‘ความจำเป็นในการพัฒนา “การศึกษาไทย” อย่างทั่วถึง’

ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ย่อมหนีไม่พ้น ‘การศึกษา’ ที่ต้องครอบคลุมในทุกระดับ ตั้งแต่ชั้นประถมวัย จนถึงระดับอุดมศึกษา เลยล่วงไปถึงการศึกษาที่สามารถทำได้ตลอดชีวิต นั่นเพราะการศึกษา จะช่วยพัฒนาทรัพยากรบุคคล อันเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศชาติในระยะยาว
กระนั้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ทำให้การพัฒนาการศึกษา ประสบกับความท้าทายอย่างยิ่ง นั่นเพราะองค์ความรู้ที่เคยใช้ได้ในเวลาหนึ่ง อาจถูกแทนที่ด้วยความรู้ใหม่ที่เข้ามาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การพัฒนาในเชิงคุณภาพ จึงสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะช่วยยกระดับให้บุคลากร สามารถเท่าทันต่อทุกความเป็นไปของโลกใบนี้
ในช่วงปี พ.ศ. 2560-2561 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาทั้งด้านกฎหมาย กลไก และนวัตกรรมการศึกษาหลายประการ อาทิ การยก (ร่าง) พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … การจัดตั้ง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา การประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2561 เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย ที่ยังคงปรากฏแม้ในปัจจุบัน เราอาจจะสามารถสรุปออกได้เป็นหัวข้อย่อยๆ ดังต่อไปนี้
-แนวโน้มในการเข้าถึงการศึกษา
แม้ว่าในภาพรวม สัดส่วนของเด็กที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา จะมีจำนวนที่ต่ำลง แต่ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา โดยเฉพาะในครอบครัวที่ยากจน ก็มีอยู่ในปริมาณที่น่าตกใจ กล่าวคือ มีนักเรียนที่ผ่านการคัดกรองเพื่อรับเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจาก สพฐ. และเงินอุดหนุน กสศ. ที่ประมาณ 2.6 ล้านคน และยังมีเด็กและเยาวชนพิการในพื้นที่ห่างไกลที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาอีกจำนวนหนึ่ง ด้วยเหตุและปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป
-ความเหลื่อมล้ำ
เป็นอีกปัจจัยที่สามารถวัดผลและเห็นได้ว่า ความเหลื่อมล้ำในการศึกษายังคงมีอยู่ ระหว่างโรงเรียนต่างจังหวัดและโรงเรียนชื่อดังในตัวเมือง เมื่อพิจารณาจากระดับคะแนนเฉลี่ย O-NET เด็กไทยมีคะแนนต่ำกว่าร้อยละ 50 หรือระดับคะแนนเฉลี่ย PISA และ TIMSS ที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน ผลประเมิน PISA 2018 พบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยในด้านการอ่าน 393 คะแนน คณิตศาสตร์ 419 คะแนน วิทยาศาสตร์ 426 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ทุกด้าน
ผลการทดสอบเหล่านี้ สะท้อนความเหลื่อมล้ำในเชิงคุณภาพ ทั้งความพร้อมด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเข้าถึงโอกาส ไปจนถึงความพร้อมของครูอาจารย์ในโรงเรียนที่มีระดับแตกต่างกันออกไป
-ความไม่เท่าเทียมกันของพื้นที่
จากข้อที่แล้ว ปัจจัยด้านพื้นที่ ก็มีส่วนสำคัญในการพิจารณาความไม่เท่าเทียมกันของพื้นที่ที่เข้าถึงการศึกษา เมื่อพบว่า โรงเรียนในต่างจังหวัด มีระดับคะแนนเฉลี่ยนการสอบ O-NET ที่ต่ำกว่าโรงเรียนชื่อดังในตัวเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร ชลบุรี นนทบุรี นครปฐม และภูเก็ต
จากปัจจัยที่แจกแจงออกมาเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นความจำเป็นของภาครัฐ ในการจัดการศึกษาที่มีความเท่าเทียม ทั้งในแง่ปริมาณ และคุณภาพ กล่าวคือ ต้องยกระดับโรงเรียนในพื้นที่ที่ห่างไกลจากตัวเมือง ให้ได้คุณภาพ รวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงกับนักเรียนในทุกระดับของสังคม โดยไม่เกี่ยงว่าจะอยู่ในฐานะทางสังคมหรือเศรษฐกิจแบบใด
นั่นเพราะเราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า การศึกษา คือสิ่งที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้เรียนในทุกด้าน และส่งเสริมการพัฒนาประเทศชาติในระยะยาว อันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และควรต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
ไม่ใช่แค่เพียงโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทแล้วบอกว่านักเรียนห่างไกลมีสิทธิ์เข้าถึงโรงเรียนชื่อดังในตัวเมือง แต่การศึกษา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกระจายตัวออกไป และครบถ้วนทั้งด้านปริมาณกับคุณภาพ เฉกเช่นเดียวกัน
