทำให้คนรู้สึกใกล้ชิดกับไทยออยล์มากขื้น

โดยการดำเนินธุรกิจของไทยออยล์นั้น ที่ผ่านมาจะเป็นในลักษณะของ ‘B2B’ หรือจากธุรกิจสู่ธุรกิจ ไม่ได้สัมผัสกับผู้บริโภคโดยตรง น้ำมันกว่าหนึ่งในสาม กลั่นจากโรงงานของไทยออยล์ ถามว่าเคยมีปั๊มน้ำมันหรือไม่ ไทยออยล์มีอยู่ประมาณสามปั๊มในประวัติศาสตร์เลย แต่พอมาประเมินแล้ว ก็พบว่า ในด้านนั้น ให้ทาง ปตท. ที่เชี่ยวชาญกับภาคธุรกิจดังกล่าวทำจะดีกว่า แต่เอาเข้าจริง ผู้บริโภคก็ไม่ถึงกับไม่รู้จักไทยออยล์ไปเสียทีเดียวนะครับ ซึ่งทางองค์กรก็พยายามลงมาใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากขึ้น แต่กับกลุ่มคู่ค้าและธุรกิจใกล้เคียงกัน ยืนยันว่าไทยออยล์ก็เติบโตไปพร้อมๆ กันครับ

-ด้วยบุคลิกส่วนตัวเป็นคนที่ค่อนข้างรอบด้าน โจทย์ขององค์กรกับทิศทางในภายภาคหน้า จำเป็นหรือไม่ที่คนในองค์กรจะต้องรอบด้านเช่นเดียวกัน

ส่วนตัวมองว่าไทยออยล์มีวัฒนธรรมองค์กรเกี่ยวกับบุคลากรที่ค่อนข้างดีอยู่ในระดับหนึ่ง มีคนเก่งๆ อยู่มากมาย องค์ความรู้เป็นเลิศ แต่ในอนาคตข้างหน้า อาจจะต้องมีการปรับปรุงและเพิ่มเติมมากขึ้น คือถ้าพูดในเชิงเทคนิค ไทยออยล์สอบผ่านมาตรฐานในระดับที่น่าจะเรียกว่า 25 อันดับแรกอยู่แล้ว แต่ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไป อาจจะต้องกว้างมากขึ้น รอบมากขึ้น กระจายให้หลากหลาย และลงลึกในส่วนของกลุ่มลูกค้ามากขึ้น

-เรียกว่า ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่เปลี่ยนแปลงไปตามข้อมูล ถ้าแบบนั้นในธุรกิจน้ำมัน จะเป็นการยากหรือไม่

ลูกค้าในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากครับ คือหลายครั้งไม่ได้สนใจผลิตภัณฑ์ แต่มองหา Solution หรือวิธีการที่เหมาะสมที่จะช่วยแก้ปัญหาของตัวเอง อย่างเช่น อาจจะไม่ซื้อรถถ้าสามารถแชร์รถร่วมกันได้หรือระบบขนส่งมวลชน ระบบธุรกิจแบบ Share Economy เรียกว่าขอให้ตอบโจทย์ได้ก็เพียงพอ ซึ่งผู้ดำเนินธุรกิจก็ต้องค่อยๆ พัฒนาไปตามความเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ โชคดีที่ไทยออยล์ครบรอบวาระ 60 ปี ซึ่งมีคนรุ่นใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับแนวคิดใหม่ๆ ที่เท่าทันมากขึ้น พร้อมความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ซึ่งไทยออยล์ก็จะค่อยๆ พิจารณา เก็บส่วนที่ดี และเพิ่มเติมส่วนที่ใหม่เข้าไป

-ในฐานะที่อยู่ในตำแหน่งที่รับผิดชอบทั้งองค์กร ในช่วงเวลาที่วิกฤติต่างๆ ถาโถมเข้ามา ต้องรับผิดชอบกับปัญหาต่างๆ มากน้อยเพียงใด

น่าจะครึ่งหนึ่ง เป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดไว้ เรียกว่าต้องคาดการถึงสิ่งที่ไม่คาดว่าจะได้เจอไว้ก่อนเลย ปรากฏการณ์แบบนี้เรียกว่า ‘Black Swan’ หรือหงส์ดำ ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่ได้เจอกันง่ายๆ แต่ปีที่แล้วเรียกว่า เจอหงส์ดำเต็มไปหมด ทั้ง COVID-19 ทั้งสงครามการค้าระดับโลก ทั้งปัญหาประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ดังนั้น วันนี้ก็ต้องมีการเตรียมตัว และผู้บริหารยุคปัจจุบันจะต้องมีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ และมี ‘ภูมิคุ้มกัน’ ที่สามารถรับกับสิ่งที่เข้ามากระทบได้ อย่างไทยออยล์ช่วงที่ผ่านมา ก็ยังรักษาแผนระยะยาว แต่ก็วางแผนในระยะกลางกับสั้นควบคู่กันไป เพราะก็ยังเชื่อว่า ในทุกวิกฤติ ไม่ว่าจะหนักหน่วงแค่ไหน มันมี ‘โอกาส’ ใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ

-ในแง่ไลฟ์สไตล์ เป็นคนเล่นกีฬาแบบใด เพราะมีคำกล่าวว่า กีฬาที่เล่น จะสะท้อนกระบวนการคิดของผู้บริหาร

ส่วนตัวเป็นคนที่เล่นกีฬาหลายชนิดครับ (หัวเราะ) ก็จะวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ก่อนลงมือทำอะไร ไม่ได้รีบลงแรงไปจนหมด อย่างการปั่นจักรยาน บางคนก็เร่งความเร็ว ปั่นจนหมดพลังไปเลย แต่บางคนก็ค่อยๆ เร่งจังหวะ ปรับระดับในแต่ละช่วง เพื่อให้ได้ระยะทางที่มากขึ้น

กลับมาที่เรื่องกีฬา อย่างที่กล่าวไปครับ ผมเล่นเกือบหมด ทั้งกอล์ฟ เทนนิส หมากรุก และจะพยายามสังเกต รวมถึงหาข้อดีของแต่ละสิ่ง แล้วหยิบมาใช้ในสถานการณ์ต่างๆ

-แล้วในใจมีใครที่รู้สึกว่า อยากจะแนะนำให้ศึกษา หรือน่าสนใจสำหรับการเป็นต้นแบบหรือไม่

อย่างที่บอกไปครับ ส่วนตัวจะพิจารณาข้อดีของแต่ละสิ่ง อันนี้รวมถึงบุคคลในประวัติศาสตร์ ซึ่งก็หลากหลายไม่ต่างกัน ก็เลยไม่อยากจะชี้ชัดเจาะจงลงไปเป็นคนๆ แต่อยากให้ปรับความคิด ตีโจทย์ให้แตกในการมองว่า คนคนนั้น ประสบความสำเร็จ หรือมาถึงจุดนี้ได้ เพราะอะไร อย่างคนในองค์กรเอง ผมก็จะมองข้อดีของแต่ละท่าน ว่ามีจุดดี ข้อเด่นอย่างไร และค้นหา ‘จุดแข็ง’ เพื่อเสริมให้มากยิ่งๆ ขึ้นไป เรียกว่า ถ้าคุณมีความหลากหลายเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นเรื่องดีมากเท่านั้น

-จัดสรรเวลาในชีวิต ระหว่างการทำงาน กับกิจกรรมพักผ่อนอย่างไร

ยอมรับว่าตัวเองเป็นคนทำงานยาวหลายชั่วโมงนะครับ แต่พอจบงาน ก็หยุดไว้เท่านั้น ไม่เอากลับมาที่บ้าน โชคดีที่ครอบครัวเข้าใจ โดยเฉพาะภรรยา ที่คอยสนับสนุนกับสิ่งที่ทำ ให้ผมสามารถทุ่มเทสมาธิกับการทำงาน และสามารถใช้เวลากับที่บ้านได้โดยไม่ติดขัด

-ในฐานะผู้บริหารสูงสุด มองภาพไทยออยล์ในวาระ ‘หนึ่งร้อยปี’ ไว้ในแบบใด

ไทยออยล์จะเป็นบริษัทพลังงานที่มั่นคง ต่อยอด เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ไกลกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ในระยะอันใกล้ สิ่งที่จะได้เห็นจากไทยออยล์ จะไม่ได้เป็นเพียงแค่โรงกลั่นน้ำมัน แต่จะเป็นบริษัทที่ดึงมูลค่าเพิ่มของสินทรัพย์ โดยเฉพาะน้ำมันดิบ ไปสู่ปิโตรเคมี ซึ่งผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำจากน้ำมันกว่าหนึ่งในสาม จะมาจากไทยออยล์อย่างแน่นอนครับ

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ